ผักโมโรเฮยะ ปลูกง่าย เติบโตเร็ว ทนทานต่อภาวะอากาศร้อน

แล้งได้เป็นอย่างดี แค่หว่านเมล็ดผักในแปลงที่เตรียมไว้ ต้นกล้าจะงอกจากเมล็ดภายใน 12-15 วัน ต้นสูงประมาณครึ่งคืบ อายุแค่ 6 เดือน จะมีความสูงกว่า 2 เมตร เปิดให้น้ำทุกๆ 2-3 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ปอชนิดนี้จะมีฝักแก่จัด เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน สามารถเก็บมาใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป ภายในฝักแก่ 1 ฝัก จะมีเมล็ดพันธุ์จำนวนมากเพาะขึ้นเกือบหมดทุกเมล็ด เกษตรกรจะเด็ดใบสดทุกๆ เช้า เพื่อนำมาตากแดด อบแห้ง และบดเป็นผงผักเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปบะหมี่ผักต่อไป

“ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ฟาร์ม” แหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์

ปัจจุบัน ฮาร์โมนี่ ไลฟ์ ฟาร์ม ได้รับใบรับรองออร์แกนิกส์ที่มีมาตราฐานสากลถึง 5 มาตรฐาน คือใบรับรองออร์แกนิค USDA ของสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป IFOAM (Germany) รวมทั้งได้รับการยอมรับจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้เป็นฟาร์มตัวอย่างแห่งประเทศไทย และได้เปิดอบรมการทำฟาร์มออร์แกนิกแก่ผู้สนใจที่เป็นคนไทย ญี่ปุ่น กัมพูชา อินเดีย และอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 400 คน ต่อปี

จุดเริ่มต้นของฟาร์มแห่งนี้ เกิดจากแรงบันดาลใจของ “คุณโช โอกะ” อดีตพนักงานบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกรในประเทศไทย เพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ (harmonylife) จึงเป็นที่มาของชื่อ “ฮาร์โมนี ไลฟ์ ออร์แกนิค ฟาร์ม” ในเวลาต่อมา คุณโช โอกะ ตั้งใจพัฒนาฟาร์มปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทาน

คุณโช โอกะ ห่วงกังวลว่า ปัญหาโลกร้อน ทำให้อุหณภูมิสูงขึ้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง แมลงศัตรูพืชเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานและบ้านเรือน ปัญหายาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลอง ปัญหาขยะล้นโลก ฯลฯ คุณโช โอกะ ยกตัวอย่างว่า ปุ๋ยเคมีที่นิยมใช้กัน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต หินฟอสเฟต โพแทสเซียมคลอไรด์ มีความรุนแรงไม่ต่างจากสารเคมีที่ใช้ในสงครามโลก และสารพิษเหล่านี้ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ในอาหารหรือร่างกายคน แต่ยังแพร่กระจายไปถึงน้ำ อากาศ ในระบบนิเวศ

ปัญหายาฆ่าแมลงตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่น่ากลัวจนตัวสั่น โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงที่นิยมใช้กัน ในกลุ่มสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มสารประกอบคลอรีน ที่อยู่ในรูปของ ดีดีที บีเอสซี อัลดริน และพีซีบี ที่เกษตรกรนิยมใช้ป้องกันไม่ให้แมลงเข้ากัดกินผักที่ปลูก ความจริงแล้ว สารเคมีเหล่านี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยทหารเยอรมัน เพื่อเป็น “อาวุธเคมี” ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรที่สูดดมควันสารเคมีเหล่านี้เสียชีวิตกว่า 5,000 คน ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้คิดค้น “ฝนเหลือง” เพื่อกำจัดผลผลิตทางการเกษตร ต้นไม้ใบหญ้าในสงครามเวียดนาม ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ ทูโฟร์ดี และทูไฟร์ไฟร์ที ซึ่งเป็นสารเคมีในการผลิตฝนเหลือง มาผลิตเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตในสวนส้ม และยาฆ่าหญ้าในไร่นา

ทุกวันนี้ เกษตรกรไทยนิยมใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในระบบนิเวศ ก่อโรคเรื้อรังทำให้มนุษย์มีอายุสั้นลง “เกษตรอินทรีย์” คือคำตอบหนึ่งของการสร้างสังคมให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน เพราะช่วยสร้างโลกที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

