ปิดทองหลังพระ อุดรธานี เข้าร่วม “เกษตรปลอดภัย” ช่วยเกษตร

กรรายได้เพิ่ม 14 ล้านบาท เตรียมขยายแบรนด์ “ภูธารา” จากข้าวไปสู่สินค้าเกษตรและแปรรูปอื่นนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า โครงการ “เกษตรปลอดภัย” ในจังหวัดมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ จนปัจจุบันเกิดกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรปลอดภัยแล้ว 15 กลุ่ม ในภาคอีสานตอนบนตามเป้าหมาย ครอบคลุมอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำพู เลย และบึงกาฬ

ภายใต้โครงการดังกล่าวที่มุ่งผลิตอาหารปลอดภัยให้ได้อย่างกว้างขวาง บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ก็ได้เข้าร่วมด้วย โดยการรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาผลิตข้าวและปลูกผักปลอดภัยเพื่อป้อนตลาดที่มีความต้องการสูง

นางหม่วย ดอนศรีโคตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูธารา กล่าวว่า บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม ตำบลกุดหมากไฟ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการปิดทองหลังพระ ที่เข้ามาพัฒนาต่อยอดอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้สามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี นอกจากนี้ ยังประสานงานให้หน่วยงานราชการมาให้ความรู้ สอนอาชีพด้านต่างๆ ตามความสนใจของเกษตรกร

บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม มีวิสาหกิจกลุ่มโรงสีข้าวร่วมกันผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อจำหน่ายในตลาดนัดเกษตรปลอดภัย ซึ่งต่อมา นายวัฒนา พุฒิชาติ ได้เปิดนโยบายให้โรงพยาบาลเป็นแหล่งอาหารปลอดภัย ทำให้กลุ่มสามารถส่งข้าวปลอดภัยจำหน่ายในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นความต้องการของโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ตลอดจนหน่วยทหาร จนคาดว่าในปีหน้าจะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 14 ล้านบาท และรายได้จากผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ภูธารา” อีกกว่า 6 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ยังได้เข้ามาให้ความรู้ทางการตลาดและพัฒนาแบรนด์ของข้าวในชื่อ “ภูธารา” ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ประกอบด้วยภูเขาและลำธาร และผลความสำเร็จของข้าว “ภูธารา” ทำให้วิสาหกิจชุมชนมีแนวคิดที่จะพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอื่นภายใต้แบรนด์ที่มีอยู่ อาทิ การแปรรูป ผักและผลไม้อื่นๆ เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน โดยเชื่อมโยงความรู้ด้านการแปรรูปและออกแบบบรรจุภัณฑ์

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มเกษตรปลอดภัยทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน

“การผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีความยากลำบาก ต้องใช้ความพยายามและตั้งใจของเกษตรกร ดังนั้น ก็จะต้องหาตลาดให้เพียงพอเพื่อไม่ให้เกษตรกรหมดกำลังใจ ที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จ ทำให้โรงพยาบาล 20 แห่ง เข้าร่วมจนผักไม่พอจะขาย จังหวัดก็ต้องไปเร่งเสริมด้านการผลิต โดยจะสนับสนุนโรงเรือนให้เกษตรกร 50 หลัง”

ในขณะเดียวกันจังหวัดจะขยายตลาดสู่ผู้บริโภคให้ได้อาหารปลอดภัย โดยจะเพิ่มการจัดตลาดเกษตรปลอดภัย จากตลาดร่มเขียวที่มีอยู่ในขณะนี้ ด้วยการร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำเปิดตลาดจริงใจ เป็นทางเลือกเพิ่มเติม

ปัจจุบัน จังหวัดอุดรธานีได้จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับกลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้มีการทำความตกลงการค้ากัน ของผู้ประกอบการค้าปลีกและโรงแรมรวมสิบแห่ง เพื่อรับซื้อสินค้าเกษตรปลอดภัยจากกลุ่มเกษตรกร

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวถึงกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สยยท. เคยให้ความเห็นไปแล้วว่าชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

เนื่องจากวงเงินดังกล่าวจะให้ได้แต่เฉพาะสวนยางที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดประมาณ 1.3 ล้านครอบครัว ขณะที่ชาวสวนยางอีก 8 ล้านกว่าครอบครัว ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิจะไม่ได้รับประโยชน์ตรงนี้ เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อชาวสวนด้วยกันเอง ทั้งที่ชาวสวนประมาณ 10 ล้านครอบครัว ต้องจ่ายเงินเซส หรือค่าทำเนียมการส่งออกยางพารา กิโลกรัมละ 2 บาท เท่ากัน

การแก้ปัญหาเช่นนี้เป็นเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพราะเคยแก้มาแล้วแต่ไม่สามารถทำให้ราคายางดีขึ้น ดังนั้น ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ จะคัดค้านมติ ครม. ดังกล่าว และจะเสนอให้รัฐบาลเร่งผลิตถนนยางพารา ซอยซีเมนต์ เพื่อนำยางออกจากตลาด ตรงนี้จะทำให้ราคายางดีดตัวขึ้นทั้งระบบเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะชาวสวนจะได้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบเงินรายได้ จำนวน 381,999 บาท จากการจัดงานวันไข่โลกครั้งที่ 5 จัดโดยโครงการรณรงค์บริโภคไข่ไก่ 300 ฟอง (เมื่อ 12 ตุลาคม 2561) เพื่อสมทบเข้ากองทุนศิริราชมูลนิธิ “เพื่อผู้ป่วยเรื้อรัง” สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในงานวิจัยเพื่อหาสาเหตุและพัฒนานวัตกรรมในการรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยมี นางณัฐกานต์ พันธ์ชัย กรรมการและเลขานุการโครงการฯ เป็นผู้แทนมอบ ร่วมด้วยผู้แทนกรมปศุสัตว์ กรมอนามัย และเจ้าหน้าที่ รพ.ศิริราช ณ ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช เมื่อเร็วๆ นี้

“ข้าวแต๋น” นับว่าเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 ตำบลหัวฝาย อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ คุณดารารัตน์ หิตการุญ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและประธานวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโม มีตำแหน่งทางการปกครอง เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านช่องลม อยู่บ้านเลขที่ 108/1 หมู่ที่ 8 ตำบลหัวฝาย กล่าวว่า มูลเหตุของการผลิตข้าวแต๋นเกิดขึ้นเนื่องจาก ช่วงปี พ.ศ. 2557-2558

“ข้าว” ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่ที่จังหวัดแพร่ มีราคาตกต่ำเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกันคิดในกลุ่มแม่บ้านว่าจะมีวิธีการใดที่จะเพิ่มมูลค่าของข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นขนมขบเคี้ยว หรืออาหารว่างไว้บริโภค หรือขายเป็นของฝาก และเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนที่ว่างงานอีกทางหนึ่ง ที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นน้ำแตงโม

วัตถุดิบหลักที่ใช้คือข้าว เป็นข้าวคัดพิเศษที่ได้จากผลผลิตข้าว กข 6 และข้าว กข 10 จากแปลงรวมซึ่งเป็นข้าวปลอดภัย และใช้น้ำแตงโมเป็นพื้นฐานแรกในการปรุงรสน้ำข้าวแต๋น ต่อมาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายทางรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นรสปาปริก้า บาร์บีคิว รสสาหร่าย ให้มีความแปลกใหม่ในด้านรูปทรงสามเหลี่ยม รูปหัวใจ แทนที่จะเป็นรูปทรงกลมเพียงอย่างเดียว และได้พัฒนารสชาติด้วยผลไม้ที่มีอยู่ตามฤดูกาลในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมน้ำข้าวแต๋น เช่น การนำน้ำแก้วมังกร (เนื้อสีแดง)

ซึ่งมีสีสันที่สวยงามมาแทนน้ำแตงโมในฤดูกาลผลิตที่ไม่สามารถหาแตงโมได้ และแก้วมังกรยังเหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ เนื่องจากแก้วมังกรเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณในการควบคุมน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี เมื่อนำมาเป็นส่วนผสมในการทำข้าวแต๋น ทำให้ได้ข้าวแต๋นที่มีสีและรสชาติที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งยังได้ใช้ธัญพืชที่มีประโยชน์ ได้แก่ งาขาว งาดำ ถั่วเขียวผ่าซีก เมล็ดทานตะวัน มาเป็นส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น

“จากกระบวนการผลิตที่มุ่งมั่นในคุณค่าทางโภชนาการจากหลากหลายวัตถุดิบ ส่งผลให้ข้าวแต๋นมีรสชาติและคุณค่าที่แตกต่างจากข้าวแต๋นของถิ่นอื่น จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะซื้อเพื่อรับประทานเองเป็นอาหารว่างแบบพื้นบ้าน ซื้อเป็นของฝากในเทศกาลต่างๆ” คุณดารารัตน์ กล่าว

อีกทั้งกลุ่มได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าวแต๋นมักจะมีการแตกหักของแผ่นข้าว จึงคิดนำเศษข้าวแต๋นมาใช้เป็นส่วนผสมของขนมกระยาสารท ขนมปั้นสิบ ขนมกะหรี่ปั๊บไส้ต่างๆ และถั่วเคลือบ ถั่วทอดสมุนไพร กลายเป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษข้าวแต๋นที่แตกหัก

คุณดารารัตน์ เปิดเผยถึงสูตรและขั้นตอนการแปรรูปข้าวแต๋นไว้ดังนี้ สูตรการทำข้าวแต๋นน้ำแตงโม หรือน้ำแก้วมังกร วัตถุดิบที่ใช้ นำข้าวสารที่แช่น้ำแล้ว ล้างให้สะอาด จำนวน 2 ถ้วย นึ่งให้สุกแล้วนำมาผสมน้ำแตงโมหรือน้ำแก้วมังกรที่ปรุงรสเรียบร้อยแล้ว ใช้อัตราส่วน 1 ถ้วย (ถ้วยที่ใช้ตวงข้าว) คนให้เข้ากันดี และนำไปหยอดลงพิมพ์ที่เตรียมไว้
นำข้าวแต๋นตากแดดจัดๆ ประมาณ 3-4 แดด แล้วนำเก็บใส่ภาชนะมีฝาปิดมิดชิดเป็นข้าวแต๋นรอการทอดต่อไป
เตรียมน้ำมันใส่กระทะตั้งไฟให้ร้อนใส่ใบเตยหั่นไม่ต้องมากนักใส่ลงไปในกระทะแล้วทดลองทอดประมาณ 2-3 ชิ้น เพื่อทดสอบความร้อนของน้ำมัน
ทอดข้าวแต๋นให้มีสีเหลืองนวล (อย่าให้ไหม้) ตักขึ้น รองด้วยกระดาษซับมัน
เตรียมส่วนผสมหน้าข้าวแต๋น (น้ำอ้อย น้ำตาลปี๊บ เกลือป่น น้ำ) ลงคนในกระทะตั้งไฟอ่อนๆ ให้ละลายเข้ากันดี
นำข้าวแต๋นที่ทอดแล้ว หยอดหน้า แล้วโรยด้วยธัญพืชให้ดูสวยงาม เก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อคงความกรอบ ควรเก็บไว้ในที่แห้ง
คุณดารารัตน์ ยังได้เผยถึงเคล็ดลับการทำข้าวแต๋นว่า

ต้องนึ่งข้าวให้สุกพอดี โดยการตั้งเวลา ต้องนำแผ่นข้าวตากแดด 3 แดดขึ้นไป และจะต้องมองเห็นเมล็ดข้าวเป็นเมล็ดใสๆ

– และก่อนทอด จะนำแผ่นข้าวผึ่งตากแดดอีกครั้ง เคล็ดลับนี้ ได้จากทดลองหลายๆ ครั้ง ครั้งใดทำแล้วไม่ได้ผลก็ทิ้งไปทำใหม่ จนได้ข้อสรุปถือเป็นเคล็ดลับดังที่กล่าว

การตลาดแหล่งขายข้าวแต๋นธัญพืชต้องตา

กลุ่มจะผลิตข้าวแต๋นแต่ละครั้งให้มีพอขายหมดภายใน 2 เดือน หมดแล้วก็ทอดใหม่ แต่ทั้งนี้หากมีคำสั่งซื้อนอกเหนือที่กล่าวก็จะผลิตเพิ่ม เช่น งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ หรือในเทศกาลต่างๆ ก็จะจัดทำเป็นกระเช้าของฝาก สำหรับแหล่งขายที่กลุ่มจัดส่งหรือวางขาย ได้แก่ ตลาดชุมชนในหมู่บ้าน ค่าย ม.พัน 12 การจัดงานต่างๆ ของส่วนราชการ หรือให้ไปจัดแสดงสินค้า แต่ที่ได้จัดส่งไปขายนอกพื้นที่ก็ที่จังหวัดเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และจันทบุรี และขายผ่านสื่อออนไลน์ใช้ชื่อ webpage ว่า http://www.facebook.com/.dr.tongta/notification

สำหรับราคาขายบรรจุแพ็ก น้ำหนัก 80 กรัม แพ็กละ 20 บาท หรือขนาดน้ำหนัก 60 กรัม ถุงละ 10 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับลักษณะรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีราคาต้นทุนที่แตกต่างกันหรือตามที่ผู้สั่งซื้อต้องการ

“ข้าวแต๋นของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 สามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนได้ โดยเฉพาะการหมุนเวียนของวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบก็ได้จากชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในการจักสานชะลอมและตะกร้า ค่าจ้างแรงงานของแม่บ้าน แล้วนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายของชุมชนและครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง” คุณดารารัตน์ กล่าว

ผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นดำเนินกิจการโดยวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโม และผลิตโดยใช้แรงงานจากสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่และเกษตรอำเภอสูงเม่น พัฒนาชุมชนอำเภอ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย แรงงานจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบลหัวฝาย และปกครองอำเภอสูงเม่น

คุณฉลอง เพชรศักดา หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้ให้ข้อมูลว่าสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้เข้ามาร่วมให้คำแนะนำส่งเสริม พร้อมกับหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะภาคีความร่วมมือกันแบบบูรณาการให้ชุมชนบ้านช่องลมเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ในการส่งเสริมนั้น มีเป้าประสงค์ที่จะให้แต่ละครัวเรือนเป็นบ้านเกษตรกรต้นแบบ เป็นตัวอย่างของอำเภอสูงเม่นและจังหวัดแพร่ ที่จะแนะนำให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอกมาศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อมาก็ได้มีโครงการและงบประมาณของกรมส่งเสริมการเกษตร มาที่ชุมชนแห่งนี้ คือโครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน กับอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรแปรรูป โครงการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่าในเมื่อเกษตรกรผลิตวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือพืชไร่ต่างๆ ทำอย่างไรจึงจะนำผลผลิตนั้นมาแปรรูปและการถนอมอาหารสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้นำเจ้าหน้าที่เคหกิจเกษตรมาฝึกอบรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นพื้นฐานก่อน หากผลิตได้เกินบริโภค ก็ขาย สร้างรายได้ ซึ่งแม่บ้านทุกหลังคาเรือนก็มีภารกิจในการดูแลด้านอาหารการกินของครอบครัวอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้าน เลี้ยงจิ้งหรีด ไก่พันธุ์ไข่ไว้เป็นคลังอาหาร โดยเน้นเกษตรปลอดภัย งดใช้สารเคมีทุกชนิด ก็ด้วยการแนะนำให้ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา ไว้ป้องกันโรค และผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในครอบครัวได้ ทั้งยังมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และจัดให้มีแผนพัฒนารายบุคคลและแผนพัฒนากลุ่มอีกด้วย

ซึ่งต่อมาก็ได้ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวแต๋นซึ่งกลุ่มแม่บ้านได้ร่วมกันคิดและผลิตขึ้นมาคาดหวังว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างฐานเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนแห่งนี้ได้อย่างมั่นคงและมีความยั่งยืน ทางด้านการตลาดนั้นได้แนะนำให้ติดต่อผ่านทางห้างโมเดิร์นเทรด อย่างเช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้โลตัส หากผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นได้รับฉลาก อย. จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็จะเริ่มมีวางขายตามห้างต่างๆ

ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลมได้สร้างผลงานให้กับชุมชนด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย นับว่าเป็นกลุ่มแม่บ้านที่เข้มแข็ง ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และหน่วยงานภาคีได้สนับสนุนให้เสนอชื่อกลุ่มแม่บ้านแห่งนี้เข้าประกวดจนได้รับรางวัลดีเด่นระดับเขต 6 (สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 เชียงใหม่) ประจำปี 2562 และอยู่ระหว่างรอการคัดเลือกในระดับประเทศ

คุณฉลอง ยังได้ให้ข้อสังเกตว่า การที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม ได้ยืนหยัดมาได้อย่างมั่นคงก็เพราะปัจจัยด้านความสามัคคี การมีส่วนร่วมของแม่บ้าน และที่สำคัญความมีเสน่ห์ของกลุ่มที่มีผู้ใหญ่บ้านเป็นสุภาพสตรีที่แข็งแกร่ง เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่เข้ามาสู่ชุมชน

อีกท่านหนึ่ง คุณสุภิญญา ประทิศ ครู กศน.ตำบลหัวฝาย ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการ กศน.สูงเม่น คือ คุณอรุณี พันธุ์พาณิชย์ ให้มาติดตามและช่วยเหลือแนะนำกลุ่มแม่บ้าน เป็นประจำอยู่แล้ว ได้กล่าวว่า กศน.ได้เข้ามาให้ความรู้แก่กลุ่มแม่บ้านในการผลิตข้าวแต๋นมาตั้งแต่ต้น ทางด้านเทคนิค/วิธีการ การจัดหาวิทยากรมาให้ความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ จนได้รับการพัฒนามาตลอดทั้งสีสัน ลวดลาย รูปทรง และการสร้างสื่อออนไลน์ ช่องทางการจำหน่ายข้าวแต๋นผ่านสื่อออนไลน์ จนกลุ่มสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็ง

หากท่านได้มาเยี่ยมเยียนเมืองแพร่ ให้นึกถึงข้าวแต๋นน้ำแตงโม กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านช่องลม หมู่ที่ 8 หรือสั่งซื้อติดต่อ คุณดารารัตน์ หิตการุญ โทร. (063) 894-5363 หรือจะสอบถามข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอสูงเม่น โทร. (054) 541-484

เข็มนาฬิกาบอกเวลา 2 ทุ่ม ขณะที่เรายังเดินเล่นอยู่บนถนนหิน ท้องฟ้าเหนือบ้านเรือนที่เรากำลังเดินซอกซอนยังแจ่มกระจ่าง มันเป็นเช่นนี้ทุกวันที่เราอยู่ที่นี่ กว่าดวงตะวันจะลาลับให้ความมืดเข้ามาแทนที่ เข็มนาฬิกาน่าจะบอกเวลา 3 ทุ่ม ขึ้นเหนือไปกว่านี้ที่ซึ่งมีแสงเหนือให้เฝ้ามองนั้น เขาว่ากว่าดวงตะวันจะมอดก็ปาเข้าไปเที่ยงคืน

วันนี้อากาศดี ไม่มีฝน ถูกต้องตามคำพยากรณ์ ทุกวันคนที่นี่จะต้องเช็กพยากรณ์อากาศเพื่อจะได้รู้สถานการณ์ และพยากรณ์อากาศของเขาก็มักจะถูกเผงซะด้วย พวกเราเริงรื่นที่รู้ว่าอย่างน้อยที่สุดอากาศจะดีในช่วงที่เรากำลังจะเดินทางขึ้นภูเขา ไปพักผ่อนและทำงานแสดงสดเพื่อเก็บบันทึกด้วยภาพถ่าย สามีของศิลปินหญิงไทยมีบ้านหรือที่เขาเรียกว่ากระท่อมอยู่บนภูเขา เป็นบ้านมรดกตกทอดมาจากพ่อ ซึ่งมาสร้างบ้านหลังนี้ไว้บนภูเขา

เราออกเดินทางในตอนเช้าด้วยรถสองคัน อีกคันคือรถของริต้าศิลปินหญิงอีกคน มีข้าวของที่ต้องขนไปมากมายหรือจะใช้คำว่าล้นเหลือก็ไม่ผิด เจ้าบ้านต้องขนเสื้อผ้าของใช้ให้ความอบอุ่นไปเผื่อแขกจากเมืองไทยด้วย เพราะอากาศบนภูเขาหนาวกว่านี้มาก แล้วไหนจะมีอาหารเหลือที่ขนไปกินต่อบนภูเขา กับสิ่งของจิปาถะที่ล้วนจำเป็น แล้วไหนจะกระเป๋าเดินทางของแต่ละคนที่ต้องแบกไป เพราะจากภูเขาเราจะไปต่อยังเมืองอุดเน่ที่จะมีงานศิลปะแสดงสด เราจึงต้องขนข้าวของกระเป๋าใหญ่ติดตัวไปด้วย

มันเป็นการเดินทางที่สนุกสนานและตื่นเต้นกับการจินตนาการไปถึงภูเขาที่สวยและหนาว ตามคำบอกเล่าของเจ้าบ้าน นึกภาพถึงกระท่อมน้อยบนภูเขาว่าจะเป็นเช่นไรหนอ

แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย เมื่อรถจอดเทียบหน้าประตูบ้านหลังหนึ่ง ประตูไม้ที่ต้องดึงไม้ออกเหมือนประตูรั้วบ้านไร่ในชนบทของเรานั่นแหละ ที่เราเห็นนั้นจะเรียกว่ากระท่อมก็ได้ แต่หาใช่กระท่อมน้อยห้องเดียวมุงหลังคาจากหรืออะไรอย่างนั้น ทว่าเป็นกระท่อมไม้สนชั้นเดียวที่มีปล่องเตาผิง หลังคามีหญ้าขึ้นปกคลุมราวบ้านในนิทาน ตั้งอยู่บนเนินสูงที่รายล้อมด้วยต้นไม้ มองลงไปเบื้องล่างผ่านทิวไม้ไกลๆ เป็นบึงน้ำใหญ่

ภายในกระท่อมมีห้องนอนขนาดพอดี 3 ห้อง ห้องกลางของเจ้าของบ้านมีเตียงเดี่ยว ส่วนอีก 2 ห้อง มีเตียง 2 ชั้น สำหรับรับแขก มีห้องครัวและห้องโถงใหญ่ที่มีเตาผิงให้ความอบอุ่น ไว้นั่งพักผ่อนสนทนากัน ห้องน้ำก็มีน้ำอุ่นสะดวกสบายอยู่ในบ้าน นอกจากนี้ ยังมีห้องใต้ดินสำหรับเก็บข้าวของ แต่สิ่งที่ทำให้ทึ่งมากที่สุดคือ ห้องส้วม ซึ่งตั้งอยู่นอกตัวบ้าน เป็นส้วมหลุมแต่ทำมิดชิด มีโถนั่งแบบชักโครก ไม่ใช้น้ำ ถ้าส้วมมีกลิ่นเขาจะโกยขี้เถ้าลงไปดับกลิ่น ส้วมนี้มีสองโถนั่งเคียงกัน ฉันคิดว่าใครหนอจะเข้าส้วมพร้อมกันได้ ถึงแม้จะเป็นคู่รักที่ราวจะกลืนกินกันก็เถอะ

ย่านภูเขานี้มีชื่อเรียกว่า แฮมลักเกอร์ นอกจากอาณาบริเวณที่มีคนมาปลูกบ้านอยู่อาศัย ยังมีภูเขาหินแกรนิตสูงตระหง่านที่ผู้คนชอบเดินขึ้นไป ศิลปินชาวนอร์เวย์ที่มากับพวกเราเคยขึ้นไปบนภูเขาที่แลเห็นยอดลิบๆ นั่นกันทุกคน แต่ศิลปินชาวไทยปฏิเสธขอชื่นชมความงามของธรรมชาติอยู่แค่นี้พอ อากาศหนาวได้นั่งผิงไฟจิบเครื่องดื่มคุยกันก็ได้บรรยากาศขุนเขาโขแล้ว เจ้าบ้านยังจัดให้ปิ้งไส้กรอกในเตาผิงก็ยิ่งสมบูรณ์แบบของอารมณ์ชนบทเมืองหนาว

เรามาพักผ่อนบนภูเขาและถือโอกาสทำงานศิลปะแสดงสดกับธรรมชาติ เก็บบันทึกไว้เป็นภาพถ่าย โดยแต่ละคนเลือกพื้นที่ของตัวเอง ฉันติดใจผืนน้ำใสที่สะท้อนเมฆและท้องฟ้าสวยงามมหัศจรรย์ นึกถึงโบกแม่น้ำโขงอันเกิดจากธรรมชาติสร้างทำ มวลน้ำหมุนตามฤดูกาล ลมและแดดขัดเกลาโขดหินจนลึกเป็นหลุมน้อยใหญ่

ฉันพูดกับศิลปินนอร์เวย์ว่า หากกระโจนลงไปในน้ำนี้ฉันอาจไปโผล่ที่โบกแม่น้ำโขงแถวอุบลราชธานีก็เป็นได้

เราพักผ่อนบนภูเขา 3 คืน ก็ต้องเดินทางกันต่อไปเมืองอุดเน่ ตามกำหนดการเราจะมีแสดงงานศิลปะที่นี่ วันเดินทางกลับฟ้าที่เคยใสเต็มไปด้วยเมฆครึ้มฝน เราคุยกันว่าช่างโชคดีช่วงที่ตอนเราอยู่บนภูเขาฟ้าสวยใสทุกวัน

ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงเราก็มาถึงท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเมืองอุดเน่ เป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ริมทะเล มีท่าเรือเชื่อมกับฝั่งแผ่นดินใหญ่ ฉันรู้สึกชอบเมืองเล็กๆ แห่งนี้แต่แรกเห็น และยิ่งประทับใจเข้าไปอีกเมื่อได้พบกับคนไทยที่อยู่ที่นี่ ได้ไปวัดไทยสายหลวงปู่ชา เพราะคนไทยที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวอีสาน ได้กินข้าววัดให้หายคิดถึงกับข้าวไทย ด้วยว่ามื้อนั้นมีทั้งแกงส้ม ไข่พะโล้ ลาบ ข้าวมันไก่ ฯลฯ รวมไปถึงขนมไทยอย่าง ไข่หงส์ ที่ไม่นึกว่าจะมาเจอ

คนไทยที่เป็นเจ้าของสวนแอปเปิ้ลชวนเราไปเที่ยวสวนของเขา ไปไม่ไกลจากที่เราพัก ฉันตื่นเต้นกับแอปเปิ้ลสีชมพูสีแดง และไม่รีรอเมื่อเจ้าของสวนบอกว่าให้เก็บกินได้เลยเพราะปลอดสาร เราสนุกกับการเก็บแอปเปิ้ลกินสดๆ และถ่ายรูป ก่อนจะลากลับอย่างอ้อยอิ่งพร้อมสัญญาว่าถ้ามีโอกาสจะกลับมาอีกครั้ง

ประเทศนอร์เวย์ ไม่เคยอยู่ในจินตนาการของฉันมาก่อน ไม่เคยคาดฝันว่าจะได้มา และไม่คิดด้วยว่าที่นี่จะมีคนไทยมาอยู่กันมิใช่น้อย เมื่อได้มาพบมาเห็นฉันคิดว่าคงไม่ยากเลยถ้าเราจะมีโอกาสกลับมาอีกครั้งถ้าอยากมา

นอร์เวย์ เป็นประเทศที่รักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเยี่ยม มีสวัสดิการดูแลประชาชนของเขาเป็นอย่างดี สมกับบันไดภาษีที่ค่อนข้างสูง จะว่าไปก็เหมือนรัฐเก็บเงินให้ไว้ใช้ยามแก่เฒ่า ต่างกับบ้านเรารัฐเก็บภาษีไปใช้เองเสียมากกว่าจะเก็บไว้ให้ประชาชน

ประเทศนอร์เวย์ อาจมีด้านลบและมุมมืดที่เราไม่เห็น แต่เท่าที่ได้สัมผัสนับว่าเป็นประเทศที่สวยงามน่าอยู่ ผู้คนสุภาพมีน้ำใจ ฉันยินดีที่จะกลับมาเยือนอีกครั้งสำหรับประเทศนี้ที่ตะวันลับฟ้ายามดึก

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมปลูกดาหลาไว้หลายกอในสวนหลังบ้าน มีทั้งชนิดดอกสีชมพู และสีขาว ปลูกมาแล้วปลายปี ผมบำรุงต้นอย่างดี มีการให้ดอกสม่ำเสมอ แต่ทำไมไม่ยอมติดเมล็ด มีผู้รู้เล่าว่า หากปลูกไว้หลายพันธุ์ในบริเวณเดียวกัน เมล็ดที่ได้เมื่อนำไปปลูกต่อจะได้พันธุ์ใหม่ๆ แปลกจากต้นพ่อแม่ ผมควรทำอย่างไรจึงจะทำให้ต้นดาหลาที่ปลูกไว้สามารถติดเมล็ดได้ ขอขอบคุณมาในโอกาสนี้

ตอบ คุณวิโรจน์ อนันตรัตน์

ดาหลา (Torch Ginger) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และภาคใต้ของไทย ดาหลา จัดอยู่ในวงศ์ขิง ข่า ให้ดอกตลอดปี แต่จะมากที่สุดในระหว่างเดือนมีนาคมไปจนถึงพฤษภาคมในปีเดียวกัน ส่วนของลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ส่วนเหนือดินเรียกว่า ลำต้น หรือลำต้นเทียม สูง 1.5-2.0 เมตร รูปร่างของดอกมีกลีบซ้อนสวยงาม การขยายพันธุ์ทำได้ทั้งการแยกเหง้าและเพาะจากเมล็ด

การปลูกดาหลาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่ติดเมล็ด ผมเองก็เคยทดลองมาแล้ว ที่กรุงเทพฯ เชื่อมต่อกับจังหวัดนนทบุรี แม้มีการบำรุงอย่างเต็มที่ก็ตาม เช่นเดียวกันจากที่ผมเคยเดินทางไปเยี่ยมเกษตรกรและศูนย์วิจัยพืชสวน ของกรมวิชาการเกษตรหลายแห่ง พบว่า ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดยะลา ดาหลาออกดอกและติดเมล็ดได้ดี ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงทำการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ดาหลา ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง จังหวัดตรัง

ปัจจุบัน สามารถพัฒนาพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 5 พันธุ์ แต่ละพันธุ์มีความสวยงามแปลกตา ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า การปลูกดาหลาให้ติดเมล็ดได้ดีนั้น ต้องปลูกในบริเวณภาคใต้ ที่มีความชื้นในบรรยากาศสูง มีจำนวนวันฝนตกเฉลี่ยมากกว่าบริเวณภาคกลางของประเทศ ถ้าหากปลูกในร่มเงาของไม้ยืนต้นจะยิ่งติดเมล็ดดียิ่งขึ้น

ที่จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันสภาพแวดล้อมต่างไปจากอดีตมาก ความชื้นจึงไม่พอเพียงกับความต้องการของดาหลาเพื่อผลิตเมล็ด

หากต้องการพันธุ์ดาหลาใหม่ๆ ติดต่อสอบถามได้ที่ สถาบันพืชสวน กรมวิชาการเกษตร อยู่ในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ในวัน และเวลาราชการ

เพื่อนฝูงหลายคนถามมาว่าจะไม่อยู่บ้านไปต่างจังหวัดหลายวัน ควรทำอย่างไรกับปลาที่เลี้ยงไว้ดี ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นเป็นประจำปีละหลายครั้ง เพราะบ้านเรามีวันหยุดยาวเยอะมาก ทั้งเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา โอยนับไม่ไหว… แต่ละครั้งที่หยุดยาวปลาที่เลี้ยงไว้ก็มักเกิดปัญหา กลับบ้านมาอีกทีปลาลอยตายอืดยกตู้ ไม่ก็เจ็บไข้ได้ป่วยต้องมารักษากันให้วุ่น หรือไม่ก็หิวโซไล่ตอดกันเองเนื่องจากไม่ได้กินอะไรเลยเป็นเวลาหลายๆ วัน

โดยปรกติวิสัยคนเลี้ยงปลาก็มักจะให้อาหารปลาวันละครั้งบ้างสองครั้งบ้าง มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำดูแลความสะอาดและตรวจสอบสุขภาพความแข็งแรงของปลากันเป็นประจำ พอไม่อยู่บ้านนาน ๆ ปลาถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับการดูแลตามปรกติปัญหาก็เริ่มเกิด ยกเว้นมีการเตรียมพร้อมที่ดีและถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงอยู่นี่แหละครับ

หากจำเป็นต้องทิ้งปลาไปเที่ยววันสองวันควรทำดังนี้

1. เปลี่ยนถ่ายน้ำ ทำความสะอาดตู้และระบบกรอง ปฏิบัติตามปรกติอย่างที่ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ให้ทำเพิ่มในวันก่อนจะไม่อยู่บ้านเพื่อความมั่นใจเรื่องความสะอาดของน้ำ

2.ตรวจสอบสุขภาพปลาทุกตัว หากมีตัวไหนอาการผิดปรกติให้รีบแยกออกมาเลี้ยงต่างหาก เพราะหากปล่อยปละละเลยปลาอ่อนแอมักจะโดนปลาร่วมตู้ไล่ทำร้ายด้วยความหิวจนกระทั่งตาย และเมื่อตายก็เปื่อยเน่าคาตู้ไม่มีใครเอาออกน้ำก็จะเริ่มเน่าเสียทำให้ปลาที่เหลือป่วยหรือตายตามกันไปด้วย

3.ตรวจสอบอุปกรณ์ในตู้ อุปกรณ์ไฟฟ้าเช่นปั๊มลม ปั๊มน้ำ หลอดไฟ ปลั๊กไฟ หากดูไม่น่าไว้วางใจให้รีบเปลี่ยนทันที อย่ารอหรือคิดว่ากลับมาค่อยทำเพราะหากเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้แล้วไม่มีใครอยู่ดูแล กลับมาอีกทีอาจไม่เจอบ้าน เจอแต่ตอดำๆ ควันกรุ่นๆ

4.ให้อาหารในปริมาณเดิมๆ ไม่ต้องให้เผื่อ หลายคนชอบให้เสียจนปลาอิ่มแปล้แถมยังเหลือลอยเกลื่อน น้ำจะเสียเร็วมากจากอาหารที่ปลากินเหลือมากกว่าจากของเสียที่ปลาขับถ่ายหลายเท่า อาหารบางอย่างโดยเฉพาะอาหารสดๆ เป็นๆ อย่างปลาเหยื่อหรือกุ้งฝอยสำหรับพวกปลากินเนื้อยิ่งไม่ควรใส่เผื่อให้ปลาจับกินเองระหว่างวันที่ไม่อยู่บ้าน เพราะสิ่งมีชีวิตนั้นอย่างไรเสียก็ต้องกินต้องขับถ่าย ปลาเหยื่อไม่กี่สิบตัวสามารถขับถ่ายผลิตของเสียได้มากกว่าปลาที่เราเลี้ยงไว้เสียอีก แล้วไหนจะเรื่องเชื้อโรคหลายอย่างที่ติดมากับตัวเหยื่อเอง

เคยมีใครเอาตัวอย่างปลาเหยื่อมาพิจารณาดูบ้างไหมครับ ผมเคยทำหลายครั้งพบว่ามีโรคจุดขาว โรคเน่าเปื่อย ติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิภายนอก (ที่เห็นด้วยตาเปล่า) มากมาย นั่นก็เพราะสัตว์น้ำพวกนี้ถูกกักเก็บไว้รอขายในสภาพไม่เหมาะสม แออัดยัดเยียดและสกปรก ปลาที่เลี้ยงไว้มีโอกาสได้รับเชื้อเหล่านี้เต็มๆ แล้วยังเรื่องความหิวโหยของปลาเหยื่อกุ้งเหยื่ออีกล่ะ แม้ว่าจะเกิดมาเพื่อเป็นอาหารเขาแต่ตัวมันเองก็ต้องกิน เมื่อไม่มีอาหารที่คนให้มันก็ต้องหาเอาเองจากแหล่งใกล้ตัว ในตู้เลี้ยงปลากินเนื้อ ปลาเหยื่อที่ว่ายพล่านหัวซุกหัวซุนหนีตาย พอปลาเจ้าของตู้กินอิ่มแปล้แล้วก็เริ่มเนือย บรรดาปลาเหยื่อผู้หิวโหยก็เริ่มเสาะหาอาหาร ง่ายสุดก็เมือกและเศษผิวหนังตามครีบตามผิวของปลาเจ้าของตู้จนเกิดความรำคาญและเครียด