ผู้สื่อข่าวถามว่า อาสาสมัครที่รับนมเปรี้ยวร่วมกับการฉีดวัคซีนทั้ง 3

ชนิดมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นทั้งหมดในอัตราเท่าไหร่ ผศ.ทพญ.ดุลยพร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด H1N1 ที่รับนมเปรี้ยวไม่มีโพรไบโอติกส์ มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ถึงร้อยละ 60 แต่กลุ่มที่รับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันสูงกว่าร้อยละ 80 ส่วนกลุ่มที่รับวัคซีนที่ต่อต้านเชื้อ H3N2 ที่รับนมเปรี้ยวแบบไม่มีโพรไบโอติกส์มีอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์

แต่หากรับนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์จะมีอัตราการตอบสนองหรือการสร้างภูมิคุ้มกันสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่น่าสนใจว่า สำหรับกลุ่มที่ก่อนฉีดวัคซีนไม่มีภูมิคุ้มกัน และเมื่อรับนมเปรี้ยวและฉีดวัคซีน จะมีภูมิเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จะได้ผลดีกับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน ส่วนชนิด B พบมากในประเทศไทย ซึ่งการฉีดวัคซีนอย่างเดียวค่อนข้างได้ผลดี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับโพรไบโอติกส์ก็ไม่แตกต่างมาก แสดงว่ากลุ่มนี้มีภูมิมาก่อน จึงเสริมกับผลการศึกษาที่เป็นไปได้ว่า หากมีภูมิคุ้มกันก่อนอาจไม่สร้างเพิ่มมากนัก แต่หากไม่มีภูมิคุ้มกันจะช่วยเพิ่มภูมิใหม่ได้ดีกว่า

อาจารย์สถาบันโภชนาการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ มีรายงานการวิจัยในต่างประเทศซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติพบว่า โพรไบโอติกส์จุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น Lactobacillus acidophilus NCFM และ Bifidobacterium animalis subsp lactis Bi-07 ก็ให้ผลช่วยลดอาการไข้ คัดจมูก และลดจำนวนวันที่ป่วยด้วยไข้หวัดในเด็กและผู้ใหญ่สุขภาพดีได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวัง คือ โพรไบโอติกส์ เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตจึงอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยหนักเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือคนที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ได้ และโรคเอดส์ระยะที่แสดงอาการ และไม่ควรใช้เลี้ยงทารก

เจ้าแรกในสงขลา ปลูกมะนาวลอยน้ำ ผลผลิตดี ประหยัดพื้นที่ ไม่หวั่นปัญหาขาดน้ำหน้าแล้ง

นายสมพร บุญแก้ว (หมัดชู) อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 86/4 บ.ตะเคียนเภา ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เกษตรกรเจ้าของไอเดียเจ๋งคิดปลูกมะนาวลอยน้ำเปิดเผยว่า ตนเองได้คิดริเริ่มปลูกมะนาวลอยน้ำมานานเกือบๆ สองปี

ทั้งนี้ ในสวนและบริเวณบ้านก็ปลูกมะนาวและพืชอื่นๆอยู่แล้วตามปกติ นอกจากนั้น ก็ยังเลี้ยงปลาดุกในบ่อซิเมนต์ซึ่งตนได้ปลูกผักบุ้งไว้ในบ่อด้วย โดยเอาต้นผักบุ้งไปปล่อยไว้ให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ปรากฏว่าผักบุ้งขึ้นสวยงามดี เลยเกิดความคิดว่าน่าจะปลูกพืชอย่างอื่นได้เลยทำการทดลองปลูกมะนาวซึ่งได้รับผลดี

สำหรับขั้นตอนในการปลูก ต้องเอากิ่งมะนาวที่ผ่านการตอนกิ่งจนมีรากสมบูรณ์แข็งแรง เตรียมเปลือกมะพร้าวสับเป็นชิ้นเล็กๆ และมูลวัว ผสมให้เข้ากันใส่ดินเพียงเล็กน้อย จากนั้นก็เอาโฟมหนาประมาณ 2 นิ้ว กว้าง 90 คูณ 90 ซม. สองชิ้นประกบกันแล้วเจาะรูตรงกลางให้ทะลุขนาดความกว้างประมาณ 5 นิ้ว ส่วนด้านที่ทะลุให้เล็กกว่า นำผ้าขี้ริ้วมาใส่ในรู แล้วนำล้อยางรถยนต์เก่ามาวางบนโฟมเอากิ่งพันธุ์มะนาวใส่ลงให้โคนกิ่งตรงกับรูที่มีผ้าขี้ริ้วสอด ไว้นำเปลือกหรือขุยมะพร้าวที่ผสมไว้เรียบร้อยใส่ลงไปในล้อยางให้เต็มและค่อนข้างแน่น

จากนั้นก็ยกไปใส่ในบ่อปลา รดน้ำให้ชุ่ม ซึ่งการรดน้ำจะรดในช่วง 1 เดือนแรกหลังจากนั้นรากมะนาวจะเริ่มดูดน้ำดูดอาหารได้เองอาจต้องรดน้ำบ้างแต่ก็นานๆครั้งต้องคอยดูว่าขุยมะพร้าวแห้งเกินไปหรือไม่ และหลังจาก 2 เดือนอาจต้องเติมขุยมะพร้าวที่ผสมมูลวัวหากของเดิมมันยุบตัวลง

หลังจากปลูกไปประมาณ 6 เดือนมะนาวก็จะให้ผลผลิตลูกดกต่อต้น เก็บครั้งละไม่ต่ำกว่า 2 กิโลกรัม สำหรับมะนาวที่ปลูกจะใช้พันธุ์แป้นพิจิตร และพันธุ์ทูลเกล้า ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ลูกดก น้ำเยอะ รสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมเก็บขายได้ราคาดีกิโลกรัมละ 50 บาท หรือช่วงหน้าแล้งจะมีราคาลูกละ 4-5 บาท

“การปลูกมะนาวลอยน้ำมีข้อดีคือดูแลง่าย ไม่ต้องพะวงกับการกำจัดวัชพืชหรือรดน้ำ ในยามหน้าแล้งก็ไม่มีผลกระทบ ซ้ำยังเหมาะกับครอบครัวที่ไม่ค่อยมีเนื้อที่ ในส่วนของการเลี้ยงในบ่อซิเมนต์ ซึ่งเลี้ยงปลาดุกควบคู่ไปด้วย มะนาวก็จะได้รับสารอาหารจากน้ำที่เลี้ยงปลา นอกจากนั้นยังเป็นร่มเงาให้กับปลาอีกด้วย ซึ่งบ่อขนาด 3 คูณ 5 เมตร จะปลูกได้ 8 – 10 ต้น ในอนาคตตนเองจะขยายการปลูกให้มากยิ่งขึ้นโดยจะทดลองปลูกในแหล่งน้ำอื่นที่ไม่ใช่บ่อปลาซึ่งหากหน่วยงานไหนสนใจตนเองก็ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้เพียงแต่ขอให้จัดเป็นโครงการที่จริงจัง “นายสมพร กล่าวทิ้งท้าย

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ทปอ.ได้ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อวางนโยบายการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยจะร่วมกันวางแผนให้สอดคล้องกันระหว่างความต้องการและคุณภาพทักษะที่ผู้ใช้บัณฑิตต้องการ รวมทั้งการนำเอานวัตกรรมและงานวิจัยมาขยายผลเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ในเชิงสาธารณะและพาณิชย์ให้มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งผลักดันการดำเนินงานให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างมาตรฐานและความเชื่อถือระหว่างกันให้มากขึ้น

ประธาน ทปอ.กล่าวต่อไปว่า การดำเนินงานดังกล่าวมี 3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน คือ 1. ยุทธศาสตร์การสอดแทรกการเรียนการสอนด้านทักษะแรงงานและผู้ประกอบการ ซึ่งจะเร่งให้แต่ละมหาวิทยาลัยปรับปรุงหลักสูตร โดยบูรณาการทักษะที่เตรียมความพร้อมในการทำงาน พร้อมเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น เพื่อบ่มเพาะความพร้อมให้เกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ 2. ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษาแบบคู่ขนาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะและคุณสมบัติที่ภาคธุรกิจต้องการ พร้อมทั้งสามารถเสนอแนะข้อคิดเห็นเพื่อให้ทันยุคสมัย ตลอดจนการร่วมลงทุนด้านการนำปัญหาของแต่ละภาคอุตสาหกรรมมาร่วมต่อยอดงานวิจัย รวมถึงการจัดตั้งแล็บหรือสถาบันการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี

“ยุทธศาสตร์ที่ 3 ดำเนินโครงการความร่วมมือการจัดการเรียนการสอนแบบสหกิจศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรม รูปแบบของยุทธศาสตร์นี้คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง โดยจะให้นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้และทดลองงานในแต่ละภาคธุรกิจโดยไร้ข้อจำกัด พร้อมนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้จริง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น มีเป้าหมายและทัศนคติในการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น” ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว

ประธาน ทปอ.กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้การผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขา มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดทำหลักสูตรที่ผสมผสานความเป็นวิชาชีพ เพื่อให้เป็นใบเบิกทางการเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมด้วยการนำโจทย์หรือปัญหามาต่อยอดการพัฒนาสิ่งที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์และเกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

“พาณิชย์”จีบเว็บไซต์ขายสินค้าระดับโลก อาลีบาบา, เจดี.คอม ดันสินค้าเกษตรไทยไปขายบนเว็บ หวังเพิ่มช่องทางจำหน่าย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการหารือกับเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น Alibaba.com, JD.com รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ เพื่อให้ช่วยเหลือในการนำสินค้าเกษตรของไทยไปขายบนเว็บไซต์เหล่านี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และขยายโอกาสให้การซื้อขายสินค้าของไทยให้มากขึ้น โดยหากสินค้าเกษตรของไทยสามารถขายในเว็บไซต์ระดับโลก ที่มีผู้ซื้ออยู่ทั่วทุกมุมโลกได้ จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

“อย่างอาลีบาบา ประสบความสำเร็จมากในการขายสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์ มีผู้บริโภคสั่งซื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้การขายสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์นี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสนใจที่จะให้เขานำสินค้าเกษตรของไทยไปขาย และเชื่อว่า จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะข้าว และผลไม้เมืองร้อน”

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จากจีน ได้เข้าพบ เพื่อขอให้สนับสนุนการเข้ามาลงทุนของอาลีบาบาในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งได้แจ้งว่า กระทรวงพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ได้ขอให้อาลีบาบาช่วยพัฒนาการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย หรือการค้าขายสินค้าทางออนไลน์ด้วย และขอให้นำสินค้าของไทยไปขายบนเว็บไซต์อาลีบาบา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งอาลีบาบามีประสบการณ์การค้าสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์ และได้รับความนิยมในการสั่งซื้อเป็นอย่างมาก ทั้งจากผู้บริโภคชาวจีน และผู้บริโภคทั่วโลก

ทั้งนี้ อาลีบาบา ได้เสนอ 2 โครงการให้ไทยพิจารณา เพื่อนำสินค้าเกษตรของไทยเข้าไปขายบนเว็บไซต์อาลีบาบา โดยโครงการแรกเป็นการขายสินค้าอาหารสด และผลไม้สด และโครงการที่ 2 เป็นการขายข้าว โดยไทยคงต้องตั้งทีมคุยรายละเอียดในการดำเนินการ่วมกับอาลีบาบาในเร็วๆ นี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด

“ถ้าเราจะขายสินค้าเกษตรบนเว็บไซต์อาลีบาบา หรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่เป็นตลาดกลางซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ต (e-Marketplace) มีเรื่องต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรของไทยให้สามารถค้าขายบนอินเตอร์เน็ตได้ เพราะส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ด้านนี้มากนัก รวมถึงต้องให้ความรู้ในเรื่องของการโอนเงิน จ่ายเงิน การผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับมายังต้นทางของสินค้าได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ รัฐบาลคงต้องช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น”

อย่างไรก็ตาม คาดว่า สินค้าข้าว น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะซื้อขายบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา เพราะปัจจุบัน กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มได้รวมตัวกันขายข้าวบนอินเตอร์เน็ตแล้ว และเกษตรกรมีความพร้อมที่จะผลิตตามคำสั่งซื้อ หรือแพ็คเป็นถุง เพราะการซื้อทางออนไลน์ คงจะเป็นการซื้อเพื่อไปขายปลีก ที่จะต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์อย่างสวยงาม

วิวัฒนาการของระบบสหกรณ์ในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2458 ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐบาลยุคนั้น เห็นสมควรที่นำวิธีการสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน ระบบเศรษฐกิจของชนบทได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเองมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเพื่อการค้า ทำให้ต้องการเงินทุนขยายการผลิตและครองชีพ จึงต้องไปกู้ยืมเงิน ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงและยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้า สภาพปัญหาความยากจนของชาวนาในสมัยนั้น ทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือด้วยการจัดหาเงินทุน มาให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ในฐานะทรงเป็นอธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติ ได้ทรงทดลองนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาดำเนินการครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีหลักการร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซนที่ได้รับความสำเร็จมาแล้วในอินเดียและพม่า ต่อมาวิธีการสหกรณ์ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านได้และมีการขยายผลการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ ” และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 นี้ เป็นโอกาสของวันครบรอบ 102 ปี สหกรณ์ไทย

การเติบโตของระบบสหกรณ์ในประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลายภาคส่วนเล็งเห็นถึงบทบาทและศักยภาพของสหกรณ์ ที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่คาดหวังจะใช้กลไกของสหกรณ์นี้เป็นกำลังสำคัญของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยมอบนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อจะให้สหกรณ์ที่เข้มแข็งเหล่านั้น ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอาชีพ สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนและส่งผ่านความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากรัฐบาลไปสู่ประชาชนผ่านกลไกของสหกรณ์

นั่นเพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีสหกรณ์ทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรกว่า 8,100 แห่ง สมาชิกรวม 12 ล้านครอบครัว สินทรัพย์สหกรณ์ทั้งประเทศมีมากถึง 2.7 ล้านล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลสหกรณ์ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งมีภารกิจหลักเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศ จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เดินหน้าในการพัฒนาสหกรณ์มีความเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายการทำงานในปี 2561 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งสร้างสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร และอยากเห็นสหกรณ์เป็นกำลังของเกษตรกรที่แท้จริงในการพัฒนาและช่วยปฏิรูปภาคการเกษตรให้สำเร็จ สิ่งที่อยากเห็นในอนาคตอันใกล้นี้ คือ การผลักดันให้สหกรณ์นำระบบอีคอมเมิร์ชเข้ามาเชื่อมโยงกับภาคการท่องเที่ยวและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนเองไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า เรื่องสหกรณ์เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง คำตอบในการพัฒนาภาคประชาชนอยู่ที่สหกรณ์ และจากนี้ไปสหกรณ์จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ถ้าสหกรณ์เข้มแข็ง ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนให้เข้มแข็งไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้คุยกับผู้แทนสหกรณ์ต่าง ๆ ไว้ว่า ในวาระที่การสหกรณ์ก้าวเข้ามาสู่ 102 ปี จากนี้ไปข้างหน้ารัฐบาลจะหาทางยกระดับสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ล่าสุดรัฐบาลกำลังคุยเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ ที่เป็นกฎหมายใหญ่ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและสอดรับกับการพัฒนาระบบสหกรณ์มากขึ้น

“สหกรณ์ในปัจจุบันยังทำได้อีกเยอะ ขณะนี้รัฐบาลก็ส่งเสริมการทำงานของระบบสหกรณ์ และขณะนี้กำลัง คิดหาทางทำอย่างไรให้ยกระดับสหกรณ์ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์นี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินอย่างเดียว แต่จะเป็นการรวมกลุ่มเรื่องของเทคโนโลยีด้วย ยิ่งเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนในสังคมมากขึ้น เช่น ฟินเทค เอทีเอ็ม อี-เพย์เม้นต์ ดังนั้น จึงอยากให้สหกรณ์ยุคต่อไปใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาพัฒนาระบบการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกที่มาใช้บริการ เพื่อติดปีกให้สหกรณ์ยุคใหม่ เกิดความเข้มแข็งและสามารถดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

นอกเหนือไปจากด้านนโยบายที่จะนำมากำกับดูแลสหกรณ์แล้ว หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ยังเตรียมความพร้อมเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้ติดปีกสมดั่งที่ฝ่ายนโยบายตั้งความหวังเอาไว้ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในด้านการจัดหาตลาดเข้ามาสนับสนุนสินค้าการเกษตร

หัวเรือใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมที่จะระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับของกระทรวงพาณิชย์ ในการเข้ามาช่วยสหกรณ์ให้ก้าวข้ามผ่านปีที่ 102 ไปได้อย่างราบรื่น ด้วยการสานพลังความร่วมมือในการจัดหาช่องทางการตลาดรองรับผลผลิตเพื่อสนับสนุนธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตร เพื่อเป็นการการันตีว่า เมื่อสหกรณ์ส่งเสริมสมาชิกให้ผลิตสินค้าดี มีคุณภาพ เมื่อสหกรณ์ทำหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตหรือแปรรูปผลผลิตออกมาเป็นสินค้าแล้ว จะมีตลาดรองรับสินค้าของสหกรณ์อย่างชัดเจน สิ่งสำคัญคือ ต้องดำเนินการภายใต้หลักคิด “ตลาดนำการผลิต” นำข้อมูลรอบด้านมาใช้วางแผนการผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามาช่วยเสริมตรงจุดดังกล่าว ต้องมีเงื่อนไขด้วยว่าคงต้องสร้างสหกรณ์การเกษตรที่มีอยู่หลายพันแห่งให้แข็งแกร่งเสียก่อน โดยเฟ้นหาสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็งมาเป็นต้นแบบในระยะแรก จากนั้นเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาเริ่มต้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การผลิต ลดต้นทุน เรื่อยมายังกลางน้ำ คือ การควบคุมและการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วยการใช้เทคโนโลยี จนมาถึงปลายน้ำ คือ การจัดหาตลาดรองรับ

สำหรับกลไกการดูแลสินค้าการเกษตรตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนั้น เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ผลที่ได้คือการสร้างคุณภาพสินค้าตั้งแต่กรบวนการแรก ก่อนนำมารวบรวมไว้ยังจุดเดียวกัน ซึ่งถ้าสหกรณ์สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี เกรดยอดเยี่ยม แน่นอนว่าต้องสินค้านั้นย่อมเป็นที่ต้องการ ของตลาด ซึ่งเชื่อมั่นว่าแนวทางนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรของไทยได้ทั้งระบบ ที่สำคัญกระทรวงพาณิชย์ ยังมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงในการ ขายสินค้ากับร้านค้าเหล่านี้ได้โดยตรง

เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่พร้อมเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์ภาคการเกษตร โดยนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการธ.ก.ส. ยอมรับว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำคอยสนับสนุนแก่สหกรณ์ที่ต้องการเงินทุนไปดำเนินกิจการ ทั้งการผลิต การรวบรวมสินค้า และการแปรรูปก่อนจัดจำหน่าย ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังเข้ามาร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบบัญชี ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ ก็จะคิดโครงการเพื่อฝึกอบรมสหกรณ์ให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องของระบบการเงินด้วย

ขณะที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลและพัฒนาสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้พูดถึงการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลว่า ในระยะสั้นของการสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ภาคการเกษตร ต้องทำองค์กรให้มีความพร้อมก่อน ทั้งด้านการบริหารงาน การควบคุมภายใน การทำธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิก และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างธรรมาภิบาลของผู้บริหารสหกรณ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างสหกรณ์ขึ้นมาเป็นองค์กรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันยังต้องการเห็นสหกรณ์การเกษตร เป็นองค์กรที่พึ่งพิงตัวเองมากกว่ารอความช่วยเหลือ จากภายนอก สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องช่วยเกื้อหนุนสหกรณ์ขนาดเล็ก โดยให้สหกรณ์ขนาดเล็กทำหน้าที่ผลิต สหกรณ์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่หาตลาด เดินหน้าไปด้วยกัน และยกระดับให้เหมือน SMEs รวมถึงต้องการให้สหกรณ์ทำหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ และส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์ให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน .

ส่วนสหกรณ์นอกภาคเกษตร เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน สิ่งสำคัญที่ต้องกู้กลับมาคือ “ภาพลักษณ์” เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักมองภาพสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในมุมของ การทุจริต เรื่องนี้จะต้องเร่งสร้างกระบวนการของสหกรณ์ใหม่ ชูตัวเองขึ้นมา โดยเฉพาะกรรมการสหกรณ์ต้องบริหารงานโดยยึดประโยชน์ของสมาชิกเป็นที่ตั้ง และร่วมกันวางเกณฑ์กติกาในการป้องกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง โดยไม่ต้องให้รัฐมาคอยกำกับ เพื่อสร้างรูปแบบการบริหารงานได้เหมาะสม เช่นเดียวกับการสร้างสวัสดิการต่างๆ ดูแลสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดภาระภาครัฐในการจัดสวัสดิการลงมาดูแลในแต่ละปีด้วย

“พิเชษฐ์” ทิ้งท้ายด้วยว่า “การจะให้ภาครัฐไปช่วยเหลือเป็นรายคนเป็นไปไม่ได้เลย วันนี้ถ้าหากชาวบ้านมีการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ รัฐบาลก็สามารถผ่านความช่วยเหลือผ่านทางสหกรณ์ไปยังสมาชิกก็คือประชาชนได้ ดังนั้น สหกรณ์จะเป็นกลไกสำคัญที่จะเข้าไปพัฒนาชุมชนแทนภาครัฐ การที่ทุกภาคส่วนได้เข้ามาดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ช่วยกันเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อนำสหกรณ์ก้าวเข้าสู่ ยุคใหม่ เป็นองค์กรที่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากและดูแลสวัสดิการให้คนในสังคมไทย

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการขับเคลื่อนโครงการ “5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ถวายในหลวง” เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับส่วนราชการในสังกัด ปราชญ์เกษตร ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ขับเคลื่อนโครงการ และส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจาก 882 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 70,000 ราย น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม โดยมุ่งหวังจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

ทั้งนี้ สศก. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานปี 2560 ระหว่างก.พ.-พ.ย. 2560 พบว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ พบเกษตรกร 98% มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เข้าใจการจัดทำบัญชีครัวเรือน มีการวางแผนการผลิต สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และลดรายจ่ายทางการเกษตรด้วยการพึ่งพาตนเองเฉลี่ย 1,736 บาท/เดือน หรือ 20,832 บาท/ปี

แบ่งเป็นลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น การปลูกผัก เลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ไข่ไว้บริโภคในครัวเรือน จำนวน 964 บาท/เดือน และลดรายจ่ายทางการเกษตร เช่น ใช้แรงงานตนเอง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สารไล่แมลง และอาหารสัตว์ใช้เอง จำนวน 772 บาท/เดือน

นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของครัวเรือนได้ 132 บาท/เดือน เช่น ค่าบุหรี่ สุรา การเล่นพนันเสี่ยงโชค ส่งผลให้เกษตรกรมีการออมเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากขึ้นและชำระหนี้ได้ตรงเวลาจากการพึ่งพาตนเอง

สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีความสมัครใจจากพื้นที่ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น อีกจำนวน 70,000 ราย รวมเป็น 140,000 ราย เพื่อน้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อรองรับและป้องกันการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมภายในปี 2561

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน โครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2564 จะสามารถสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำ แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม และคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำปิงได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกันนั้นยังให้ความสำคัญในการจัดการน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ การฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาวางผังเมืองและระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ นั้น ในส่วนของกรมชลประทาน พล.อ.ฉัตรชัย ให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินงานโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ให้แล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2564

ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะมีการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำแบ่งเป็น 2 ช่วง ด้วยกันคือ ช่วงที่ 1 การขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ-อ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 22.975 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 4,713 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า 27% ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงลำน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ และอาคารประกอบ ระยะทาง 25.624 กิโลเมตร ปัจจุบันสามารถขุดได้ระยะทาง 647 เมตร คิดเป็นความก้าวหน้า 10%

สำหรับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในการดำเนินโครงการฯ นั้น การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำทั้ง 2 ช่วง จะใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติรวมกันประมาณ 745 ไร่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จะเหลือเฉพาะพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา จำนวนประมาณ 229 ไร่ อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประกาศผลประกวดโคนมพันธุ์ดี ระดับประเทศ หวังกระตุ้นเกษตรกรเร่งพัฒนาพันธุ์ให้แกร่ง ดันอุตสาหกรรมนมไทยขึ้นแทนผู้นำอาเซียน พร้อมขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 วางเป้ายกระดับรายได้โคนมรายย่อย ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/คน/ปี

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อแสดงความก้าวหน้าของการปรับปรุงพันธุ์โคนมในประเทศ รวมทั้งแสดงศักยภาพด้านผลผลิตน้ำนมของแม่โคนมที่เกิดในประเทศไทย อ.ส.ค. ได้จัดให้มีการประกวดโคนมชิงถ้วยพระราชทาน ในงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น ครั้งที่ 35

สำหรับปีนี้จัดให้มีการประกวดโคนมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1 โคนม อายุระหว่าง 12-15 เดือน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โคนม ของ นายสุภัทร์ ทองสนิท ฐิดาฟาร์ม สหกรณ์ราชาแดรี่