ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์

กล่าวว่า นอกจากจะมีประชาชนมายื่นขอเจาะบ่อบาดาลแล้ว ยังมีประชาชนผู้ที่ใช้น้ำบาดาลรายเดิมอยู่แล้ว มายื่นขอใช้น้ำบาดาลกว่า 290 รายด้วย ทั้งนี้ ทาง ทสจ.บุรีรัมย์ ยังได้ทำการตรวจจับผู้ที่มีอาชีพรับจ้างขุดเจาะบ่อบาดาล ที่ไม่ได้ขออนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอย่างถูกต้องส่งดำเนินคดีตามกฎหมายอีก จำนวน 3 รายด้วย จึงได้ขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนทั้งประชาชนผู้ใช้ และผู้รับจ้างขุดเจาะ ให้มาขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็จะมีความผิดมีโทษทั้งจำและปรับ โดยเฉพาะช่วงนี้เข้าสู่หน้าแล้งจะมีการขุดเจาะบ่อบาดาลจำนวนมาก

กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียม ให้เฝ้าระวังโรคใบจุดสีม่วง ที่สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการเริ่มแรกจะพบแผลจุดเล็กฉ่ำน้ำ กลมหรือรี หากแผลแห้งจะเปลี่ยนเป็นจุดแผลสีขาว ต่อมาแผลขยายออกตามความยาวของใบ มีลักษณะเป็นรูปไข่ เนื้อเยื่อยุบตัว แผลมีสีม่วงเข้มหรือสีน้ำตาลอมม่วง ตรงกลางแผลซีดจางกว่าเล็กน้อย มีแถบสีขาวหรือสีเหลืองส้มล้อมรอบแผล กรณีอากาศชื้นจะพบบนแผลมีผงสปอร์สีดำของเชื้อราสาเหตุโรค เมื่อมีหลายแผลขยายต่อกัน จะทำให้ใบแห้ง ต้นโทรม ผลผลิตลดลง หากโรคระบาดรุนแรง ใบจะแห้งตายหมด ทำให้ไม่ได้ผลผลิต กรณีเชื้อราเข้าทำลายที่ส่วนหัว จะทำให้หัวเน่าและเก็บไว้ได้ไม่นาน

ทั้งนี้ ก่อนการปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียม เกษตรกรควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูก โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค จากนั้นให้แช่หัวพันธุ์หรือต้นกล้าพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรแช่นาน 15-20 นาที อีกทั้งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียน

สำหรับในแปลงปลูกหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียมที่มีการระบาดของโรค ให้เกษตรกรหมั่นตรวจทำความสะอาดเก็บเศษซากพืชส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดปริมาณการสะสมเชื้อสาเหตุของโรคไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพาะขยายพันธุ์ข้ามฤดูกาล หากพบโรค ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่ง หากโรคยังคงระบาดควรพ่นซ้ำทุก 5-7 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง และให้พ่นสลับกับสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค

เมื่อเร็วๆ นี้ นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมต้อนรับ นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันดอกทุเรียนบานสะพรั่งจังหวัดปราจีนบุรี ปี 2562 ณ แปลงใหญ่ทุเรียน ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี โดยจังหวัดปราจีนบุรีเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพที่สำคัญของภาคตะวันออก มีพื้นทึ่ปลูกกว่า 2,000 ไร่ กระจายอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม

อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอนาดี ซึ่งทุเรียนปราจีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้เป็นแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง จำนวน 7 สายพันธุ์ แบ่งเป็นทุเรียนพันธุ์การค้า ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว หมอนทอง ชะนี พันธุ์กระดุมทอง และทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์ กบชายน้ำ ชมพูศรี และพันธุ์กำปั่น การจัดงานวันดอกทุเรียนบานสะพรั่งจังหวัดปราจีนบุรี

ปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียน ได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพิ่มพูนความรู้ และเทคโนโลยีการผลิต การตลาดทุเรียน ช่วยผสมเกสรดอกทุเรียนให้ได้ผลผลิตทุเรียนสูงขึ้น โดยมีกิจกรรมการผสมเกสรดอกทุเรียน พร้อมทั้งการจองต้นทุเรียนผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งเกษตรกรและผู้สนใจสั่งจองต้นทุเรียนนี้สามารถติดตามดูแลการเจริญเติบโตของผลทุเรียนได้อย่างต่อเนื่องจนถึงระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต

สามารถซื้อขายได้โดยตรง เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับจังหวัดปราจีนบุรีด้วย ซึ่งในงานวันดอกทุเรียนบานสะพรั่ง ปี 2562 นี้ มีผู้สนใจในพื้นที่และจากต่างจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรมฯ พร้อมจองต้นทุเรียนกว่า 200 คน

ชาวนาปทุมฯ มึน พ.ร.บ. ข้าวฉบับใหม่ เหมือนบีบให้ปลูกข้าวยากขึ้น วอนรัฐสนใจปัญหา
กรณี สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ที่เตรียมเสนอให้พิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและการค้าเมล็ดพันธุ์ ตามมาตรา 27 ที่กฎหมายให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นหมายความว่า ชาวนาที่ทำเกษตรและมีวิถีชีวิตในการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองแบบในอดีตจะไม่สามารถทำได้ เพราะมีโทษสูงถึง จำคุก 1 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 20 ก.พ. นายนายโกศล มันฉาบ อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 3 ต.กระแชง อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ให้สัมภาษณ์ในกรณีดังกล่าวว่า ไม่ทราบเนื้อหาใน พ.ร.บ. ข้าว ว่าเป็นอย่างไรเลย ในส่วนของปัญหาที่อยากให้ภาครัฐสนใจคือ เรื่องของราคาข้าวตกต่ำ แล้วตอนนี้ชาวนาต้องเพิ่มต้นทุนเกี่ยวกับภาครัฐห้ามเผาตอซังข้าว ส่งผลให้ชาวนาเพิ่มต้นทุนการปลูกข้าว

เราต้องซื้อยาสะลายซังข้าว ต้นทุน 20 ไร่ ก็ต้องเสียเงินกว่า 10,000 บาท อยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจในการลดต้นทุนในการปลูกข้าวของชาวนา เนื่องจากตามท้องตลาดราคาข้าวปลูกสูงขึ้น ส่วนข้าวปลูกที่เราเก็บไว้ก็ปลูกไม่ได้เนื่องจากมีปัญหาข้าวปน

ด้าน นายองอาจ ผลมะเฟือง อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 79/68 หมู่ที่ 7 ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ได้เห็นข่าวตามสื่อ เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ข้าว แล้วรู้สึกว่าชาวนาจะต้องลำบาก เหมือนถูกบีบให้มีความยากในการทำนา เช่น การเผาซังข้าว เผาวัชพืชที่ถูกห้าม เมื่อไม่เผาเราก็ทำนาไม่ได้ หากจะทำต้องเพิ่มต้นทุน เมื่อคำนวณแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนที่เสียไป

ชาวนาเองก็ไม่สามารถเก็บข้าวปลูกเอาไว้หว่านได้ เนื่องจากไม่มีที่ตากข้าว อยากให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ คือจัดสรรให้มีน้ำไว้ให้เกษตรกรชาวนาใช้ปลูกข้าวอย่างเพียงพอ ที่เห็นว่าแปลงนาอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เราไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจาก

ภาครัฐเขาปิดประตูน้ำเพื่อเอาน้ำไว้ใช้ในการผลิตน้ำประปา ทั้งช่วงหน้าแล้งหรือหน้าฝน ภาครัฐหรือหน่วยงานที่ดูแลก็มักจะปิดประตูน้ำบ่อยๆ หลายครั้งชาวนาต้องขาดทุน เพราะการปิดประตูน้ำ รู้สึกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ใส่ใจปัญหาของชาวนาเป็นเรื่องสาระสำคัญ ยิ่งตอนนี้ได้รับผลกระทบมากเลย

สัมผัสเสน่ห์ปลายจวักเรื่องราวแห่งอาหารไทย กับสาวไทยยิ้มสวย “เปรี้ยว อนุสรา” เดินทางค้นเสน่ห์คาเฟ่สไตล์ไทยท่ามกลางเมืองกรุง

หลงเสน่ห์แสงสีเสียงย่านข้าวสาร ค้นหารอยยิ้มกันที่ คาเฟ่ขนมไทย “ร้านเสน่ห์” พร้อมลิ้มรสเมนูซิกเนเจอร์อย่าง ขนมเสน่ห์จันทร์ บุหลันดั้นเมฆ และกลีบลำดวนช็อคโกแลต ซึ่งงานนี้สาว “เปรี้ยว อนุสรา” ของัดสกิลเด็ดโชว์เสน่ห์ปลายจวักทำขนมที่มีความหมายเป็นมงคล อย่าง “สัมปันนี” หมายถึง “อันเป็นที่รัก” จากนั้นไปเรียนรู้กระบวนการทำอาหารไทยโบราณที่ “Maykaidee” พร้อมสัมผัสบรรยากาศความสนุกในชั้นเรียน พลาดไม่ได้กับบรรยากาศเมืองกรุงจากมุมสูง 32 ชั้น ณ “ห้องอาหาร Belga rooftop bar & brasserie โรงแรม Sofitel Bangkok” ที่มีการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น ผสมผสานความเป็นเบลเยียม ปิดท้ายด้วยเมนูสุดพิเศษที่ส่งตรงจากเชฟชาวฝรั่งเศส รังสรรค์อาหารรสเลิศอย่าง “ต้มยำหอย” โดยมีส่วนประกอบของหอยแมลงภู่จากไอซ์แลนด์ ผสมผสานความเป็นไทยอย่างลงตัว

บันทึกรอยยิ้ม อิ่มเอมไปกับเสน่ห์อาหารคาวหวานแบบฉบับไทยๆ กับสาว “เปรี้ยว อนุสรา” ในรายการหลงรักยิ้มเทปสุดพิเศษ วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 16.30 น. ทางช่อง 28 (3SD)

(20 ก.พ. 2562 ณ จังหวัดแพร่) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์

ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาจังหวัด” ภายใต้การดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ โดยมีระยะเวลาโครงการ 4 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มศักยภาพอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดแพร่และพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งเสริมบูรณาการร่วมกันระหว่าง วว.

หน่วยงานของจังหวัดและภาคการผลิตที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถใช้ประโยชน์ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูปในด้านการวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลผลิตการเกษตรและผลิตอาหารของจังหวัดแพร่และพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งดำเนินงานโดย วว. ณ ตำบลแม่จั๊วะ อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคการผลิตในพื้นที่ และลดความเสี่ยงในด้านการลงทุนระยะแรกสำหรับการผลิตหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการโอท็อป SMEs และ Startup หรือผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ

และส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารของจังหวัดแพร่และพื้นที่ภาคเหนือ ในโอกาสนี้ ผู้ว่าการ วว. นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กรรมการบริหาร วว. ผู้บริหาร และหน่วยงานเครือข่าย ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารแปรรูปฯ ด้วย โดยได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุจากพืชในพื้นที่ อาทิ การพัฒนา ชาจากใบเมี่ยง เป็นต้น

กล้วย…ผลไม้คู่ครัวไทย เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่มีเกษตรกรปลูกในเชิงการค้ากันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มักจะพบกับปัญหาเมื่อผลผลิตกล้วยออกสู่ตลาดพร้อมกันในปริมาณมาก ทำให้ต้องขายราคาถูกกว่าต้นทุนการผลิต

เกษตรกรบางรายจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการนำผลกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตากรสธรรมชาติที่หวานหอมอร่อย และต่อยอดด้วยการพัฒนาการผลิตเป็นกล้วยตากรสช็อกโกแลตและรสกาแฟ เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีตลาดรองรับที่ส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้ มีความมั่นคงในการยังชีพ

คุณบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่า ประชากรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทั้งการปลูกพืช ทำประมง และเลี้ยงสัตว์ สำหรับการปลูกพืชเกษตรกรยังคงใช้ต้นทุนผลิตที่สูงหรือไม่พัฒนาการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ผลผลิตจึงด้อยคุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

เพื่อลดปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้มีการจัดการใช้ที่ดิน ทุน แรงงาน ลดต้นทุนปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงด้านตลาด ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อปลูกและผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมหรือ GAP (Good Agricultural Practice) ให้ได้สินค้าเกษตรคุณภาพมาตรฐานที่ตลาดต้องการ และนำไปสู่การยกระดับรายได้ครัวเรือนที่มั่นคง

คุณกนกกุล ชาญเวช เกษตรอำเภอเมือง เล่าให้ฟังว่า จากปัญหาด้านการปลูกและผลิตพืชที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน หรือปัญหาด้านการตลาดที่ไม่สามารถกำหนดราคาซื้อขายได้ จึงส่งผลต่อความมั่นคงของเกษตรกร

สำนักงานเกษตรอำเภอเมือง จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมคิดร่วมทำ ให้มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้เป็นศูนย์รวมการจัดหาปัจจัยราคาถูกมาใช้ในการผลิต เป็นศูนย์รวมรองรับข้อมูลข่าวสารด้านวิชาการเพื่อนำมาสู่พัฒนาการผลิต สนับสนุนแหล่งทุนหรือวัสดุอุปกรณ์ หรือส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตพอเพียง

ด้านพัฒนาการปลูกและผลิตกล้วยพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้ส่งเสริมให้ผลิตในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม และส่งเสริมการแปรรูปเป็นกล้วยตากเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและเพื่อเป็นการถนอมอาหารไว้ได้ยาวนานขึ้น

นอกจากส่งเสริมการแปรรูปเป็นกล้วยตากรสธรรมชาติที่หวานหอมอร่อยแล้วก็ได้สนับสนุนให้พัฒนาการผลิตเป็นกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลตและกาแฟที่เป็นรสชาติแปลกใหม่ ได้เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่เป็นทางเลือกใหม่ของตลาด และเป็นเส้นทางก้าวเดินสู่การยกระดับรายได้ของเกษตรกรในชุมชนไปสู่การยังชีพที่มั่นคง

คุณอชิรวิทย์ ใจดี เลขานุการวิสาหกิจชุมชนชายแดนไทย-ทวาย เล่าให้ฟังว่า ลักษณะพื้นที่เขตตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นป่าชายเขา เป็นพื้นที่ราบสูงลูกฟัก และเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำ ลักษณะดินมีความอุดมสมบูรณ์จึงเหมาะต่อการปลูกพืช และถึงแม้ว่าจะมีการปลูกกล้วยแบบหัวไร่ปลายนาเพื่อบริโภคในครัวเรือน แต่ตลาดกลับมีความต้องการมากขึ้น จึงได้เป็นผู้นำบุกเบิกปลูกกล้วยน้ำว้า และมีเกษตรกรในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกกล้วยกว่า 50 ไร่ โดยคาดหวังว่าจะเพิ่มผลผลิตได้พอเพียงกับความต้องการของผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน เมื่อผลผลิตกล้วยออกสู่ตลาดในปริมาณมาก ราคาซื้อขายก็ต่ำกว่าต้นทุน จึงแก้ปัญหาด้วยการนำผลผลิตกล้วยมาแปรรูปเป็นกล้วยตาก การผลิตได้พัฒนาคุณภาพมาต่อเนื่อง กระทั่งนำมาสู่การผลิตกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลตและกาแฟ เพื่อให้ทุกคนได้ลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่

ขั้นตอนการผลิตกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์

ขั้นแรกบ่มกล้วย ได้คัดเลือกกล้วยดิบเกือบสุกหรือกล้วยแก่ 90-95% เปลือกยังเป็นสีเขียว นำเข้ามาจัดวางไว้ในโรงบ่ม ทำการบ่ม 3-4 คืน เพื่อทำให้ผลกล้วยสุกพร้อมกัน

ขั้นที่สองตากกล้วย นำกล้วยทั้งหมดจากโรงบ่มมาปอกเปลือกออกแล้วนำเข้าไปตากในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์ จัดวางเรียงผลกล้วยบนตะแกรงให้ระยะห่างกันพอเหมาะ ตาก 3-4 วัน น้ำหวานในผลกล้วยออกมา

ขั้นที่สามคัดขนาด เมื่อผลกล้วยที่ตากในโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์แห้งดีแล้ว ได้นำออกคัดเกรดให้ได้ขนาดที่เท่ากัน ทำการตกแต่งผลกล้วยตากให้สวยงาม นำไปทับให้ผลกล้วยเรียบบางหรือไม่หนาเกินไป

ขั้นที่สี่เคลือบรส นำผลกล้วยที่ทับแล้วไปเคลือบครีมช็อกโกแลตหรือครีมกาแฟ เพื่อให้ได้รสชาติแปลกใหม่ มีความน่าสนใจหรือจูงใจให้ผู้บริโภคได้เลือกเติมเต็มความอร่อยที่ต่างไปจากกล้วยตากรสธรรมชาติ

ขั้นที่ห้าคัดขนาดผลกล้วยตาก นำผลกล้วยตากทุกรสมาคัดเกรดหรือขนาดอีกครั้งเพื่อให้ได้ผลกล้วยตากมีขนาดเท่าๆ กัน หรือคัดเป็นผลขนาดใหญ่ กลาง หรือผลขนาดเล็ก หรือคัดเป็นขนาด A B C

ขั้นสุดท้าย นำผลกล้วยตากที่คัดขนาดแล้วมาบรรจุใส่ในซองพลาสติกด้วยเครื่องผนึกร้อน ที่ด้านข้างถุงจะมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์หรือแสดงแหล่งผลิต

