ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

กล่าวเสริมว่า วว. และ กยท. ยังร่วมบูรณาการในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยและพัฒนาโดยกำหนดให้มีการร่วมกันพัฒนาบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน ผ่านการจัดฝึกอบรมและประชุมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ด้านเทคนิควิชาการ ตลอดจนการฝึกอบรม ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของทั้งสองหน่วยงานด้วย ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือที่ได้ลงนามร่วมกันในวันนี้ เป็นข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งขั้นตอนต่อไป วว. และ กยท. จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดข้อตกลงเฉพาะเรื่องที่มีความสนใจร่วมกันอีกครั้ง

ตราด – นายประดิษฐ์ คุ้มชนม์ นายกอบต.แหลมกลัด เผยว่า ร่วมประชุมแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่กำลังประสบปัญหาถูกกัดเซาะจนได้รับความเสียหาย ซึ่งตำบลแหลมกลัดต้องเสียพื้นที่ไปปีละนับร้อยไร่ หากไม่แก้ไขจะส่งผลกระทบ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาว่าวิธีการแก้ปัญหาด้วยการถ่ายเททรายนั้น จะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหนและมีผลกระทบอย่างไร แหลมกลัดจะทำที่ปากคลองสน

นายประเสริฐศักดิ์ เอกพิศุทธิ์สุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ บอกว่าการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ ทั้งการใช้โครงสร้างแบบแข็ง และโครงแบบอ่อนมีผลกระทบแตกต่างกัน สำหรับตำบลแหลมกลัดใช้วิธีการแบบถ่ายเททรายจากปากคลองสนไปยังชายหาดที่ถูกกัดเซาะ ใช้แบ๊กโฮขุดทราย 4,000 ลบ.ม. เพื่อไปถม ปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบไม่มาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ซึ่งทางบริษัทต้องการรับฟังความคิดเห็น 3 ครั้งเพื่อสรุปไปดำเนินงาน

ด้าน นายไพวัลย์ สะอิ้ง ประธานสภาอบต.แหลมกลัด และกรรมการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งภาคตะวันออกให้ข้อเสนอว่า การขุดทรายจากที่หนึ่ง(หน้าหาดเอกชน)มายังหาดที่ถูกกัดเซาะ อาจจะมีปัญหาได้ เพราะเป็นการนำทรายจากหน้าหาดเอกชนอาจจะเกิดผลกระทบตามมา การยืมทรายจากทะเลและห่างจากฝั่งไม่มาก และเป็นทรายประเภทเดียวกันน่าจะดีกว่า และไม่เกิดปัญหามาก อย่างไรก็ตาม ในเวลา 3-4 ปี ทรายที่นำมาถมก็จะหายไป และต้องขนทรายมาถมอีก ซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น

ขณะที่ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นและส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่ควรไปยุ่งกับทรายหน้าหาดเอกชน แม้ชายหาดจะเป็นของสาธารณะแต่อาจเกิดความขัดแย้งได้ การประชุมครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก บริษัทจะนำไปสรุปและมีประชุมในครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ก่อนดำเนินโครงการ จะทำในปากคลองมะนาว ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ ด้วย โดยใช้การถ่ายเททรายจำนวน 20,000 ลบ.ม.

เชียงราย – นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายโคเนื้อล้านนา กล่าวว่าปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิกจำนวน 291 รายและมีโคเนื้อประมาณ 1,300 ตัว ส่วนใหญ่ส่งเสริมเลี้ยงพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยและให้เนื้อคุณภาพดีมาก รับซื้อจากเกษตรกรในกลุ่มในราคารับประกันกิโลกรัมละประมาณ 100-105 บาท ตลาดมีความต้องการสูงมากเพราะขาดแคลนโคเนื้อ แต่ละเดือนต้องการมากกว่า 300 ตัว เครือข่ายไม่สามารถทำให้ถึง เป้าได้จึงส่งเสริมให้หันมาเลี้ยงอย่างต่อเนื่องระยะเวลาเลี้ยง 6 เดือนภายใต้การดูแลเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้เนื้อมาตรฐาน

ปัจจุบันเราพบปัญหาสำคัญ คือเราไม่มีโรงเชือดมาตรฐานโคเนื้อในพื้นที่ แต่กลับไปตั้งอยู่ที่ จ.พะเยา ทำให้การเชือดแต่ละครั้งต้องขนโคไปกลับและเดินเรื่องเอกสารต่างๆ ครั้งหนึ่งเสียต้นทุนไปประมาณ 4,000-5,000 บาท ล่าสุดเครือข่ายหารือกับกรมปศุสัตว์ ขอเปิดโรงเชือดใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท ในปี 2562-2563 ซึ่งก็จะช่วยยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงจำหน่ายโคขุนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่บริเวณสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ อ.เมืองเพชรบูรณ์ และหน้าที่ว่าการอำเภอหล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่สับปะรดในเขต อ.น้ำหนาว นำสับปะรดจำนวน 12 คันรถปิกอัพ รวม 46 ตัน แยกจัดส่งให้แก่ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขต อ.เมือง และ อ.หล่มสัก ตามแผนทางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด พร้อม กอ.รมน. เพชรบูรณ์ และ มทบ. 36 รวมทั้ง ม.พัน 28 ซึ่งได้ยื่นมือช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่สับปะรดในเขตพื้นที่ อ.น้ำหนาว หลังจากเกษตรกรร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ขอให้ช่วยอุ้มเกษตรกรชาวไร่สับปะรดหลังประสบภาวะราคาตกต่ำ หากส่งขายให้โรงงานจะประสบภาวะขาดทุนหนัก จึงขอให้หาช่องทางหรือตลาดเพื่อช่วยระบายสับปะรดที่ตกค้างอยู่ในมือเกษตรกร ราว 50 ตัน โดยเร่งด่วน ก่อนผลผลิตส่วนนี้จะเน่าเสียก่อน จนส่งผลให้เกษตรกรต้องขาดทุนรอนที่จะลงทุนต่อไป

นายสุพล ศรีทับทิม พาณิชย์จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า สับปะรดในส่วนนี้เป็นแผนการระบายอย่างเร่งด่วน เพราะหากยังตกค้างอยู่ในมือของเกษตรกรก็จะเน่าเสีย ทางจังหวัดเพชรบูรณ์จึงประสานขอความร่วมมือไปยังส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขต อ.เมือง และ อ.หล่มสัก ให้สนับสนุนช่วยซื้อสับปะรดจากเกษตรกร กิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนสับปะรดส่วนที่เหลืออยู่ในแผนที่ทางจังหวัดจะยื่นมือช่วยเหลือในโอกาสต่อไป ก่อนหน้านี้ทางภาคราชการก็ยื่นมือช่วยเกษตรกรชาวไร่สับปะรดในเขต อ.เขาค้อ มาอย่างต่อเนื่อง โดยการหาตลาดช่วยเร่งระบายให้ ไม่ว่าจะผ่านทางโครงการประชารัฐหรือภาคองค์กรธุรกิจเอกชนภายในจังหวัด รวมทั้งยังหาจุดขายโดยตรงให้แก่เกษตรกร จนสามารถระบายสับปะรดโดยภาพรวมกว่า 100 ตัน แล้ว

อย่างไรก็ตาม ด้านเกษตรกรชาวไร่สับปะรด ต่างแสดงความพอใจและแสดงความขอบคุณ ต่อมาตรการให้ความช่วยเหลือของทางภาคราชการ โดยเฉพาะ นายอร่าม ทองสวยรูป แกนนำเกษตรกรชาวไร่สับปะรดในเขต อ.น้ำหนาว กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ยื่นมือช่วยเหลือ เหมือนเป็นการให้น้ำเกลือช่วยยื้อชีวิตให้แก่เกษตรกร จากสภาวะสับปะรดราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ปัจจุบัน ยังมีผลผลิตอีกหลายร้อยตันที่จะออกสู่ตลาด ก็หวังว่ากลไกการตลาดจะทำงาน จนทำให้ทางโรงงานออกมารับซื้อผลผลิตตามปกติ

ร้านอาหาร-ธุรกิจสปา-นวดไทยในรัสเซียฮอต เตรียมขยายเวลาเปิดกิจการ 24 ช.ม. อัดโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษถ้าโชว์ตั๋วแข่งขัน แต่ยังขาดแคลนกุ๊กและหมอนวดคนไทย ส่วนชุดกีฬา-เครื่องดื่มบูมด้วย ส่งออกเฉียดหมื่นล้าน ต่อยดหลังแข่งขัน จัดสาธิตทำอาหารไทยโชว์ต่างชาติ

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมอสโก แจ้งว่า ช่วงแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-15 กรกฎาคม ที่ประเทศรัสเซีย ร้านอาหาร ธุรกิจสปา และนวดแผนไทยในรัสเซียมีแผนจะขยายเวลาในการให้บริการเพื่อรองรับแฟนบอลต่างชาติคาดว่าจะเข้ามาชมฟุตบอล 400,000 คน ต่างชาติสนใจใช้บริการร้านไทยอย่างมาก โดยเฉพาะนวดแผนไทย ปกติปิด 23.00 น. ต้องเปิดให้บริการตลอด 24 ช.ม. พร้อมจัดโปรโมชั่นช่วงการแข่งขันให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้แสดงบัตรเข้าชมฟุตบอลโลกด้วย

“เจ้าของธุรกิจนวดแผนไทย และร้านอาหารไทยประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอีก 10-20% ต้องขยายเวลาบริการออกไป เนื่องจากทั้งร้านอาหารและนวดไทยเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกด้านคุณภาพและบริการที่ดี ในอนาคตกรมจะเข้าส่งเสริมธุรกิจบริการให้ครบวงจรมากขึ้น เพราะร้านอาหารและนวดไทยยังขาดแคลนกุ๊ก และหมอนวดคนไทย”

นอกจากนี้ ธุรกิจคนไทยที่ได้อานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้แบรนด์ระดับโลกที่ผลิตในประเทศไทยเอง และจากฐานการผลิตของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,400 ล้านบาท ช่วยให้มีมูลค่าการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้เติบโต 10% ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทยน่าจะเป็นหมวดสินค้าที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คาดการสั่งซื้อเพิ่ม นำเข้าสินค้าหมวดนี้ขยายตัวมากกว่าช่วงปกติ 30% ขณะเดียวกันการส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์ไปรัสเซียเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี มีมูลค่า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัว 198%

แนวทางการส่งออกหลังฟุตบอลโลก เชื่อว่าจากนี้จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ กรุงมอสโก มีแผนจัดกิจกรรมไทย เฟสติวัล ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต วันที่ 11-12 สิงหาคม มีกิจกรรมสาธิตอาหารไทยอย่างง่ายๆ อาทิ ต้มยำ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในท้องถิ่น พร้อมเชิญชวนผู้นำเข้าสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจบริการของไทยเข้าร่วมกิจกรรมด้วย

โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นายจงกล เหลืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการ โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ มอบเงินสนับสนุน จำนวน 900,000 บาท ให้กับอุทยานแห่งชาติศรีลานนา อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ประจำปี 2561 เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ในการฟื้นฟู ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและป้องกันไฟป่า ภายใต้โครงการธรรมชาติปลอดภัยเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมี นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เป็นผู้รับมอบ

เชื่อว่าเวลากล่าวถึงเศรษฐกิจ 4.0 เราคงจะต้องนึกถึงอะไรที่ทันสมัย อาทิ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกล เราจะพูดถึงโลกดิจิตอล การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ เงินดิจิตอลในระบบ Block Chain และอะไรต่อมิอะไรที่ดูล้ำๆ

แต่วันนี้ผมอยากชวนกันมามองเศรษฐกิจ 4.0 ในมุมที่เรานำเอาเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มาประยุกต์ใช้กับการทำการเกษตรซึ่งผมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจ 4.0 เช่นเดียวกัน

การทำการเกษตรในปัจจุบัน ต้องบอกว่า เหลียวหลังแลหน้ากันพอสมควร ที่นำเอาความรู้สมัยใหม่มาใช้ในเชิงสารเคมีและปุ๋ยนั้น กลายเป็นว่าจะตกยุคและไม่เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ การหันมาทำอะไรที่เป็นเกษตรอินทรีย์นับเป็นเทรนด์ที่ถือว่าเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมแนวคิดเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น เป็นการทำให้เกษตรกรรมเกิดความมั่นคงยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่แพ้ประเทศอุตสาหกรรม

ประเทศในแถบอเมริกาเหนือและยุโรปที่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพของผลผลิต รวมทั้งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการผลิต (กระบวนการ) และประสิทธิผล (ผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ได้) เขาทำเกษตรกรรมแบบทันสมัยที่ใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ มาเพื่อบริหารให้เกิดความยั่งยืน มีผลผลิตที่สูง และก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน บางคนเรียกชื่อว่า

เกษตรกรรมแม่นยำ (Precision Farming) คือ เน้นความแม่นยำใน 4 เรื่อง คือ 1. Precision Soil Preparation 2. Precision Seeding 3. Precision Crop Management 4. Precision Harvesting คือแม่นยำตั้งแต่การเตรียมคุณภาพดินให้ได้ตามที่ต้องการ การหว่านเมล็ดเพาะพันธุ์พืช การบริหารพืชผลในแปลงต่างๆ รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยองค์ประกอบทั้งสี่นี้เชื่อมร้อยกันเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และประเมินผล เรียกว่า บริหารการเกษตรในลักษณะเดียวกับการบริหารธุรกิจ คือมีข้อมูลที่พรั่งพร้อมเป็นเครื่องมือในการดำเนินการและตัดสินใจต่างๆ

โดยการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียม, การหาตำแหน่งที่ตั้งที่เที่ยงตรง, ตัวตรวจจับ หรือ Smart Sensors, และ IT Application มาติดตั้งเป็นระบบเดียวกัน โดยอุปกรณ์แต่ละตัวจะรวบรวมฐานข้อมูลแบบ Real Time เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์กับการเกษตร กล่าวคือ ใช้อุปกรณ์ดาวเทียมภูมิศาสตร์ หรือ GIS : Geographic Information System เพื่อระบุลักษณะทางกายภาพของดิน น้ำ อากาศ ลม และความร้อน ในการเพาะปลูกพืชในแปลงการผลิตของตน ซึ่งในพื้นที่หนึ่งๆ อาจมีลักษณะทางกายภาพที่ต้องดูแลพืชผลการเกษตรที่แตกต่างกัน

การใช้ภาพถ่ายแสดงการสะท้อนของคลื่นความร้อนในแต่ละพื้นที่ เพื่อระบุปริมาณความชื้น อุณหภูมิ การตรวจจับความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในช่วงต่างๆ ของฤดูการผลิต ทำให้สามารถควบคุมแก้ไขความแปรปรวนของอากาศไม่ให้เกิดความสูญเสียของผลผลิต ช่วยลดโอกาสที่พืชจะเสียหายหรือเสียชีวิตด้วยปัจจัยสภาพอากาศ หรือความชื้นในดินที่เปลี่ยนแปลงไป การรายงานผลเกี่ยวกับศัตรูพืชเพื่อที่เกษตรกรจะเข้าไปแก้ไขได้ก่อนที่ศัตรูพืชจะมาทำลายผลผลิตในวงกว้าง การใช้โดรน (หรือเครื่องบินบังคับขนาดเล็ก) เพื่อเข้าไปฉีดยากำจัดศัตรูพืชเฉพาะบริเวณ (อาจจะใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ก็ได้) เป็นต้น

การใช้ระบบฐานข้อมูลและอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้การบริหารจัดการแปลงต่างๆ อย่างละเอียดลออ ทำให้แปลงการผลิตอันกว้างใหญ่ไพศาลกลายเป็นพื้นที่ที่เราเข้าถึงได้ราวกับพลิกฝ่ามือ การเน้นเข้าไปจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไร่นาอย่างทันต่อเวลาและตรงจุด (คือระบุพื้นที่ได้แม่นยำ) ว่ากันว่าจะเป็นตัวทำให้การเกษตรเป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมที่เกษตรกรมีหน้าจอมอนิเตอร์ได้ตลอดทุกพื้นที่การผลิต

ลองนึกภาพว่า รถแทรกเตอร์ที่วิ่งเข้าไปในแปลงพืช มีหน้าจอที่มีตัวเลขวัดค่าต่างๆ อยู่ด้วย ทำให้เกษตรกรเข้าไปในพื้นที่และทราบลักษณะทางกายภาพรอบๆ บริเวณได้ในทันที ทำให้เกษตรกรสามารถประเมินคุณภาพของพืชผลการเกษตรได้ดีขึ้น

บางคนพอได้ยินว่ามีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้แล้ว จะเหมือนการเกษตรในแบบที่เน้นผลผลิตโดยที่อาจจะเป็นพืชผลที่เป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์หรือไม่ อันที่จริงการทำเกษตรแบบแม่นยำนั้นจะมีอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นจากผลการวิจัยอยู่ด้วย เช่น เครื่องหยดสารกำจัดวัชพืช ที่กำหนดให้หยดได้ช้ามากเป็นพิเศษ เพื่อควบคุมปริมาณของสารที่เราจะใช้ให้พอเหมาะและไม่มากเกินไป (เรียกว่า Ultra-low volume herbicide application)

หรืออย่างพื้นที่ที่ระบบชลประทานทำได้ยากและสิ้นเปลืองทรัพยากรมากกว่าแหล่งอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่จำกัด ก็พบว่าเมื่อนำการเกษตรแบบแม่นยำมาใช้ จะช่วยลดการสูญเสียอันเกิดจากการผันน้ำมาใช้ในพื้นที่มากเกินความจำเป็น ทำให้การบริหารปริมาณน้ำทำได้ละเอียดยิ่งขึ้นในพื้นที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด มีการนำ Remote Sensors เพื่อวัดปริมาณน้ำที่ใช้ไปจริงในแปลงเกษตร และวัดแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากพืชที่บ่งบอกถึงอัตราการคายน้ำของพืชตามสภาพความสมบูรณ์ของปัจจัยการผลิตที่พืชนั้นได้รับ

หรืออุปกรณ์ที่ช่วยปล่อยไอน้ำหยดเล็กๆ ที่จะทำงานต่อเมื่อพบว่าอุณหภูมิรอบๆ อยู่ในช่วงที่วิกฤติ หรือเมื่อมีปัจจัยบ่งชี้ว่าพืชเริ่มมีอาการเปลี่ยนสีและเริ่มเข้าสู่จุดที่มีความเสี่ยงที่จะเสียหาย อุปกรณ์ก็จะทำงานเพื่อคลายความร้อนให้พืชในลักษณะไอน้ำที่ระเหยออกมาเพื่อปรับอุณหภูมิโดยรอบ อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานโดยระบบ Remote Sensing ที่มีการเก็บค่าตัวเลขและแบ่งสเกลความเสี่ยงออกเป็นระดับต่างๆ เช่น สเกลบอกระดับ O แปลว่า No Stress, ระดับ 1 แปลว่า Serious Stress โดยค่าดังกล่าวจะแตกต่างกันในพืชแต่ละชนิด เช่น สำหรับข้าวโพด ค่าดังกล่าวสามารถสูงถึง 0.4 ได้โดยยังไม่เกิดผลเสียหาย ในขณะที่ฝ้าย ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่ค่าดังกล่าวต่ำกว่านี้มาก เป็นต้น

มีเทคโนโลยีบางตัวที่ต้องใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ เช่น ดาวเทียม ก็จะมีต้นทุนสูงในลักษณะที่เกษตรกรไม่สามารถหาซื้อได้โดยลำพัง เขาจะมีวิธีจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้กันในกลุ่ม ในลักษณะลงขันและลงหุ้นกัน เพื่อให้มีอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ร่วมกัน

ในสหรัฐอเมริกาได้ศึกษาการเกษตรแบบแม่นยำขึ้นกว่า 10 ปี โดยหน่วยงานของรัฐสามหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงเกษตร, NASA และ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) NOAA เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศ, แจ้งเตือนการเกิดพายุ, มหาสมุทรและชายฝั่ง, การประมง, ดาวเทียม, การเดินเรือและการบิน, รวมทั้งงานวิจัยในเรื่องเหล่านี้

หากเราย้อนกลับมาดูที่บ้านเรา วิสัยทัศน์เรื่อง Thailand 4.0 (ซึ่งก็ได้แนวคิดมาจากเศรษฐกิจ 4.0) มีหัวข้อเกษตรกรรมเป็นหัวข้อหนึ่งในห้าหัวข้อหลัก โดยระบุว่า “ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี หรือ Smart Farming โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ”

ทีนี้ หากบ้านเราจะหันมาทำการเกษตรแบบแม่นยำแล้ว เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบข้อมูล และแอปพลิเคชั่นต่างๆ คงต้องจัดซื้อโดยนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศเหล่านี้ จะเป็นเรื่องที่เกินกำลังของเกษตรกรจะเอื้อมถึงหรือไม่ เราอาจจะต้องเริ่มคิดกันว่าจะมีหน่วยงานใดบ้างที่ร่วมกันทำงานวิจัยหรือพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบข้อมูลเพื่อรองรับการทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำให้เกิดขึ้น ดูเหมือนทุกวันนี้เรายังหันซ้ายแลขวา เหลียวหน้าแลหลัง ไปกันไม่ถูกว่าเราจะเน้นเกษตรกรรมในลักษณะไหน นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตรยังไม่สอดคล้องลงตัว และรวมกันเป็นเนื้อเดียว ที่จะทำให้เรามีทิศทางที่มุ่งเน้นไปทางใดทางหนึ่ง (หรือหลากหลาย) อย่างชัดเจน

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 15 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นางอัจฉรา รักษ์พันธุ์ และ นางสาวอุมาอร รักษ์พันธุ์ สองผู้บริหารของชุมพร คาบาน่า รีสอร์ท ริมหาดทุ่งวัวแล่น หมู่ที่ 8 ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ว่า มีปลาทะเลนานาชนิด ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชุมพรเป็นจำนวนมาก จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบบรรดาชาวประมงพื้นบ้านและนักท่องเที่ยวกำลังเดินดูปลาเป็นจำนวนมากเกลื่อนอยู่บนชายหาด นักท่องเที่ยวบางส่วนจึงช่วยกันนำปลาที่ยังมีชีวิตกลับลงสู่ทะเล ส่วนปลาที่ตายแล้ว ชาวประมงก็ช่วยกันเก็บใส่ตะกร้าขึ้นรถออกจากพื้นที่ไป

