ผู้อำนวยการกองปราบปรามทุจริตในภาครัฐ 5 เปิดเผยถึงแนวทาง

หลังจากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่มีการทุจริตเบิกจ่ายเงินจริง สำหรับการช่วยเหลือคนยากจน หลังมีการตรวจสอบเก็บหลักฐานทั้งเอกสารและพยานบุคคลชัดเจน มีชาวบ้านยืนยันว่ารับเงินไม่ครบ ทั้งที่มีการเบิกจ่ายจริง หมายถึง มีการเอาเอกสารชาวบ้านไปทำเรื่องเบิกจ่ายเงินออกมาตามระเบียบ แต่ไม่ได้นำมาจ่ายจริง เบื้องต้น บุคคลที่มีอำนาจจะต้องถูกดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายคือ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม โดยทาง ป.ป.ท. จะใช้อำนาจทางกฎหมาย เสนอให้ปรับย้ายออกจากพื้นที่ ระหว่างการดำเนินการเอาผิด ทั้งทางวินัย ทางอาญา ตามอำนาจหน้าที่ ส่วนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องว่ากันไปตามความผิด ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่

“นอกจากนี้ ในส่วนของคนนอก คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่มีหลักฐานในคลิป จะใช้อำนาจทางกฎหมายดำเนินการเอาผิดเช่นกัน เพราะถือว่าเป็นผู้ให้การสนับสนุนการทุจริต เพราะมีการพยายามให้ชาวบ้านปิดบังข้อมูลการทุจริต ซึ่งอาจจะมีขบวนการมาขอความช่วยเหลือให้เจรจากับชาวบ้าน เพราะเป็นบุคคลที่ชาวบ้านเชื่อถือ ส่วนเรื่องวินัยหรือความผิดด้านอื่นๆ จะได้เสนอไปยังต้นสังกัดให้ดำเนินการเอาผิดทางกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่า ป.ป.ท. มีหลักฐานชัดเจน มั่นใจว่าจะสามารถเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างแน่นอน” นายเกรียงไกร กล่าว

เมื่อวันที่ 12มีนาคม นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากกรณีการพบสุนัขป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดตรัง ประกอบด้วย อ.ปะเหลียน , อ.ห้วยยอด , อ.รัษฎา และ อ.วังวิเศษ โดยทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ครบทั้ง 4 อำเภอ พร้อมประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงควบคุมพื้นที่ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่ญาติ คนในครอบครัว รวมทั้งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อ และระดมฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมวในรัศมี 1-5 กม.เป็นการเร่งด่วน

นายแพทย์บรรเจิด กล่าวอีกว่า ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 44 ปี ชาว ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ ที่ได้รับเชื้อจากการถูกลูกสุนัขวัย 2 เดือน ที่เลี้ยงไว้กัด และข่วน โดยลูกสุนัขตัวดังกล่าวถูกสุนัขตัวใหญ่กัดขณะพาไปเลี้ยงบริเวณจุดรับซื้อน้ำยาง ทำให้ได้รับเชื้อ และโชคร้ายที่ลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ตกรถตาย จึงไม่ทันได้แสดงอาการ จนเวลาผ่านไปชายคนดังกล่าวมีอาการป่วย จนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง และจากการตรวจพิสูจน์พบว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และล่าสุดได้เสียชีวิตลงแล้ว ถือว่าเป็นรายแรกในปีนี้ โดยญาตินำตัวไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ อ.ย่านตาขาว

“หลังจากพบเชื้อในชายคนดังกล่าวทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้คน 2 กลุ่ม คือ คนในครอบครัว และเพื่อนบ้านที่ได้เล่นกับสุนัขตัวดังกล่าว รวม 11 คน และบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 31 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เร่งฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมว ในรัศมี 1 – 5 กม.ใกล้ที่บ้านและจุดรับซื้อน้ำยางที่ผู้ตายไปตั้งจุดรับซื้อน้ำยางอยู่ เพื่อควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดการระบาดไปมากกว่านี้” นายแพทย์บรรเจิด กล่าว

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม น.พ. อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.สงขลา กล่าวว่า จ.สงขลากำลังเข้าสู่หน้าร้อน ทำให้สภาพอากาศเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค โดยมักพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นใน เดือน ม.ค.-มี.ค. สถานการณ์โรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 3 มี.ค.61 รวม 4,166 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 295.69 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งสูงกว่าปี 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ปี 2560 พบผู้ป่วย 3,780 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 268.86 ต่อประชากรแสนคน )

นพ.อุทิศศักดิ์กล่าวว่าอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุด คือ อ.หาดใหญ่ รองลงมา อ. สะเดา และ อ.สทิงพระ กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5 – 9 ปี 15 – 24 ปี และ 65 ปี เกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ/เครื่องดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค หรือมีการปนเปื้อนเชื้อโรคจากมือของผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงที่ล้างไม่สะอาดแล้วมาประกอบอาหาร

“อาการของโรคอุจจาระร่วง หลังรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคแล้ว ประมาณ 10-12 ชั่วโมง หรือ 24-72 ชั่วโมง(ขึ้นกับชนิดของเชื้อก่อโรค)จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำ หรือถ่ายมีมูกปนเลือด แม้เพียง 1 ครั้ง อาจมีอาเจียนร่วมด้วย และอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งมีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้”

“พาณิชย์” ติวเข้มผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า จ.ชุมพร รับมือ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ลดภาษีกาแฟสำเร็จรูป 0% ปี ’63 ด้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ชงของบฯ สศก.ผุด รง.แปรรูปกาแฟสำเร็จรูป 35 ล้านบาท หนุนจด GI กาแฟโรบัสต้าชุมพร สร้างมูลค่าเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 กรมพร้อมด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่ จ.ชุมพร พบเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เพื่อให้คำแนะนำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการเปิดตลาดลดภาษีภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2563

“การลงพื้นที่ปลูกกาแฟครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย พบกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอราบิก้า โดยในส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการปลูกถึง 75% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย”

นางอรมนกล่าวว่า ในปัจจุบันผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยมี 26,000 ตันต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีถึง 90,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน จึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟปีละประมาณ 60,000 ตัน ดังนั้นเกษตรกรควรจะใช้ประโยชน์จากการเปิด FTA ในการแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกเข้ามาใช้ในส่วนที่ไม่เพียงพอ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานกาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจะทำให้แข่งขันได้ แม้จะมีการเปิดเสรีเกิดขึ้น

นายนิคม ศิลปศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วงเงิน 35 ล้านบาท นำมาจัดซื้อเครื่องอบลมร้อน (ฟรีซดราย) และตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟสำเร็จบนพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่เป็นสมาชิกอยู่ 460 ราย ในพื้นที่ จ.ชุมพร นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่ จ.ยะลา พัทลุง และสุราษฎร์ธานีด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกาแฟสำเร็จรูป เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดกาแฟสำเร็จรูปที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน จ.ชุมพร ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจและสหกรณ์ 3 กลุ่ม คือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟ อ.ท่าแซะ โดยในกลุ่มเขาทะลุมีความเข้มแข็งมาก ได้มีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว ขณะที่ในส่วนของถ้ำสิงห์ต้องการขยายการจดจีไอคุ้มครอง “กาแฟโรบัสต้าชุมพร” ทั้งจังหวัด เพราะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้มากที่สุด และมีดินที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับการปลูกกาแฟพันธุ์นี้ ทั้งยังมีกระบวนการเฉพาะในการเก็บเมล็ด ตาก และอบ เพื่อจะช่วยรักษาคุณภาพความหอมของกาแฟ หากสามาถจดจีไอจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรทั้งจังหวัด

ธ.ก.ส.ชงแบงก์ชาติขอตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ วางกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม เน้นใกล้ชิดชุมชน ยันไม่ตั้งเซเว่นอีเลฟเว่นเหมือนธนาคารพาณิชย์ ระบุเฟสแรกให้รับชำระค่าสาธารณูปโภค ยันเก็บค่าบริการเท่าเดิม ลูกค้าไม่กระทบ ธนาคารรับภาระแบ่งรายได้ให้แบงกิ้งเอเย่นต์แทน

นายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการธนาคารได้มีแนวนโยบายให้ ธ.ก.ส. สามารถแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงิน (banking agent) ได้ โดยธนาคารอยู่ระหว่างเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ที่จะมาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งก็จะมี 7 กลุ่มเป้าหมาย อาทิ สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน เป็นต้น และจะมีการกำหนดการให้บริการทำธุรกรรมด้วย

“แบงกิ้งเอเย่นต์ของ ธ.ก.ส. เราคงเน้นให้ใกล้ชิดชุมชน แต่คงไม่ได้ไปทำกับพวกเซเว่นอีเลฟเว่นเหมือนกับธนาคารพาณิชย์” นายสมศักดิ์กล่าว

สำหรับระยะแรกในปีบัญชี 2561 (1 เม.ย. 2561-31 มี.ค. 2562) ธ.ก.ส.จะเน้นสนับสนุนให้แบงกิ้งเอเย่นต์เป็น “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ให้แก่คนในชุมชน และทำธุรกรรมการเงินง่ายๆ ก่อน คือการรับชำระค่าสาธารณูปโภค ส่วนการรับฝากเงิน ถอนเงิน ชำระหนี้สินเชื่อ จะเป็นเฟสต่อๆ ไป ซึ่งการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท.

“แบงกิ้งเอเย่นต์ของเรา แต่ละกลุ่มเป้าหมายก็จะทำธุรกรรมที่ต่างกันไป อย่างเช่น สถาบันการเงินชุมชนก็อาจให้ทำธุรกรรมฝาก/ถอนเงิน และเพย์เมนต์ต่างๆ ซึ่งแต่ละธุรกรรมไม่ได้เริ่มพร้อมกันหมด จะค่อยๆ ทยอยเป็นเฟสๆ ไป โดยช่วงแรกเราจะเน้นให้เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินก่อน รวมถึงให้บริการชำระค่าสาธารณูปโภค ซึ่งจะมีทั้งกองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน รวมแล้วราว 900 แห่ง” นายสมศักดิ์กล่าว

ส่วนการคิดค่าธรรมเนียมการให้บริการนั้น จะอยู่ในอัตราเท่ากับที่ธนาคารคิดตามปกติ ด้านแบงกิ้งเอเย่นต์ก็จะได้รับส่วนแบ่งจากธนาคารแทน ตัวอย่างเช่น ค่าธรรมเนียมการชำระค่าบริการสาธารณูปโภคอาจจะคิด 5 บาทต่อรายการ ก็จะแบ่งให้แบงกิ้งเอเย่นต์ 2 บาท แล้วเข้า ธ.ก.ส. 3 บาท เป็นต้น ดังนั้น ชาวบ้านที่เป็นลูกค้าไม่มีภาระเพิ่ม

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า หลักการของการตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ของ ธ.ก.ส.คืออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน ที่จะได้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสาขาของธนาคารที่อยู่ในตัวเมือง และในทางกลับกัน จะเป็นการช่วยลดภาระงานให้แก่พนักงานแบงก์ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารลดต้นทุนการขยายสาขาลงไปได้ด้วย นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าอาจจะให้แบงกิ้งเอเย่นต์ช่วยทำหน้าที่บางส่วนที่เกี่ยวกับสินเชื่อ อาทิ การร่วมตรวจสอบหลักประกันเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่การอนุมัติสินเชื่อ

ทั้งนี้ รายงานจาก ธ.ก.ส.เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะทำหน้าที่แบงกิ้งเอเย่นต์ให้แก่ ธ.ก.ส. จะมีประมาณ 7-8 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบุคคล สถาบันการเงินชุมชน กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์อื่น บริษัทไปรษณีย์ไทย และผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์

ส่วนประเภทธุรกรรมที่ ธ.ก.ส.ขอให้แบงกิ้งเอเย่นต์ดำเนินการได้มี 6 ธุรกรรม ได้แก่ ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน รับชำระหนี้ ชำระค่าบริการสาธารณูปโภค และอำนวยสินเชื่อ

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ไฟป่าไม้และชุดเสือไฟหน่วยควบคุมไฟป่าดอยตุง ช่วยกันนำเศษวัชพืชที่ได้จากการแผ้วถางทำแนวกันไฟโดยรอบโครงการดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มาทำการย่อยสลายด้วยเครื่อยย่อยสลายเศษหญ้า ก่อนนำมาผสมกับมูลสัตว์และกากเมล็ดกาแฟ ที่หาได้ในพื้นที่ เพื่อหมักเป็นปุ๋ยไว้ใช้ในพื้นที่โครงการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้งนี้และเป็นการลดปัญหาเรื่องของหมอกควันที่จะตามที่จังหวัดเชียงรายประสบปัญหาทุกปีแม้ปีนี้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศจะยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรก็ตาม

โดยนายประเสริฐ ภาคภูมิ หัวหน้าหน่วยควบคุมไฟป่าพื้นที่ดอยตุง เปิดเผยว่า พื้นที่ดอยตุงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าเนื่องจากเป้นป่าที่อุมดมสมบูรณ์อีกทั้งยังมีบริเวณกว้าง นอกจากการป้องกันด้วยการจัดชุดลาดตระเวณและหอเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ก็ยังได้มีการจัดทำแนวกันไฟโดยรอบตั้งแต่บ้านห้วยใคร้ไปจนถึงพระธาตุดอยตุง เป็นระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร

ซึ่งปกติจะมีเศษวัชพืชที่เกิดจากการแผ้วถางจำนวนมากจำนวนหลายสิบตันทิ้งไว้ใกล้ๆแนวกันไฟ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกเผาหรือทิ้งก้นบุหรี่ใส่จนเกิดไฟลุกลามได้ จึงจัดโครงการนำมาทำปุ๋ยหมักเพื่อนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืชหรือดอกไม้ภายในโครงการดอยตุงขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากอำเภอแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ และ สวทช.ภาคเหนือ สนับสนุนเครื่องหั่นย่อยเพื่อทำปุ๋ยหมักดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดหมอกควันที่อาจเกิดขึ้นยังได้ประโยชน์จากการนำปุ๋ยหมักไปใช้ปีละหลายสิบตันเลยทีเดียว

บูมเลี้ยงโคเนื้อ รุกส่งออก เผยตลาดจีน-เวียดนาม อนาคตสดใส คาดแต่ละปีเงินสะพัด 6-7 หมื่นล้าน กรมปศุสัตว์ โดดหนุนเต็มสูบ จัดสัมมนากระตุ้น ดัน “พัทลุง” ศูนย์กลางโคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน เฟ้นคุณภาพป้อนตลาด สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย มุ่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพิ่มมูลค่าโกยเงินนอก

นายกิตติ กุบแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันโคเนื้อเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ โดยมีโคเนื้อประมาณ 4.87 ล้านตัว เงินหมุนเวียนกว่า 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ตลาดในประเทศ มีความต้องการบริโภคสูงถึง 1.2 ล้านตัวต่อปี แต่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัว ส่วนการส่งออกมีประมาณ 150,000 ตัว/ปี ตลาดหลักคือจีนและเวียดนาม โดยผ่านพ่อค้าคนกลางใน สปป.ลาว ขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมผลักดันการส่งออกให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น

เช่น เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ได้จัดสัมมนา “การประชุมเครือข่ายโคเนื้อระดับชาติ เพื่อการผลิตเชิงคุณภาพ” เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคเนื้อ ทั้งกลุ่มเกษตรกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่เพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ กลุ่มผู้เลี้ยง เพื่อร่วมมือ วิเคราะห์ วางแผนทางการตลาดร่วมกัน โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้เจรจากับต่างประเทศ และมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน

นายสุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จ.นครปฐม ในฐานะเลขาฯ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจีนยังเป็นตลาดที่มีอนาคตมากสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อไทย แม้ที่ผ่านมายอดการส่งออกไปจีน รวมถึงเวียดนามอาจจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยและการใช้สารเร่งเนื้อแดง และการที่ภาครัฐ ควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมด้วยมาตรการต่างๆ จะช่วยให้การเลี้ยงมีคุณภาพมากขึ้น และสามารถส่งออกได้มากขึ้น

“สำหรับตลาดในประเทศ ปัจจุบันราคาโคเนื้ออยู่ที่ 80-90 บาท/กิโลกรัม จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 100 บาท ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ไทยยังมีการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา และมีราคาถูกกว่า ทำให้คนหันไปบริโภคเนื้อนำเข้ามากกว่า”

นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ประธานกรรมการ สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้ทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายเพื่อส่งออกโคเนื้อไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จัดส่งไปได้ประมาณ 40 ตัวต่อสัปดาห์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกเนื้อแปรรูป

ขณะเดียวกัน สหกรณ์ฯ ยังได้เริ่มดำเนินโครงการ ธนาคารโคกระบือ มา 2-3 เดือนแล้ว โดยตั้งเป้าว่า คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีแม่พันธุ์โคเนื้อประมาณ 150,000 ตัว จากปัจจุบันโคทั้งจังหวัด 60,000 ตัว และตั้งเป้าส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 15,000 ตัว/ปี ภายใน 5 ปี ตลาดเป้าหมาย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนปีแรกนี้คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาประมาณ 50-60 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีก 50% ในปีที่ 2 คาด 5 ปี จะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

ด้านนายณรงค์ สุทธิสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ต้องการจะพัฒนาให้พัทลุงเป็นเมืองปศุสัตว์ เพื่อรวบรวมโคเนื้อของภาคใต้ แปรรูป และส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันนำโคจากภาคกลางส่งผ่านภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซียกว่า 200,000 ตัว/ปี ในอนาคตจะตั้งพัทลุงเป็นศูนย์กลาง เพื่อรวบรวมโคจากภาคใต้สำหรับส่งออก

“ปีนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงทุ่มงบประมาณ 35 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงโรงเชือดและแปรรูป รวมถึงเพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคแจกจ่ายโคพันธุ์ผสมศรีวิชัย-ชาร์โรเล่ส์ให้เกษตรกร ปีละ 4,000 ตัว ผ่านโครงการธนาคารโคกระบือ”

นายฤชัย วงศ์สุวัฒน์ อุปนายกสมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคไทยพื้นเมือง (สคท.) และอดีตประธานกรรมการ สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง ให้ข้อมูลว่า นอกจากนี้พัทลุงยังมีการแปรรูปโคเนื้อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโปรดักต์ โดยที่ราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 บาท/กก. เพื่อเจาะตลาดพรีเมี่ยม เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น บีฟโลน ฯลฯ และมีการออกบู๊ธงานตามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อให้ได้ขนาดกุรบาน หรือขนาดสำหรับทำพิธีกุรบานหลังช่วงเดือนรอมฎอน หรือการถือศีลอดของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะทำให้โคมีราคาขึ้นไปถึง 27,000-35,000 บาท/ต่อตัว โดยตลาดในมาเลเซียมีความต้องการสูง

นายกชกร วัชราไทย ผู้จัดการลุงเชาวน์ ฟาร์ม เปิดเผยว่า ตลาดโคเนื้อมีชีวิตในประเทศจีนถือเป็นตลาดใหญ่ของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมา การส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านประเทศเมียนมา สปป. ส่งออกผ่านลาวไปยังเวียดนามและส่งเข้าไปจีน เนื่องจากที่ผ่านมา ไทย-จีน ยังไม่มีข้อกำหนดหรือข้อตกลงในการซื้อขาย รวมถึงการป้องกันโรคสัตว์ที่ชัดเจน

“การส่งออกโคเนื้อของเกษตรกรไทย ส่วนใหญ่เน้นขายถูกและไม่มีการควบคุมคุณภาพ ซึ่งช่วงหลังๆ มานี้ ทางการจีนค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องสารเร่งเนื้อแดง ทำให้การส่งออกของไทยมีตัวเลขที่ลดลง”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ก็ได้เข้ามามีบทบาท และหาทางออกในเรื่องนี้ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโคบูรพา สนับสนุนการเลี้ยงตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ได้โคที่มีคุณภาพ ไม่มีสารเร่งเนื้อแดง และเกษตรกรควรมีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกสามารถดีขึ้นและมีราคาสูงขึ้น”

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณถนนหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ได้อนุญาตให้ใช้ถนนความยาว 150 เมตร จัดให้เป็นตลาดนัดเกษตรกร เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดชัยนาท ได้นำสินค้าเกษตรที่ผลิตได้มาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจัดให้มีขึ้นทุกวันจันทร์ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ไปจนถึง 12.00 น.

นายรณภพ กล่าวว่า ตลาดนัดแห่งนี้ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกร ได้มีตลาดขายสินค้าสร้างรายได้ รวมทั้งต่อยอดไปถึงการหาคู่ค้าใหม่ๆ สร้างความแข็งแกร่งทางด้านการตลาด ซึ่งสินค้าที่นำมาจำหน่ายในตลาดจะเป็นสินค้าที่เกษตรกรผลิตเองทั้งสิ้น จึงสามารถเชื่อมั่นในกระบวนการผลิตว่าเป็นสินค้าสดใหม่จากครัว จากสวนของเกษตรกร อย่างเช่นผลไม้ อาหารที่แปรรูปจากสินค้าเกษตร ต้นไม้ดอก ไม้ประดับ ขนมและอาหารพื้นบ้านต่างๆ ที่สำคัญราคายังถูกกว่าท้องตลาด เพราะเป็นราคาที่ผู้ผลิตนำมาขายเอง ผู้ที่สนใจจะแวะมาอุดหนุนสินค้าที่ชาบ้านนำมาขาย ก็แวะมาได้ทุกวันจันทร์ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทรับประกันความสดอร่อย

กระทรวงศึกษา ขยายศูนย์บริการการลงทุน และประกอบธุรกิจแบบศูนย์รวมที่ปรึกษา สู่พื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน/OTOP ผนึก กศน. อาชีวะ มอ.ร่วมสนับสนุน

พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานลงนามความร่วมมือ 100 ที่ปรึกษา 100 วิสาหกิจชุมชน/OTOP ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน และเปิดศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ (MIDC) ณ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

พลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายและขับเคลื่อนให้มีศูนย์ประสานงานผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี และมีการตั้งศูนย์บริการการลงทุนและการประกอบการแบบศูนย์รวมที่ปรึกษา ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก จ.ปัตตานี