ผนึก สกาย วีไอวี ลุยสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ใช้นวัตกรรมโดรนเพิ่มผล

ผลิตข้าวโพดหวานซันสวีท ผนึก สกาย วีไอวี ลุยพัฒนาการผลิตข้าวโพดหวาน เร่งยกระดับสู่ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” เต็มรูปแบบ ดึงองค์ความรู้เทคโนโลยีชั้นสูงด้านอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา การเพิ่มและการประเมินผลการผลิตเกษตรกรรมแม่นยำ รองรับประเทศไทย 4.0
นายวิวัฒน์วงศ์ วิจิตรวาทการ กรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัท สกาย วีไอวี จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านเกษตรกรรมแม่นยำ เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ ดร. องอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) จ.เชียงใหม่ ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ภายใต้ตราสินค้า “KC” ว่า บริษัท ซันสวีท ต้องการพัฒนาและประเมินผลผลิตข้าวโพดหวาน ด้วยการนำเทคโนโลยีชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาใช้วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศด้วยกล้อง multispectral จากอากาศยานไร้คนขับมาใช้

โดยจะให้ความร่วมมือด้านข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก ข้อมูลการผลิตตลอดระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวโพดหวาน และสิทธิ์ในการจ้างเหมาเพื่อสำรวจพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดของกลุ่มเกษตรกรของบริษัท ด้วยอุปกรณ์อากาศยานไร้คนขับ UAV ถือเป็นการยกระดับการเพาะปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรมในระดับองค์กร และระดับประเทศ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบสนองแนวคิดเกษตรกรรมแม่นยำ (precision agriculture) ในยุคประเทศไทย 4.0 และถือเป็นความร่วมมือกันในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองบริษัท

นายวิวัฒน์วงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน บริษัทได้นำอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ในงาน 3 ประเภท ประเภทแรก ด้านงานเกษตรกรรมแม่นยำ การวิเคราะห์ดูความสมบูรณ์ของพืชไร่ การเฝ้าระวังโรคพืช หรือความผิดปกติใดๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อเข้าไปแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนความเสียหายจะลุกลามออกไป ตลอดจนคำนวณผลผลิตต่อไร่ของพืชประเภทต่างๆ ได้จากการคำนวณวัดค่าชีวมวล (biomass) งานประเภทที่สอง ได้แก่ การทำแผนที่รังวัดและการคำนวณทั้งพื้นที่และปริมาตร

ที่มีความผิดพลาดน้อยที่สุดจากภาพถ่ายที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ และงานประเภทสุดท้าย ได้แก่ การสำรวจผิวโครงสร้างที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น การสำรวจเขื่อน สะพาน ปล่องควันในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งภายนอกและภายใน เพื่อตรวจสอบว่ามีความเสียหายที่ไหนบ้าง จากการนำเอาอากาศยานไร้คนขับที่มีการออกแบบเพื่อการนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งซอฟต์แวร์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาให้บริการและทำการต่อยอด ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความต้องการของประเทศไทย

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตผลแปรรูปทางการเกษตรข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การตัดสินใจร่วมมือกับบริษัท สกาย วีไอวี จำกัด เนื่องจากเล็งเห็นความพร้อมทางด้านความรู้ ความสามารถ และความน่าเชื่อถือขององค์กร ที่สามารถสนับสนุนธุรกิจของบริษัทให้ก้าวไกลไปข้างหน้าร่วมกันได้ ตลอดจนช่วยกันยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวานของประเทศให้มีผลผลิตที่ดี ทั้งยังจะช่วยยกระดับการผลิตแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หรือ เกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก้าวสู่การผลิตและมีศักยภาพสูงทัดเทียมนานาชาติ ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัท ซันสวีท ส่งออกข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องไปจำหน่ายในต่างประเทศกว่า 50 ประเทศ ทั่วโลก ความร่วมมือครั้งนี้จึงเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งของบริษัททั้งสอง เพื่อรองรับนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลต่อไป

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณ 46,749 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การ 23,205 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลัก ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,798 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,102 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 (1 พฤศจิกายน 2560 – 30 เมษายน 2561)

กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำทั่วประเทศ 25,067 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ลุ่มเจ้าพระยา 7,700 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,350 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 650 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 700 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค – บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,110 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ผลการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึง ปัจจุบัน (9 เมษายน 2561) จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,500 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 97 ของแผนจัดสรรน้ำ คงเหลือปริมาณน้ำใช้ตามแผนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ ประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2560/61 ขอยืนยันว่า กรมชลประทาน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการสนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งตามแผนที่ได้กำหนดไว้ตลอดทั้งฤดูกาล และมีปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2561 (พฤษภาคม – กรกฎาคม) เพื่อการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมได้อย่างเพียงพอเช่นกัน

ในการนี้ ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้ง ให้การสนับสนุนเรือกำจัดวัชพืช เพื่อเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชบริเวณประตูระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำ และระบบชลประทานที่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทานทั้งหมด ตามนโยบายของรัฐบาล

รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า กรมชลประทานจะให้การสนับสนุนน้ำไปยังแหล่งน้ำสาธารณะอย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและประเพณีไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

เมื่อเร็วๆ นี้ นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี จัดงานวันรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ณ หมู่ที่ 2 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายทิวา วัชรกาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานในงานดังกล่าว โดยมีเกษตรกรและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 ราย

ซึ่งงานวันรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตรนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่งทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ก่อให้เกิดดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการทำการเกษตรสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ได้ดำเนินการรณรงค์ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแนะนำช่องทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนการเผาในพื้นที่การเกษตร

โดยภายในงานมีการบริการให้ความรู้ทางวิชาการจากหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี สถานีพัฒนาที่ดินปราจีนบุรี ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบางแตน บริษัท ชาญชุตินันท์ สยามคูโบต้า นอกจากนี้ ได้จัดให้มีกิจกรรม ได้แก่ การสาธิตการไถหมักฟางข้าว โดย นายทิวา วัชรกาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กิจกรรมการเทน้ำหมักเพื่อย่อยสลายตอซัง โดยความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้ร่วมงาน พร้อมทั้งมีการจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกร ซึ่งเกษตรกรผู้เข้าร่วมงานนี้ ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น และจะลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของตน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้ให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิดเพิ่มเติมจากการออกตรวจสอบที่ดำเนินการเป็นประจำอยู่แล้ว รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการตามสถานีขนส่งและสถานีรถไฟ เช่น ผู้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ให้บริการรับฝากของบริการรถเข็นสัมภาระ ให้มีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและค่าบริการอย่างชัดเจน รวมทั้งกำชับให้คิดค่าสินค้าและบริการให้ตรงกับป้ายราคาที่แสดงไว้ เพื่อป้องปรามมิให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาจำหน่ายสินค้าและบริการสูงเกินสมควรในช่วงเทศกาลที่มีประชาชนที่มาบริการจำนวนมาก

โดยออกตรวจสอบและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าและให้บริการ บริเวณสถานีขนส่งและสถานีรถไฟทั่วประเทศ อาทิ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งเอกมัย สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ สถานีขนส่งย่อยนครชัยแอร์ สถานีขนส่งย่อยสมบัติทัวร์ สถานีขนส่งย่อยสยามเฟิสท์ทัวร์ และสถานีรถไฟหัวลำโพง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมาย

พร้อมกันนี้ได้จัดทำแผนการตรวจสอบมาตรวัดตามสถานีบริการในเส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังต่างจังหวัด ภายใต้โครงการตรวจสอบมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานีบริการน้ำมัน มาตรวัดก๊าซ LPG, NGV ในเส้นทางการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบความถูกต้องมาตรวัดฯ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าจะได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ล่าสุดอธิบดีกรมการค้าภายในได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบร้านอาหารจำหน่ายปรุงสำเร็จในสถานีขนส่งหมอชิต พบว่า ราคายังทรงตัวไม่มีการปรับขึ้นราคา โดยข้าวแกง อยู่ที่จานละ 30-45 บาท ก๋วยเตี๋ยว ชามละ 30-40 บาท น้ำดื่มขวดละ 7-10 บาท เป็นต้น และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการประชาชนที่จะใช้บริการ จึงได้กำชับให้มีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจนตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

ทั้งนี้ ประกาศเรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการปี 2561 กำหนดให้แสดงราคาสินค้าและบริการ โดยการเขียน/พิมพ์/ทำให้ปรากฏบนกระดาษแผ่นไม้หรือวัตถุอื่น, แสดงราคาไว้ที่สินค้า สถานที่บริการหรือบริเวณใกล้เคียง หากสภาพสินค้าไม่สามารถแสดงราคาได้ ให้จัดทำบัญชีแสดงราคาไว้ในที่เปิดเผย ผู้บริโภคสามารถดูได้ และต้องเป็นราคาต่อหน่วย ตัวเลขภาษาอะไรก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย โดยแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน เปิดเผย อ่านได้ง่าย ส่วนข้อความรายการต้องเป็นภาษาไทย แต่มีภาษาอื่นด้วยก็ได้

ในกรณีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาหรือค่าบริการแล้ว ต้องแสดงให้ชัดเจนและครบถ้วน ควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการนั้นๆ การแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือบริการที่ให้บริการ ต้องแสดงราคาให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ เว้นแต่จะเป็นการจำหน่ายหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อต่ำกว่าราคาที่แสดง

หากพบการกระทำผิดดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับ 10,000 บาท กรณีจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร กักตุนสินค้าและปฏิเสธการจำหน่ายต้องโทษจำคุก 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันนี้ (10 เม.ย. 61) การยางแห่งประเทศไทย จัดงานวันยางพาราแห่งชาติ ปี 2561 น้อมรำลึก 2 บิดา แห่งยางพาราไทย ร่วมสักการะและบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี และอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรี พร้อมชมนิทรรศการชีวประวัติเพื่อรำลึกคุณูปการ ณ อนุสาวรีย์หลวงราชไมตรี ต.พลิ้ว อ.เมือง จ.จันทบุรี

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2547 เห็นชอบให้ วันที่ 10 เมษายน ของทุกปี เป็นวันยางพาราแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันถึงแก่อนิจกรรมของ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) หรือ บิดาแห่งยางพาราไทย ผู้ริเริ่มแนวคิดนำพันธุ์ยางพารามาเข้ามาปลูกในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดอาชีพชาวสวนยาง สร้างรายได้จากการทำสวนยางในประเทศไทยเป็นคนแรก ซึ่งปีนี้กำหนดจัดงานขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากเป็นจังหวัดแรกของภาคตะวันออกที่มีการนำยางพารามาปลูก โดยหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก

ดร. ธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานวันยางแห่งชาติครั้งนี้ ได้ประดิษฐานรูปปั้นจำลองพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี คู่กับอนุสาวรีย์หลวงราชไมตรี เพื่อร่วมพิธีสักการะและบวงสรวงโดยพร้อมกัน เป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณและเชิดชูเกียรติของบิดายางพาราไทยทั้ง 2 ท่าน ที่ได้สร้างคุณูปการไว้ให้แก่วงการยางพาราสืบมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “รำลึกคุณูปการบิดาแห่งยางพาราไทย และบิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก” ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ศึกษาชีวประวัติ ความเป็นมาของยางพาราในประเทศไทย

นอกจากนี้ ในวันที่ 10 เมษายน 2561 กำหนดให้มีกิจกรรมอ่านสารวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดย นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD เวลาประมาณ 13.00 น. เป็นต้นไป เพื่อสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรชาวสวนยาง และผู้มีส่วนได้เสียในแวดวงยางพาราให้ตระหนักถึงความสำคัญของยางพารา โดยการช่วยกันขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมไทย ร่วมใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาจากยางพารา พัฒนายางพาราไทยในทุกมิติให้เกิดความยั่งยืน อันจะส่งผลให้พืชเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง “ยางพารา” เป็นฐานรากเศรษฐกิจไทยสืบไป รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

ละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังเป็นกระแส “ทอล์คออฟเดอะทาวน์” อยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ด้วยเนื้อหาที่แปลกแหวกแนวสร้างสรรค์แตกต่างจากละครเดิมๆ ของไทยในอดีตที่มีแต่ตบตีแย่งชิงเชิงชู้สาวเป็นส่วนใหญ่ พระนางอย่าง “แม่การะเกด” และ “พ่อหมื่นสุนทรเทวา” ซึ่งแสดงได้อย่างลงตัว มีเสน่ห์ เรียกแฟนคลับให้เกาะติดอยู่หน้าจอในช่วงวันพุธ พฤหัสบดีได้อย่างเหนียวแน่น แถมยังมีนักแสดงร่วมแทคทีมประชันฝีมือกันมากมาย จนทำให้ละครเรื่องนี้มีคุณภาพระดับคับแก้ว โด่งดังเป็นที่รู้จักกันทั้งเรื่องเกือบทุกตัวละครไม่ว่าจะตัวเด่นหรือตัวรอง

“ดูละครแล้วให้ย้อนดูตัว” ด้วยละครเรื่องนี้นับว่ามีการสอดแทรกขนมธรรมเนียม ประเพณี ประวัติศาสตร์ ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอย่างมาก พฤติกรรมของตัวเอกในละครที่ไม่ว่าจะพูดหรือทำอะไร ก็จะมีผู้ชมนิยมชมชอบทำตามและแชร์ตามโลกโซเชี่ยลในชั่วพริบตา ยกตัวอย่าง การนำเสนอเมนูอาหารในเรื่อง เช่น กุ้งแม่น้ำเผา มะม่วงน้ำปลาหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หมูโสร่ง เป็นต้น ทำให้ได้ทราบประวัติความเป็นมาของเมนูหรือเรื่องนั้นๆ ด้วย จนสร้างปรากฏการณ์ที่แตกต่างมากถ้าเทียบกับละครเรื่องอื่นๆ

แต่ยังมีอีกหนึ่งมุมหนึ่งที่ทางผู้ผลิตละครเรื่องนี้นำเสนอน้อยไปสักนิด คือเรื่องของวิถีเกษตรกรรมไทยในสมัยนั้น ซึ่งความจริงน่าจะเป็นยุคที่เรียกได้ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เพราะการทำเกษตรกรรมของชาวอยุธยาสมัยนั้น คงยังไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นพิษมากมายเหมือนในปัจจุบันนี้ บ้านเมืองยังคงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนยังดื่มด่ำกับธรรมชาติได้เกือบทั่วทุกตารางนิ้ว น้ำท่าที่ใช้ในการอุปโภค บริโภค ตามห้วย หนอง คลอง บึง ก็ใช้ได้ทันที ไม่ต้องระวังยาฆ่าหญ้า รวมถึงสารกำจัดโรคแมลงอย่างในปัจจุบัน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้นำเข้ามาได้อย่างสะดวกโยธินจนยอดปีละหลายหมื่นล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปอาบชโลมลงแปลงเพาะปลูก ตกค้างอยู่ตามป่าต้นน้ำลำธารและยอดเขา เมื่อฝนตกก็ชะล้างสารพิษเหล่านี้ลงไปสู่แหล่งน้ำ ลำคลอง ส่งผลให้น้ำเป็นพิษ กุ้ง หอย ปู ปลา ล้มหายตายจากสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง “ศัตรูพืช ศัตรูข้าว” เช่น หนูนา และปูนา ยังเกือบจะสูญพันธุ์ จนนำมาสู่ความน่าสมเพชเวทนาในปัจจุบันคือ เกษตรกรต้องหันมาเพาะเลี้ยงจำหน่ายขยายพันธุ์ “หนูนา” และ “ปูนา” สร้างรายได้กันอย่างน่าอนาถใจ เพราะในไม่ช้ามันอาจจะล้นและกลับมาทำลายพืชผลของเกษตรกรเอง ที่โลกกลับตาลปัตรเช่นนี้ ก็เพราะสาเหตุหลักมาจากการใช้สารพิษอย่างไม่บันยะบันยัง จนทำให้ศัตรูพืชที่แพร่กระจายขยายพันธุ์ได้ง่าย ยังเกือบสูญพันธุ์และลดน้อยถอยลงดังที่กล่าวไป เพราะสารเคมีที่เป็นพิษถูกส่งไปทำลายล้างเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้ง “ชนิดดี” และ “ชนิดร้าย” ในธรรมชาติจนราบคาบหมดสิ้น และอาจจะไม่เว้นแม้กระทั่ง “มนุษย์” ด้วยก็เป็นได้ ถ้ายังไม่ “หยุด”!!! แล้วเราจะปล่อยให้ประเทศของเราเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ กระนั้นหรือ???… เดาไม่ออกเลยว่าอีกสิบยี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต่อไปคงต้องเพาะเลี้ยงหนอน แมลงศัตรูพืชมาเป็นอาหารกันอีกด้วยหรือไม่

จึงอยากเชิญชวนเหล่าออเจ้าชาวเกษตรกรมาช่วยกัน ลด ละ เลี่ยง เลิกใช้สารพิษกันเถอะ โดยหันมาใส่ใจวิธีการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ แบบพึ่งพิงอิงธรรมชาติ ใช้ปัจจัยการผลิตจากสิ่งที่มีง่ายๆใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเศษไม้ ใบหญ้า ตอซังฟางข้าว พืชสมุนไพรไล่แมลงอย่างขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ขี้ควาย จุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์ขุยไผ่ ทั้งหมดเป็นจุลินทรีย์ท้องถิ่นไทยที่ใช้ในการปราบโรคแมลง ใช้หินแร่ภูเขาไฟไทยในการปรับปรุงบำรุงดิน สร้างระบบนิเวศน์ให้กลับสู่สภาพยุคออเจ้าให้มากที่สุด

วันนี้คนไทยกำลังสนุกและมีความสุขกับละคร “บุพเพสันนิวาส” กำลังนิยมชมชอบชุดไทย แต่งไทย กิน ขนมไทย อาหารไทย และสถานที่ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ไทย แล้วทำไมเราจะกลับไปทำอาชีพเกษตรกรรมแบบไทยๆ บ้างไม่ได้ โดยการใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ใช้หินแร่ภูเขาไฟไทย ใช้สมุนไพรไทย ตามวิถีการทำเกษตรแบบไทยๆ โดยไม่ต้องใช้สินค้านำเข้าพวกสารเคมีกำจัดโรค แมลง ศัตรูพืชจากต่างประเทศ เท่านี้ก็สามารถช่วยอนุรักษ์ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ผืนแผ่นดินของไทยให้อยู่ยั้งยืนยงไปชั่วลูกชั่วหลานแบบบูรณาการสร้าง “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาล “ลุงตู่” ได้อีกทางหนึ่งได้อย่างดีเลยทีเดียวนะขอรับ

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่ วันที่ 15-17 เมษายน 2561) ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ระบุว่า

ในช่วงวันที่ 15-17 เมษายน 2561 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกในวันที่ 15 เมษายน 2561

ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะได้รับผลกระทบในวันถัดไป (วันที่ 16 เมษายน 2561) จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีผลกระทบดังนี้

วันที่ 15 เมษายน 2561
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก : จังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว

วันที่ 16-17 เมษายน 2561:
ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด