ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561

ซึ่งวันแรกของการเปิดให้บริการด้านทันตกรรมพระราชทาน ณ ที่ว่าการอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีนักเรียนและประชาชนเข้ารับบริการด้านทันตกรรมกว่า 1,393 คน และเมื่อสรุปยอดรวมวันที่ 2 เชื่อว่าสามารถทำได้มากกว่า 2,000 คนตามแผนที่วางไว้ นับเป็นจำนวนที่เข้ารับบริการด้านสุขอนามัยในช่องปากมากที่สุดเมื่อเทียบกับการบริการด้านทันตกรรมพระราชทานครั้งที่ผ่านๆ มาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

จากการสำรวจตัวเลขสถิติพบว่า เฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส สัดส่วนทันตแพทย์เทียบกับประชากรจังหวัดเป็น 1 ต่อ 12,000 คน เฉพาะที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี มีทันตแพทย์ 5 ต่อประชากร 70,000 คน เทียบกับสัดส่วนของทั้งประเทศคือ 1 ต่อ 8,000 คน ขณะที่สถิติผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคฟัน สุขอนามัยในช่องปาก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กลับมีจำนวนสูงสุดของประเทศ

ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมทันตแพทย์อาสาพระราชทาน กล่าวว่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานมีหน้าที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดแคลนบริการทันตกรรมหน่วยทันตกรรมพระราชทานเคยทำงานร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มานานในหลายพื้นที่ เมื่อทราบว่าทางปิดทองฯ มาดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมาร่วมด้วย เพราะนอกจากประชาชนในจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปากมากที่สุดของประเทศแล้ว ยังเพื่อแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือประเทศไทยที่ทุกคนสามารถเดินทางมาได้โดยไม่มีปัญหา

เมื่อมีการเปิดรับสมัครทันตแพทย์อาสา ปรากฏว่า ทันตแพทย์จำนวนมากสมัครมาร่วมเต็มจำนวนอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะทุกคนอยากช่วยประชาชนที่ไม่เคยมีโอกาสได้รับบริการ และยังเป็นการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่ต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลที่ทำให้มีการออกหน่วยใหญ่ขนาดในครั้งนี้ ผศ.ทพ.ดร.สุชิต กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากและสถานที่ให้บริการมีความสะดวก ครบถ้วน สามารถให้บริการประชาชนจำนวนมากได้

ทั้งนี้ การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดปัตตานี ทุกหน่วยงานในจังหวัด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และมูลนิธิรากแก้ว ฯลฯ ถือเป็นการบริการที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ให้ความใจใส่ดูแลพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา เพราะถือทุกคนเป็นคนไทย ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิต ถือเป็นบุญใหญ่ที่สะท้อนถึงความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นความดีงามที่ยังมีอยู่ในประเทศไทย

การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพื้นที่อำเภอสายบุรี เนื่องจากมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สายบุรีตั้งอยู่ ที่สำคัญคือเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เป็นการสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกร ที่สืบทอดมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งความร่วมมือของทุกฝ่ายในการดำเนินการครั้งนี้ เป็นรูปแบบที่ดีที่สามารถนำไปปฏิบัติต่อในพื้นที่อื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนว่า เราเป็นคนไทยด้วยกัน “ต้องรักและดูแลกัน”

ทต.ญ.ซูไฮดา สิเตะ ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ประชาชนในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพในช่องปาก และขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เนื่องจากจำนวนทันตแพทย์มีเพียง 5 คน ต่อประชากร 70,000 คน ทำให้ไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างทั่วถึง การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานครั้งนี้ เป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นับว่าเป็นโอกาสดีของคนในพื้นที่ เพราะนอกจากจะเป็นการให้การรักษาแล้ว ยังมีส่วนที่จะกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น

ทต.ญ.ซูไฮดา กล่าวว่า โดยปกติ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสายบุรีจะให้บริการได้วันละ 6-80 คน หรือมากที่สุด ปีละ 8,000 คน การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานครั้งนี้สามารถให้บริการได้มากกว่า 2,000 ราย ซึ่งตามปกติอาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือนจึงจะให้บริการได้ครบ ซึ่งการที่ได้อาสามาร่วมในครั้งนี้ เพราะเห็นประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชน หมอจึงมีความสุขมากวันนี้”

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังความเห็นจากนักวิชาการ ที่ประกอบด้วย นักเคมี นักชีวเคมี และนักวิทยาศาสตร์อาหาร จากทีม Flavor academy หนึ่งในเครือข่าย เมืองนวัตกรรมอาหาร Food Innopolis จัดเสวนา Science Café ในหัวข้อ “มองรอบด้านกับ Trans Fat” ณ ห้องประชุม อาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ลงทะเบียนได้แล้ววันนี้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ดร.สมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้ง นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากวนอุทยาน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดบ้านสันปูเลย ตำบลบ้านด้าย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สถาบันการศึกษาและภาคเอกชนร่วมให้การสนับสนุน ดังนี้ – กรมส่งเสริมการเกษตร มอบสารชีวภัณฑ์ (ไตรโคเดอร์ม่า) จำนวน 850 กิโลกรัม และต้นกล้าพืชผักสวนครัวและไม้ผลให้แก่เกษตร จำนวน 101 ราย – กรมการข้าว มอบเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 8,400 กิโลกรัม – กรมวิชาการเกษตร มอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว จำนวน 101 ชุด ปุ๋ยชีวภาพ จำนวน 1,000 ถุง เชื้อไวรัส NPV จำนวน 101 ถุง ไส้เดือนฝอย จำนวน 60 ขวด – วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ร่วมออกหน่วยบริการซ่อมแซมเครื่องจักรกลทางการเกษตร – บริษัท ปุ๋ยยารา มอบปุ๋ยเคมี จำนวน 101 ชุด – บริษัท สยามคูโบต้า จำกัด ร่วมสำรวจเพื่อพิจารณาสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรแก่เกษตรกรตามความเหมาะสม เมื่อเร็วๆ นี้

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวแถลงข่าวในการประชุมพิจารณากำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 629) พ.ศ.2560 ณ ห้องประชุม 301 อาคารวชิรานุสรณ์ ชั้น 3 คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า จากความเดือดร้อนของผลกระทบตามโครงสร้างภาษีใหม่ที่ให้เกษตรกรหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายที่ร้อยละ 60 จากเดิมที่กำหนดร้อยละ 80-85

ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เคยทำหนังสือเรียนนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาและกรมสรรพากรชี้แจงให้คงหลักเกณฑ์ตามเดิม โดยระบุว่าหากเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าร้อยละ 60 สามารถแสดงหลักฐานเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ประเมินได้ แต่เกษตรกรเห็นว่าในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ ตัวแทนเกษตรกรจึงรวมตัวประชุมหารือหาทางออก ในการประชุมมีตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ/โคนม ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย เป็นต้น

ความเดือดร้อนที่ได้รับจาก พรฎ.ดังกล่าว อาทิ ผู้เลี้ยงสุกรต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนจากหลายทาง เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีสังคม ภาษีอาหารและยาซึ่งได้จัดเก็บจากต้นทางแล้ว อาจทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยเลิกอาชีพเลี้ยงสุกรในอนาคต/เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีในอัตรา 60:40/เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โคเนื้อได้รับผลกระทบจากมาตรการ FTA นำเข้าเนื้อจากออสเตรีย/ผลกระทบจากการนำเข้าเนื้อเถื่อนจากอินเดียและการนำเข้าเครื่องในวัว/ต้นทุนการเลี้ยงสุกรประมาณ 65% ไม่รวมค่าแรงงาน เป็นต้น

โดยในที่ประชุมได้ร่วมเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรจากการออก พรฎ.ดังกล่าว อาทิ เสนอให้ภาคปศุสัตว์ต้องทำราคาต้นทุนให้ได้เพื่อให้สามารถต่อรองกับผู้ค้ารายใหญ่ เนื่องจากภาคปศุสัตว์รายย่อยได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มราคา/ควรมีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี/ตัวเลขด้านต้นทุนเกษตรกรมีอยู่แล้วที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอให้สรรพากรควรนำข้อมูลไปพิจารณาการเก็บภาษีให้เหมาะสม/การนำเสนอแนวทางต่อรัฐบาลควรดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนและแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหา ในที่ประชุมได้มอบหมายให้นายณัฐวุฒิ ประทีปะวณิช ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จังหวัดมหาสารคาม สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมกับตัวแทนเกษตรกรยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ต้องการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของชาวนา จึงได้จัดทำโครงการปลูกพืชอื่นๆ หลังฤดูทำนาปี โดยในรายการพืชอื่นๆ นั้น มีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นทางเลือกหนึ่งและมีพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ ด้วย แต่สำหรับมันสำปะหลังนั้นไม่ได้อยู่ในรายการพืชอื่นๆ หลังฤดูทำนาปี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมันสำปะหลัง กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาว่าเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งซึ่งมีอนาคต ที่จะปรับปรุง พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าว ปัจจุบันพบว่า ข้าว มีผลผลิตส่วนเกินจากความต้องการตลาด โดยไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ประมาณ 71.8 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต ประมาณ 32.63 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการทั้งในและนอกประเทศเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 30.88 ล้านตัน ดังนั้น จึงเกิดผลผลิตส่วนเกิน 1.75 ล้านตัน เมื่อคำนวณกลับเป็นพื้นที่จะมีเนื้อที่ปลูกข้าวมากเกินความต้องการ 2.6 ล้านไร่

ขณะที่พืชเศรษฐกิจหลักอีกหลายชนิดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีเนื้อที่เพาะปลูก ประมาณ 6.71 ล้านไร่ ปริมาณผลผลิต 5.03 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการตลาดเฉลี่ยปีละประมาณ 7.95 ล้านตัน ดังนั้น ตลาดต้องการเพิ่มอีกถึง 2.92 ล้านตัน จึงเห็นควรเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังไปปลูกพืชอื่นที่ตลาดมีความต้องการ และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยคำนึงถึงสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri-Map ซึ่งกรณีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่นที่ 2 ช่วงพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ จะตรงกับช่วงนาปรังพอดี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถทำนาปีต่อได้เลย

สำหรับมันสำปะหลังโรงงาน กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีนโยบายในการส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนการปลูกข้าว แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังเดิม เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกข้าว มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวช่วง 8-12 เดือน อีกทั้งส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่เหมาะแก่การปลูกข้าว โดยปัจจุบัน ไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.29 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 27.24 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 40.75 ล้านตัน จึงยังต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 13.51 ล้านตัน ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปและส่งออก

รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวย้ำว่า “แนวทางพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมหลังฤดูทำนาปีนั้น ไม่ว่ากระทรวงเกษตรฯ จะสนับสนุนเกษตรกรเลือกทำการเกษตรกรรมชนิดใด เมื่อผลผลิตทางการเกษตรชนิดนั้นออกมาแล้วต้องมีตลาดรองรับชัดเจน จึงได้ใช้รูปแบบหาตลาดตามแนวทางประชารัฐ” (จับคู่ธุรกิจเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร กับภาคเอกชน) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ เกษตรกร เอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแนวทางการผลิต ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

และอาชีพมีความมั่นคง ช่วยให้ราคาข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของประเทศมีเสถียรภาพ ลดการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีวัตถุดิบใช้อย่างมั่นคง ประหยัดทรัพยากรน้ำและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ทั่วถึง มีวัตถุดิบสินค้าเกษตรเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการผลิตเอทานอลมาเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งประชุมภาครัฐ เอกชน เกษตรกร เพื่อตรวจสอบข้อมูล และระดมความคิดเห็น สำหรับจัดทำโครงการและมาตรการ โดยขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ปีนี้ จัดขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-2 เมืองทองธานี ระหว่าง วันที่ 18-21 กรกฎาคม 2561 ชูประเด็น “โลกมั่นใจ สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย” โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ นำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรมาจัดแสดงมากมาย
รวมทั้งยังมอบรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ให้กับหมอพื้นบ้านที่ใช้ภูมิปัญญาไทยในการบำบัดโรคมาอย่างช้านาน คือ “พ่อหมอขาว เฉียบแหลม” อายุ 82 ปี จากจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีความรู้ ความชำนาญด้านการรักษาโรคสตรี โดยภายในงานยังแจกหนังสือเปิดสูตร 6 ตำรับ รักษาโรคในสตรี ประกอบด้วย 1.ตำรับประสะน้ำนม ประกอบด้วย รากหรือเถานมวัว เล็บเหยี่ยว สีหวด รุ่นไร่ เครือหมากแตก ฝางแดง ไผ่จืด และช้างน้าว นำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มและดื่มทุกวัน หลังอาหาร 3 มื้อ ประมาณ 1 เดือน ช่วยบำรุงน้ำนมสำหรับมารดาหลังคลอดที่มีปัญหาน้ำนมไม่มา และยังบำรุงร่างกายทั้งเพศชายและหญิง

2.ตำรับแก้ผิดสำแดง ประกอบด้วยแก่นตะลุมพุกแดง แก่นต้นสีหวด รากระเวียง รากหนามแดง แก่นระไหว นำมาต้มดื่มมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดศีรษะ อาเจียน หรือหัวนมฟกบวม ปวดเต้านม มีไข้ 3.ตำรับขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ประกอบด้วย หญ้าหนวดแมว หัวหญ้าชันกาด และรากหญ้าคา นำมาต้มดื่ม ช่วยผู้มีอาการปวดไต ปัสสาวะติดขัด

4.ตำรับแก้ริดสีดวงทวาร ประกอบด้วย แก่นแก้วมือไว รากข้าวตาก มะระขี้นก แก่นขันทองพยาบาล นำมาต้มดื่มติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ดื่มวันละ 3 ครั้ง สรรพคุณสำหรับผู้มีอาการปวดทวารหนัก ถ่ายเป็นก้อนเล็กๆ หรือเลือดออกทางทวารหนัก

5.ตำรับแก้สตรีตกขาว ประกอบด้วย รากสามสิบหรือที่รู้จักกันในชื่อสาวน้อยร้อยผัว และรากเจตมูลเพลิง นำมาต้มดื่มติดต่อกัน 1 สัปดาห์ วันละ 3 ครั้ง สรรพคุณช่วยเรื่องปวดท้องน้อย แก้อาการตกขาว และ 6.ตำรับบำรุงร่างกาย ประกอบด้วย ใบและต้นกำลังเสือโคร่ง แก่นกำแพงเจ็ดชั้น ใบกำลังช้างสาร ต้นใบ และรากโด่ไม่รู้ล้ม แก่นกวด ใบทองกวาว และหัวหนอนตายอยาก นำมาต้มดื่มได้เรื่อยๆ ช่วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร

ซึ่งสูตรตำรับเหล่านี้เป็นสูตรโบราณที่พ่อหมอขาว ได้ร่วมกับทางโรงพยาบาลหนองสองห้องในการให้บริการผู้ป่วยสตรี ซึ่งเป็นการรักษาแบบผสมผสาน และขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในตำรับประสะน้ำนมเพิ่มเติม เพื่อเข้าสู่กระบวนการสิทธิบัตรต่อไป

งานนี้ไฮไลท์ที่หนีไม่พ้น คือ โซนมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่จัดตรวจสภาพผิวหน้าให้ผู้มาร่วมงานฟรี พร้อมคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยปีนี้ยกการดูแลสุขภาพของคนทุกวัย ได้แก่ 1. วัยเด็ก ที่มักพบว่าจะป่วยด้วยอาการหวัด ไอ ท้องอืด ควรใช้สมุนไพรที่มีรสอุ่น เช่น กะเพรา ขิง หัวหอมแดง หรือดีปลี รวมทั้งเครื่องดื่มจากการบูร ผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ก็ช่วยย่อย ขับลม จุกเสียด แน่นท้องได้

2.วัยทำงาน เป็นช่วงวัยที่มีความร้อนสูง มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีความเครียด มักป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับความร้อน ควรใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น และช่วยผ่อนคลายได้ เช่น มะลิ บัวบก คุณนายตื่นสาย ปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรใช้สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง กระดูกไก่ดำ และปัญหาผิวสิว ฝ้า ใช้สมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากมังคุด หรือเซรั่มจากประดู่ทุ่งที่เราพัฒนาพบว่าช่วยลดปัญหาคนเป็นฝ้าได้

3.วัยผู้สูงอายุ มีโอกาสที่จะเกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้ง่าย เนื่องจากมีธาตุลมเป็นส่วนประกอบ มักพบว่ามีปัญหานอนไม่หลับ ความเสื่อมของมวลกระดูก ปัญหาโรคปริทันต์ และอาการหลังหมดประจำเดือนในผู้หญิง คือ น้ำมันรำข้าว บัวหลวง มะลิ ช่วยปรับสมดุลการนอนหลับ เพชรสังฆาตช่วยเพิ่มมวลกระดูก กระชายรักษาโรคปริทันต์และดับกลิ่นปาก

ส่วนตำรับยาพิเศษสมัย รศ 131 อย่าง ตำรับแก้กล่อน ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดที่มีฤทธิ์ทางการบำรุงสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชาย กระวาน พริกไทย เป็นต้น ก็ได้รับความสนใจไม่ใช่น้อย โดยตำรับนี้ สรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ให้ไปเลี้ยงส่วนปลายได้ดีขึ้น แก้ชาปลายมือปลายเท้า ชะลอความเสื่อมของร่างกาย แก้อาการวัยทอง ร้อนๆ หนาวๆ ช่วยให้อวัยวะเพศแข็งตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าวมีฤทธิ์ร้อน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ช่วยลดปัญหาการหลั่งเร็ว เป็นต้น

ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า สำหรับความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรกระดูกไก่ดำ จะมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์สเปรย์น้ำมันกระดูกไก่ดำที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อย เส้นเอ็นอักเสบ เมื่อฉีดออกไปอาจไม่แรงพอ จึงจะมีการพัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์อัดแก๊สให้ใช้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยจากจีนในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาการออกฤทธิ์ของกระดูกไก่ดำ พบว่า มีผลเทียบเท่ายาแผนปัจจุบันในเรื่องของเส้นเอ็นอักเสบ โดยได้ศึกษาในอาสาสมัคร 100 คน จึงจะมีการขยายการวิจัยต่อเนื่องต่อไป

ล่าสุด สเปรย์กระดูกไก่ดำ หรือ มัสคูลสเปรย์ แก้อาการฟกช้ำปวดเมื่อย ของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น มอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Herbal Awards : PMHA) ร่วมกับผลิตภัณฑ์สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล “แอนติออกซ์” ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่า สารสกัดขมิ้นชันแคปซูล สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีสรรพคุณเช่นเดียวกันได้ คือ บรรเทาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมได้

อย่างไรก็ตาม ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งโซนให้ร่วมกิจกรรมอบรมสมุนไพร ซึ่งจะรับเพียงรอบละ 20 คน จำนวน 3 รอบ อาทิ การอบรมทำ “เจลรักษาสิว” โดย นายปกรณ์ บุญญะฐี นักศึกษาแพทย์แผนไทย เจ้าหน้าที่ประจำบู๊ธ ให้ข้อมูลว่า สำหรับการทำเจลรักษาสิวนั้น เรียกว่า “เจลตำลึง…สะเดา” โดยสมุนไพรทั้งตำลึงและสะเดานั้น มีฤทธิ์รสขมเย็น จึงช่วยลดการอักเสบ ลดความร้อนได้ โดยเฉพาะตำลึงที่มีข้อมูลงานวิจัยของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ช่วยลดสารต้านอนุมูลอิสระ และลดการเกิดสิวได้ดีด้วย

โดยวิธีในการทำเจลนั้น จะใช้ใบตำลึงและสะเดาคั้นสด 1 ลิตร แล้วใส่สารเพิ่มความหนืดหรือ (Carbopol) ปริมาณ 10 กรัม ค่อยโรยทีละน้อยในน้ำคั้น แล้วรอให้อิ่มตัว แล้วคนให้เข้ากันเป็นเนื้อเจล จากนั้นเติมสารไตรเอทาโนลามีน (Triethanolamine) ประมาณ 4 มิลลิลิตร เพื่อปรับค่า pH ไม่ให้เป็นกรดด่างมากเกินไป คนจนเจลหนืด ค่อยหยดสารกันบูด พาราเบน (Paraben) ปริมาณ 1 มิลลิลิตร ลงไป คนให้เข้ากัน แล้วบรรจุลงในหลอดหรือตลับที่สะอาดก็สามารถนมาใช้งานได้ แต่หากไม่ต้องการทำเป็นเจล ซึ่งคนอาจมองว่ามีความยุ่งยากในการเตรียม ก็สามารถใช้น้ำคั้นตำลึงและสะเดาสดๆ ที่ได้ นำมาทาบริเวณที่เป็นสิวอักเสบ

ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ในมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติมีดีกว่าที่คิด คนงานช่วยกันนำดอกไม้มาประดับลงแปลงต้นไม้เพื่อเตรียมสถานที่จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. 2561 มีมูลค่า 21,799 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังขยายตัวได้ดี รวมถึงการส่งออกไปรายตลาดยังขยายตัวได้ดี ทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน โดยเฉพาะสหรัฐ ส่งออกเดือนมิ.ย. มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีมูลค่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกตั้งแต่เดือนม.ค.-มิ.ย. มีมูลค่า 125,811 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี