ผึ้งตรงนี้จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี คือผึ้งจะเริ่มเข้ามาอยู่เข้ามา

ทำรังในโพรงที่เราสร้างไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะมีการแยกรัง คือพอรังมันสมบูรณ์ ช่วงที่มีดอกไม้เยอะๆ ผึ้งนางพญาก็จะสร้างผึ้งงานได้เยอะขึ้น และถ้ามีปริมาณเยอะพอมันจะไข่เป็นนางพญาออกมา พอนางพญาตัวใหม่พร้อมมันก็จะแยกรังออกไป ยิ่งถ้าที่อยู่อาศัยเขาดี เขาก็จะแยกรังได้เยอะ

ระยะห่างในการติดตั้งรัง จริงๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ บางจุดจะใช้ระยะห่าง 2 เมตร บางจุดจะใช้ระยะห่าง 3 เมตร และการตั้งรังต้องตั้งหันหน้าให้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด

การสร้างรัง สำคัญที่สุดคือไม้ที่นำมาทำต้องเป็นไม้ที่สะอาด ไม่ผ่านการอบยามาก่อน ยิ่งถ้าเป็นไม้เก่าหรือไม้ฝาบ้านเก่าจะยิ่งดี แล้วนำมาทำความสะอาดอีกครั้ง เพราะผึ้งเป็นสัตว์ที่รักความสะอาด หากมีเศษฝุ่น เศษดิน ต้องล้างออกให้หมด แล้วจึงค่อยนำมาประกอบทำเป็นรังในขนาดที่เหมาะสม ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป โดยความกว้างที่ประมาณ 30 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 40-50 เซนติเมตร โดยด้านบนของรังจะใช้สังกะสีเก่าในการทำเป็นหลังคา เพื่อรักษาให้รังไม้คงทนอยู่ได้นานเป็น 10 ปี

“ตามธรรมชาติของผึ้งแล้ว ก่อนที่ผึ้งจะเข้ามาอยู่ในรัง เขาจะมีผึ้งสำรวจเข้ามาก่อน เหมือนเป็นกรรมการชุดแรก จะมีสัก 3-4 ตัว พอมาสำรวจเสร็จ แล้วเขาจะบินเข้าบินออกดูมุมร่อน ดูทิศทาง แล้วก็จะกลับไปบอกกรรมการอีกชุดหนึ่ง ก็จะพากันมาอีกประมาณ 40-50 ตัว ถ้าโอเคเขาก็จะกลับไปบอกพวกอีกชุดแล้วก็จะพากันเข้ามาอยู่ในโพรง มันก็จะสนุกตอนได้ลุ้นว่าผึ้งจะมาเข้าโพรงไหม เพราะผึ้งไม่ใช่ว่าจะมีชุดเดียว อาจจะไปสำรวจเป็น 10 โพรง ผึ้งก็จะเลือกอยู่โพรงที่ดีที่สุด”

ล่อผึ้งเข้าโพรง หลังจากเตรียมโพรงเสร็จ จะทาไขผึ้งเพื่อล่อผึ้งให้เข้ามาอยู่ในโพรง พอทาเสร็จการดูแลหลังจากนั้นคือ ดูแลมด แมลง และสัตว์รบกวนอื่นๆ อย่างเช่น จิ้งจก กิ้งก่า วิธีป้องกัน ถ้าเป็นมดจะใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องเก่ามาคลุมไว้ที่ขาตั้งของรัง มดก็จะไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นสัตว์รบกวนชนิดอื่นๆ จะใช้วิธีกำจัดด้วยการจับทิ้ง

อุปสรรคในการเลี้ยงผึ้ง คือฤดูกาล ถ้าหากปีไหนสภาพอากาศแปรปรวน อย่างปีนี้ฝนตกเยอะผึ้งจะไม่ค่อยลงมาจากภูเขา และการแยกรังก็จะน้อย และปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือ ความชื้น ทำให้เวลาที่จะเก็บน้ำผึ้งต้องหาจังหวะตรงกับที่ช่วงแดดจัด หรือวันที่อากาศร้อนๆ จะดีกว่า และต้องมีการนำมาคลายความชื้นอีกครั้ง

ปริมาณผลผลิต เฉลี่ย 5 ขวดต่อรัง สำหรับจำนวนรังผึ้งที่มีอยู่ 500 รัง จะมีผึ้งเข้ามาทำรังประมาณ 300 รัง ปริมาณน้ำผึ้งที่เก็บได้แต่ละรังไม่เท่ากัน บางรังให้น้ำผึ้งสูงถึง 10-15 ขวด ปริมาณขวดละ 700 ซีซี หรือบางรังให้น้ำผึ้งไม่ถึง 1 ขวดก็มี ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วปริมาณน้ำผึ้งต่อรังจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 ขวด เริ่มต้นเก็บน้ำผึ้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงน้ำผึ้งชุดสุดท้ายที่เป็นน้ำผึ้งช่วงที่ดีที่สุด คือช่วงเดือนเมษายน เพราะเดือนเมษายนจะตรงกับช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ที่เป็นช่วงที่แล้งที่สุด และเป็นช่วงที่น้ำผึ้งดีที่สุด มีความชื้นต่ำสุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วปริมาณผลผลิตที่ได้ขึ้นอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และประสบการณ์เป็นตัวตั้ง ไม่สามารถกำหนดปริมาณได้อย่างแม่นยำ เพราะเมื่อถึงฤดูกาล หากคนไหนที่ขยัน ดูแลผึ้งได้ดีที่สุด รู้จังหวะและช่วงเวลาที่ดีที่สุด เข้าใจธรรมชาติได้ดีที่สุด คนนั้นก็จะได้น้ำผึ้งเยอะที่สุด

ขั้นตอนการเก็บรังผึ้งที่ถูกต้อง
แยกขายได้หลายผลิตภัณฑ์

เจ้าของบอกว่า สำหรับวิธีการเก็บน้ำผึ้งอย่างถูกต้อง จะทำให้ได้น้ำผึ้งที่สะอาดบริสุทธิ์ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บรวงออกมา ให้แยกชั้นออกเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเก็บไว้สำหรับคั้นน้ำผึ้ง ด้วยวิธีการนำรวงผึ้งมาหั่นแล้วใช้มีดสับให้ละเอียด แล้วไปใส่ไว้ในถุงผ้าขาว ห่อทับด้วยถุงพลาสติกอีกชั้น จากนั้นนำไปห้อยไว้กับราวไม้ที่เตรียมไว้ น้ำผึ้งจะหยดออกมาเอง โดยที่ไม่มีการบีบ ใช้เวลาประมาณ 3 วัน กว่าน้ำผึ้งจะออกมาทั้งหมด

ส่วนตรงกลางจะเป็นส่วนของเกสรผึ้ง และชั้นล่างสุดจะเป็นตัวอ่อน การเก็บคือต้องเริ่มเก็บแยกออกเป็น 3 ชั้น แยกภาชนะใส่ให้ชัดเจน เพราะถ้าเก็บมาทับกัน หรือว่าเอามาใส่รวมไปด้วยกัน โอกาสที่เกสรหรือตัวอ่อนจะแตกไปผสมกับน้ำผึ้งมันจะมีเยอะ และให้ทำอย่างเบามือที่สุด อย่าจับจนรวงผึ้งเละ หรือว่าตอนที่เก็บรวงผึ้งออกมา บางคนใช้สโมกในการสยบผึ้ง เป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะจะทำให้กลิ่นควันติดไปที่รวงผึ้ง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดควรใส่เสื้อผ้าที่หนาและชุดป้องกันที่ดี และรู้จังหวะของผึ้ง เพราะโดยธรรมชาติของผึ้งจะหวงรังอยู่แล้ว ก็ให้เบามือในการเปิดฝา และยกด้านท้ายของรังให้สูงขึ้น แล้วเคาะโพรงให้เกิดการสั่นสะเทือนจะทำให้ผึ้งเคลื่อนตัวไปอยู่ที่สูงแล้วผึ้งจะทิ้งรังไปอยู่ด้านบน แล้วพอเก็บรวงออกมาได้สัก 1 รวง ผึ้งจะเริ่มสงบ รวงต่อๆ ไปก็จะเก็บง่ายขึ้น นี่คือเทคนิคจากประสบการณ์ที่สะสมมา หากทำอย่างถูกต้องจะสามารถแยกขายได้หลากหลายผลิตภัณฑ์ คือ

ขายเป็นรวงผึ้งสด 500 กรัม ราคา 300 บาท
ขายเป็นน้ำผึ้งบรรจุใส่ขวด 700 ซีซี ราคา 300 บาท
ขายเป็นเกสรผึ้ง 500 กรัม 300 บาท
ไขผึ้ง ขายราคากิโลกรัมละ 500 บาท
คิดเป็นรายได้ปีละ 200,000 บาท หักลบต้นทุนค่าน้ำมันรถ ค่าบรรจุภัณฑ์ออกไป 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นกำไรทั้งหมด ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพสร้างรายได้ที่น่าสนใจ ใช้เงินลงทุนน้อย มีเวลาไม่ต้องมากก็สามารถทำได้

“ตลาดหลักของพี่มาจากตลาดออนไลน์กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหน้าสวนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ มีลูกค้าสั่งจากทั่วประเทศ และน้ำผึ้งถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มหัศจรรย์ ราคาจะขยับขึ้นตลอด สวนทางกลับไม้ผลหลายชนิด อย่างที่ของพี่เริ่มขายมาตั้งแต่ราคาขวดละ 200 บาท ขยับขึ้นเป็น 250 บาท จนตอนนี้เป็น 300 บาท และเป็นเพียงไม่กี่ผลิตภัณฑ์ที่หากขายถูกจะขายไม่ได้ เพราะคนจะไม่เชื่อในคุณภาพ หรือมองว่าเป็นน้ำผึ้งไม่แท้ การขายน้ำผึ้งก็เหมือนกับเป็นการใช้ใจแลกใจด้วย โดยเฉพาะทางใต้ขายน้ำผึ้งราคาขวดละ 300 บาท เขาบอกว่าถูก แต่ถ้าขายทางเหนือเขาจะบอกว่าแพง เพราะที่เหนือมีพื้นที่ผลิตน้ำผึ้งได้เยอะ ก็ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค และคนขายต้องอธิบายกับลูกค้าให้ได้ว่าน้ำผึ้งของเราเป็นน้ำผึ้งแท้อย่างไร ซึ่งน้ำผึ้งแท้จริงๆ จะมีกลิ่นที่หอมลึกลงคอ เป็นกลิ่นหอมของพื้นที่ตามดอกไม้ป่า” พี่สันต์ กล่าวทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น เพื่อเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นประจำทุกปี โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่าง

ปี 2564 คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง เห็นถึงความสำคัญของโครงการและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่เกษตรกร จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการคัดเลือกเกษตรกร บุคคลทางการเกษตร และสถาบันเกษตรกรดีเด่น

ในบทความนี้เรามาทำความรู้จักกับเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ประจำปี 2564 ของสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจให้เกษตรกรทุกคน

ร.ต.ท. ธีรวุฒิ คุ้มพานิช อดีตข้าราชการตำรวจ ที่หันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ตามความใฝ่ฝันในวัยเด็ก

“ผมเป็นลูกชาวนา เติบโตมาในครอบครัวชาวนา หาปลา ปลูกผัก ปลูกหญ้า พอได้กิน เหลือก็แบ่งปัน อยู่กับธรรมชาติ” ทำตามความฝัน
ลาออกจากราชการ

“ผมลาออกจากราชการ ตั้งแต่ปี 2547 เพราะอยากสร้างและอยู่ในสังคมที่เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน มีมิตรไมตรีต่อกัน และมีความสุข จึงตัดสินใจลาออกมาเป็นเกษตรกรที่มีความสุข พอลาออก ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ผมก็ต้องคิดหาทางทำยังไงให้มีเงิน มีกิน พอใช้ ไม่สร้างภาระหนี้สิน ไม่เป็นภาระลูก-เมีย ก็เลยคิดวางแผนทำการเกษตรบนที่ดินที่มีอยู่ ให้มีครบทั้งนาข้าว ไม้ผล พืชผัก ปลา พูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องซื้อเขากิน มันก็ลดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง และยังมีรายรับจากการเอาไปขายด้วย”

“ผมเริ่มจากทำนาก่อน เพราะแต่ก่อนที่ดินผืนนี้เป็นทุ่งนา ก็ช่วยกันกับภรรยา ทำไปทำมาจนชาวบ้าน เพื่อนบ้านข้างๆ คงเห็นความตั้งใจ เลยอาสามาช่วยทำตั้งแต่เริ่มเตรียมแปลงจนข้าวออกรวงช่วยกันเกี่ยวข้าว ได้ผลผลิตมาแบ่งปันกัน สร้างมิตร สร้างรอยยิ้ม สร้างความสามัคคีเกิดขึ้นภายในชุมชนเล็กๆ รอบๆ”

“ไร่คุ้มพานิช” หลายๆ กิจกรรมการเกษตร เกิดเป็น “ไร่นาสวนผสม” และ “เกษตรกรดีเด่น” “ตอนนี้เรามีกิจกรรมหลายอย่าง มีโฮมสเตย์ที่อยู่ในนาข้าวและในสวนผสม รวม 18 หลัง ร้านส้มตำลอยฟ้า-กาแฟยอดไม้ บริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งกิจกรรมการเกษตร อย่างท่องเที่ยวเชิงเกษตร นักท่องเที่ยวได้มาชมไร่นาสวนผสม ซึ่งจะแบ่งพื้นที่ปลูกพืชหลากหลายพันธุ์หลายชนิด เช่น นาข้าว มะพร้าวน้ำหอม 400 ต้น ส้มโอทองดีและทับทิมสยาม รวม 50 ต้น ฝรั่งกิมจู 200 ต้น หน่อข่า 200 ต้น นาบัวหลวง ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เลี้ยงปลาน้ำจืดไว้ 3 บ่อ มีโรงเรือนปลูกเมล่อน 2 หลัง แต่ตอนนี้พักการปลูกและให้ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกหรือว่าต้องเสียค่าเช่าที่ มาปลูกผักปลอดสารพิษ และแบ่งพื้นที่ประมาณ 2 งาน ให้ชาวบ้านปลูกดาวเรืองเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมรายได้ทั้งหมดจากการทำไร่นาสวนผสมเมื่อหักค่าใช้จ่าย ประมาณ 700,000 บาทต่อปี”

“มาถึงตอนนี้ผมว่าเราอยู่ได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน ข้าวปลาอาหารก็แทบไม่ต้องซื้อ พอกินพอใช้ แบ่งปันกัน ผมตัดสินใจไม่ผิดที่พลิกชีวิตมาเป็นเกษตรกร เพราะสิ่งที่ผมทำสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ถึงแม้จะไม่ร่ำรวยก็ได้แบ่งปันผู้อื่น ผมมีความสุขกว่าเมื่อก่อนมาก ครอบครัวก็พลอยมีความสุขไปด้วย และที่ภูมิใจมากอีกอย่างคือ ในปีนี้ผมได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ต้องขอขอบคุณเกษตรจังหวัดตรัง คณะกรรมการคัดเลือกและเจ้าหน้าที่เกษตร ที่มองเห็นถึงความตั้งใจจริง ในสิ่งที่ผมกำลังทำ มันมีค่าสำหรับผมมาก ขอบคุณทุกคนจริงๆ” ร.ต.ท. ธีรวุฒิ เล่าให้ฟังอย่างมีความสุข

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “ไร่คุ้มพานิช” ร.ต.ท. ธีรวุฒิ คุ้มพานิช เบอร์โทร. 089-292-2056 เพจเฟซบุ๊ก : ไร่คุ้มพานิช ส้มตำลอยฟ้า กาแฟยอดไม้ Rai Kum Panich

คุณชนัญชิดา ทองสวัสดิ์ หรือ พี่หน่อย อยู่บ้านเลขที่ 180 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์บ้านนา ลงทุนเดินทางไปทำงานต่างแดนเพื่อเก็บเงินมาสานฝันสมัยวัยเด็กให้เป็นจริง คือการเป็นเกษตรกร ได้ทำงานที่เธอรักและได้อยู่กับครอบครัว ซึ่งเธอบอกว่าฝันของเธออาจจะไม่ยิ่งใหญ่ในสายตาคนอื่น แต่การได้เป็นเกษตรกรคือความฝันอันสูงสุดของเธอ และตอนนี้เธอก็ได้กลับมาสานฝันให้เป็นจริงแล้ว ทั้งได้กลับมาอยู่ที่บ้านกับครอบครัว และได้ทำงานเกษตรที่รัก แค่นี้ก็สุขใจแล้ว

พี่หน่อย เล่าถึงจุดเริ่มต้นการทำเกษตรว่า อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ตนเองใฝ่ฝันอยากจะทำอยู่แล้วตั้งแต่สมัยเด็ก และพื้นฐานครอบครัว ญาติพี่น้องก็เป็นเกษตรกรกันมาอยู่แล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าการอยากที่จะเป็นเกษตรกรของตนเองก็ดูไม่ใช่เรื่องยากอะไรใช่ไหม เพราะก็แค่เข้าไปทำสานต่องานของที่บ้านได้เลย โดยที่ไม่ต้องพยายามดั้นด้นไปทำงานไกลถึงต่างประเทศ แต่ที่ตนเองต้องทำแบบนี้ก็เพื่ออยากที่จะมีเงินทุนเป็นของตนเองสักก้อน เพื่อกลับมาพัฒนางานเกษตรของบ้านที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และอยากที่จะลงทุนทำอะไรใหม่ๆ ให้ต่างไปจากการปลูกข้าวที่บ้านทำไว้ และเมื่อทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งก็ไม่รอช้าที่จะกลับมาทำเกษตร ที่เป็นอาชีพที่อยู่ในสายเลือดมาตั้งแต่เด็ก ด้วยการกลับมาริเริ่มปลูกเตยหอม ที่เป็นพืชปลูกดูแลง่าย ลงทุนน้อย ปลูกครั้งเดียวเก็บขายได้นานเป็น 10 ปี และสามารถสร้างรายได้เข้ามาจุนเจือได้ทุกวัน โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักเหมือนกับปลูกพืชชนิดอื่นๆ

“ปลูกเตยหอม 1 ไร่” ลงทุนน้อย
ปลูกครั้งเดียวเก็บขายได้นาน
สร้างรายได้เข้าบ้านได้ทุกวัน
เจ้าของบอกว่า หลังจากที่กลับมาจากที่ไปทำงานต่างประเทศ ตนเองกำเงินเก็บที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนบาท เพื่อกลับมาทำการเกษตรโดยเฉพาะ ซึ่งในช่วงแรกที่ได้เริ่มต้นลงมือทำก็เกือบไปไม่รอด ด้วยเงินเก็บที่มีไม่มากนัก ประกอบกับปัจจัยอีกหลายอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ แต่ก็อดทนสู้จนผ่านพ้นวิกฤตตรงนั้นมาได้ และด้วยความคิดที่แหวกแนว อยากทำอะไรที่แปลกใหม่ไปจากของที่บ้านทำอยู่ จึงพยายามมองหาความแตกต่าง ปลูกพืชที่ชาวบ้านเขาไม่ค่อยปลูกกัน และที่สำคัญคือต้องสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่อนข้างฝืดเคือง เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องเลือกปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้ ได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี ลงทุนครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นาน เก็บขายทุกวัน สุดท้ายคิดไปคิดมาจึงมาจบที่การปลูกเตยหอม

โดยเตยหอมที่ปลูกจะมีลักษณะเด่นที่ใบเรียว สีเขียวเข้ม และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีสรรพคุณช่วยดับกระหายคลายร้อน อีกทั้งยังนำมาแปรรูปได้ทั้งอาหารคาวและหวาน ปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นาน ซึ่งในปัจจุบันที่สวนปลูกเตยหอมเพียง 1 ไร่ ใช้แรงงานปลูกกับแม่ 2 คน แต่ก็สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายๆ

การปลูก
เตยหอมเป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ชอบแสงแดดรำไร แต่ถ้าไม่โดนแดดเลยจะโตช้า เตยหอมเป็นพืชที่ชอบน้ำ ดังนั้น หากดินปลูกไม่มีส่วนผสมของดินเหนียว จึงควรต้องรดน้ำให้ชุ่มแฉะ ยิ่งมีน้ำขังจะยิ่งแตกกอได้ไว และสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่ฤดูที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงฤดูฝน จะไม่ต้องดูแลมาก

การเตรียมดิน
เริ่มจากการปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน แล้วบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอกทั่วไป โดยของที่สวนจะทำแปลงปลูกคล้ายๆ กับการทำนาเมื่อปรับพื้นที่ให้เรียบสม่ำเสมอแล้ว จากนั้นปล่อยน้ำเข้าไปให้ขังอยู่ในแปลงสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วลงมือปลูกได้เลย

โรงเรือนปลูก ใช้เพียงเสาปูน และทำหลังคาซาแรนสีดำพรางแสงที่ 60 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นขุดหลุมปลูกต้นเตยหอมให้ห่างกันต้นละประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อสะดวกในการเก็บใบเตยและดูแลทำความสะอาด

การดูแล
ให้หมั่นกำจัดวัชพืชที่มีอยู่ในแปลงออก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ลดการเกิดโรคระบาด ซึ่งแนะนำให้กำจัดวัชพืชด้วยการดึงออกด้วยมือ ไม่ควรใช้สารเคมี และที่สำคัญควรมีการรดน้ำให้สม่ำเสมอเพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดหรือถ้าหากท่านใดมีเวลาน้อยก็แนะนำให้ติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ได้เพื่อความสะดวก โดยจะรดน้ำวันละ 2 รอบ คือช่วงเช้าและเย็น และต้องเป็นช่วงที่มีแสงแดดไม่จัด

ปุ๋ย ควรบำรุงต้นด้วยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในช่วงเดือนที่ 2 เป็นต้นไป โดยการใส่ปุ๋ยคอกเพื่อบำรุงต้น ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี 2-3 เดือนใส่ครั้ง เพราะถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้ดินเค็มไม่เป็นผลดีต่อพืช ส่วนอาหารทางใบจะใช้น้ำหมักที่ทำขึ้นมาเอง มีทั้งน้ำหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย ฮอร์โมนนมสด และฮอร์โมนไข่ โดยจะเน้นให้อาหารทางใบเป็นส่วนใหญ่ ด้วยวิธีการปล่อยไปพร้อมกับน้ำ 2 อาทิตย์ ให้ปุ๋ยทางใบ 1 ครั้ง จะทำให้ต้นเตยเจริญเติบโตได้เร็ว ใบเขียวเข้ม และเป็นที่ต้องการของตลาด

ปริมาณผลผลิต เตยเป็นพืชประเภทที่ยิ่งตัดยิ่งแตกใบ ใช้เวลาการปลูกประมาณ 8 เดือนให้เก็บผลผลิตครั้งแรก แล้วหลังจากนั้นก็สามารถเก็บผลผลิตขายได้อีกเรื่อยๆ

การจำหน่ายเตยหอม แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ 1. แบบขายใบ ซึ่งในแต่ละเดือนสามารถตัดใบขายได้ประมาณ 4 ครั้ง โดยจะตัดในช่วงก่อนวันพระ 1-2 วัน ในการตัดก็จะเลือกตัดเฉพาะใบที่ไม่มีตำหนิ ตัดจากใบด้านล่างขึ้นมา ปัจจุบัน สามารถเก็บใบเตยได้ครั้งละกว่า 100-200 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท 2. แบบขายต้นแขนง ซึ่งจะเลือกเก็บเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ รูปทรงสวย ในราคาแขนงละ 50 สตางค์ โดยลูกค้าจะนำไปมัดรวมกับดอกไม้กำ หรือนำไปขยายพันธุ์ต่อไป และ 3. ขายให้กับแม่ค้าคนกลางสำหรับการนำไปแปรรูปทำชา ทำเตยแห้งส่งขายตลาดต่างประเทศ ในราคาขายแบบเหมายกสวนกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งหากคิดเป็นรายได้ต่อวันรวมกันทั้งหมดเฉลี่ยได้วันละพันกว่าบาท ถือเป็นอาชีพที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนเพียงครั้งเดียว เหมาะสำหรับมือใหม่อยากทดลองปลูกทำเป็นอาชีพเสริม แนะนำให้ปลูกได้ ใช้พื้นที่ไม่ต้องถึง 1 ไร่ ก็สามารถปลูกได้ ราคาต้นพันธุ์ที่ขายจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 บาทต่อต้น 1 ไร่จะปลูกได้ประมาณ 3,000 ต้น ขึ้นอยู่ที่ระยะห่างระหว่างต้นด้วย

ตลาดอยู่ที่ไหน
ตลาดในชุมชน ใช้วิธีการเจาะกลุ่มแม่ค้าที่ไม่เล่นโซเชียล ด้วยการเดินเข้าไปหาและนำสินค้าที่มีอยู่ไปนำเสนอ ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ตลาดออนไลน์ ใช้วิธีการดึงดูดความสนใจด้วยการหมั่นโพสต์เรื่องราวภายในสวน ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
ตลาดแม่ค้ากลุ่มกลาง คือกลุ่มแม่ค้าที่นำไปทำสินค้าแปรรูปจากใบเตย ฝากถึงผู้ที่สนใจอยากปลูกเตยหอม
เป็นอาชีพเสริม ตลาดยังไปได้ดี

“การปลูกเตยหอมไม่มีอะไรยุ่งยาก สำคัญที่น้ำอย่าให้ขาด และหมั่นดูแลกำจัดวัชพืชอยู่สม่ำเสมอ และในบางครั้งอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของการทำเกษตร จึงอยากให้ทุกท่านที่สนใจ ค่อยๆ เรียนรู้ลองผิดลองถูก ใช้เวลาไม่นานก็จะเกิดความชำนาญได้ไม่ยาก เพราะถ้าหากท่านผ่านช่วงเวลาที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้วก็จะเจอกับความสดใสได้ไม่ยาก เพราะผลตอบแทนจากการปลูกเตยก็ดีไม่น้อย ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ ก็สามารถทำเงินได้ และที่สำคัญไปมากกว่านั้นคือความสุขที่ได้รับจากอาชีพเกษตร คือการได้อยู่กับครอบครัว

ได้ทำในสิ่งที่รัก ได้เป็นนายตัวเอง ได้ทำงานอิสระ ซึ่งอาชีพเกษตรก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นอีกอาชีพทางรอดในยุคโควิดได้ดี เพราะในช่วงที่ผ่านมาหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงเพราะพิษโควิด แต่การปลูกเตยของที่นี่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ยังมีออเดอร์เข้ามาอยู่ตลอดไม่มีพัก และอยากให้ใครหลายคนที่เคยมองข้ามอาชีพการปลูกเตยไปให้คิดใหม่ เพราะว่าบางคนปลูกแต่ไม่รู้ว่าจะไปขายไหน แต่จริงๆ แล้วเราสามารถทำตลาดได้หลายด้านมาก ถ้าคิดเป็น ถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจ เป็นพืชที่ตลาดต้องการ” พี่หน่อย กล่าวทิ้งท้าย

คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือ พี่แตน ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์สาวพังงา อยู่บ้านเลขที่ 90 ถนนศรีตะกั่วป่า ตำบลตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ดีกรีปริญญาตรี จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกียรตินิยมอันดับ 1 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ความรู้ ความสามารถ ไม่เป็นสองรองใคร แต่อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอคนนี้ยอมทิ้งอนาคต แล้วผันตัวสู่อาชีพเกษตรกรรมอย่างเต็มภาคภูมิ

คุณเบญจวรรณ ใจหลัก หรือ พี่แตน letterecaffe.org เกษตรกรสาวผู้มากความสามารถเล่าถึงจุดเปลี่ยนจากนักเศรษฐศาสตร์สู่การเป็นเกษตรกรว่า หลังจากที่เรียนจบมา ตนได้ทำงานประจำเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำเพื่อหาคอนเน็คชั่นต่อยอดการทำงานไปเรื่อยๆ แต่ด้วยความที่ตนเป็นคนต่างจังหวัด พ่อแม่ก็อาศัยอยู่ที่ต่างจังหวัด อายุของท่านก็เริ่มมากขึ้น อยากที่จะกลับไปดูแลท่าน จึงยอมที่จะสละหน้าที่การงานแล้วมองหาลู่ทางเพื่อที่จะกลับมาทำมาหากินที่จังหวัดบ้านเกิดของตัวเองที่พังงา พยายามมองหาจุดแข็งจุดอ่อนของจังหวัดว่ามีอะไรบ้าง กระทั่งพบว่า ที่อำเภอตะกั่วป่ามีจุดแข็ง คือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครึกครื้นเกือบตลอดทั้งปี มีโรงแรม รีสอร์ต หลายร้อยแห่ง แต่ยังไม่มีใครปลูกผักส่งโรงแรมเลย เนื่องจากความที่พังงาเป็นจังหวัดที่มีฝนตกมาก ไม่เหมาะกับงานเกษตรเท่าไร บวกกับที่คนในพื้นที่มีตัวเลือกช่องทางการสร้างอาชีพหลายช่องทาง หันไปทำงานตามโรงแรมที่สถานบันเทิงกันหมด อาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักส่งโรงแรมจึงกลายเป็นหนทางสร้างอาชีพรองรับตน หลังจากลาออกจากงานประจำที่กรุงเทพฯ

