ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

(นรข.) นายสุรนาถ ศิริโชติ ผู้อำนวยการสำนักเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย พร้อมด้วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าสำรวจสถานการณ์ระดับน้ำ แล้วพบว่า ระดับน้ำบริเวณหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.30 เมตร ทำให้เรือเล็กและเรือบรรทุกที่กินน้ำไม่ลึกมากนักสามารถแล่นไปมาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังคงจอดอยู่ริมฝั่งและหากจำเป็นต้องเดินเรือยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มาตรวจสถานการณ์แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งก็พบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระดับน้ำลดลงต่ำถึงกว่า 1.90 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ โดยพบว่าไม่ใช่เฉพาะเรือบรรทุกสินค้าเท่านั้น ที่ไม่สามารถแล่นไปมาได้หรือติดหาดทรายเกยตื้น แม้แต่เรือท่องเที่ยวก็ประสบปัญหาเกยหาดทราย และต้องมีการนำเรือไปขนถ่ายผู้โดยสารกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย ดังนั้น ทางจังหวัดจึงได้ประสานไปยังกรมเจ้าท่า ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อแจ้งให้ประเทศจีนได้ทราบสภาพปัญหาและปล่อยน้ำจากเขื่อนที่มณฑลยูนนาน ประเทศจีนลงมา

นายณงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลการประสานงานพบว่า ทางการจีนยอมปล่อยน้ำลงมาในระดับหนึ่ง ทำให้ในปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2-2.30 เมตรแล้ว ซึ่งหากคงระดับนี้เอาไว้ได้ต่อไปก็จะทำให้เรือทั่วไปสามารถเดินเรือได้ ส่วนเรือบรรทุกสินค้าก็ต้องยอมลดระวางบรรทุกลงราว 25-30% ของน้ำหนักที่เคยบรรทุกก็จะสามารถแล่นได้ต่อไป ทั้งนี้ได้ให้ทางเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะทางเจ้าท่าได้ดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากเกิดปัญหาขึ้นอีกก็ให้รีบแจ้งเพื่อจะได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ และประสานงานไปยังประเทศจีนได้ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ในปัจจุบัน ประเทศจีน มีเขื่อนที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดชื่อ เขื่อนจิ่งหง ตั้งอยู่ที่เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ห่างจาก อ.เชียงแสน ขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 400 กิโลเมตร โดยเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีความสูง 118 เมตร มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ถัดจากเขื่อนจิ่งหงขึ้นไปยังมีอีกหลายเขื่อน เช่น เขื่อนมันวาน เขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนเชี่ยววาน และเขื่อนที่อยู่เหนือสุดคือเขื่อนกอนเกาเคียว ซึ่งที่ผ่านมาที่เขื่อนจิ่งหงจะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน ในอัตราประมาณ 1,000-1,500 ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที แต่หากเป็นช่วงฤดูแล้งหรือซ่อมแซมเขื่อนก็จะลดระดับลงกว่านั้นเท่าตัว ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใต้เขื่อน ทั้งนี้จีนมีศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา แต่จะแจ้งข้อมูลให้ทราบเฉพาะเรือสินค้าในเครือข่ายเท่านั้น ไม่มีการแจ้งข้อมูลผ่านหน่วยงานรัฐต่อรัฐแต่อย่างใด

ขณะที่การค้าชายแดนที่ อ.เชียงแสน จำเป็นต้องใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก ในปี 2560 ที่ผ่านมามีการนำเข้าสินค้ามูลค่า 899.90 ล้านบาท ส่งออกมูลค่า 14,431.26 ล้านบาท และปี 2561 จนถึงเดือน ก.พ. นี้ นำสินค้าเข้ามาแล้วมูลค่า 271.50 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 8,565.76 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรม เช่น มันฝรั่ง กระเทียมสด ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำมันดีเซล ยางพารา สุกรมีชีวิต ฯลฯ

การยางแห่งประเทศไทย ยืนยัน ไม่เคยมีแนวคิดการจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา (CESS) แทนคนของ กยท. เป็นเพียงการปรับปรุงระบบจัดเก็บฯ เท่านั้น ซึ่งเดิมมีปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของเงิน Cess พร้อมสั่งชะลอโครงการออกไปก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วน

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การปรับปรุงระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (Cess) เกิดจากการพบเหตุผิดปกติ ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่าอาจเกิดการรั่วไหลของการจัดเก็บเงิน Cess ไม่ว่าจะเป็นการมาขอคืนค่าธรรมเนียมของผู้ส่งออกยาง การประเมินค่าธรรมเนียมจากพื้นที่ปลูกยาง รวมทั้งการลงพื้นที่ติดตามกระบวนการการขนส่งยางพารา ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ กยท. ขาดความพร้อมเรื่องของเครื่องชั่งบริเวณด่านก่อนผ่านพิธีศุลกากร และประสิทธิภาพของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทางคณะกรรมการ กยท. จึงมีมติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ให้ศึกษาแนวทางการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมฯ โดยเปรียบเทียบจากต้นทุน และผลที่ได้ในหลายๆ วิธี เช่น ให้ กยท. ดำเนินการปรับปรุงระบบเอง (เพิ่มบุคลากร วางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มจุดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก) และการว่าจ้างเอกชนมาดำเนินการปรับปรุงระบบทั้งหมด และเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด โดยที่ กยท. เป็นผู้ควบคุมขั้นตอนการดำเนินงานและจ่ายเป็นค่าจ้างให้ตามที่ตกลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบพบว่า หาก กยท. ดำเนินการเอง จะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งจะต้องของบประมาณจากส่วนกลาง และทำให้เกิดความล่าช้าในการแก้ปัญหา

ดร.ธีธัช กล่าวต่อว่า กยท. จึงประกาศหาผู้สนใจให้เสนอวิธีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (Cess) ในเดือนมกราคม ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญเพื่อหาผู้ที่มีความสามารถในการลงทุน ตั้งแต่จัดหาที่ดินบริเวณด่านต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 17 ด่าน ติดตั้งระบบเครื่องชั่งรถบรรทุกดิจิตอล

มีความรู้เรื่องการวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการเชื่อมต่อข้อมูลของการส่งออกยางทั้งระบบของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบทั้งหมด ได้แก่ กยท. กรมวิชาการเกษตร และกรมศุลกากร โดยระบบต้องสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญของการส่งออกยาง และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการตลาดล่วงหน้า ประเมินความเสี่ยงของผู้ส่งออกยางแต่ละราย ซึ่งจะสามารถลดปัญหาการสูญเสียและรั่วไหลในเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมลงได้ ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงเรื่องของการวางระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเจตนาเพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

พร้อมทั้งอุดรอยรั่วของการจัดเก็บฯ ที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่การจ้างเอกชนมาเก็บค่าธรรมเนียมฯ ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ของ กยท. ยังทำหน้าที่รับเงินค่าธรรมเนียมผ่านระบบ NSW เช่นเดิม ในส่วนของอัตราค่าจ้าง อาจแตกต่างกันได้ตามวิธีการที่ผู้รับจ้างแต่ละรายเสนอมาให้พิจารณาคัดเลือก แต่เพดานสูงสุดต้องไม่เกิน ร้อยละ 5 ของค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บได้ ซึ่งจะต้องเป็นธรรมทั้งกับ กยท. และผู้รับจ้าง จึงขอยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของกองทุนพัฒนายางพารา อันเป็นหน้าที่สำคัญตาม พ.ร.บ. กยท. พ.ศ. 2558 กำหนดไว้ ว่าจะต้องดูแลให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ในการนำไปพัฒนาวงการยางพาราไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ดร. ธีธัช สุขสะอาด ผวก.กยท. ได้เปิดชี้แจงที่มา เหตุผล และแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง รวมทั้งตอบข้อซักถามร่วมกับผู้บริหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีการถ่ายทอดสดและมีคลิปการชี้แจงแต่ละประเด็นคำถามใน YouTube และเพื่อยืนยันความโปร่งใส ลดกระแสความไม่เข้าใจ จึงมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการรับข้อเสนอในการว่าจ้างเอกชนไปก่อน เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม และนำแนวทางต่างๆ ไปเสนอต่อคณะกรรมการ กยท. ในการประชุมประจำเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ต่อไป ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย

อียู รุกไทยหนักด้านปัญหาแรงงานประมง จ้างองค์การแรงงานระหว่างประเทศวิจัยโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งในแรงงานเรือประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเล 11 จังหวัด ระบุ 1 ใน 3 ของแรงงานได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และ 1 ใน 4 ค่าจ้างบางส่วน มีการจ่ายล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน

รายงานข่าวจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยว่า จากรายงาน ILO พบว่า ทั่วโลกมีการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่ โดยปี 2559 มีแรงงานเกือบ 25 ล้านคน ถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และ 1 ใน 10 ของแรงงานเหล่านี้ ทำงานในอุตสาหกรรมการประมงและการเกษตร ดังนั้นเพื่อยุติการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมการประมงและอาหารทะเล องค์การ ILO จึงได้ตั้งโครงการวิจัยสิทธิจากเรือสู่ชายฝั่งขึ้นในไทย โดยสหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้ว่าจ้างวิจัย ทั้งนี้มีการออกแบบสอบถามแรงงานดังกล่าวใน 11 จังหวัดชายทะเลของไทย จำนวน 434 คน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปีที่ผ่านมา และจะมีการวิจัยอีกครั้งในปี 2562

ผลการวิจัยที่สำคัญพบว่า กรณีการทำร้ายร่างกายมีน้อยลง การจ้างแรงงานอายุน้อยกว่า 18 ปี มีน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 แรงงานข้ามชาติกว่าร้อยละ 43 มีสัญญาว่าจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพิ่มขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานประมงบางคนได้รับค่าจ้างแต่ละเดือนสูงขึ้น ส่วนการละเมิดแรงงานที่ยังพบอยู่อย่างต่อเนื่อง ประมาณร้อยละ 34 ของแรงงานประมงและอาหารทะเลไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ยังมีความไม่เท่าเทียมเรื่องค่าจ้างระหว่างหญิงชาย โดยร้อยละ 52 ของแรงงานหญิงได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ร้อยละ 24 ในภาคประมงแจ้งว่าถูกนายจ้างยึดค่าจ้าง บางคนถูกยึดค่าจ้างเป็นเวลา 12 เดือน หรือมากกว่านั้น และร้อยละ 34 แจ้งว่าถูกยึดเอกสาร ILO จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลไทย องค์การนายจ้าง สหภาพแรงงาน ภาคประชาสังคมและผู้ซื้ออาหารทะเลทั่วโลกร่วมมือกันผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายไทยให้มีประสิทธิภาพและให้เป็นอุตสาหกรรมที่นำไปสู่งานที่ดีมีคุณค่า

“จากการสำรวจ ในปี 2560 มีแรงงานที่ระบุว่ามีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรในจำนวนที่มากขึ้นกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน และแทบไม่พบแรงงานอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในอุตสาหกรรมการประมง แต่การละเมิดสิทธิบางอย่างก็ยังคงมีอยู่ เช่น 1 ใน 3 ของแรงงานภาคประมงหรืออาหารทะเลไทยได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1 ใน 4 ของแรงงานประมงระบุว่า ค่าจ้างบางส่วนของตนมีการจ่ายล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากการไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานเป็นตัวชี้วัดการบังคับใช้แรงงานอันหนึ่งของ ILO” นายแกรห์ม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สปป.ลาว กล่าว

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ILO เคยสำรวจค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนก่อนหักค่าใช้จ่ายของแรงงานประมงในปี 2556 มีรายได้ 6,483 บาท ในการสำรวจ ปี 2560 มีค่าจ้าง 9,980 บาท อย่างไรก็ตาม มีการหักค่าจ้างแรงงานประมงสูงขึ้น จากร้อยละ 42 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 48 ในปี 2560 และค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนหลังหักของแรงงานประมงในการสำรวจนี้คือ 7,730 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย

กรมการค้าต่างประเทศ เตรียมชง นบข. อนุมัติ ระบายข้าวค้างสต๊อก 2 ล้านตัน ที่ไม่ใช่คนบริโภค 29 มี.ค. นี้ ยันไม่กระทบต่อตลาด พร้อมเผยการส่งออกข้าว 2 เดือน มีปริมาณ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.17% มูลค่า 999 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 22.13% มั่นใจปีนี้ส่งออกได้ตามเป้า 9.5 ล้านตันแน่

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทางการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่ยังคงเหลืออีกประมาณ 2.04 ล้านตัน ว่ากรมจะเสนอขออนุมัติแนวทางการระบายจากคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในวันที่ 29 มี.ค. 2561 จากนั้นจะมาทำแผนระบายต่อไป เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วิธีการประมูลทั้งหมด โดยจะเริ่มระบายเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2561 หากระบายไม่หมด ก็จะระบายอีกครั้งในเดือน ก.ค.-ก.ย. 2561

ทั้งนี้การระบายข้าวดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด เพราะข้าวสารในสต๊อก 2.04 ล้านตัน เป็นข้าวสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม และที่ไม่ใช่สำหรับคนบริโภค ปริมาณมากถึง 2 ล้านตัน ขณะที่ข้าวกลุ่มที่ 1 คนบริโภคได้ประมาณ 40,000 ตัน ซึ่งเหลือจากการขายให้กับกรมราชทัณฑ์ และข้าวที่เอกชนที่ชนะประมูลไม่มาทำสัญญารับมอบ

นายอดุลย์ กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. ถึงต้นเดือนมี.ค. 2561 มีปริมาณ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.17% มูลค่า 999 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.13% ซึ่งถือเป็นทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสั่งซื้อข้าวไทยที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น และยังมีการส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลจีนภายใต้สัญญาการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในส่วนของแสนตันที่ 5 ที่ได้มีการตกลงซื้อขายกันได้แล้ว รวมทั้งมีคำสั่งซื้อข้าวจากการเปิดประมูลนำเข้าข้าวของรัฐบาลต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ที่จะมีการเปิดประมูลนำเข้าข้าวแบบรัฐต่อเอกชน (จีทูพี) ปริมาณ 2.5 แสนตัน ภายในเดือน มี.ค. นี้

“ปีนี้การส่งออกข้าวจะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 9.5 ล้านตัน เพราะขณะนี้ไทยไม่มีแรงกดดันจากสต๊อกข้าว ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดข้าว ทำให้การผลักดันการส่งออกข้าวทำได้ตามปกติ ราคามีเสถียรภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยดีขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่ง” นายอดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ กรมมีแผนที่จะเดินหน้าขยายตลาดส่งออกข้าวไทยเชิงรุก ทั้งการจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเดินทางไปขยายตลาดข้าว การกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้า เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สเปน จีน สหรัฐฯ เม็กซิโก สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และแอฟริกาใต้ และจะให้การต้อนรับผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง อิรัก อิหร่าน ที่จะเดินทางมาไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ข้าวและข้าวนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นการบริโภคข้าวไทย และผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยด้วย

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงที่แห้งในระยะนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าระหว่างอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กับเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีนเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าและเดินเรือท่องเที่ยวระหว่างอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยจากการสำรวจระหว่างเส้นทาง พบว่า ระดับน้ำเฉลี่ยอยู่เพียงประมาณ 2-3 เมตร เท่านั้น ทำให้หลายจุดนั้นเห็นเนินทรายและโขดหินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะช่วงอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ที่มีเกาะแก่งเป็นจำนวนมาก ทำให้การเดินเรือแม้จะยังสามารถขับผ่านได้ แต่คนขับต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ส่วนหลายพื้นที่ในเขต สปป.ลาว ก็ได้เริ่มมีการปรับปรุงริมตลิ่งและเริ่มการก่อสร้างสะพานข้ามโขงใหม่ ในช่วงแขวงบ่อแก้ว เชื่อมบ้านก้อนตื่น และบ้านหาดแก้ว เมื่อสร้างเสร็จจะทำให้ชาวบ่อแก้ว ไปนครเวียงจันทน์ ผ่านไชยะบูรี ใกล้ขึ้นมาอีก ตลอดจนเป็นการขนส่งสินค้า และไปมาหาสู่กันระหว่างแขวงบ่อแก้ว กับจังหวัดพะเยา โดยผ่านบ้านปากคอบ และบ้านฮวก

ขณะที่เส้นทางน้ำโขงระหว่างไทยจีนแม้จะมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นไม่มาก อยู่ประมาณ 2 เมตร แต่ที่มองป่าแหลวอยู่ที่เพียงระดับ 1 เมตรกว่า ทำให้เรือขนาดใหญ่ยังไม่สามารถผ่านได้ ล่าสุดผู้ประกอบการเดินเรือไทยต้องไปรับนักท่องเที่ยวจากเรือ เยิ่นต๋า 7 ที่เดินทางมาจากประเทศจีนจำนวน 64 คน ที่ผ่านเส้นทางดังกล่าวเพื่อให้มาเที่ยวยังประเทศไทยได้ ส่วนเรือสินค้าหลายลำยังต้องจอดรอระดับน้ำริมฝั่งแม่น้ำโขง

โดย น.ส. ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการจังหวัดเชียงราย และผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง กล่าวว่า ปีนี้น้ำโขงแห้งเร็วกว่าทุกปี ได้ส่งผลกระทบทั้งการเดินเรือสินค้าและเรือท่องเที่ยว มีเรือจำนวนมากติดสันดอนทราย หลายลำต้องจอดนิ่งริมฝั่งเพื่อรอระดับน้ำจากเขื่อนจิ่งหงษ์ของจีนปล่อยมาเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเดินเรือต้องปรับทั้งการลดปริมาณการขนส่งและเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานภายในวันสองวันนี้ว่าทางการจีนจะปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงษ์เพิ่มขึ้น เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าสถานการณ์น้ำโขงจะทุเลาขึ้น

ที่ตลาดเกษตรกร สี่แยกเนินเอสโซ่ อ.เมือง จ.จันทบุรี เกษตรจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ได้ทำการเปิดตลาดให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดใน จ.จันทบุรี มาเปิดท้ายขายสับปะรดสด ให้แก่ผู้บริโภค ตามโครงการ “ชาวจันท์ช่วยเหลือชาวสวนสับปะรดจันท์” โดยเป็นสายพันธ์ุที่กินสด พันธ์ุตราดสีทอง และแก้วจันทบุรี มีการนำมาจำหน่ายตั้งแต่ราคาลูกละ 3 บาท ไปจนถึงลูกละ 20 บาท แล้วแต่ขนาด

นายเทวิน ร่วมญาติ อายุ 51 ปี เกษตรกรชาว ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตั้งแต่ประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดมานานกว่า 10 ปี ส่วนสับปะรดกินสด ในปีนี้มีราคาตกต่ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยสับปะรดไซซ์ใหญ่ ราคาเหลือเพียงลูกละ 7-10 บาท ไซซ์กลาง ราคาตกลงเหลือเพียงลูกละ 4-5 บาท ส่วนไซซ์เล็ก เหลือเพียงลูกละ 1 บาท จากที่เคยขายอยู่ที่ ลูกละ 3-5 บาท ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ต้องหาตลาดเช่าแผง นำผลผลิตมาเทขายแบบยอมขาดทุน เพื่อหาเงินไปต่อยอดทำไร่สับปะรดในปีต่อไป

ด้าน นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกสับปะรด ประมาณ 2,300 ไร่ เป็นสับปะรดโรงงาน 1,200 ไร่ และสับปะรดกินสด ประมาณ 1,100 ไร่ ผลผลิตประมาณ 8,000 ตัน ส่วนใหญ่เป็นสับปะรดกินสด ซึ่งปีนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ทั้งนี้ในส่วนของสับปะรดแปรรูปส่งโรงงาน เกษตรกรยังสามารถส่งได้ตามปริมาณการผลิตที่ทำสัญญาไว้ล่วงหน้ากับกลุ่มผู้รับซื้อ
รายงานข่าวแจ้งว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น จ.จันทบุรี ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ในรูปแบบกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต มาวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง โดยใช้พื้นที่บริเวณตลาดเกษตรกรสี่แยกเนินเอสโซ่ ทางเข้าสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.จันทบุรี พร้อมทั้งขอความร่วมมือชาว จ.จันทบุรี และประชาชนทั่วไปช่วยอุดหนุนผลผลิตสับปะรดสดของเกษตรกรได้ทุกวัน จนกว่าผลผลิตจะหมดจากท้องตลาด

นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ (Functional Drink) เช่น เครื่องดื่มเพื่อเสริมสุขภาพและความงามกลับเติบโตดีต่อเนื่องในช่วงหลายปี

ที่ผ่านมา ผลจากพฤติกรรมผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสวนทางกับทิศทางตลาดเครื่องดื่มโดยรวม อีกทั้งพบสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของปี จึงประเมินว่าตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนอลดริงก์ปีนี้จะเติบโตประมาณ 2%

“การขึ้นภาษีน้ำตาลในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะกระทบกับการขึ้นราคาสินค้าในตลาดบางส่วน แต่ไม่กระทบกับบริษัทมากนัก เนื่องจากยอดขายสินค้าในประเทศ 35% เป็นเครื่องดื่มบิวติ ดริงก์ ซึ่งปรับลดปริมาณน้ำตาลไปก่อนหน้าที่จะมีการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแล้ว เนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ และการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม” นางสาวปิยจิต กล่าว

นางสาวปิยจิต กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานปีนี้ เตรียมออกสินค้าใหม่ประมาณ 10 รายการ โดยไตรมาส 2 นี้จะออกสินค้ากลุ่มอาหารทานเล่นเพื่อสุขภาพ (เฮลท์ตี้ สแน็ค) ในรูปแบบเจลลี่ วางจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่นก่อน ในไตรมาส 3 จะออกสินค้าแบรนด์ เพรียวคอฟฟี่ เน้นขยายฐานลูกค้าต่างจังหวัด และมีแผนเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มบริษัท ออลโคโค เป็น 51% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดภายในไตรมาส 4 ปีนี้ จากเดิมถือหุ้นอยู่ 40% เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวน้ำหอมที่ได้รับความนิยมสูง ส่วนผลดำเนินงานปีนี้คาดว่ายอดขายในประเทศจะเติบโต 5% ต่างประเทศเติบโต 10-15%

คต.กางแผนปั๊มยอดค้าชายแดน หวังปีนี้โต 2 หลัก 15% ทะลุ 1.5 ล้านล้าน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เน้นลุยเจาะเมืองรองตลาดซีแอลเอ็มวี พร้อมเปิดตลาดใหม่ มาเลย์-อินโดฯ ส่งผู้ประกอบการหน้าใหม่ โครงการ YEN-D ลุยตะเข็บชายแดน-เพื่อนบ้าน ต่อยอดค้าขาย

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2561 กรมตั้งเป้าผลักดันตัวเลขการค้าการลงทุนชายแดน และผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและในอาเซียน ขยายตัว 15% หรือมีมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปี 2560 มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยเดือนมกราคม 2561 มีมูลค่ารวม 1.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.46% จากเดือนมกราคม 2560 ที่มีมูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท

“เป็นตัวเลขที่เก็บเฉพาะการค้าชายแดนและผ่านแดนถือว่ามีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอัตราขยายตัว 2 หลักเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบหลายปี” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวถึงแผนงานในปี 2561 เพื่อบรรลุเป้าดังกล่าวว่า จะมุ่งบุกเจาะตลาดเมืองรองเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบุกเจาะตลาดใหม่ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย พร้อมกับขยายตลาดการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนามเป็นพิเศษ อีกทั้งผลักดันการตั้งจุดกระจายสินค้า การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทยกับ ซีแอลเอ็มวี จัดคณะผู้แทนเยือนเมืองรอง และจัดมหกรรมการค้าชายแดน 4 ภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการค้าขายและการบริโภคสินค้าไทย เริ่มที่จังหวัดสระแก้วในเดือนมีนาคม ต่อด้วย นครพนม เชียงราย และสงขลา