ปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงกุ้งประมาณ 470,000 ไร่ และยังมีพื้นที่

ที่สามารถขยายการเลี้ยงกุ้งได้อีกมาก ซึ่งทางการรัฐบาลอินเดียคาดการณ์ว่าในปี 2018-2019 จะมีปริมาณผลผลิตกุ้งประมาณ 697,000-757,000 ตัน นอกจากนี้รัฐบาลยังเข้มงวดโดยไม่อนุญาตให้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์จากประเทศที่พบโรค EMS ระบาดเข้ามาในประเทศด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังทุ่มงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ในการพัฒนาเทคโนโลยีและสาธารณูปโภค เพื่อเพิ่มการผลิตและการส่งออกกุ้ง โดยคาดหวังว่าจะขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตและการส่งออกกุ้งของเอเชีย

ขณะที่เวียดนามมีพื้นที่เลี้ยงกุ้ง 4,343,750 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ หรือที่เรียกว่าแม่โขงเดลต้า และเป็นพื้นที่เลี้ยงแบบธรรมชาติกว่า 4 ล้านไร่ เลี้ยงแบบพัฒนากว่า 2 แสนไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มยอดส่งออกกุ้ง 3 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยใช้นโยบายเปลี่ยนนาข้าวเป็นนากุ้ง หวังเปลี่ยนพื้นที่การเลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติที่มีอยู่เดิมเป็นการเลี้ยงแบบพัฒนา ตั้งเป้าหมาย 4-6 ล้านไร่ในอนาคต โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงกุ้งขนานใหญ่ หลังประสบวิกฤตโรค EMS ระบาด เมื่อปี 2014 ด้วยการเพิ่มสัดส่วนบ่อพักน้ำมากขึ้น ลดสารอินทรีย์ให้น้อยลง ปรับขนาดบ่อเลี้ยงให้เล็กลง เลี้ยงในระบบน้ำตื้นขึ้น สามารถเลี้ยงได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำกร่อย ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายวัลลภ ล้อมลิ้ม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยนฟีด จำกัด ให้ข้อมูลว่า ตลาดกุ้งของเวียดนาม คือ จีน ซึ่งถือเป็นผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ อียู และญี่ปุ่น เวียดนามมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย แต่คุณภาพกุ้งไม่แตกต่างกับจากไทยมากนัก ปัจจุบันผู้นำเข้ากุ้งรายใหญ่ของโลกคือจีน นำเข้ากุ้งเพื่อบริโภคในประเทศราว 600,000 ตัน และนำเข้ากุ้งเพื่อแปรรูปแล้วส่งออกอีก 400,000 ตัน ส่วนการบริโภคกุ้งจากทั่วโลกมีตัวเลขในปี 2560 อยู่ที่ปริมาณ 3.2 ล้านตัน

จากสถานการณ์การแข่งขันที่มากขึ้น และคู่แข่งหลาย ๆ ประเทศ มีผลผลิตมากกว่า มีต้นทุนต่ำกว่า รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่เกษตรกรผู้ผลิตกุ้งไทยและผู้แปรรูปกุ้งต้องปรับตัว เร่งหาตลาดใหม่ เพื่อให้สถานภาพของการส่งออกกุ้งไทยก้าวแซงคู่แข่งกลับมาเป็นเบอร์ต้นของโลกอีกครั้ง

นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการติดตามผลการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า เตรียมโครงการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร ภายใต้วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อ 30,000 บาท/ราย โดยวงเงินที่ให้จะใช้ ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต โดยการซื้อ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ สารเคมีปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการเกษตร ผ่านแอพ เอ โมบาย จะทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 2.3 ล้านราย ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อัตราดอกเบี้ยเกษตรกร 7% แต่เกษตรกรจ่าย 4% ที่เหลือรัฐบาลให้การอุดหนุน ซึ่งจะให้กรมการข้าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาดูแลการซื้อผ่านร้าน Q รวมทั้งเชิญตัวแทนจำหน่ายมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม

ส่วนงบกลางปี ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้มาบริหาร 2.4 หมื่นล้านบาท บางส่วนยังต้องร่วมกับกระทรวงการคลังในการแก้ไขปัญหาคนจนเพื่อทำแผนพัฒนาอาชีพ กับผู้ที่ลงทะบียน 4 ล้านคน เบื้องต้นจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพ จำนวน 2.5 ล้านราย หรือ 60% ของเกษตรกรที่ลงทะเบียนคนจนไว้กับกระทรวงการคลัง จำนวน 3.96 ล้านราย ส่วนที่เหลือ 1.45 ล้านราย ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการจึงต้องสอบถามสาเหตุกันใหม่ ซึ่งการช่วยเหลือครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับ ธ.ก.ส. ที่จัดงบประมาณไว้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่เกษตรกรรายดังกล่าวไม่พร้อม จะใช้วิธีการให้เข้าร่วมกับกลุ่มที่มีทักษะแล้วเรียนรู้และสร้างอาชีพ ซึ่ง ธ.ก.ส. มีงบสนับสนุนในลักษณะนี้อีก 4.5 หมื่นล้านบาท

นายลักษณ์ ยังแจ้งให้ทราบถึงคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่มี รมว. เกษตรฯ เป็นประธานจะสิ้นสุดในวันที่ 30 พ.ค. นี้ ซึ่งหนี้สินที่มีอยู่ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความไม่ให้ กฟก. ซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส. ดังนั้น จึงต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ และหาทางแก้ไขปัญหานี้ เบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ต้องการหารือกับ ธ.ก.ส. เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลืออื่นที่เป็นประโยชน์ใกล้เคียงกับแนวทางการซื้อหนี้คืนของ กฟก. โดยสมาชิกต้องการตัดหนี้สูญเงินต้นบางส่วน รวมทั้งต้องหาแนวทางฟื้นฟูสำนักงาน กฟก. ตามการตั้งข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เร็วที่สุดด้วย

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอสทิงพระ จ.สงขลา และ นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สงขลา เดินทางลงพื้นที่ ต.คลองรี อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการขุดลอก และขยายคลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอก รวมทั้งโครงการขยายคลองหนัง ซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองพลเอกอาทิตย์ฯ ที่ช่วยระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลาลงสู่ทะเลอ่าวไทย

นายธีระ กล่าวว่า คลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอก เป็นคลองขุดความยาวกว่า 70 กม. ผ่านพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ ในคาบสมุทรสทิงพระ ทั้ง อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2527 หรือกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำในช่วงฤดูฝน รวมทั้งกักเก็บน้ำเอาใช้ในหน้าแล้ง ทั้งในส่วนของเกษตรกรรม และเลี้ยงสัตว์ จึงได้มีการขุดคลองกว้างขึ้นอีก 40 เมตร เป็น 70 เมตร รวมทั้งปรับปรุงในส่วนของความลึกเพิ่มจากเดิมในแต่ละจุดอีก 2 เมตร ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำจาก 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 7 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการได้ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จราว ปี 2565 ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท

นายธีระ กล่าวว่า ได้ติดตามโครงการขยายคลองหนัง อ.สทิงพระ ความยาวประมาณ 2 กม. ซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองพลเอกอาทิตย์ฯ อีกคลองหนึ่ง มีหน้าที่หลักในการช่วยระบายน้ำจากทะเลสาบสงขลา ลงสู่ทะเลอ่าวไทย ในช่วงหน้ามรสุม ซึ่งพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มักจะถูกน้ำท่วมขัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำทะเลหนุน แต่ละครั้งก็จะถูกน้ำท่วมสูงมากกว่าพื้นที่อื่น เพราะอยู่ท้ายน้ำ และกินเวลายาวนานนับสัปดาห์ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมทั้งบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตร และสัตว์เลี้ยงอีกเป็นจำนวนมาก

“ในส่วนของคลองหนังนั้น จะมีการขุดขยายคลอง โดยเพิ่มความกว้างจากเดิม 20 เมตร เป็น 40 เมตร ขุดลอกในส่วนที่ตื้นเขิน และมีวัชพืช ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องการเวนคืนที่ดินตลอดแนวคลอง ซึ่งมีทั้งบ้านเรือน และไร่นา ที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โดยมีการจัดสรรงบประมาณทั้งโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท จะทำการขุดลอกให้แล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 2 ปี” นายธีระ กล่าว

จากกรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ออกมาเปิดเผยถึงเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์บก อย่าง ชะมด อีเห็น ฯลฯ ซึ่งพบในสวนสัตว์ที่ จ.นครราชสีมา และมีการเฝ้าระวังในเจ้าหน้าที่สวนสัตว์กลุ่มหนึ่ง โดยมีการให้ยาโอเซลทามีเวียร์เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ซึ่งผลทางห้องปฏิบัติการของจุฬาฯ ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกติดต่อมายังคน

แต่ในสัตว์นั้นมีการอ้างจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ว่า พบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์บก แต่มีการควบคุมในพื้นที่ได้แล้วเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2560 ที่น่าห่วงคือ ไม่มีการประกาศหรือแจ้งเตือนชัดเจนต่อบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ระมัดระวังเรื่องนี้ รวมทั้งการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่เข้าข่าย หรือช่วยกันเฝ้าระวังสัตว์ตายผิดปกติ

ปรากฏว่าหลังจากมีข่าวทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่างปฏิเสธ รวมทั้งกรมควบคุมโรคระบุชัดว่าเป็นข้อมูลเก่าเมื่อ ปี 2560

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขและสัตวแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่นครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า ณ ขณะนั้นมีการพูดกันในพื้นที่ว่า เป็นเชื้อไข้หวัดนกจริง แต่พบในสัตว์บก คือ ชะมด อีเห็น ฯลฯ ส่วนสัตว์ปีก อย่าง ไก่ หรือนกกระทา จะพบด้วยหรือไม่นั้น กรมปศุสัตว์เป็นผู้ตรวจเชื้อจากสัตว์เพียงแห่งเดียว จึงไม่แน่ใจว่าเชื้อจริงๆ คืออะไร แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ไม่มีเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งแน่นอนว่าใช่

เพราะช่วงที่เกิดเรื่อง เมื่อ ปี 2560 ได้มีทีมลงไปควบคุมโรคในสัตว์ และควบคุมป้องกันไม่ให้ติดต่อจากสัตว์สู่คน ที่สำคัญเรื่องนี้ยังมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 13 กันยายน 2560 ลงนามโดย นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ในเรื่องขอความร่วมมือให้ดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก

ซึ่งแม้ประกาศดังกล่าวจะไม่ได้ระบุชัดว่า พบเชื้อไข้หวัดนก แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน อาจเพราะประเทศรอบข้างไทย พบเชื้อ หรือเพราะสาเหตุใดคงไม่อาจบอกได้ แต่ที่แน่ๆ หากมีการประกาศชัด โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ก็จะทำให้การควบคุมป้องกัน โดยเฉพาะในระดับชาวบ้านก็จะง่ายขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ สธ.0436.2/3 เรื่องขอความร่วมมือให้ดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์โรคไข้หวัดนกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ไข้หวัดนกในคนปี 2560 องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อ วันที่ 25 สิงหาคม 2560 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ A (H5N1) จำนวน 3 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ในประเทศอียิปต์

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติรายงาน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ์ H7N9 จำนวน 2 ราย ในประเทศจีน

สำหรับการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ รายงานพบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกกว่า 64 ประเทศทั่วโลก ทั้งหมด 8 สายพันธุ์ โดยพบเชื้อ H5N1 ใน 15 ประเทศ และสายพันธ์ุ H7N9 ใน 2 ประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องรวม 45 จุด เช่น ประเทศกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สำหรับ ประเทศไทย มีความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายสัตว์บริเวณแนวชายแดน การเคลื่อนย้ายไก่พื้นเมือง ไก่ชน พื้นที่เสี่ยงสัตว์ปีกหนาแน่น หรือมีพื้นที่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจำนวนมาก รวมทั้งพบในโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

โดยข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 -31 สิงหาคม 2560 พบจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับโรคไข้หวัดนก 38 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ราชบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย ชัยภูมิ นครราชสีมา ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร

โดยประกาศดังกล่าว ยังระบุว่า ขอให้ดำเนินการมาตรการสำคัญในการป้องกันโรค คือ 1. ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นเสมือนมีการระบาดจริง จนกว่าจะมีผลทางห้องปฏิบัติการว่าไม่พบเชื้อไข้หวัดนก 2. ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคให้ประชาชนและสถานศึกษารับทราบ

3.พิจารณาซ้อมแผนเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ทั้งการรักษาในร พ. และเตรียมห้องแยกโรค รวมทั้งการส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งการสอบสวน ป้องกัน และควบคุมโรค พิจารณาให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อนำมาป้องกันโรคไข้หวัดนก เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน ยังมีประกาศเพิ่มเติม ลงวันที่ 13 กันยายน 2560 ส่งถึงอธิบดีทุกกรม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ขอให้เตรียมพร้อมเรื่องนี้เช่นกัน โดยเพิ่มจังหวัดที่มีความเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดโรคไข้หวัดนกคือ จ.แพร่ เพิ่มจาก 38 จังหวัด เป็น 39 จังหวัด ทั่วประเทศ ในปี 2560 ที่ผ่านมา

ปศุสัตว์หาดใหญ่ เร่งสอบสวนโรคหลังพบวัวเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า พร้อมเตือนประชาชนหากมีสัตว์เลี้ยงล้มตายให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ห้ามชำแหละเสี่ยงติดเชื้อ

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลา วันที่ 29 มีนาคม นายสัตวแพทย์สมหวัง ทองมั่นคง ปศุสัตว์อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อทำการสอบสวนโรค หลังพบว่า วัวที่ชาวบ้านเลี้ยงเอาไว้ตายลง 1 ตัว และเมื่อตัดหัวส่งตรวจ พบว่า วัวดังกล่าวนั้นเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้จากการสอบถาม นายประภาส เพชรขาว เจ้าของวัวนั้นพบว่า ก่อนหน้านี้ ประมาณ 1 เดือน ได้มีสุนัขจรจัด ตายอยู่ภายในคอกวัว ซึ่งเจ้าของเข้าใจว่าถูกวัวเหยียบตาย จึงได้นำซากสุนัขนั้นไปฝังโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ต่อมาพบว่าวัวดังกล่าวนั้นมีอาการเครียดกระสับกระส่ายและมีน้ำลายไหล จนกระทั่งล้มตายลง เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสอบ ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และตัดหัววัวส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ส่วนลำตัวของวัวได้แนะนำให้ฝังพร้อมโรยปูนข้าวฆ่าเชื้อ ห้ามนำไปชำแหละรับประทานเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคมาสู่คน

ทั้งนี้ ได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวนั้น เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว เป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อดำเนินการควบคุมโรค ระดมการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ในรัศมี 1-5 กิโลเมตร เฝ้าระวังวัวร่วมฝูงจำนวน 2 ตัว พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับผู้สัมผัสโรค ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงวัว จำนวน 2 คน

นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา เตือนว่า เมื่อพบสัตว์เลี้ยงเสียชีวิตอย่างผิดปกติ ก็ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าทำการสอบสวนโรค โดยเฉพาะวัว หากตายลงในลักษณะที่มีอาการป่วยห้ามนำไปชำแหละรับประทานกัน เนื่องจากเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผ่านการชำแหละ ซึ่งในปีนี้มีวัวตายจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ และล่าสุดที่ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ติวเข้มชาวสวนผลไม้ใช้ประโยชน์จาก FTA พร้อมแนะวิธีการเตรียมตัว ตั้งแต่การเพาะปลูกต้องได้คุณภาพ ขั้นตอนการส่งออกต้องทำยังไง หวังปั้นให้เป็นผู้ส่งออก แทนการปลูกแล้วขายอย่างเดียว พร้อมรับฟังความคิดเห็น หลังจะเริ่มเจรจา FTA ไทย-อียู ร่วมวง CPTPP ส่วนการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรกาแฟ โคนม โคเนื้อ ยันไม่กลัวเปิดเสรี และพร้อมแข่งขัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมจะร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้สำคัญของประเทศ เช่น เชียงใหม่ จันทบุรี และยะลา เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ของไทยในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพราะขณะนี้ FTA กรอบต่างๆ ส่วนใหญ่ได้ลดภาษีในกลุ่มผลไม้ลงเหลือ 0% แล้ว จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะใช้ FTA ในการส่งออกผลไม้ออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ โดยกำหนดลงพื้นที่เดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 นี้

“ปกติเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ส่วนใหญ่จะปลูกแล้วก็ขายผลผลิตให้กับพ่อค้า แต่ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรหลายกลุ่มที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และหันมาทำตลาดเอง ซึ่งกรมจะเข้าไปให้ความรู้และแนะนำการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก โดยจะพาทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้าไปให้คำแนะนำว่า ถ้าอยากจะส่งออกต้องทำยังไงบ้าง เริ่มจากการเพาะปลูกต้องมีคุณภาพ การบรรจุหีบห่อต้องทำยังไง หรือถ้าจะส่งออกมีอะไรเป็นข้อห้ามบ้าง เช่น ต้องไม่มีสารเคมีหรือแมลงตกค้าง หรือการขอแบบฟอร์มส่งออกต้องทำยังไง เราจะไปช่วยสอน ช่วยแนะนำให้ทั้งหมด แล้วทำให้เกษตรกรส่งออกให้ได้” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ กรมยังมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาประกอบท่าทีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อเจรจา FTA ไทย-อียู และการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม โดยการลงพื้นที่ จะทำให้กรมทราบข้อมูลที่แท้จริงจากเกษตรกรก่อนที่จะไปเจรจา

นางอรมน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการใน 3 สินค้าเกษตรสำคัญแล้ว ได้แก่ กาแฟ โคเนื้อและโคนม โดยกาแฟลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและชุมพร โคเนื้อ ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม และโคนม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งผลการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเกษตรกรยังได้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการค้าขายในประเทศและส่งออก โดยใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี

“เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่กลัวการเปิดเสรี เพราะได้มีการเตรียมความพร้อม โดยการพัฒนาคุณภาพ พัฒนาการผลิต และมีการพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการ และต้องการให้กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนในด้านการทำธุรกิจ การทำตลาด ซึ่งได้ประสานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยเหลือในด้านการทำธุรกิจ การพัฒนาแฟรนไชส์ และประสานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศช่วยเหลือในด้านการส่งออก ขณะที่กรมได้ชี้ช่องและแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรี ในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ตลาดเพื่อนบ้าน และจีน เป็นต้น” นางอรมน กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเสรีไทย-ออสเตรเลีย และ ไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะมีการลดภาษีสินค้ากาแฟ เหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 หางนมเวย์ เนย ไขมันเนย เนยแข็ง และโคเนื้อ วันที่ 1 ม.ค. 2564 และสินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมและปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย วันที่ 1 ม.ค. 2568 เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับการแข่งขัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการมีความพร้อม และไม่กังวลที่จะมีการเปิดเสรี เพราะปัจจุบันสามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด และแข่งขันได้