ล้มเหลวจากผักออร์แกนิก
สู่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คุณภาพสูง
เจ้าของบอกว่า หลังจากที่มองเห็นช่องทางสร้างรายได้ที่บ้านเกิดแล้ว จึงเริ่มลงมือทำ โดยจุดประสงค์แรกคือ ตั้งใจปลูกผักออร์แกนิก ปลูกมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ก็พบว่าผักออร์แกนิกมีปัญหาหลายอย่างคือ

เรื่องของสภาพอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกมาก ปลูกยาก
ต้นทุนแรงงานสูง หาคนงานยาก
ควบคุมป้องกันโรคแมลงยากมาก
โดยในช่วงแรกของการปลูกผักออร์แกนิก ความรู้ส่วนใหญ่เกิดจากการลองผิดลองถูกของตนเอง เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ความรู้ในอินเตอร์เน็ตเรื่องการปลูกผักออร์แกนิกยังมีน้อยมาก แต่โชคดีที่ได้ไปเจอกับเพจที่สอนทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองของแม่โจ้ ก็เริ่มใจชื้นขึ้นมา เพราะการปลูกผักอินทรีย์ต้องใช้ปุ๋ยหมัก ก็รู้วิธีการหมักปุ๋ยไว้ใช้เอง หมดปัญหาเรื่องปุ๋ยไปหนึ่งเปลาะ จากนั้นก็ต้องมางมหาความรู้เรื่องของการกำจัดโรคแมลงต่อ ทำไปทำมาจนกระทั่งกรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยเรื่องของการกำจัดโรคแมลง

มีการนำเทคโนโลยีมาให้ทดลองใช้ เช่น ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย ลองผิดลองถูกเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ศึกษานิสัยของผักแต่ละชนิด รวมถึงศึกษาว่าแมลงและโรคแต่ละชนิดจะมีวิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างไรบ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง จึงเปลี่ยนมาทำไฮโดรโปนิกส์เพราะทำง่ายกว่า ใช้ต้นทุนในแต่ละเดือนน้อยกว่าการปลูกผักอินทรีย์ ช่วยลดในส่วนการจ้างงาน ผักไฮโดรโปนิกส์จะติดตรงที่มีต้นทุนเริ่มต้น ค่าทำโรงเรือน ค่าซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จะสูงกว่าทำอินทรีย์ แต่จะคุ้มในระยะยาว และเรื่องของคุณภาพและปริมาณของผลผลิตจะดีกว่าด้วย

วางแผนการปลูกยังไง
ให้มีผักส่งขายทุกสัปดาห์
พี่แตน เล่าว่า เมื่อก่อนเริ่มต้นการปลูกผักออร์แกนิกบนพื้นที่ 2 ไร่ แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำไฮโดรโปนิกส์ตอนนี้ลดพื้นที่การปลูกลงมาเหลือ 1 ไร่ ปลูกในโรงเรือน ขนาดความกว้าง 6×20 เมตร 4-5 โรงเรือน และยังมีในส่วนของโรงเรือนที่ออกแบบเองอีกด้วย ซึ่งในอนาคตมีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนี้ต้องหยุดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยผักที่ปลูกหลักๆ จะเป็นผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส ปลูกส่งโรงแรม ถ้าเป็นผักไทย เช่น ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง จะปลูกส่งตลาดในท้องถิ่น มีการวางแผนปลูกทุกสัปดาห์ หรือทุก 10 วัน สลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้มีผักออกขายทุกสัปดาห์ และเพื่อให้มีผักป้อนโรงแรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงแรมก็จะมีช่วงเวลาของการเปิดรับช่วงไฮซีซั่น คือช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน จะเน้นปลูกผักสลัด หลังจากนั้น เริ่มเข้าหน้าฝน โรงแรมบางแห่งจะปิดและลดปริมาณการสั่งผักลดลง ที่ฟาร์มก็จะเริ่มวางแผนการผลิตผักไทยมากขึ้น และเพื่อเป็นการลดการสะสมของเชื้อโรคที่จะเกิดขึ้นในผักสลัดด้วย เพราะเมื่อเข้าสู่หน้าฝน ปัญหาคือ โรคใบจุด จึงจำเป็นต้องปลูกพืชสลับหมุนเวียนกันไป เพื่อให้เข้ากับฤดูกาลและหนีโรคแมลง