ผู้เชี่ยวชาญชลประทาน กรมชลประทาน กล่าวว่าเมื่อโครงการ

ในพื้นที่พัทลุง ตอนล่าง-สงขลา ตอนบน ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถปลูกข้าวเพิ่มได้ประมาณ 10,000 ไร่ และพืชผักอีกหลายพันไร่ ตามข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษา เพราะเดิมนั้นเป็นพื้นที่ทำนา จากนั้นประชาชนในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปปลูกยางพาราแทน แต่ไม่ขยายตัว เพราะไม่เหมาะสมกับพื้นที่ จึงมีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนกลับมาทำนาข้าว โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองสำคัญ 2 สายพันธุ์ ที่มีชื่อเสียงของ จ.พัทลุง ทั้งสายพันธุ์เล็บนก และสังข์หยด

ด้าน นายทักษิณ สุดจันทร์ นายกสมาคมโรงสีข้าว และกลุ่มชาวนาภาคใต้ กล่าวว่า ในระยะหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้ การปลูกข้าวค่อนข้างมีรายได้ที่ดี เนื่องจากราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ดี และภาคใต้ยังปลูกข้าวได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ส่งผลให้โรงสีข้าวมีปริมาณข้าวเปลือกไม่เพียงพอต่อการสีเป็นข้าวสาร โดยปีที่ผ่านมาชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาเพิ่มขึ้น ประมาณ 1,000 บาท/ตัน โดยเฉพาะข้าวขาว ส่วนข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองมีราคาสูงกว่า เช่น ข้าวสังข์หยด ราคาอยู่ที่ราว 10,000 บาท/ตัน ส่วนสายพันธุ์เล็บนกอยู่ที่ 9,000-9,500 บาท/ตัน และบางปีสูงถึง 12,000 บาท/ตัน ทั้งนี้ หากสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้อีก 10,000 ไร่ จะมีรายได้รวมมูลค่ากว่า 78 ล้านบาท/ฤดูกาล

“ระบบน้ำถือว่ามีความสำคัญอันดับต้นๆ ต่อการทำนา กรมชลประทาน เห็นว่า หากมีการบริหารจัดการระบบน้ำได้ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญสามารถเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเกษตรกร ชาวนา ชาวสวน ที่ปลูกพืชผักผลไม้จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่ดี จะช่วยกระตุ้นภาพรวมเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้”นายทักษิณ กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการลงนามกับพันธมิตร 31 องค์กรในการสนับสนุนศูนย์ไทยแลนด์ สมาร์ท เซ็นเตอร์ (ทีเอสซี) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ว่าปัจจุบันตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันตามสถานการณ์โลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทำให้การดำเนินชีวิตและความต้องการเปลี่ยนไป แต่พบว่าเอสเอ็มอีบางส่วนยังปรับตัวไม่ทันและไม่รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย

มีสัดส่วนถึง 99.7% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ หรือประมาณ 3 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 11.7 ล้านคน หรือสัดส่วน 80.3% ของตลาดแรงงานทั้งหมด สร้างมูลค่าจีดีพี 4.8 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 41% ของจีดีพีประเทศ ถือเป็นรากฐานเศรษฐกิจประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาเอสเอ็มอีให้สามารถปรับตัวได้ทันสถานการณ์และแข่งขันได้ทั้งในประเทศและตลาดโลก ซึ่งโครงการทีเอสซีจึงเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้ธุรกิจเติบโตที่ยั่งยืน

“ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยเจอมากสุด คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังวางแผนการตลาดไม่เป็น ดังนั้น ทางศูนย์ทีเอสซีจะเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ทั้งในเรื่องของการตลาด การทำ แพ็กเกจและการทำบัญชี รวมถึงการช่วยหาตลาดในช่องทางใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็จะประสานให้ภาครัฐเข้ามาดูแลด้วย” นายกลินท์ กล่าว

นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานกรรมการ ไทยแลนด์ สมาร์ท เซ็นเตอร์ (ทีเอสซี) กล่าวว่า ทีเอสซีจะสร้างแพลตฟอร์มให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรให้กับเอสเอ็มอี โดยโครงการที่พี่ช่วยน้อง (บิ๊ก บราเธอร์) ในปีแรก 2560 ประสบความสำเร็จมาก และในปีนี้มีบริษัทใหญ่เพิ่มเป็น 26 บริษัท และเอสเอ็มอี 132 ราย คาดจะเพิ่มมูลค่ารายได้จากปกติ 1,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อรายจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท และเริ่มมีเอสเอ็มอีไปสร้างรายได้แล้วที่เวียดนามและลาว

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ชำแหละ 4 ปมท้าทายขวางพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำ ผลิตภาพแรงงานลด ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะภาคการเงิน ยังมีการปั่นหุ้น การฟอกเงิน เร่งยกระดับพัฒนาธรรมาภิบาลระบบการเงิน เน้นปล่อยสินเชื่อยั่งยืน หนุนออกกรีนบอนด์ช่วยสิ่งแวดล้อม

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Bangkok Sustainable Banking Forum 2018” ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ท้าทาย 4 ด้านสำคัญ ต้องฉุกคิดว่า ปล่อยให้ปัญหาเกิดมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร 1. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แม้เศรษฐกิจจะเข้มแข็ง ภาครัฐเองก็มีมาตรการช่วยเหลือดูแลผู้มี รายได้น้อย แต่ไทยยังติดอันดับต้นๆ ของโลก ในเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยที่สุด 1% ของประเทศ เป็นเจ้าของทรัพย์สินมากกว่าคนอีก ครึ่งประเทศรวมกัน

ปัญหาผลิตภาพแรงงานที่ลดลง เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้น มากกว่าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ระบบการศึกษาไทยไม่ช่วย ยกระดับทักษะคนไทยให้มีผลิตภาพสูงขึ้น 3. ปัญหาสิ่งแวดล้อม(สวล.) ขาดการแก้ปัญหาและดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม 4. ปัญหาคอร์รัปชั่น เกิดแพร่หลาย ฉุดรั้งประเทศไม่ให้ก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การติดสินบนและการเอื้อพวกพ้อง ทำให้ต้นทุนของทุกคนแพงขึ้น บิดเบือนระบบเศรษฐกิจ นโยบายที่ มุ่งหวังเพียงผลทางการเมือง มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัว สร้างภาระให้คนในช่วงอายุต่อไป

“ภาคการเงิน มีพฤติกรรมหลายอย่างเข้าข่ายฉ้อฉลคอร์รัปชั่น เช่น การใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การปั่นหุ้น การฟอกเงิน หรือการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ลูกค้าโดยไม่ให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ทำให้หน่วยงานภาคการเงิน รวมทั้ง ธปท. ต้องยกระดับการดูแลด้านธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณ ของผู้บริหารสถาบัน การเงิน ให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวอีกว่า ภาคการเงินการธนาคาร มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในวงกว้าง โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้ในหลายมิติ เช่น แนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการมองไกลอย่างรอบด้าน จะช่วยให้สถาบันการเงินเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว รวมทั้งการบริหารธุรกิจบนหลักความยั่งยืน จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงานได้ดีกว่า และจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้สถาบันการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ดีขึ้น โดยการนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืน มาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินการธนาคาร จะช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมและนำพาไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การออกพันธบัตรสีเขียว (กรีนบอนด์) ระดมทุน นำเงินไปใช้ลงทุนหรือสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังมีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากที่ต้องการลงทุน ระยะต่อไปจะมีการออกพันธบัตรลักษณะนี้ออกมาอีก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายสาโรจน์ สุวัตถิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวหลังเป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวงาน ‘The Power of Local Economy : รวมพลังธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก’ ว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ ผู้ประกอบการระดับฐานรากในท้องถิ่น ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club กว่า 11,000 ราย ที่กระจายอยู่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ มีพาณิชย์จังหวัดเป็นแกนกลางในการทำหน้าที่ประสานอำนวยการอย่างใกล้ชิด

งานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของการแสดงและจำหน่ายสินค้า มี 6 โซน ได้แก่ โซนแสดงและจำหน่ายสินค้าจาก 4 ภาค 77 จังหวัด โซนนิทรรศการ ต้นแบบเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น โซนเจรจาการค้า โซนให้คำปรึกษา โซนจำหน่ายอาหาร และโซน Health and Spa ส่วนที่สองกิจกรรมสัมมนา เสวนา และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จากทั่วประเทศ

งาน ‘The Power of Local Economy : รวมพลังธุรกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก’ จัดที่อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2561 ขอเชิญมาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยการช็อปผลิตภัณฑ์สินค้าจาก 77 จังหวัดทั่วไทย ลองชิมอาหารเลิศรสต้นตำรับร้านดังจาก 4 ภาค พร้อมชมมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชั้นนำ และลุ้นรับ iPhone X และสร้อยคอทองคำทุกวัน ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ปัจจุบัน เครื่องมือทางการเกษตรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีมาแต่โบราณ นับวันยิ่งหาดูได้อยาก เพราะมีเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาทดแทน ซึ่งเราควรที่จะอนุรักษ์ความเป็นไทยของเราไว้ และเป็นที่น่าดีใจที่ว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังยึดอาชีพสานไม้ไผ่ทำเครื่องมือทางการเกษตรออกมาจำหน่าย ให้กับพี่น้องชาวไร่ ชาวสวน ได้ใช้กันในราคาไม่แพง และยังเป็นการทำมาจากแรงงานคนด้วยการสานจากมือ เป็นงานฝีมือที่ละเอียด แสดงถึงภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยสมัยโบราณอย่างแท้จริง

คุณสมควร อารยะรุ่งโรจน์ หรือ คุณตุ้ย เจ้าของร้าน “บางคูรัดไม้ไผ่” ต.บางคูรัด อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งเปิดจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร ที่สานจากไม้ไผ่มากว่า 20 ปี เปิดเผยว่า พื้นเพตนเป็นคนสวนจังหวัดนนทบุรี ครอบครัวต้นตระกูล เป็นชาวสวนนนท์ เคยยึดอาชีพชาวสวนมาหลายปี ก่อนที่จะหันมาเปิดร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้วัสดุทางธรรมชาติ มาสานขึ้นรูปเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร และจับสัตว์น้ำ เช่น ปลา กบ หนูนา กุ้งฝอย ปลาไหล เป็นต้น

“ผมจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตรที่สานจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย ผมไม่อยากให้สิ่งประดิษฐ์ดีๆ ของรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ต้องสูญหายไปกับความเจริญที่เข้ามาในทุกวันนี้ ทำให้ลืมสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเราตั้งแต่สมัยโบราณ ผมเห็นว่าการสานไม้ไผ่ขึ้นรูปเป็นเครื่องมือทางการเกษตร หรือเครื่องมือจับสัตว์น้ำ จะเป็นการช่วยอนุรักษ์และสนับสนุน กลุ่มผู้ที่ยึดอาชีพสานไม้ไผ่เพื่อขึ้นรูปเป็นเครื่องมือทางการเกษตร โดยการนำมาขายที่ร้านตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็เป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรได้มีอาชีพสานไม้ไผ่ได้สืบทอดภูมิปัญญาต่อไป”

คุณสมควร กล่าวว่า ตนรู้จักเครื่องมือทางการเกษตรทุกชนิด เพราะเคยได้ใช้มาทุกชนิด สมัยที่ยังทำไร่ ทำสวนอยู่ เช่น ลอบดักปลาไม้ไผ่ ทางร้านมีจำหน่าย พร้อมอธิบาย เพิ่มเติมว่า ลอบดักปลา เป็นเครื่องมือที่ทำจากไม้ไผ่สานเป็นรูปกลม ขนาดกว้างตั้งแต่ 1 คืบ ถึง 1 เมตร ยาวประมาณ ครึ่งเมตร ถึง 2 เมตร ลอบเป็นลักษณะแนวนอน จะวางราบกับพื้นดิน มีงาให้ปลาเข้าทางด้านหัวของลอบ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่โบราณ มักใช้วางดักปลาในร่องสวน หรือตามท้องนา ปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างหาได้อยากเช่นกัน

อีจู้ดักปลาไหลไม้ไผ่ คุณสมควร อธิบายให้ฟังว่า อีจู้ เป็นชื่อที่เรียกกันมานานแล้ว ซึ่งก็เป็นเครื่องมือดักปลาไหลชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีงาแซงอยู่ริมก้นไว้ใส่เหยื่อล่อไว้ในกะพ้อด้านใน มีลักษณะกลมจะป่องตรงส่วนก้น แล้วเรียวที่ส่วนบน คล้ายรูปหม้อคอสูง ขนาดของอีจู้โดยทั่วไปก็แล้วแต่ว่าเราจะมีความต้องการเล็กใหญ่ขนาดใด เป็นการสานแบบลายขัดสี่เหลี่ยมเป็นตาไม่ให้ปลาไหลลอดออกไปได้ แล้วเราต้องสานปลายปากอีจู้เรียวแคบลงทีละน้อย ส่วนริมปลายปากจะบานออกเล็กน้อย เพื่อวางที่ปิดส่วนใหญ่ใช้กะลามะพร้าว หรือเศษฟางเศษหญ้าปิดปากให้แน่น เมื่อปลาไหลเข้ามากินเหยื่อในอีจู้แล้วก็ไม่สามารถออกไปได้

ตะข้อง ชาวนา ชาวสวน ใช้สำหรับใส่ปลา ทางร้านมีตะข้องไม้ไผ่ ที่สานมีรูปร่างคล้ายหม้อดิน ปากกลม คอคอด มีงาที่ปากเป็นฝาปิดไม่ให้ปลาออก แต่ใส่ปลาลงไปได้โดยไม่ต้องเปิดฝาออก ปลาจะผ่านงาที่สานด้วยตอกขัดกันเป็นรูปกรวยแหลม กางออกให้ตัวปลาลงไปในตะข้องได้ ส่วนกลางข้องป่อง ก้นเป็นสี่เหลี่ยม ใช้ใส่ปลาที่จับ มาได้ตามท้องไร่ ท้องนา ร่องสวน วัสดุที่นำมาใช้ นิยมใช้ไม้ไผ่สีสุก ซึ่งเป็นไม้ไผ่เนื้อหนา นำมาจักตอกหรือเหลาเป็นซี่ได้ดี มีความคงทน ไม่อุ้มน้ำ ไม่เปื่อยเมื่อแช่น้ำนานๆ ไม่แห้งกรอบเมื่อถูกแดด

ขนาดรดน้ำท้องร่อง ใช้วิดน้ำตามคันนา ท้องร่องสวน ทำจากไม้ไผ่นำมาสานขึ้นรูปแบบตาถี่ๆ ให้น้ำลอดได้น้อยที่สุด หรือไม่สามารถลอดออกได้เลย การใช้งานให้ต่อกับด้ามจับไม้ไผ่ เพื่อทำเป็นที่จับ สั้นหรือยาวแล้วแต่ตามความถนัดของแต่ละคนที่ใช้ ที่ชาวสวนชอบใช้เพราะราคาถูก สามารถทำเองได้ น้ำหนักเบา ใช้งานได้นาน

เครื่องจักสานเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความชาญฉลาดในการเลือกสรรวัตถุดิบ ที่จะนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน ซึ่งชาวบ้านจะมีความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นอย่างดี ตลอดจนการนำมาดัดแปลงแปรรูปใช้ทำเครื่องจักสานที่สามารถนำมาใช้สอยได้ สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ชาวบ้านเรียนรู้สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนทำให้เครื่องจักสานแต่ละชนิด มีรูปแบบ และประโยชน์ใช้สอยที่สมบูรณ์ลงตัว

เครื่องจักสาน ยังเป็นงานศิลปหัตถกรรม ที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทย ที่ทำสืบทอดกันมาแต่โบราณ แม้ทุกวันนี้จะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ก็พบว่าเครื่องมือเครื่องใช้อีกหลายอย่างไม่สามารถมาใช้แทนเครื่องจักสานได้ เช่น ไม่มีเครื่องจับปลาที่ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นมาแทนที่ ลอบ ไซ สุ่ม ที่สานด้วยไม้ไผ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นคุณลักษณะพิเศษของเครื่องจักสานที่มีคุณค่าในตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เครื่องจักสานมีอายุยืนยาวสืบต่อกันมานานนับพันปี แม้ในปัจจุบัน การทำเครื่องจักสานจะลดจำนวนลงไปบ้างตามสภาพสังคม ที่การผลิตสิ่งต่างๆ ด้วยมือจะต้องลดลง เปลี่ยนมาเป็นการผลิตด้วยเครื่องจักรกลก็ตาม แต่เครื่องจักสานยังคงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยเครื่องจักรกล เพราะการทำเครื่องจักสานต้องใช้ความชำนาญ และความสามารถเฉพาะตัว สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าพิเศษของเครื่องจักสานที่ต่างไปจากผลิตภัณฑ์อื่นที่ผลิตด้วยเครื่องจักร เครื่องจักสานจึงเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่ายิ่งอย่างหนึ่งของไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้สืบไป

นอกจากนี้ ยังจำหน่ายไม้ไผ่ เป็นลำๆ สุ่มไก่ กระด้ง ท่อนไม้ขันชะเนาะนั่งร้าน แหจับปลา เครื่องมือดักกุ้งฝอย เข่งไม้ไผ่ มีทุกขนาด ไม้กวาดทางมะพร้าว ลอบดักกบ สุ่มจับปลา สุ่มไก่ เป็นต้น ร้านตั้งอยู่ในซอยกันตนา อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สอบถามข้อมูลได้ที่ 082-445-7927

ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ญ. มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการประสานความร่วมมือรูปแบบการพัฒนา อสม.4.0 ภายใต้แนวคิด “อสม.4.0 ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ โดยมี พญ. ประนอม คำที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นพ. พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น นายทอง ศีละวงศ์ ประธาน อสม.จังหวัดขอนแก่น และประธาน อสม.ระดับอำเภอ 26 อำเภอ อสม.ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวน 400 คน

นพ. พีระ กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์โรคหลอดเลือดหัวใจ กระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 พบว่า อัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจต่อแสนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2558 พบอัตราตายเท่ากับ 22.88 หรือเท่ากับ 18,922 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน แต่หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันเวลา จะสามารถลดอัตราการตายลงได้ จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้มีความรู้และสามารถปฐมพยาบาลและช่วยฟื้นคืนชีพขั้นต้น

สถาบันพัฒนานวัตกรรมด้านระบบบริการสุขภาพ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบทบาทในการพัฒนา อสม. 4.0 ให้สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลได้ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีจิตอาสาและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 120,510 คน (45 คน ต่อตำบล) และร้อยละ 35 ต้องมีทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน 42,179 คน สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พัฒนา อสม.เรื่องการปฐมพยาบาลและช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2561 รวม 5,970 คน

ประจวบคีรีขันธ์ – เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับเครือข่ายจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ ส่วนราชการ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ ภาคเอกชน ชมรม พลังมวลชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา จัดโครงการ “ปันน้ำใจ ให้ช้างป่า” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เพื่อการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าในผืนป่ากุยบุรี สร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้ช้างและสัตว์ป่า ด้วยการปลูกหญ้า พืชอาหารช้าง ทำความสะอาด และเติมน้ำกระทะน้ำ ทำโป่งเทียม กำจัดวัชพืช บริเวณ โป่งสลัดได อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายชาตรี จันทร์วีระชัย นายอำเภอกุยบุรี นายนิธิ อาจสมรรถ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 นายทัศเนศวร์ เพชรคง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำจิตอาสากว่า 600 คน ให้การต้อนรับแล้วเข้าร่วมในกิจกรรม

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่มหาวิทยาลัยนครพนม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับจังหวัดนครพนม จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับประชาชนแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ปรากฏว่ามีประชาชนในพื้นที่ จังหวัดนครพนม สกลนคร และมุกดาหาร หรือกลุ่มจังหวัดสนุกจำนวน นับพันคนเดินทางมาเรียนรู้ เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์โอท็อปของตนเองและชุมชน

นางสาวอุราวรรณ อุ่นแก้ว รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า มหกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้แนวนโยบาย “วิทย์สร้างคน วิทย์แก้จน วิทย์เสริมแกร่ง” ซึ่งภายในงานจะมีการแบ่งกลุ่มให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านอาหาร ด้านผ้าทอ ด้านสมุนไพร รวมถึงการสร้างแบรนด์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนได้หมุนเวียนกันเรียนรู้ตลอด 2 วันที่จัดงานจนครบทุกฐาน โดยแต่ละฐานจะมีการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสอดแทรก เพื่อเสริมสร้างแนวความคิดให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองและชุมชนได้ อีกทั้งยังช่วยในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมาตรฐาน คุณภาพ และมูลค่าของสินค้า เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้ทุกคนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์กล้วยอบหลายชนิด ถือเป็นของขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมบริโภคกันทั่วไป หลายจังหวัดได้รับการคัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการผลิตนั้นจำเป็นต้องผ่าหรือฝานผลกล้วยให้เป็นแผ่นบางๆ ก่อน ส่วนใหญ่จะต้องใช้แรงงานคน ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะนำไปทอดหรือกรรมวิธีอื่น ดังนั้น เพื่อให้การทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว ลดการใช้แรงงานคน ได้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการและมีคุณภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พื้นที่น่าน จึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องฝานกล้วยตามแนวยาวของผล โดย ดร.สิทธิบูรณ์ ศิริพรอัครชัย และคณะ

เครื่องฝานกล้วยตามแนวยาว เป็นเครื่องจักรกลกึ่งอัตโนมัติ สามารถฝานกล้วยที่ปอกเปลือกแล้วครั้งละประมาณ 4-5 ผล ผลกล้วยต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 10 เซนติเมตร การทำงานโดยการวางผลกล้วยตามแนวนอนลงในช่องบรรจุด้านบนของเครื่อง จากนั้นจึงปล่อยกลไกที่ช่วยกดดันให้ผลกล้วยเข้าสู่ระบบการฝาน ซึ่งมีใบมีดติดตั้งอยู่กับจานหมุน เมื่อเดินเครื่องทำงานผลกล้วยที่ถูกฝานเป็นชิ้นๆ แล้วจะตกลงสู่ถาดรองรับเพื่อลำเลียงออกนอกเครื่อง จากนั้นจึงบรรจุผลกล้วยชุดใหม่เพื่อฝานต่ออีกจนหมด

เครื่องฝานกล้วยแบบนี้ เป็นเครื่องต้นแบบ น้ำหนักเครื่อง 80 กิโลกรัม ฝานผลกล้วยได้อัตรา 26,000 ชิ้นต่อชั่วโมง หรือ 160 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง ได้แผ่นกล้วยหนา 1.3 มิลลิเมตร ยังสามารถปรับความหนาและบางของแผ่นกล้วยได้ด้วย ใช้กำลังไฟฟ้า 210 วัตต์ เครื่องฝานแบบนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการฝานกล้วยแนวตั้ง หรือใช้กับพืชผลอื่นๆ ได้ เช่น มันฝรั่ง มันเทศ มันสำปะหลัง ฟักทอง แตงกวา ขนุน มะม่วง ฝรั่ง ฯลฯ