ผู้ป่วยระยะพักฟื้นและนักกีฬา ควรบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่

เป็นข้าวสายพันธุ์ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ทั้งชนิดที่ละลายในน้ำและละลายในไขมัน มีธาตุเหล็ก สังกะสี เหมาะกับผู้ป่วยพักฟื้น ในการช่วยบำรุงร่างกาย เคลือบด้วยสารสกัดอัญชัน กระเจี๊ยบแดง ฟักข้าว มะเขือเทศ น้ำมันถั่วดาวอินคา เมื่อรับประทานข้าวชนิดนี้เป็นประจำผสมกับอาหารที่มีโปรตีนจากปลา ผัก และผลไม้ ก็จะทำให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูและกลับมาทำงานได้รวดเร็วตามปกติ

ระยะหลังภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งอากาศร้อน ฝนแล้ง โรคแมลงก็เยอะ แถมปลายปีเจอน้ำท่วมซ้ำเติมอีก ใครปลูกพืชเชิงเดี่ยว เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก หากปรับแนวคิดจากพืชเชิงเดี่ยวสู่การทำเกษตรผสมผสานที่มีหลากหลายพันธุ์พืชในแปลงเดียวกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะช่วยกระจายความเสี่ยง เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เพราะมีผลผลิตหมุนเวียนเข้าตลาดได้เรื่อยๆ

พ่อจันทร์ที ประทุมภา ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตร เศรษฐกิจพอเพียงปี 2554 จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่นำความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ปลูกพืชแบบผสมผสาน จนประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินก้อนโตได้สำเร็จในปีที่ 5 แถมยังเหลือเงินออม ทำให้พ่อจันทร์ทีได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเกษตรทฤษฎีใหม่จากการประกวดผลงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครั้งที่ 1 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

ล้มเหลวสักกี่ครั้ง ก็สู้ไม่ถอย

พ่อจันทร์ที เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ด้วยความขยันหมั่นเพียร สะสมเงินทุน ตั้งตัวได้ในฐานะนักธุรกิจ มีกิจการโรงสี มีฟาร์มเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์และสุกรขุน ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดีในขณะนั้น ต่อมามีเพื่อนมาชวนพ่อจันทร์ทีทำอาชีพนายหน้าจัดหาแรงงานไปทำงานต่างประเทศ พ่อจันทร์ทีเรียกเก็บเงินจากแรงงานส่งให้เพื่อน จำนวน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าประกันและค่าทำวีซ่า ปรากฏว่าเพื่อนโกงเงินไป ทิ้งให้พ่อจันทร์ทีแบกรับภาระหนี้สินทั้งหมด

“ผมเสียใจมาก จนอยากฆ่าตัวตาย แต่ภรรยาผม (แม่สำเภา ศรีนนท์นาม) เตือนสติว่า ฆ่าตัวตายไป ลูกหลานจะกลายเป็น “แพะรับบาป” แทน ทำให้ผมฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง ผมยอมขายทรัพย์สินและจำนองที่ดินเพื่อนำเงินล้างหนี้สินก้อนดังกล่าว ผมยอมเปลี่ยนอาชีพจากนักธุรกิจ มาเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ยอมทำงานทุกอย่าง เพื่อให้มีเงินรายได้เลี้ยงดูครอบครัวต่อไป” พ่อจันทร์ที กล่าว

พ่อจันทร์ที โชคดีที่ได้มิตรแท้น้ำใจดี ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ชวนเขาไปคุมงานก่อสร้างที่ประเทศสิงคโปร์ ในช่วงระยะเวลา 1 ปี พ่อจันทร์ทีทุ่มเทแรงกายแรงใจตั้งใจทำงาน ประหยัดอดออม จนสามารถเก็บเงิน 150,000 บาท ติดมือกลับเมืองไทย เพื่อนำมาไถ่ถอนที่นาที่ติดจำนอง และเริ่มต้นทำอาชีพเกษตรกรรมใหม่อีกครั้ง

