ผ้าไหม “ตัวโน้ต” เด่นที่ผ้าไหม สวยด้วยมือเฮากลุ่มแม่บ้าน

เกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน ตั้งอยู่เลขที่ 62/1 หมู่ 3 บ้านคึมมะอุ ตำบลหนองหว้า อำเภอบัวลาย นครราชสีมา ถือว่าเป็นกลุ่มแม่บ้านที่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2542 จากภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ถักทอผ้าไหมไว้ใช้กันภายในครัวเรือน จนพอมีเวลาว่างหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จึงได้ผลิตผ้าไหมของตัวเองอันได้แก่ผ้ามัดหมี่ ผ้าโสร่งนำไปขายยังตลาด เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม

จนในที่สุดเห็นว่าควรรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งด้วยการนำผลผลิตของแต่ละครัวเรือนมารวมกันแล้วหาตลาดมารับซื้อแทน จนกระทั่งนำมาสู่การจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน นับจากนั้น และได้มีการจัดทำแผนโครงสร้างกลุ่ม แนวทางการทำงาน ตลอดจนสิทธิประโยชน์ต่างๆของสมาชิกจนนำมาสู่การส่งเสริมความรู้จากทางหน่วยงานราชการ สามารถผลิตผ้าไหมที่มีคุณภาพ หลากหลายสไตล์ตามความต้องการของตลาดทั้งแนวเดิมโบราณ ไปถึงแนวโมเดิร์นอินเทรน แถมยังฉีกแนวด้วยการนำตัวโน๊ตเพลงมาประกอบการทอทำให้ลวดลายบนผืนผ้าออกมาสวยงาม แปลก น่าสนใจ ดูสะดุดตาต่อผู้ที่นิยมใช้จนได้รับรางวัล

คุณวันเพ็ญ แสงกันหา ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และมีบทบาทเป็นแกนในการประสานงาน พร้อมกับสมาชิกกลุ่มบางส่วนอันได้แก่คุณอำนวย ชายา,คุณแต๋ว กะสันเทียะ,คุณฮู้ พรมขรยาง และคุณประยงค์ แสงกันหา ได้ร่วมพูดคุยกันถึงความภาคภูมิใจในสินค้าต่างๆ ของกลุ่มให้ฟัง

คุณวันเพ็ญ ให้รายละเอียดความเป็นมาว่า เดิมในตำบลหนองหว้า มี 9 หมู่บ้าน และบ้านคึมมะอุ-สวนหม่อนเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริม ในช่วงหลังฤดูทำนาชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมออกไปทำงานนอกบ้านหรือต่างจังหวัด แต่จะมีกลุ่มแม่บ้านส่วนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเพื่อปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมไปถึงการทอผ้าไหมจำหน่ายกันภายในหมู่บ้านและใกล้เคียงเพื่อหารายได้เสริม

หลังจากที่ผ้าไหมของหมู่บ้านเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันทั่วไปจึงมีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สร้างแรงจูงใจให้บรรดาแม่บ้านมีกำลังใจ จากนั้นจึงรวมกันเป็นกลุ่ม มีการควบคุมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นการกำหนดการทอผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าฝ้าย และสินค้าอีกหลายชนิด จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่ม พร้อมกับสร้างคำขวัญประจำกลุ่มว่า “คึมมะอุอยู่มานาน ถูกกล่าวขานเรื่องผ้าไหม ชื่อก้องกังวานไกลทั่วทั้งไทยและต่างแดน”

สำหรับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม คุณวันเพ็ญกล่าวว่า ประการแรกเพื่อเป็นไปตามแนวทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ประการต่อมาเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน และประการสุดท้ายเพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ประธานกลุ่มกล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งที่เริ่มตั้งกลุ่มมีสมาชิกเพียง 25 คน ตอนแรกทำแค่ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า และผ้าโสร่ง พวกเราหารือกันว่าให้นำสินค้าของแต่ละคนที่ทำไว้มารวมกันเพื่อนำไปเสนอขายแก่พ่อค้าคนกลางให้มารับซื้อ แทนการนำไปขายเองเพราะมีปัญหาด้านราคา

“ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่ม 103 คน สมาชิกเลี้ยงหม่อนจำนวน 300 กว่าคน มีแปลงหม่อนรวมกันกว่า 50 ไร่ ซึ่งยังไม่รวมแปลงของสมาชิกแต่ละครัวเรือนที่มีกันอยู่ต่างหาก ทั้งยังมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกเป็นกลุ่ม มีผู้สูงอายุ 23 คนทำหน้าที่ปั่นไหมและพับชายผ้า เยาวชนมีหน้าที่เขียนลายผ้าจำนวน 23 คน”

เมื่อก่อนเป็นงานอดิเรกตอนนี้เป็นอาชีพหลัก

แต่เดิมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีแค่เฉพาะในหมู่บ้านหนองหว้า ต่อมาค่อยๆขยายพื้นที่การปลูกไปตามหมู่บ้านอื่นจนเกิดการแพร่หลาย คุณวันเพ็ญบอกว่าตั้งแต่เกิดก็มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันแล้วมีการทอผ้ามัดหมี่กันเป็นปกติ ทอไว้ใช้เป็นผ้าไหว้ ผ้ามงคลในพิธีต่างๆ เข้าใจว่าคงมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อก่อนทำกันเป็นงานอดิเรก แต่ตอนนี้ทำเป็นอาชีพหลัก

“แต่หลังจากที่มีการร้องขอให้ทางหน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริมทางด้านการสอนตัดเย็บเสื้อผ้า รวมไปถึงการตลาด จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ทำให้ยอดการสั่งเพิ่มมากขึ้น ผลิตไม่ทัน จากที่เคยทอและตัดเย็บอยู่เฉพาะภายในศูนย์ จึงต้องส่งงานไปให้กับสมาชิกตามบ้าน” ประธานกลุ่มกล่าว กลางน้ำและปลายน้ำ

เมื่อกิจกรรมของกลุ่มค่อยๆ เจริญเติบโตมีการพัฒนาจากน้อยไปหามาก จากงานที่เคยผลิตเพียงหนึ่งถึงสองอย่าง กลายเป็นผลิตหลายอย่าง เมื่อความต้องการมากขึ้น รายได้เพิ่มมากขึ้น บรรดาคนในหมู่บ้านเห็นว่าสามารถทำรายได้อย่างดี จึงต่างทยอยมาสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่มกันอย่างมากมาย ทั้งนี้การเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องมีระเบียบเป็นค่าสมัครคนละ 50 บาท ค่าหุ้นจำนวน 200 บาท (20 หุ้น)

คุณวันเพ็ญ อธิบายว่า หากสมาชิกต้องการนำผลิตภัณฑ์มาฝากขายกับทางกลุ่ม สมาชิกต้องหัก 5 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าสินค้าที่ตั้งไว้ เพื่อนำเข้าเป็นเงินกองกลางกลุ่มฯ ส่วนสินค้าที่กลุ่มขายได้ เมื่อหักทุนออกแล้ว ที่เหลือจะนำเข้าเป็นเงินกองกลางเช่นกัน เพื่อนำมาจัดสรรผลตอบแทนให้สมาชิกต่อไป

สินค้าจากผ้าไหมที่ขายนั้นประธานกลุ่มให้รายละเอียดว่าเป็นการผลิตขายตั้งแต่ต้นทางหรือต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ หมายถึงถ้าเป็นสินค้าต้นน้ำได้แก่การผลิตเป็นวัตถุเป็นการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลางน้ำคือการทอผ้าเป็นผืนได้แก่ผ้าคลุมไหล่ ผ้ามัดหมี่ และผ้าโสร่ง ส่วนปลายน้ำคือการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า กระโปรง และของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆจากเศษผ้าที่เหลือ

ประธานกลุ่ม บอกว่ากรรมวิธีการผลิตผ้าไหมถือว่ามีความละเอียดที่จะต้องใช้ความพิถีพิถันมาก นับตั้งแต่การเลือกหม่อนเพื่อใช้เป็นอาหารแก่หนอนไหมที่กินแล้วจะลอกคราบเป็นไหมออกมา จากนั้นมีการสาวไหม แล้วจึงนำไปมัดหมี่เพื่อให้ออกลวดลาย การย้อมสีตามธรรมชาติหรือเคมีไปจนถึงการทอเป็นผืนผ้า ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะทอเป็นลวดลายประเภทใด

“การเลี้ยงมีสองแบบคือเลี้ยงแล้วสางเส้นไหมไปส่ง กับอีกส่วนคือเลี้ยงแล้วทอผ้าไหมเอง แล้วยังมีอีกประเภทที่เพิ่งติดต่อมาไม่นานนี้คือเลี้ยงแล้วส่งเป็นรังไหมให้ร้านจิมทอมสัน ทั้งนี้สมาชิกจะนำไข่ที่มีอายุ 20 วันมาส่ง ในทุกวันที่ 5 และ 20 ของทุกเดือน”

ได้รับการส่งเสริมจากภาคราชการของจังหวัด

ส่วนสินค้าที่ทางกลุ่ม มีการผลิตจำหน่ายได้แก่ผ้าไหมพื้นสีธรรมชาติและเคมี,ผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติและเคมี, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าพันคอ,เสื้อสำเร็จรูปและสิ่งของใช้เบ็ดเตล็ด อาทิ ย่าม,กระเป๋าใส่เหรียญและอื่นๆ

“การผลิตเสื้อ กระโปรง ทางจังหวัดจะส่งแพทเทิร์นมาให้ จากนั้นสมาชิกแต่ละคนภายในกลุ่มจะแยกกันทำชิ้นส่วน จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบเป็นตัวในขั้นตอนสุดท้าย สำหรับความรู้ด้านเขียนลายผ้าได้รับความสนับสนุนจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลให้ความช่วยเหลือส่งไปอบรม ขณะเดียวกันเมื่อสมาชิกกลุ่มมีความรู้จากการอบรมก็จะไปช่วยถ่ายทอดความรู้นี้กับกลุ่มเครือข่ายอีกครั้ง” ประธานกลุ่ม ให้รายละเอียดเพิ่ม

กรุงเทพฯ ถือเป็นแหล่งของการจัดแสดงสินค้าที่หลากหลาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่มีมากของผู้บริโภค การเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจใหญ่หลายราย ดังนั้นการผลักดันสินค้าเพื่อให้เป็นที่รู้จักแก่ตลาดอย่างกว้างจึงจำเป็นต้องนำสินค้ามาลงในงานแสดงสินค้าในกรุงเทพฯ

คุณวันเพ็ญ บอกว่า ไม่เพียงแค่ตลาดในกรุงเทพฯ เท่านั้นที่ทางกลุ่มต้องการนำสินค้ามาแสดง แม้แต่ตลาดในจังหวัดใหญ่ที่มีการจัดงานในลักษณะนี้ทางกลุ่มฯจำเป็นต้องส่งสินค้าไปร่วมงาน และในฐานะที่ตัวเองเป็นคณะกรรมการเครือข่ายระดับประเทศจึงต้องมีการประสานงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวงานต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างเสมอ นอกจากการนำสินค้าไปแสดงตามงานแล้วหากลูกค้าที่สนใจต้องการให้ส่งสินค้าทางไปรษณีย์ทางกลุ่มก็มีบริการ

“ช่วงที่ขายสินค้าดีส่วนมากจะเป็นหน้าเทศกาลงานสำคัญต่างๆ ที่มักจะสั่งซื้อไปเป็นผ้าสำหรับใช้ในงานพิธี สำหรับเสื้อผ้าและกระโปรงมักจะขายดีตามงานแสดงสินค้า”

ราคาจำหน่ายสินค้าของกลุ่มฯถ้าเป็นผ้าไหมผืนมีราคาตั้งแต่ 1,000 – 2,000 บาท หากเป็นชุดกระโปรงมีราคาตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท ย่ามใบละ 100 บาท กระเป๋าผ้าไหมใบละ 500 บาท

ความที่เป็นกลุ่มงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่โดดเด่นของจังหวัดจึงทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อนได้รับรางวัลมากมายและมักจะกวาดรางวัลใหญ่หลายรางวัลทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด ล่าสุดได้รับรางวัลวิสาหกิจชุมชนระดับภาค

คุณวันเพ็ญ บอกว่า รายได้ของสมาชิกบางคนอาจได้จากการนำเส้นไหมมาขาย แล้วยังมีรายได้จากการทอผ้า นอกจากนั้นยังมีรายได้จากค่าเย็บเสื้อผ้าของแต่ละคนที่รับผิดชอบอีก ส่วนกำไรจากการขายสินค้าจะนำเข้ากองกลางเพื่อสะสมไว้ทำกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม

ผ้าไหม “ตัวโน้ต”

สร้างเอกลักษณ์ความแปลกที่ไม่มีใครเหมือน

คุณวันเพ็ญ เผยว่า ผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของกลุ่มที่ทุกคนมีความภาคภูมิใจ เพราะความสวยงามและเสน่ห์ที่ตรึงตรามาจากลายที่เกิดขึ้นจากการมัดที่ต้องใช้ความพิถีพิถัน

และที่น่าสนใจมากคือมีผ้าไหมที่เคยได้รับรางวัลเป็นผ้าคลุมไหล่ที่เกิดจากลายทอ ซึ่งผู้ทอจะต้องดูตัวโน้ตเพลงประกอบไปด้วย เป็นการทอที่อาศัยจังหวะจากโน้ตเพลง ทำให้ลายที่ออกมามีความแปลก และแต่ละลายจะไม่ซ้ำกันเพราะใช้ตัวโน๊ตเพลงไม่เหมือนกัน ความสำเร็จของงานชิ้นนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากของกลุ่มที่ไม่มีใครเหมือน และถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้นอกจากจะต้องผ่านการสอนและอบรมก่อน

“เริ่มมา 2 ปีแล้ว ก่อนนั้นสมาชิกได้ไปอบรมเกี่ยวกับการเรียนตัวโน้ตมา แล้วนำกลับมาทดลองทอกับผ้า ซึ่งขณะทอจะเปิดดูตัวโน้ตเพลงที่ละตัวแล้วนับจังหวะการทอผ้าทั้ง“ เส้นด้ายยืน” และ “ เส้นด้ายพุ่ง ” ในหนึ่งผืนสามารถทำได้ 3-4 ลาย นั่นหมายถึงต้องใช้จำนวนเพลง 3-4 เพลง เช่นกัน ส่วนราคาขายเริ่มต้นที่ 2,000-5,000 บาท เมื่อตอนมาขายที่เมืองทองธานีผืนที่ตั้งราคา 3,000 บาท ขายดีมาก” ประธานกลุ่ม บอก

คุณวันเพ็ญ กล่าวว่า แผนและโครงการที่กำหนดไว้คือจะพัฒนาและส่งเสริม ซึ่งบางส่วนกำลังดำเนินการไปแล้วคือการไปเผยแพร่กระบวนการทำผ้าไหมทั้งระบบสู่โรงเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ได้มีการเตรียมต้นหม่อนไปปลูกตามโรงเรียนหลายแห่ง จากเมื่อก่อนที่เคยสอนให้ทอเท่านั้น

“ตอนนี้เห็นว่าควรจะจัดสอนทั้งกระบวนการตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน เลี้ยงไหม ไปจนถึงการทอ โดยทางกลุ่มจะสลับสมาชิกไปสอนเด็กทุกวัน ทั้งนี้เพื่อต้องการถ่ายทอดความรู้ให้แพร่หลาย แล้วยังสามารถสร้างอาชีพทำเงินได้ ที่สำคัญเป็นการช่วยส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไหมให้คงสืบไปอีกนาน แล้วยังมีแผนที่จะพัฒนาสีย้อมจากธรรมชาติให้มีสีแปลกไปจากที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีก” คุณวันเพ็ญ กล่าวในที่สุด

แม้ผู้เขียนจะไม่สันทัดด้านผ้าไหม แต่การได้เชยชมเพียงชั่วครู่ก็รู้สึกถึงความสวยงามวิจิตรบรรจงอันมาจากความสามารถ ภูมิปัญญาอันอัจฉริยะจากคนรุ่นบรรพบุรุษที่คิดสร้างเครื่องมือ อุปกรณ์การทอจากวัสดุธรรมชาติจนทำให้สร้างสรรค์งานทอผ้ามีลายออกมาสวยงามและถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลกที่หลายประเทศให้ความสนใจหาซื้อกัน แล้วคนไทยจะช่วยอุดหนุนสินค้าไทยกันหน่อยดีไหม…เงินทองจะได้ไม่รั่วไหล

สนใจผ้าไหม เสื้อผ้าและของใช้ที่ผลิตจากผ้าไหมอีกหลายชนิดของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคึมมะอุ-สวนหม่อน สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณวันเพ็ญ โทรศัพท์ 044-979608 หรือ 089-949-3788 และ 081-471-1052

ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริบ้านหนองปลาดุก หมู่ 9 ต.พังขว้าง อ.เมือง จ.สกลนคร เจ้าของศูนย์คือ คุณเกศนี ชุมปัญญา โทร.089-623-0295

บ้านสวนร่มรื่นด้วยสวนไผ่ คอกสัตว์ ข้างบ้านเป็นแปลงปลูกกล้วยหอมทอง 1 ไร่ 2 งาน (600 ต้น) ต้นกล้วยหอมทองเรียงแถวกันเป็นระเบียบสวยงาม ตัดแต่งก้านใบอย่างดี ต้นกล้วยออกหน่อมากมาย ที่ทยอยออกเครือออกผลก็มาก คุณเกศนีและสามีดูแลใส่ปุ๋ย ไถพรวนดิน ผลผลิตที่ได้มีพ่อค้ามารับซื้อถึงบ้าน นอกจากนี้ยังกำลังปลูกแปลงเกษตรผสมผสานอีกด้วย

ที่อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร สวนของ คุณทรงศักดิ์ ปัญญาประชุม นายกอบต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โทร.086 220 6490 คุณทรงศักดิ์ ผู้มีความสุขกับการทำสวน เคยเป็นข้าราชการครู สอนเกษตร พืช ปศุสัตว์ ปัจจุบันเป็นนายกอบต. เจียดเวลางานมาต้อนรับคณะดูงาน พาเดินชมสวนกล้วยหอมทอง พื้นที่ปลูก 6 ไร่ ทั้งกล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า

สำหรับกล้วยหอมทอง อายุ 4 เดือน 5 เดือน 8 เดือน แปลงเพิ่งปลูกใหม่ก็มี

แรกเริ่มปลูก 2 ไร่ พบว่าได้ผลดี ไม่พอขาย จำเป็นต้องปลูกเพิ่ม ผลผลิตที่ได้ ส่วนหนึ่งขายหน้าสวนซึ่งเป็นร้านเล็กๆ น่ารักชื่อ ไร่สุขพอเพียง และขายในพื้นที่ ที่พระธาตุภูเพ็ก สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอ

คุณทรงศักดิ์ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรในเขตตำบลนำหน่อกล้วยไปปลูกฟรี และคืนหน่อพันธุ์ เป็นการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพ สำหรับเกษตรกรทั่วไป สามารถติดต่อซื้อหน่อพันธุ์ได้โดยตรง

สวนต่อไป คือสวนของคุณทองปาน พิมพานิชย์ หมอดินอาสาตำบลสว่าง บ้านคำประมง หมู่ 4 อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โทร.080-196-9410 สวนคุณทองปาน เจ้าของสโลแกน “ความจนมีแท้ๆ เราจะแก้ด้วยตนเอง” ในสวนมีกล้วยหอมทอง แก้วมังกร มะม่วงงามเมืองย่า (ผลโต น้ำหนักลูกละประมาณ 1 กิโลกรัม) มะขามเปรี้ยวยักษ์ ปลูกแบ่งแยกแปลงในพื้นที่ 20 ไร่รอบบ้า

แหล่งพันธุ์

กล้วยหอมทองที่นำมาปลูกที่สกลนคร มาจากจังหวัดเพชรบุรี สหกรณ์บ้านลาด จ.เพชรบุรี ที่โด่งดังเรื่องกล้วยหอมทองส่งออกประเทศญี่ปุ่น

ตอนนี้ สกลนครสามารถจำหน่ายหน่อพันธุ์ได้แล้ว ติดต่อสั่งซื้อได้โดยตรง ปลูกระยะห่าง 2×2 พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 400 ต้น

ขุดหลุมปลูก 30x30x30 ซม. ขุดหน้าดินออกไกลปากหลุม รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกมูลวัว 1 ปีบ คลุกเคล้าดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากัน สับดินปากหลุมลงทุกด้าน ไม่ให้ลึกเกินไป แล้วปลูกหน่อกล้วย

การดูแล

กล้วยหอมทองใช้เวลาประมาณ 8-9 เดือนจะให้ผลผลิต วิธีการให้ปุ๋ยของสวนท่านนายกฯทรงศักดิ์ มีดังนี้

เดือนที่ 1 รากกล้วยหอมทองจะเต็มหลุม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และมูลไก่ทุกเดือน ไถกลบโคลนด้วยรถไถเดินตาม กำจัดวัชพืช

เดือนที่ 3 หน่อจะออกรอบต้น ไม่ต้องขุดออก แต่ให้ตัดยอดอ่อนทิ้ง เหลือโคลนให้เป็นฐานรองรับต้นแม่ไว้ไม่ให้โค่น

เดือนที่ 6 ให้เหลือต้นแท้และต้นเทียม(ต้นรอง) ไว้ 1 ต้น หน่ออื่นให้ขุดแยกไปปลูกใหม่ได้

เดือนที่ 6-7 บำรุงปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0, 18-46-0, 0-0-60 คลุกเคล้าผสมกัน ใส่ต้นละ 2 กำมือ 2 ครั้ง เป็นสูตร ‘ปุ๋ยหวาน’ ทำให้รสชาติดี หวานกรอบ

เดือนที่ 8 กล้วยจะออกปลี ออกผล

เมื่อออกผล มีปลีกล้วย ให้สังเกต ‘ลูกแคน’ ที่ปลายเครือ 3 หวีเล็กๆ ให้ตัดปลีทิ้ง แล้วนับไปอีก 50-60 วันจึงตัดขายได้ (เกษตรกรจะเขียนป้ายกระดาษวันตัดปลีติดไว้กับเครือกล้วย เพื่อนับวันเก็บผลผลิตได้)

กล้วยหอมทอง 1 เครือ น้ำหนักประมาณ 15 กก. มี 6-7 หวี จะขายเป็นหวีหรือชั่งกิโลกรัมก็ได้ แทบจะไม่น่าเชื่อว่าพืชที่อยู่ในตระกูลเฟินอย่าง “ผักกูด”จะสามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ด้วยการนำยอดอ่อน ช่ออ่อน มาทำแกงกับปลาเนื้ออ่อนน้ำจืด เช่นปลาช่อนหรือลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ ยำผักกูด ผักกูดผัดน้ำมันหอย แกงกะทิกับปลาย่าง ลวกกะทิ และที่ดูน่าอัศจรรย์ไปกว่านั้นคือยังมีสรรพคุณแก้ไข้ตัวร้อน พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ความดันโลหิตสูง

โดยธรรมชาติของผักกูดที่มีลักษณะเหมือนเฟิร์นคือชอบขึ้นอยู่ที่ริมน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขัง มีใบเป็นแผงรูปขนนกคู่ขนานกัน ขณะที่ใบยังอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้นหอย ตรงส่วนยอดอ่อน คือ ส่วนที่นำมาใช้ประกอบอาหาร มีสปอร์ซึ่งอยู่ด้านหลังใบที่แก่จัดทำให้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยการแตกกอใหม่

นอกจากนั้นยังเป็นผักที่บ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสภาวะแวดล้อมกล่าวคือ บริเวณไหนอากาศไม่ดี ดินไม่บริสุทธิ์ หรือมีสารเคมีเจือปนอยู่ ผักกูดจะไม่ยอมขึ้นหรือแตกต้นใหม่เด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นผักที่มีสารเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กในตัวสูง ดังนั้นเมื่อรับประทานแล้วจึงได้ประโยชน์มากมายดังที่กล่าวข้างต้น

ปัจจุบันความนิยมรับประทานผักกูดยังมีอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะผักชนิดนี้จะเจริญเติบโตดีและสมบูรณ์เฉพาะบริเวณที่ชื้นริมน้ำ อีกทั้งแหล่งปลูกควรเป็นดินทรายถึง 70 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงด้านการขนส่งที่จะต้องเก็บความชื้นอย่างดีเพื่อให้ผักมีสภาพสมบูรณ์สด ใหม่ เมื่อถึงมือลูกค้า ฉะนั้น น้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยรับประทานผักชนิดนี้เหมือนเช่นผักอื่น จึงทำให้มักไม่ค่อยพบตามตลาดทั่วไป

อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะริมแม่น้ำเพชรบุรีเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ชาวบ้านหันมายึดอาชีพปลูกผักกูดจำหน่าย อาจเป็นเพราะความที่อยู่ใกล้แม่น้ำเพชรบุรีแล้วยังมีคุณสมบัติของดินที่เหมาะสมจึงทำให้สามารถปลูกผักกูดได้เป็นอย่างดี

อย่างกรณีของสามี-ภรรยาคู่นี้ คือ คุณพูนผล ศรีสุขแก้ว และคุณธนพร (ภรรยา) อยู่บ้านเลขที่14 หมู่ 6 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โทรศัพท์ 081-4338310 อดีตเคยปลูกมะนาวสร้างรายได้ จนเวลาต่อมาเส้นทางการปลูกมะนาวดูจะไม่ราบรื่นเนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งทั้งสองไม่อาจแบกรับภาระเหล่านั้นได้อีกต่อไป จนต้องเปลี่ยนมาเริ่มชีวิตเกษตรกรรมใหม่ด้วยการปลูกผักกูด

จุดเริ่มต้นปลูก

คุณพูนผล ผู้เป็นสามีบอกว่า ความจริงตอนแรกปลูกมะนาวเป็นรายได้ ต่อมาภายหลังมีปัญหาการปลูกหลายอย่างทั้งต้นทุน ค่าแรง และโรค จึงเลิกปลูกมะนาวแล้วไม่นานพบว่าเพื่อนบ้านมีการปลูกผักกูดกันเลยโค่นมะนาวแล้วหันมาปลูกผักกูดเป็นรายได้หลัก

“เริ่มมาทำเกษตรด้วยการปลูกมะนาว ช่วงแรกถือเป็นไม้ผลที่สร้างรายได้ดี พอต่อมาจำนวนคนปลูกมากขึ้น การแข่งขันสูง ต้นทุนค่าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตลอด ค่าแรงเพิ่ม การใช้ปุ๋ยเคมีต้องเพิ่มตามจึงมีผลทำให้ดินเสีย ที่สำคัญสุขภาพไม่ปลอดภัย แล้วพอนำไปขายมีกำไรเล็กน้อย ไม่คุ้ม ทำไม่ไหว”

คุณธนพร บอกถึงความเป็นมาที่นำมาสู่การปลูกผักกูดเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เมื่อ 7 ปีก่อนว่า เธอและครอบครัวชอบรับประทานผักกูด เวลาต้องการบริโภคจะต้องไปหาซื้อตามตลาด ต่อมาเห็นว่าถ้าปลูกเองแทนการซื้อจะประหยัดค่าใช้จ่าย จึงตั้งใจปลูกผักชนิดนี้ไว้เพื่อรับประทานในครัวเรือน

“เห็นว่าเพื่อนบ้านปลูกกันไม่ยากเลยหามาปลูกไว้ โดยเรียนรู้วิธีการปลูกและการดูแลจากเพื่อนบ้านที่ปลูกแล้วประสบความสำเร็จมาก่อน พอนานไปผักกูดมีการแตกพันธุ์ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วทำให้กินไม่ทันเลยเก็บไปขายตามร้านอาหาร และตลาดนัด”

เธอบอกว่า สมัยก่อนมีชาวบ้านไปเก็บผักชนิดนี้ที่ขึ้นตามริมน้ำแล้วนำไปขายที่ตลาดสดราคากำละ 5 บาท เป็นพันธุ์ดั้งเดิมที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่มีชื่อพันธุ์

ภายหลังที่คุณพูนผลได้พาเดินชมแปลงปลูกผักกูดเขาเล่าว่าได้ช่วยกับภรรยาปลูกผักกูดในพื้นที่ 5 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ พร้อมกับปลูกพืชชนิดอื่น อาทิ เงาะโรงเรียน,ทุเรียน,กล้วยเล็บมือนาง และปาล์มน้ำมัน จำนวน 300 กว่าต้น ซึ่งปาล์มที่ปลูกมีสองรุ่น รุ่นแรกมีอายุปีกว่า อีกรุ่นได้ 6 เดือน เขาบอกว่าคงต้องรออีกสัก 2 ปีจึงจะมีรายได้จากปาล์ม ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าราคาดีแค่ไหน

“กล้วยเล็บมือนางไม่ได้มีประโยชน์แค่การบังร่มเงาให้แก่ผักกูดเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้โดยนำผลผลิตไปขายกิโลกรัมละ 8-10 บาท ถึงแม้ราคาขายดูจะไม่มากนัก แต่ยังถือว่านำไปเป็นค่าน้ำได้

เงาะโรงเรียนปลูกไว้ประมาณ 30 ต้น เมื่อก่อนคิดว่าจะปลูกเงาะเป็นหลัก แต่ภายหลังเปลี่ยนใจเลยโค่นไปหลายต้น ทั้งนี้เนื่องจากรายได้จากเงาะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนการเก็บผักกูดขายมีรายได้ทุกวัน” คุณพูนผลบอก

จากการลองชิมเงาะโรงเรียนพบว่ามีเปลือกบาง และรสชาติหวานใช้ได้ แต่น่าสังเกตว่าขนาดจะไม่ใหญ่ เนื่องจากเป็นการปลูกไปตามธรรมชาติ

“เมื่อมาทำผักกูดกลับพบว่าไม่มีความยุ่งยากเหมือนการปลูกมะนาวเลย ตั้งแต่เริ่มทำแปลงก็ไม่ต้องปรับดินมากนัก เพียงแค่ถากถางหญ้าและวัชพืชอื่นออกให้หมดก่อนแล้วจึงนำต้นมาปลูก พอปลูกจำนวนตามที่ต้องการแล้วจากนั้นได้นำกล้วยเล็บมือนางมาลงเป็นแถวแนว แต่ไม่แน่นมากเพื่อให้ใบกล้วยบังแสงให้แก่ต้นผักกูดบ้าง”เจ้าของสวนให้รายละเอียดเพิ่ม

การใช้ปุ๋ย

ด้านการดูแลบำรุงรักษาคุณธนพรบอกว่าเนื่องจากมีการปลูกผักกูดจำนวนมาก จึงมีการใช้ปุ๋ยยูเรียเดือนละครั้ง ครั้งละหนึ่งกระสอบ (50 กิโลกรัม) นอกจากนั้นยังใช้ปุ๋ยหมัก จากขี้ไก่ ขี้วัว จะใส่ครั้งละ 10 กว่าตัน โดยเทใส่ในพื้นที่ทั้งหมดเพื่อให้พืชชนิดอื่นได้ประโยชน์ด้วย ใช้วิธีหว่านแล้วพ่นน้ำตาม

“เนื่องจากเป็นผักที่ต้องใช้ยอดขาย ดังนั้นถ้าช่วงใดที่ยอดแตกช้าจะเน้นใช้ปุ๋ยยูเรียเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ยอดแตกออกมา พอเวลา 7 วันให้หลังยอดจะแตกออกมาทันที”

ส่วนเคมีเธอเปิดเผยว่าอาจต้องใช้บ้างกรณีที่จำเป็นเพื่อป้องกันเชื้อราหรือป้องกันแมลงและหนอนเช่นไตรโคโดมาใช้กันเชื้อราขี้ไก่ตามรากและบิววาเรีย แต่ทั้งนี้ยาที่ใช้เป็นการทำเองตามแนวทางการแนะนำของเกษตรอำเภอ

ศัตรูพืชที่ทำให้เกิดความเสียหาย

คุณธนพร บอกว่า ตั้งแต่ปลูกผักกูดมาแมลงศัตรูพืชที่พบแล้วมักสร้างความเสียหายเช่นเพลี้ยไฟ ซึ่งจะเจอเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง ได้แก้ไขปัญหาด้วยการใช้ยาแลนเนท เป็นการผสมใช้แบบอ่อนมากในอัตราส่วนน้ำ 200 ลิตร ต่อยา 2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 10-20 ซีซี. ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าการใช้พ่นในถั่วหรือแตง

“อย่างบิววาเรีย ผสมกับน้ำในอัตรา 4 ถุงต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเพลี้ยไฟและหนอนส่วนไตรโคโดมา ผสมกับน้ำในอัตรา 4 ถุงต่อน้ำ 200 ลิตร แล้วใช้ฉีดพ่นป้องกันเชื้อรา เมื่อมีการฉีดยาป้องกันเพลี้ยในแถวไหนกลุ่มไหนแล้วจะยังไม่เก็บทันที จะต้องปล่อยทิ้งไว้สัก 4 วัน จึงจะเก็บ และการฉีดพ่นยาจะทำปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้าหากไม่เกิดการแพร่ระบาดจะไม่ฉีดยาเลย”

ระบบน้ำใช้สปริงเกอร์ โดยวางระยะห่างกว้าง 4 ยาว 4 เมตร ปล่อยน้ำวันเว้นวัน ครั้งละ 1 ชั่วโมง เปิดครั้งหนึ่งจำนวน 30 หัว แต่ละแปลงจะเปิดน้ำทิ้งไว้สัก 1 ชั่วโมง แล้วย้ายไปทีละแปลงวนไปจนครบ

การเก็บผลผลิตเพื่อจำหน่าย

คุณธนพร ให้รายละเอียดการทำงานว่า โดยปกติเธอและสามีจะทำงานเป็นหลักเพียงสองคนเท่านั้น ปกติถ้าใช้เวลาเก็บ 1 ชั่วโมงได้ผักกูด 10 กิโลกรัม วันใดต้องเก็บถึง 70 กิโลกรัมจะเริ่มตั้งแต่เช้า แต่ถ้าเก็บสัก 30 กิโลกรัม จะเริ่มเก็บในช่วงบ่ายไปจนถึงสักสี่โมงเย็น หรือหากลูกค้าต้องการทันทีก็สามารถเก็บให้ได้ แต่ควรมีสปริงเกอร์ฉีดพ่นให้น้ำตลอด

“หลังจากเก็บจากต้นแล้วให้มัดเป็นกอแล้วนำไปแช่น้ำทันที แช่สักครู่ประมาณ 5 นาทีห้ามแช่นานเกินไปเพราะผักจะสุกมีสีแดง จากนั้นให้เก็บขึ้นมาวางเรียงกัน ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดคลุมผักกูดที่วางเรียงกันไว้รอลูกค้ามารับ แต่ถ้าวางไว้โดยไม่คลุมผ้าผักจะเหี่ยวแล้วขายไม่ได้”

เธออธิบายต่อว่า แต่ละต้นที่เก็บยอดอ่อนที่ใช้งานออกไปแล้ว ยอดที่อยู่ติดกันซึ่งมีลักษณะโค้งงอจะเป็นยอดที่จะสามารถเก็บได้ในครั้งต่อไปอีกราว 3-4 วัน ดังนั้นผักกูดแต่ละยอดในแต่ละต้นจะเก็บเว้นระยะเวลา 3-4 วัน แต่ไม่ควรเลยวันวันที่5 เพราะจะบาน

“แต่ละต้นจะมีใบจำนวน 5 ใบ ถ้าพบใบแก่หลายใบเช่นมีจำนวนถึง 10 ใบควรตัดหรือหักทิ้งเสีย โดยไม่ต้องขนไปทิ้งที่อื่นแต่ให้ทิ้งไว้ที่บริเวณนั้นเพื่อใช้คลุมความชื้นและเป็นปุ๋ย การตัดใบแก่ออกเพื่อปล่อยให้ยอดอ่อนที่กำลังโตเจริญได้อย่างรวดเร็ว มีบางคนไม่ยอมหักใบแก่ทิ้งจึงทำให้ยอดแตกช้าและมีขนาดเล็ก”

คุณธนพร บอกต่ออีกว่า ผักกูดขยายพันธุ์ด้วยการดึงต้นอ่อนที่เธอเรียกว่าลูกที่แทงขึ้นมาจากพื้นข้างต้นแม่ออกด้วยความระมัดระวัง แล้วสามารถนำต้นอ่อนไปปลูกได้เลย ผักกูดเป็นพืชที่ตายยาก ที่สำคัญขอให้มีน้ำแล้วอย่าไปโดนแดดจัด

นอกจากนั้นยังเพิ่มเติมด้วยว่าควรมีการดูแลเอาใจใส่บริเวณที่ปลูกต้องคอยหมั่นเดินดูแล้วดึงเศษวัชพืชทิ้ง แต่ห้ามใช้มีดฟันเพราะอาจไปโดนต้นอ่อนที่กำลังแตกออกมา ทั้งนี้ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มปลูกจนกระทั่งสามารถเก็บยอดไปขายได้กินเวลาประมาณไม่เกิน 6 เดือน

เธอบอกว่า ผักชนิดนี้สามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ แต่สิ่งสำคัญควรให้น้ำอย่างเต็มที่และควรหาร่มเงาด้วย ส่วนความสมบูรณ์ของดินที่มีความเหมาะนั้นควรเป็นบริเวณพื้นที่เป็นดินทรายสัก 70 เปอร์เซ็นต์ และช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่มีผักกูดมากเมื่อผักกูดถูกฝนจะแตกยอดอ่อนกันอย่างคับคั่ง เพราะเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูงมากซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผักชนิดนี้

เก็บแล้วนำไปขายใคร ที่ไหนบ้าง

เจ้าของสวนผักกูดอธิบายถึงวิธีการเก็บการเก็บผักกูดไปขายว่าเพียงแค่เด็ดยอดที่มีความยาวจากปลายถึงตำแหน่งที่จะตัดประมาณ 30-40 เซนติเมตร จะเก็บทุกวัน และภายในอาทิตย์หนึ่งต้องมีผักกูดส่งให้ลูกค้าประมาณ 250 กิโลกรัม เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันละประมาณ 30 กิโลกรัม

“ราคาจำหน่ายจากสวนไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง อย่างปีหนึ่งๆราคาจะทรงเท่าเดิม ประมาณ 40-50 บาทต่อกิโลกรัม แต่อาจมีการปรับขึ้นบ้างในช่วงอากาศหนาวเพราะผักจะแตกยอดช้ามาก ส่วนราคาจำหน่ายของแม่ค้าประมาณ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม”

สำหรับตลาดจำหน่ายผักกูดของคุณธนพรมีด้วยกันจำนวน 3 แหล่ง คือ ร้านอาหารในรีสอร์ต,แม่ค้าในตลาดสด และแม่ค้าจากกรุงเทพฯ ซึ่งรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่าสัปดาห์ละ 250 กิโลกรัม หรือเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน และจะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท

“อย่างเมื่อก่อนยังมีผลผลิตน้อยไม่กล้ารับมากก็แค่ส่งละแวกแถวแก่งกระจานเท่านั้น แต่ภายหลังที่ได้มีการขยายพื้นที่ปลูกแล้วสามารถเพิ่มจำนวนต้นขึ้นมาอีก จึงเริ่มรับยอดสั่งจากแม่ค้าด้านนอก ถ้าคราวใดที่แม่ค้าต้องการจำนวนมากและเกินขีดกำลังการผลิตที่ทำได้ อาจต้องร่วมกับชาวบ้านที่ปลูกรายอื่นด้วย”

ปัจจุบัน คุณธนพรไม่ได้เป็นเพียงผู้ปลูกผักกูดรายหนึ่งในอีกกว่าสิบรายในพื้นที่แก่งกระจานเท่านั้น เธอยังทำหน้าที่เป็นหมอดินอาสา แล้วยังเป็นเกษตรกรที่ขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ปี 2554 ซึ่งเป็นการรับรองโดยสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กรมพัฒนาที่ดิน

เจ้าของสวนผักกูดเปิดเผยอาหารที่ร้านในรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีนำไปใช้ผักกูดปรุงเป็นเมนูยอดฮิตของลูกค้าทำให้ติดใจสั่งกันเป็นประจำ เช่น แกงส้ม ผักน้ำมันหอย ยำผักกูด หรือแม้แต่รับประทานดิบคู่กับน้ำพริกชนิดต่างๆ

“อย่างผักกูด 1 กิโลกรัมสามารถนำไปทำอาหารขายได้หลายประเภท เช่น ผัดน้ำมันหอยราคาจานละ 100 บาท ยำผักกูดจานละ 150 บาท หรืออย่างแกงส้มผักกูดหม้อละ 150 บาท”

เป็นอย่างไร…แค่เมนูตัวอย่างก็ทำให้น้ำลายไหลแล้ว อยากจะบอกว่าเมนูเด็ดอย่างนี้ถ้าจะเอาสเต็กมาแลกคงไม่ยอมแน่ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าเจ้าผักชนิดนี้ให้ประโยชน์ทั้งคนปลูกและคนกิน แต่ดูเหมือนแผงผักตามตลาดจะหาผักกูดเจอได้น้อยมาก ดังนั้นหากใครสนใจต้องการปลูกเพื่อให้แพร่ขยายทั่วไป ลองโทรศัพท์ไปพูดคุยกับคุณธนพรได้ที่ 081-4338310 เธอบอกว่ายินดีให้คำแนะนำการปลูกสำหรับผู้ที่สนใจ