ผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี

(TMC) สวทช. กล่าวว่า การจัดงาน THAILAND TECH SHOW 2019 ปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชนร่วมกันกว่า 40 หน่วยงาน มีผลงานมากกว่า 200 ผลงาน โดยในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในงาน หนึ่งในนวัตกรรมที่น่าสนใจและเหมาะสมสำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนที่ประยุกต์ใช้ได้กับเด็กๆ รวมถึงคนทุกวัย คือ นวัตกรรมสื่อการเรียน

อย่างตัวที่ช่วยในเรื่องการเรียนรู้ เช่น แอปพลิเคชั่นเรียนรู้อักษรสามหมู่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพัฒนาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาของเด็กภาคใต้ในเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาไทยที่อ่านได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการผันเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งการออกแบบแอปนี้ขึ้นมาจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น หรือแอปพลิเคชั่นเรียนรู้เลขาคณิต ม. 1 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเช่นกัน

ซึ่งเลขาคณิตเป็นเรื่องยากของเด็กๆ เสมอ เพราะฉะนั้นการใช้แอปพลิเคชั่นจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมสื่อการเรียนอื่นๆ เช่น ผลงานการ์ดเล่นเกมประสมคำภาษาอังกฤษสำหรับผู้พิการทางสายตา โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่ช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงนวัตกรรม ผลงานหัวสุนัขจำลองจากเยื่อกระดาษและยางพารา โดยนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานพลาสติกสำหรับตรวจสอบงานเชื่อมด้วยสายตา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และผลงาน Grandma Grammar ที่แม้แต่อาม่าก็เข้าใจ โดยภาคเอกชน บริษัท ณฎา วีเคเอ็ม จำกัด 271 เป็นต้น

“อุตสาหกรรมที่พัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น สื่อการเรียนรู้ เป็นผลงานที่น่าสนใจ คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ในอนาคต จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.thailandtechshow.com/ เพื่อจะได้มีโอกาสนำเอานวัตกรรมสื่อการเรียนต่างๆ ที่สนใจไปต่อยอดทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ตลาดน่าจะดีขึ้นในอนาคตได้” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ด้าน ดร. ธนพัฒน์ แพ่งเกษร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่า นวัตกรรม ‘ชุดสกัดเก่ง (ชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนาม)’ เป็นชุดสกัด DNA ภาคสนาม มีชื่อทางการค้าว่า “ชุดสกัดเก่ง” ทดแทนเครื่องสกัด DNA ในท้องตลาดที่ต้องอาศัยเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูง จุดนี้ทำให้เป็นข้อจำกัดที่บางโรงเรียนหรือบางมหาวิทยาลัยที่ไม่มีเครื่องนี้จะไม่สามารถสกัด DNA ได้ หรืออีกทางคือ แม้ในหลายๆ มหาวิทยาลัยจะมีเครื่องตัวนี้

แต่มีจำนวนน้อย เด็กก็จะไม่ได้ทำการทดลองกันทั้งห้องหรือทำทุกคน เพราะฉะนั้นเพื่อลดความยุ่งยากในการใช้เครื่องนี้ ให้เหลือแค่ตัวหลอดสกัด เรียกว่า สกัดเก่ง เพียงเติมตัวอย่างลงไปในหลอด แล้วเติมน้ำยาที่จะเข้าไปช่วยในการแตกเซลล์เรียกว่า น้ำยาแตกเก่ง จากนั้นทำการเขย่าหลอดไปมา ซึ่งช่วงนี้ DNA ที่อยู่ในนิวเคลียสและภายในเซลล์จะแตกออกเข้าสู่สารละลาย ถัดไปคือการเติมน้ำยาจับเก่ง เพื่อที่ว่า DNA ที่อยู่ในสารละลายจะถูกจับไปอยู่กับเม็ดบีทที่อยู่ในหลอดสกัดเก่ง ตามด้วยการดูดทุกอย่างที่เป็นส่วนเกินทิ้งไปจนเหลือเพียง

DNA ที่เกาะอยู่บนเม็ดบีท และเพื่อให้แน่ใจจึงต้องใช้น้ำยาล้างเก่งในการชะล้างเอาส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป และขั้นสุดท้ายคือการล้วง DNA ออกมาด้วยน้ำยาล้วงเก่ง ทำให้ได้ DNA ที่สะอาด และเพียงพอสำหรับจะนำไปวิเคราะห์หรือทดลอง ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือ นักศึกษาจะได้ทดลองเรียนและทำเองทุกคน โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือชั้นสูง รวมถึงยังลดต้นทุนด้วย เพราะราคาขายชุดสกัดดีเอ็นเอสำเร็จรูปในท้องตลาดหรือชุดสกัดแบบคอลัมน์ ราคาจะอยู่ที่ 50-120 บาท ขณะที่ชุดสกัดเก่ง ราคาขายจะอยู่แค่ที่ 10 บาทเท่านั้น โดยนวัตกรรมนี้อยู่ระหว่างการเสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ สอบถามได้ที่ หน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา โทร. (054) 466-666 ต่อ 3714

ขณะที่ ดร. ปาวีณา ดุลยเสรี ผู้ประสานงาน งานวิจัยและบริหารวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดเผยถึง ‘นวัตกรรม Mobile App เรียนรู้อักษรสามหมู่’ ผลงานพัฒนาโดย ดร. มูนีเร๊าะ ผดุง คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ม.ราชภัฏยะลา ว่า ด้วยจุดเริ่มต้นจากเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความไม่เข้มแข็งทางภาษา การผันวรรณยุกต์จะทำได้ยากมาก ปัญหาแท้จริงแล้วอยู่ที่การพูดภาษาไทยไม่ได้หรือพูดไม่ชัดเพราะผันวรรณยุกต์ไม่ได้ แอปตัวนี้จะมีนิยามของรูปวรรณยุกต์ที่มี 4 รูป 5 เสียง คือ เอก โท ตรี จัตวา บอกว่าคืออะไร มีเกมให้เล่น มีเสียงให้ฟัง เหมาะสำหรับเด็กวัยระดับประถมศึกษา ซึ่งนำไปใช้จริงแล้วในพื้นที่ โดยอาจจะเหมาะกับเด็กที่ออกไปนอกเมืองสักหน่อย ซึ่งเกมที่ให้เล่นเด็กจะรู้สึกสนุกขึ้น เช่น ปลา ให้เลือกเติมต่อด้วยเสียงว่า เกา หรือ เก๋า ที่ควรนำมาคู่กัน ถ้าตอบผิดจะลากวางศัพท์ลงไม่ได้ เป็นต้น

“เบื้องต้นต้องเข้าใจบริบทก่อนว่า ปัจจุบันเด็กติด social ครูผู้สอนต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะ ไปทลายกำแพงของเด็ก ให้เขาคุ้นเคยกับสิ่งที่มี และรู้สึกตื่นตาตื่นใจเวลาเล่น เช่น แอปมีเสียงนะ มีเกมให้เล่นนะ เป็นต้น และการที่เด็กบางคนยังไม่มีแท็บเล็ต การสอนแบบนี้เหมือนสอนใช้เทคโนโลยีไปด้วย ธรรมชาติของเด็กจะอยู่กับวิชาการได้ไม่นาน จึงต้องหาสิ่งที่เป็นลูกล่อลูกชนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียน เรียกร้องความสนใจเขาได้ เพราะยังเชื่อมั่นว่าการศึกษาคือการหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งมีอนาคตที่ดี ฉะนั้นจึงยังให้ความสำคัญกับการอ่านออกเขียนได้

แอปนี้จะเน้นเด็กที่ยังไม่สามารถผันวรรณยุกต์เป็น โดยแอปจะสอนให้แยกได้ว่าอะไรคือเสียงสูง ต่ำ กลาง รวมถึงเสียงคำเป็นคำตาย ซึ่งจะมีผลต่อการพูดและสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน เพื่อต่อยอดการศึกษาในชั้นสูงต่อไป ทั้งนี้ แอปเรียนรู้สามหมู่สามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีทั้งในระบบ iOS และ Android อยู่ระหว่างการเสาะหาผู้ร่วมวิจัย พัฒนา ประเภทเทคโนโลยีต่อรองราคา สอบถามได้ที่ งานวิจัยและบริหารวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ฯ ม.ราชภัฎยะลา โทร. (073) 299-628 ต่อ 71000 หรือข้อมูลเพิ่มเติมคลิก https://www.thailandtechshow.com/” ดร. ปาวีณา กล่าวเสริม

นายทวี มาสขาว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์แวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วย่อมส่งผลต่อการประกอบอาชีพ และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้มีภูมิคุ้มกัน และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ภายใต้การดำเนินนโยบาย Thailand 4.0

ที่สำคัญสถาบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้มแข็งมากเท่าที่ควรจะเป็น บางส่วนยังขาดโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการที่ดี และขาดการเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการเงิน การตลาด และองค์ความรู้ ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 นั้น การทำการเกษตรเป็นแบบสมัยใหม่ (Smart Farming) เกษตรกรทำได้และได้รายได้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง (Entrepreneur)

“กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของรัฐบาล โดยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรจากทั่วประเทศให้ความรู้ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าร่วมโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ของรัฐบาล สำหรับในพื้นที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอภายใต้ความรับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ภายในพื้นที่ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและปรากฏผลอย่างเป็นที่น่าพอใจ” นายทวี มาสขาว กล่าว

ทางด้าน ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรตลอดมา ได้มีการอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรที่เป็น young smart farmer เกี่ยวกับวิธีการคิด วิธีการรวมกลุ่ม วิธีการปฏิบัติงาน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี การใช้ IT และการตลาดนำการผลิต

ปัจจุบัน จังหวัดสิงห์บุรี มี young smart จำนวน 173 คน แต่ละคนจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป จึงได้สร้างเป็นเครือข่ายทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด พร้อมส่งไปเป็นเครือข่ายของ young smart ในระดับเขตและระดับประเทศ

“ในจังหวัดสิงห์บุรี จะมีการพบปะพูดคุยกันทุกเดือน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่างเช่น young smart farmer ที่ประกอบกิจกรรมทำฟาร์มจิ้งหรีดมีการรวมกลุ่มสมาชิกในชุมชนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตรงนี้เป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ เป็นทั้ง young smart ต้นแบบ สามารถสร้างงานให้กับเกษตรกรในชุมชนและมีเครือข่ายประกอบอาชีพจิ้งหรีดของทุกอำเภอ มีการจัดตั้งศูนย์รวบรวมผลิตผลจิ้งหรีด และนำไปจำหน่าย มีตลาดกว้าง และมีการประกันราคาให้กับเกษตรกรที่จำหน่ายจิ้งหรีดมาขายกับกลุ่มฯ ได้เชื่อมโยงตลาดทั้งภายในจังหวัดระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศ ในส่วนของตลาดระหว่างประเทศ เช่น เวียดนามและญี่ปุ่นนั้น ทางกลุ่มฯ จะขอคำปรึกษากับทางสำนักงานเกษตรจังหวัด เกี่ยวกับร่างสัญญาการซื้อขายกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร” ดร. รุจีพัชร บุญจริง กล่าว

ด้าน น.ส.นันทนา ขำจันทร์ เจ้าของฟาร์มจิ้งหรีด ต.บางระจัน อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี young smart farmer จิ้งหรีด จ.สิงห์บุรี บอกว่า ได้เริ่มต้นจากการหาข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีดและทดลองเลี้ยง 10 ลัง ซึ่งได้กำไรดี จากนั้นจึงเลี้ยงเพิ่มเป็น 20 ลัง และขยายกิจการเรื่อยมา มีการประชาสัมพันธ์โพสต์ขายออนไลน์ ทางเฟซบุ๊ก ได้รับการตอบรับอย่างดี ปัจจุบัน เลี้ยง 60 ลัง มีรายได้เดือนละหลายหมื่นบาท

เนื่องจากการเลี้ยงจิ้งหรีดมีรายได้ดี จึงมีแนวคิดสร้างอาชีพเสริมให้กับคนในชุมชน จึงชักชวนเข้ามารวมกลุ่มและจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนคุณนายฟาร์มจิ้งหรีดขึ้น มีการบริหารจัดการวางแผนการผลิตตลอดทั้งปี ปัจจุบัน มีสมาชิกวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 8 ราย โดยจะวางแผนการผลิตตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งจะผลิตมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม สำหรับระยะเวลาในการเลี้ยงจิ้งหรีดแต่ละชนิดนั้นจะแตกต่างกันออกไป เช่น จิ้งโกร่ง 60-70 วัน, จิ้งหรีด 35 วัน และสะดิ้ง 45 วัน พร้อมกันนี้ได้มีการทำ Contact Farming กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยการขายไข่พันธุ์ และรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคาประกัน ตลอดจนร่วมวางแผนการผลิตให้แก่เกษตรกรตลอดทั้งปี ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันจะมีจิ้งหรีดต้มสุกแช่แข็ง จิ้งหรีดอบกรอบ รสดั้งเดิม แป้งจิ้งหรีด เค้กจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด

ในการขายจะมีทั้งขายปลีก ขายส่ง และขายออนไลน์ โดยจิ้งหรีดต้มสุกแช่แข็งจะจำหน่ายโดยการขายส่งเป็นหลักที่ตลาดไท ตลาดคลองเตย และตลาดสำโรง ประมาณ 6 ตัน ต่อเดือน จิ้งหรีดอบกรอบและข้าวเกรียบจิ้งหรีดจะจำหน่ายในรูปแบบขายปลีก ตามปริมาณการสั่งของลูกค้าที่ร้านในตลาดย้อนยุคบ้านระจัน ส่วนเค้กจิ้งหรีดจะจำหน่ายที่ร้านขนมปังในจังหวัดอ่างทองและสุพรรณบุรี และจำหน่ายออนไลน์ผ่านทาง Facebook ในเพจ “คุณนายฟาร์มจิ้งหรีด” อีกด้วย

รายได้จากการขายจิ้งหรีด เฉลี่ย 800 บาท ต่อลัง และสมาชิกจะมีรายได้อย่างน้อย 3,000 บาท ต่อเดือน เกษตรกรรายนี้ได้สมัครเข้ามาเป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดสิงห์บุรีในปี 2561 ได้รับการอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การตลาด การทำบรรจุภัณฑ์ การวางแผนการผลิต การทำตลาดออนไลน์ เป็นต้น และยังได้เข้าร่วมการศึกษาดูงานต่างๆ ร่วมกับ Young Smart Farmer ทั่วประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่
ได้แลกเปลี่ยนแนวทางความคิด และได้องค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีดอย่างต่อเนื่อง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ ทุกภูมิภาคของไทยเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งเรื่องฝนตกและน้ำท่วมขัง ทำให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆ กรมปศุสัตว์จึงต้องบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรค ASF ในสุกรอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น ขณะนี้ หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชน ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มเกษตรกรรายย่อยโดยใช้ แอปพลิเคชั่น e-Smart Plus (อี-สมาร์ทพลัส) เพื่อจัดทำแผนที่เกษตรกรรายย่อยในประเทศ และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ทันที ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ควบคู่กับการยกระดับระบบป้องกันโรคในฟาร์มของเกษตรกร

“กรมปศุสัตว์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นำแอปพลิเคชั่น อี-สมาร์ทพลัสช่วยประเมินความเสี่ยงไปแล้วกว่า 66,500 ฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 60 ของเป้าหมายและมีตั้งเป้าจะทำแผนที่ให้ครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
ระบบอีสมาร์ทพลัส ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น เพียงบันทึกข้อมูลในมือถือหรือแท็บเล็ต ก็สามารถทราบผลทันที ช่วยให้การวางแผนเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามาเป็นเครือข่ายในการแจ้งข่าวสารและป้องกันโรค ASF ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบโรคดังกล่าวในไทย ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้รับความร่วมมือที่ดีจากภาคเอกชน รวมถึงสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดต่างๆ ในการยกระดับการป้องกันฟาร์มให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น แม้ว่าฟาร์มของผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งหมดเป็นฟาร์มระบบปิดและมีการป้องกันโรคอย่างเข้มงวดอยู่แล้วก็ตาม ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนยังสนับสนุนงบประมาณและกำลังคน ช่วยให้การป้องกันโรค ASF ในประเทศไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของเกษตรกรรายย่อย กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือในการปรับปรุงฟาร์ม และกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การปรับปรุงรั้วป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นๆ เข้าในฟาร์ม การไม่นำเศษอาหารมาใช้เลี้ยงสุกร การฆ่าเชื้อก่อนนำเครื่องมือหรือยานพาหนะเข้าสู่ฟาร์ม การห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม การไม่เอาสุกรป่วยหรือตายออกนอกฟาร์ม รวมทั้งติดตามข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ตลอดจนไม่ตื่นตระหนก หรือหลงเชื่อข่าวลือต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรในการผลิตสุกรต่อเนื่อง และผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารมากยิ่งขึ้น

นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ปลูกข้าว (ศูนย์สารสนเทศการเกษตร ณ สิงหาคม 2562) รวม 3,449,117 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกข้าวรวม จำนวน 2,626,684 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว รวม 822,433 ไร่

หากพิจารณาในพื้นที่อำเภอโนนไทย พบว่า มีพื้นทีปลูกข้าว 177,417 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ S1/S2 จำนวน 133,155 ไร่ (ร้อยละ 75 ของพื้นที่) และเป็นพื้นที่ S3/N จำนวน 44,262 ไร่ (ร้อยละ 25 ของพื้นที่) ซึ่งพื้นที่ S3/N สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง ดินร่วนปนทรายและมีดินเค็ม จึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวนาปี

เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งจากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2561) พบว่า อำเภอโนนไทย ผลิตข้าวนาปีได้ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ย 328 กิโลกรัม/ไร่ โดยปี 2561 ได้ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ย 334 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตของจังหวัดนครราชสีมา ปี 2561 อยู่ที่ 362 กิโลกรัม/ไร่

ดังนั้น เกษตรกรอำเภอโนนไทย จึงต้องมองหาพืชเศรษฐกิจที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ คือ ทนแล้งและดินเค็ม เพื่อเป็นพืชทางเลือก โดยพบว่า มะขามเทศ เป็นผลไม้ที่เหมาะสม เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์เพชรโนนไทย โดยมีต้นทุนการผลิต 24,395 บาท/ไร่ (1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 25 ต้น) โดยมะขามเทศจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 700 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม สำหรับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 25,605 บาท/ไร่

ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหน่วยงานในพื้นที่ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศ แบบแปลงใหญ่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการดินและน้ำ การสร้างแบรนด์ การวางแผนการผลิตและการตลาดให้เกษตรกร ตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอโนนไทย ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร ณ 9 กันยายน 2562) พบว่า แปลงใหญ่มะขามเทศของอำเภอโนนไทย มีพื้นที่ 733 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 10 ตัน/วัน โดยผลผลิต ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ รองลงมา ร้อยละ 15 ส่งออก และร้อยละ 5 จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศ แบบแปลงใหญ่มีสมาชิกจำนวน 120 ราย ซึ่งในจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีจำนวน 90 ราย ที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ตามระบบการจัดการคุณภาพหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) ของกรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ แปลงใหญ่มะขามเทศอำเภอโนนไทย ยังได้รับรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัดปี 2562 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้ในปี 2561 รวมกว่า 25 ล้านบาท มีตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศมีการกระจายผลผลิตในหลายช่องทางคือ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน มีการขายปลีกทั้งในตลาดสดและสถานที่ราชการต่างๆ อีกทั้งมีการขายแบบออกร้านเป็นสินค้าโอท็อป ส่วนตลาดต่างประเทศ มีประเทศกัมพูชาที่นิยมบริโภคมะขามเทศ โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อรับซื้อ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการทำ MOU กับพ่อค้าเรื่องการรับซื้อมะขามเทศ 20 ตัน/วัน จากกลุ่มแปลงใหญ่ โดยจะมีการรับสมัครสมาชิกแปลงใหญ่เพิ่มเติมและผลิตมะขามเทศให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา ยังได้เตรียมผลักดันมะขามเทศของอำเภอโนนไทย ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนรับรองต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลพืชเศรษฐกิจ หรือพืชทางเลือกในภาคอีสาน สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 โทร. (044) 465-120 หรืออี-เมล zone5@oae.go.th

ในช่วงหลายปีมานี้ ต้องยอมรับว่า ฝรั่ง คือพืชอีกชนิดที่อยู่ในกระแสความสนใจของหลายคน เนื่องจากฝรั่งเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิดที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลาหลายปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในช่วงนี้เราจะเห็นแปลงปลูกฝรั่งแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในแหล่งปลูกเดิมอย่าง นครปฐม ราชบุรี และพื้นที่ใหม่ๆ แต่จะว่ากันไปแล้ว ฝรั่งดูจะเป็นพืชที่แอบทำเงินเงียบๆ ให้ชาวสวนมาตลอด เพราะฝรั่งไม่ใช่พืชที่ถูกปลุกกระแสจากสื่อต่างๆ เหมือนกับอีกหลายพืชที่ถูกปลุกกระแสจนโด่งดังหรือน่าสนใจเกินความเป็นจริงเสียอีก จึงทำให้พื้นที่ปลูกฝรั่งไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควรจะเป็น และหลายคนมองข้ามพืชชนิดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่ถ้าคุณได้รู้จักพืชชนิดนี้แล้วเชื่อว่าคุณจะกลับมามองฝรั่งในมุมมองใหม่และทิ้งพืชที่คุณกำลังสนใจหันมาปลูกฝรั่งแทนกันเลยทีเดียว

แม้จะเติบโตมากับอาชีพทำสวน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกหลานชาวสวนจะไม่อยากเดินตามรอยอาชีพของพ่อแม่ ขณะเดียวกันพ่อแม่เองก็อยากให้ลูกหลานได้ทำงานบริษัทที่สุขสบาย ไม่ต้องมายึดอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องตากแดดแทนการตากแอร์ในออฟฟิศ เช่นเดียวกับ คุณวราภรณ์ ขุนพิทักษ์ ที่มีดีกรีถึงปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่จะเลือกทำงานบริษัทในเมืองหลังจากเรียนจบแทนการมาเป็นชาวสวน แต่หลังจากทำงานได้ไม่กี่ปี เธอก็เลือกที่จะมาทำสวน เจริญรอยตามพ่อ-แม่ เพียงเพราะมองว่างานสวนที่บ้านหนักเกินกว่าที่พ่อ-แม่ จะทำไหว ซึ่งที่บ้านทำสวนกว่า 30 ไร่ โดยพืชหลักที่ปลูกก็คือ มะม่วง ชมพู่ และฝรั่ง ส่วนใหญ่จะเป็นมะม่วง

แต่หลังจากที่คุณวราภรณ์เห็นว่าพืชที่ปลูกทั้งหมด ฝรั่งเป็นพืชที่น่าสนใจที่สุด เพราะมะม่วงที่ทำมานานนั้น พื้นที่ 30 ไร่ มีรายได้เพียงปีละ 2-3 แสนบาทเท่านั้น ทั้งยังเป็นมะม่วงพันธุ์ทั่วไปที่เน้นขายป้อนตลาดขายส่งทั่วไป ขณะที่ฝรั่งสามารถให้ผลผลิตเร็ว เพียง 8 เดือน หลังปลูกฝรั่งก็จะสามารถตัดลูกชุดแรกได้แล้ว อีกทั้งผลตอบแทนก็สูง คุณวราภรณ์จึงตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่สวนมาเป็นฝรั่งเพียงอย่างเดียวและปลูกฝรั่งมาตลอด วันนี้คุณวราภรณ์บอกว่า เธอตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเป็นชาวสวน เพราะรายได้จากการทำสวนเพียงเดือนเดียวมันมากกว่ารายได้ที่เธอทำงานบริษัททั้งปีซะอีก ฝรั่งเพียง 10 ไร่ สามารถทำเงินได้หลักแสนต่อเดือน ปีหนึ่งสามารถทำเงินหลักล้านได้ไม่ยาก จากฝรั่งเพียง 10 ไร่ ซึ่งปัจจุบันคุณวราภรณ์มีพื้นที่ปลูกฝรั่งกว่า 24 ไร่

แปลงฝรั่งของคุณวราภรณ์จะมีอยู่ 2 แปลง แปลงหนึ่ง 14 ไร่ อีกแปลง 10 ไร่ คุณวราภรณ์ บอกว่า พืชทุกชนิดจะมีช่วงราคาถูก-แพง ในรอบปี ฝรั่งก็เช่นเดียวกันค่ะ มักจะมีราคาถูกในช่วงร้อนหรือประมาณเดือน เมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลใหญ่ของผลไม้บ้านเรา ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มะม่วง เงาะ ทุเรียน มังคุด บุกตลาดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นผลไม้ชนิดอื่นแทบหมดความสำคัญ และช่วงนั้นจะเป็นช่วงตกต่ำของผลไม้ เพราะเป็นช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดมากที่สุด ถ้าไม่อยากเสี่ยงกับราคาช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงที่จะให้มีผลผลิตเก็บขายได้ช่วงที่ผลไม้ประดังกันออกมา ดังนั้น ช่วงนี้คุณวราภรณ์จะไม่ห่อผลฝรั่งเลย ราคาฝรั่งช่วงนี้จะไม่ไกลไปกว่า 10 บาท ต่อกิโลกรัม หน้าสวน