คุณอชิรวิทย์ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์กล้วยตากนี้ได้ผ่านการตรวจคุณภาพโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และอนุญาตให้ใช้เครื่องหมาย อย.ประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน

กล้วยตากที่บรรจุในซองขนาดเล็กน้ำหนัก 45 กรัม ขายซองละ 10 บาท และได้จัดใส่ในกล่อง กล่องละ 10 ซอง ขายราคา 90-100 บาท ส่วนผลกล้วยตากขนาดเล็กที่ไม่ได้ขนาดได้ขายส่งราคา 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม

ตลาด ได้ส่งกล้วยตากทุกรสไปวางขายในตลาดหลายแห่ง ทั้งที่ Foodland Black Canyon สนามกอล์ฟเกือบทุกแห่ง ที่บานาน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่ตลาดทั่วไป หรือที่วิสาหกิจชุมชนชายแดนไทย-ทวาย

นี่คือการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงสู่พัฒนาการผลิตเป็นกล้วยตากหลากหลายรสชาติความอร่อย ที่มีตลาดรองรับในการซื้อขาย กระทั่งเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตากขายดีของวิสาหกิจชุมชนชายแดนไทย-ทวาย ที่ส่งผลให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้และมีความมั่นคงในการยังชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณอชิรวิทย์ ใจดี เลขที่ 88/8 หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทร. (081) 640-2520 หรือ คุณกนกกุล ชาญเวช โทร. (087) 019-0019 หรือ คุณณุพัฒน์ ทนยิ้ม สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี โทร. (034) 564-267 ก็ได้ครับ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขยายผลโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เดินหน้ามอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 50 โรงเรียน ดันให้เกิดครุวิจัยและยุววิจัย เพิ่มจำนวนงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ดึงครูแกนนำร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำโครงงานดาราศาสตร์

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ในปี 2558-2561 สดร. ได้มอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สู่ 360 โรงเรียนทั่วประเทศ เกิดเป็นกิจกรรมดาราศาสตร์ทั้งในโรงเรียน และชุมชนมากกว่าพันกิจกรรม เกิดงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนหลายร้อยโครงงาน ในปี 2562 นี้ นอกจากการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนและชุมชนแล้ว สดร. ยังมุ่งหวังให้นำกล้องโทรทรรศน์ไปใช้เพื่อสร้างงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับโรงเรียน สร้างครุวิจัย และยุววิจัยดาราศาสตร์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2562 นี้ มีโรงเรียนผ่านการคัดเลือกเข้ารับมอบกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. จำนวน 50 โรงเรียน จาก 39 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรมการใช้งานกล้องโทรทรรศน์ และร่วมเวิร์คชอปการทำโครงงานดาราศาสตร์เบื้องต้น ร่วมกับ 8 โรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการในปีก่อนหน้านี้ เพื่อฝึกทักษะการใช้งานกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ที่หลากหลาย

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กล้องโทรทรรศน์ในโครงการฯ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว สดร. ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทย ออกแบบ สร้าง และพัฒนาจนได้กล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงเรียน ใช้สำหรับสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว เป็นต้น มีอุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดเลนส์ใกล้ตา กำลังขยายตั้งแต่ 37 ถึง 100 เท่า และอุปกรณ์เพิ่มกำลังขยายพิเศษ 200 เท่า เป็นต้น สามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับวัตถุที่ต้องการสังเกตการณ์ และยังนำกล้องถ่ายภาพดิจิทัลมาเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพดาวเคราะห์และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ได้ ใช้เก็บข้อมูลทำโครงงานดาราศาสตร์ จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ตลอดจนติดตามปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ซึ่งในปีนี้มีทั้งดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน สุริยุปราคาบางส่วน เห็นได้ทั่วประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการสังเกตดวงจันทร์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน นำไปศึกษาเป็นโครงงานดาราศาสตร์ได้

นางสุภารัตน์ พิบาลฆ่าสัตว์ หัวหน้าฝ่ายวิชาการและสนับสนุนโครงงานดาราศาสตร์ โรงเรียนมุสลิมวิทยาภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกในเข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านมาทำโครงงานดาราศาสตร์ทุกปี มีอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ สถาบันราชภัฏภูเก็ต มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และนำกล้องดูดาวมาให้นักเรียนใช้ ที่โรงเรียนมีแค่แผนที่ดาว การได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ครั้งนี้จะทำให้นักเรียนได้ฝึกใช้กล้อง และเริ่มทำโครงงานดาราศาสตร์มากขึ้น เช่น การสังเกตดวงจันทร์ สังเกตการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์ และเนื่องจากเป็นโรงเรียนมุสลิม จึงวางแผนร่วมกับชุมชน ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์ก่อนช่วงถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือวันที่จะออกบวช

