ผู้ส่งออกทุบราคายางอ้างจีนกดซื้อ ชาวสวน-สหกรณ์จี้รัฐงัดกม

.สกัดพ่อค้าป่วนตลาดทุบราคายาง ! สัปดาห์เดียวร่วงกราวรูด10 กว่าบาท/กก. พ่อค้ารายย่อย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรสต๊อกยางไว้ขายเจ็บตัวระนาว ขาดทุนยับ ร้องรัฐบาลงัด พ.ร.บ.ควบคุมยาง 2542 มาคุมเสถียรภาพราคายาง ด้านผู้ว่าการ กยท.สั่งเลื่อนประมูลขายยางครั้งที่ 4 ออกไปเดือน เม.ย.นี้

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท.จะเสนอเลื่อนการประมูลยางงวดที่ 4 ในโกดังที่ภาคใต้ซึ่ง กยท.เช่าเอกชนเก็บประมาณ 1.2 แสนตันสุดท้าย ซึ่งเดิมจะประมูลกลางเดือนมีนาคมนี้ออกไปเป็นเดือนเมษายนนี้ต่อคณะกรรมการบริหาร กยท.ในวันที่ 9 มีนาคมนี้ว่า จะเปิดประมูลในวันใดของเดือนเมษายน ซึ่งช่วงนั้นเกษตรกรทั่วประเทศหยุดกรีดยางแล้ว

สาเหตุที่ขอเลื่อนการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากนักลงทุนซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้กดราคายางลงมาก ทำให้กลุ่ม 5 เสือค้ายางรายใหญ่ของไทยที่ส่งสินค้าให้จีนต้องกดราคารับซื้อ หรือกดราคาประมูลซื้อในไทยอีกต่อหนึ่ง และช่วงนี้ค่าเงินบาทค่อนข้างแข็งอยู่ในระดับ 35 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้ราคายางที่จะรับซื้อจากเกษตรกรต้องลดลงโดยอัตโนมัติด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จะเข้าสู่ฤดูแล้งปิดกรีดยางพาราไปเกือบหมดแล้วทั่วประเทศ ทำให้ปริมาณผลผลิตยางลดลงแต่สถานการณ์ราคายางพาราก็ยังอยู่ในภาวะผันผวนอย่างหนัก โดยในช่วงต้นเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้นของชาวสวนยาง เพราะผู้ส่งออกได้ไล่ซื้อยางเพื่อส่งมอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และพ่อค้ารายย่อย สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ก็หันมาเก็บยางสต๊อกไว้ขายทำกำไรในช่วงปิดกรีด ส่งผลทำให้ราคาพุ่งขึ้นมาจ่อกิโลกรัมละเกือบ 100 บาท แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ราคายางวูบหนัก บางวันดิ่งลงถึง 5-10 บาท/กก.

หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงระดับราคาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 กับวันที่ 31 มกราคม 2560 โดยอ้างอิงราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า ราคายางแผ่นดิบขึ้นไปสูงสุดที่ 93.52 บาท/กก. หลังจากนั้นเริ่มเข้าสู่ขาลงมาเรื่อย ๆ จนแตะระดับที่ 75.58 บาท/กก. ซึ่งภายในระยะเวลาเดือนเดียวปรับตัวลดลงประมาณ 17.94 บาท แม้แต่ราคาท้องถิ่นก็ลดลงถึง 16.40 บาท

สอดคล้องกับนายสมพร ศรียวง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านพรุนายขาว จำกัด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำยางสดที่ผ่านมาราคาขึ้นลงวูบวาบ ไม่มีเสถียรภาพ โดยรอบขาขึ้นจะขึ้นประมาณ 50 สตางค์ และ 1 บาท/กก./วัน และเมื่อถึงรอบขาลงจะลด 3-4 บาท จากราคา 83 บาท/กก. ลงมาอยู่ที่ 65-68 บาท/กก. การซื้อขายยางขณะนี้ถูกจัดตั้งเป็น 2 รอบ คือรอบขาขึ้นและรอบขาลง เมื่อถึงรอบขาลงก็จะลงคราวละ 3 บาทหรือ 4 บาท และบางวันเคยลงถึง 10-12 บาท/กก.

ดังนั้นจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้นำพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ เพื่อกำกับดูแลราคายางให้มีเสถียรภาพ เพราะราคาขึ้นลงวูบวาบมากเกินไป

“ประเด็นสำคัญยางถูกทุบราคาให้ต่ำลง เพราะยังมีเงื่อนไขการประมูลยางค้างสต๊อกของรัฐบาล เพื่อให้ราคาตลาดต่ำ ก็สามารถเสนอราคาที่จะเข้าประมูลยางของรัฐบาลในราคาที่เหมาะสมกับตลาดที่ราคาต่ำได้” นายสมพรกล่าว

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในฐานะประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ค้ายางมีการทุบราคาให้ต่ำลงแล้วเข้าช้อนซื้อ เมื่อซื้อได้แล้วก็มีการปั่นราคาให้สูงแล้วก็เทขายออกเมื่อเทขายออกหมดแล้วก็ทำการทุบราคาต่อเพื่อซื้อราคาที่ต่ำลงส่วนกรณีที่กยท.ต้องเลื่อนการประมูลออกไปโดยไม่มีกำหนดนั้นไม่ทราบว่ามีผู้เสียหายหรือไม่ เพราะเอกชนที่จะเข้าประมูลยางต้องลงทะเบียน และวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5%

จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และด้วยนโยบายสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาและช่วยเหลือสังคม ชุมชน และประเทศชาติ จึงได้จัดกิจกรรม “KUBOTA พลังใจสู้ภัยน้ำท่วมภาคใต้” เพื่อให้ความช่วยเหลือ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรและและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นกับพี่น้องทางภาคใต้ บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และได้จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็น พร้อมทั้งแผนการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือภายใต้กิจกรรม “KUBOTA พลังใจสู้ภัยน้ำท่วมภาคใต้” โดยร่วมมือกับร้านค้าผู้แทนจำหน่ายในพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยใน 7 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, พัทลุง, ตรัง และกระบี่

“ในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัย สยามคูโบต้าได้ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพบรรจุสิ่งของที่จำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2,800 ชุด รวมมูลค่า 760,000 บาท และเมื่อปัญหาต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลายลง เราจึงได้ประสานงานไปยังร้านค้าผู้แทนจำหน่ายลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูและปรับสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกรและประชาชนผู้ประสบอุทกภัยทุกคนด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้วางแนวทางเพื่อฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 3 ด้าน คือ การฟื้นฟูโรงเรียน โดยบริษัทฯ ได้เข้าไปปรับปรุงแปลงเกษตร พื้นที่สนาม ขุดลอกคลองระบายน้ำ พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์การเรียนและสิ่งของที่จำเป็นให้แก่เด็กนักเรียนและคุณครู การฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร โดยขุดร่องระบายน้ำ ช่วยเกษตรกรสูบน้ำออกจากสวนและแปลงนา และการฟื้นฟูเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งบริษัทฯได้ให้บริการตรวจเช็กและซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ชำรุดเสียหาย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าแรงและค่าเดินทางของช่าง พร้อมทั้งมอบส่วนลดค่าอะไหล่และน้ำมัน 50%

ด้าน นายวิรัตน์ ไกรแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 3 กล่าวด้วยว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจำนวนมาก และยังทิ้งร่องรอยความเสียหายในหลายพื้นที่ การที่สยามคูโบต้าลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ด้วยการมอบสิ่งของที่จำเป็นและอุปกรณ์การเรียน รวมไปถึงนำแทรกเตอร์และรถขุดมาปรับสภาพพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาดีขึ้นนั้น ตนเองจึงขอเป็นตัวแทนพี่น้องภาคใต้ทุกท่าน ขอบคุณและชื่นชมสยามคูโบต้าที่จัดกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเยียวยาและให้กำลังใจผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นแบบอย่างในการช่วยเหลือชุมชนและสังคมไทยอีกด้วย

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,573 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 62% ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 22,753 ล้านลบ.ม.วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศ รวม 17,661 ล้านลบ.ม. สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก อาทิ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,218 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 53% ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,522 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 36%ของปริมาณน้ำใช้การ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง รวม 5,950 ล้านลบ.ม.

นายทองเปลว กล่าวว่าผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 71%ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 77% ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 รวม 435 ล้านลบ.ม. ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตชลประทานทั่วประเทศปี 2559/60 มีการทำนาปรังไปแล้ว 7.33 ล้านไร่ มากกว่าแผน 3.33 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้วางแผนทำนาปรังไว้ 2.67 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ถึง 2.65 ล้านไร่

“จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วเกือบ 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคการใช้น้ำอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก จะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งดทำนาปรังต่อเนื่อง หรือนาปรังรอบที่ 2 พร้อมกับขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้านี้ด้วย” นายทองเปลว กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์ควายไทย” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับการเอาใจใส่จากภาคส่วนต่างๆ ในการส่งเสริม สนับสนุนสร้างอาชีพ รวมทั้งด้านวิชาการหรือการวิจัยต่างๆ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีผู้แทนสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยเข้าร่วมประชุมด้วย และได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค กระบือ เป็นครั้งแรก และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยในหลักการ

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 มีนาคม นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สนธิกำลังทั้งฝ่ายปกครองท้องถิ่น ทหาร และประชาชน เดินหน้าแผนปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อกำจัดผักตบชวาแบบล้างบางให้สิ้นซากไปจากแม่น้ำลำคลอง โดยนำร่องที่แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าน้ำหน้าพระราชวังบางปะอิน เขตตำบลบ้านเลน อ.บางปะอิน เพื่อสนองตอบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการกำจัดผักตบชวาอย่างจริงจัง ด้วยผักตบชวามีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว เฉลี่ยจาก 1 ต้นเป็น 2,500 ต้น ภายในเวลา 1 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้ นายไพรัตน์ เพชรยวน นายอำเภอบางปะอิน เปิดเผยว่า กำหนดการทำงานไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1.ให้ท้องถิ่นใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ลงตักและจัดเก็บผักตบชวาขึ้นจากแม่น้ำลำคลองขนาดใหญ่กว่า 30 แห่งใน 18 ตำบลของอำเภอให้หมด 2.มีการวางทุ่นปากคลองและท้ายคลอง รวมถึงเขตรอยต่อของตำบลและหมู่บ้าน เพื่อป้องกันผักตบชวาไหลตามน้ำไปมา และให้แต่ละหมู่บ้านช่วยกันเก็บที่ยังตกค้างในพื้นที่ และ 3.ให้ทุกหมู่บ้านรณรงค์ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอบางปะอินเสนอให้ท้องถิ่นและหมู่บ้านต่างๆ นำเรือที่เคยแจกตอนน้ำท่วมไปกว่า 1 พันลำ ออกมาใช้ในช่วงนี้ เพื่อเป็นพลังมดในการพายเรือออกเก็บผักตบชวาในชุมชนของตนเอง

“บึงกาฬ 4.0” ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เคยบอกกล่าวไว้ที่นี้ว่ามีความเป็นไปได้ ทั้งเกิดขึ้นต่อเนื่องและพัฒนามาเป็นปีที่ 5 จาก “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ”

ปีนี้การจัดงานพัฒนาขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการมุ่งสู่ “บึงกาฬ 4.0” ในหลายประการ ตั้งแต่การจัดแสดงนวัตกรรมที่พัฒนามาจากยางพารา มีการใช้เครื่องจักรยุคใหม่แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น จากเดิมผลิตหมอนหนุน เพิ่มเป็นรองเท้าแตะยางเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่ต้องการ

วันนี้ เครื่องกรีดยางอัตโนมัติสั่งให้ทำงานด้วยรีโมตที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าหรือโซลาร์เซลล์เข้าไปแทนที่แรงงานคนกรีดยางบ้างแล้ว แต่มิได้ทิ้งกำลังคน เพียงปรับเปลี่ยนหน้าที่จากการกรีดยางไปทำอย่างอื่น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับกำลังแรงงานคน

การสร้างถนนด้วยยางพาราเป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สร้างความพอใจให้กับตัวแทนรัฐบาล คือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ชมด้วยความชื่นชม

ด้านนิทรรศการเกี่ยวกับยางพาราทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางการเกษตร และนวัตกรรมอื่นอีกหลากหลาย ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากการยางแห่งประเทศไทย ที่นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้ว่าการ ไปร่วมงานด้วยตัวเอง และติดตามงานครั้งนี้ต่อเนื่อง รวมทั้ง “รับเบอร์แลนด์” พิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง

ขณะที่เป็นครั้งแรกที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมหน่วยงานในสังกัดมาเพิ่มพูนความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับยางพาราในหลายหัวข้อ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคตเกษตรอินทรีย์ไทย เทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงสำหรับยางพารา การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นความรู้ที่ทุกคนในงานซึ่งมาร่วมรับฟังได้รับรู้รับทราบไปเต็มที่

นอกจากนั้น เนื่องในโอกาสที่นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านครบรอบ 30 ปี ยังนำการเสวนาเกษตรที่ดีที่สุดมอบให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งของบึงกาฬและที่เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะในหัวข้อพิเศษเรื่อง “เกษตรกรจะปรับตัวเข้าสู่สวนยาง 4.0 ได้อย่างไร” ฟังจบเมื่อวันนั้น กลับเข้าสวนยางมองเห็นสวนยางพาราวันนี้ 1.0 เป็นสวนยางพารา 4.0 ทันที จริงไหม

ห้วงเวลาผ่านมาเป็นปีที่ 5 พันธมิตรที่เข้ามาร่วมงานตลอดคือรับเบอร์วัลเลย์จากเมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่แต่เพียงมาทำสัญญาซื้อน้ำยายางพาราจากชาวสวนยางพาราบึงกาฬเท่านั้น ยังนำเทคโนโลยีที่สร้างมูลค่าให้กับน้ำยายางพาราให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาดูโรงงานเพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราให้เป็นยางรถยนต์ และอื่นๆ

ในไม่นานวันข้างหน้า การร่วมทุนระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ยางพาราของจีนกับชาวสวนยางพาราบึงกาฬจะเกิดขึ้น ต่อไปเกษตรกรยางพาราไทยจะผลิตยางได้มากขึ้น โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาที่จะได้รับหรือราคาที่ขึ้น-ลงตามภาวะเศรษฐกิจอีกต่อไป เพราะจะมีการซื้อ-ขายและแปรรูปตลอดทั้งปี

งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ไม่เพียงแต่เป็นงานเฉพาะเรื่องของยางพาราเท่านั้น ยังมีเรื่องของเกษตรกรภาคอื่น เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรทั้งหลายได้เห็นว่าการเกษตรของไทยจะก้าวไปข้างหน้าอีกหลายขุม ดังที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิดกล่าวเมื่อวันก่อน เพราะในงานมีผู้ร่วมงานจากจังหวัดอื่นที่สนใจมาร่วมหลายคน

เช่น นายยง รุ่งเรืองธัญญา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย, นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์จริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา (หลายสมัย) เป็นเทศบาลที่มีผู้ไปดูงานและชื่นชมผลงานมากที่สุด เป็นต้น

นอกจากนั้น งานนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรยังมอบสินเชื่อของธนาคารสนับสนุนให้กับโครงการ SME เกษตร ของเกษตรกรทำนาบ้านโสกก่าม โครงการสร้างฝายชะลอน้ำขนาดกลางบ้านห้วยผักขะ เซกา ฝายชะลอน้ำขนาดเล็ก ให้บ้านไชยวาล นาแสง บ้านหนองชัยวานใต้ ป่งไฮ

“กระเทียม” เครื่องเทศสมุนไพรคู่ครัวไทยที่มักจะมีติดบ้านไว้สำหรับประกอบอาหารอยู่เสมอ ทั้งนำมาเจียวไว้โรยหน้าอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกและอาหารหลากชนิด หรือรับประทานสดๆ เป็นเครื่องเคียงในเมนูอาหาร

ปัจจุบันการบริโภค “กระเทียม” มีความตื่นตัวมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารหลากหลายเมนูแล้ว ยังเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหวัด ได้จริงหรือไม่?? เรามาฟังคำตอบจากนักโภชนาการกัน ผศ.ดร.เอกราช เกตวัลห์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “กระเทียมเป็นสมุนไพรไทยที่มากด้วยสรรพคุณ มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่จะบอกว่ากินกระเทียมแล้วสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ คงไม่ถูกต้องนัก ควรเรียกว่าช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเหล่านี้จะเหมาะสมกว่า”

จากงานวิจัยพบว่ากระเทียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย มีสารสำคัญ ได้แก่ เคอร์ซิทิน (quercetin) ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง และสารอัลลิซิน (allicin) ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลในเลือด ทำให้ระดับไขมันในเลือดลดลงได้ส่วนหนึ่ง ลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด และช่วยยับยั้งการแข็งตัวของเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ

นอกจากนี้ กระเทียมยังเป็นแหล่งของใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งช่วยจับไขมันและลดการดูดซึมของสารพิษหรือสารก่อมะเร็ง แล้วขับออกจากร่างกาย จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัดและช่วยให้หายเร็วขึ้นอีกด้วย แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่ากินกระเทียมแล้วจะไม่เป็นหวัด

ถึงแม้ว่ากระเทียมจะมีสรรพคุณที่มากด้วยประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การบริโภคมากจนเกินไปย่อมเกิดโทษต่อร่างกายได้ ผศ.ดร.เอกราชแนะนำให้บริโภคกระเทียมไม่เกิน 1 หัวขนาดเล็กต่อวัน

“ความเป็นพิษของกระเทียม เมื่อบริโภคมากเกินไปและต่อเนื่อง อาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในกระเพาะอาหาร กลิ่นปากไม่พึงประสงค์ รวมถึงทำให้เลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงไม่ควรรับประทานควบคู่กับยากลุ่มที่มีฤทธิ์ทำให้เลือดแข็งตัวช้า เช่น ยาเฮพาริน (heparin) ยาวาร์ฟาริน (warfarin) แอสไพริน (aspirin) เป็นต้น เพราะจะเป็นการเสริมการออกฤทธิ์ของยา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด”

นักวิชาการคนเดียวบอกและย้ำว่า สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาในกลุ่มนี้เป็นประจำ และชื่นชอบการบริโภคกระเทียมควรระมัดระวังเพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคซีดหรือโรคโลหิตจางได้ นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานกระเทียมสดขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้ทางเดินอาหารผิดปกติ

กระเทียมเป็นเครื่องเทศสมุนไพรใกล้ตัว หารับประทานได้ง่าย มีสรรพคุณทางยา ดีต่อสุขภาพ แนะนำให้รับประทานทั้งในรูปแบบของอาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมนูอาหารต้ม ผัด แกง ทอด หรือจะเลือกบริโภคในรูปแบบกระเทียมสดก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

ถ้าหากใครชื่นชอบกระเทียมดองเป็นพิเศษ แนะนำให้กินน้ำกระเทียมด้วย เพราะจะได้สารสำคัญที่มีอยู่ในกระเทียมครบถ้วน แต่ควรระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อน แนะให้เลือกรับประทานจากแหล่งที่สะอาดถูกสุขอนามัย คนที่เป็นความดันสูงกินได้เล็กน้อย เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง ปัจจุบันตามท้องตลาดยังมีจำหน่ายในรูปแบบของอาหารเสริม เป็นสารสกัดจากกระเทียม มีสรรพคุณไม่แตกต่างจากกระเทียมสด

การบริโภคในรูปแบบกระเทียมสดหรือนำไปประกอบอาหารโดยผ่านความร้อนไม่มาก นอกจากช่วยรักษาคุณภาพของสารสำคัญในกระเทียมแล้ว ยังทำได้ง่าย ประหยัด ราคาสบายกระเป๋า การกินกระเทียมดีต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรกินปริมาณมากเพื่อหวังผลในการรักษา เพราะอย่างไรก็ตาม กระเทียมไม่ใช่ยา แนะนำให้กินกระเทียมสดหรือใส่ในอาหารหลากหลายเมนูเพื่อสุขภาพที่ดี กินผัก-ผลไม้ทุกวัน พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรบ้านทุ่งเดิ่น ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ยึดอาชีพปลูกพืชผักสวนครัว พืชอายุสั้น ทนแล้ง ใช้น้ำน้อยหลังฤดูกาลทำนา สร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี โดยเฉพาะพืชผักสวนครัวเช่น แตงกวา

ลุงมังกร และยายนวลจันทร์ นิตอินทร์ สองสามีภรรยา ชาวบ้านทุ่งเดิ่น ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเองปลูกแตงกวามาเกือบ 10 ปี คือทำการเกษตรทุกอย่างตั้งแต่ทำนา ปลูกข้าวโพด และปลูกแตงกวา เฉพาะการปลูกแตงกวานั้น ปลูกอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 ไร่ เหมือนเป็นพืชเสริมที่ว่างจากการทำนา แต่กลับเป็นพืชที่สร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว เพราะแตงกวาเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเร็ว คือปลูกราว 30-32 วัน ก็เริ่มให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวต่อเนื่องได้นาน 25-28 วัน จึงจะเลิกเก็บ

ลุงมังกร เล่าว่า แตงกวาสามารถทำเงินได้เร็วมาก nancyajramonline.com ถ้าเกิดปัญหาโรคหรือแมลงทำลายเสียหาย เกษตรกรก็แก้ตัวใหม่ได้เร็ว ซึ่งแตงกวาปลูกได้ทุกฤดูกาล ขอให้มีแหล่งน้ำดี เพราะแตงกวาเป็นพืชชอบน้ำ แต่ต้องไม่ขังแฉะ เมื่อแปลงปลูกขังแฉะก็จะเสี่ยงต่อโรคจากเชื้อรา การปลูกแตงกวามีความยากง่ายต่างกันไปตามฤดูกาล อย่างช่วงหน้าร้อน แตงกวาจะทำยากกว่าฤดูอื่น เพราะแมลงระบาดเยอะโดยเฉพาะเพลี้ยไฟ และแมลงหวี่ขาว

ส่วนช่วงฤดูฝนจะค่อนข้างทำแตงกวาง่าย โตไว แตงกวาติดผลดี เพราะต้นแตงกวาได้รับน้ำฝน แมลงศัตรูมีไม่มากนัก จะมีโรคเชื้อราบ้าง แต่ถ้าเราเตรียมแปลงดีก็ไม่มีปัญหามากนัก ปลูกได้ทั้งปี ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย บางปีแตงกวาได้ราคาดี สูงถึงกิโลกรัมละ 22 บาท โดยเฉลี่ยแตงกวา ราคากิโลกรัมละกว่า 10 บาท โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน การปลูกแตงกวานอกจากการดูแลที่ดีแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยทางการตลาดด้วย เพราะราคามีขึ้นลงเหมือนพืชผักชนิดอื่น แต่ราคาโดยเฉลี่ยทั้งปีเกษตรกรก็อยู่ได้ บางทีราคาแตงกวาแพง เพราะแตงกวาขาดตลาด เกษตรกรได้ราคาดีขึ้นมา แต่เมื่อมีของมากเกินไปราคาก็ลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยในงานเสวนา “แนวทางการปฏิรูปกองเรือประมง เครื่องมือทำการประมงและการใช้แรงงานในเรือ เพื่อก้าวเข้าสู่การทำประมงอย่างยั่งยืนในยุค Thailand 4.0” ว่า จากการจัดเก็บตัวเลขเรือประมงไทยถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่าปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์และเรือประมงพื้นบ้านรวมกว่า 39,466 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพื้นบ้านประมาณ 27,000 ลำและเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 10,967 ลำ ในจำนวนนี้เป็นเรือที่ทำการประมงที่มีเครื่องมือในการจับ 82% และอีก 12% เป็นเรือสนับสนุน หรือเรือปั่นไฟที่ไม่มีเครื่องมือจับปลา

นายศรศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรือประมงไทยมีความสามารถจับปลาเกินกว่าปริมาณที่อนุญาตให้จับ จากปกติจะต้องจับ 90% ดังนั้นเพื่อให้ปริมาณสัตว์น้ำสอดคล้องกับเรือประมง จึงมีความจำเป็นต้องลดวันทำการประมง เพื่อให้การจับปลาเป็นไปตามสัดส่วนที่อนุญาต ขณะเดียวกันตั้งเป้าหมายลดปริมาณเรือประมงให้ได้10% ของปริมาณเรือประมงทั้งหมดภายในปีนี้ เพื่อให้ประมงไทยมีความยั่งยืน

นายศรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กรมฯ ยังตั้งเป้าหมายปี 2565 จะบริหารจัดการเรือให้พอเหมาะและสอดคล้องกับเครื่องมือทำการประมงและปริมาณปลาที่มีอยู่ในประเทศ ส่วนปัญหาขาดแคลนแรงงานช่างเครื่องประจำเรือประมง กรมเจ้าท่าได้บูรณาการร่วมมือกับกรมประมง สนับสนุนจัดอบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะทำงานในเรือประมงให้แก่บุคลากร จัดคู่มือให้ความรู้ในหลายภาษา ขณะนี้ได้ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานรับทราบเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม โดยคาดว่าในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาคนเรือช่างเครื่องแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ทำระบบตรวจแรงงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) ซึ่งจะเริ่มทดลองใช้ในสัปดาห์หน้า ที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสงขลา ก่อนจะขยายใช้ทั่วประเทศในปีนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจประมงไทย