ปัจจุบัน อุปกรณ์เครื่องปลูกอ้อย ใช้แรงงานเพียงแค่ 1-2 คน

สามารถทำงานได้สูงสุด 20 ไร่/วัน ช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องฝังปุ๋ย เครื่องคีบอ้อย และแทรกเตอร์ขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวในร่องอ้อยสูงสำหรับกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก ช่วยลดการใช้สารเคมีและสารปนเปื้อน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เมื่อได้อ้อยอินทรีย์ป้อนสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเหมาะสำหรับการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี

คุณแอ๊ด-กริชอารักษ์ รักษาพล อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 206 หมู่ที่ 9 ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในเกษตรกรเจ้าของไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการปลูกอ้อยอินทรีย์ โดยปลูกอ้อยตามหลักการ KUBOTA (Agri) Solutions เกษตรครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกทำการเกษตรในทุกขั้นตอน และบริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด ให้คำปรึกษาสนับสนุนข้อมูลอันเป็นประโยชน์ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้อย่างน่าพอใจ

คุณแอ๊ด เล่าว่า ครอบครัวทำนาและปลูกอ้อยโดยใช้สารเคมีมาก่อน ต่อมาผมสนใจปลูกอ้อยอินทรีย์ จึงขอแบ่งที่ดินจากพ่อ จำนวน 1 ไร่ มาทดลองปลูกอ้อยอินทรีย์ โดยปลูกยูคาลิปตัส กระถินเทพา มะม่วง ขนุน เป็นพืชแนวกันชนรอบแปลงปลูกอ้อยก่อน

หลังจากนั้น ใช้เวลา 1 เดือน ปรับปรุงบำรุงดิน ไม่ให้มีสารเคมีตกค้างในดินก่อน จึงค่อยลงมือปลูกอ้อยด้วยนวัตกรรม KUBOTA (Agri) Solutions ปรากฏว่า สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยอินทรีย์รุ่นแรก ได้ผลผลิตถึง 18 ตัน/ไร่ แตกต่างจากการปลูกอ้อยโดยปกติ ที่มักได้ผลผลิตเฉลี่ย 10-12 ตัน/ไร่ ผมมุ่งมั่นที่จะปลูกอ้อยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเพราะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แถมมีสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลสารเคมีตกค้างอีกด้วย

คุณสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มวังขนาย ส่งเสริมให้เกษตรกรสมาชิก ในพื้นที่รอบโรงงานน้ำตาลปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS ในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดการทำเกษตรครบวงจรให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า ผ่านโครงการ AD Solutions Provider เพื่อให้ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายมีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำเกษตรด้วยวิธี KAS และการทำเกษตรแบบประณีต เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ดังกล่าวต่อไปยังเกษตรกรในพื้นที่ของตนเอง โครงการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การต่อยอดและพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการทำเกษตรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

“การปลูกอ้อยด้วยวิธี KAS เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังส่งผลให้กลุ่มวังขนายได้วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพสามารถนำไปผลิตเป็นน้ำตาลออร์แกนิกได้มาตรฐานอีกด้วย” คุณสมศักดิ์ กล่าว

คุณสุนิษา พรรักษมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูโบต้ามหาสารคาม จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้นำพนักงานเข้าร่วมอบรมโครงการ AD Solutions Provider แล้วนำองค์ความรู้ KAS ไปใช้พัฒนาการปลูกอ้อย ร่วมกับโรงงานน้ำตาลวังขนาย ในปี 2558-2559 ณ บ้านโคกล่าม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 8 ไร่ ปรากฏว่า ได้ผลผลิต จำนวน 26.64 ตัน/ไร่ ใช้ต้นทุนประมาณ 8,400 บาท/ไร่ และได้กำไรอยู่ที่ 24,000 บาท/ไร่ (ไม่รวมค่าตัดอ้อยและค่าขนส่ง เนื่องจากขายเป็นอ้อยพันธุ์)

ในอนาคต สยามคูโบต้ายังคงเดินหน้าถ่ายทอดการทำการเกษตรครบวงจรให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรให้มีการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้น อีกทั้งยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการวิจัยการทำเกษตรด้วยวิธี KAS กับพืชอีกหลากหลายชนิด และมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ KAS ให้กับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายครอบคลุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้กับเกษตรกรต่อไป

เปิดตัว “ปฏิทินเพาะปลูกข้าว”
พัฒนาข้าวไทย เข้าสู่ “ทำเกษตรแบบประณีต”

เนื่องจาก สยามคูโบต้า ต้องการส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาทำเกษตรแบบประณีตและเกษตรแม่นยำสูงกันมากขึ้น จึงได้เปิดตัว ปฏิทินเพาะปลูกข้าว ลิขสิทธิ์เฉพาะของสยามคูโบต้า ที่ผ่านการคิดค้น วิจัย และพัฒนาร่วมกับอาจารย์ซึโทมุ มิยาโกชิ ที่ปรึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ ด้านเทคนิคการปลูกข้าว จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางให้ชาวนาไทยทำนาข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับขั้นตอน การจัดทำปฏิทินเพาะปลูกข้าวสำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มต้นจากศึกษาข้อมูล วิเคราะห์พื้นที่ที่จะทดสอบปฏิทิน ปลูกข้าวจริงและเก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงทุกขั้นตอน นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ผล และสุดท้ายนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดทำเป็น ปฏิทินเพาะปลูกข้าว โดยจะพิจารณาจากองค์ประกอบและศักยภาพผลผลิตของข้าวแต่ละพันธุ์

ยกตัวอย่าง เช่น หากต้องการผลผลิตข้าว 1 ตัน จะต้องวางแผนย้อนกลับไปว่าจะต้องมีองค์ประกอบผลผลิตที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง แล้วสามารถทำได้ตามมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ได้จะย้อนกลับไปดูว่ามีการผิดพลาดตรงจุดไหน เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงแปลงในฤดูถัดไป

ปฏิทินการเพาะปลูกที่สยามคูโบต้าจัดทำขึ้น ประกอบด้วย ข้อมูล 2 หน้า หน้าแรกเป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาหยอดแห้งสำหรับพื้นที่อาศัยน้ำฝน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และหน้าที่สอง เป็นคำแนะนำสำหรับการทำนาดำสำหรับพื้นที่ชลประทาน โดยมีพันธุ์ข้าวแนะนำ คือ ข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงอายุ 120 วัน

แต่ละหน้าของปฏิทินจะมีองค์ประกอบ 6 ส่วน คือ
1. พื้นที่แนะนำสำหรับปฏิทินเพาะปลูกชุดนี้
2. พันธุ์ข้าว
3. ช่วงเวลาการเพาะปลูก
4. ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ
5. ระยะการเจริญเติบโตของข้าว และ
6. การปฏิบัติในแปลงและจุดควบคุม โดยรายละเอียดในปฏิทินเพาะปลูกข้าวจะมีการอธิบายถึงวิธีการทำนาในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดวันเพาะปลูก การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งการประเมินผลในแต่ละขั้นตอน และตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมของข้าวในแต่ละระยะ

ปฏิทินเพาะปลูกข้าวฉบับนี้ เป็นฉบับแรกที่สยามคูโบต้าได้จัดทำขึ้น มีความโดดเด่นคือ ค่ามาตรฐานของการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถวัดผลการเจริญเติบโตของต้นข้าว เพื่อปรับการดูแลรักษาต้นข้าวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ รวมถึงมีคำแนะนำเพิ่มเติมในแต่ละช่วงเวลาสำคัญของการเจริญเติบโต เช่น การงอก ออกรวง เก็บเกี่ยว โดยในอนาคตบริษัทจะทำการวิจัยและพัฒนาปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับพันธุ์ข้าวที่แนะนำในแต่ละพื้นที่

“สยามคูโบต้า ยังคงพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลปฏิทินเพาะปลูกข้าวตัวปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น อย่างน้อย 2-3 ปี และยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังพื้นที่หรือพันธุ์ใหม่ๆ คู่ขนานกันไป สำหรับในด้านการส่งเสริม สยามคูโบต้ามีเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยจะนำไปทดลองใช้และพัฒนาต่อในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ได้ปฏิทินเพาะปลูกข้าวที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป” คุณสมศักดิ์ กล่าวในที่สุด

ชมภาพชาวบ้านเมืองเจี้ยนเต๋อ มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน กำลังเก็บดอกเก๊กฮวยบนพื้นที่ 6.3 เอเคอร์ เพื่อนำไปทำชาดอกเก๊กฮวย

ปัจจุบันการปลูกดอกไม้ชนิดนี้ถือเป็นธุรกิจที่กำลังโดดเด่น ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาโดยรัฐบาลท้องถิ่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งของเกษตรกร และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนพื้นที่ชนบทแห่งนี้