แม้จะได้ที่นาคืนมา แต่พ่อจันทร์ทีขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน จึงกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 5,000 บาท มาลงทุนทำเกษตร ครอบครัวเขามีรายได้จากการทำเกษตร พออยู่ได้ไปวันๆ ก้าวเข้าสู่ปีที่สอง ถึงเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ปรากฏว่า เงินขาดมือ จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบ หนี้สินมีแต่เพิ่มพูน แต่ยังหาทางปลดหนี้ไม่ได้

พ่อจันทร์ที มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกษตรผสมผสานของ “พ่อผาย สร้อยสระกลาง” ปราชญ์ชาวบ้าน ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ พ่อจันทร์ทีเกิดความประทับใจ จึงเริ่มต้นทำการเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อปี 2534 เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน จึงต้องใช้แรงงานในครอบครัวทำงานขุดสระน้ำ เนื้อที่ 2 งาน ด้วยมือ โดยใช้เวลาขุดสระนานถึง 3 เดือน จึงสามารถเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในไร่นาได้ตามความต้องการ พ่อจันทร์ทีปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก แต่ยังมีรายได้ไม่มาก

ตามรอยพ่อ กับเกษตรทฤษฎีใหม่

พ่อจันทร์ที ได้พัฒนาต่อยอดการเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร โดยไปศึกษาเรื่องหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมการพัฒนาชุมชน จนเข้าใจหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำมาปรับใช้ในไร่นาสวนผสมของตัวเอง ในช่วงปี 2540-2541 จนเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ปลดหนี้สินได้สำเร็จ

พ่อจันทร์ที ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อยู่บนหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน โดยยึดหลักความพอประมาณ ให้ครอบครัวพอมีพอกินก่อน ปลูกอะไรก็กินสิ่งนั้น ทำให้มีกินมีใช้ในครอบครัว ลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ยึดหลักความรู้คู่คุณธรรม มีใจนักสู้ไม่ย่อท้อต่อความลำบาก มีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้มีครอบครัวที่อบอุ่น

ที่ดินทำกิน จำนวน 22 ไร่ ของพ่อจันทร์ทีถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งที่ดิน 2 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย ทำนาปลูกข้าวอินทรีย์ 10 ไร่ อีก 10 ไร่ ใช้ปลูกพืชผสมผสานตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ หัวใจสำคัญของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ อยู่ที่ “แหล่งน้ำ” พ่อจันทร์ที ลงทุนขุดสระน้ำกว่า 10 บ่อ เก็บกักน้ำสำหรับใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และปลา ผลผลิตที่ได้ใช้บริโภคก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ให้พึ่งพาตัวเองได้ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ”

“ก่อนปลูก ผมไปสำรวจตลาดก่อนว่า ผู้ซื้อต้องการอะไร จึงค่อยปลูกพืชผักผลไม้ที่ตลาดต้องการ เมื่อผลผลิตออกขาย แม่ค้าปฏิเสธการรับซื้อ โดยอ้างว่า มีแหล่งผลิตที่ส่งขายให้ประจำอยู่แล้ว แต่ผมตัดสินใจขายผลผลิตเอง พืชผักผลไม้ทุกชนิดปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ พืชผักสดมีคุณภาพดี โดยตั้งราคาขายต่ำกว่าท้องตลาด เพื่อเรียกลูกค้า ปรากฏว่าสินค้าขายดีมาก มีกลุ่มลูกค้าขาประจำเกิดขึ้นมากมาย” พ่อจันทร์ที กล่าว

วิธีเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

ผักหวานป่า กับ ยางนา ต้นผักหวานป่ากับตะขบ สามารถอยู่ร่วมกันได้ พ่อจันทร์ทีเก่งในเรื่องการเพาะต้นกล้าผักหวานป่า สร้างรายได้จากการขายพันธุ์ต้นผักหวานป่าได้เป็นกอบเป็นกำ พ่อจันทร์ที แนะนำเทคนิคเพาะต้นกล้าผักหวานป่าว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องเตรียม ได้แก่ เมล็ดผักหวานป่าที่สุกแล้ว (การเก็บเมล็ดผักหวานป่า สามารถเก็บได้ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ดินร่วน ถุงเพาะ ขนาด 3×7 นิ้ว และแผ่นผ้ายาง

การเพาะปลูกผักหวานป่า เริ่มจาก นำปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบดำ และดินร่วน มาผสมให้เข้ากัน ในอัตรา 1 ต่อ 1 นำปุ๋ยน้ำชีวภาพ 1 ลิตร ผสมน้ำ 10 ลิตร คนให้เข้ากัน รดกองปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้ นำถุงเพาะที่เตรียมไว้นำดินกรอกใส่ให้เต็ม นำผ้ายางปูพื้นรองวางถุงเพาะต้นกล้าผักหวานป่า

วิธีการเพาะเมล็ดผักหวานป่า ให้นำเมล็ดผักมาบีบให้เปลือกแตกออกเหลือแต่แกน นำมาคลุกปูนขาวเพื่อป้องกันเชื้อราและแมลง แล้วจึงนำไปปลูกในถุงเพาะที่เตรียมไว้ โดยวางเมล็ดเพียงครึ่งแกนเมล็ดไม่ต้องกลบให้มิด และรดน้ำ ผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขัง และห้ามรดน้ำบริเวณใบ ให้รดน้ำบริเวณราก และไม่ควรใช้สารเคมีใดๆ ทิ้งไว้ 3-7 วัน เมล็ดจะแตกคล้ายถั่วงอก หลังจากนั้น ทิ้งไว้ 30-40 วัน เมล็ดถึงจะแทงยอดขึ้นบนดิน ผักหวานป่าเมื่อแตกใบ 4-5 ใบ ก็สามารถขายต้นกล้าได้ โดยจะขายส่งราคา ต้นละ 15 บาท ขายปลีก ต้นละ 20 บาท ผักหวานป่าเมื่อมีอายุ 2-3 ปี ก็สามารถเก็บผลผลิตเพื่อนำมารับประทานหรือจำหน่ายได้

สร้างผืนป่าในไร่นา

พ่อจันทร์ที ทำแปลงเกษตรแบบประณีต บนเนื้อที่ 1 ไร่ ภายใต้แนวคิด “สร้างผืนป่าในไร่นา” เพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปรับคันนาให้ใหญ่ขึ้น ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจหลากหลายบนคันนา จากเดิมที่เคยเป็นผืนนาที่แห้งแล้ง ใช้เวลาแค่ปีเดียว กลายเป็นป่าธรรมชาติที่มีความสมดุลทางธรรมชาติ มีเห็ดป่าหลากหลายชนิด ทั้งเห็ดระโงกขาว เห็ดระโงกเหลือง เห็ดโคน ฯลฯ ให้เก็บกิน เก็บขายได้ตลอดทั้งปี

พืชผักสวนครัว ใช้บริโภคในครัวเรือน เหลือกินก็ส่งขายตลาด สร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้ทุกวัน บ่อน้ำใช้เก็บกักน้ำและเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ขายสร้างเงินรายเดือน ส่วนเงินรายปีมาจากการขายข้าว ผลไม้ และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต ประเภท มะพร้าว กล้วย เสาวรส สร้างรายได้ทะลุหลักหมื่นต่อเดือน ส่วนไม้ยืนต้น เช่น ต้นยางนา ที่ปลูกไว้รอบคันนา เป็นเงินออมวัยเกษียณและเป็นมรดกให้ลูกหลาน พ่อจันทร์ทีปลูกและขยายพันธุ์ต้นยาง นาเอง ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 10 บาท ผ่านไป 20 ปี เมื่อตัดไปขาย สร้างรายได้ 15,000 บาท ต่อต้น ทีเดียว

“เมื่อก่อนผมเคยทุกข์ยากลำบากเพราะแบกหนี้สินก้อนโตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่หลังจากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทำเกษตรผสมผสาน ก็ประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้สินและเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ความสุขในชีวิตของผมในวันนี้คือ เปิดบ้านเป็นศูนย์ฝึกอบรมเกษตรผสมผสานบ้านโนนรังบูรพา เพื่อถ่ายทอดความรู้ ให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิด รู้จักพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองในชุมชน เพื่อปลดหนี้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนเช่นเดียวกับผม” พ่อจันทร์ที กล่าวในที่สุด

เวลา 12.30 น. วันที่ 2 มกราคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แจ้งสถานการณ์ล่าสุดของพายุ ปาบึก ว่า ขณะนี้ พายุปาบึกยังเป็นพายุโซนร้อน ที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 น็อต ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 65 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง แต่คาดว่าเมื่อพายุหันหน้าเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 น็อต หรือราว 90-95 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง

ซึ่งความเร็วลมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อนอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบความเร็วลมแล้วพบว่า มีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียสที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งความเร็วลมของพายุแฮเรียสในขณะนั้น อยู่ที่ 95 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ความเร็วลมขนาดดังกล่าว สามารถอาจจะทำให้เสาไฟฟ้าโค่นหักลงได้ ซึ่งการทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าว เป็นเหตุให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเปลี่ยนความรุนแรงของคลื่นจากสูง 2-4 เมตร เป็น 3-5 เมตร

“กรณีของพายุโซนร้อนปาบึกนี้ จะมีพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก และเฝ้าระวังสูงสุด 4 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยมีฝนตกในช่วง 200-300 มิลลิเมตร ต่อวัน ในวันที่ 4-5 มกราคม และอาจจะทำให้บางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสะสมอยู่ที่ 400-500 มิลลิเมตร ได้” วาฟระบุ

วาฟระบุด้วยว่า ในวันที่ 3 มกราคมนั้น พายุปาบึกจะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ตอนล่างก่อน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันที่ 4 มกราคม จะมีฝนตกหนักมากที่จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร วันที่ 5 มกราคม จะตกหนักมาก ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และ ประจวบคีรีขันธ์ และวันที่ 6 มกราคม จะเคลื่อนตัวมาตกหนักมากที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอาจจะเลยมาถึง จ.เพชรบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สสนก. ได้เสนอให้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเฝ้าระวังปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้ เจ้าหน้าที่ภาคสนามจาก สสนก. ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตั้งเครื่องมือทุกอย่างเตรียมปฏิบัติการแล้ว และในเวลา 14.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจิดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เรียกประชุมด่วนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอีก

นางปรัศนี นัคราโรจน์ หัวหน้าฝ่ายบริหาร สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รับมอบอาหาร เครื่องใช้เกี่ยวกับเด็ก และเงินสนับสนุนกิจกรรมของสถานสงเคราะห์ฯ ในโครงการ “ปันน้ำใจ ไปให้น้อง” ที่พนักงานซีพี เฟรชมาร์ท จิตอาสา ทีม Organization & Systems ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อ มอบความสุขต้อนรับปีใหม่ 2562 แก่น้องๆ เยาวชน โดยมี นายสันติราษฎร์ แย้มวัน เป็นผู้แทนมอบ ณ สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 (สศท.4) จังหวัดขอนแก่น ได้ศึกษาสินค้าเกษตรที่สำคัญ Top4 ของจังหวัด พบว่า ข้าวเหนียวนาปี อ้อยโรงงาน โคเนื้อ และกระบือ เป็น 4 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัด โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) กับพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เพื่อนำมาวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และนำเสนอสินค้าเกษตรทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงให้แก่เกษตรกร สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมของนาข้าวตามแผนที่ Agri-Map

จากการศึกษา พบว่า ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม มีพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) สำหรับการปลูกข้าว จำนวน 1,380,100 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จำนวน 789,800 ไร่ ในขณะที่อ้อยโรงงาน มีพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) สำหรับการปลูกจำนวน 90,956 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จำนวน 84,962 ไร่