คุณโช โอกะ พิถีพิถันการทำเกษตรอินทรีย์อย่างทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพอย่างแท้จริง เริ่มจาก “ระบบน้ำ” เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีในแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเลือกขุดบ่อน้ำลึกถึง 150 เมตร ซึ่งเป็นน้ำสะอาดที่ไหลผ่านมาจากเขาใหญ่ นำมาใช้เพาะปลูกพืชผัก

นอกจากนี้ คุณโช โอกะ ยังใส่ใจดูแลเรื่องดิน เพราะดินถือเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร หากดินมีจุลินทรีย์ที่ดีอาศัยอยู่มาก เช่น แลคโตบาซิลัส ยีสต์ ฯลฯ จุลินทรีย์เหล่านี้จะช่วยย่อยสลายสารอาหาร และช่วยให้รากพืชดูดซึมสารอาหารได้ง่าย ทำให้พืชผักแข็งแรงและมีรสชาติอร่อย

จุดเด่นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ฟาร์มแห่งนี้เลือกทำเกษตรอินทรีย์ด้วยวัชพืช โดยปล่อยให้มีวัชพืชเติบโตแทรกอยู่กับพืชผัก คุณโช โอกะ ให้เหตุผลว่า เมืองไทยมีฤดูฝนนานหลายเดือน แม้ดินจะชุ่มฉ่ำแต่เป็นฤดูกาลที่พืชผักไม่ชอบเอาเสียเลย เพราะฝนเม็ดใหญ่ที่ตกลงมาทำให้เศษดินกระเด็นขึ้นมาถูกใบผักทำให้เกิดจุดหรือรอยซีดเหลืองบนใบผัก หากดินบริเวณใดระบาดน้ำไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหารากเน่าติดตามมา การปล่อยให้มีวัชพืชปะปนในแปลงผัก จะทำให้ดินโคลนกระเด็นน้อยลง แถมวัชพืชยังทำหน้าที่ดูดซับน้ำฝน ทำให้รากผักไม่เน่า

นอกจากนี้ หากเจอแมลงระบาด แปลงผักที่มีวัชพืชปะปน แมลงจะกัดกินวัชพืชก่อน ทำให้ “วัชพืช” ไม่ใช่ศัตรูที่น่ารังเกียจในฟาร์มแห่งนี้ คุณโช โอกะ บอกอีกว่า แมลงจะทำหน้าที่กัดกินผักที่ไม่แข็งแรง ส่วนผักที่เติบโตแข็งแรงดี จะไม่มีแมลงเข้ามากัดกินและไม่เป็นโรคเลย กรณีที่ผักเสียหายจากโรคและแมลง เกิดจากเกษตรกรดูแลไม่ถูกวิธี หากทำการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ยิ่งจะทำให้มีปัญหาโรคและแมลงเพิ่มขึ้น ฟาร์มแห่งนี้จึงเลือกปลูกพืชสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ พริก ฯลฯ ปะปนอยู่ในแปลงปลูกพืช เพื่ออาศัยกลิ่นสมุนไพรช่วยไล่แมลงศัตรูพืช

ดาวเรือง เป็นไม้ดอกที่คนไทยรู้จักกันดีชนิดหนึ่ง เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีสีสันสดใสสะดุดตา ดอกมีลักษณะกลมสวยงาม กลีบดอกจัดเรียงเป็นระเบียบ กลีบดอกยึดแน่นกับฐานดอก ไม่หลุดง่าย อายุการใช้งานนานประมาณ 7-10 วัน นอกจากนี้ ดาวเรือง ยังเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 60-70 วัน ก็สามารถตัดจำหน่ายได้ รวมทั้งดาวเรืองยังเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีทุกสภาพพื้นที่และทุกฤดูกาลของประเทศ และเป็นไม้ดอกสามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง

ในปัจจุบันการปลูกดาวเรืองนอกจากจะปลูกเพื่อตัดดอกขายแล้ว สามารถปลูกลงกระถางหรือถุงพลาสติกเพื่อใช้ประดับตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งมีการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดส่งโรงงานอาหารสัตว์อีกด้วย

