ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว

จากข้อมูลปริมาณและมูลค่าการนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรที่สำคัญ ปี 2549-2554 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี 2554 ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีสูงถึง 6.1 ล้านตัน เป็นมูลค่า 71.8 หมื่นล้านบาท และสูตรปุ๋ยที่นำเข้ามานั้นไม่ตรงกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด อีกทั้งคุณสมบัติปุ๋ยไม่ได้เฉพาะเจาะจงสำหรับพืชแต่ละชนิด

การใช้ปุ๋ยของประเทศไทยเราจึงเป็นการใช้ปุ๋ยสูตรเดิมๆในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม และปัญหาธาตุอาหารพืชบางชนิดตกค้างภายในดินปริมาณสูง คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบันยังคงเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน กล่าวคือในนาดินทรายใช้ปุ๋ยสูตร 16-16-8 ในนาดินเหนียวใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 เป็นปุ๋ยรองพื้น และใช้ยูเรียเป็นปุ๋ยแต่งหน้า หน่วยงานวิจัยหลายหน่วยงานออกมาแนะนำวิธีการใส่ปุ๋ยข้าวอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตามค่าวิเคราะห์ดิน ตามพันธุ์ข้าว ตามค่าวิเคราะห์พืช หากพิจารณาแล้วล้วนเป็นวิธีที่ใช้ได้ผล แต่อาจจะยากแก่การปฏิบัติ

ดังนั้นการคิดค้นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยทั้งปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารตามระยะความต้องการของพืช ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา จะช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ แบบค่อยเป็นค่อยไป ลดความเสี่ยงจากภาวะที่พืชอาจได้รับปุ๋ยมากเกินไปในช่วงแรก และช่วงหลังพืชอาจได้รับปุ๋ยน้อยเกินไป จากการที่สารอาหารถูกชะล้างไปลึกกว่าระดับรากพืช จนไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพืชก็จะขาดสารอาหารได้

นอกจากนั้นปุ๋ยละลายช้ายังมีข้อดีในแง่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะช่วยลดปริมาณสารเคมีที่ถูกชะล้างจากแหล่งเพาะปลูกลงไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ด้วย ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดทำการศึกษาปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีคุณสมบัติละลายช้า ที่สามารถให้ทั้งสารอินทรีย์ที่สามารถปรับปรุงสภาพดินที่เสื่อมโทรม ให้มีคุณสมบัติทางกายภาพที่ดีขึ้นทั้งการอุ้มน้ำและการระบายอากาศ พร้อมให้ธาตุอาหารในระดับที่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต รักษาระดับผลผลิตให้ไม่แตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมี อีกทั้งปุ๋ยนี้เป็นการใช้ในครั้งเดียวคือช่วงรองพื้นเท่านั้น จึงเป็นการประหยัดค่าจ้างแรงงานใส่ปุ๋ย และยังสามารถปรับสูตรปุ๋ยให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว” ซึ่งเป็นปุ๋ยควบคุมการละลายที่ประกอบด้วยปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยปรับปรุงความเสื่อมโทรมของดิน และปุ๋ยเคมีที่ประกอบด้วยธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของข้าว ซึ่งปุ๋ยจะค่อยๆปล่อยธาตุอาหารพืชออกมา ช่วยให้พืชได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมอ

กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว ประกอบด้วย การทำปุ๋ยหมักจากวัตถุดิบคือมูลสัตว์ ตัวอย่างเช่น การนำมูลโคที่ใหม่และแห้ง ปริมาณ 950 – 1,050 กิโลกรัม มากองบริเวณพื้นปูน เติมปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 2 – 5 กิโลกรัม เติมปุ๋ยสูตร 0-3-0 ปริมาณ 20 – 40 กิโลกรัม ผสมวัตถุดิบทั้งหมดคลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับการเติมน้ำให้มีความชื้นร้อยละ 40 – 60 ใช้วัสดุที่สามารถกันน้ำได้คลุมให้มิด เพื่อป้องกันฝนและไม่ให้ความชื้นระเหยออกจากกองปุ๋ย และกลับกองปุ๋ยหมักที่ระยะเวลา 3 10 17 และ 24 วัน หลังจากการกอง

สูตรการผสมปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียว ประกอบด้วย ปุ๋ยอินทรีย์จากปุ๋ยหมักมูลสัตว์ร้อยละ 30 – 50 ปุ๋ยเคมีร้อยละ 36 – 42 ปูนร้อยละ 10 – 12 ซีโอไลต์ร้อยละ 10 – 12 และกรดซิลิคอนร้อยละ 5 – 10 โดยอัตราการปล่อยปลดธาตุอาหารหลักของพืชในรูปที่เป็นประโยชน์ช้ากว่าปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรเดียวกันที่ไม่มีการผสมปูนและซีโอไลต์ 30 – 50 วัน อัตราการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับนาหว่าน คือ 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เพียงครั้งเดียวหลังจากหว่านข้าว 15 – 20 วัน สามารถลดต้นทุนปุ๋ยลงประมาณ 300 บาทต่อไร่ และได้รับผลผลิตไม่แตกต่างจากการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร จากผลการทดลองในระดับสนามและไร่นาเกษตรกรในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ได้รับผลผลิตประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อไร่

สภาพอากาศในระยะที่มีอากาศร้อนและมีฝนตกชุกช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบให้มะละกอในระยะเก็บเกี่ยวผลดิบเกิดโรคได้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอให้เตรียมรับมือโรครากเน่าและโคนเน่า ที่พบมากในระยะต้นกล้าจนถึงระยะต้นโตเก็บเกี่ยวผลผลิต ระยะต้นกล้า จะแสดงอาการที่ส่วนลำต้นบริเวณผิวดินมีลักษณะฉ่ำน้ำยุบเป็นแถบๆ ใบจะเหี่ยว ถ้าอาการรุนแรงบริเวณโคนต้นจะหักพับและตายในที่สุด ระยะ ต้นโต มักแสดงอาการเริ่มแรกพบรากแขนงสีน้ำตาลหลุดขาดได้ง่าย ต่อมาโรคลุกลามไปยังรากแก้ว ทำให้รากเน่าเปื่อย ต้นแคระแกร็น ใบเหลือง ก้านใบลู่ลง และหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนต้นมะละกอจะเหลือใบยอดเป็นกระจุกและตายในที่สุด โดยบริเวณโคนต้นจะเน่าชุ่มน้ำ มีสีน้ำตาลเยิ้มออกมา และจะหักล้มพับได้ง่าย

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นมะละกอที่แสดงอาการของโรครากเน่าและโคนเน่า ให้ขุดหรือถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อสาเหตุโรค จากนั้น เกษตรกรควรใส่ปูนขาวหรือโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80:800 กิโลกรัมต่อไร่ บริเวณหลุมที่ขุดหรือถอนต้นออกไปแล้ว และให้กลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อสาเหตุโรค

หากเริ่มพบการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่า ให้เกษตรกรราดบริเวณโคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเมทาแลกซิล + แมนโคเซบ 4% + 64 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 – 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้ ควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน อีกทั้งควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดีและไม่มีน้ำขัง

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวต้องใช้วิธีแบบผสมผสาน ได้แก่ การตัดทางใบมาเผาทำลาย การใช้ศัตรูธรรมชาติ (แตนเบียนบราคอน) ควบคู่กับการใช้สารเคมี ซึ่งวิธีการใช้สารเคมีนั้นต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทุกขั้นตอน เพื่อความปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจและทำเครื่องหมายที่ต้นมะพร้าวแต่ละต้นที่พบการทำลายของหนอนหัวดำ เป็นการชี้เป้าหมายในการใช้สารเคมีเข้าควบคุม

โดยแบ่งเป็นมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร จะจัดการโดยฉีดสารเคมีเข้าต้น ต้องทำเครื่องหมายสีเหลืองไว้ที่ต้น ส่วนมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร จะจัดการโดยตัดทางใบและนำมาเผา ควบคู่กับการฉีดพ่นสารเคมีทางใบ จะทำเครื่องหมายสีแดงไว้ที่ต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าต้นดังกล่าวต้องดำเนินการด้วยการฉีดหรือพ่นสารเคมีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวต้องดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อประสิทธิภาพที่ยั่งยืน จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสำรวจและทาสีทำเครื่องหมายในต้นที่พบการระบาดให้ครบทุกต้นในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทั้งแปลงที่พบผู้ครอบครอง และไม่พบผู้ครอบครองที่สามารถเข้าไปสำรวจได้ หากไม่สามารถเข้าสำรวจได้ เช่น มีการปิดล้อมแน่นหนา หรือเจ้าของไม่ยินยอมให้เข้าไปสำรวจ ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการเจรจา แต่ถ้าหากการเจรจาไม่เป็นผล ก็จะแจ้งกรมวิชาการเกษตรใช้มาตรการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

นางสาวปิยากร นวลแก้ว หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ตระหนักและห่วงกังวลถึงปัญหาพันธุ์พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตามบทบาทด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการเกษตร “ต้นเท้ายายม่อม” เป็นพืชใช้ทำแป้งชนิดหนึ่งที่เคยขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยโดยเฉพาะ จ.ชลบุรี เท้ายายม่อม เป็นพืชล้มลุกอายุยืน ไม่มีลำต้น เหง้าใต้ดินเป็นหัว กลมแบนหรือรีกว้าง เปลือกหัวบาง ผิวเรียบ เมื่ออ่อนสีขาว แก่แล้วเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาล เนื้อหัวสีขาว ฉ่ำน้ำเล็กน้อย ดอกสีเหลืองหรือเขียวแกมม่วงเข้ม ผลสีส้ม มีเมล็ดมาก เมล็ดแบน เนื้อผลฝาดๆ หัวสดรับประทานไม่ได้มีรสขมมีพิษ หัวอ่อนรสขมมากกว่าหัวแก่ แต่สามารถสกัดแป้งมาใช้ประโยชน์ได้ แป้งที่ได้ใช้ทำขนมและอาหารได้หลายชนิด เช่น ช่อม่วง ไดฟุกุ เต้าส่วน ออส่วน ฯลฯ ใบรับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ก้านใบและก้านดอกให้เส้นใยใช้ทำหมวกและอุปกรณ์ตกเบ็ด หัวและแป้งใช้รักษาโรค ปัจจุบันถูก

“ต้นเท้ายายม่อม”เป็นพืชที่ใกล้สูญหายไปจากชุมชนและเป็นพืชที่นำมาทำแป้งที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่นำไปทำอาหารประจำถิ่นอันเป็นภูมิปัญญาเดิมที่ควรสืบทอดและคนในชุมชนก็เห็นความสำคัญและปรารถนาที่จะอนุรักษ์เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา สภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรีจึงร่วมส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์และพื้นที่ปลูกโดยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์เท้ายายม่อมและประสานหน่วยงานทำการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาคุณสมบัติเฉพาะและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่อไป

ด้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.บ้านปึก อ.เมือง จ.ชลบุรี นางสาวศรีวรรณ จิตจินดา ประธานศูนย์อนุรักษ์เท้ายายม่อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เท้ายายม่อมเป็นพืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ปลูกและฝนเป็นแป้งมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า เป็นตำนานของคนชลบุรี ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นที่ให้ร่มเงารำไร เช่น มะม่วง ลำไย มะพร้าว ขนุน เป็นต้น เป็นพันธุ์พื้นบ้านจึงมีความต้านทานโรค ไม่ต้องการการบำรุงอะไรเป็นพิเศษถ้าต้องการบำรุงให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 ปัญหาที่เจอคือพื้นที่ปลูกด้วยเป็นชุมชนเมืองและการขยายพันธุ์จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

ปัจจุบันกลุ่มศูนย์อนุรักษ์เท้ายายม่อม มีสมาชิก 50 คน ปลูก 20 คน พื้นที่รวม 20 ไร่ ปลูกเดือนพฤษภาคมเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม-มกราคม ใช้หัวขยายพันธุ์ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินทราย หรือดินร่วน กลุ่มทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตและรวบรวมโดยรับซื้อผลสด 80 บาท/กิโลกรัม เพื่อแปรรูปเป็นแป้ง 300 – 400 บาท/กิโลกรัม ผู้ซื้อต้องสั่งจองล่วงหน้า

คุณสมบัติของแป้งเท้ายายม่อมคือมีความละเอียดมาก มีสีขาว ใสและคงรูปไม่เหลวแตกต่างจากแป้งชนิดอื่นจนสัมผัสและสังเกตุได้ ทางด้านสรรพคุณ บำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่นอารมณ์ดี ช่วยผู้ป่วยฟื้นไข้เร็วขึ้นทำให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่าแป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารมากที่สุด

ปัจจุบันมีหน่วยงานนำแป้งเท้ายายม่อมไปทำการวิจัยทำเครื่องสำอาง อาหารเสริม และอื่นๆ การทำแป้งเท้ายายม่อมนั้นจะนำหัวไปล้างให้สะอาด ปลอกเปลือกแล้วฝนด้วยหนังปลากระเบนหรือแผ่นสังกะสีเจาะรูเพื่อให้ได้เนื้อแป้งที่ละเอียดจากนั้นนำเนื้อไปคั้นน้ำแบบคั้นกะทิ ใช้ผ้าขาวบางกรองกาก ปล่อยแป้งตกตะกอน เทน้ำออก ทำซ้ำ 5-7 รอบจนน้ำใส จากนั้นนำไปผึ่งแดดจนแห้งสนิทจึงนำไปใช้ หัวเท้ายายม่อม 10 กิโลกรัมจะได้แป้ง 2.2 กิโลกรัม หรือร้อยละ 22 สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดชลบุรี โทร.0-3828-6878 หรือ คุณศรีวรรณ โทร.08-1553-6365

โปรแกรมการคำนวณปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด ประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ วางแผนจัดการดิน/ปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตข้าว

จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ทำนาประมาณ 40.26% กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ ซึ่งให้ผลผลิตข้าวแตกต่างกันตามศักยภาพของดิน และการจัดการดินและปุ๋ย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตข้าวและสนับสนุนการวางแผนการจัดการดินและปุ๋ยเพื่อการปลูกข้าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ จึงได้จัดทำ “โครงการการประเมินพื้นที่ปลูกข้าวด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์และแบบจำลองสำหรับการใช้เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยครั้งเดียว” โดยทำการประเมินความเหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่จังหวัดปทุมธานี โดยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า จังหวัดปทุมธานีสามารถแบ่งเขตพื้นที่เหมาะสมเป็น 4 ระดับ คือ 1) พื้นที่เหมาะสมมาก ประมาณ 22 ไร่ 2) พื้นที่เหมาะสมปานกลาง ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 49.03 ของเนื้อที่ ซึ่งกระจายในทุกอำเภอ 3) พื้นที่เหมาะสมเล็กน้อย มีข้อจำกัดความเป็นพิษของดิน และปริมาณการกักเก็บธาตุอาหารในดิน 4) พื้นที่ไม่เหมาะสม ประมาณร้อยละ 36.76 ของเนื้อที่ มีข้อจำกัดของความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง ถนน ที่ดินดัดแปลง แหล่งน้ำ และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

การใช้งานโปรแกรมคำนวณปุ๋ยอินทรีย์เคมีสั่งตัด เริ่มต้นดังนี้ 1.เรียกโปรแกรม Internet Explorer 2. พิมพ์ในช่อง Address … http://203.150.10.52/organic/ แล้วจะขึ้นสู่หน้าหลักของโปรแกรม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 9 เมนู โดยมีรายละเอียดของเมนูต่างๆ ดังนี้

เมนูที่ 1 หน้าหลัก เป็นหน้าจอแสดงการจัดกิจกรรมของโครงการปุ๋ยอินทรีย์

เมนูที่ 2 คำนวณปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นหน้าจอแสดงการจัดกิจกรรมของโครงการปุ๋ยอินทรีย์ โดยตัวโปรแกรมจะไม่ทำงานหากยังไม่ทำการเลือกพันธุ์ เพื่อตรวจสอบเงื่อนไขทั้งหมดของโปรแกรม จังหวัดที่ทำการปลูกพืช อำเภอ ตำบล และชุดดินเป็นต้น

เมนูที่ 3 พันธุ์พืชปุ๋ยอินทรีย์เคมี ระบุชนิดพันธุ์พืชและอัตราส่วนที่เหมาะสมในการใช้ปุ๋ย

เมนูที่ 4 การผสมปุ๋ยอินทรีย์ตามความเหมาะสมของพืช

เมนูที่ 5 ชุดดินปุ๋ยอินทรีย์เคมี จะบ่งบอกถึงคุณลักษณะของปุ๋ยฯ ทั้งหมด

เมนูที่ 6 ขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์

เมนูที่ 7 การพัฒนาเกษตรกร

เมนูที่ 8 คนเก่งปุ๋ยอินทรีย์เคมี ประกอบด้วยรายชื่อเกษตรกรคนเก่งด้านการวิเคราะห์ดินและการทำปุ๋ยอินทรีย์

เมนูที่ 9 ทีมงาน ประกอบด้วยบุคลากรของ วว. ที่จัดทำโครงการ

“อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ” เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูก “ข้าวหอมมะลิ 105” ข้าวหอมพันธุ์ดี รสชาติอร่อยที่สุดของโลก ในอดีต ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ นิยมปลูกข้าวนาหว่าน โดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีในแปลงนาเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการ ทำให้ความหอมของข้าวหอมมะลิลดลง แถมมีต้นทุนการผลิตสูง เมื่อเจอปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวนาประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก มีภาระหนี้สินรุงรัง แทบไม่เหลือเงินทุนสำหรับใช้ลงทุนทำนาในฤดูถัดไป

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนอุ่มแสง เพื่อหลีกหนีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่มีแต่หนี้กับหนี้ เมื่อปี 2547 กลุ่มชาวนาในชุมชนบ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล ภายใต้การนำของ คุณบุญมี สุระโคตร โทร. (063) 750-5553 ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนอุ่มแสง (กลุ่มเกษตรทิพย์)” เพื่อผลิตข้าวอินทรีย์มาตรฐานสากล โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน มุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยนำเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลผลิตเพื่อผลิตมูลค่า

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ เป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ครบวงจรขนาดใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาสูง มีรายได้ที่มั่นคงขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง สินค้าข้าวอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้มีคุณภาพดี เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจที่จะสานต่ออาชีพทำนาจากพ่อแม่

ด้านการผลิต

ทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้ชาวนาที่เป็นสมาชิกผลิตข้าวตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยดำเนินกิจการมาแล้ว 8 ปี ปัจจุบันกลุ่มได้ดำเนินการส่งเสริมให้สมาชิกผลิตข้าวอินทรีย์ในรูปแบบนาแปลงใหญ่ มีเกษตรกรสมาชิก จำนวน 1,021 ราย พื้นที่ 14,720 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 14,085 ไร่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 539 ไร่ ข้าวมะลินิล 63 ไร่ และข้าวมะลิแดงสุรินทร์ 37 ไร่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ได้แก่ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ไทย (Organic Thailand) International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM, การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและออร์แกนิกของสหรัฐอเมริกา (USDA) FLO ID 27806 ของ FAIRETRADE มาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป (EU-NOP) มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย และการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

สำหรับการทำเกษตรแปลงใหญ่ของกลุ่มแห่งนี้ มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต ด้วยการรวมกันหาพันธุ์ข้าว ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นไปตามมาตรฐานความต้องการของตลาดแล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกร ในชื่อโครงการ “ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า เกษตรทิพย์” แนวคิดนี้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้แล้วยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดี

ตลาดข้าวอินทรีย์

สินค้าข้าวอินทรีย์ ของกลุ่มแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “ข้าวอินทรีย์ ลุงบุญมี สุระโคตร” โดยขายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ และงานแสดงสินค้าต่างๆ เช่น งานโอท็อป และงาน Thaifex เป็นต้น การพัฒนาการผลิตและการตลาดอย่างไม่หยุดนิ่งของกลุ่ม ช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชนชาวนาแล้ว สมาชิกยังได้รับผลตอบแทนสูงและมีรายได้มากขึ้น ทำให้มีความยั่งยืนในอาชีพการทำนาไปพร้อมๆ กัน

“ข้าวสาร” เป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักของกลุ่ม โดยผลผลิตร้อยละ 80 มุ่งผลิตป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 20 จำหน่ายภายในประเทศ ปัจจุบัน กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในภูมิภาคยุโรป อเมริกา และเอเชียสนใจบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะปลอดภัยจากปัญหาสารเคมีตกค้าง ทำให้ยอดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ เช่น กลุ่มข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ฯลฯ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

“สินค้าแปรรูปจากข้าว โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว เรียกว่า ขายดีมากจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของผู้ซื้อจากทั่วประเทศ เนื่องจากทางกลุ่มผลิตข้าวกล้องเป็นหลัก ผลิตข้าวขาวที่ผ่านการขัดสีเพียงแค่ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะขยายกำลังการผลิตน้ำมันรำข้าว สำหรับสินค้าใหม่คือ ผลิตภัณฑ์สปา อยู่ระหว่างการพัฒนาตัว สินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐาน อย. รวมทั้งศึกษาแนวทางเจาะตลาดใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าตลาดสปา ในอนาคต” คุณบุญมี กล่าว

แปรรูปเพิ่มมูลค่า ข้าวอินทรีย์

คุณบุญมี กล่าวว่า ถึงแม้ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มจะขายดี เป็นที่ต้องการสูงในตลาดโลก แต่การขายข้าวสารยังให้มูลค่าผลตอบแทนน้อย เมื่อเทียบกับสินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ดังนั้น ในปี 2557-2558 ทางกลุ่มจึงหันมาศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวและพัฒนาช่องทางตลาดไปพร้อมๆ กัน

ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการเรื่องการแปรรูปข้าวจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่างๆ จนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวได้หลายสิบรายการ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป แป้งจากจมูกข้าวกล้องงอก จมูกข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม ไอศกรีมข้าวกล้องงอก ขนมที่ทำจากข้าวกล้องงอก เป็นต้น

ส่วนรำข้าวที่เหลือจากกระบวนการขัดสีข้าว ก็นำมาผ่านกระบวนการหีบเย็น จนได้น้ำมันรำข้าวส่งขายตลาดต่างประเทศ ส่วนข้าวหัก ถูกนำแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น ผงสครับขัดผิว สบู่ข้าว ลิปบาล์ม รวมทั้งผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเจ้าอินทรีย์ ประเภท แป้งข้าวหอมมะลิ แป้งข้าวหอมนิล แป้งข้าวมะลิแดง และแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ฯลฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร สามารถแปรรูปสร้างมูลค่าได้หลากหลายเมนู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นสปาเกตตี ฯลฯ

การผลิตข้าวอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

คุณบุญมี บอกว่า สินค้าข้าวหอมมะลิของกลุ่ม ผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตพื้นที่อำเภอราษีไศล และอำเภอศิลาลาด ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งพื้นที่แหล่งนี้ส่วนใหญ่เป็นดินที่มีความเค็ม น้ำน้อย เมื่อปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จะทำให้มีความหอมมากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย จึงทำให้ทุ่งกุลาร้องไห้มีความโดดเด่นในเรื่องข้าวหอมมะลิ จนได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

การเพาะปลูกพืชอินทรีย์หลังนา

ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนการทำนาด้วยการหยอดข้าวแห้งและทำนาดำด้วยรถดำนาแทนการหว่าน ขณะเดียวกัน ได้ส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์สำหรับใช้ในชุมชน รวมทั้ง ส่งเสริมปลูกพืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง ถั่วพร้า ปอเทือง เพื่อปรับปรุงบำรุงดินและลดการใช้ปุ๋ยในการทำนา นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ส่งเสริมให้สมาชิกทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว ทำเกษตรปลอดการเผา ควบคู่กับการปลูกป่า เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน

ทางกลุ่มเน้นการจัดการตามมิติความสัมพันธ์ตามห่วงโซ่ของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจขึ้นมาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น “วิสาหกิจกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์เกษตรทิพย์” ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในชุมชนและจำหน่ายแก่ผู้สนใจ “กลุ่มวิสาหกิจเครื่องจักรกล” เน้นรวมพื้นที่การเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการคุ้มค่าการใช้เครื่องจักรกลทั้งการจ้างเพื่อการใช้งาน และการซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจพืชหลังนา” เพื่อส่งเสริมปลูกพืชเสริมรายได้หลังฤดูทำนา เช่น แตงกวา คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ มะละกอ ตะไคร้ แตงโม มันเทศญี่ปุ่น ถั่วเหลือง ฯลฯ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ ปลูกดูแลง่าย ใช้เวลาน้อย แต่ขายผลผลิตได้ราคาดี เป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง เพราะพืชผักเหล่านี้ ปลูกดูแลในระบบเกษตรอินทรีย์ตลอดกระบวนการผลิตนั่นเอง

ชาวบ้านหมู่ 6 ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ล้วนมีอาชีพที่ไม่แตกต่างกัน คือการทำไร่และทำนา ซึ่งถือเป็นอาชีพหลัก แต่เพราะความกระตือรือร้นใฝ่ศึกษาของคุณศิริกานต์ ธาตุมณี หญิงสาววัยกลางคนที่ไม่หยุดนิ่งต่ออาชีพตรงหน้า ทำให้เธอเริ่มศึกษาการเพาะเห็ดฟางจากเพื่อนร่วมหมู่บ้าน ที่เดินทางไปศึกษาการเพาะเห็ดฟางจากศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดใกล้เคียง โดยเริ่มเพาะเห็ดฟาง 3 โรงเรือน ตั้งแต่ปี 2550 มีกำไรจากการจำหน่ายเห็ดฟางโรงเรือนละ 8,000 บาทต่อรอบการเก็บเห็ดฟางขาย

แต่วัตถุเหลือทิ้งจากการเพาะเห็ดฟาง ประกอบด้วย กากมันสำปะหลัง รำอ่อน ขี้วัว ขี้เห็ดฟาง ฟาง และอีเอ็ม ในแต่ละครั้งเหลือทิ้งจำนวนมาก คุณศิริกานต์ สังเกตพบว่า เมื่อนำไปทิ้งยังท้องนาก็พบว่า ต้นข้าวเจริญเติบโตเร็วหลังจากได้รับวัตถุเพาะเห็ดฟางเหลือทิ้งเหล่านั้น เมื่อนำไปทิ้งยังโคนต้นไม้ ต้นไม้ต่างก็เจริญเติบโตได้ดี จึงมั่นใจว่า วัตถุเหลือทิ้งเหล่านั้นมีประโยชน์ จึงคิดนำมาแปรรูปจำหน่าย

“กากมันสำปะหลัง รำอ่อน ขี้วัว ขี้เห็ดฟาง ฟาง และอีเอ็ม ที่มีอยู่ในวัตถุเพาเห็ดฟาง ก่อนเพาะเห็ดฟางเราหมักไว้อยู่แล้ว แสดงว่ามีแร่ธาตุมาก แต่สังเกตพบว่า แม้ต้นข้าวจะเจริญเติบโตดี แต่ก็ทำให้ต้นข้าวตายก่อนออกรวง ซึ่งหมายความว่า วัตถุชนิดนี้มีความเค็มเกินไป จึงหาส่วนผสมมาเพิ่ม เพื่อให้มีความเป็นกลาง โดยนำขุยมะพร้าว แกลบดำจากขี้อ้อยที่ล้างแล้ว และปูนขาว ผสมเพิ่มเข้าไปให้พอเหมาะ”

คุณศิริกานต์ บอกว่า เธอลองผิดลองถูก เพื่อให้ได้สัดส่วนของดินปลูกที่เหมาะสมอยู่นานประมาณ 1 ปี จึงได้สูตรที่ลงตัว โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี ทดลองกับต้นไม้ในสวนของตนเอง สุดท้ายก็พบว่า สูตรดินปลูกที่ได้ช่วยให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้เร็วกว่าดินปลูกทั่วไปถึง 4 วัน และมีความสดของต้นกล้าดีกว่า

การผสมดินปลูกให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม คุณศิริกานต์ บอกว่า ระยะแรกศึกษาทางอินเตอร์เน็ต และเริ่มสั่งถุงพลาสติกบรรจุน้ำหนัก 6.5 กิโลกรัม ติดโลโก้ศิริกานต์ จำหน่ายในราคาถุงละ 11 บาท แต่เนื่องจากถุงพลาสติกขาดง่าย จึงเปลี่ยนเป็นถุงกระสอบ บรรจุน้ำหนักดินปลูกเท่าเดิม และจำหน่ายในราคาเท่าเดิม คือ 11 บาท

ลองตลาดด้วยการ เดินเข้าไปหาร้านขายต้นไม้ต่างๆ ถูกปฏิเสธในระยะแรก แต่ต่อมาคุณศิริกานต์เสนอให้เจ้าของร้านต้นไม้นำดินปลูกใช้ปลูกต้นไม้ฟรี 10 ถุง เป็นการทดลอง ซึ่งได้ผล ทำให้เจ้าของร้านหลายแห่งเห็นผลจากการใช้ดินปลูกของคุณศิริกานต์ จึงยอมให้วางจำหน่ายหน้าร้านและกลายเป็นลูกค้าประจำ

“เรามีคู่แข่งอีกแบรนด์ ขายราคาถูกกว่า เราจึงผลิตแบรนด์ขึ้นใหม่อีกแบรนด์ ชื่อ ศิริชัย เพื่อส่งในราคาถูกลง โดยวัตถุดิบที่ทำดินปลูกเหมือนเดิม แต่ลดปริมาณของวัตถุดิบบางตัวลงเท่านั้น ซึ่งแบรนด์นี้ก็ถือว่าติดตลาด ถูกใจลูกค้าเหมือนกัน”

แต่ละเดือน Royal Online คุณศิริกานต์ผลิตดินปลูกส่งลูกค้าเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 ถุง วางตลาดในเขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี และอำเภอท่าบ่อ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

ทุกเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว คุณศิริกานต์ มีรายได้จากการเพาะเห็ดฟาง 3 โรงเรือน และ การผลิตดินปลูกจำหน่าย รวมถึงไร่นาสวนผสมที่พอมีอยู่อีก 30 ไร่ มีกำไรจากน้ำพักน้ำแรงทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 50,000 บาททุกเดือน

สนใจดินปลูก หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ “ศิริกานต์ ดินปลูกนานาพันธุ์ไม้” หมู่ 6 ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โทรศัพท์ 089-944-7920

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาตนและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