ดอกเก๊กฮวย หรือ เบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum Linn. ในวงศ์ Compositae) หรือ เบญจมาศหนู (Chrysanthemum morifolium Ramat. ในวงศ์เดียวกัน)

วิธีทำน้ำเก๊กฮวย นำดอกเก๊กฮวยอบแห้ง 5-10 ดอก ลงไปต้มในหม้อกับน้ำประมาณ 2 ลิตร นาน 5 นาที แล้วกรองออก เติมน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลกรวดลงไปเพื่อเพิ่มความหวานตามแต่ชอบ หรือจะเพิ่มความหอมโดยใช้ใบชาหรือเตยลงไปด้วยก็ได้ รับประทานได้ทั้งร้อนและเย็น ประโยชน์ของน้ำเก๊กฮวยมีหลายประการ นอกจากความหอมสดชื่นแก้กระหายแล้ว ยังเป็นยาเย็น ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน ในตำราการแพทย์แผนจีน ช่วยในการระบายและย่อยอาหาร ช่วยขยายหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เลี้ยงหัวใจ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง, โรคเส้นเลือดตีบ และโรคหัวใจได้ ช่วยขจัดสารพิษให้ออกจากร่างกาย ช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งและจุลินทรีย์ต่างๆ

ทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เป็น 3 ขั้นตอน ในขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นตอนของการผลิตทางการเกษตรโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารอย่างเพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัว

คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมวิชาการเกษตรให้เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา ในปี 2560 โดยการนำของผู้บริหาร และพร้อมกับทีมงานเพื่อนข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย หรือพนักงาน ได้ร่วมจัดงาน “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา เกษตรกลาง บางเขน ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมให้กับประชาชนหรือเกษตรกรที่มาร่วมงานได้รับความรู้และเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปใช้ในการเปลี่ยนวิถีสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

ในงานมีเกษตรกรต้นแบบและปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาถ่ายทอดประสบการณ์และตอบข้อซักถามให้ผู้มาร่วมงาน ได้ชมการจัดแสดงนิทรรศการเกษตร ชมการสาธิตการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ หนึ่งวิถีการเพิ่มมูลค่า หรือชมกิจกรรมการเกษตรในสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา

ในการดำเนินงาน “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผนึกกำลังทุกภาคส่วน เปิดตัวโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ด้วยการ น้อมนำศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่สู่เกษตรกร 70,000 ราย

เกษตรกรที่ต้องมีความพร้อมและสมัครใจในการเข้าร่วมโครงการ เริ่มจากการทำแบบง่าย แล้วค่อยๆ ขยายตามฐานะของตนเอง
ปราชญ์เกษตรหรือเกษตรกรต้นแบบ เพื่อทำหน้าที่ครูพี่เลี้ยงในการสร้างแรงบันดาลใจ แนะนำให้ความช่วยเหลือ
ภาครัฐ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภาคเอกชน โดยสนับสนุนทุนเริ่มต้นหรือปัจจัยการผลิตการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำ ตลอดทั้งจัดหาตลาดให้แก่เกษตรกร และ
สถาบันการศึกษา โดยสนับสนุนองค์ความรู้ และเทคนิคการบริหารจัดการให้แก่เกษตรกร
ในสวนเฉลิมพระเกียรติ 55 พรรษา ได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ศูนย์รวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชพรรณไทยและศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ ที่จัดให้ประชาชนหรือเกษตรกรได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในวิถีการดำรงชีวิตที่พอเพียง

เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้เป็น 3 ขั้นตอน สำหรับในขั้นตอนที่ 1 เป็นขั้นตอนเริ่มต้นของทฤษฎีใหม่ เป็นขั้นตอนการผลิตทางการเกษตรโดยตรง เพื่อให้มีอาหารอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคในครอบครัวของเกษตรกร ในขั้นนี้เกษตรกรจะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งกรรมวิธีในการขุดสระน้ำ การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการจัดการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 สัดส่วน ในอัตราส่วน 30% 30% 30% และ 10% ดังนี้

สัดส่วนแรก พื้นที่ 30% เป็นพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในการเกษตร สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนในครัวเรือน

สัดส่วนที่ 2 พื้นที่ 30% จัดเป็นแปลงนาข้าว สำหรับปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายในกรณีที่เหลือจากการบริโภค หลังการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วควรปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยเพื่อบำรุงดิน เช่น พืชตระกูลถั่วหรือโสน

สัดส่วนที่ 3 พื้นที่ 30% จัดเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชไร่หรือปลูกพืชสวน พืชไร่ที่ควรปลูก เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือการปลูกพืชสวน พืชที่ควรปลูก เช่น ไม้ผล พืชผัก พืชอายุสั้น ผลผลิตที่ได้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนและขายในกรณีที่เหลือจากการบริโภค เพื่อนำรายได้มาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการผลิต

และสัดส่วนที่ 4 พื้นที่ 10% จัดเป็นที่อยู่อาศัยของเกษตรกร และห่างออกไปจัดเป็นโรงเรือนเพื่อเก็บเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์การเกษตร หรือใช้พื้นที่ว่างบางส่วนจัดการเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ไก่ เป็ดหรือสุกร

คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เล่าให้ฟังว่า ด้วยสัดส่วนทฤษฎีใหม่ดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรรายย่อย ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ แม้จะมีปัจจัยจากภายนอกหรือภาวะเศรษฐกิจจะผันผวนก็จะไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพ และยังสามารถดำรงชีวิตได้ในแนวทางแห่งความพอเพียง เป็นหนึ่งวิธีการเพื่อช่วยส่งเสริมการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืน

ส่วนการต่อยอดไปสู่ขั้นที่ 2 และ ขั้นที่ 3 นั้นในขั้นตอนที่ 2 เป็นการดำเนินงานต่อจากขั้นตอนที่ 1 ที่ได้ทำงานประสบผลสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ด้วยการรวมพลังในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรมด้วยกัน จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 เป็นขั้นตอนที่นำไปสู่ธุรกิจชุมชน เพื่อให้สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนดีมีคุณภาพยิ่งขึ้น

และนี่ก็คือ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” เรื่องราวที่น่าสนใจน่าศึกษาเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีการยังชีพในแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ยั่งยืน สอบถามเพิ่มได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-0583 หรือที่คุณสมเพชร พรมเมืองดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร

“หากให้เล็กบอกเล่าถึงความภาคภูมิใจในชีวิต พอบอกได้ไหมมีอะไรบ้าง”

“เยอะนะพี่ ได้เงินเดือนจากการทำงานในเดือนแรกก็ภูมิใจนะ แต่เป็นความภูมิใจที่มีมาให้ได้พบทุกเดือน จนหลังๆ ก็เป็นความเคยชิน แต่ที่ภูมิใจมากๆ คือได้ยินได้เห็นคนที่เรารักยอมรับและทำไปพร้อมกับเรานี่แหละพี่ ภูมิใจมากๆ ความฝันเล็กๆ ของเราสองคนได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว จากคนในชุมชน และปัจจุบันได้ทำงานใหญ่ในระดับจังหวัด”

“เป็นปราชญ์เกษตร ด้านเกษตรผสมผสานของหมู่บ้าน ประธานสภายุวเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และประธาน Young Smart Farmer จังหวัดขอนแก่น ปี 2560”

“อะโห! มีเวลาดูแลสวนตัวเองหรือเนี่ย ไม่เดินสายประชุมไปทั้งจังหวัดเลยรึ” “เราต้องแบ่งเวลาค่ะพี่ เมื่อก่อนเราตั้งเป้าให้พอกิน พอใช้ พอใจ พอเพียง เมื่อเราได้ตามเป้าหมายแล้ว จากนี้ไปก็จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวตามศาสตร์พระราชา ที่เราน้อมนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตต่อไป ตอนนี้ทำอีกหน้าที่คือเป็นครูอาสา สอนหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้ตามโรงเรียนต่างๆ ค่ะ”

“เรียกว่าทำจนสำเร็จ เมื่อถึงเวลาก็ต่อยอดด้วยการรวมกลุ่ม และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจขยายวงกว้างต่อไป”

“ใช่เลยค่ะ เล็กฝันเอาไว้ ตอนนี้เรากำลังก้าวเดินไปตามความฝันของเรา การรวมกลุ่มของเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องเข้มแข็งจากกลุ่มเล็กๆ ขยายวงออกไปเรื่อยๆ ต่อยอดความรู้ ความเข้าใจ มีพี่เลี้ยงในแต่ละกิจกรรม ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องมีการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกมาทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อมีการรวมกลุ่ม เราจะเข้มแข็งจากผู้มีประสบการณ์ในกลุ่มคอยช่วยเหลือ”

“ทิ้งไม่ได้เลยพี่ นี่คือตำราอีกหนึ่งเล่มที่ยังมีชีวิต เรื่องราวแต่ละอย่างที่ท่านผ่านมา จะเป็นบทเรียนทั้งในแง่ของความสำเร็จและไม่สำเร็จ”

“เล็กเลี่ยงคำว่าล้มเหลว”

“ใช่พี่ ทุกอย่างที่ผ่านการกระทำมา ไม่มีสิ่งใดล้มเหลว เพียงแต่เป็นตัวอย่างให้รู้ว่าทำแบบนั้นไม่ประสบผลสำเร็จนะ ลองมาแล้วไม่ต้องไปทำ ช่วยให้เราไม่ต้องเสียเวลาเดินในรอยเดิมนั้นอีก”

“แล้วที่เห็นนั่งปรึกษากัน”

“เรากำลังเตรียมทำลานข้าวตามแบบโบราณค่ะพี่ ต้องจัดเตรียมขี้ควาย ดินเหนียว และถากหญ้าทำลานกัน เรื่องนี้ต้องพึ่งประสบการณ์ของผู้รู้มาคอยช่วย เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้ไปด้วย”

“เอ่อ! เด็กๆ จะกล้าเล่นกับขี้ควายไหมเนี่ย” “หารู้ไม่ ที่นี่ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยหายไปนะพี่ เด็กๆ มาพูดคุยเรียนรู้กับผู้เฒ่า มีการลงมือทำ หยอกล้อ โต้แย้งกันตามประสา หนูมองทีไรก็อุ่นในหัวใจทุกครั้ง คิดไม่ผิดจริงๆ ไม่มีอาชีพไหนที่คนในครอบครัวจะมีกิจกรรมร่วมกันได้พร้อมหน้าเท่าอาชีพเกษตร หิวก็กิน ง่วงก็นอน สุขสบายตามอัตภาพ”
ผมยืนมองแปลงนาที่มีระลอกคลื่นพลิ้ว แกว่งรวงข้าวสีทองไหวโยกเอนไปตามลม เล็กพาเดินไปตามคันนา ชี้ให้ดูความมีอยู่มีกินตามที่เธอเล่าให้ฟัง น้ำในนาเริ่มงวด ปลาตัวเล็กตัวน้อยต้องหาแหล่งน้ำอยู่ใหม่ บ้างว่ายบ้างแถกโคลนไปข้างหน้า ไม่ไกลก็จะมีสระที่ขุดไว้เก็บน้ำ และเป็นแหล่งรวมปลาจากทุกจุดในนาให้มารวมกัน ความเขียวของผักน้ำที่เล็กทั้งสองปลูกอวดต้นอวดก้านสวยงาม ผักพาย ผักก้านจอง ผักตบ ผักขะแยง (แขยง) ใบบัวบก ผักแว่น ผักบุ้งนา เรียกว่าหากแค่เก็บกินอย่างไรก็ไม่หมดแน่ๆ

“มีข้าว มีปลา มีผัก แค่นี้ก็สบายแล้วเนอะ”

“ใช่พี่ เป็ดไก่เรามีไข่ให้กินเสมอ ไหนจะปู ปลา กุ้ง หอย กบ ใครมาที่นาแปลงนี้รับรองไม่มีอดแน่นอน”

“ถามทีละอย่างนะ ปูนาเลี้ยงด้วยหรือ ยากไหม”

“ไม่ยากพี่ ปล่อยให้เขามีพื้นที่ หากสะดวกในการจัดการ จะทำบ่อปูนก็ได้ จับปูนามาปล่อย ทำบรรยากาศให้เหมือนธรรมชาติ อาหารก็ไม่ยาก ให้ข้าวสุกก็กิน ให้ผลไม้ก็กิน ถึงเวลาก็ออกลูกหลานขยายไม่สิ้นสุด”

“แล้วหอยขม”

“นี่ยิ่งง่ายพี่ ดูบ่อปลาที่เห็นนี่นะ เอาหอยมาปล่อยแค่กิโลเดียว เอาทางมะพร้าวมาลงให้เขาเกาะบ้าง ผ่านไปปีเดียวได้กินได้ขายไม่หมดเลย นี่ไม่ได้เลี้ยงอะไร ให้เขาหากินเองในบ่อปลานี่แหละ”

“ง่ายขนาดนั้นเลย”

“ใช่พี่ พี่โจนเคยบอกไว้ อะไรยากคือผิด ต้องหาอะไรง่ายๆ มาทำ ปลาสารพัดชนิด ส่วนมากตอนนี้ไม่ได้ซื้อมาปล่อยแล้ว เขาออกลูกออกหลานมาเอง แล้วยังมีปลาจากธรรมชาติอีก แค่เราดูแลพื้นที่ของเราให้ดี ให้ปลอดภัยจากสารเคมี ที่เหลือธรรมชาติจะหันมาดูแลเราเอง”

“อาหารปลา ต้องซื้อมาไหม”

“ไม่เลยพี่ ผลไม้สุกที่กินไม่ทันก็แบ่งปลากิน มะละกอ กล้วย คนกิน ปลากิน สัตว์น้ำต่างๆ ก็ได้กิน ปลากินพืชก็ตัดหญ้าให้เขาบ้าง ฟางข้าวบ้าง เรียกว่าอาหารในสวนในฟาร์มเราเอง หมุนเวียนเป็นห่วงโซ่ได้ไม่รู้จบ”

จากทุ่งนาเรามาเดินในสวน พืชผักที่มีการดูแลอย่างดีสวยงามสะพรั่ง ไผ่แทงหน่อออกมารอบกอ เพกาก็ออกฝักดกเป็นพวง ดอกสลิดบานเกาะค้างเต็มไปหมด กลิ่นหอมอ่อนๆ คละเคล้ากันไป เป็นบรรยากาศที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่มีการปรุงแต่งเหมือนสังคมในปัจจุบันนัก เสียงเป็ด ไก่ เสียงหมาเห่า กระดึงเบาๆ จากคอควาย เหล่านี้คือภาพที่บางคนไม่เคยพบเจอในยุคนี้แล้ว แต่ที่นี่กลับมาอยู่พร้อม

“ตรงนี้จะเป็นแปลงเพาะชำของฟาร์มเราค่ะพี่ มีไผ่ เพกา สลิดเป็นหลัก แจก แลก ขาย ยังเป็นกิจกรรมหลักที่เราทำอยู่เสมอ เป็นรายได้ส่วนหนึ่ง และเป็นสะพานทอดให้เราได้มีเพื่อนมากขึ้น”

“ยังไงหนอ ช่วยขยายความ”

“ต้นกล้าในแปลงนี้ เมื่อมีคนมาแบ่งซื้อ ก็จะถามวิธีปลูก ดูแล บำรุงอย่างไร เราก็ได้พูดคุยได้เสวนากัน บางครั้งตามไปดูให้ถึงแปลงปลูก ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมากมายเลยพี่”

“เห็นว่าขายดาวเรืองด้วย”

“ผลพลอยได้ค่ะพี่ จากที่ตั้งใจปลูกดาวเรืองถวายในหลวง พอสั่งเมล็ดมาเยอะก็เพาะแบ่งขายด้วย เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ไม่แน่ จากนี้ไปเราอาจปลูกดาวเรืองตัดดอกเป็นรายได้เสริมอีกทางก็ได้”

“อยากฝากอะไรถึงท่านผู้อ่านสักหน่อยไหมครับ”

“เราขอขอบคุณท่านผู้อ่าน ผู้ติดตามทุกท่านค่ะ เรื่องราวของครอบครัวเราบางครั้งก็ดูเหมือนนวนิยาย แต่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ก็ผ่านทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตา แรงต้านจากคนใกล้ชิดคือแรงผลักที่สำคัญ ทำให้เรามุ่งเดินตามรอยฝัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีแบบอย่างที่ดีจากในหลวง พระองค์ทรงพระราชทานแนวทางชีวิตที่พร้อมสุขให้เรา พระองค์ทรงคิดและทดลอง เราเพียงปฏิบัติตามก็จะพบกับความสำเร็จได้ไม่ยาก ขอเพียงเรากล้าฝัน ขอเพียงเรากล้าลงมือทำ เชื่อว่าสักวันจะประสบผลสำเร็จแน่นอน”

“ถามย้ำ หากมีคนสนใจอยากมาขอความรู้จะติดต่ออย่างไร”
“เรายินดีค่ะ โทร.มาได้ที่เลขหมาย (099) 401-6487 และ (061) 969-5187 หากบอกว่าอ่านจากนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เรามีของฝากติดมือให้ไปปลูกด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ”
ผมกล่าวอำลาครอบครัวคนบ้าฝัน (ตามนิยามที่เธอบอก) พร้อมกับเอ่ยเบาๆ ในใจ

“ผมจะฝันบ้าง เดี๋ยวจะเอามาอวดนะ บ้านสวนเบญจมงคล เชอะ เชอะ เชอะ อิจฉาว้อย” สภาพอากาศเย็น มีความชื้น มีน้ำค้าง และฝนตกของภาคเหนือตอนบน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งเฝ้าระวังโรคใบไหม้ สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น มักพบแสดงอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยอาการเริ่มแรกด้านบนใบเป็นจุดฉ่ำน้ำสีเขียวเข้มคล้ายถูกน้ำร้อนลวก

เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบในบริเวณตรงกันจะพบละอองน้ำเล็กสีขาวใสติดอยู่บริเวณขอบแผล ต่อมาจุดขยายเป็นแผลแห้งขนาดใหญ่สีน้ำตาล ขอบแผลฉ่ำน้ำสีดำ และแผลขยายลุกลามออกไปจนทำให้ใบไหม้แห้งเป็นสีน้ำตาลในที่สุด

กรณีสภาพแวดล้อมเหมาะสม โรคใบไหม้จะลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังต้นอื่นๆ ทำให้มองเห็นใบไหม้แห้งกระจายเป็นหย่อมในแปลง ส่วนลำต้นที่พบอาการของโรค จะทำให้ลำต้นหรือกิ่งแห้งตายอย่างรวดเร็ว หากโรคเข้าทำลายที่หัว จะทำให้หัวเน่า

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ถอนแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก หลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็นและการให้น้ำที่มากเกินไป

หากพบโรคเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+แมนโคแซบ 8%+64% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารไอโพรวาลิคาร์บ + โพรพิเนบ 5.5% + 61.3% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่ว และพ่นทุก 5-7 วัน หลีกเลี่ยงการพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค

สำหรับในแปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และให้ใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตรเมื่อใช้ในแปลงที่มีการระบาดแล้ว ควรนำเครื่องมือมาทำความสะอาดด้วยการล้างและผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำกลับไปใช้ในแปลงทุกครั้ง

จากนั้นให้ไถพรวนดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ สมัครยูฟ่าเบท และใส่ปูนขาวเพื่อจะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก หลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน อีกทั้งควรปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

ความสุขไม่ใช่ของหายาก หนทางนำมาซึ่งความสุขไม่ได้ซับซ้อน ใครกำลังไขว่คว้าหาความสุข ลองถามตัวเองว่าตั้งขีดความสุขไว้สูงไปหรือไม่ มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดหรือเปล่า นี่เองเป็นที่มาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนชาวไทยนำไปปรับใช้ ให้มองหาความสุขใกล้ตัว และพอใจสิ่งที่ตนมี

หลายคนอาจเข้าใจว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คือแนวคิดมุ่งวิถีเกษตรเป็นหลัก เหมาะกับเกษตรกร เท่านั้น แท้จริงแล้วหลักความพอเพียงทุกคนนำไปปรับใช้ได้ แม้กระทั่งคนในเมืองใหญ่ ก็มีความสุขอย่างเรียบง่ายได้โดยการ “ปลูก เพ(ร)าะ สุข’”

เริ่มจาก “ปลูก” ฝังทัศนคติการสร้างความสุขอย่างยั่งยืนด้วยการน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ให้ความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย จัดตั้งคณะทำงานและปราชญ์เกษตรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ ให้รู้จักบริโภคและดำรงตนอย่างพอประมาณ ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ ใช้เหตุผลนำการใช้ชีวิต เตรียมภูมิคุ้มกันรับความเปลี่ยนแปลงเสมอ หมั่นเติมความรู้และยึดมั่นในคุณธรรม

จากนั้นจึงบ่ม “เพาะ” แนวคิดและความรู้สู่การปฏิบัติจริง ผู้อาศัยในเมือง งานรัดตัว เริ่มง่ายๆ ด้วยการปรับการกินอยู่ให้เหมาะกับร่างกายและวิถีชีวิต ปรับจากผู้ซื้อเป็นผู้ผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่าย แบ่งพื้นที่ที่อาศัยมาปลูกพืชผักสวนครัวง่ายๆ แค่ริมรั้วหรือระเบียงก็ได้ ใช้ชิวิตให้สมดุลนอกจากทำงานหรือเรียน เช่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