ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด

พร้อมปาฐกถาเรื่อง “Enhancing the Next : พัฒนาไทย พัฒนาวิจัย เพื่ออนาคต” เวลา 08.30 น. หลังจากพิธีเปิดได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบบริหารจัดการทุนและนวัตกรรมของประเทศและการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัย 3 กระทรวง ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)(สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, และ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข

และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การร่วมจัดกิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โครงการ “Thailand New Gen Inventors Award” (I – New Gen Award) ระหว่าง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ฮาตาริ อิเลคทรค จำกัด,
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

นอกจากนี้ยังมี พิธีมอบรางวัลเกียรติคุณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 60 ปี ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักวิจัย และนักประดิษฐ์ผู้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพ และสร้างคุณูประการ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเข้มแข็งทางวิชาการ

ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จากการเริ่มต้นขุดบ่อดินเลี้ยงปลาด้วยเงินเพียง 30,000 บาท บนพื้นที่ 3 ไร่ แต่ปัจจุบันกิจการทำฟาร์มปลาขยายพื้นที่มากเกือบ 20 ไร่ มีบ่อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ บ่ออนุบาลลูกปลา เป็นเจ้าของฟาร์มปลาที่มีลูกค้าในวงแคบ (พื้นที่ไม่ไกลจากฟาร์ม) แต่มูลค่าการสั่งซื้อสูง ทั้งยังเปิดตลาดค้าส่งลูกปลานิลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

แต่ถึงกระนั้น จำนวนลูกปลาที่ผลิตส่งให้กับเกษตรกรและเอเย่นต์ขายปลาแต่ละเดือน ไม่เคยเพียงพอต่อความต้องการปราชญ์ปลานิล แห่งจังหวัดนครสวรรค์ คุณเศวตฉัตร สมสวย ประสบความสำเร็จการทำฟาร์มปลา เพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิม ได้รับการยอมรับว่าเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาที่มีระบบการจัดการภายในฟาร์มที่ดี เป็นต้นแบบและครบวงจร

ที่ได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ปลานิล แห่งจังหวัดนครสวรรค์ เพราะเป็นบุคคลที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงและแนวคิดในการทำฟาร์มให้ประสบความสำเร็จ ให้กับผู้สนใจและเกษตรกรทุกรายที่ก้าวเข้ามา

คุณเศวตฉัตร มีความรู้พื้นฐานด้านการทำฟาร์มมาก่อน แต่เป็นฟาร์มสุกร ซึ่งร่ำเรียนมาเฉพาะทาง ไม่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ดังนั้น พื้นฐานความรู้ในการทำประมงจึงเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นความโชคดีเมื่อได้ก้าวเข้าสู่การทำงานในศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ประสบการณ์รอบตัวขณะนั้นส่งให้คุณเศวตฉัตรเก็บสะสม ฝึกปรือ และมองเห็นช่องทางทางการตลาดสัตว์น้ำของไทยที่ตลาดยังคงมีความต้องการพันธุ์ปลาสูง ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบความตั้งใจการทำฟาร์มสุกรตามที่ศึกษามากับการทำฟาร์มปลาแล้ว พบว่าการลงทุนในระยะเริ่มต้นต่างกัน ระยะเวลาที่ให้ผลตอบแทนต่างกัน รวมทั้งการดูแลและรายละเอียดการเพาะพันธุ์นั้น การทำประมงน้อยกว่าสัตว์บกมาก

เมื่อไม่ได้เรียนมา แต่ได้ประสบการณ์จากการทำงาน ก็ไม่ใช่ทั้งหมด จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมจากตำรา และการลงมือปฏิบัติจริงจะบอกได้ว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่าง คืออะไร

“ผมมีพื้นที่น้อย ทดลองทำไปก่อน เพราะเห็นว่า ตลาดปลายังไปได้อีกไกล ยังมีความต้องการมาก แต่ครั้งที่เริ่มต้น ผมเริ่มจากปลาหลายชนิด ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลาไน แม้ว่าจะมีปลาหลายสายพันธุ์เพื่อคว้ากลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่มนั้นเป็นแนวทางที่ผิด เพราะการบริหารจัดการจะเกิดความยุ่งยากมาก ทำให้ในที่สุดผมต้องลดสายพันธุ์ปลาลงให้เหลือเพียงปลานิล และปลาทับทิม หลังจากคลุกคลีกับวงการประมง ทำให้ทราบว่า ความต้องการพันธุ์ปลาที่ดีในกลุ่มของปลานิล และปลาทับทิมมีสูง จึงตัดสินใจคัดไว้เฉพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิมเท่านั้น”

คุณเศวตฉัตร เริ่มจริงจังกับการเพาะพันธุ์ปลาในปี 2547 หลังจากลาออกจากงานในหน้าที่ของกรมประมง เพราะต้องการทุ่มเทให้กับฟาร์มปลาให้มากที่สุด และพบว่า พื้นที่ตั้งฟาร์มเป็นทำเลที่ดี อยู่ใกล้แม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ซึ่งต้องมีเกษตรกรผู้สนใจการทำประมง โดยเฉพาะปลากระชัง

ในระยะแรกที่เริ่มเพาะพันธุ์ปลาขาย เก็บไข่ได้ 1 ถาด ใช้ระบบเพาะฟักเป็นระบบถาด เพาะพันธุ์แต่ละครั้งได้ลูกปลาประมาณ 3,000 ตัว เมื่อเริ่มจริงจังมากขึ้น ทำให้จำนวนลูกปลาที่เพาะได้มากขึ้น ถึงปัจจุบันนี้สามารถเพาะลูกปลาได้เดือนละประมาณ 3 ล้านตัว แต่สูญเสียไปในระบบร้อยละ 50 ทำให้ขายปลาได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

เปอร์เซ็นต์รอดของลูกปลาในฟาร์มของคุณเศวตฉัตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม เพราะอัตรารอดอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ประการสำคัญของการเพาะพันธุ์ปลาขายของคุณเศวตฉัตร ไม่ได้อยู่ที่การทำให้อัตราการรอดจากฟาร์มสูง แต่กลับให้ความสำคัญไปที่ความแข็งแรงของลูกปลาที่ต้องอยู่รอดได้ เพื่อให้เกษตรกรที่ซื้อปลาจากฟาร์มนำไปเลี้ยงแล้วขายได้กำไรให้มากที่สุด

“ลูกค้าของผมส่วนใหญ่เลี้ยงปลากระชัง ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลากระชังคือ คุณภาพน้ำ หากน้ำมีปัญหาซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้ปลาตาย ดังนั้น หากปลามีความแข็งแรงมากพอ ไม่เกิดการสูญเสียระหว่างเลี้ยง เมื่อโตเกษตรกรจับขายได้ เกษตรกรก็จะไม่ขาดทุน ทำให้โจทย์ของการเพาะพันธุ์ปลาของผมอยู่ที่ การแก้ปัญหาให้เกษตรกร เมื่อเราแก้ปัญหาหรือควบคุมปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความสูญเสียไม่ได้ เราก็ต้องทำให้ลูกปลาที่ออกจากฟาร์มเราไปแข็งแรงไว้ก่อน”

คุณเศวตฉัตร บอกว่า ลูกปลาที่ดีจะต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่พันธุ์ที่ดี จึงเริ่มเก็บพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาจากแหล่งที่ดีที่สุด ซึ่งได้มาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดอุตรดิตถ์ แหล่งที่ได้ชื่อว่าพัฒนาพันธุ์ปลาเยี่ยมแห่งหนึ่งของประเทศ จากนั้นเมื่อนำมาเพาะพันธุ์ก็ต้องทำให้ลูกปลาแข็งแรงที่สุด โดยคัดไซซ์ให้ได้ตามไซซ์จริงๆ ไม่โกง ไม่ปน ลูกปลาได้กินอาหารที่ดี ทำให้สุขภาพปลาแข็งแรง เมื่อออกสู่ระบบการเลี้ยงแบบเปิด (กระชังปลา) ก็จะสามารถปรับตัวได้และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

วิธีที่ทำให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากการสูญเสียปลาระหว่างเลี้ยง คุณเศวตฉัตร นักพบปะกับเกษตรกรหรือลูกค้าทุกเดือน โดยเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน พร้อมกับสอบถามถึงการเลี้ยงปลา ปัญหาในการเลี้ยง สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียลูกปลาระหว่างเลี้ยง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลเก็บเป็นสถิติ หาวิธีแก้ปัญหา โดยเฉพาะเมื่อเกิดการสูญเสียลูกปลา ฟาร์มจะชดเชยคืนให้ 100 เปอร์เซ็นต์

“มีคนหาว่าผมบ้า ที่ชดเชยให้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะผมเห็นว่า ผมจะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้ มีรายได้ไม่ขาดทุน และเป็นลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อถัวเฉลี่ยแล้วฟาร์มของผมก็สามารถอยู่ได้ สิ่งที่ผมได้มากกว่าได้ลูกค้าคือ การได้ข้อมูลนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุหลักและแนวทางการแก้ปัญหา ให้ลูกปลารอดมากที่สุด ถือว่าวินวินด้วยกันทั้งสองฝ่าย”

สิ่งที่คุณเศวตฉัตร คำนึงอยู่เสมอ คือการซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และการเปิดประสบการณ์การทำฟาร์มปลาอย่างไรให้มีอัตรารอดสูงให้กับเกษตรกรโดยไม่คิดมูลค่า เพราะเชื่อว่า เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอยู่รอด ผลที่สืบเนื่องตามมา คือ ผู้เพาะพันธุ์ปลาเช่นตัวเขาเองก็อยู่รอดได้เช่นกัน

“ปัจจุบัน กำลังผลิตลูกปลาส่งขายจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ล้านตัวต่อเดือน แต่ก็ถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปลานิล เป็นปลาที่ไปได้ดีในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะสาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่สั่งซื้อลูกปลาจากฟาร์มไม่อั้น แต่ความสามารถในการผลิตของฟาร์มเราส่งให้กับสปป.ลาว ปัจจุบันมีเพียง 500,000 ตัวต่อเดือนเท่านั้น”

คุณเศวตฉัตร มองตัวเองว่า เป็นทั้งปราชญ์ปลานิล ที่กรมประมงให้เกียรติ แต่ก็ยังมองว่าตนเองเป็นนักธุรกิจ ที่ควรเผยแพร่ให้ความรู้กับเกษตรกรและการดูแลลูกค้าให้ได้สินค้าที่ดี เพื่อดำเนินธุรกิจให้ได้รับการยอมรับ และแม้ว่าปัจจุบันได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณเศวตฉัตรหยุดการพัฒนาพันธุ์ปลา

“ตาคลีใหญ่พันธุ์ปลา” ฟาร์มแห่งนี้ จึงเป็นสถานที่จำหน่ายพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิม และสถานที่เผยแพร่ความรู้ให้กับผู้สนใจทำประมง โดยคุณเศวตฉัตร ยินดีต้อนรับ ยกหูสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. (081) 596-8869 หรือขอเข้าชมฟาร์มได้ที่ ตาคลีใหญ่พันธุ์ปลา เลขที่ 70 หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหม้อ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสำนักงานบริการวิชาการ ร่วมกับคณะเกษตร ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ถ้าแบน 3 สาร อะไรจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรรมไทย” ณ ห้องประชุมอาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการ ตัวแทนเกษตรกร ผู้แทนภาครัฐ ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ จากกรณีรัฐบาลสั่งแบนการใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิดประกอบด้วยพาราควอต ไกลโฟเยตและคลอร์ไพริฟอส ในช่วงปลายปี 2562 นี้ โดย ประกาศห้ามครอบครอง ห้ามจำหน่ายห้ามนำเข้า ห้ามผลิตการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรมเพราะเป็นสารอันตรายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงจัดเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างวิทยากร กับผู้เข้าร่วมเสวนาฯ เพื่อหาข้อสรุปประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารเคมีอันตรายในภาคเกษตรกรรม 3 ชนิด รวมทั้งสารเคมีทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสุขภาพประชาชนคนไทย

ผศ.ดร.สราวุธ รุ่งเมฆารัตน์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า สารป้องกันกำจัดวัชพืช (Herbicide)ที่ใช้กันทั่วไปแบ่งประเภทของการใช้เป็น 2 ชนิดคือ สารที่ใช้แบบก่อนงอกหรือใช้ทางดิน (preemergence herbicides) และสารที่ใช้แบบหลังงอก (Postemergence herbicides) สาเหตุที่เกษตรกรนิยมใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชเพราะมีราคาถูกเมื่อเปรียบกับค่าแรงในการกำจัดวัชพืชด้วยมือหรือไถ นอกจากนี้ สารป้องกันกำจัดวัชพืช ควบคุมวัชพืชได้สมบูรณ์ ในช่วงระยะเวลา และมีความเป็นพิษต่อพืชปลูกต่ำ และวิธีที่ใช้ในการพ่นสารไม่ซับซ้อน สารป้องกันกำจัดวัชพืชไม่มีผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม เมื่อพ่นสารตามวิธีการและอัตราที่แนะนำ ที่สำคัญใช้งานสะดวกและใช้ระยะเวลาน้อยกว่าวิธีการควบคุมวัชพืชด้วยวิธีอื่น ๆ

หากรัฐบาลแบนการใช้ พาราควอตและไกลโฟเยตในช่วงปลายปีนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการบริหารจัดการวัชพืช คือ อย่ารอให้วัชพืชใหญ่จนถึงออกดอก ควรมีการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชแบบคุมก่อนวัชพืชงอก ควรมีการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชแบบคุมหลังวัชพืชงอก ไม่เกินระยะการทำลายของสารนั้น นอกจากนี้ ควรเน้นจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน ใช้สารร่วมกับเครื่องจักร เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นในการป้องกันกำจัดวัชพืชอย่างเป็นระบบ

แพทย์หญิงชุลีกร ธนธิติกร แพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อสุขภาพเกษตรกรและผู้บริโภคว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งคลินิกเกษตร ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ที่ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยให้คำแนะนำการดูแล สุขภาพให้ปลอดภัยจากปัญหาสารเคมีตกค้าง ตั้งแต่ปี 2554-2562 กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มตรวจหาสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ พบว่าตรวจเจอทุกครั้งและมีสารเคมีตกค้างสูงกว่าปริมาณที่กำหนด นอกจากนี้ สารพิษในกระแสเลือดของเกษตรกรก็ไม่ปรับลดลงเลย แสดงให้เห็นว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีจริง

การทำเกษตรอินทรีย์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทุกวันนี้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ กว่า 80% ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เลือกซื้อข้าว พืชผักผลไม้ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์และผ่านการรับรองมาตรฐาจีเอพี สำหรับใช้เป็นอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน อสม. แต่ละตำบลได้ทำหน้าที่เฝ้าระวังสุขภาพของเกษตรกรในชุมชน ว่าเพาะปลูกพืชโดยใช้สารเคมีอย่างไร มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการประเมินปัญหาสารเคมีตกค้างต่อสุขภาพคนไทยในอนาคตต่อไป

ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตพืชพลังงานทดแทน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผมทำอาชีพสวนปาล์มน้ำมันโดยใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชมาตลอด 50 ปี โดยทั่วไป สารเคมีกำจัดวัชพืช ที่เกษตรกรนิยมใช้ในแปลงปาล์มน้ำมันและยางพารา ได้แก่ 1. สารกำจัดวัชพืชก่อนงอก 2. สารกำจัดวัชพืชหลังงอก แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทเลือกทำลายวัชพืช และประเภทไม่เลือกทำลายวัชพืช สำหรับสารเคมีชนิดสัมผัสแล้วทำลายใบและลำต้นที่มีสีเขียว ได้แก่ พาราควอต ส่วนสารเคมีชนิดกึ่งดูดซึมกึ่งสัมผัสเช่น กลูโฟสิเนต ส่วนสารเคมีชนิดดูดซึม เช่น ไกลโฟเสท

สำหรับแปลงปลูกต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตเต็มที่ ต้องกำจัดวัชพืชพร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต้นเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมกำจัดวัชพืชในแปลงสวนปาล์มโดยใช้แรงงานและเครื่องตัดหญ้า รวมทั้งใช้สารเคมีพาราควอต และกลูโฟสิเนต

หากภาครัฐแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิดเพราะเชื่อว่า สารเคมีดังกล่าวมีผลกระทบต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ผมเชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะทุกวันนี้ ประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมากถึงปีละ 3 ล้านตัน จากแหล่งปลูกที่ใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ที่ปรุงแต่งพันธุกรรมให้ทนต่อสารไกลโฟเสกที่ฉีดพ่นทับลงบนต้นถั่วเพื่อกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้ากากถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ไม่น้อยกว่าล้านต้นสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำมันพืช และใช้ถั่วเหลืองนำเข้าเป็นวัตถุดิบแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การผลิตเต้าหู้ นมถั่วเหลืองและโปรตีนจากถั่วเหลือง หากรัฐแบนการใช้สารเคมีดังกล่าวเท่ากับต้องยุติการนำเข้าถั่วเหลืองจีเอ็มโอเหล่านั้น เข้าประเทศไทยโดยเด็ดขาดเช่นกัน

ทั้งนี้หากรัฐบาลประกาศแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด ในช่วงปลายปีนี้ เกษตรกรคงต้องปรับตัวรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ กลูโฟสิเนตที่มีราคาค่อนข้างสูง ทดแทนสารเคมีที่ถูกยกเลิกไป ทำให้เกษตรกรต้องแบกต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ประการต่อมา เกษตรกรชาวสวนปาล์มต้องปรับตัวหันมาใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ในระยะที่วัชพืชยังไม่โตเต็มที่เพื่อลดความหนาแน่นของวัชพืชและฉีดพ่นสารเคมีให้ครอบคลุมทั่วต้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของสารกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ใช้ในการผสมสารเคมีต่อไร่ไม่ควรมากกว่า 80 -100 ลิตรต่อไร่ ขณะเดียวกัน อุปกรณ์เครื่องพ่นสารละลายต้องปรับอัตราการไหลของน้ำยาให้ตรง หรือใกล้เคียงกับปริมาณสารละลายต่อไร่พื้นที่ ระมัดระวังการฉีดพ่นสารละลายไม่ให้โดนส่วนของพืชประธาน

” ผมอยากเรียกร้องให้ ผู้ผลิตสารกูลโฟสิเนตควรเพิ่มประสิทธิภาพความเข้มข้นของสารเคมี จากเดิม 15%เป็น 25%และเพิ่มสารจับใบเพื่อให้สารเคมีทนทานต่อการชะล้างของน้ำฝน และอยากเรียกร้องให้ผู้ผลิตสารกูลโฟสิเนต ปรับราคาให้ถูกลงเทียบเท่ากับราคาสารคมีกำจัดวัชพืชตัวเดิมที่ถูกยกเลิกไปเพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืชของเกษตรกร วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในสินค้า กูลโฟสิเนต ซึ่งปัจจุบันเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดเดียวที่หลงเหลืออยู่ ” ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล กล่าวในที่สุด

ด้านนายศรัณย์ วัธนธาดา นักวิชาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า มาตรการแบนการใช้สารเคมี 3 ชนิด ทำให้การครอบครองสารชนิดดังกล่าว เป็นสิ่งผิดกฎหมาย สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้นำเข้าและผู้ค้าสารเคมี ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่ เพื่อจ่ายชดเชยเยียวยาผู้ท่ี่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเพราะผู้นำเข้า ร้านค้า เกษตรกรที่ครอบครองสารเคมีทั้งสามชนิด จะต้องส่งมอบสารเคมีที่เหลืออยู่ให้กระทรวงเกษตรฯ นำไปจัดเก็บและทำลายในอนาคต

คนไทยรู้จัก เมืองแมดิสัน ว่าเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา คือมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวิสคอนซิน วิทยาเขตแมดิสัน (University of Wisconsin at Madison) เก่าแก่ร้อยกว่าปี เรียกว่าก่อตั้งมาก่อนจะประกาศตั้งรัฐนี้อย่างเป็นทางการเสียอีก

อันว่ามหาวิทยาลัยนี้มี 12 วิทยาเขต แต่วิทยาเขตหลักคือ แมดิสันที่ว่านี้ ซึ่งเปลี่ยนให้เมืองเกษตรกรรมเล็กๆ อย่างแมดิสันกลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัย ถ้ายกมหาวิทยาลัยออกแมดิสันจะเหลือแต่วัวกับไร่ข้าวโพด เขาว่ากันซึ่งก็จริงเอาเข้าจริงๆ แมดิสันไม่ใช่เมืองหรอก เป็นชุมชนหย่อมหนึ่งของเมืองเล็กๆ ที่เรียกว่า Dane County อีกที

แต่ด้วยความที่แมดิสันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างที่บอก เลยกลายเป็นเมืองสำคัญ กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐ เกินหน้าเกินตาเมืองใหญ่เมืองอื่น รวมทั้งมิลวอกี้ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐ

รัฐวิสคอนซิน อยู่ทางตอนบนของสหรัฐอเมริกา ในส่วนที่เขาเรียกกันว่า Mid West แต่ฉันบอกใครๆ ว่ามันอยู่ตอนบนคือถ้าดูแผนที่สหรัฐอเมริกา มันจะอยู่ทางตอนบน ใกล้ๆ กับแคนาดา อย่างนี้เข้าใจง่ายกว่า

ประชากรของแมดิสันจริงๆ มีไม่กี่หมื่นคน นอกนั้นเป็น นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลนอกเหนือจากเขตมหาวิทยาลัย ก็เป็นไร่ข้าวโพด ฟาร์มวัว และพื้นที่เกษตรกรรมนานา

ช่วงมหาวิทยาลัยปิด อย่างเช่น ช่วงคริสต์มาสต่อเนื่องถึงปีใหม่ มหาวิทยาลัยปิดยาวนาน 2 สัปดาห์ เมืองทั้งเมืองจะเงียบสนิท ฉันเคยอยู่คนเดียวในภาวะนั้น ขนาดเป็นคนชอบสงบอยู่คนเดียว ยังหวังเหวิดเลยคุณเอ๋ย

ฤดูใบไม้ร่วงเป็นฤดูที่แมดิสันสวยที่สุดและอยู่สบายที่สุด ส่วนฤดูหนาวก็เป็นระยะเวลาที่แมดิสันเป็นแมดิสันจริงๆ คือหนาวแบบอุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส เป็นเรื่องปกติ หนาวอย่างนี้ไม่รักกันจริงก็อยู่กันยาก

สิ่งที่มีชื่อเสียงของแมดิสัน นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว ก็มีตลาดนัดวันเสาร์ของแมดิสัน ซึ่งเป็นตลาดที่เกษตรกรนำสินค้ามาขายกับผู้บริโภคโดยตรง เขาเรียก Farmers market ชื่อเต็มๆ คือ Dane county farmers market ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่แมดิสันขึ้นอยู่ แต่ใครๆ ก็เรียกตลาดแมดิสันแหละ

ตลาดนี้มีมาเกือบ 50 ปีแล้ว เป็น Farmers market ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา และจัดอยู่ในกลุ่มเก่าแก่ที่สุดด้วย หลายรัฐเขาเลิกไปแล้ว แต่รัฐเกษตรกรรมอย่างวิสคอนซินเลิกไม่ได้ เสียชื่อตาย

วิสคอนซิน เป็นรัฐที่ผลิตนมเนยป้อนสหรัฐอเมริกา ป้อนโลก เข้าล้อกันไม่เลิกราว่า วิสคอนซินมีวัวมากกว่าคน มันก็อาจจะจริงของเขา ไปทางไหนมีแต่ฟาร์มวัว คนวิสคอนซินกินนมเนยสดๆ ชั้นดี จนเสียนิสัย ฉันกลับไปเมืองไทยใหม่ๆกินนมไทยไม่ได้ มีอาการอี๊อ๊าจนคนรำคาญ แต่มันไม่อร่อยจริงๆ เมื่อเทียบกับนมวิสคอนซิน มันจืดและไม่มีความมันสักครึ่งหนึ่ง

ตลาดนัดแมดิสันมีผักหญ้ากาไก่ในราคาถูก ขายโดยเกษตรกรเอง เขาจะขนผัก ขนปลาเทราท์ ขายเนื้อวัว และอื่นๆ อีกมากมาย มาแต่เช้ามืด รัฐให้ใช้สถานที่ขายราคาถูก เรียกว่าแทบไม่เก็บค่าเช่าเลย เพราะเขาต้องการให้เกษตรกรได้ขายสินค้าตนเองโดยไม่ต้องแบกภาระหนักหนา และผู้บริโภคก็จะได้อาหารดีราคาจับต้องได้

ยิ่งช่วงบ่ายเขาใกล้จะเก็บของกลับบ้าน ผักส่วนใหญ่จะถูกลดราคาน่าใจหาย มันเป็นโอกาสทองสำหรับนักศึกษาเบี้ยน้อยหอยน้อย ซื้อมะเขือเทศ กองละ 1 เหรียญ ผักโขม กองละ 1 เหรียญ ไข่ โหลละ 3 เหรียญ ทุกอย่างสดใหม่ เพราะเขาให้เกษตรกรตัวจริงเท่านั้นเข้ามาขาย

เกษตรกรที่มาขายอาหารต่างๆ เขาจะมีให้เราชิมตลอด นมและเนยและชีสนี่ชิมกันจนพุงกางเลย ปลาแซลมอนรมควันอีก เขามีมากมายหลายเจ้า เดินชิมเจ้าละนิดละหน่อยก็อิ่ม อย่างที่บอกว่า เขาเป็น Farmers market ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา มีคนขายเป็นร้อย กินพื้นที่จัตุรัสใจกลางเมืองทั้งหมด พื้นที่นี่อยู่หน้าศาลาว่าการรัฐทีเดียวเลย ดูเอาเถิดว่าเขาให้ความสำคัญกับเกษตรกรขนาดไหน

พอถึงหน้าหนาวหิมะตกหนัก อันว่าหนักแบบแมดิสัน คือหิมะจะหนาอย่างน้อย 3 ฟุต เขาก็จะย้ายเข้าไปในอาคาร ซึ่งก็อยู่ไม่ไกล อาคารที่ให้เข้าไปจัดตลาดนัดไม่ใช่อาคารไก่กา เป็นอาคารหอประชุมใหญ่ทันสมัย ออกแบบโดยสถาปนิกชั้นนำของโลกอย่าง แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์

แต่เขาไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ ที่จะเปิดอาคารที่ปูพรมทั้งอาคารให้เกษตรกรเข้าไปขายของ นอกจากรัฐมองว่าอาคารสถานที่ต่างๆ ล้วนเป็นของประชาชนผู้เสียภาษี เขาเหล่านั้นจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ประโยชน์จากมันได้ถ้วนหน้าแล้ว เกษตรกรยังเป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้งกลุ่มใหญ่ของรัฐ ที่ไม่มีใครอยากขัดใจ

ในการเลี้ยงปลาทะเล การจัดกระแสน้ำภายในตู้เลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ กระแสน้ำจะช่วยลดการสะสมของเศษตะกอน ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของเสียจำพวกไนไตรท์และไนเตรท และยังก่อให้เกิดภาวะตู้ล่ม (old tank syndrome) ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากร

การสร้างกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลา จะช่วยลดการสะสมของตะกอนขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ปะการังสามารถจับกินสิ่งมีชีวิตได้ ช่วยเพิ่มออกซิเจนในตู้เลี้ยงปลา โดยปกติแล้วผู้เลี้ยงปลาจะต้องจัดหาอุปกรณ์ทำคลื่นมาสร้างกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติและประโยชน์ข้างต้น แต่การจัดหาอุปกรณ์ทำคลื่นต้องใช้งบประมาณสูงระดับหนึ่ง และเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ตู้เลี้ยงปลาขนาดเล็ก (Nano tank) ยังไม่สามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ เนื่องจากมีความแรงของกระแสคลื่นมากเกินไป จึงมีความต้องการอุปกรณ์ทำคลื่นสำหรับตู้ขนาดเล็กเพื่อให้เกิดกระแสคลื่นภายในตู้เลี้ยงปลาทะเล

ด้วยเหตุนี้คุณพีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้รักและชื่นชอบการเลี้ยงปลาเป็นการส่วนตัว นำเหตุผลและความเป็นไปได้ในการสร้างอุปกรณ์สร้างกระแสคลื่นมาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการทำให้เกิดกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลาทะเล โดยเฉพาะตู้ปลาทะเลขนาดเล็ก ที่มีขนาดความจุของน้ำไม่เกิน 35 ลิตร เนื่องจากตู้ปลายที่มีขนาดความจุของน้ำที่มากกว่า 35 ลิตร มีเครื่องสร้างกระแสคลื่นวางขายในท้องตลาดทั่วไปอยู่แล้ว และมีราคาแพง นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายให้ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ ไม่ต้องใช้พลังงานเพิ่มเติม แต่อาศัยปริมาณน้ำจากช่องกรอง หรือ ปั๊มน้ำขนาดเล็กแทน

“ปัญหาของการเลี้ยงปลา คือ การสะสมของตะกอน มูลปลา เศษอาหารที่เหลือ ตกตะกอนนอนก้นด้านล่างของตู้ การสะสมของตะกอนทำให้เกิดพิษต่อตัวปลา ซึ่งโดยทั่วไปการจัดการไม่ให้เกิดการตกตะกอนนอนก้นตู้ คือ การทำกระแสคลื่นเพื่อไม่ให้ตะกอนนอนก้น แต่ตะกอนตกไปกับส่วนที่กรองน้ำ และหากซื้อเครื่องทำกระแสคลื่นมาใช้กับตู้ปลาที่มีขนาดความจุน้อยกว่า 35 ลิตร ความแรงของคลื่นจะทำให้น้ำในตู้ปลาหกหรือล้นออกมา”

อาจารย์พีระ บอกด้วยว่า ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้น ประกอบด้วยส่วนที่เป็นแท็งก์ขนาดพอเหมาะ สามารถใช้ใส่ใยกรองหรือไบโอบอลได้ด้วย เพื่อประโยชน์ในการบำบัดน้ำต่อเข้ากับท่อนำเข้าแท็งก์ และมีท่อสำหรับปล่อยน้ำออกตามแรงดึงดูดของโลก เมื่อเปิดระบบทำงานท่อนำเข้าน้ำจะทำหน้าที่ในการเติมน้ำให้กับแท็งก์ เมื่อปริมาณน้ำในแท็งก์สูงระดับหนึ่ง จะเกิดแรงดันให้น้ำไหลออกไปให้ท่อปล่อยน้ำออก ซึ่งน้ำที่ออกมาทางท่อนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ก่อให้เกิดกระแสคลื่นในระบบ

ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำชิ้นนี้ อาจารย์พีระ บอกว่า สามารถนำไปใช้ในการเลี้ยงปลาทะเลภายในอาคารบ้านเรือนได้ โดยชุดกำเนิดคลื่นนี้ นอกจากจะทำให้เกิดกระแสคลื่นภายในตู้เลี้ยงปลาทะเลแล้ว ยังช่วยในการเติมออกซิเจนในระบบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับใส่อุปกรณ์ในการบำบัดน้ำ หรือ ใช้สำหรับการกักปลาที่นำเข้ามาใหม่ได้อีกด้วย

ความสำคัญของการทำให้เกิดคลื่นในตู้ปลา อาจารย์พีระ บอกว่า กระแสคลื่นเป็นตัวสำคัญทำให้น้ำเคลื่อนไหว และทำให้ตะกอนจากมูลปลา เศษอาหาร และอื่นๆ ฟุ้งกระจาย และตะกอนเหล่านี้จะตกไปยังส่วนที่ทำหน้าที่กรองได้ ประโยชน์หลักที่เห็นได้ชัด คือ การไม่ต้องถ่ายน้ำบ่อย แต่ควรนำใยกรองไปล้างทุกสัปดาห์หรือเปลี่ยนใยกรองใหม่มาแทนที่เท่านั้น และความนิยมส่วนใหญ่ในการสร้างกระแสคลื่นในตู้ปลาจะเป็นกลุ่มผู้เลี้ยงปลาทะเล ซึ่งใช้น้ำเค็ม การถ่ายน้ำเมื่อตะกอนมากอาจทำได้ไม่สะดวกเหมือนการะเลี้ยงปลาน้ำจืด ทางที่ดีที่สุด คือการระวังไม่ให้เกิดการตกตะกอน