หากพิจารณาผลตอบแทนสุทธิจากการผลิต ข้าวเหนียวนาปี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) พบว่า เกษตรกรได้กำไร 1,353 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เกษตรกรขาดทุน 2,160 บาท/ไร่ อ้อยโรงงาน ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้กำไร 1,311 บาท/ไร่ ส่วนในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้กำไร 355 บาท/ไร่ ด้านโคเนื้อและกระบือ ไม่แยกพื้นที่ความเหมาะสม โดยโคเนื้อ ให้ผลตอบแทน 7,921 บาท/ตัว และ กระบือ ให้ผลตอบแทน 6,307 บาท/ตัว

สำหรับสินค้าทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม พบว่า มันสำปะหลัง สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงกว่าข้าวเหนียวนาปี โดยมีต้นทุน 6,621 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรได้กำไร 551 บาท/ไร่ กล้วยหอมทอง มีต้นทุน 28,091 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไรในปีแรก 657 บาท/ไร่ (ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นในปีถัดไป) พืชผัก อาทิ กะหล่ำปลี ปลูกปีละ 1 รอบ เฉพาะช่วงฤดูหนาว เริ่ม ปลูกธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ต้นทุน 20,358 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 26,925 บาท/ไร่

ผักรวม ได้แก่ ผักชี ต้นหอม โหระพา สะระแหน่ ใบแมงลัก กะเพรา ซึ่งปลูกได้ตลอดปี อายุเก็บเกี่ยว 40-50 วัน มีต้นทุน 7,068 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 11,755 บาท/ไร่/รอบการผลิต และผักกาด ปลูกปีละ 3 รอบ ช่วงเวลาปลูก ธันวาคม-พฤษภาคม อายุเก็บเกี่ยว 45 วัน ต้นทุน 2,395 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรได้กำไร 9,382 บาท/ไร่/รอบการผลิต

ด้าน นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษาดังกล่าว สศท.4 ได้นำเสนอในที่ประชุม โครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning) ปี 2561 ของจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนส่วนราชการ รวมทั้งผู้แทนเกษตรกร เพื่อนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรมีข้อเสนอว่านอกเหนือจากสินค้า Top4 และพืชทางเลือกที่เสนอมาแล้วนั้น ควรส่งเสริมการปลูกอินทผาลัม พืชสมุนไพร หม่อนไหม การเลี้ยงโคนม และการเลี้ยงปลาตะเพียนเพื่อแปรรูป ซึ่งสินค้าดังกล่าวยังเป็นที่ต้องการของตลาด และคาดว่าจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรให้สามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับสินค้าชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยผลิตในพื้นที่ หากเกษตรกรจะทดลองผลิตจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับควรศึกษาข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน และเรื่องการตลาด ตามแนวทางตลาดนำการผลิตให้รอบคอบ

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศแจ้งเตือน พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 65 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ในช่วง วันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลานครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล แล้วจะเคลื่อนตัวออกกสู่ทะเลอันดามัน ในวันที่ 6 มกราคม 2562 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกเล็กน้อยบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร นั้น

กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำอย่างเร่งด่วน โดยการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ทุกโครงการฯ เพื่อเน้นย้ำให้ทุกแห่งเตรียมการรับมือจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ได้เร่งพร่องน้ำออกจากลำน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2-3 เมตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับน้ำจากฝนที่ตกลงในพื้นที่ สำหรับเขื่อนต่างๆ ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน จากที่เขื่อนขนาดกลางส่วนใหญ่มีปริมาตรน้ำ ร้อยละ 70-80 ของความจุอ่าง ได้ให้โครงการชลประทานแต่ละแห่งระบายน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ทั้งนี้ ต้องไม่เร่งระบายออกมากเกินไป จนเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนแล้ว ภาคใต้จะยังคงมีน้ำเก็บกักเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังได้ให้เจ้าหน้าที่กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวก พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการ รวมไปถึงศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ตลอด 24 ชั่วโมง