นายจันทร์ยง คลังนิมิตร อายุ 57 ปี อาชีพทำสวนและทำประมงพื้นบ้าน หนึ่งในชาวบ้านที่กำลังเก็บปลาใส่ตะกร้า เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีปลานานาชนิดอยู่เกลื่อนชายหาดในครั้งนี้ คงเป็นเพราะปลาเกิดอาการน็อกน้ำ หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีฝนตกหนัก และน้ำฝนซึ่งเป็นน้ำจืดได้ไหลลงสู่ทะเลซึ่งเป็นน้ำเค็ม ทำให้สิ่งมีชีวิตใกล้ชายฝั่งพวกปลา ปู ปลาหมึก ปรับสภาพไม่ทัน จึงพยายามหนีขึ้นมาใกล้ชายหาด แต่เมื่อน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ปลาและสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถกลับลงสู่ทะเลได้ทัน จึงตกค้างอยู่เกลื่อนชายหาดเต็มไปหมด ปลาที่พบส่วนใหญ่เป็น ปลาลิ้นหมา ปลาหางควาย ปลาอมไข่ ปลาไหลทะเล ปลาหมึกสาย ปลากระเบน ปลาแป้น และปูม้า ซึ่งเอาไปทำอาหารได้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ถ้าเกิดก็จะเป็นในช่วงที่กำลังเข้าสู่ฤดูมรสุม หากประมงจังหวัด และประมงอำเภอทราบ ก็จะต้องนำน้ำยาปรับสภาพมาเทลงทะเลในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้

นางสาวอุมาอร กล่าวว่า ทราบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมา ประมาณ 3-4 วัน แล้ว และชาวบ้านจะเรียกว่า “ปรากฏการณ์ปลาตายน้ำแดง” ซึ่งมักเกิดในช่วงข้างขึ้นเดือน 8 ซึ่งเป็นช่วงที่มีน้ำจืดจากฝนไหลลงสู่ทะเลมาก แต่ไม่ได้มีสาเหตุจากน้ำเสียแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายสิทธิสาร ศรีชุมพวง ประมงจังหวัดชุมพร ซึ่งกำลังประชุมอยู่ที่กรุงเทพฯ ว่าประมงจังหวัดชุมพรได้ทราบหรือยังว่าเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น นายสิทธิสาร กล่าวว่า เพิ่งทราบจากสื่อมวลชน และจะรีบประสานกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตอนกลางจังหวัดชุมพร และศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ลงไปร่วมตรวจสอบและเร่งหาแนวทางในการแก้ไขโดยเร็ว

อำเภอสรรพยา จ.ชัยนาท ที่มีมาแต่โบราณ งานนี้สองหนุ่มคู่ซี้ จ๊อบ นิธิ สมุทรโคจร และ โกสินทร์ ราชกรม ขอปักหมุดเช็คอิน พากิน พาเที่ยว สัมผัสความสุขที่มาของ “สุขกลางใจ ใกล้แค่เอื้อม”

สัมผัสบรรยากาศความเก่าแก่ ณ สถานนีตำรวจภูธรอำเภอสรรพยา ที่มีมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 5 พร้อมลิ้มลองกับอาหารเครื่องดื่มสุดวินเทจที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ต่อมาพาชิมของเด็ด ที่ล่ำลือกันว่า “หากไม่ได้มาลอง ถือว่ามาไม่ถึง” ที่ร้าน ก๋วยเตี๋ยวเจ้โหน่ง เดินมาอีกหน่อยเจอร้านสเต๊ะแล้วแต่ต้อย ที่รสชาติถูกใจสองหนุ่มเป็นอย่างมาก แถมราคาเพียงแค่ ไม้ละ 5 บาท เท่านั้น ต่อด้วยขนมโบราณที่ไม่คุ้นหู “ฮิ-ควาย” ที่มีราคาเพียงแค่ 4 วง 20 บาท ปิดท้ายด้วยความสุขของการร้องรำทำเพลงที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในอดีต “ลิเกโบราณ” ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ได้เป็นอย่างดี

ติดตามเรื่องราวความสุขของชุมชนชาวสรรพยา จ.ชัยนาท ได้ในรายการ สมุดโคจร On The Way เสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่ เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง 28 (3SD) หรือติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่หลายคนกำลังให้ความสนใจบริโภค โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ประชาชนนิยมดื่มเป็นลำดับต้นๆ เพราะด้วยรสชาติและกลิ่นของกาแฟที่เตะจมูก ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีผู้บริโภคอย่างยาวนาน

สำหรับแหล่งผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในช่วงนี้คือ กาแฟที่ผลิตในชุมชน จากกลุ่มแม่บ้านโดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสะพานโยง ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

กลุ่มแม่บ้านเกษตกรบ้านสะพานโยง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 506 หมู่ที่ 1 จัดตั้งขึ้นจากลุ่มสตรีในชุมชน ที่ได้รวมตัวสร้างกิจกรรมเสริมด้วยการทำขนมพื้นเมืองทั่วไปจำหน่าย ภายใต้ความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐที่มาให้การสนับสนุน แต่ด้วยข้อจำกัดของการทำขนมหลายๆ อย่างที่กลุ่มไม่สามารถดำเนินการต่อได้ กลุ่มจึงหยุดทำไประยะหนึ่ง และเริ่มรวมกลุ่มใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2545 ซึ่งครั้งนี้ทางกลุ่มฯได้หันมาจับข้าวพื้นเมืองที่ปลูกกันอยู่ในพื้นที่แปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนและกลุ่ม

ตลอดระยะเวลาการทำงานของกลุ่ม มีคนเข้ามาศึกษาดูงาน กิจกรรม การทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นสถานที่ศึกษาดูงานที่มีกิจกรรมที่น่าสนใจ และช่วงนี้เองทางกลุ่มได้ชงกาแฟโบราณพื้นบ้านไว้ต้อนรับผู้ที่เข้ามาดูงาน หลายคนติดใจ พร้อมถามหาเพื่อซื้อติดมือกลับไป จุดนี้เองทางกลุ่มฯ เลยมองว่าน่าจะทำจำหน่าย จึงเริ่มทำแบ่งขายแบบ “ผูกถุง” วางขายที่กลุ่ม หรือมีบ้างก็ออกไปขายที่อำเภอ และฝากขายเวลามีงานในพื้นที่ เพียงระยะเวลาไม่นานนัก โกปี้ควนโดน สูตรอิสลาม มีการตอบรับจาก “คอกาแฟ” กระทั่งแปรรูปกันแทบไม่ทัน

กาแฟโบราณ ภาษาพื้นบ้านหรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า โกปี้ หรือกูปี้ ชื่อเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า โกปี้ เริ่มเข้ามาแถบวังประจันซึ่งเป็นเขตรอยติดต่อกับรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย แล้วเริ่มแพร่หลายในอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ซึ่งครั้งนั้นนอกจากนำพันธุ์กาแฟเข้ามาปลูกแล้ว ยังหอบเอาวิธีการผลิตแปรรูปกาแฟตามตำรับของชาวมาเลเซียมาด้วย กระทั่งเริ่มเป็นที่แพร่หลายและรู้จักกันในอำเภอ

“กลุ่มได้หันมาจับทำเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และตั้งชื่อใหม่ว่า “กาแฟโบราณควนโดน” ไปพร้อมๆ กับการผลิตข้าวซ้อมมือ และมีโอกาสไปออกงานสินค้าร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด กลุ่มฯ ก็จะนำกาแฟไปร่วมออกร้านทุกครั้งที่มีกิจกรรม ทำให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ตลาดเปิดกว้างขึ้น คนให้ความสนใจที่จะชื้อไปเป็นของฝาก ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงหันมาพัฒนาเรื่องของบรรจุภัณฑ์ใหม่เป็นกล่องให้ดูดี ออกร้านทุกครั้งก็จะมีคนถามหาทุกครั้ง” คุณสุวรรณี กล่าว