แหล่งปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดพะเยา ลำปาง นนทบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และกรุงเทพฯ คุณสมจิตร พลบูรณ์ เกษตรกรผู้ปลูกดาวเรือง เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนมีอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกผัก โดยเฉพาะการปลูกอ้อยโรงงาน ในปัจจุบันนี้การปลูกอ้อยโรงงานมีการลงทุนเยอะมาก ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมี สารเคมี การขนส่ง ประกอบการปลูกอ้อยมีการใช้สารเคมีเยอะมาก ไม่ว่าการกำจัดวัชพืช โรคและแมลง ทำให้สารพิษตกค้างในดิน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมไม่ดี กบ เขียด ปลา จากเคยเห็นตามห้วย หนอง คลอง บึง เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว ก็จะถูกทำลายด้วยสารเคมีทั้งนั้น จึงเลิกทำการปลูกอ้อยโรงงาน เลยทดลองปลูกดาวเรือง จำนวน 1 ไร่ แทนพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจ

ขณะเดียวกันได้คัดเลือกให้เป็นประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลวังทอง ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลวังทอง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลวังทอง ทำให้เข้าใจในเรื่องการเกษตร จะทำการลดการใช้สารเคมี โดยเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ พืชสมุนไพร มาใช้กับพืชที่ปลูกของตนเองและสมาชิกในกลุ่ม มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่าย มีจัดการเรียนรู้ในศูนย์ของตนเอง ได้ทดลองปลูกดาวเรืองตัดดอกจำหน่าย ในอนาคตคิดว่าอาจจะขยายพื้นที่ปลูก โดยการรวมกลุ่มปลูกดาวเรืองก็ได้

การเตรียมแปลง…ควรไถลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร และหว่านปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 200 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อปรับสภาพดิน ตากไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นตีพรวนดินให้ละเอียด และขึ้นแปลงปลูกขนาด 1.20 เมตร

การใส่ปุ๋ยรองพื้น…ก่อนปลูกควรเพิ่มธาตุอาหารให้เป็นไปตามความต้องการของพืช โดยการหว่านปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 1,000 กิโลกรัม เพื่อเพิ่มธาตุอาหารและปรับโครงสร้างดินให้ดี แล้วคลุกเคล้าและเกลี่ยแปลงให้เรียบ

คุณสมจิตร ได้ซื้อต้นดาวเรืองหรือเบี้ยดาวเรือง ต้นละ 2 บาท จำนวน 1 ไร่ ใช้ต้นกล้าหรือเบี้ยดาวเรือง จำนวน 5,000 ต้น โดยใช้ระยะปลูก 1×0.40 เมตร

การดูแล และการจัดการหลังการย้ายปลูก…หลังจากย้ายปลูกแล้วประมาณ 30 วัน จึงเริ่มให้ปุ๋ย โดยเกษตรกรอาจให้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตรา 6 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อเร่งการออกดอก แล้วกลบโคน เพื่อให้รากอากาศเจริญเติบโตมากขึ้น ซึ่งจะช่วยในการหาอาหาร และยึดทรงต้นให้ตั้งตรง ไม่ล้มง่าย

การป้องกันกำจัด โรค-แมลง…ที่พบบ่อย ได้แก่ เพลี้ยไฟ ไรแดง จะเข้าไปกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและใบอ่อน จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก เพลี้ยไฟ ไรแดง จะระบาดมากในช่วงฤดูร้อน และหนอนกระทู้หอม เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน จะเข้าทำลายในขณะที่ดอกดาวเรืองเริ่มจะบาน หนอนจะกัดกินดอกดาวเรือง ทำให้ดอกแหว่งเสียหาย

กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้ออกมาแนะนำการป้องกันกำจัด โดยเน้นให้ใช้สารสกัดจากสะเดา ตะไคร้หอม และใช้เชื้อราบิวเวอเรีย อัตรา 250 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือกาแฟยกล้อ (กาแฟดำ ขนาด 50 กรัม กะทิ 1 กล่อง ยาสูบ (ฉุน) 1 ขีด น้ำสะอาด 1 ลิตร วิธีการทำน้ำยาสูบ 1 ขีด ต้มในน้ำ จำนวน 1 ลิตร ต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำ แล้วเทกาแฟดำใส่ คนให้เข้ากัน แล้วเทกะทิ จำนวน 1 กล่อง คนให้เข้ากัน ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปฉีดพ่น อัตรา 1 กระป๋องกาแฟ/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วแปลงปลูกดาวเรือง

