ปัจจุบันได้เปิดศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกพืชและสัตว์

ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่แห้งแล้ง อีกทั้งเป็นแหล่งให้การศึกษา ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้านต่างๆ แก่เกษตรกร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรวมกลุ่มสู่การพัฒนาสหกรณ์อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริฯ อันเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร

และประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2561 ได้มีผู้เข้าศึกษาดูงานกว่า 50,000 คน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยสมาชิกสหกรณ์และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จะร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ให้ดำรงอยู่ต่อไปในแผ่นดินของพระราชานามว่า “หุบกะพง” สืบไป

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการย่อย ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 (ตุลาคม 2561 – มีนาคม 2562) โดยศูนย์ประเมินผล สศก. ได้ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2562 เพื่อติดตามโครงการย่อย 3 โครงการ ดังนี้

โครงการส่งเสริมการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อสุขภาพ : พันธุ์ กข 43 ปี 2562 จังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วงฤดู การผลิตที่ผ่านมา (นาปรัง 2562) เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 617 ราย พื้นที่ 12,190 ไร่ ผลผลิต 600-800 กิโลกรัม ต่อไร่ เกษตรกรขายได้ราคาดี เฉลี่ยตันละ 10,000-12,000 บาท เนื่องจากหลายหน่วยงานในจังหวัดทั้งสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ได้ประสานความร่วมมือภาคเอกชนรับซื้อผลผลิตข้าวในโครงการที่ผ่านการตรวจรับรองและได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice)

สำหรับในฤดูการผลิตข้าวนาปี 2562/63 ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในเดือนพฤษภาคมอยู่ระหว่างรับสมัครเกษตรกรขึ้นทะเบียนปลูกข้าวตามโครงการ โดยคาดว่า เกษตรกรจะร่วมโครงการมากกว่าเป้าหมายที่จังหวัดกำหนดไว้ 2,000 ราย เนื่องจากเกษตรกรให้ความสนใจปลูกข้าวพันธุ์ กข 43 เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการในรูปแบบกลุ่มนาแปลงใหญ่ ใช้เมล็ดพันธุ์จากกลุ่มในลักษณะการยืมและคืนเมื่อได้ผลผลิต ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดังนั้น จึงควรวางแผนการตลาดอย่างรอบด้านเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา อีกทั้งข้าวพันธุ์ กข 43 ไม่ควรมีปริมาณตกค้างไปในปีถัดไป เพื่อให้คงคุณภาพ มาตรฐานและความนุ่มเทียบเท่าข้าวหอมมะลิ

โครงการบริหารจัดการนาโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรกรรมแม่นยำสูง จังหวัดสุพรรณบุรี มีเกษตรกรแปลงต้นแบบจำนวน 3 แปลง พื้นที่ 50 ไร่ ดำเนินการลักษณะการบริหารจัดการนาโดยใช้เทคโนโลยี มีการปรับระดับพื้นที่นาให้เรียบสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงด้วยรถไถปรับระดับดิน พร้อมระบบเลเซอร์ ช่วยให้ระบบการส่งน้ำและระบายน้ำในแปลงนาทำได้สะดวก รวดเร็ว

คาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำ สามารถลดต้นทุนการจัดการน้ำ ผลผลิตในแปลงนาเฉลี่ย 771 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยภาครัฐได้สนับสนุนประสานหาแหล่งเทคโนโลยี และเกษตรกรยังได้มีการร่วมลงทุนด้วยตนเอง ในการจ้างเหมารถไถพร้อมอุปกรณ์ (ค่าใช้จ่ายไร่ละ 3,000-4,000 บาท) เพื่อปรับระดับพื้นที่นาในโครงการ เนื่องจากเห็นว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน

โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ จังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีเกษตรกรเข้าร่วม 762 ราย เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเกษตรกรได้รับการอบรมการปลูกข้าวหอมมะลิชั้นเลิศได้รับการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนการปลูกข้าว การแนะนำใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม และได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าวหอมมะลิและปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งช่วยลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และขณะนี้เกษตรกรเริ่มปลูกข้าวแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมคาดว่าจะได้รับผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 5-10 กิโลกรัม ต่อไร่ จากผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 350 กิโลกรัม ต่อไร่

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมทั้ง 3 โครงการ เห็นว่าการดำเนินโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรพึงพอใจในระดับมากที่สุด ซึ่งภาพรวมเกษตรกร ร้อยละ 80 สามารถลดต้นทุนการผลิตได้จริง ร้อยละ 65 มีรายได้เพิ่มขึ้น และร้อยละ 63 มีตลาดรองรับผลผลิตแน่นอน โดยเกษตรกรยังต้องการให้ดำเนินโครงการต่อเนื่อง และต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งช่วยจัดหาแหล่งน้ำในการทำการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคารับซื้อผลผลิตของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ยังต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาดูแล ประสาน และพัฒนาตามแนวทางแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร นอกจากนี้ เกษตรกรที่ปลูกข้าว ควรขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงข้อมูลในทุกฤดูการผลิตด้วยเช่นกัน

โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 โดย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ขอเชิญผู้ประกอบการ เข้าร่วมอบรม “เพิ่มยอดขายสุดปังแบบมือโปร ด้วย Line@ สำหรับร้านค้าออนไลน์” เรียนรู้การเทคนิคการเพิ่มยอด ขายด้วยการตลาดผ่าน Line@ และการเตรียมตัวสำหรับ Line Official Account รูปแบบใหม่จาก Line และการเปิดร้านออนไลน์ ขายได้ทันทีบน Shopee พร้อมทั้งบริการถ่ายภาพสินค้า ฟรี!! สำหรับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยไม่มีเสียค่าใช้จ่าย ในวันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00- 16.00 น. ณ ศูนย์นวัตกรรมและความรู้ มทร.ธัญบุรี (RMUTT Innovation & Knowledge Center) ชั้น 7 อาคารบางซื่อจังชั่น จตุจักร กทม.

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการวิจัยร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีน ในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่ ทดแทนการฉีดแบบเดิม สำหรับควบคุมโรคติดเชื้อในปลานิล แก้ปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิล สามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาด ครั้งละจำนวนมาก ต้นทุนต่ำ ประหยัดเวลาและแรงงาน อีกทั้งช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมี ได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคโดยตรง พร้อมสาธิตการใช้งานจริงที่ ณันต์ธชัยฟาร์ม อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า งานวิจัยนาโนวัคซีนแบบแช่ มีโจทย์มาจากผู้ประกอบการที่ต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับปลานิลเศรษฐกิจ โดยทีมวิจัยได้ทำการออกแบบ สังเคราะห์นาโนวัคซีนและลงมือศึกษาความเป็นไปได้ ในการป้องกันโรคในปลานิลทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและระดับภาคสนาม ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จ ทำให้ได้นาโนวัคซีนแบบดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือก เพื่อใช้ในการให้วัคซีนแบบแช่ สามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาดและครั้งละจำนวนมาก เมื่อเทียบกับวิธีแบบเดิมที่ใช้ฉีดด้วยเข็มทีละตัวทั้งบ่อ ซึ่งวิธีใหม่นี้จะมีต้นทุนที่ต่ำ ประหยัดเวลา และแรงงานมาก โดยงานวิจัยนี้สามารถขยายผลและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณประโยชน์ได้ เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในปลานิล โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของปลาต่อโรค และลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะเชื้อดื้อยาอีกด้วย

ด้าน ผศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาวัคซีนแบบแช่ในปลาเริ่มต้นจากการพยายามหาวิธีการที่สามารถให้วัคซีนปลาได้แบบง่ายๆ เนื่องจากวิธีการฉีดแบบเดิมค่อนข้างยุ่งยาก จำเป็นต้องวางยาสลบปลาและจับปลามาฉีดวัคซีนทีละตัว ปลาค่อนข้างเครียดและบอบช้ำ ทำให้การทำวัคซีนแบบนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร จึงได้หันมาให้ความสนใจกับการแช่ปลาด้วยแอนติเจนของเชื้อที่เคลือบไว้ด้วยอนุภาคนาโนที่สามารถเกาะติดกับเยื่อเมือกของปลาได้ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ปลาได้เป็นอย่างดี เพราะปลามีระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือกอยู่หลายแห่งทั่วร่างกาย นับว่านาโนเทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาวัคซีนได้หลายชนิด จึงเกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนาโนเทค สวทช. ตามโจทย์และสมมุติฐานที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ได้วัคซีนนาโนต้นแบบ ที่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี จนปัจจุบันมีผลงานทางวิชาการทั้งอนุสิทธิบัตรและผลงานวิจัยตีพิมพ์ร่วมกัน

“จากการเริ่มต้นที่การผลิตวัคซีนต้นแบบจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเหงือกเน่าในปลานิลหรือโรคคอลัมนาริส ต่อไปคิดว่าจะมีการยกระดับการผลิต (Up scale) ไปสู่เชิงพาณิชย์ (Commercial scale) โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้ออื่นๆ ในปลานิล ด้วยนาโนเทคโนโลยี เช่น วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Aeromonas วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ Franciscella วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อในกระแสโลหิตจากเชื้อ Edwardsiella เป็นต้น รวมถึงยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดไปพัฒนาวัคซีนในปลาอื่นๆ ด้วย เช่น ปลากะพง ปลาเก๋า และปลาคาร์พ” ผศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

ขณะที่ นายธีระชัย นาคเกิด เจ้าของณันต์ธชัยฟาร์ม เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้เพาะเลี้ยงปลานิล ในอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ณันต์ธชัยฟาร์มจะทำการเพาะเลี้ยงปลานิลเป็นหลัก โดยเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป พร้อมทั้งจำหน่ายปลาเนื้อทั้งขายส่งตลาดและขายปลีกบางส่วน ในฐานะเกษตรกรคนรุ่นใหม่เห็นว่า การใช้นวัตกรรมนาโนหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญ เช่น งานวิจัยนาโนวัคซีน เพราะในปัจจุบันการเลี้ยงปลายังไม่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย คงใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะกันอยู่ ส่งผลต่อสุขภาพปลาเนื้อและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้วัคซีนดังกล่าวจะช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมีได้ ทำให้อัตราจำนวนปลาเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง และที่สำคัญได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคปลาโดยตรง

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) นำโดย นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด (ที่ 5 จากขวา) และ นางสาวอรวรรณ ลาภอำนวยผล ประธานการจัด งานตลาดนัดโชห่วย ครั้งที่ 11 (ที่ 4 จากซ้าย) เดินหน้าจัดงาน “ตลาดนัดโชห่วยภูมิภาค” ครั้งที่ 3 โซนภาคเหนือตอนล่าง ตอกย้ำผู้นำธุรกิจค้าส่งครบวงจร มุ่งพัฒนาโชห่วยไทยให้เติบโตไปด้วยกัน พร้อมจับมือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก จัดอบรมและเวิร์คช้อป เพื่อเพิ่มศักยภาพ พร้อมผลักดันผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยในส่วนภูมิภาคให้สามารถปรับตัวและมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมี นางสาวยุพาภรณ์ ส้มลิ้ม รักษาการแทนพาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก (ที่ 6 จากซ้าย) ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรม และได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (ที่ 5 จากซ้าย) เป็นประธานในพิธี ณ แม็คโคร สาขาพิษณุโลก

(27 พฤษภาคม 2562 / สป.อว.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่าง ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ระบุ วว. พร้อมใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนากระบวนการสกัดสารสำคัญในกัญชา ได้แก่ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ความบริสุทธิ์สูงในระดับห้องปฏิบัติการและระดับอุตสาหกรรม (Pilot scale) รวมถึงพัฒนาวิธีวิเคราะห์ สำหรับการควบคุมคุณภาพ และประกันคุณภาพ เพื่อสามารถออกเอกสาร Certificate of Analysis (COA) ของสารสกัดกัญชา ตามข้อกำหนดของ อย. ของประเทศเป้าหมาย

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า สำหรับความร่วมมือระหว่าง วว. และบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพีฯ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือมีกรอบระยะเวลา 3 ปี ขอบข่ายความร่วมมือของการลงนามในครั้งนี้ทางบริษัทฯ จะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบกัญชา และ วว. จะทำการศึกษาวิจัยและพัฒนากรรมวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์โดยวิธีต่างๆ และการแยกสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ทางยา (Active pharmaceutical ingredients, API) จากกัญชาในระดับห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้หากการดำเนินการในขั้นตอนใดที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแต่ละฝ่ายจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นอย่างครบถ้วนถูกต้องแล้วเท่านั้น รวมถึงทั้งสองให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการวิจัย ประเมินผล และการขยายผลของงานวิจัย

“ …จากการที่ วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสกัดสารสำคัญจากพืชและสมุนไพร มาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี วว.เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของบุคลากรและความพร้อมของห้องปฏิบัติการฯ โดย วว. มีเครื่องมือชนิดใหม่ที่ใช้ในการสกัดกัญชา ที่ให้ปริมาณสารออกฤทธิ์สูง และทาง FDA ของประเทศสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวในการสกัดกัญชาได้ จึงทำให้ วว. สามารถพัฒนากระบวนการสกัดกัญชาเพื่อใช้เป็นสารออกฤทธิ์ผลิตภัณฑ์ทางยา (API) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญ ได้แก่ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ความบริสุทธิ์สูงในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ วว. พัฒนาวิธีวิเคราะห์ สำหรับการควบคุมคุณภาพ และประกันคุณภาพสารสกัด และออกเอกสาร COA ของสารสกัดกัญชา ตามข้อกำหนดของ อย. ของประเทศเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายส่งออกสารสกัดฯ ที่มีความบริสุทธิ์สูง ไปยังบริษัทยาต่างประเทศ ขณะนี้ทั้งสองหน่วยงานฯ จะร่วมกันขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือการสางออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยด้านการแพทย์ หรือวิทยาศาสตร์หรือเภสัชกรรม กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะได้ใบอนุญาต เพื่อการวิจัยพัฒนา ภายในสิ้นปีนี้ 2562 …” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์กว่า 40 ปี ในการดำเนินธุรกิจในการเป็นผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพรแผนโบราณ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาตรฐาน โดยมีโรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP pic/s และมาตรฐาน ISO 9001 : 2005 ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ กับ วว.นั้น พร้อมต่อยอดกระบวนการสกัด และการทำบริสุทธิ์ของสารออกฤทธิ์ทางยา (API) ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว.สู่ระดับอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนากระบวนการสกัด ให้สามารถขยายเข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการ สารสกัดความบริสุทธิ์สูงจากต่างประเทศได้

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ประกาศเกียรติคุณและแสดงความขอบคุณนักวิจัย ในงานแถลงข่าว “การนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมไทยร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีนานาชาติ” ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก กรุงเทพมหานคร

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตราฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น “ประเทศไทย 4.0” ที่มีความสามารถทางการแข่งขันได้ต่อไป

สำหรับปีนี้ วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 เวทีนานาชาติ ได้แก่ 1) เวที “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 10 – 14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization)

โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวด จำนวน 102 ผลงาน จาก 29 หน่วยงาน ซึ่งภายในงานมีหน่วยงานจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 3 ผลงาน

ได้แก่ ผลงานเรื่อง“เซลล์เชื้อเพลิงสังกะสี – อากาศสมรรถนะสูง” ของ รองศาสตราจารย์ ดร. สุรเทพ เขียวหอม และคณะ แห่งคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน–ซิลิกา สำหรับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบราง” ของ นายพิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ แห่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และผลงาน เรื่อง “PEA Solar Hero Application” ของ นายต้องพงษ์ ศรีบุญ และคณะแห่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 13 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 36 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 45 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ อีกจำนวน 32 รางวัล

2) เวที“The 30th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2019) จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจาก MINDS (Malaysian Invention & Design Society) มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 900 ผลงาน จากประเทศต่างๆ จำนวน 21 ประเทศ

โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วม 79 ผลงาน จาก 24 หน่วยงาน และได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 21 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 49 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 9 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่างๆ อีกจำนวน 20 รางวัล