ผู้ใหญ่บ้านนาคำไฮน้อย ได้มาพบและชี้แจงกับชาวบ้านว่า

เงินจากการขายปุ๋ยไปนั้น ส่วนหนึ่งยังเก็บไม่ได้ บางคนยังไม่ได้จ่าย แต่จะพยายามติดตามเก็บ การทำงานมีการแต่งตั้งกรรมการหลายฝ่าย ทำหน้าที่ ชาวบ้านที่นำปุ๋ยไปใส่บางคนก็บอกว่าดี ต้นพืชที่ใส่ไปนั้นเจริญเติบโตดี และก็มีชาวบ้านบางคนบอกว่า ปุ๋ยที่เหลือให้แจกให้ชาวบ้านไป บางคนบอกว่ามันทำไม่ได้ จึงเกิดความวุ่นวาย ตอนนี้ปุ๋ยที่ขายยังไม่ได้ มีของหมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 10

นายสมควร แสนศักดิ์ดา กรรมการหมู่บ้าน กล่าวว่า ช่วงแรกขายปุ๋ยไป ราคาตันละ 2,000 บาท แต่คิดว่าตอนนี้จะปรับลดราคาลง ให้เกษตรกรได้นำเอาปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้ จะเป็นการช่วยลดสารเคมีลงได้ ขายในราคา ตันละ 1,000 บาท ส่วนกระสอบขาย 25 บาท คาดว่าในช่วงฤดูการทำนานี้น่าจะหมด

กสิกรไทยเผยดัชนีครองชีพของครัวเรือนพฤษภาคม ปรับลดต่อเดือนที่ 4 ต้นเหตุน้ำมัน-ก๊าซแพง ดันราคาของกินของใช้สูงขึ้น 1.49% สะท้อนครัวเรือนหันใช้บัตรเครดิตเพิ่ม กังวลกระทบการชำระหนี้อนาคต

รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 44.9 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 จากเดือนเมษายน อยู่ระดับ 45.3 ผลจากระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศที่เร่งตัวสูงขึ้น 1.49% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาพลังงานภายในประเทศ เช่น น้ำมันขายปลีก ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องภาระการชำระหนี้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีค่าใช้จ่ายพิเศษที่ทำให้ต้องกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรมากขึ้น

ศูนย์วิจัยระบุอีกว่า ครัวเรือนไทยมีมุมมองที่ดีและเป็นบวกมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 51.4 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้เกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยางพารา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น แม้ราคายางพาราแผ่นดิบอยู่ระดับต่ำ แต่หนุนให้ครัวเรือนเกษตรกรบางส่วนมีรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มส่งผลดีไปยังภาวะการมีงานทำของครัวเรือน สอดคล้องกับตัวเลขผู้ที่มีงานทำอยู่ที่ 37.97 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 6.9 แสนคน และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.7 แสนคน โดยเฉพาะการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 4.79 แสนคน

ศูนย์วิจัยระบุต่อว่า ช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าปัจจัยต่อภาวะค่าครองชีพ คือ ผลจากราคาพลังงานในประเทศทยอยปรับตัวลดลงตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกลดลง และรัฐออกมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของครัวเรือนโดยพยุงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 363 บาท/ถัง (15 กก.) ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนชะลอขึ้นราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ สภาพดินฟ้าอากาศเข้าสู่ฤดูฝน ที่จะส่งผลต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกร รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการทำมาค้าขายของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขาย

ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจาก 46.9 มาอยู่ที่ 46.2 ผลจากความกังวลและการคาดการณ์ของครัวเรือนในเรื่องระดับราคาสินค้าและบริการ ภายในประเทศที่มองว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ครัวเรือนบางส่วนคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น กลับภูมิลำเนา ทำบุญ ท่องเที่ยว เป็นต้น ภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดทั้งปี 2561 น่าจะดึงดูดความสนใจของครัวเรือน เพิ่มน้ำหนักให้กับตัวเลือกจังหวัดเมืองรองเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้น และช่วยกระจายรายได้ลงสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น

นายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. จัดโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร มีวงเงินรวม 1,671 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อนำไปใช้สร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ยุ้งฉางของตนเอง สำหรับใช้เก็บข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูข้าวนาปี ไม่ให้ออกสู่ตลาดพร้อมกันมากเกินความต้องการของตลาด และส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ

“โครงการนี้ ถือเป็นการดำเนินตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และสถาบันเกษตรกร 10,000 ราย ทั่วประเทศ สามารถกู้เงินสร้างยุ้งฉาง แต่จะต้องเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางที่สร้างขึ้นและเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อชะลอปริมาณข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวในฤดูนาปีให้อยู่ในยุ้งฉางชั่วคราว ซึ่งจะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดมีเสถียรภาพ”

นายศรายุทธ กล่าวว่า รายละเอียดของสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร รายละไม่เกิน 150,000 บาท และสถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน แห่งละไม่เกิน 3 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยเงินกู้ ปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 คิด 4% ต่อปี โดยผู้กู้จ่าย 1% ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี สำหรับ ปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 คิดดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ธนาคาร โดยเริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 และกำหนดให้สร้างยุ้งฉางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2562 เพื่อให้ทันการเก็บข้าวเปลือกนาปี ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561

สำหรับการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปีตามนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมการเก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉาง ซึ่งถือเป็นแก้มลิงขนาดเล็กในการเก็บข้าวเปลือกไม่ให้ล้นออกสู่ตลาด โดยเกษตรกรยังได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวอีกด้วย

นายสมหวัง คำตัน นายกเทศมนตรีตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า การจัดอาหารกลางวันของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลตำบล (ทต.) งิม (คือเวียงจ่ำ) ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลหัวละ 50 บาท รายการอาหารกลางวันแต่ละวัน ผู้ประกอบการจะทำรายการอาหารเสนอกองสาธารณสุข เป็นไปตามหลักโภชนาการ คุณค่าสารอาหารครบ 5 หมู่ สอดรับนโยบายโภชนาการของโรงเรียน และนโยบายกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เน้น เนื้อ ไข่ ปลา ผัก ผลไม้ สิ่งสำคัญที่ช่วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเรียน 300 คน คือ ครูทุกระดับชั้นใส่ใจนักเรียนทุกคนเป็นอย่างดี ทุกฝ่ายเชื่อมประสาน ผลงานจึงออกมาดี ทำให้ได้รับรางวัลสุดยอดเพชร

นายนเรศ อภัยลุน ผู้อำนวยการโรงเรียน ทต.งิม กล่าวว่า เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและสุขภาพ โรงเรียนจึงมีอาหารประเภทไข่สัปดาห์ละ 3 วัน เพราะเด็กได้รับประทานอาหารมีคุณภาพ อิ่มท้อง จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและร่างกายที่มีคุณภาพ อีกทั้งงบประมาณที่ใช้ เป็นเงินภาษีของผู้ปกครองนักเรียนซึ่งนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางกัญญาณัฐ ศรีใจ รองนายกเทศมนตรี กล่าวว่า วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร ผู้ประกอบการจัดหาจากตลาดในท้องถิ่น อีกส่วนมาจากผลผลิตโครงการ 9101 เช่น ไข่ จากกลุ่มอาชีพ ผักเป็นผักสวนครัวปลอดสารพิษในพื้นที่ ซึ่งปลูกไว้กิน เหลือนำไปขาย โครงการต่างๆ ของรัฐบาลเมื่อนำมาจัดวางให้ถูกที่ ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ทำให้ประหยัด เกิดรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น ผลผลิตจากโครงการที่รัฐส่งเสริม ถูกนำมาใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ลูกหลานนักเรียนได้อาหารที่มีคุณภาพ

ศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 ศูนย์ ขานรับนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมพร้อมสถานที่ผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่เหมาะสม หวังให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งพันธุ์พืชพันธุ์ดีและลดต้นทุนการผลิตไปพร้อมกัน

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการจัดตั้งกองขยายพันธุ์พืชขึ้นมาเป็นอีกส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของเกษตรกร รวมถึงผลิตพันธุ์พืชพันธุ์ดีที่สะอาด ปราศจากโรคและแมลง ราคาเหมาะสม สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตจากการใช้พันธุ์พืชพันธุ์ดี นับเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรในเรื่องของการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ นอกจากช่วยแก้ไขปัญหาเมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดไม่ให้ราคาสูงแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคตที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ผู้นำในการผลิต และเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Hub) ของภูมิภาคอาเซียนตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ให้ได้

โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดสรรงบประมาณ ในการซ่อมแซมปรับปรุงโรงเรือนอนุบาลพันธุ์พืช และครุภัณฑ์ต่างๆ ของศูนย์ขยายพันธุ์พืช ทั้ง 10 ศูนย์ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีให้ได้ตามแผนการผลิต ภายใต้เป้าหมายแผนการผลิตรวม 8 ล้านต้น ต่อปี โดยแบ่งเป็นพืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จำนวน 1,411,000 ต้น ต้นพันธุ์ จำนวน 5,095,000 ต้น ท่อนพันธุ์ จำนวน 1,494,000 ต้น ส่วนเมล็ดพันธุ์พืชปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากยังไม่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ หากได้รับงบประมาณจะสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ กระจายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศได้

โดยแต่ละศูนย์จะรับผิดชอบพืชเศรษฐกิจที่ปลูกแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ รวมถึงมีการจัดทำแปลงแม่พันธุ์พืชพันธุ์ดี จำนวน 815 ไร่ เพื่อเป็นแปลงรวบรวมผลิตพืชพันธุ์ดี ใช้ในการผลิตขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดี ประกอบด้วย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ผลิตต้นมะละกอ ต้นกล้วย ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง ผลิตต้นพริก ต้นกล้วย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ผลิตต้นดอกเบญจมาศ ต้นกล้วย ท่อนพันธุ์อ้อย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ผลิตกล้วย ต้นปาล์มน้ำมัน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ผลิตต้นพริก ต้นกล้วย ท่อนพันธุ์อ้อย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ผลิตต้นกล้วย ท่อนพันธุ์อ้อย ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ผลิตต้นผัก ต้นพริก ต้นกล้วย ท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ผลิตต้นสตรอเบอรี่ ต้นผักสมุนไพร ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี ผลิตต้นหน่อไม้ฝรั่ง ต้นไม้ดอกไม้ประดับ ต้นผักศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี ผลิตท่อนพันธุ์อ้อย ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังต้นไม้ดอก

ขณะนี้ทั้ง 10 ศูนย์ ขยายพันธุ์พืช ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานในส่วนของการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรือน เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน โดยทุกพันธุ์พืชพันธุ์ดีที่ดำเนินการผลิตจะเป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับมาตรฐาน สำหรับเกษตรกร หน่วยงาน และผู้สนใจ ที่ต้องการพืชพันธุ์ดี สามารถติดต่อสั่งจองและเลือกซื้อได้ตามศูนย์ขยายพันธุ์พืช เริ่มผลิตตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์/โทรสาร 0 2561 0127, 0 2561 0128 หรือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561 ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2561” ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้ “สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยง

เพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

“การจัดสวัสดิภาพสัตว์” หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำ อย่างเพียงพอ

“เจ้าของสัตว์” หมายความว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายความรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ซึ่งได้รับ มอบหมายจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ดูแลด้วย ข้อ 4 สัตว์ที่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้องดำเนินการ จัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้สัตว์ได้รับอาหารและน้ำในปริมาณ และคุณภาพที่เหมาะสมแก่ประเภท ชนิดลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์ ในกรณีเลี้ยงสัตว์เป็นกลุ่มควรแน่ใจว่าสัตว์แต่ละตัวได้รับอาหารและน้ำอย่างทั่วถึง

(2) จัดให้สัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและความปลอดภัยของสัตว์

(3) จัดให้สัตว์มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีการจัดการในการควบคุมป้องกันโรคที่เหมาะสม และ และให้การรักษาเมื่อสัตว์ป่วยหรือบาดเจ็บโดยไม่ชักช้า

(4) จัดการไม่ให้สัตว์ได้รับความเครียด หวาดกลัว เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(5) จัดให้สัตว์ได้มีโอกาสแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและพลานามัยของสัตว์

ข้อ 5 เจ้าของสัตว์ต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ และปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการจัดสวัสดิภาพสัตว์ตามประเภท ชนิดของสัตว์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด

ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ผศ. นาถนเรศ อาคาสุวรรณ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ชุมชนเกาะยอเป็นพื้นที่หนึ่งที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มีโครงการความร่วมมือการบริการวิชาการ ทำให้ทางคณะทราบถึงศักยภาพของชุมชนที่มีความโดดเด่นในเชิงวัฒนธรรม เชิงความ หลากหลายด้านทรัพยากรทั้งพืชพรรณประจำถิ่นและสัตว์น้ำ ตลอดจน วิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ

“การลงพื้นที่เพื่อร่วมกับชุมชนในการพัฒนาท้องถิ่น พบว่าการจัดการท่องเที่ยวในเกาะยอมีผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่าศักยภาพที่ชุมชนมี และชุมชนแสดงความจำนงที่จะร่วมมือบริหารจัดการและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทางคณะจึงจัดทำแผนงานวิจัย เรื่องการบริหารจัดการและการพัฒนาการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีไทยชุมชนเกาะยอยั่งยืน โดยวิจัย 6 โครงการ”

ด้าน ดร. รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากการสำรวจความต้องการของชุมชนในการบริการวิชาการ ประกอบกับการทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องของคณาจารย์ในคณะ ตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบัน พบว่าเกาะยอเป็นชุมชน ที่มีศักยภาพ เพียงแต่อาจขาดปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ที่ผ่านมา มีการทำวิจัยในพื้นที่เกาะยอมาแล้วบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะวิจัยเฉพาะเรื่อง จึงนำมาสู่แนวคิดการดำเนินงานแบบชุดโครงการ แบ่งเป็น 6 โครงการย่อย

“1. ศึกษาองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ชุมชนเกาะยอ 2. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม 3. ศึกษาทุนทางสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นการทำงานพัฒนาท้องถิ่นสนองพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10 4. ศึกษาสารสนเทศชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 5. รูปแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม วิถีไทยชุมชนเกาะยอ และ 6. พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับมัคคุเทศก์น้อย ร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ เนื่องจากแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและสิงคโปร์มาเที่ยว ที่เกาะยอจำนวนมาก

นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วย นายยะห์ยา ปะนาฆอ นายอำเภอเมืองนราธิวาส หัวหน้าคลังจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนผู้บริหารทางการศึกษา ทั้งศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส ผอ.สำนักงานการศึกษาเอกชนเมืองนราธิวาส

ร่วมพบปะตรวจเยี่ยม ผู้บริหาร ครู อุสตาซ และนักเรียนของโรงเรียนนราวิทย์อิสลาม ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส ดังนั้น ขอให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสามัญหรือศาสนา ซึ่งในระบบของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาถือว่าได้เปรียบกว่าโรงเรียนทั่วไปที่นักเรียนได้เรียนศาสนาควบคู่กับสามัญ ซึ่งเมื่อจบไปแล้วมีโอกาสที่จะไปต่อยอดในระดับอุดมศึกษาทั้งสายสามัญทั่วไปหรือศาสนา และไม่ว่าจะเลือกด้านไหนขอให้ทุกคนตั้งใจ และมีความมุ่งหวังที่จะนำความรู้มาประกอบวิชาชีพ เลี้ยงครอบครัว และที่สำคัญในอนาคตอาจจะกลายเป็นกำลังหลักในการพัฒนาพื้นที่ด้วย

ด้าน นายอะเดช มุทะจันทร์ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่าในโรงเรียนที่สังกัดโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาส่วนใหญ่นั้นนักเรียนมักไม่ค่อยกล้าแสดงออก เขิน อาย ทั้งที่ส่วนใหญ่ล้วนมีความสามารถ จึงขอฝากให้ทุกคน มีความมั่นใจ และแสดงความสามารถของตนเองออกมา ซึ่งท้ายที่สุดจะเป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียนเองในอนาคต

สำหรับโรงเรียนนราวิทย์อิสลาม ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนเมืองนราธิวาส เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ขณะที่ด้านศาสนาเปิดสอนถึงระดับชั้นซานาวี ปัจจุบันมีนักเรียน 250 คน มีผู้บริหาร ครู อุสตาซ บุคลากร รวม 27 คน มีการดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ในทุกระดับชั้น

ระบัดหญ้าที่พลิ้วไปไสวบนเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ขึ้นชื่อเรื่องการอนุรักษ์ และความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ทำให้มีฝูงกระทิงจำนวนมาก ออกมากินหญ้าฝูงใหญ่

โดยเฟซบุ๊กเพจ ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำภาพฝูงกระทิงออกมาโพสต์เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนที่ชื่นชอบในการส่องสัตว์มีโอกาสมาดูกระทิงฝูงใหญ่ พร้อมเขียนข้อความบรรยายว่า

#ฝูงวัวกระทิง @เขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว,โคราช ช่วงนี้ออกหากินกันฝูงใหญ่ ใครชอบส่องสัตว์ต้องไม่พลาด กระทิงมักจะออกมาช่วงเวลา 15:00-18:30 น. หรือจะกางเต็นท์นอนค้างคืนชมดาวด้วยก็ได้ มีจุดกางเต็นท์ให้บริการ”

ภาพถ่ายโดย : มานิตย์ โยธินตะคี สถานที่ : จุดสกัดเขาสูง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ที่สามารถรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้

ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ผลผลิตสับปะรดบริโภคผลสดกำลังอยู่ในช่วงที่คุณภาพดีที่สุด โดยเฉพาะ “สับปะรดห้วยมุ่น” ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นสับปะรดที่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นิยมบริโภคกันมาก ด้วยคุณสมบัติที่มีความพิเศษเฉพาะ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI.)

นายอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI.) ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ทะเบียนที่ 56100056 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกว่าจะเป็นสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้ ต้องได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์ว่าเป็นธรรมชาติสร้างสิ่งแวดล้อม โดยมีมนุษย์ใช้ทักษะ ความชำนาญ ภูมิปัญญา ก่อให้เกิดสินค้าคุณภาพพิเศษเฉพาะ ซึ่งสับปะรดห้วยมุ่น เป็นสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์แล้ว ข้อพิสูจน์บ่งชี้ถึงความพิเศษ คือมีลักษณะผลกลม ขนาดน้ำหนัก 1.5-3.5 กิโลกรัม เฉลี่ยน้ำหนัก 2.2 กิโลกรัม ต่อผล ผิวเปลือกบาง ตาตื้น ผลดิบ สีเขียวคล้ำ ผลแก่เปลือกสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนานิ่ม สีเหลืองเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ที่สำคัญไม่กัดลิ้น ปลูกในพื้นที่ ตำบลห้วยมุ่น และตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ จึงนับได้ว่า เป็นสับปะรดคุณภาพดีที่สุดในโลก

นายอดุลย์ศักดิ์ ไชยราช หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เพิ่มเติมว่า สับปะรดห้วยมุ่นของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2561 มีพื้นที่ปลูก 30,707 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 27,719 ไร่ ให้ผลผลิต กว่า 122,700 ตัน นิยมทำการปลูกช่วงฤดูแล้ง เดือนพฤศจิกายน-มกราคม เนื่องจากมีความสะดวกในการเตรียมพื้นที่ปลูก และเตรียมพันธุ์ที่มีคุณภาพ ให้ผลผลิตมากที่สุด คุณภาพดีที่สุด ช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ในปีนี้ผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่น ออกสู่ตลาดผู้บริโภคมากกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศดี

ทั้งปริมาณน้ำ ความชื้น ความหนาวเย็นเหมาะสม ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลเอาใจใส่การผลิตที่ดี มีการรวมกลุ่มผลิตที่เข้มแข็ง และมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสม ด้วยศักยภาพพื้นที่ปลูก พื้นที่เชิงเขา ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย เกิดจากการพัดพาของน้ำ มีการสลายตัวตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอ สภาพอากาศอุณหภูมิเฉลี่ย 26-30 องศาเซลเซียส สับปะรดห้วยมุ่นจึงปรับเปลี่ยนคุณสมบัติไปจากพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของสับปะรดห้วยมุ่น ที่นำเข้ามาปลูกในพื้นที่กว่า 50 ปีมาแล้ว

ในด้านการตลาดสับปะรดห้วยมุ่น มีการจำหน่ายผลผลิตเป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือจำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ซึ่งมีการคัดเกรด เป็นเนื้อ 1,2,3 หรือเกรด A,B,C ตรวจสอบได้โดยการสัมผัส ดีด เคาะ ซึ่งจะมีจำหน่ายในพื้นที่ หรือมีพ่อค้าย่อยเข้าไปรับซื้อผลผลิตออกมาจำหน่าย หรือเกษตรกรในพื้นที่นำออกมาจำหน่ายเอง อีกลักษณะหนึ่งคือจำหน่ายเป็นสับปะรดโรงงาน จะมีแผง หรือล้ง รวบรวมผลผลิต โดยมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ติดพ่วง จากโรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง ชลบุรี ตราด ขึ้นไปรับผลผลิตจากพื้นที่ ครั้งละ 15-30 ตัน ต่อคัน

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ โทรศัพท์ กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (055) 411-769, (055) 440-894 สำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด โทร. (055) 481-006