การเด็ดยอด…จะเด็ดยอดหลังจากปลูกไปแล้ว ประมาณ 10-15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่งด้านบนลงจนหักชิดกับข้อที่จับ ช่วยในการแตกทรงพุ่มของลำต้นและความสูงให้สม่ำเสมอกัน แต่ดาวเรืองที่เด็ดยอดจะทำให้การออกดอกช้าลงประมาณ 1 อาทิตย์

การจำหน่าย…จะนำไปส่งที่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง โดยมีการคัดขนาด เกรด A ดอกละ 1 บาท เกรด B ดอกละ 0.90 บาท เกรด C ดอกละ 0.70 บาท และเล็กสุด ดอกละ 0.40 บาท ตั้งแต่ปลูกมาจนถึงวันนี้เก็บดอกจำหน่ายแล้ว จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 5,000 บาท นับว่าดาวเรืองเป็นพืชที่ปลูกง่าย การดูแลง่ายกว่าการปลูกอ้อย ซึ่งต้นทุนการปลูกดาวเรือง ประมาณ 24,000 บาท/ไร่ และดอกดาวเรืองในพื้นที่ 1 ไร่ คาดว่าจะเก็บได้อีกประมาณ 4-5 ครั้ง ก็จะต้องมีการดูแลรักษา การใส่ปุ๋ยอีก หากเกษตรกรท่านใดสนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอนาวัง โทร.

จากสาวพนักงานโรงงานที่จังหวัดชลบุรี คุณอำพร เหล่าลุมพุก ปัจจุบันอาศัยอยู่ หมู่ที่ 5 ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ผันตัวเองกลับภูมิลำเนาพร้อมสามี มาทำการเกษตร จากเดิมปลูกข้าว ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ และภัยแล้ง จึงหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่นา หันมาปลูกอ้อยคั้นน้ำ เมื่อปี 2562 สายพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ที่ให้ผลผลิตสูง ทนแล้ง รสชาติดี สีสวย หอม หวานอร่อย คั้นขายเอง สร้างรายได้หลักแสนต่อไร่ นับว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่คิดต่าง และลงมือปลูกเอง ค้นหาข้อมูลและปรึกษากับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร แล้วขายด้วยตนเอง ถือว่าเป็น Smart Farmer คนเก่งของจังหวัดเชียงราย

อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 นั้น เป็นอ้อยที่มีลักษณะลำต้นสีเขียวอมเหลือง ลำปล้องทรงกระบอก หัวท้ายเสมอค่อนข้างยาวถึงยาวมาก ไม่มีร่องหรือรอยบุ๋มบริเวณตาหรือข้อ อายุเก็บเกี่ยว 8-10 เดือน หลังปลูก ซึ่งถือว่าเป็นระยะให้น้ำอ้อยที่มีคุณภาพ และปริมาณมากที่สุด สามารถปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย มีการปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศท้องถิ่นได้ดี เจริญเติบโตได้เร็ว อัตราการแตกกอดี ได้มาก 12,000-12,500 ลำ ต่อ พื้นที่ปลูก 1 ไร่ รวมทั้งสามารถไว้ตอปล่อยให้แตกหน่อเป็นต้น โดยไม่ต้องปลูกใหม่ดี มีความต้านทานโรคแส้ดำ โรคราใบขาว โรคลำต้นหรือไส้เน่าแดง และหนอนกออ้อยได้ดี หากปลูกในเขตชลประทานหรือมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจะให้ผลผลิต 18-20 ตัน ต่อ พื้นที่ 1 ไร่ หรือคั้นเป็นน้ำอ้อยสดได้มาก 4,900-5,000 ลิตร ต่อ พื้นที่ 1 ไร่ และการออกดอกมักเกิดกับอ้อยตอช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งมีการออกดอกน้อยมาก ทั้งนี้อ้อยเมื่อออกดอกปริมาณความหวานจะลดลง