ด้าน นางศรุตยา ลุนสะแกวงษ์ ครูชำนาญการ โรงเรียนตราษตระการคุณ จังหวัดตราด เคยได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์จากโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ ดาราศาสตร์ฯ ปี 2560 กล่าวว่า เดิมโรงเรียนเน้นใช้กล้องโทรทรรศน์จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เมื่อทราบข่าวจึงสนใจเข้าร่วมอบรมเพื่อนำแนวคิดการทำโครงงานดาราศาสตร์ไปเผยแพร่แก่นักเรียนได้ทดลองทำ เช่น โครงงานเกี่ยวกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สังเกตการณ์และถ่ายภาพอยู่บ่อยครั้ง คิดว่าจะนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เด็กๆ ได้เริ่มต้นทำงานวิจัยได้

นายอภิรัก อภิวงค์งาม ครูโรงเรียนแกน้อยศึกษา อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในครูเครือข่ายโครงการอบรมครูดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. และเคยนำนักเรียนร่วมเสนอโครงงานดาราศาสตร์ในเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศจนเป็นที่ประจักษ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การทำโครงงานดาราศาสตร์ในครั้งนี้ โรงเรียนแกน้อยศึกษา เป็นโรงเรียนขยายโอกาสอยู่ห่างไกลเมืองและไม่มีวิชาที่เน้นให้เด็กทำโครงงานดาราศาสตร์ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าการทำโครงงานดาราศาสตร์ต้องมีอุปกรณ์ที่พร้อม มีโปรแกรมขั้นสูงในการประมวลผลและเก็บข้อมูล แต่จริงๆ แล้ว แค่มีอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับสังเกตการณ์ง่ายๆ บวกกับความสนใจของเด็กก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้ จึงอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าเด็กจะมีพื้นฐาน ต่างกันอย่างไร แต่ก็สามารถทำโครงงานดาราศาสตร์ได้เหมือนกัน

พิธีมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เพื่อพัฒนาโครงงานดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นการสร้างโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน จะช่วยต่อยอดความสนใจวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่ครูและนักเรียน ให้นำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาความคิด ประยุกต์ให้เกิดเป็นผลงานวิจัย พัฒนาศักยภาพครุวิจัยและยุววิจัยไทยอันจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศชาติต่อไป

วันนี้ (20 ก.พ. 62) ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.คมเมธ จิตวานิชไพบูลย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารระบบงบประมาณและแผนงานวิจัยและนวัตกรรม และรักษาการแทนผู้อำนวยการด้านติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน.) นายเดวิด เบียร์ดมอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ สินค้าบริโภค บริษัท เอก-ชัย

ดิสทริบิวชัน ซิสเทม จำกัด หรือ เทสโก้ โลตัส และ รศ.ดร.อนุวัตร แจ้งชัด คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือทำงานในรูปแบบ 3 ประสาน “ไตรภาคี” (triple helix model) ภายใต้โครงการเมืองนวัตกรรมอาหารภาคกลาง โดยมีคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือในการทำวิจัยนวัตกรรมแปรรูปอาหาร ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารด้วยระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงให้ได้เป็นอาหารเชิงสุขภาพ และมีรสชาติดี เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูปในระดับอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามนโยบายและแผนระบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยผลสำเร็จระยะที่หนึ่งของโครงการในปีงบประมาณ 2561 สามารถพัฒนาชุดอาหารสุขภาพ ประกอบด้วยอาหารคาว 9 ชนิด อาหารหวาน 2 ชนิด อาหารขบเคี้ยว 2 ชนิด เครื่องดื่ม 1 ชนิด รวมเป็น 14 ชนิด และยังได้ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและส่วนผสมอาหารอีก 2 ชนิด โดยจุดเด่นของผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงแบบ minimal process/ novel process เช่น ohmic technology high-pressure technology และ microwave technology encapsulation process และ hurdle technology ร่วมกับการใช้ waste by-product ของวัตถุดิบการเกษตร เพื่อรักษาคุณภาพและสารอาหารเอาไว้ให้มากที่สุดนั้น ทำให้ได้อาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนสูงแต่ย่อยง่าย อาหารที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง และอาหารที่มีแหล่งใยอาหารและพรีไบโอติกส์ เป็นต้น