ผลักดันและสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นการส่งเสริมศักยภาพในพื้นที่ ตามแนวนโยบายของรัฐบาล และ ศอ.บต. เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ในระดับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต”

นายศุภณัฐกล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในโครงการเมืองต้นแบบ 3 เหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เกิดผลสำเร็จทั้งการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมตามแนวทางโครงการเมืองต้นแบบ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจต้นทาง ส่งเสริมประชาชนเพาะปลูกพืชมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน อย่างละไม่น้อยกว่า 200,000 ไร่ ในปี 63 เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเมืองแห่งมะพร้าวและพัฒนาปศุสัตว์ในพื้นที่ที่เป็นความต้องการของผู้บริโภค ป้อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เชื่อมโยงกับการบริโภคของประชากรมุสลิมมากกว่า 2.2 พันล้านคนทั่วโลก

“ศอ.บต. ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น ให้เชื่อมโยงการขนส่งทางรางร่วมกับประเทศมาเลเซีย การคมนาคมขนส่งทางน้ำ ด้วยการขยายท่าเทียบเรือปัตตานี ให้เป็นท่าเทียบเรือที่สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดใหญ่กว่า 5,000 ตันกรอส และยกระดับสนามบินนราธิวาสให้เป็นสนามบินนานาชาติ”นายศุภณัฐกล่าว

ด้าน Ms.Ma pengxian นักธุรกิจประเทศจีน กล่าวว่า การร่วมเดินทางมา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังว่า ศอ.บต. จะมีแนวทางหรือนโยบายด้านการพัฒนาในพื้นที่ให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อสอดรับกับความพร้อมด้านการลงทุนจากต่างชาติที่สนใจ ในด้านการเกษตร เหมืองแร่ การท่องเที่ยว ซึ่งทุกอย่างจะต้องร่วมมือกันในการพัฒนาเพื่อให้สำเร็จตามโครงการ สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของหน่วยงาน เพื่อร่วมสานต่อโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง กพร. ได้มีลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิพระดาบส ตั้งแต่ปี 2556 เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศิษย์พระดาบสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ให้มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเสริมสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ กพร. ฝึกอบรมให้ครูดาบสอาสาด้านเทคโนโลยีในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ศิษย์

นอกจากนี้ กพร.ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดร่วมดำเนินการฝึกอบรมให้กับโครงการลูกพระดาบส โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ (สพร. 1 สมุทรปราการ) ดำเนินการฝึกอาชีพจนถึงปัจจุบัน ให้แก่ศิษย์พระดาบสรวมจำนวน 400 คน จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขาการทำเครื่องเรือนจากแผ่นใยไม้อัด สาขาการทำเครื่องเรือนโครงไม้จริง สาขาช่างสีเครื่องเรือน ระดับ 1 และสาขาการทำดอกไม้จันทน์

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโครงการมากมายเพื่อช่วยเหลือประชาชน หนึ่งในนั้นคือโครงการลูกพระดาบส จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2541 ตั้งอยู่เลขที่ 89 หมู่ 14 ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนที่ดินราชพัสดุและที่ดินพระราชทาน ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรแบบผสมผสานในลักษณะที่พึ่งพาตัวเองและพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สมุนไพร การใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม ปฏิบัติงานและศึกษาดูงานของนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไป สร้างคนดี มีวิชาชีพ กลับคืนสู่สังคม โดยดำเนินงานภายใต้หลักการพึ่งพาตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลักความพอประมาณ ประหยัด เรียบง่ายและได้ประโยชน์สูงสุด ความมีเหตุผล ยึดหลักวิชาการ มีการศึกษาวิจัยแต่ไม่ละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการวางแผนระยะยาว ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รู้รักสามัคคี

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มูลนิธิได้เปิดให้บริการรับ ตรวจซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศพัดลม เตารีดไฟฟ้า เครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์สีและขาวดำ เครื่องขยายเสียง เครื่องวิดีโอเทป งานติดตั้งไฟฟ้าภายในอาคาร งานซ่อมเครื่องยนต์ งานซ่อมรถยนต์ งานช่างโลหะงานเชื่อม งานเคาะและพ่นสี ฯลฯ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความชำนาญในสาขาดังกล่าว จึงเข้าร่วมดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านวิชาชีพให้แก่ศิษย์พระดาบส ให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น อีกทั้งมีส่วนร่วมในการสานต่อโครงการในพระราชดำริของในหลวง ร.9 ด้วย และในปี 2561 ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตั้งเป้าหมายฝึกอาชีพ จำนวน 160 คน ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาการทำเครื่องเรือนโครงไม้จริง (30ชม) จำนวน 60 คน 3 รุ่น แผนจะเปิดฝึกเดือน ต.ค.2560, ม.ค.2561 และ เม.ย.2561 สาขา การทำเครื่องเรือนแผ่นใยไม้อัด (30ชม) จำนวน 40 คน 2 รุ่น แผนจะเปิดฝึกเดือน พ.ย.2560 และ ก.พ.2561 และสาขาการทำสีเครื่องเรือน จำนวน 60 คน 3 รุ่น แผนจะเปิดฝึกเดือน ธ.ค.2560, มี.ค.2561 และ พ.ค.2561 สำหรับสาขาช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตรเป็นการดำเนินงานเพิ่มเติมซึ่งอยู่ระหว่างการฝึก จำนวน 11 คน ระหว่างวันที่ 16-31 ตุลาคม 2560 ณ สพร. 1 สมุทรปราการ

“นอกจากนี้ กพร.ยังมีดำเนินการอีกหลายโครงการเพื่อสืบสานพระราชปณิธานพ่อหลวง อาทิ โครงการศูนย์เทิดไท้องค์ราชัน และการฝึกอาชีพให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับประเทศชาติต่อไป” นายสุทธิ กล่าว

เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่บริเวณถนนมหาราช หน้ากำแพงพระบรมมหาราชวัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่ผ่านจุดคัดกรองท่าช้างเข้ามาบริเวณดังกล่าว ต่างกางเสื่อ และผ้าใบนอนหลังจากที่อดนอนในช่วงค่ำวานนี้ และยังต่างดีใจที่สามารถเข้ามาเป็นคนหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวได้ หลายคนจับเข่าคุยแลกเปลี่ยนเป็นการฆ่าเวลา ทั้งนี้ ในจุดบริเวณริมทางเท้าถนนมหาราชยังมีประชาชนมาจับจองไม่เต็มพื้นที่นัก ด้านจุดคัดกรองท่าช้าง ประชาชนต่างทยอยเดินทางมาไม่ขาดสาย หลังจากที่เรือด่วนเจ้าพระยาได้เปิดให้บริการ

ขณะที่จุดคัดกรองสะพานปิ่นเกล้า เวลา 07.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ปิดจุดคัดกรองชั่วคราว เนื่องจากประชาชนได้เข้าไปในพื้นที่เต็ม และอยู่ในระหว่างจัดพื้นที่ โดยหากมีที่ว่างจะเปิดให้ประชาชนเข้าจุดคัดกรองอีกครั้งตามจำนวน ทั้งนี้ ประชาชนที่พลาดการเข้าจุดคัดกรองต่างรอด้วยความหวัง ขณะที่บางคนก็มีสีหน้าเศร้าสร้อยที่ไม่ได้เข้าจุดคัดกรองทั้งๆ ที่เฝ้ารอหลายวัน โดยขณะนี้ปลายแถวอยู่ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ที่ บ้านท่าเสา – บ้านใหม่ หมู่ที่ 1 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่ง กลุ่มฟาร์มทะเล กลุ่มชาวประมง กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ และตัวแทนนักศึกษาในพื้นที่ กว่า 300 คน ได้ร่วมตัวสร้างบ้านปลาหรือซุ้มปลาขึ้นในทะเลสาบสงขลา เป็นสัญลักษณ์หมายเลข 9

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีความห่วงใยในการประกอบอาชีพของชาวปะมงทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการอนุรักษ์ พันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิด ทั้งกุ้ง หอยปู และปลา ให้อาศัยอยู่ในสถานที่ ที่ได้จัดทำขึ้น ทั้งเพื่อใช้ในการวางไข่ และเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวป้องกันการทำประมงแบบล้างผลาญ ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

นายดลหรอหมาน ปูละ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ อ.สิงหนคร กล่าวว่า บ้านปลา หรือซุ้มปลาที่สร้างขึ้นในทะเลสาบสงขลานั้น ทำด้วยวัสดุจากธรรมชาติในพื้นที่ ทั้งไม้ ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว ใบตาล ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถเน่าสลายไปเองโดยธรรมชาติและบางส่วนก็ยังเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปพร้อมๆกันด้วย

ซึ่งเชื่อว่าการก่อสร้างบ้านปลานี้จะช่วยในการอนุรักษ์สัตว์น้ำให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นและช่วยลดการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการต่อยอดให้ลูกหลานชาวประมงได้มีอาหารและสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังเป็นการร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย

ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของต้นกล้า และการลดลงของการใช้กระดาษ ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี เกิดจากแนวคิดในการริเริ่มโครงการปลูกฝังการใช้ทรัพยากรกระดาษคุ้มค่าให้กับกลุ่มพนักงานภายในองค์กรเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติของไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) โดยตั้งแต่โครงการจัดตั้งขึ้น มีจำนวนต้นไม้กว่า 6,000 ต้นถูกปลูกลงบนผืนป่า คิดเป็นพื้นที่ป่าจำนวน 15 ไร่ ที่ SCBLIFE ปลูกทดแทนพื้นที่เดิม ซึ่งได้รับผลกระทบจากไฟป่า เพื่อพลิกฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติ

ครั้งนี้ บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จัดกิจกรรมภายใต้ โครงการ SCBLIFE หอบรักมาห่มป่า นำพนักงานจิตอาสาและครอบครัวกว่า 250 คน ลงพื้นที่ป่าต้นน้ำเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ร่วมสร้างฝายชะลอน้ำพร้อมปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 400 ต้น เพื่อฟื้นฟู และคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานของชุมชน

“นฤมล เจียรานุราช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ส่วนสื่อสารองค์กร กล่าวว่า โครงการ SCBLIFE หอบรักมาห่มป่า เริ่มตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันต้นไม้ที่เราลงมือปลูกจำนวนกว่า 90% สามารถเติบโต และเริ่มเป็นแหล่งวงจรอาหารให้กับสัตว์ป่าจำนวนมาก เรายังคงตั้งใจที่จะสานต่อกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ให้กับแหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติต่อไป

“ทั้งนี้สิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้นนอกจากการทำกิจกรรม คือการสร้างแรงขับเคลื่อนในเชิงปฏิบัติเพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับพนักงานทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และมีส่วนร่วมในการลงมือปฏิบัติด้วยมือของทุกคนเอง เพราะนอกจากการปลูกต้นไม้ทดแทน SCBLIFE ยังขยายวงจรการรักษาสมดุลกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ด้วยการร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ บนพื้นที่ป่าเขากระโจม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการคืนผืนป่า พร้อมกับฟื้นฟูและรักษาธรรมชาติให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ดี กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากความสำเร็จของโครงการกระดาษให้ชีวิต หนึ่งในนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม ด้าน saving for life ที่มุ่งเน้นรณรงค์และสื่อสารให้พนักงานภายในองค์กรตระหนักถึงความสำคัญ และเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการใช้ทรัพยากรกระดาษอย่างรู้คุณค่า ซึ่งผลการดำเนินโครงการ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2556-2559) พนักงาน SCBLIFE สามารถลดการใช้กระดาษลงได้มากกว่า 2 หมื่นรีม คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดลง 1.3 ล้านบาท โดยปริมาณการใช้กระดาษที่ลดลง เฉลี่ยปีละ 5 พันรีม ซึ่งกระดาษทุกแผ่นที่ลดลง เกิดจาก

ความตั้งใจและความร่วมมือของพนักงานทุกคนภายในองค์กร ที่ช่วยกันใช้กระดาษในปริมาณที่จำเป็น ทั้งนี้ในปี 2560 SCBLIFE ยังคงสานต่อภารกิจรณรงค์ลดการใช้กระดาษ โดยตั้งเป้าหมายอยู่ที่ 5 พันรีม ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ จะนำมาเป็นค่าดูแลรักษาต้นกล้าได้ทั้งสิ้น 1,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 2.5 ไร่

โดยการรณรงค์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นไม้ทุกต้นที่ปลูกลงบนป่าเขากระโจม ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง และเติบโตเป็นไม้ใหญ่ต่อไปในอนาคต

“ชาญชัย พินทุเสน” ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ร่วมทำกิจกรรม SCBLIFE หอบรักมาห่มป่า ซึ่งจัดโดยบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยในครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ได้เห็นถึงความตั้งใจของพนักงานจิตอาสาทุกคน

“โดยนอกจากการปลูกต้นไม้คืนสู่ธรรมชาติแล้ว จิตอาสา SCBLIFE ยังร่วมแรงกายสร้างฝายชะลอน้ำให้กับชุมชน บนผืนป่าเขากระโจม และต้นไม้ที่ทุกคนช่วยกันปลูก และบำรุงรักษาด้วยความรัก ในวันนี้ต้นไม้เหล่านั้น ได้เจริญเติบโตงอกงามอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยปกป้อง ดูแลต้นไม้ในพื้นที่เดิมที่เราปลูกได้มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้นอีกด้วย”

“ปรียานุช แสงกล่ำ” ตัวแทนพนักงานจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า โครงการ SCBLIFE หอบรักมาห่มป่า ช่วยสอนให้ทุกคนเรียนรู้ว่า การปลูกป่า ไม่ใช่แค่เพียงลงแรงปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการย้อนกลับไปที่จิตสำนึกของทุกคนว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้บ้าง หรือการเห็นคุณค่าและใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ซึ่งหากเราทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันปฏิบัติ ธรรมชาติอันงดงามก็จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นตลอดไป

เพราะการร่วมมือช่วยกันลดหรืองดการกระทำกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลลัพธ์ดีที่สุดคือการเปลี่ยนจากความคิด เป็นลงมือทำ เพื่อส่งต่อพลังสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน

เปิดรูทท่องเที่ยวฮอต “โครงการหลวง” เชียงใหม่ คนไทยซึมซับตามรอยศาสตร์พระราชา เผยระยะ 1 ปี สถานีเกษตรหลวง “อ่างขาง-อินทนนท์” นักท่องเที่ยวพุ่งกว่า 5 แสนคน เตรียมความพร้อมบุคลากรรองรับให้บริการสื่อสารความรู้นักท่องเที่ยว พร้อมสานต่อพระราชปณิธาน มุ่งพัฒนางานวิจัยเข้มข้น-ปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เกษตรกร เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการหลวง “เลอตอ” จังหวัดตาก โครงการหลวงสุดท้ายในรัชกาลที่ 9

นายสมชาย เขียวแดง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง-อินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา โครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ และเป็นจุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาตามรอยศาสตร์พระราชา ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก

โดยพื้นที่โครงการหลวงที่ได้รับความนิยมอันดับต้น ๆ คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จากเดิมมีสถิตินักท่องเที่ยวราว 2 แสนคนต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 370,000 คนในช่วงระยะ 1 ปี ขณะที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ อำเภอจอมทองก็เพิ่มขึ้นจาก 1 แสนคนเป็น 2 แสนคน นอกจากนี้ยังมีคณะหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ส่งหนังสือขอเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่โครงการหลวงในช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมามากถึง 20,000 คน

สำหรับไฮไลต์เด่นของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นในปี 2512 ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามดอยต่าง ๆ ทางภาคเหนือเลิกการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยอันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย โดยเป็นสถานีทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชเมืองหนาว ไม้ป่าโตเร็ว พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ชาจีน
ขณะนี้ได้รวบรวมภาพเก่าเมื่อครั้งเริ่มการบุกเบิกพื้นที่ นำมาจัดนิทรรศการร้อยเรียงเรื่องราวทั้งในห้องจัดแสดงและเชื่อมโยงเรื่องราวไว้ในพื้นที่ โดยจะเปิดให้ชมในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 นี้ ส่วนสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จัดตั้งขึ้นในปี 2522 เน้นส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ดำเนินงานวิจัยด้านไม้ตัดดอก ไม้ประดับ พืชผัก และไม้ผลขนาดเล็ก

นายสมชายกล่าวว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้และซึมซับเรื่องราวต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการหลวงเป็นเป้าหมายหลัก โดยได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และพนักงาน เพื่อสื่อสารให้ความรู้ อธิบายเรื่องราวในเชิงพื้นที่และงานวิจัยพืชผลต่าง ๆ กับนักท่องเที่ยวให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังมีโครงการหลวงอีกหลายแห่งที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ ได้แก่ 1.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ม่อนแจ่ม อยู่ในพื้นที่ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม ส่งเสริมการปลูกผักเมืองหนาวและไม้ผล 2.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน เป็นแหล่งสาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดหอม และปลูกกาแฟอราบิก้า

3.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ส่งเสริมด้านไม้ผล ไม้ดอกและพืชผัก 4.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่ในอำเภอกัลยานิวัฒนา ส่งเสริมการปลูกพืชผักหลายชนิด 5.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ส่งเสริมอาชีพด้านการปลูกพืช อาทิ พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอก ไม้ผล ดอกไม้แห้ง พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์

6.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง อยู่ท่ามกลางหุบเขาและแมกไม้ ตั้งอยู่ในตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแปลงกุหลาบ กว่า 200 สายพันธุ์ และผักชนิดต่าง ๆ และ 7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย อยู่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้า ที่ได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร และมีการทำนาข้าวแบบขั้นบันได การทอผ้าขนแกะของกลุ่มแม่บ้านห้วยห้อม

นอกจากนั้นยังมีโครงการหลวงที่อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาก็คือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เป็นโครงการหลวงล่าสุดแห่งที่ 39 รัชสมัยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อราวเดือนตุลาคม 2559 เป็นการพลิกฟื้นผืนป่าจากที่มีการปลูกฝิ่นมาส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้านปลูกพืชผัก ขณะนี้มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการกว่า 120 ราย จาก 5 หมู่บ้าน แต่การคมนาคมยังไม่สะดวก

ทั้งนี้โครงการหลวงได้เร่งประสานงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมที่ปัจจุบันยังเป็นดินลูกรังยากต่อการเข้าถึง และเป็นอุปสรรคในการขนส่งผลผลิต โดยทางหลวงชนบทจะเข้ามาพัฒนาเส้นทาง ส่วนกรมพัฒนาที่ดินจะเข้ามาดูแลเรื่องการจัดระบบดินและน้ำ กรมทรัพยากรน้ำจะเข้ามาดูเรื่องการจัดสรรแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานราว 3-4 ปี จึงจะสามารถเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวได้

ขณะเดียวกัน โครงการหลวงอยู่ระหว่างการเตรียมจัดงาน “49 ปี โครงการหลวง” กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ธันวาคม 2560 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะมีการนำผลผลิตโครงการหลวงจากทุกพื้นที่มาจำหน่าย พร้อมทั้งการจัดนิทรรศการเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการหลวงตามพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9

เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ balhakm.net จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต และผลิต ลูกบอลยางพารามอบให้ผู้ป่วยโรคไต ในการช่วยบีบถ่ายโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หวังนำยางในประเทศ เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในวงการแพทย์ ณ โรงพยาบาลแพร่
นายร่อกีบ ยะหรี่ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยได้มีการสนับสนุนงบประมาณและส่งเสริม สร้างจิตสำนึกให้พนักงาน กยท.ร่วมทำความดี โดยในปีนี้ กยท.จ.แพร่ ได้ร่วมบูรณาการกับโรงพยาบาลแพร่ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการจัดกิจกรรม ร่วมใจบริจาคโลหิต และผลิตลูกบอลจากยางพารา เพื่อเป็นอุปกรณ์ให้แก่ผู้ป่วยโรคไต สามารถช่วยบีบถ่ายโลหิต หรือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด จำนวน 400 ลูก กิจกรรมเหล่านี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทางโรงพยาบาลแพร่ และผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมใช้ยางพาราภายในประเทศ สามารถนำผลผลิตยางแปรรูปสร้างมูลเพิ่มและสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ได้

“กยท.จ.แพร่ ได้น้อมนำหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงสอนให้ประชาชนรู้จักการแบ่งปันและให้ความสำคัญแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งกิจกรรมนี้ เหล่าผู้บริหารและพนักงาน กยท.จ.แพร่ ตั้งใจทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในครั้งนี้” นายร่อกีบ กล่าวย้ำ

บริษัทซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CPV) เดินหน้าส่งมอบนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยังยืน

นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซี.พี. เวียดนาม กล่าวว่า บริษัทได้ส่งมอบนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ โดยนำร่องใน กลุ่มวัตถุดิบหลักทางการเกษตร กลุ่มเครื่องปรุง และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันพัฒนาคู่ค้าธุรกิจให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และเติบโตไปด้วยกันในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายตรวจประเมินคู่ค้าธุรกิจหลักได้ครบ 100% ภายในปี 2563

นายม๋าเหยิวจี๊ (Mr.Mã Hữu Trí) หนึ่งในคู่ค้าด้านปลาป่น กล่าวว่า CPV สนับสนุนคู่ค้าให้เดินตามแนวปฏิบัติในการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนเป็นอย่างดี เพื่อให้บริษัทคู่ค้าได้การรับรองมาตรฐานยั่งยืนของสากล โดยเฉพาะการรับรองสำหรับปลาป่น ซึ่งเป็นมาตรฐานของการจัดหาที่มีความรับผิดชอบ รับรองโดยองค์กรด้านน้ำมันปลาและปลาป่นระดับสากล (International Fishmeal and Fishoil Organization Responsible Supply or IFFO RS) สำหรับทุกโรงงานผลิตต้องพิสูจน์ได้ว่าการจัดหาวัตถุดิบโดยการบริหารที่ดี ปลอดภัยและตรวจสอบย้อนกลับได้

นายเหวียน ต๊วน นาม (Mr.Nguyễn Tuấn Nam) ผู้จัดการบริษัทนำเข้าและส่งออก Khai Anh จำกัด ให้ข้อมูลว่า บริษัทส่งมอบวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายประเภท เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด รำข้าว… ให้ CPV ปริมาณ 150,000 ตัน ซึ่ง CPV สนับสนุนซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้การรับรองตามมาตรฐานที่ยั่งยืนเสมอ