ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์จะให้ผลผลิตเฉลี่ยไม่น้อยกว่ากิโล

ราคาผลผลิตที่ขายได้จะอยู่ที่ 10-16 บาทต่อกิโลกรัมในฤดูกาล แต่ถ้าเป็นมะละกอนอกฤดูกาลก็จะได้ราคาสูง 30-50 บาท การเก็บเกี่ยวก็สังเกตดูว่าจะมีแต้มสีเหลืองจางๆ 2-3 แต้ม ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว สภาพดินฟ้าอากาศมีผลต่อการให้ผลผลิตมาก ถ้าอากาศร้อนจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดอกกะเทยกลายเป็นดอกตัวเมีย ถ้าอุณหภูมิสูงมากจะทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล น้ำหนักผลที่เป็นที่ต้องการของตลาด อยู่ที่ 1-1.5 กิโลกรัม ข้อดีของมะละกอฮอลแลนด์

ไม่มีกลิ่นยาง เนื้อแน่นไม่เละ เนื้อหนา รสหวาน เปลือกหนา ทำให้การขนส่งไม่ช้ำง่าย ทนทานต่อโรค น้ำหนักดี สีสวย เนื้อในสีแดงอมส้ม ปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ ไม่ชอบดินที่มีน้ำขัง ทำให้รากเน่าได้

ทำไม ถึงปลูกมะละกอฮอลแลนด์

“ผมลาออกจากงานแล้วมาทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับค้าขายออนไลน์ ผมได้มองหาอาชีพเกษตรมาหลากหลายอย่าง แต่ได้คลุกคลีอยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ เขามีตลาดแน่นอน และก็ยังมีความต้องการอีก ส่วนเรื่องการขนส่งนั้นเดี๋ยวนี้ทุกอย่างง่ายมาก ทั่วประเทศมีการขนส่งสินค้าเกษตรที่รวดเร็ว ผมส่งร้านขายส่งที่ตลาดไท สินค้าผมก็จะส่งตรงไปที่ตลาดไท และที่สำคัญคือ ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หน้ามะละกอแพงจะอยู่ที่ 27-30 บาท ถ้าผลสวยมาก เกรดเอ จะอยู่ที่ 50 บาท นอกจากนั้นราคาขยับไปมาอยู่ที่ 10-25 บาท ประมาณนี้

” ต้นทุนอยู่ที่การบำรุงดินของเรา หรือการดูแลเอาใจใส่นั่นเอง ส่วนเรื่องน้ำ ผมใช้ระบบน้ำหยด โดยทำสระเก็บน้ำที่ผมนำความรู้จากการเป็นวิศวกรมาใช้ ต้นทุนเพียง 5,000 บาท สามารถจุน้ำได้ถึง 50,000 ลิตร จึงเพียงพอสำหรับทำน้ำหยด ถือว่าเป็นการบริหารน้ำเพื่อใม่ให้สูญเสียทรัพยากรน้ำ และต้นมะละกอก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำทีละน้อยแต่บ่อยๆ” คุณสันติภาพ อธิบาย

คุณสันติภาพ บอกว่า ปัจจัยหลักคือ ต้องการทำเป็นธุรกิจเกษตร คือเป้าหมายหลักและจะพยายามทำให้เป็นที่ยอมรับว่า ธุรกิจเกษตรนั้น ทำให้คนรวยได้ในพริบตา โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องปลูกผลไม้ที่มีราคาแพงอย่างทุเรียน ถ้านับจากความเป็นจริงแล้ว การปลูกมะละกอรายได้ก็พอๆ กันกับทุเรียนที่ให้ผลผลิตปีละครั้ง แต่มะละกอให้ผลผลิตทั้งปี ถ้าดูแลดีๆ ซึ่งโดยปกติแล้วให้ผลผลิตสองรอบ แต่ละรอบในการผลิต ใช้เวลา 1 เดือน ก็ทำเงินได้แล้ว

จากการคำนวณคร่าวๆ การปลูกมะละกอของคุณสันติภาพ กล่าวว่า ณ วันนี้ ตนได้มีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนและยั่งยืน เพราะการทำสวนมันไม่ได้จบในคราวเดียว ต้นไม้ไม่ได้อยู่แค่ระยะสั้นๆ อย่างน้อยการตลาดที่ผูกมัดกันไว้ ก็ทำให้เขามองเห็นจุดขาย จุดทำรายได้ของสวนว่า ทำแล้วมีเงิน เพราะตราบใดที่ประชาชนยังมีการบริโภคอาหาร มะละกอเป็นส่วนหนึ่งของอาหารและยังเป็นวิตามิน และอาหารเสริมได้ นั่นแหละคือ ความยั่งยืน

เขาไม่กลัวคำว่าเกษตร งานหลักยังมีวันที่จะต้องจากลา เช่น การเกษียณอายุ แต่เกษตรกรไม่มีวันนั้น นอกจากคุณจะหยุดมันเอง

การปลูกมะละกอ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราไม่คาดคิด อย่างเช่น ดิน ฟ้า อากาศ เป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ นั่นคือ ต้องปรับตัวตาม เหมือนเราเรียนวิชาที่ไม่มีวันหมด เล่าได้ไม่มีวันหมด เหตุการณ์ต่างๆ มีให้เราแก้ปัญหาทุกวัน แต่เป็นปัญหาที่เราคิดเราแก้ด้วยตนเอง ไม่มีเจ้านาย ไม่กดดัน ทำไปแบบมีความสุข ทำด้วยใจรัก สวนผมจึงตั้งชื่อต่อท้ายว่า สวนเกษตรหรรษา

วิธีการปลูกมะละกอและเก็บเกี่ยว

เดี๋ยวนี้มีความรู้มากมายให้ได้ค้นหา งานของคุณสันติภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ประกอบให้ท่านได้ตัดสินใจ หรือเอาความรู้จากประสบการณ์ตรงของเขา นำข้อดีและข้อเสียของแต่ละสวนมาผสมผสาน ก็จะเกิดความรู้อีกแนวหนึ่ง ที่สวนของคุณสันติภาพจะปลูกแนวนี้

“ผมซื้อต้นกล้ามา ใน 1 ถุงเล็กๆ จะมีอยู่ 3-4 ต้น ปลูกในแปลงที่ไถยกร่อง และวางระบบน้ำหยดไว้ 2 ระบบ ทั้งสปริงเกลอร์แบบฉีดพ่น หลังจากนั้น ขุดหลุมลึกพอประมาณสัก 30 เซนติเมตร ก็พอ รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ปลูกห่างกันประมาณ 1.5 เมตร ก็จะได้ประมาณ 300 ต้น ต่อไร่ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละสวน แต่สวนผมรวมๆ กันแล้ว 12 ไร่ ผมปลูก 3,500 ต้น ที่ปลูกค่อนข้างชิดกัน เพราะผมต้องการให้ใบมะละกอปกป้องความชื้นของดินไว้ หลังจากนั้น ก็จะดูแลเรื่องของมะละกอติดดอก ต้องคอยตัดแต่งดอกที่ไม่สมบูรณ์ออกไป และเลือกผลอ่อนที่สวยและสมบูรณ์เก็บไว้ อันนี้คือหน้าที่ที่เราต้องดูแลทั้งเรื่องของการให้น้ำและตัดแต่งเรื่องของดอกและผลอ่อน ประมาณ 8 เดือน ก็จะให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้แล้วครับ การเก็บเกี่ยวก็ง่าย เดินเก็บได้ ที่สวนผมจึงปลูกแค่ 3 ปี เพื่อเป็นผลดีและง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ที่สวนผมปลูกมะละกอกับภรรยา เราช่วยกันดูแล จะจ้างแรงงานเป็นบางครั้ง ที่มีงานเกี่ยวกับเรื่องของการก่อสร้างเข้ามาเกี่ยว ถือว่าค่าแรงงานไม่มี” เจ้าของสวนบอก

การขายก็จะมีรถผู้รับซื้อมารอที่สวน เพื่อส่งตลาดไท หลังจากเก็บเกี่ยวก็ตัดแต่งต้นมะละกอก็จะบำรุงต้น เพื่อที่จะรองรับมะละกอรุ่นต่อไป มะละกอเป็นผลไม้ที่ออกตลอดทั้งปีได้ ถ้าเราดูแลดีๆ ก็จะมีรายได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็ถือว่ามีรายได้ตลอด

ถ้าหากท่านที่สนใจจะปลูกมะละกอ เชิญสอบถามได้ที่ สวนมะละกอเกษตรหรรษา ไร่สีทอง โดย คุณสันติภาพ สุวรรณกิจไพศาล ที่อยู่สวน ตรงข้ามวัดบ่อด้ง หมู่ที่ 2 ตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 52150 เบอร์โทร. 098-819-9225 ช่องยูทูบ เกษตรหรรษา ไร่สีทอง

พื้นที่ 10 ไร่ ที่ดอนสูง คุณคงศักดิ์ นาคคุ้ม เกษตรกรหัวไวใจสู้ นำโอ่งขนาดใหญ่ หรือชาวภาคอีสานเรียกว่า “โอ่งแดง” ตั้งเรียงยาว แถวละ 10 ลูก 3 แถว ต่อท่อน้ำให้เชื่อมกัน จากนั้นสูบน้ำใต้ดินให้เต็มโอ่งเพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่พืชที่ปลูกแบบผสมผสานโดยใช้ฝรั่งกิมจูเป็นหลัก

คุณคงศักดิ์ อยู่บ้านเลขที่ 547 หมู่ที่ 5 บ้านนิคม ตำบลนิเวศน์ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด จบการศึกษาจากช่างกลอุเทนถวาย สาขาช่างก่อสร้าง ทำงานภาคเอกชน มีภรรยาที่ร้อยเอ็ด จึงปักหลักที่ “ร้อยเอ็ดเพชรอีสาน พลาญชัยบึงงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมชั้นดี สตรีโสภา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บุญผะเหวด” แม้จะเปลี่ยนมาเป็น “สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ” เขาก็รักร้อยเอ็ด เพราะเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ฟูมฟักตำนานเมือง มาวันนี้ ชายวัย 69 ปี แล้วครับ 1 ไร่ ได้แสน คือ แสนสุขใจ แสนสุขใจ แสนร่าเริง รายได้เป็นแสน

คุณคงศักดิ์ บอกว่า ตนไม่ได้จบการศึกษาทางการเกษตร “ใจรักชอบศึกษา” การเกษตรอินทรีย์ ระบบน้ำหยด การให้น้ำแบบประหยัด ตนเองเชี่ยวชาญมากๆ วันนี้จับงานการปลูกฝรั่งกิมจู 7-8 เดือน ได้ผลผลิต หลังจากที่เลือกพื้นที่ปลูกหลังบ้านมรดกภรรยา ไถพรวนยกร่อง ปลูกฝรั่งในร่อง ให้น้ำตามร่อง ระยะ 2×2 เมตร ความยาวตามแปลง ทำขวางแนวลาดชัน ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 400 ต้น จากนั้นก็ปรับปรุงดินโดยการตากดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเมล็ดวัชพืช ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักในปริมาณเท่าๆ กัน อัตราปุ๋ย 1 ส่วน ต่อดิน 2 ส่วน เพื่อให้ดินร่วนซุย

วิธีปลูก…หลังจากเตรียมหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้นำกิ่งตอนฝรั่งกิมจู ที่ชำในถุงปลูกลงในหลุม กลบดินให้แน่นพอสมควร แล้วใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกกันลมโยกและรดน้ำทันที

คุณคงศักดิ์ กล่าวว่า ตนเองน้อมนำพระราชดำริฯ ตามรอยเท้าพ่ออย่างพอเพียง “นำหลักการห่มดิน” โดยใช้ฟางข้าวคลุมผืนดิน เป็นการรักษาความชุ่มชื้นอย่างดียิ่ง ฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ กลางแปลงขนาด 2 เมตร ตนเองปลูกกล้วยหอมทอง เป็นพืชแซมหลังแปลง ระยะ 2 เมตร มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์เตี้ยค่อม ระยะ 4 เมตร ปลูกมันเทศพันธุ์โอกิโนวา จากประเทศญี่ปุ่น คลุมดิน ให้ผลผลิตดี ตลาดมีความต้องการสูง กิโลกรัมละ 120 บาท ราคาขายปลีก

คุณคงศักดิ์ นำเยี่ยมชมสวนผสมพร้อมเล่าให้ฟังว่า การปฏิบัติดูแลรักษา การให้น้ำ สังเกตดูความชุ่มชื้นของดิน ถ้าดินแห้งมากต้องรีบให้น้ำ และถ้ามีฝนตกหนักก็ควรระบายน้ำออกบ้าง การให้น้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต้นฝรั่ง ปริมาณความชื้นของดินในระหว่างการออกผลมีความสำคัญ เพราะจะก่อให้เกิดการร่วง การแตก และขนาดของผล

การใส่ปุ๋ย ตนเองเน้นการใส่ปุ๋ยทั้งปุ๋ยคอก อินทรีย์และปุ๋ยเคมี สูตรที่แนะนำ คือ 15-15-15 หรือ 13-13-21 ฝรั่งเมื่อออกดอกแล้วจำเป็นต้องให้น้ำและปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น ประมาณ 2 กิโลกรัม/ต้น/ปี หากจะให้ฝรั่งมีรสหวานยิ่งขึ้น ให้ใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 5-30-30 พ่นก่อนเก็บผล 1 เดือน นำปุ๋ยเกล็ดมาผสมน้ำฉีดพ่น ฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 2 ครั้ง ประมาณ 15 วัน เก็บผลผลิต

การพรวนดิน ไม่ควรพรวนดินลึก ที่นี่น้อมนำตามรอยเท้าพ่อ “ห่มดิน” การปักหลักกันโยกขณะฝรั่งยังเล็ก ใช้ไม้รวกหรือแขนงไม้ไผ่ ยาว 1 เมตร ค้ำกิ่ง ต้นละ 1-2 อัน และใช้เชือกฟางผูกติดกับกิ่ง แต่อย่าผูกให้แน่นมาก เพราะกิ่งอาจจะเจริญเติบโตช้า

การพยุงผลฝรั่ง อายุประมาณ 6 เดือน ใช้ไม้ไผ่ปักไว้เพื่อพยุงผลฝรั่ง ใช้ปลายหรือแขนงไม้ไผ่ ขนาดเล็ก ยาว 1 เมตร หรือมากกว่านั้นปักใกล้กับกิ่งที่ออกผลแล้ว โดยผูกยึดกับกิ่งไว้ หรือจะผูกขั้วผลกับกิ่งหรือไม้ปักเพื่อไม่ให้ผลถ่วงต้น เพราะน้ำหนักผลฝรั่งมาก ถ้ามีลมพัดแรงต้นจะเฉาตายและรากจะขาด

การตัดแต่งกิ่ง จะช่วยให้ฝรั่งเกิดกิ่งอ่อน และมีช่อดอกออกมาด้วย ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ได้สัดส่วน อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องได้ทั่วถึง สะดวกในการเก็บผลและการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง นอกจากนี้ ยังทำให้ได้ผลผลิตที่แน่นอน ผลมีขนาดใหญ่ ต้นที่สมบูรณ์จะตัดกิ่งก้านออก 25-30% สำหรับต้นที่ไม่แข็งแรง ให้ตัดกิ่งก้านออก ประมาณ 20% นอกจากการตัดแต่งกิ่งแล้ว การทำให้ใบร่วงจะทำให้ระยะการเก็บเกี่ยวสั้นลง และการปลิดผลทิ้งให้เหลือประมาณ 2-6 ผล ต่อกิ่ง แต่ถ้าจะให้ได้ผลที่มีขนาดใหญ่และมีคุณภาพดี ควรให้เหลือเพียง 1 ผล เท่านั้น

การห่อผล ประโยชน์ของการห่อผลนอกจากจะช่วยป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูฝรั่งแล้ว ยังทำให้ผลฝรั่งมีผิวสวยน่ารับประทาน วิธีการห่อผลฝรั่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ถุงพลาสติกหรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อก่อน แล้วจึงสวมถุงพลาสติกทับอีกชั้นหนึ่ง โดยจะเริ่มห่อผลฝรั่งเมื่อมีขนาดเท่าลูกมะนาวหรือหลังดอกบานแล้ว 1 เดือน

โรคที่สำคัญของฝรั่ง
โรคจุดสนิม การป้องกัน ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา หากเป็นที่กิ่งอาจใช้สารเคมีดังกล่าวผสมในปูนแดงข้นๆ ทาบริเวณที่เป็นโรค
โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อราเข้าทำลายผลอ่อน ผลสุกและใบ อาการบนใบจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ แผลอาจทะลุ ถ้าเป็นที่ผลอ่อนจะทำให้มีสีน้ำตาลและเน่าแห้งไปในที่สุด แต่ถ้าเป็นระยะผลสุกหรือใกล้สุก จะเกิดแผลเน่าสีน้ำตาล อาการจะลุกลาม แผลจะบุ๋มลงเล็กน้อยมีจ้ำสีคล้ำและเมือกสีแสดปรากฏให้เห็น การป้องกัน ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยพ่นสารเคมีก่อนเก็บผล 1 เดือน

แมลงศัตรูฝรั่ง
แมลงวันทอง การทำลายเกิดจากแมลงวันทองวางไข่ที่ใต้ผิวฝรั่งสุก (หรือระยะที่ผิวผลอ่อน) ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่จะเจริญกินเนื้อฝรั่งเป็นอาหาร ทำให้ฝรั่งอ่อนนิ่มและเละในที่สุด การป้องกัน ห่อผลในขณะที่ผิวยังแข็ง มีสีเขียว ขนาดเล็ก การห่ออาจห่อด้วยถุงพลาสติกชั้นเดียว หรือ 2 ชั้น โดยต้องเจาะรูกระดาษห่อชั้นในก้นถุงให้น้ำไหลออกด้วย หรือใช้สารเคมีมาลาไทออนผสมโปรตีนไฮโดรไลเซท เป็นเหยื่อพิษฉีดพ่นในตอนเช้าตรู่เป็นจุดๆ บนใบแก่เท่านั้น ต้นละ 1-4 จุด แต่ละจุดใช้น้ำยาประมาณ 50 ซีซี พ่นแค่ให้ใบเปียก และพ่นทุกๆ 7 วัน ติดต่อกัน 4-5 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยว หากพ่นก่อนการระบาด 1 เดือน จะได้ผลดีกว่าพ่นหลังแมลงระบาดแล้ว
เพลี้ยแป้ง จะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบอ่อน กิ่งอ่อน และช่อดอก ทำให้แห้งเฉาหรือใบผิดรูปร่างและผลผลิตลดลง ใช้สารสมุนไพร น้ำหมักข่า ตะไคร้หอม ใบยูคาลิปตัส สะเดา เพื่อไล่แมลง ฉีดพ่น 5-7 วัน

อะโวกาโด นับเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง จัดเป็น Superfood เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก นับเป็นพืชที่มีความสำคัญมากในด้านอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยกระแสที่ผู้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาว ทดแทนพืชเชิงเดี่ยว และลดการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรบนพื้นที่สูง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขอแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ตั้งใจรับประทานอะโวกาโดเพื่อบำรุงสุขภาพ ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ไม่เกินครึ่งลูกต่อวัน

คุณประชา เยอเบกู่ หรือ พี่ชา เกษตรกรผู้ปลูกอะโวกาโด อยู่ที่บ้านหล่อชา หมู่ที่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ชายผู้เริ่มปลูกอะโวกาโด จากความรู้ที่ติดลบ ปลูกตามคำแนะนำของเพื่อน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักว่าจริงๆ แล้วอะโวกาโดคืออะไร ขายยังไง สามารถนำมาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ทำให้การปลูกในปีแรกต้องล้มเหลว แต่พี่ชายคนนี้ก็ไม่ย่อท้อ พยายามดั้นด้นหาความรู้ทั้งจากผู้ที่มีประสบการณ์ รวมถึงศึกษาจากคลิปวีดีโอของต่างประเทศ ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันประสบความสำเร็จ สามารถสร้างรายได้จากอะโวกาโดได้ไม่น้อย

พี่ชา เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกอะโวกาโดว่า ก่อนที่จะมาปลูกอะโวกาโดตนทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อยู่ที่ไต้หวันมาก่อน ทำอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี แล้ว กลับมาอยู่บ้านเริ่มต้นทำเกษตร บนแนวคิดที่ว่า อาชีพเกษตรกรรมจะสามารถเลี้ยงตนเองได้ตอนแก่ และอยากกลับมาดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า จนถึงปัจจุบันตนทำอาชีพเป็นเกษตรกรปลูก อะโวกาโดได้เป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว

“ตอนกลับมาบ้าน พอพี่เริ่มตั้งหลักได้มีเพื่อนมาแนะนำให้ปลูกพี่ปลูก แต่เป็นการปลูกโดยที่ไม่มีความรู้ ปลูกทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าอะโวกาโดคืออะไร บทสุดท้ายก็ตายเรียบ เพราะถ้าย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว พี่จะค้นคว้าหาข้อมูลการปลูกในกูเกิลยังไม่มีให้พี่เลย ต้องลองผิดลองถูกเอาเอง จนพี่ได้มาเจอกับคนที่อยู่แม่โจ้เขาปลูกมาก่อน เขาก็แนะนำพี่ทุกอย่าง และเขาก็เอาพี่ไปช่วยงานเวลารับซื้ออะโวกาโด พี่เลยรู้ว่าตลาดอะโวกาโดในอนาคตน่าจะสดใสกว่าพืชชนิดอื่น จึงไม่ลังเลที่จะเริ่มต้นปลูกอะโวกาโดอีกครั้งจากที่ล้มเหลวไปปีแรก”

ปลูกอะโวกาโดทั้ง 4 สายพันธุ์
แต่ละพันธุ์มีข้อดีแตกต่างกัน

พี่ชา บอกว่า หลังจากที่ล้มเหลวกับการปลูกอะโวกาโดในปีแรก ตนก็ยังไม่ยอมแพ้พยายามสู้และฟันฝ่า จนเข้าใจธรรมชาติ และวิธีการปลูกอะโวกาโดอย่างมืออาชีพ โดยปัจจุบันตนปลูกอะโว กาโดบนพื้นที่ทั้งหมด 16 ไร่ เลือกปลูกมากถึง 4 สายพันธุ์ แบ่งปลูกสายพันธุ์ละประมาณ 100 ต้น เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์

1.พันธุ์แฮส (Hass) ที่ได้ยอดพันธุ์จากโครงการหลวงมาเสียบ โดยโครงการหลวงนำยอดพันธุ์จากประเทศนิวซีแลนด์มาขยายพันธุ์ที่ไทยเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งอะโวกาโดสายพันธุ์นี้ได้รับฉายาว่า เป็นราชาแห่งอะโวกาโด และเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย หรือในโลกนี้ก็ว่าได้ จะมีลักษณะผลรูปไข่ สีผิวเขียวเข้ม ผิวขรุขระมากเมื่อสุกเป็นสีม่วงเข้ม น้ำหนักผลประมาณ 200-300 กรัม เนื้อผลสีเหลืองและมันมาก ถือเป็นสายพันธุ์การค้าที่สำคัญของโลก เพราะคุณภาพผลดีมาก

ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) จะมีลักษณะผลกลม ผลมีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง น้ำหนักผลประมาณ 200-300 กรัม เปลือกบาง เนื้อผลสีเหลืองอมเขียว รสชาติดี ติดหวานนิดๆ เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในไทยอีกสายพันธุ์หนึ่ง
ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : มิถุนายน-กรกฎาคม

พันธุ์บูธ 7 (Booth-7) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มกว้างลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผล 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน รสชาติดี
ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : กันยายน-ตุลาคม

พันธุ์บัคคาเนียร์ (Buccanear) เป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มแผ่กว้าง ลักษณะทรงผลกลมรี น้ำหนักผลประมาณ 300-500 กรัม ผิวผลสีเขียว ผิวขรุขระ เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม รสชาติมันนิดๆ
ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว : กลางเดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม พื้นที่เหมาะสม สภาพอากาศดี
การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ยน้อยมาก

เจ้าของบอกว่า สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงรายถือเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกอะโวกาโดเป็นอย่างมาก ด้วยพื้นที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไป อากาศเย็นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ได้เปรียบกว่าเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ส่งผลทำให้การดูแลจัดการง่ายขึ้น เพราะเมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศดี ปุ๋ยก็ไม่ต้องใส่มาก ระบบน้ำแทบไม่ต้องใช้ ด้วยพื้นที่มีความชื้นที่เหมาะสมอยู่แล้ว รวมถึงอะโวกาโดยังเป็นผลไม้ที่มีปัญหาเรื่องโรคแมลงน้อยมาก เก็บเกี่ยวได้นาน ขนส่งได้ไกล อะโวกาโดจึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนพื้นที่สูงไปแล้ว

เทคนิคการปลูก

แนะนำให้ปลูกช่วงฤดูฝน เพราะจะมีน้ำสำหรับต้นที่ปลูกใหม่ modernmagazin.com แต่ไม่ควรปลูกกลางฤดูฝนเนื่องจากฝนตกชุก น้ำอาจท่วมขังต้นอะโวกาโดได้ การเตรียมดินพื้นที่ตรงนี้จะไม่มีการเตรียมดินมากมาย เนื่องจากสภาพดินตรงนี้มีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว สามารถนำต้นกล้าจากการเพาะเมล็ดที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง ลงหลุมปลูกได้เลย โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม และขุดหลุมไม่ต้องลึก แค่ให้เสมอกับปากถุงเพาะ

“ยกตัวอย่างคือให้นำเมล็ดของอะโวกาโดมาเพาะไว้ในถุงช่วงต้นปี แล้วค่อยย้ายลงหลุมในช่วงต้นฝน จากนั้นทำการเสียบยอดพันธุ์ดีบนต้นตอเพาะเมล็ด โดยที่อย่างน้อยต้นตอต้องมีอายุ 1 ปีขึ้นไป ถึงจะเหมาะกับการเสียบยอด และเตรียมเสียบยอดในช่วงต้นฤดูหนาว”

ระยะห่างระหว่างต้น 6×6 และ 7×8 เมตร โดยจะเว้นระยะห่างตามสายพันธุ์ที่ปลูก เนื่องจาก อะโวกาโดแต่ละสายพันธุ์จะมีลักษณะทรงพุ่มใหญ่ไม่เท่ากัน การดูแลรดน้ำ-ใส่ปุ๋ย น้อยมาก

ด้วยดินและสภาพอากาศที่เป็นใจอยู่แล้ว ทำให้การปลูกอะโวกาโดของที่นี่เป็นไปอย่างสมบูรณ์ จะอาศัยปัจจัยด้านน้ำและปุ๋ยที่น้อยมากๆ โดยการปลูกของที่นี่จะเน้นอาศัยน้ำฝนให้ช่วยดูแลเป็นหลัก

ปุ๋ย จะใส่ปุ๋ยคอก ขี้วัว ปีละ 2 ครั้ง ปริมาณครั้งละครึ่งกระสอบต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมีก็มีใส่บ้าง แต่ใส่ไม่เยอะ การใส่จะใส่ 2 ทาง คือใส่ปุ๋ยทางราก สูตร 15-15-15 ปริมาณต้นละ 2 กำมือ และปุ๋ยทางใบ ฉีดพ่น 3 ครั้ง ต่อปี แต่ในช่วงนี้ปุ๋ยเคมีค่อนข้างมีราคาแพง ที่สวนจะหยุดการให้ปุ๋ยเคมีไปก่อน และไม่ส่งผลกระทบต่อพืชมาก โรคและแมลงศัตรูพืช สำหรับอะโวกาโดจะมีแมลงรบกวนที่น้อยมาก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือเรื่องของโรครากเน่าโคนเน่า สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในช่วงฤดูฝน บางทีกว่าที่ชาวสวนจะรู้ตัว ใบก็เหี่ยว ลูกร่วง แก้ไขไม่ทัน จำเป็นต้องตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่

การเก็บเกี่ยวผลผลิต อะโวกาโดต้องใช้เวลาปลูกประมาณ 3.5-4 ปี อย่างของที่สวนใช้เวลาปลูกประมาณ 3 ปีครึ่ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รอบแรก แล้วหลังจากนั้นเก็บผลผลิตได้นาน เหมือนกับการลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอด