ปาล์มน้ำมัน มูลค่าผลผลิตรวม 44,000 ล้านบาท ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น

จากต้นทุน 290 บาทเพิ่มเป็น 430 บาท หรือมูลค่า 1,940 ล้านบาท หากไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชผลผลิตจะลดลง 20% คิดเป็นผลผลิตที่หายไป 2.2 ล้านตัน หรือ มูลค่าผลผลิตจะหายไปรวม 8,800 ล้านบาท/ปี และ ยางพารา มูลค่าผลผลิต 210,000 ล้านบาท หากเลิกใช้พาราควอตต้นทุนจะเพิ่มขึ้นทันที 148% จาก 290 บาท เป็น 430 บาท หรือต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 8,410 บาท/ปี และหากไม่ใช้ยากำจัดวัชพืช ผลผลิตจะลดลงทันที 20% หรือผลผลิตหายไป 0.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าผลผลิตที่สูญเสียไป 42,000 ล้านบาท/ปี

นายสุกรรณ์ กล่าวว่า นอกจากสมาพันธ์จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตร (กวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตนำเข้า และการขึ้นทะเบียนสารเคมีในประเทศไทยได้ตรวจสอบตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 4ด้าน ได้แก่ 1.การทบทวนค่าพิษวิทยา 2.การห้ามใช้ในประเทศต่างๆด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ 3.การปฏิบัติภายใต้อนุสัญญาประชาคมโลก ข้อ 4.ผลการรับฟังความเห็น

โดย นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดี กวก.ได้สรุปผลการตรวจสอบยืนยัน ว่า สารพาราควอต ยังสามารถใช้ได้ไม่เป็นอันตราย หากใช้ภายใต้การควบคุม และ กวก.จะนำเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายประชุมให้เกิดความชัดเจนต่อไป ส่วนกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุให้เกิดโรคพาร์กินสันนั้น โรงพยาบาลรามาธิบดี ยืนยันว่า สารพาราควอตไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน และโรคหนังเน่า แต่อย่างใด และกรณีถูกผิวหนังหากปฏิบัติถูกต้องใช้ตามวิธีการใช้ตามที่ฉลากกำหนดจะไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสารพาราควอต มีขึ้นทะเบียนการใช้มากกว่า 80 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเข้มงวดในเรื่องของการอนุญาตให้ใช้สารเคมี อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น เป็นต้น และผู้ส่งออกในต่างประเทศยอมรับการเพาะปลูกโดยใช้สารพาราควอต ว่ามีความปลอดภัย โดยสารพาราควอตไม่ได้อยู่ในบัญชีสารเคมีเฝ้าระวัง หรือ มีมาตรการพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่อย่างใด

กยท. เปิดหลักสูตร “การผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางข้นชนิดครีม” นำนวัตกรรมการผลิตสู่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการ กระตุ้นการใช้ยางในประเทศ หวังแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย

การยางแห่งประเทศไทย เปิดอบรมหลักสูตร “การผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางข้นชนิดครีม” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า นำนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา สู่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางพาราไทย ณ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่ง
ประเทศไทย เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวว่า กยท.ดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางข้นชนิดครีม” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจ และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายรุ่น เนื่องจากหลักสูตรนี้มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนให้นำยางพารามาแปรรูปให้มากยิ่งขึ้น โดยเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ยางเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนผู้ประกอบกิจการยาง ตามแผนงานการสร้างรายได้จากโอกาสในธุรกิจใหม่ โครงการสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปยาง การยกระดับมาตรฐานองค์กรด้านอุตสาหกรรม กิจกรรมการสนับสุนนและส่งเสริมประสิทธิภาพการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง

“ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้และมีความเข้าใจเรื่องคุณสมบัติยางกระบวนการผลิตน้ำยางข้นชนิดครีม พร้อมทั้งเรียนรู้กระบวนการทำและทดสอบคุณภาพน้ำยางข้นชนิดครีม การตีฟอง การทำให้น้ำยางสดแยกตัวโดยใช้สารเคมี “ครีมมิ่งเอเจ้น” ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและที่สำคัญ คือ มีการลงทุนน้อยกว่าการผลิตน้ำยางข้นชนิดที่ต้องใช้เครื่องปั่นที่มีราคาสูง”

นางณพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา 4 องค์กร ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยาง ด้านเทคโนโลยีการผลิตหรือการแปรรูปยางพารา ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยาง และผลิตภัณฑ์ยางตามมาตรฐานสากล ทั้งในระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง รวมถึงข้อมูลสารสนเทศยางพารา และการพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยางให้กับภาคเอกชน ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากยางพาราที่ตนเองสนใจ และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่ายางพาราของประเทศต่อไปได้

ทั้งนี้ โครงการฝึกอบรมหลักสูตร “การผลิตและการใช้ประโยชน์น้ำยางข้นชนิดครีม” รุ่น 2 ปี 2560 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2560 ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลและสมัครได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะจัดงาน 1 ทศวรรษ แห่งการโอนย้ายสู่สังกัดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 กิจกรรมประกอบด้วย พิธีสมโภชรูปเหมือนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ และพระเกจิอาจารย์อื่นๆ ปรารภกถาทิศทางในอนาคตของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน โดย ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์ประจำพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทาน, ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี, นายพินิจ จารุสมบัติ กรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, และ ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การเสวนาในหัวข้อเรื่อง “ความร่วมมือระหว่าง 4 องค์กรชลประทาน”:วัดชลประทานรังสฤษดิ์ กรมชลประทาน โรงเรียนชลประทานวิทยา และศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและยังมีการจัดแสดงนิทรรศการในหัวข้อเรื่อง “เส้นทาง 1 ทศวรรษ” ที่บอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ตั้งแต่ปี 2550 – 2560
ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2560 เวลา 09.00 เป็นต้นไป ณ ห้องประชุมชลธารวิโรฒ ชั้น 1 อาคารเรียนและปฏิบัติการ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน

เครื่องหนังบุญเพ็ง วิสาหกิจชุมชน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว 1 ใน 12 ของนักศึกษาชั้นปีที่ หลักสูตร4ปีเทียบโอน) สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่ในการปฏิบัติงานจริง ด้านการตลาดเข้าไปพัฒนาสินค้าวิสาหกิจชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมพา หิรัญกิตติ เปิดเผยว่า สำหรับกระบวนการเรียนการสอนวิชา WiL การบูรณาการวิชา 4 วิชา ของสาขาวิชากาตลาด คณะบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน ได้แก่ วิชาการบริหารการค้าปลีก วิชาการบริหารการตลาด วิชาการบริหารการขาย และวิชาการตลาดลูกค้าสัมพันธ์ บรรจุในการเรียนการสอนของนักศึกษาทุกชั้นปีของสาขาวิชาการตลาด เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ในด้านการตลาดเข้าไปพัฒนาสินค้าวิสาหกิจชุมชน ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์, การออกแบบบรรจุภัณฑ์, การใช้เครื่องมือการติดต่อสื่อสารการตลาด (Integrated Marketing Communication-IMC) และการทำตลาดดิจิตอล ยกระดับสินค้าวิสาหกิจชุมชนให้ออกสู่ตลาดสากล และจัดทำแผนธุรกิจให้กับวิสาหกิจชุมชน สามารถนำเอาแผนธุรกิจหรือแผน Start up ไปขอเงินกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ได้

“ฟ้า” นางสาวฐิติรัตน์ ชาริโท เล่าว่า ในส่วนของกลุ่มมีสมาชิกภายในกลุ่มทั้งหมด 25 คน ซึ่งทุกคนมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ ก่อนที่ทุกกลุ่มจะลงพื้นที่ ต้องมีการประชุมและวางแผนการดำเนินงานและลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนที่นักศึกษาสนใจ ภายใต้การควบคุมและดูแลของอาจารย์สาขาวิชาการตลาด 2 วันในการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและเก็บข้อมูลในวิสาหกิจชุมชน จากนั้นนำเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษา ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิสาหกิจนั้นๆ รวบรวมข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ จัดทำเป็นรายงานเพื่อมอบให้วิสาหกิจชุมชนใช้เป็นเอกสารเพื่อยื่นต่อสถาบันทางการเงิน ตลอดจนการทำตลาดออนไลน์ การทำสื่อโฆษณาสินค้า จัดการแสดงสินค้าวิสาหกิจชุมชน ในงาน Marketing Day 2017 ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทราบถึงแนวความคิดของวิสาหกิจชุมชน โอกาสนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปพัฒนาสินค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์, การวิจัยตลาดและการทำการตลาดออนไลน์

“หมิว” นางสาวศรัญญา คชนินทร์ เล่าว่า ตนเองได้มีโอกาส 2 วันในลงพื้นที่ในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นมา ความต้องการของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งตอนสัมภาษณ์คุณลุงและคุณป้าเป็นกันเองและให้การต้อนรับ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังของลุงเป็นงานทำมือ ที่มีค่าและมีราคาสูง ผลิตภัณฑ์เหมาะสมกับราคา ลุงมีความรู้ในการทำผลิตภัณฑ์ แต่ยังขาดความรู้ทางด้านการตลาด รวมไปถึงการจดลิขสิทธิ์ ตนเองและเพื่อนจึงได้แนะนำคุณลุง “ประทับใจที่ได้ลงพื้นที่ในการเก็บข้อมูลครั้งนี้ นำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้จริง” ดีกว่าที่จดจำในห้องเรียน ซึ่งวิชานี้สามารถนำความรู้ไปใช้และปฏิบัติงานได้จริง

“เปา” นายฉันทิศ เปรมกมล เล่าว่า รับผิดชอบในการทำสื่อออนไลน์ เช่น ในเรื่องของ Social Media นอกจากนี้ยังสอนลุงในการใช้ Social Media เพื่อการขายสินค้า การสร้าง Content วิธีการโปรโมทสินค้า สร้างเว็บไซต์ และสอนการใช้งานเว็บไซต์ ดีใจที่ได้นำความรู้ไปถ่ายทอด สร้างประโยชน์ ทำให้คุณลุงคุณป้ามีความสุข “ทุกวันนี้คนจะซื้อขายบนออนไลน์มาก สินค้าของลุงจะได้เป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

“เจมส์” นายรนชัช เทียมเงิน เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ลงพื้นที่ ได้เห็นปัญหา “ชอบวิชานี้มาก ได้เรียนรู้จริงในภาคสนาม เติมเต็มสิ่งที่ลุงขาด ทำให้ลุงและป้ามีความสุข” ตนเองรับผิดชอบในการทำสื่อโฆษณาสินค้า ซึ่งตนเองไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย ต้องเรียนรู้เองจากหนังสือและ youtube พยายามทำให้ออกมาดีที่สุด เพื่อความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ของสินค้า ทำให้จูงใจผู้บริโภค เห็นทางชุมชนของลุงมีความสุข ตนเองก็มีความสุข ในฐานะของนักศึกษาที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้จริง

ทางด้านนายบุญเพ็ง ระว้า เครื่องหนังบุญเพ็ง วิสาหกิจชุมชน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เล่าว่า สำหรับผลิตภัณฑ์กระเป๋าเครื่องหนัง ปัจจุบันมีการนำแฝกมาฟั่นผสมผสานกับหนังแท้ โดยได้แรงบันดาลใจในการนำแฝกมาใช้ เพราะรัชกาลที่ 9 มีโครงการให้ชาวบ้านปลูกหญ้าแฝก ดีใจที่นักศึกษาติดต่อและเข้ามายังชุมชน ตั้งแต่การลงพื้นที่ในการสัมภาษณ์ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้ ดูแลแบบใกล้ชิด ไปทำเพจให้ ไปถ่ายรูปสินค้าเพื่อไปโปรโมท รู้สึกดีใจมากๆ ที่เข้ามาช่วย ทำให้สินค้าของลุงกับป้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น และขายได้มากขึ้นอีกด้วย แล้วก็ขอขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาทุกคนด้วย

ปีการศึกษา 2560 ได้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 12 วิสาหกิจชุมชน พัฒนาขีดความสามารถของตนเอง ได้ใช้ทักษะในด้านต่างๆ ที่ตนเองถนัด ถือเป็นการฝึกประสบการณ์ในสาขาวิชาของตน และทราบถึงข้อมูลและการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชน สามารถนำจุดแข็งของวิสาหกิจชุมชนมาพัฒนาต่อยอดให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน และทราบถึงปัญหาในการดำเนินงาน สามารถหาหนทางแก้ไขร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในวันที่ 4 ตุลาคม 2560 ทางสาขาวิชาจะมีการแสดงสินค้าวิสาหกิจชุมชน ในงาน Marketing Day 2017 ณ หอประชุมสงค์ธนาพิทักษ์ ตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน สอบถามรายละเอียดได้ที่สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ โทร 0-2549-4818

ประเด็นราคายางพาราตกต่ำ จากที่เป็นกระแสความเดือดร้อนของชาวสวนยางพารา ถึงเวลานี้ กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับราคายางพาราที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นไปแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรที่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะแรก ต้องปรับการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ด้วยการมองตนเอง แล้วนำศักยภาพของสวนยางพาราเท่าที่มีมาประยุกต์ให้เกิดราคาทดแทนรายได้ในส่วนที่หายไป

ปลายฝนที่ผ่านมา คุณธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถือโอกาสในช่วงฝนชุก เข้าติดตามการดำเนินงานพัฒนายางพารา โดยมุ่งไปที่จังหวัดในภาคเหนือ เพราะตั้งใจยกเขตพื้นที่ภาคเหนือเป็นต้นแบบในการพัฒนายางอย่างครบวงจร เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกยางกว่า 20,000 ไร่

การพัฒนายางอย่างครบวงจรคือ การตั้งจุดรวบรวมยางก้อนถ้วย เปิดให้เอกชนมาประมูลยาง และสหกรณ์กองทุนสวนยางแต่ละแห่ง รับซื้อน้ำยางเพื่อแปรรูป ซึ่งการประมูลซื้อขายจะผ่านระบบออนไลน์ในตลาดท้องถิ่น หรือตลาด 108 ซึ่งเป็นตลาดเปิดในแหล่งปลูกยางทั่วประเทศ โดย กยท. ทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาระบบ และเงินทุนช่วยเหลือ พร้อมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ราคายางก้อนถ้วย ปัจจุบัน 26 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่เกษตรกรสวนยางพาราอยู่ได้ โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นมาเป็น 60 บาท ต่อกิโลกรัม และอาจขยับขึ้นได้อีก อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยาง เฉลี่ยเดือนละ 300,000 ตัน เพราะปริมาณการส่งออกในปัจจุบันสูงถึงปีละกว่า 3 ล้านตันแล้ว

แม้ว่าราคาการซื้อขายน้ำยาง ยางก้อนถ้วย ยางแปรรูป จะขยับตัวขึ้น แต่การส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างที่สวนยางพารารอเปิดกรีด ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสอดคล้องกับการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่ถือว่าเป็นเกษตรที่มีความยั่งยืนกว่า

คุณสมจิตร์ บรรณจักร์ เกษตรกรสวนยางพารา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เดิมรับราชการแต่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยเริ่มปลูกพืชเชิงเดี่ยว บนพื้นที่ 60 ไร่ จากสวนลิ้นจี่ สวนส้ม ต่อมาประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ประกอบกับ ปี 2547-2549 รัฐบาลมีโครงการปลูกยาง 1 ล้านไร่ จึงหันมาปลูกยางพารา โดยขอรับการสงเคราะห์ปลูกแทนด้วยยาง พันธุ์ RRIM 600 จำนวนกว่า 2,000 ต้น และซื้อเพิ่มด้วยทุนของตนเองอีกประมาณ 2,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 30 ไร่ และครั้งนี้จึงปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการทำเกษตรผสมผสาน ปลูกต้นสัก มะม่วง เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา พร้อมการปลูกไม้ใต้ร่มยาง ซึ่งเลือกเป็นปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าเพิ่มเข้ามา เพราะศึกษาแล้วพบว่า การปลูกพืชที่ให้ผลผลิตหมุนเวียนกันในรอบปี และเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย จะเกิดผลที่ยั่งยืนกว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว

“สวนยางพาราเริ่มเปิดกรีดได้เมื่อ ปี 2559 ผลผลิตเป็นยางก้อนถ้วย ส่งขายทุกๆ 7 วัน ปริมาณผลผลิตที่ขายจะประมาณ 2 ตัน ต่อครั้ง ทำให้มีรายได้ต่อเดือนที่รับจากการปลูกยางพารา ประมาณ 60,000 บาท ในส่วนของพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 30 ไร่ ได้ขุดบ่อน้ำเพิ่มเป็น 2 บ่อ เพื่อใช้กักเก็บน้ำ และใช้เป็นบ่อเลี้ยงพันธุ์ปลาสวาย ปลานิล ส่วนอีกบ่อ เลี้ยงปลาเบญจพรรณ โดยใช้เวลาในการเลี้ยง รอบละ 6 เดือน จึงจับขาย นอกจากนี้ ผมยังเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 20,000 ตัว เก็บไข่ได้วันละประมาณ 14,000-15,000 ฟอง ขี้ไก่ยังเก็บขายได้อีก วันละ 40-50 กระสอบ ส่วนกาแฟที่ปลูกใต้ร่มยาง จำนวน 30 ไร่ ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา เก็บจำหน่ายเฉลี่ย 4 เดือน ต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 800-900 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 95-100 บาท”

คุณสมจิตร์ บรรณจักร์ บอกด้วยว่า จากการปรับแนวคิดการทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาเป็นเกษตรผสมผสาน ยึดตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเกิดจากความเชื่อและความรักในการเป็นเกษตรกร พร้อมทั้งจากการศึกษาหาความรู้มาตลอดชีวิตที่ผ่านมา จึงพบว่า การทำเกษตรที่ยั่งยืน ควรเริ่มจากตัวเกษตรกรเองที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่หวังพึ่งจากผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะการทำเกษตรที่ได้ผลผลิตหมุนเวียนตลอดปี จะทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคั่ง และทำให้ชีวิตมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน

ม.แม่โจ้ คว้ารางวัล Silver Award งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ Thailand Research Expo 2017

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับรางวัล Silver Award จากงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2560 Thailand Research Expo 2017 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ข้ามสี่ sshep.com ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2560 หรือ Thailand Research Expo 2017 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการแสดงพลังแห่งการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและศักยภาพในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนให้เกิดการนำองค์ความรู้ ผลผลิต เทคโนโลยี และนวัตกรรมจาการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมนำเสนอในงานครั้งนี้ ในประเด็น งานวิจัยเพื่อการเกษตร จำนวน 2 ผลงาน ซี่งได้รับการตอบรับที่ดีทำให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัล Silver Award มาครอง ”

ผลงาน การกระตุ้นการสร้างพฤกษเคมีในต้นกล้าข้าวเหนียวสันป่าตองโดยโปรตีนไฮโดรไลเสทจากปลา ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา คงจรูญ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลงานวิจัยนี้ เป็นการใช้โปรตีนไฮโดรไลเสทจากปลา มากระตุ้นให้ต้นกล้าข้าวเหนียวสันป่าตอง สร้างสารออกฤทธิ์ ทางชีวภาพที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ ทำให้ต้นกล้าข้าวเหนียวสันป่าตองมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิก และคลอโรฟิลล์สูงกว่าทั่วไป สารสกัดที่ได้จะมีกลิ่นหอม และมีความหวานเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัว ซึ่งนำมาแปรรูปเป็นผงพฤกษเคมีทั้งชนิดมีใยอาหาร (ใช้ในการประกอบอาหาร) และผงพฤษเคมีชนิดไร้ใยอาหาร(เป็นเครื่องดื่ม) เป็นอาหารสุขภาพสำหรับบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอันเนื่องมาจากภาวะเครียดออกซิชัน และผู้ที่รักสุขภาพทุกคน

ผลงาน ระบบอุปกรณ์จ่ายน้ำเพื่อการเกษตรแบบแม่นยำอัจฉริยะ ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชติพงศ์ กาญจนประโชติ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งผลงานวิจัยนี้ เป็นระบบการตัดสินใจจ่ายน้ำตามปริมาณค่าความชื้นในดินที่เป็นประโยชน์ของพืช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำสำหรับการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพการให้น้ำสูงสุด ด้วยหลักวิชาการร่วมกับการนำเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตรและการควบคุมอัตโนมัติด้วยสมองกลฝังตัวเพื่อการตัดสินใจในการกำหนดเปิด – ปิด การจ่ายน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกแบบ real-time อย่างแม่นยำ

โดยมีหลักการทำงานคือ มีระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตรแบบไร้สาย และเทคโนโลยี Internet of Think (IOT) ตรวจวัดความชื้นในดินที่เป็นประโยชน์ของพืช และมีการประมวลผลข้อมูลที่สมองกล แล้วจึงส่งสัญญาณไร้สายออกไปยังวาล์วเปิด-ปิดน้ำ เพื่อปล่อยน้ำตามคำสั่งสามารถจ่ายน้ำได้ตรงกับความต้องการการใช้น้ำในดินของพืชได้อย่างแม่นยำและอัตโนมัติ

งานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านสรีระวิทยาพืช ด้านเกษตรและวิศวกรรมเข้าด้วยกัน ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตร สามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ตลอดจนช่วยลดภาระของเกษตรกรและเกษตรกรมีรายได้ต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น

โอกาสนี้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่คณะนักวิจัยและทีมงาน เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและสร้างขวัญกำลังใจ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์รชฏ เชื้อวิโรจน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในพิธีมอบ ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา

อาจารย์รชฏ เชื้อวิโรจน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “เป็นความภาคภูมิใจที่ทางคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สถาบันวิจัยระดับชาติล้วนชื่นชมผลงานจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในความสำเร็จครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับผลงานวิจัยของทีมงานมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับรางวัลแห่งความสำเร็จระดับชาติมาอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักวิจัยทุก ๆ ท่าน ที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นเพื่อมหาวิทยาลัย เราเชื่อมั่นว่าแม่โจ้จะมีนักวิจัยระดับชาติและนานาชาติเช่นนี้สืบต่อไป เป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นถัดไปด้วย”