อ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี 50 เป็นอ้อยที่ปลูกได้ทั้งแบบสวนยกร่อง ในร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอด และแบบพื้นราบให้น้ำด้วยสายยาง โดยสวนแบบยกร่องเริ่มด้วยการไถพรวนดิน ใส่อินทรียวัตถุแล้วปรับเรียบ แต่สวนแบบพื้นราบหลังจากไถพรวนดินใส่อินทรียวัตถุแล้ว ชักร่องลูกฟูก ระยะห่างระหว่างสันลูกฟูก 50-75 เซนติเมตร ท้องร่องระหว่างสันลูกฟูกลึกประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อใช้ขังน้ำตอนให้น้ำ อ้อยคั้นน้ำชอบดินเหนียวมีอินทรียวัตถุมากๆ ดินอุ้มน้ำได้ดีแต่ไม่ขังแฉะ ไม่ควรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เพราะอ้อยเป็นพืชรากลอยหรืออยู่ที่ผิวดิน อาจได้รับความกระทบกระเทือนได้ ทั้งนี้สารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีทุกประเภทล้วนแต่มีสถานะเป็นกรดทั้งสิ้น

การบำรุงดินอ้อยควรใช้วิธีลอกกาบอ้อย แล้วปล่อยให้คลุมหน้าดิน รอเวลาย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป ในเศษใบพืชแห้ง มีปุ๋ยฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม (ตัวกลางและตัวท้าย) สูง จะช่วยเพิ่มความหวานแก่อ้อยได้เป็นอย่างดี

วิธีปลูก ให้ตัดต้นพันธุ์เป็นท่อน แต่ละท่อนมีตา 2-3 ตา สังเกตตำแหน่งตาเมื่อวางท่อนพันธุ์ราบลงกับพื้นแล้วให้มีตา 1 ตา อยู่ด้านบนกับอีก 2 ตา อยู่ด้านข้าง แต่ค่อนมาข้างบน การที่ตาใดตาหนึ่งชี้ลงล่างหรือค่อนไปทางด้านล่าง เมื่อแตกออกมาเป็นหน่อๆ นั้น จะค่อยๆ เลี้ยวขึ้นด้านบนทำให้เสียเวลา ในขณะที่ตาบนสุดโตนำไปก่อนแล้ว หรือบางครั้งตาด้านล่างชี้ลง 90 องศา เมื่องอกออกมาหน่อก็จะปักดิ่งลงดิน ไม่สามารถงอชี้ขึ้นบนได้ และอาจจะเน่าเสียหาย ที่เหมาะสมควรใช้วิธีวางท่อนพันธุ์ราบกับพื้นธรรมดาๆ เปิดหน้าดินลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วกลบด้วยดินหลวมๆ ระยะห่างระหว่างกอ 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 80 เซนติเมตร

หลังจากฝังกลบท่อนพันธุ์แล้ว ควรมีเศษพืชคลุมหน้าดินรักษาความชุ่มชื้น ท่อนพันธุ์จะงอกเร็ว และได้ต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงต่อไป ระยะแรกที่เริ่มปลูกให้น้ำ 3-5 วัน ต่อครั้ง ให้ปุ๋ยระยะเริ่มแตกหน่อ-3 เดือน ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1-2 ลิตร หรือปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อ น้ำ 200 ลิตร อายุต้น 6 เดือน ถึงเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพอัตราเดิม ร่วมปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร เป็นการให้ทางรากด้วยการผ่านไปตามร่องหรือพื้นระหว่างแถวปลูกทุกๆ 15 วัน โดยให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพอย่างเดียวทุกกลางเดือน และให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมีทุกสิ้นเดือน

การตัดมาใช้ประโยชน์ ควรตัดให้ติดพื้นดินมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หลังตัดใช้ปูนกินหมากทาแผลจะช่วยป้องกันเชื้อโรค และช่วยให้อ้อยแตกกอใหม่เร็วขึ้น ซึ่งอ้อยคั้นน้ำสุพรรณบุรี-50 สามารถไว้ตอให้แตกใหม่ได้มาก 3-4 รุ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติบำรุง หากปฏิบัติดีอาจจะได้มากกว่าก็ได้

คุณอำพร เล่าว่า เมื่อปลูกและดูแลอย่างดีมาตลอด เมื่อถึงอายุที่จะเก็บเกี่ยวได้ ก็จะตัดแล้วนำมาคั้นน้ำขาย อยู่ริมถนนใกล้ๆ กับแปลงปลูก โดยปอกอ้อยแล้วนำไปเข้าเครื่องคั้นน้ำอ้อยที่มีอยู่ บริการลูกค้าที่แวะเวียนมาอุดหนุน หลายคนชิมแล้วติดใจในรสชาติ ความหอมหวานและกลิ่นหอมของอ้อยคั้นสด มีการบอกต่อทำให้ขายได้ตลอด คิดรายได้ต่อไร่จะตกไม่ต่ำกว่าแสนบาท ซึ่งแน่นอนว่ารายได้ดีกว่าการปลูกข้าวเป็นสิบเท่า

อยากจะฝากถึงเกษตรกรรายอื่นๆ ยิงปลาออนไลน์ ให้มองถึงพืชอื่นที่สามารถสร้างรายได้ และเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ควรยึดติดกับพืชใดพืชหนึ่ง หรือกับความเคยชิน ต้องวิเคราะห์ถึงการเพิ่มมูลค่า รวมถึงต้นทุนการผลิตว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ หากเราทำก่อน แน่นอนว่าประสบความสำเร็จ หากจะมีคนลอกเลียนแบบ เราอาจไปต่อจนคนอื่นตามไม่ทันก็ได้ ใครอยู่แถวใกล้ๆ อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย แวะมาอุดหนุน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

ลำไย เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล มีพื้นที่เพาะปลูกในประเทศกว่า 1.10 ล้านไร่ แหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 81 อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ แถบจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา และน่าน ที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น สมุทรสาคร จันทบุรี ฯลฯ

ปัจจุบัน ผลผลิตลำไยส่วนใหญ่ถูกส่งออกในลักษณะลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ลำไย ฯลฯ ไปยังตลาดคู่ค้าหลักคือ จีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากกว่าปีละหมื่นล้านบาท ทำให้เกษตรกรรายเก่าและรายใหม่สนใจที่จะลงทุนทำสวนลำไยเพื่อป้อนตลาดส่งออก

ลำไย เป็นไม้ผลที่ต้องใช้ระยะเวลาปลูกนานพอสมควร ดังนั้น ระหว่างที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 4 ขึ้นไป เกษตรกรสามารถหารายได้เสริมในสวนลำไยได้หลายช่องทาง เช่น ปลูกผักหวานออกจำหน่าย โดยเริ่มจากขุดหลุมและรองก้นหลุมด้วยขี้วัว ปลูกผักหวานในระยะห่าง ประมาณ 1.5×2 เมตร จะปลูกผักหวานได้ 500 ต้น ต่อไร่ หากปลูกในระยะห่าง 2×2 เมตร จะได้ 400 ต้น ต่อไร่ ดูแลให้น้ำต้นผักหวานอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงแรกที่ปลูกจะให้น้ำทุกวัน พอผักหวานตั้งตัวได้แล้วจะให้น้ำ 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี สูตร 16-20-0 ปีละ 2 ครั้ง เมื่อต้นผักหวานอายุ 6 เดือน ก็สามารถเก็บยอดออกจำหน่ายได้ ในราคา กิโลกรัมละ 80 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถเพาะกล้าพันธุ์ออกขายได้ ในราคา ต้นละ 10-15 บาท

สำหรับเกษตรกรชาวสวนลำไยในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร นิยมปลูกลำไยในระบบแปลงยกร่อง ช่วงที่ลำไยต้นเล็ก อายุ 1-2 ปีแรก เกษตรกรนิยมปลูกต้นมะพร้าวแกงเพื่อขายตัดยอด โดยปลูกต้นมะพร้าวขนาบต้นลำไย ในแปลงที่ยกร่อง โดยซื้อพันธุ์มะพร้าวแกง ลูกละ 12 บาท นำมาปลูกในระยะห่าง ประมาณ 1.50 เมตร 1 ร่อง จะปลูกต้นมะพร้าวแกงได้ ประมาณ 60 ต้น ใช้เวลาปลูกมะพร้าวประมาณ 16 เดือน จะมีแม่ค้ามาเหมาสวนซื้อยอดมะพร้าว ในราคาต้นละ 200 บาท เทคนิคง่ายๆ แบบนี้ ช่วยโกยรายได้เข้ากระเป๋าได้หลักแสนทีเดียว