ผมเป็นคนที่ชอบการประชุมอบรม พอดีประมงเขาชวนไป

ก็เลยไปกับเขาด้วย ผมก็จะได้ความรู้เรื่องลักษณะนิสัยของปลาแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เราก็เลยนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นการเลี้ยงปลาแบบรวม เอาทั้งปลาสวาย ปลานิล และปลาจะละเม็ดน้ำจืด มาเลี้ยงรวมกัน ส่วนปลาดุกก็เลี้ยงแยกออกไปต่างหาก เพื่อใช้สำหรับจับจำหน่ายเอาเงินมาหมุนเวียนในการเลี้ยงปลาอื่น” คุณวสันต์ กล่าว

เลี้ยงปลาแบบบ่อรวม มีวิธีการจัดการ ดังนี้
คุณวสันต์ บอกว่า บ่อที่ใช้สำหรับเลี้ยงมีขนาดประมาณ 6 ไร่ หรือถ้าใครมีพื้นที่เท่าไหร่ก็เลี้ยงเท่านั้น ตามความสะดวก ขุดบ่อให้มีความลึกที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 1.50 เมตร จนถึง 2 เมตร ตากบ่อประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นนำปูนขาวมาโรยให้ทั่วบ่อ เติมน้ำใส่ลงไปภายในบ่อให้เต็ม โดยใช้น้ำเขียวจากบ่อที่เลี้ยงปลาดุกมาผสมด้วย เพื่อสร้างน้ำให้เขียว

“พอเราเตรียมบ่อเสร็จเรียบร้อย ช่วงแรกผมก็จะเอาปลาสวายมาปล่อย 12,000 ตัว ปลานิล 2,000 ตัว แล้วก็ปลาจะละเม็ด ประมาณ 5,000 ตัว การปล่อยนี่จะปล่อยปลาสวายกับปลานิลก่อน พอเลี้ยง 2 ชนิดนี้ได้สัก 1-2 เดือน ก็จะปล่อยปลาจะละเม็ดตามทีหลัง ก็เลี้ยงรวมกันแบบนี้ไปได้เลย” คุณวสันต์ อธิบายขั้นตอนการปล่อยปลา

การที่นำปลาจะละเม็ดมาปล่อยเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆ นั้น คุณวสันต์ ให้เหตุผลว่า ปลาจะละเม็ดมีลักษณะนิสัยที่ชอบกินอาหารตามพื้นดินที่ก้นบ่อ จะช่วยทำให้ก้นบ่อมีความสะอาด น้ำไม่เน่าเสียง่าย

อาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาแบบบ่อรวม คุณวสันต์ บอกว่า ไม่ต้องกังวลในเรื่องนี้ เพราะการเลี้ยงด้วยวิธีนี้ไม่เหมือนกับการเลี้ยงปลาแบบชนิดเดียว ซึ่งสามารถหาเศษเนื้อหมู เศษผัก ที่ติดต่อตามตลาดมาให้กินได้เลย

การให้อาหารไม่กำหนดตายตัวว่าต้องให้กี่มื้อต่อวัน แต่จะดูตามปริมาณของอาหารที่หามาได้ การใช้เศษอาหารให้ปลา คุณวสันต์ บอกว่า เป็นการประหยัดต้นทุนที่คุ้มค่า เพราะมีราคาต่ำกว่าอาหารเม็ดสำเร็จรูปทั่วไป

“เรื่องอาหารที่เลี้ยงนี่เราไม่ต้องไปเครียดกับมัน คือถ้าหามาได้มาก เราก็ให้กินมาก ถ้าหาไม่ได้ก็ไม่ต้องให้กิน ถ้าเป็นพวกเศษไส้หมูให้กินได้เลย แต่ถ้าเป็นพวกเศษที่มีหนังติดกับกระดูก ก็เอามาต้มเสียก่อน มันไม่เหมือนกับการเลี้ยงปลาแบบเดี่ยวๆ อย่างสมมุติปลานิลแบบล้วนนี่ ถ้าไม่ได้กินอาหารเต็มที่ ปลามันก็จะผอม มันก็จะเกิดลูก ผอมหัวโต ราคาจำหน่ายก็จะได้ไม่ดี ราคาตกลงมาอีกประมาณนี้” คุณวสันต์ กล่าว

ด้านการดูแล คุณวสันต์ บอกว่า จะมีการเติมน้ำลงบ่อตามความเหมาะสม เมื่อเห็นว่าน้ำภายในบ่อเริ่มมีจำนวนลดลง ส่วนเรื่องการเกิดโรคนั้นยังไม่ค่อยพบมากเท่าที่ควร ซึ่งในขณะที่เลี้ยงก็อาจมีการตายของปลาเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมชาติ

“การดูปลาว่าปลาปกติดีไหม คือเราจะสังเกตได้จากตอนเช้า ถ้าเรามาให้อาหารแล้วปลาลอยหัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ แบบนี้ถือว่าปกติดี แต่ทางกลับกันถ้ามาแล้วในบ่อนี่เงียบกริบ ไม่มีการลอยหัวขึ้นมาเลย เตรียมได้เลยว่าจะต้องเกิดปัญหาขึ้น อาจจะต้องเปลี่ยนน้ำ เพราะเราสังเกตได้แล้วว่าปลามันเริ่มผิดปกติ” คุณวสันต์ กล่าวถึงการสังเกตอาการของปลาเบื้องต้น

คุณวสันต์ บอกว่า ปลาทั้ง 3 ชนิด ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 10 เดือนขึ้นไป จึงจะจับจำหน่าย ไม่ต้องคำนึงเรื่องเวลาเรื่องการโต คือถึงแม้ว่าปลานิลจะใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่าปลาสวาย ก็จะจับปลานิลจำหน่ายพร้อมกัน

ปลาที่เลี้ยง จำหน่ายได้ทั้งหมด ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาด
คุณวสันต์ บอกว่า ปลาทั้งหมดภายในบ่อส่งจำหน่ายที่แพปลาที่ไปติดต่อไว้ โดยเช็กราคาเสียก่อน ถ้าราคาในช่วงนั้นยังไม่เป็นที่พอใจ ก็อาจจะเลี้ยงให้เกินเวลาต่อไปอีกสักระยะ

“พอปลาเราใกล้จับได้ เราก็เริ่มโทร.เช็กราคาเป็นระยะ ถ้าเป็นช่วงที่ราคาดีเราก็จับได้เลย อันนี้การทำตลาดของผมนะ เพราะว่าปลายิ่งใหญ่ก็ยิ่งได้ราคา อีกอย่างผมมีบ่อปลาดุกที่เลี้ยงไว้ต่างหาก เอาเงินจากตรงนั้นมาใช้หมุนเวียนได้ พอเราจำหน่ายปลา 3 ชนิดนี้ เราก็ได้เงินก้อนเป็นเงินเก็บได้ กำไรมันคือตรงนี้แหละ ได้เต็มที่” คุณวสันต์ กล่าว

ปลานิลที่เลี้ยงแบบบ่อรวม อายุประมาณ 10 เดือน จะมีน้ำหนักต่อตัว ประมาณ 500-600 กรัม จำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท ส่วนปลาสวายและปลาจะละเม็ดจะมีน้ำหนัก ประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-28 บาท

คุณวสันต์ บอกว่า เรื่องการตลาดที่ส่งจำหน่ายไม่มีทางตันอย่างแน่นอน เพราะปลาที่เลี้ยงบางส่วนก็จะส่งไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นปลา ทำให้ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะในบ่อของเขามีให้เลือกถึง 3 ชนิด

“ตลาดช่วงแรกๆ ผมก็เข้าไปสอบถามที่แพปลาใกล้บ้าน ว่าผมเลี้ยงปลาชนิดนี้จะรับซื้อไหม เขาก็อธิบายว่าซื้อ แถมให้ความรู้เราด้วยว่าปลาที่จำหน่ายไป จะไปแปรรูปแบบไหนบ้าง ซึ่งราคาอาจถูกกว่าปลานิล ผมก็ทำใจได้ เพราะว่าคิดดูสวายกับจะละเม็ดนี่ตัวใหญ่กว่าปลานิล เวลาที่เราเลี้ยงอยากจะให้ได้น้ำหนักมากๆ ก็นานหน่อย แต่ไม่ต้องใช้ลูกพันธุ์เยอะ สมมุติอย่างปลานิลจะให้มีน้ำหนักเยอะ ปลาก็ต้องมีมาก เท่ากับว่าเราก็ต้องซื้อพันธุ์ปลามาปล่อยเยอะ แถมต้นทุนเราก็สูงขึ้นไปอีก มันทำให้จำหน่ายขาดทุนได้นะ ซึ่งผมเองลองทำมาบ้างแล้ว ถ้าเทียบกันจริงๆ ผมขอเลี้ยงแบบนี้ดีกว่าครับ” คุณวสันต์ กล่าวถึงข้อดีของการเลี้ยงปลาแบบรวม

การเป็นผู้ใฝ่รู้ นำมาสู่ความสำเร็จ
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลาเป็นงานที่สร้างรายได้ เพื่อเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักนั้น คุณวสันต์ ให้คำแนะนำว่า

“การเลี้ยงปลาจะประสบผลสำเร็จต้องหาความรู้ คือเราต้องเรียนรู้สอบถามกับประมงแต่ละพื้นที่ ว่าเราต้องการเลี้ยงปลาอะไร เขาก็จะแนะนำมาตามหลักวิชาการ ส่วนประสบการณ์เราก็ไปสอบถามกับคนที่เขาเลี้ยงอยู่แล้ว เอาประสบการณ์ของเขามาต่อยอดการเลี้ยงของเราเอง คำว่า ความสำเร็จนี่อยู่ไม่ไกลแน่นอน ส่วนพอมีปลาพร้อมจำหน่ายแล้ว กลัวอีกว่าจะจำหน่ายที่ไหนอะไรยังไง จะบอกว่าไม่ต้องกลัว ถึงเวลามันจะมีทางไปเอง เพราะว่าปลานี่ใครๆ ก็กินกันได้ทั่วไป คนเข้าถึงได้ยังไงคนก็กิน ตลาดจึงไม่มีทางตัน”

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณวสันต์ อินคล้าย หมายเลขโทรศัพท์ (087) 156-1137 เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเรื่อง “การขอรับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม” แก่บริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม โดยมี นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง เป็นประธานในที่ประชุม ณ ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ

รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ตัวแทนบริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มถึงกรณีการขอรับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ซึ่งทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานให้กับบริษัทผู้ผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์และช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการนำไปใช้ในงานก่อสร้างถนน ซึ่งหากบริษัทใดที่สามารถผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มได้ถูกต้องตามมาตรฐานของหลักวิศวกรรมที่คู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานท้องถิ่นกำหนดไว้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการฯ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้เสียสิทธิ์ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุฯ ที่กรมบัญชีกลางประกาศไว้

นอกจากนี้ ทาง กยท. ได้ให้คำแนะนำทางวิชาการเกี่ยวกับการผลิตและคุณสมบัติน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติให้แก่บริษัท เพื่อใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานในการใช้งานต่อไป รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

“อย.-ป.ป.ส.” พอใจโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ “อภ.” เล็งเก็บผลผลิตอีก 5 ก.ค. ส่งผลิตน้ำมันหยดใต้ลิ้น 2,500 ขวด จ่ายสิ้นเดือนนี้
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำโดย ภญ.กรพินธุ์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นำโดย นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามโครงการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมี ภญ. นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า วันนี้คณะเจ้าหน้าที่ จาก อย. และ ปปส. ได้เดินทางเข้ามาตรวจเยี่ยมเรื่องการจัดระบบการเพาะปลูกและระบบความปลอดภัยในโครงการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1 ตามที่องค์การฯ ได้ขออนุญาตไว้ ซึ่งการมาของทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ รวมทั้งมีการตรวจสอบสถานที่ว่า องค์การฯ ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

สำหรับมาตรการการกำกับดูแลการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์นั้น องค์การฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโดยมีหน้าที่ตรวจรับและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ เป็นตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติความปลอดภัยที่ดี GSP (Good Security Practice) ตลอดทั้งกระบวนการอย่างเคร่งครัด อาทิ การจัดทำบัญชีรายละเอียดแสดงสถานะการเพาะปลูกและผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ การเก็บรักษากุญแจสถานที่เก็บเมล็ดพันธุ์และผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ การจัดทำรายงานประจำเดือนและประจำปี ส่งให้ อย. การเก็บรักษา การจำหน่าย และการทำลายหรือเพื่อการอื่นใดในโครงการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม หรือผู้แทนก่อน แล้วแต่กรณี

ด้านความปลอดภัยได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรับผิดชอบตรวจตราพื้นที่รอบอาคารตลอด 24 ชั่วโมง และดูแลการเข้า-ออก ของเจ้าหน้าที่บริหาร เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกที่ต้องการเข้าพื้นที่เพาะปลูกกัญชา ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน กรณีมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องปฏิบัติตามแผนกรณีฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด

ภญ. นันทกาญจน์ กล่าว สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามโครงการนั้น ขณะนี้องค์การฯ ได้มีการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาที่มีเติบโตและมีสารสำคัญสมบูรณ์เต็มที่ไปแล้ว 2 รอบ และมีแผนจะเก็บเกี่ยวอีกในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ และได้นำกัญชาที่เก็บมาแล้วไปผึ่งให้แห้งและดำเนินการตามมาตรฐานขององค์การฯ เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะได้ผลผลิต ประมาณ 2,500 ขวด กระจายสู่ระบบของโรงพยาบาล ผ่านกรมการแพทย์ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในโครงการวิจัยต่างๆ รวมถึงใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาต่อไป

และจากนี้ก็จะดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการในระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยจะขยายพื้นที่ปลูกเป็นแบบปิด (Indoor) และแบบกรีนเฮ้าส์ (Greenhouse) พร้อมดำเนินการปรับปรุงสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ลูกผสม ให้ได้สารสำคัญที่เหมาะสม และสามารถปลูกในสภาพอากาศของไทยได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตเป็น 150,000 – 200,000 ขวด ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการปลูกได้ในต้นปี 2563

ด้าน ภญ. กรพินธุ์ กล่าวว่า จากการเข้ามาตรวจเยี่ยมในวันนี้ก็เพื่อที่จะเข้ามาตรวจสอบสถานที่ที่ขอรับใบอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามที่องค์การฯ ได้มีการขออนุญาตไว้หรือไม่ ซึ่งพบว่าองค์การฯ มีความพร้อม และดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดไว้ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เช่น มีระบบกล้องวงจรปิด ตรวจสอบการเข้าออก 24 ชั่วโมง มีการจำกัดบุคลคลเข้าสถานที่ มีระบบการสแกนนิ้วมือด้วยเครื่อง finger scan โดยตั้งรหัสผ่านให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีการติดป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้า-ออก ก่อนได้รับอนุญาต

มีการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก เพื่อป้องกันการลักลอบนำกัญชาออกนอกระบบ รวมถึงได้มีการจัดทำระบบออนไลน์กล้องวงจรปิดพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ตลอดเวลา และในกระบวนการปลูกดังกล่าวองค์การฯ มีระบบการควบคุมที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งองค์การฯ เป็นต้นแบบของการดำเนินการและปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

นายเพิ่มพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีภารกิจควบคุมไม่ให้มีการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด และจากการมาตรวจเยี่ยมพื้นที่การปลูกกัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯในวันนี้พบว่า องค์การฯ ได้มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยเป็นอย่างดี มีการพัฒนา และมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก โดยนำแนวทางการปลูกมาจากการศึกษาที่ต่างประเทศ รวมถึงยึดหลักวิชาการที่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนดมาใช้กับโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามที่ ปปส. ได้กำหนดไว้ และองค์การฯเป็นต้นแบบที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้

อีกทั้งองค์การฯ เป็นส่วนสำคัญในการวางแผนทั้งเรื่องการปลูก การวิจัย ตามมาตรฐานเมดิคัลเกรด เพื่อให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปแนวทางทางเดียวกันและสอดคล้องกัน และในโอกาสต่อไปทาง ปปส. จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำทุกอย่างให้เป็นระบบ และร่วมกันสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการที่จะดำเนินการให้ถูกต้องทั้งในเรื่องของการปลูกและการนำไปใช้ต่อไป

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เปิดเผยผลตรวจสารพิษในผักผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐาน ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการตรวจสอบเฝ้าระวังสถานการณ์สารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงที่ด่านอาหารและยา ซึ่งผลจากการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ จำนวน 511 ตัวอย่าง ล่าสุด วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ได้รับผลวิเคราะห์ 97 ตัวอย่าง จาก 15 จังหวัด พบผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 86.6 จำนวน 84 ตัวอย่าง และตกมาตรฐาน ร้อยละ 13.4 จำนวน 13 ตัวอย่าง

ซึ่งผักที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเป็นชนิดเดียวกับที่ไทยแพนตรวจพบ ได้แก่ ผักกวางตุ้ง คะน้า แตงกวา พริกหวาน โหระพา ถั่วลันเตาในส่วนของผลไม้ ได้แก่ ส้ม แก้วมังกร ทั้งนี้ อย. จะตรวจติดตามผลผู้ค้าในรายที่ไทยแพนตรวจพบการตกมาตรฐาน และจะดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบว่ามีการกระทำความผิดจริง

นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักและผลไม้สดเพื่อให้สถานที่ผลิตมีมาตรฐานการผลิตที่ดี และกำหนดให้มีการแสดงฉลากบ่งชี้เพื่อให้เกิดระบบการทวนสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิตได้

โดยในช่วง ปี 2560-2561 อย. พบการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายผักที่มีปริมาณสารพิษตกค้าง และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ รายย่อย ซึ่งพบความผิดฐานจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท พร้อมประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ติดตามตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตของผู้ส่งสินค้าต่อไป

ด้าน นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า อย. จะประสานความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความรู้แก่เกษตรกรในการปลูกผักและผลไม้ที่ปลอดภัยโดยงดใช้สารเคมีหรือใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย และจะร่วมมือกับไทยแพนในการเฝ้าระวังผักและผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดต่อไป

ในส่วนของประชาชนผู้บริโภค ขอให้ล้างผักและผลไม้เพื่อลดความเสี่ยงการตกค้างของสารเคมีก่อนการบริโภค เช่น ล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที หรือล้างด้วยผงฟู หรือเบคกิ้งโซดา ½ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด หรือล้างด้วยน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน หลายพื้นที่เริ่มทำนาเพาะปลูกข้าว เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังหลังได้รับรายงานการระบาดหนอนกระทู้กัดกินต้นข้าวในระยะกล้า พร้อมแนะวิธีป้องกันกำจัดที่เหมาะสม

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับแจ้งรายงานการระบาดของหนอนกระทู้กล้าในหลายพื้นที่ ประกอบกับระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกษตรกรในทุกภาคของประเทศไทยเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวแล้ว และข้าวส่วนใหญ่อยู่ในระยะกล้า ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะต่อการเข้าทำลายของหนอนกระทู้กล้า ซึ่งอาจทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหายและผลผลิตลดลงได้

ลักษณะอาการและการเข้าทำลายตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้าสีเทาปนน้ำตาล ปีกคู่หนังสีขาว บินเก่งสามารถอพยพได้ไกลเป็นระยะทางหลายสิบหรือหลายร้อยกิโลเมตร วางไข่เป็นกลุ่มบริเวณยอดอ่อนของข้าว ตัวหนอนมีสีเทาถึงเขียวแกมดำ ด้านหลังมีลายตามความยาวของลำตัวจากหัวจรดท้าย แต่ละปล้องมีจุดสีดำ ตัวหนอนฟักจากไข่ช่วงเช้าตรู่ และรวมกลุ่มกันกัดกินส่วนปลายใบข้าว กลางวันจะหลบอยู่ในดินใต้เศษใบพืชในพื้นที่นาที่แห้ง บางส่วนอยู่บนต้นข้าวส่วนที่อยู่เหนือน้ำในนาที่ลุ่มชอบเข้าดักแด้ในดินหรือบนต้นหญ้าตามขอบแปลง ตัวหนอนโตเต็มที่ยาวประมาณ 3.5 – 4 มิลลิเมตร กว้าง 5 – 6 มิลลิเมตร วงจรชีวิตจะแตกต่างกันตามพื้นที่ระบาด

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวทุกชนิด กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดเร่งสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดของหนอนกระทู้กล้าและศัตรูข้าวชนิดอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังและหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการให้คำแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องและเหมาะสมให้เกษตรกรทราบ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยรายงานสถานการณ์ให้กรมฯ ทราบทุกสัปดาห์

สำหรับการป้องกันกำจัดให้เกษตรกรสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง กำจัดวัชพืชตามคันนาหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อทำลายแหล่งอาศัยของหนอนกระทู้กล้า หากเริ่มพบการระบาดให้ระบายน้ำเข้าแปลงนาในระยะกล้าจนท่วมยอดของต้นกล้า แล้วเก็บตัวหนอนไปทำลาย นำต้นหญ้าหรือฟางข้าวมากองไว้บนคันนา เพื่อล่อให้ตัวหนอนเข้าไปอาศัยในเวลากลางวัน จากนั้นเวลาบ่ายให้เก็บเอาตัวหนอนไปทำลาย การใช้เหยื่อพิษที่มีส่วนผสมของสารหนูเขียว 0.5 ลิตร รำข้าว 100 ลิตร น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลปีบ 20 ลิตร และน้ำผสมกันพอชื้นๆ แล้วหว่านลงบนคันนา เมื่อหนอนกินเข้าไปแล้วเกิดเป็นพิษตาย หรือใช้สารเคมีกำจัดแมลง เช่น มาลาไทออน อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเฟนิโตรไทออน อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบใบข้าวถูกทำลายมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์

กรมวิชาการเกษตร สบช่องตลาดสมุนไทยผงาด หนุนเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 18 ชนิด จำนวน 818 ราย พื้นที่ 2.8 พันไร่ พร้อมเตรียมให้การรับรองระบบอินทรีย์อีก 21 ชนิด พร้อมเร่งขยายพื้นที่แปลงใหญ่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ มุ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานสมุนไพรไทย รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมูลค่าปีนับแสนล้าน

ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดพืชสมุนไพรไทยทั้งในและตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกปีละนับแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มเสริมอาหารมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งผลักดันให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรภายใต้ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีแปลงปลูกสมุนไพรเข้าระบบรับรองแปลง GAP แล้วจำนวน 18 ชนิด ได้แก่ กระชาย กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทลายโจร ฟักข้าว เจียวกู่หลาน เพกา เพชรสังฆาต มะดัน หญ้าปักกิ่ง หญ้าหวาน จำนวน 818 ราย เป็นพื้นที่ 2,842.46 ไร่

โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นสมุนไพรประเภท Product champion คือ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน จำนวน 134 ราย คิดเป็นพื้นที่ 165.23 ไร่ และเตรียมเข้าระบบรับรองแปลงอินทรีย์ มีพืช 21 ชนิด ได้แก่ กระชาย กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านน้ำ ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทลายโจร ฟักข้าว หญ้าปักกิ่ง ย่านาง หญ้าหวาน เจตมูลเพลิง เจียวกู่หลาน เพกา เพชรสังฆาต กะทือ จำนวน 458 ราย พื้นที่ 280.1 ไร่ โดยมี Product champion บัวบก ไพล กระชายดำ ขมิ้นชัน รวม 47 ราย พื้นที่ 39.88 ไร่

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร ยังได้สนับสนุนให้เกษตรกร 500 ราย ปลูกพืชสมุนไพรภายใต้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 8 แปลง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย 1.แปลงใหญ่ขมิ้นชัน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา 2.แปลงใหญ่สมุนไพร อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3.แปลงใหญ่สมุนไพร อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 4.แปลงใหญ่สมุนไพร อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี 5. แปลงใหญ่ดีปลี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี 6. แปลงใหญ่สมุนไพรทั่วไป อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 7.แปลงใหญ่สมุนไพร อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม 8.แปลงใหญ่สมุนไพรทับทิมสยาม 05 อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย