ปัจจุบัน ราคาขายในไร่ อยู่ที่ประมาณ 15-16 บาทตารางเมตร

หญ้า 1 แผ่นจะมีความกว้าง 50×100 เซนติเมตร 2 แผ่นเท่ากับ 1 ตารางเมตร เฉลี่ยแล้วราคาจะไม่ต่ำกว่า 11 บาท และราคาสูงสุดที่เคยได้ 18-19 บาทต่อ 1 ตารางเมตร หากคิดเป็นรายได้ในราคาตารางเมตรละ 15 บาท หญ้า 1 ล็อก จะได้กำไรล็อกละ 10,000 บาท หากขายได้พร้อมกัน 2 ล็อก กำไรก็ 20,000 บาท ถือเป็นอาชีพเสริมที่น่าสนใจสำหรับคนที่มีพื้นที่ และมีคนงานที่ไว้วางใจได้ เพราะเจ้าของสวนจะมีเวลาไปทำงานเสริมอย่างอื่น หรือถ้าท่านใดอยากทำเป็นอาชีพหลักก็ยิ่งดี เพราะจะหมายความว่าต้นทุนค่าแรงงานก็จะต่ำลง กำไรจะเพิ่มขึ้น

การตลาด หาได้ไม่ยากเนื่องจากที่นี่มีข้อได้เปรียบตรงที่ร้านตั้งอยู่ในละแวกของคนทำไร่หญ้า และคนจัดสวนอยู่แล้ว การหาตลาดจึงไม่ใช่เรื่องยากอาศัยช่องทางจากคนรู้จักบ้าง คอนเน็กชั่นจากญาติพี่น้องที่มีอยู่แล้วบ้าง ซึ่งการทำนาหญ้าไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ เมื่อถึงเวลาหญ้าออก จะมีคนติดต่อมาตลอด เพราะความต้องการของตลาดมีอยู่เรื่อยๆ รวมถึงปัจจุบันเป็นยุคของสื่อโซเชียล ทางสวนก็จะใช้โอกาสจากช่องทางนี้ในการหาลูกค้าเพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง

เกษตรกรมือใหม่อยากลงทุน
ต้องเตรียมตัวอย่างไร
“ต้องมีงบลงทุนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะไร่หญ้าปกติที่ทำกันทั่วไป เดิมเป็นผลพลอยมาจากการทำนาครั้งเก่า เป็นพื้นที่นาเก่า ซึ่งถ้าหากเป็นพื้นที่นาเก่าหรือว่าเป็นพื้นที่ที่เคยทำไร่หญ้ามาก่อนงบลงทุนจะไม่มาก อาจจะเป็นการเซ้งต่อ แต่ถ้าเป็นไร่หญ้าเก่าจะยิ่งดีตรงที่ว่าอาจจะไม่ต้องวางระบบน้ำใหม่ หรือค่าอุปกรณ์ อย่างอื่นจิปาถะ หากใครอยากเป็นรุ่นบุกเบิก คงต้องมาเรียนรู้การปลูกหญ้าก่อน คุณต้องมีทีมงานที่เป็นงานเพราะว่าการทำไร่หญ้าต้องอาศัยประสบการณ์ ไม่ใช่ใครทำก็ได้ คนทำต้องมีความรู้เรื่องการขยายพันธุ์หญ้า แม้แต่การแซะหญ้ามันก็ต้องมีความรู้ในการแซะ แซะยังไงให้ออกมาเป็นแผ่นสวยงาม ส่วนเรื่องการตลาดถ้ามือใหม่ไม่รู้จักใครเลยก็ต้องใช้เวลาในการสร้างคอนเน็กชั่นสักพัก แต่จะไม่ได้ยากเหมือนสมัยก่อนเพราะสมัยนี้สื่อโซเชียลพัฒนาไปไกล ก็ให้ใช้ช่องทางตรงนี้ในการโปรโมตตัวเองไป” บังหมัด กล่าวทิ้งท้าย

ท่านใดสนใจหญ้าปูสนามหรือสนใจสอบถามรายละเอียดการทำธุรกิจหญ้าปูสนามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 098-369-9704 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนประดับสกุล พันธุ์ไม้ ไร่หญ้า และ PDS Bonsai บอนไซประดับสกุล

“ขี้เลื่อยไม้ยางพารา” เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้เพาะเห็ด ทั้งนี้ การเลือกใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ควรตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่า ไม่ใช่ขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่มาจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะขี้เลื่อยประเภทนี้ผ่านการอบฆ่าเชื้อ นำมาใช้ในการเพาะเห็ดไม่ได้ หากนำขี้เลื่อยประเภทนี้มาทำก้อนเชื้อเห็ดหยอดเชื้อลงไปแล้วเชื้อไม่เดิน เพราะไม้ยางพาราจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่จะผ่านการอบยาฆ่าเชื้อรามาแล้ว หากนำมาใช้เพาะเห็ด เชื้อเห็ดก็จะไม่เดินอย่างแน่นอน เพราะเชื้อเห็ดก็เป็นเชื้อราประเภทหนึ่งนั่นเอง

บางคนอยากเพาะเห็ดถุงเป็นอาชีพรอง หรือบริโภคภายในครัวเรือน แต่ “ขี้เลื่อย” ก็ไม่ได้หากันง่ายๆ แล้วจะมีวัสดุอะไรทดแทนได้บ้าง เห็ดที่เพาะในถุงได้ดี มีหลายสายพันธุ์ ตัวอย่าง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดกระด้าง และเห็ดยานางิ เป็นตัวอย่าง

ทั้งนี้ วัสดุเพาะที่นำมาทดแทนขี้เลื่อยได้ คือ ฟางสับ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการวิจัยไว้ มีอยู่หลายสูตร ในที่นี้ขอนำมาเป็นตัวอย่างเพียง 2 สูตร เท่านั้น

สูตรที่ 1 ชนิดวัสดุ นํ้าหนัก (กิโลกรัม) ฟางสับ ยาว 4-6 นิ้ว 100 ขี้วัวแห้ง 25 ปุ๋ยยูเรีย 1 รำละเอียด 5 นํ้าสะอาด ตามความเหมาะสม นำวัสดุทั้งหมด ยกเว้นรำละเอียด คลุกเคล้าให้เข้ากัน ราดนํ้าพอชุ่ม กองเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบสันเขา ทิ้งไว้ 15 วัน และต้องกลับกองทุกๆ 3-4 วัน เมื่อครบตามกำหนด หว่านทับด้วยรำละเอียด และคลุกเคล้าให้เข้ากัน เติมนํ้ารักษาความชื้นที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ทดสอบโดย กำวัสดุเพาะ แล้วแบมือออก ถ้ารักษารูปร่าง รอยมือไว้ได้ โอเคเลย หมักไว้อีก 1 คืน ก่อนบรรจุลงถุง เข้าอบไอร้อนได้

สูตรที่ 2 ชนิดวัสดุ นํ้าหนัก (กิโลกรัม) ฟางสับ ยาว 2-3 นิ้ว 100 รำละเอียด 2 แคลเซียมคาร์บอเนต 5-8 (หินปูน) นํ้าสะอาด อย่างพอเพียง ผสมกัน หมักไว้ 8-10 วัน กลับกองปุ๋ยทุกๆ 2 วัน ก่อนนำไปอบไอนํ้า

ธรรมชาติ มีความหลากหลายของพืชพรรณที่ขึ้นปะปนกันไป อยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยกันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ร่วมกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ก็สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดฤดูที่ผ่านไป การเลียนแบบธรรมชาติในการทำไร่นาสวนผสม ด้วยการปลูกพืชหลายชนิดปะปนกัน โดยคำนึงถึงชนิดของพืชแต่ละชนิดว่ามีจะเจริญโตได้ดีในสภาพเช่นใด ซึ่งการวางแผนและระบบนั้นจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการตลอดไปทุกระยะตั้งแต่การปลูก การดูแลบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการขนส่ง การจัดทำไร่นาสวนผสมแต่คนจะมีความแตกต่างกัน

เช่น “สวนธรรมพอดี” เป็นสวนที่อยู่ท่ามกลางกลางทุ่งนามีพืชหลากหลายปลูกปะปนกัน หลายคนมองเห็นแล้วนึกเสียดายพื้นที่และตำหนิในเริ่มแรกที่พบเห็นสวนที่รกรุงรัง คิดว่าเจ้าของสวน “ขี้เกียจ” ไม่ดูแล แต่พบว่า เจ้าของสวนนี้ มีผลผลิตพืชหลายชนิดวางจำหน่ายในตลาดนัดเป็นประจำ

คุณนิตยา บุญจันทร์ เกษตรกรต้นแบบการบริหารจัดการศัตรูพืช ประจำศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรอำเภอหันคา (ศพก.) บ้านเลขที่ 146 หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ได้ทำงานกับบริษัทดังใน กทม. แต่เมื่อพบกับสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจใน ปี 2540 จึงคิดได้ว่าเป็นสภาพที่ไม่มั่นคงเพราะกิจการไม่ใช่ของตัวเอง

จึงหันกลับคืนสู่บ้านเกิดเพื่อประกอบอาชีพทำนา เริ่มแรกทำเหมือนกับเพื่อนเกษตรกรทั่วไป แต่เมื่อตรวจสอบรายรับจากการจัดทำบัญชีฟาร์ม พบว่า มีรายได้เกือบขาดทุน ไม่ได้ค่าแรงที่ทำลงไป แต่เมื่อได้ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งเข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เนืองๆ กอปรกับการมีภาระหนี้สินสะสม จึงเล็งเห็นประโยชน์และแนวทางการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นทางออกให้กับการลดภาระหนี้สิน เพราะเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบคิดซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้

รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน ส่วน คำว่า พอเพียง คือการดำเนินชีวิตแบบสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลัก 3 ประการ ในแผนภูมิเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข นั่นคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี และต้องประกอบด้วยความรู้และคุณธรรม ซึ่งแนวคิดนี้คือการไม่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้และเผื่อแผ่ไปถึงสังคมรอบข้างเราและเมื่อเราสามารถทำตัวเป็นตัวอย่างได้แล้ว เราก็จะสามารถพาคนรอบข้างเราผ่านวิกฤติต่างๆ ไปได้อย่างมีความสุขในแบบทำให้ดู อยู่ให้เป็น เพื่อทำให้ทุกคน “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด”

สภาพทั่วไปของไร่นาสวนผสม มีพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ 2 งาน แบ่งเป็น ทำนา จำนวน 8 ไร่ ทำสวนแบบผสมผสาน จำนวน 5 ไร่ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้

1. กิจกรรมที่ทำรายได้ ได้แก่ ข้าว โดยทำนาปีละ 2 ครั้ง ทำนา ข้าวพันธุ์ กข 43 ในฤดูนาปรังและทำข้าวหอมมะลิในฤดูนาปี ในพื้นที่ 8 ไร่ เก็บข้าวไว้แปรรูปเพื่อบริโภคและจำหน่าย

2. สวนแบบผสมผสาน พื้นที่ 5 ไร่ ประกอบไปด้วย ผักเก็บยอดอ่อนที่สามารถเก็บจำหน่ายรายสัปดาห์ เช่น ใบชะมวง มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ และมีไม้ตัดใบเพื่อขายร้านดอกไม้ เช่น ยางอินเดีย และใบพุด ร่องสวนเลี้ยงหอยขม และไก่บ้านที่เลี้ยงไว้กินไข่และกินเนื้อ และพืชสมุนไพรต่างๆ เช่น ขมิ้น ไผ่กิมซุ่ง ไว้ใช้สอย อีกทั้งปลูกไม้มรดก ได้แก่ ประดู่ ต้นแดง ยางนา พะยูง ฯลฯ

การทำไร่นาสวนผสม ปัญหาที่พบคือ สภาพของดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากใช้ปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ได้ปลูกหญ้าแฝก

1. การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ เนื่องจากระบบรากของหญ้าแฝกค่อนข้างมาก และหนาแน่น มีมวลชีวภาพสูง และเจริญแทรกลงไปในดิน ด้วยลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เมื่อรากบางส่วนตายไป สำหรับส่วนของใบพบว่า หญ้าแฝกเจริญได้ค่อนข้างเร็ว มวลชีวภาพสูง ดังนั้น การตัดใบคลุมดินจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน และยังช่วยเร่งการแตกหน่อของหญ้าแฝกด้วย

2.การเพิ่มปริมาณความชื้นในดิน ในระบบที่มีการปลูกหญ้าแฝกจะพบว่า ดินเก็บความชื้นได้ยาวนานกว่า เนื่องจากส่วนของรากหญ้าแฝกที่ประสานกันเป็นร่างแห จะช่วยดูดยึดน้ำไว้ในดิน ซึ่งเห็นได้จากไม้ผล หรือพืชไร่ที่เจริญใกล้แถวหญ้าแฝก จะมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าพืชที่ไม่ได้ปลูกใกล้หญ้าแฝก ปัจจัยหนึ่งคือ ระดับความชื้นในดินมีมาก และยาวนานกว่า

3.การเพิ่มอัตราการระบายน้ำและอากาศระบบรากของหญ้าแฝกที่แพร่กระจาย มีส่วนช่วยให้ดินมีการระบายน้ำ และอากาศได้ดีมากขึ้นกว่าการไม่มีรากหญ้าแฝก

4.การเพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน บริเวณรากหญ้าแฝกพบว่า มีเชื้อจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่มีผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารพืชในดิน ช่วยดูดธาตุอาหารจากดิน และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมของเชื้อจุลินทรีย์ในบริเวณราก ลักษณะดังกล่าวส่งผลดีต่อการเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในดิน

การทำไร่นาสวนผสม ในพื้นที่เล็กน้อย เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน จะต้องเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การนำหน่อไม้กิมซุ่ง มาแปรรูปโดยการหมักดองเพื่อจำหน่ายในรูปหน่อไม้ดอง และการใช้วัสดุในไร่นามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำหน่อกล้วยมาหมักเป็นปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพไว้ฉีดบำรุงดินและผลผลิตทางการเกษตร

การดำเนินงานฟาร์ม ทุนเริ่มแรกใช้เงินทุนส่วนตัว และเมื่อไม้บางส่วนให้ผลผลิต สร้างรายได้เกิดผลตอบแทนจากการทำไร่นาสวนผสม จากการจำหน่ายข้าวและผัก และสมุนไพรในรอบการจำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ดังนี้

– การทำพืชผัก สมุนไพร สามารถจำหน่ายได้ประมาณวันละ 400 บาท และเก็บผลผลิตจำหน่ายตลาดนัดทั่วไป ประมาณสัปดาห์ละ 1,500 บาท

– การปลูกข้าว สามารถทำรายได้ ปีละ 300,000 บาท

รายได้ดังกล่าว นับเป็นรายได้ที่พอเพียง เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์ม ใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน มีต้นทุนไม่สูงนัก ปัจจัยต่างๆ ผลิตโดยใช้ปัจจัยที่หาได้จากไร่นาและหาได้จากท้องถิ่น นำมาผสมขึ้นมาใช้ในไร่นา มีการนำรายได้มาลงทุนพัฒนาปรับปรุงสวนให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำไร่นาสวนมาใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ร่วมกับการใช้ฮอร์โมนต่างๆ ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี การกำจัดศัตรูพืชโดยใช้การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เกื้อกูลพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติ การปลูกพืชแบบผสมผสานทำให้มีรายได้ทุกวัน ด้วยความตระหนักอยู่เสมอว่า “เกษตรกรต้องใช้ความอดทน มุ่งมั่น มานะอย่างแท้จริง จึงจะประสบความสำเร็จได้”

คุณนิตยา บอกว่า การประกอบอาชีพไร่นาสวนผสมเป็นการตอบสนองต่อการบริโภค และลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตและภัยธรรมชาติ เพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่อง ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก โดยพึ่งพาทรัพยากรในไร่นามากขึ้น

โดยการปลูกพืชระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืน ทำให้มีรายได้เป็น รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี การปลูกพืชที่หลากหลาย ทำให้มีแหล่งอาหารไว้บริโภคที่หลากหลายชนิดจนดูเหมือนรกรุงรัง ให้วัชพืชคลุมดินบ้างจนดูเหมือน “ทำสวนแบบขี้เกียจ”

มีการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในสวนไร่นาอย่างคุ้มค่า ลดรายจ่ายจากภายนอก ในระยะยาวจะเป็นการสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศเกษตรชุมชนดีขึ้น ดังคำชื่อสวนนี้ว่า “สวนธรรมพอดี” ให้ทุกอย่างเจริญเติบโตอย่างธรรมชาติ ทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดความพอดีอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ หรือเกษตรกรที่สนใจ นำไปปฏิบัติเป็นตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ต่อไป พืชที่เรียกได้ว่าปลูกได้ทุกฤดูกาล ก็น่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ที่ควรจะมีปลูกในทุกฤดูกาล แม้ว่าผักสวนครัวบางชนิดอาจไม่เหมาะกับฤดู แต่วิธีการปลูกก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ผลผลิตมีได้ในทุกฤดูได้เช่นกัน

ที่หมู่ 7 บ้านช่างแก้ว ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา พื้นที่ส่วนหนึ่งมีความเป็นชุมชนเมือง เพราะความเจริญที่เข้าถึง แต่ยังคงมีพื้นที่ส่วนที่เป็นสวนอยู่ ดังนั้น เกษตรกรที่นี่จึงต้องอยู่อย่างปรับตัว เช่น ทำสวนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพเสริมอื่น หากการทำสวนไม่ได้มีรายได้หลักจุนเจือครอบครัว

คุณธนพร คงบุญ หรือ พี่แตง ผู้หญิงที่มีความแคล่วคล่องว่องไวในการจัดการหลายๆ เรื่อง ภายในระยะเวลาจำกัดได้อย่างลงตัว เธอเป็นผู้หญิงที่มองเห็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เพราะที่ผ่านมาเมื่อเธอสำเร็จการศึกษามีครอบครัว ก็มุ่งมั่นทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่ในที่สุดความห่างไกลกับสามีทำให้เธอพยายามมองหาอาชีพ เพื่อกลับมาอยู่ในถิ่นกำเนิดและอยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รัก

เมื่อคุณธนพร กลับมาที่บ้านช่างแก้ว อาชีพแรกที่มองเห็น เพราะไม่มีความถนัดในการเกษตร จึงเป็นการเปิดร้านซัก อบ รีด เพราะมีความเป็นชุมชน แต่บริเวณใกล้เคียงไม่มีร้านซัก อบ รีด เมื่อลงมือจึงประสบความสำเร็จ ลูกค้าจำนวนมากหลั่งไหลมาให้ดูแล แต่เมื่อเป็นต้นแบบแล้วก็มีคนเห็นช่องทางดำเนินรอยตาม จึงเกิดร้านซัก อบ รีด ขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง คุณธนพร จึงมองว่า เมื่อมีการแชร์กลุ่มลูกค้าแล้ว ความอยู่รอดจะเป็นไปได้ยาก

“คงต้องหาอาชีพใหม่ จึงกลับมามองตัวเองว่าเราชอบอะไร มาจบที่การปลูกต้นไม้ ถึงแม้จะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่สมัยที่เรียนเพื่อนสนิทล้วนแต่เรียนด้านเกษตรทั้งนั้น และส่วนตัวชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว จึงคิดว่า การปลูกต้นไม้ให้เป็นอาชีพ น่าจะทำได้ไม่ยาก ประกอบกับที่ดินเดิม เป็นสวนผลไม้อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องเริ่มจริงจังเท่านั้น”

คุณธนพร เห็นว่า ต้นไม้ที่น่าจะขายได้เงินทุกวันก็คือ พืชที่ให้ผลผลิตเป็นของกิน และมีรอบการเก็บเกี่ยวสั้น จึงโฟกัสไปที่พืชผักสวนครัว แต่เมื่อพื้นที่สวนเต็มจึงคิดปลูกใส่กระถาง และด้วยความที่ไม่ถนัด ไม่มีความรู้เฉพาะทางในการปลูกต้นไม้ การเตรียมแปลงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณธนพร ในที่สุดการปลูกใส่กระถางหรือภาชนะจึงเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่คุณธนพรคิดว่าน่าจะทำได้

คุณธนพร เห็นยางรถยนต์เก่าเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงมีไอเดียนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับปลูกผักสวนครัว ยิ่งเมื่อศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ยูทูบ พบว่า เมื่อกรีดยางรถยนต์ออก จะทำให้พื้นที่ปลูกในวงยางรถยนต์มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงขอยางรถยนต์เหลือทิ้งแล้วนำมากรีดให้พื้นที่ปลูกมีความกว้างมากขึ้น ก่อนจะติดต่อกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ด้านเกษตร และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้ช่วยประสานหน่วยงานที่มีความรู้ด้านเกษตรเพื่อขอคำปรึกษา ในที่สุดคุณธนพรก็มีแหล่งเพาะเมล็ดผักสวนครัวหลายชนิด รวมถึงการเพาะด้วยตนเอง และการซื้อต้นกล้ามาเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการปลูกผักสวนครัวบางชนิดด้วย

ด้วยพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด และไอเดียการนำยางรถยนต์เก่าเป็นอุปกรณ์สำหรับปลูกผักสวนครัว ทำให้การปลูกผักสวนครัวเพื่อหวังจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับคุณธนพรจึงไม่เป็นเพียงอาชีพเสริมรายได้ แต่กลับเป็นรายได้หลักที่ทำเงินให้กับคุณธนพรในทุกวัน

“พอดีแม่ทำขนมไปขายตลาดนัดอยู่แล้ว จึงเก็บผักที่ปลูกตอนแรกฝากแม่ไปขาย ก็ขายได้ เราจึงคิดว่า น่าจะพัฒนาให้ผักเรามีคุณภาพ เพราะเริ่มแรก เราทำปลอดสาร จะเรียกว่าผักอินทรีย์ก็ได้ เพราะเราปลูกในวัสดุปลูกที่เราทำขึ้นเอง จากขี้วัว ดิน น้ำหมัก ใบไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดสารและเป็นอินทรีย์ อีกทั้งไม่ได้ปลูกลงดิน แต่ปลูกในวัสดุที่เราควบคุมได้ ผักจึงมีคุณภาพมากกว่าที่อื่น”

คุณธนพร ยกตัวอย่างการปลูกผักที่เรียกได้ว่าเป็นผักอินทรีย์ และสร้างมูลค่าได้มาก เช่น ผักคะน้า ซึ่งในวงล้อยางรถยนต์ 1 วง คุณธนพรจะหยอดเมล็ดผักคะน้าไว้ 3 เมล็ด เมื่อเจริญเติบโตขึ้น คะน้าแต่ละต้นจะมีลำต้นที่อวบ แข็งแรง น่ารับประทาน และสามารถขายได้ 3 ต้น ในราคา 10 บาท ซึ่งผักชนิดใกล้เคียงก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผักเองแบบเดียวกัน เช่น ผักกวางตุ้ง หรือผักโขม เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกผักสวนครัวในยางรถยนต์ หรืออุปกรณ์อื่นที่พอหาได้ คือ การควบคุมวัชพืช ทำให้วัชพืชไม่สามารถขึ้นได้ ไม่ต้องเสียแรงงานถอนวัชพืช หรือการใช้เครื่องตัดหญ้ามากำจัดวัชพืชเมื่อปลูกลงดิน

อย่างไรก็ตาม คุณธนพร ยังคงปลูกพืชบางชนิดลงดิน เช่น ข้าวโพด กะเพรา มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว เพราะปัจจุบัน วัสดุที่ใช้สำหรับปลูกผักสวนครัว เช่น ยางรถยนต์เริ่มหายาก หากจะทำได้ก็ต้องใช้กระถางแทน หรือกะละมังที่ไม่ใช้แล้ว จึงจะเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมาก

เมื่อปลูกผักสวนครัวลงแปลง การดูแลก็ค่อนข้างยากขึ้น “พอลงแปลง เรื่องของวัชพืชก็ตามมา จากนั้นก็เป็นเรื่องของแมลงศัตรูพืชที่ต้องควบคุมดูแล เราใช้น้ำหมัก เพราะเราต้องการปลูกผักสวนครัวให้เป็นอินทรีย์ จึงทำน้ำหมักขึ้นเอง เช่น น้ำหมักจากสับปะรด จะใช้กำจัดวัชพืชได้ แต่ต้องไม่ผสมน้ำ และฉีดพ่นในเวลากลางวันที่มีแสงแดด จะทำให้วัชพืชตายเอง โดยไม่ต้องถอน และไม่ต้องเสียเวลาใช้รถตัดหญ้าให้สิ้นเปลือง”

นอกจากการเก็บผลผลิตที่ได้จากการปลูกผักสวนครัวแล้ว คุณธนพรยังเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับเพาะต้นกล้า และจำหน่ายต้นกล้าผักสวนครัวต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ

ในทุกวัน คุณธนพรจะเก็บผลผลิตไปขายยังตลาดนัดหรือตลาดชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งทุกวันจะมีรายได้จากการเก็บผักสวนครัวไปจำหน่ายอย่างน้อย 500 บาท ซึ่งหากมีตลาดอินทรีย์ คุณธนพร จะมีรายได้มากกว่า เนื่องจากสามารถขายในราคาสูงได้ แต่ที่มีรายได้เพียงเท่านี้คุณธนพรก็พึงพอใจแล้ว เพราะเธอบอกว่า ต้องการให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสารที่มีคุณภาพ ไม่ทำร้ายผู้บริโภคด้วยกันเอง และราคาที่จำหน่ายก็เป็นราคาที่จับต้องได้ เพียงถุงละ 5-10 บาท เท่านั้น

ทุกวันนี้ คุณธนพร กลายเป็นเกษตรกรหญิงที่มีคุณภาพ global-customer.com ไม่เพียงแค่ปลูกผักสวนครัวในยางรถยนต์ แต่เป็นวิทยากรด้านต่างๆ จากความสามารถของเธอเองให้กับ กศน. คลองหอยโข่ง รวมถึงสำนักงานเกษตรอำเภอคลองหอยโข่ง เพราะคุณธนพร คิดเสมอว่า ความรู้และประสบการณ์ที่เธอมี ควรถ่ายทอดและเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้กับผู้สนใจ โดยไม่คิดมูลค่า สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการความรู้ที่คิดว่า คุณธนพร สามารถถ่ายทอดให้ได้ ติดต่อได้ที่ คุณธนพร คงบุญ หรือ พี่แตง หมู่ที่ 7 บ้านช่างแก้ว ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 081-959-7899 ได้ตลอดเวลา

พื้นที่ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เป็นที่เลื่องลือถึงคุณภาพพริกพื้นเมืองที่ปลูกโดยฝีมือเกษตรกรในพื้นที่ ประเมินได้ว่า เป็นพริกพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะเหตุผลว่า พริกชนิดนี้ เป็นพริกที่มีความเผ็ด เมื่อนำไปปรุงในเครื่องแกงอาหารใต้ จะมีสีสวย ที่สำคัญ เมื่อปรุงเป็นอาหาร จะได้กลิ่นหอมชวนลิ้มรสของพริกในอาหารนั้นๆ

ชาวบ้านเรียกพริกพื้นเมืองของตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ชนิดนี้ว่า “พริกขาวชี” หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ “พริกขาวชัยบุรี” ที่มาที่ไปของชื่อ ลุงจำรัส สงกลิ่น อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง บอกว่า พริกชนิดนี้เมื่อติดผล แรกเริ่มเม็ดพริกจะเป็นสีขาว จากนั้นค่อยๆ เหลือง ส้ม และท้ายที่สุด คือ ส้มเข้ม และพื้นที่ปลูกพริกมากที่สุดอยู่ที่ตำบลชัยบุรี จึงเรียกพริกชนิดนี้ว่า พริกขาวชัยบุรี

เดิมพื้นที่ตำบลชัยบุรีส่วนหนึ่ง เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บางส่วนเป็นพรุ จึงยากแก่การทำเกษตร โดยทั่วไปเกษตรกรจำนวนหนึ่งเลือกปลูกปาล์มแบบยกร่อง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำในฤดูฝน

เกษตรกรผู้ปลูกพริกจึงเลือกปลูกพริกและเก็บเกี่ยวผลผลิตตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงฤดูฝน ที่ตามมาด้วยภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก จึงหยุดปลูก แต่มีเกษตรกรบางส่วนมองการณ์ไกล เลือกใช้วิธีปลูกพริกยกร่องหลีกเลี่ยงปัญหาน้ำท่วม เช่นเดียวกับการปลูกปาล์ม ทำให้มีรายได้จากการปลูกพริกตลอดทั้งปี คุณอุทัย รัตนชัย ชาวบ้านหมู่ 7 ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง เลือกวิธีปลูกพริกแบบยกร่อง เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี