พณ.ผุดเกณฑ์รับมือสงครามค้า คุมเข้มยี่ห้อต่างชาติไหลทะลักไทย

มองหาตลาดส่งออกใหม่-รุกอินเดียกระทรวงพาณิชย์มองสงครามซีเรียยังไม่กระทบไทย พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดหวั่นเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เตรียมพร้อมมาตรการรับมือ ทั้งหาตลาดส่งออกใหม่ใช้มาตรการป้องกันสินค้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้าไทย เดินหน้าทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจไทย-อินเดีย ขยายการค้าการลงทุนป้องกันความเสี่ยงจากภาวะตึงเครียด ปลื้มอินเดียสนลงทุนในอีอีซี

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรียนั้น ขณะนี้ยังไม่กระทบกับการค้าของประเทศไทย และฝ่ายความมั่นคงของไทยเองได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและคาดว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลาม ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อไทย แต่ไทยเป็นประเทศเล็ก

อาจจะได้รับผลกระทบได้หาก 2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้นของโลกมีมาตรการหรือดำเนินการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดสงครามการค้าขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการต่างๆ ปกป้องเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแล้ว อีกทั้งมองหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออก และเตรียมใช้มาตรการป้องกันไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่นๆ ไหลทะลักเข้ามาจนกระทบต่อการค้าสินค้า และอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ หากเกิดการกีดกันทางการค้า และมีสงคราม ทางการค้าเกิดขึ้นจริง

นางสาวชุติมา กล่าวว่า แนวทางหนึ่งในการเพิ่มตลาดส่งออก คือ เดินหน้าในการทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินเดีย เพื่อขยายการค้าการลงทุน รวมถึงป้องกันความเสี่ยงจากภาวะการค้าที่ตึงเครียด โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น เพราะเห็นถึงโอกาสทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวสูง และจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่ง และระบบโลจิสติกส์กับอินเดียได้ และสนับสนุนเรื่องการค้าระหว่างกัน

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ขณะที่อินเดียให้ความสนใจจะลงทุนในไทยในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ด้วย เนื่องจากมั่นใจและมองว่าไทยมีศักยภาพในการลงทุน เห็นได้จากปีที่ผ่านมาไทยและอินเดียมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 10,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 34% โดยไทยส่งออกไปอินเดียเป็นมูลค่ากว่า 6,400 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่วนใหญ่เป็นเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ โดยอินเดียเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้

นางสาวชุติมา กล่าวว่า ส่วนการลงทุนระหว่างไทยกับอินเดีย มีมูลค่ารวมกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเข้าลงทุนในอินเดียกว่า 8,144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมไปถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่และชิ้นส่วนยานยนต์

นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) เปิดเผยว่า พอร์ตสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของธนาคารยูโอบี มีมูลค่าพอร์ตรวมประมาณ 50,000 ล้านบาท มีลูกค้าประมาณ 11,000 ราย และไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10% จากเป้าสินเชื่อทั้งปีที่คาดว่าจะเติบโตในอัตราเลข 2 หลัก หรือเป็น 2 เท่าของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อเกิดให้รายได้ (เอ็นพีแอล) ตั้งเป้าหมายจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.86% และเอ็นพีแอล ใหม่ในขณะนี้อยู่ที่ 1.5%

“เอสเอ็มอียังเป็นกระดูกสันหลัง (แบ๊กโบน) ของเศรษฐกิจไทย โดยในภาพรวมมีจำนวนเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 2.7 ล้านราย สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี แต่ต้นทุนเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีหรือไอที ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงประมาณ 1 ล้านบาท เช่น ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล ระบบบัญชี การสต๊อกสินค้า เป็นต้น” นางสยุมรัตน์ กล่าว

นางสยุมรัตน์ กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารยูโอบีได้เปิดให้บริการยูโอบี บิสสมาร์ท โซลูชั่น ผ่านแอพพลิเคชั่น โดยบริการนี้จะช่วยจัดการธุรกิจอย่างครบวงจรบนคลาวด์ ซึ่งจะช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุนและประหยัดเวลาในการบริหารธุรกิจ ซึ่งมีทั้งหมด 3 แพ็กเกจ ประกอบด้วย แพ็กเกจฟรี แพ็กเกจ 300 บาท และแพ็กเกจให้บริการ 1,890 บาท โดยตั้งเป้าหมายในปีแรกนี้จะมีเอสเอ็มอีใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สหพันธ์การขนส่งฯ มีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจัยหลักคือ ปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือกรุงเทพฯ (ท่าเรือคลองเตย) ท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ส่งผลให้รถบรรทุกต้องเสียเวลา 6-10 ชั่วโมง ต่อเที่ยว และทำรอบได้เพียง 1 เที่ยว ต่อวัน ส่วนด่านชายแดนต่างๆ

โดยเฉพาะด่านอรัญประเทศ ด่านสะเดา และด่านแม่สอด ก็มีจราจรติดขัดมากขึ้น เนื่องจากการค้าชายแดนขยายตัวสูงถึง 300-400% ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้นทุนต่างๆ ของรถบรรทุกก็เพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ที่เพิ่มขึ้นทะลุ 25 บาท ต่อลิตร เป็น 26-27 บาท ต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียมก็สูงกว่า 30 บาท ต่อลิตร ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก ส่วนราคาน้ำมันเครื่อง จารบี ล้อยางก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับค่าจ้างพนักงาน

นายทองอยู่ กล่าวว่า สมาพันธ์การขนส่งฯ ได้เสนอปัญหาดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐบาลช่วยแก้ไขแล้ว โดยสมาพันธ์การขนส่งฯ มีมาตรการแก้ไขเรื่องนี้ 3 ขั้น ขั้นแรก คือ การปรับขึ้นค่าขนส่ง 1,000 บาท ต่อเที่ยว ในเส้นทางท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และไอซีดีลาดกระบัง โดยคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5-10% จากราคาเดิม ทั้งนี้ สมาพันธ์การขนส่งฯ ได้หารือกับสมาชิกทางวาจาแล้วและจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน เพื่อลงมติว่าจะปรับขึ้นค่าขนส่งหรือไม่ แต่ขณะนี้ได้แจ้งลูกค้าแล้วว่าอาจจะต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง

“หากรัฐบาลไม่แก้ปัญหาเรื่องจราจรติดขัดและราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับค่าขนส่ง 1,000 บาท ต่อเที่ยว เป็นค่าเสียเวลารอสินค้า แต่ต้องรอมติที่ประชุมสหพันธ์การขนส่งฯ อย่างเป็นทางการวันที่ 28เมษายนนี้ก่อน หากสรุปว่าจะใช้มาตรการขึ้นราคา ก็จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป” นายทองอยู่ กล่าว และว่า มาตรการขั้นที่ 2 คือ การกดดันรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาจราจรติดขัดในท่าเรือคลองเตย ท่าเรือแหลมฉบัง และไอซีดีลาดกระบัง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมก็รับทราบปัญหาดี แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจน และต้องการให้แก้ปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้เอาเปรียบคนที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย และขั้นที่ 3 อาจจะต้องออกมาประท้วง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน กลายเป็นกิจกรรมที่หลายคนชอบทำ ทั้งนี้ หน้าจอโทรศัพท์มีแสงสีฟ้า หรือ blue light ที่ส่งผลกระทบในการผลิตสารเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นสารที่ควบคุมการหลับและการตื่น ดังนั้น การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนมากกว่า 2 ชั่วโมงจะส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทได้ เนื่องจากการได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืนจะทำให้สมองคิดว่าตอนนี้เป็นเวลากลางวัน ทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสายตาอีกด้วย

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า สิ่งที่อาจตามมาหลังจากนอนไม่หลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ คือ ร่างกายอ่อนล้าในตอนกลางวัน ระบบความจำมีปัญหา ทำให้เรียนหรือทำงานขาดประสิทธิภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอันเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นด้วย เช่น การวูบหลับในขณะใช้รถใช้ถนน หรือใช้เครื่องจักร นอกจากนี้ยังทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานไม่เต็มที่ อาจเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเกิดภาวะอ้วนตามมา รวมถึงเสี่ยงในการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อช่วยในการนอนหลับอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีควรงดเล่นมือถือก่อนเข้านอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับการทำงานของดวงตาเข้าสู่การพักผ่อน หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานมือถือควรใช้อุปกรณ์ที่สามารถป้องกันแสงสีฟ้า เช่น แผ่นกรองแสงถนอมสายตาจากแสงสีฟ้า หรือแอพพลิเคชั่น Night Shift ที่ช่วยตัดแสงสีฟ้า เป็นต้น เพื่อถนอมสายตาและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

กาฬสินธุ์ – นพ. ประวิตร ศรีบุญรัตน์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวภายหลังนำรถโมบายเคลื่อนที่ (Mobile Unit Food Safety) เขตสุขภาพที่ 7 ลงพื้นที่ตรวจความปลอดภัยด้านอาหาร ในตลาดกรีนมาร์เก็ต ร.พ.กาฬสินธุ์ โดย นพ. บรรพจน์ สุวรรณชาติ ผอ.ร.พ.กาฬสินธุ์ และคณะได้ให้ความร่วมมือการเข้าเก็บตัวอย่างและตรวจหาสารเคมีพืชผัก ผลไม้ และสินค้าอื่นๆ ที่วางจำหน่ายภายในตลาดสีเขียว หรือ กรีนมาร์เก็ต ซึ่งเบื้องต้นไม่พบสารเคมีอันตราย ในสินค้าที่วางจำหน่าย ว่า ทางสสจ. จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความห่วงใย ใส่ใจสุขภาพของประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะการเลือกซื้ออาหารสด พืชผักสวนครัวต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารและรับประทาน อีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนที่จะได้เลือกซื้ออาหารสด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง คือการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ตลาดสดสีเขียว

ขณะนี้ได้เปิดตลาดในร.พ.แล้วทั้ง18 แห่ง ทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้คัดสรรผู้ประกอบการ เกษตรกรและร้านค้า ที่ได้รับสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย หรือ Clean Food Good Taste สัญลักษณ์อาหารปลอดภัยหรือ Food Safety และกาฬสินธุ์อาหารปลอดภัย KS (kalasin Food Safety)

ด้าน นพ. บรรพจน์ สุวรรณชาติ ผอ.ร.พ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตลาดกรีนมาร์เก็ตเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนของนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์, สสจ.กาฬสินธุ์, เกษตร จังหวัดกาฬสินธุ์ และภาคีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียงในเขตบริการ นอกเหนือจะเป็นตลาดอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ระยะยาวตลอดปี โดยที่ตลาด ร.พ.กาฬสินธุ์ จะเปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เกษตรกรประมาณ 10-15 ราย ต่อวัน สับเปลี่ยนมาค้าขายในพื้นที่ร.พ. และแต่ละคนยังมีรายได้ 300-1,000 บาท ต่อวัน ขณะเดียวกันในกลุ่มของผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ร.พ. ยังได้รับแรงบันดาลใจจากการเปิดตลาดในร.พ.เมื่อหายป่วยกลับมาเป็นแม่ค้าในร.พ.อีกหลายราย

วันที่ 18 เมษายน นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมแผนการหยุดกรีดยางพาราต่อเนื่องอีก 3 เดือน จำนวน 3 ล้านไร่ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นสวนยางของเกษตรกรทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมโครงการ เริ่มตั้งแต่พฤษภาคม-กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป คาดจะสามารถหยุดน้ำยางไม่ให้ออกสู่ตลาดระหว่างนี้ได้ 2 แสนตัน และเป็นผลให้ราคายางในตลาดปรับเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าไว้ที่กิโลกรัมละ 60 บาท จากราคา (วันที่ 18 เมษายน) อยู่ที่กิโลกรัมละ 49 บาท

ตามแผนการหยุดกรีดดังกล่าวความเห็นส่วนตัวต้องการให้ทำงานแบบ 2 ขา คือ 1. สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม เกิดการรวมตัวกันซื้อ-ขายยางแข่งกับผู้ส่งออกรายใหญ่ หรือเป็นเสือตัวที่ 6 ของวงการยาง กว้านซื้อยางเก็บสต๊อกรอจำหน่ายในช่วงยางราคาเพิ่มขึ้นในปลายแผนหยุดกรีด และ 2 สหกรณ์และสถาบันเกษตรกรต้องสนับสนุนให้สมาชิกหยุดกรีดยางตามจำนวนไร่ที่ร่วมสมัครใจนำมาร่วมโครงการด้วย

ทั้งนี้ ระหว่างที่สมาชิกเข้าร่วมโครงการรัฐบาลจะส่งเสริมโครงการประชารัฐเพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ชดเชยรายได้ที่หายไปจากการหยุดกรีดยาง โดยจะพิจารณาอีกครั้งว่าควรจะหยุดกรีดทีเดียวทั้ง 3 เดือน หรือให้หยุดกรีดวันเว้นวัน นอกจากนี้ภายหลังจากสภาบันเกษตรกรหรือสหกรณ์มีผลกำไรจากราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นต้องนำมาปันผลให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการด้วยเพราะถือว่าชาวสวนยางมีส่วนช่วยให้ราคายางปรับเพิ่มขึ้น

ยังมีแนวคิดเรื่องการออกบอนด์เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการหยุดกรีดยางนี้ แต่จะเป็นเท่าไรนั้นต้องหารือกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)อีกครั้ง รวมทั้งแผนการหยุดกรีดที่เหมาะสม แต่ส่วนตัวต้องการให้โครงการนี้พึ่งพิงเงินของรัฐบาลให้น้อยที่สุด อย่างการสนับสนุนให้สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์เข้ามาซื้อยางนั้น ปัจจุบันมีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้ต้องหารือกับรักษาการผู้ว่าการกยท.คนใหม่แทน นายธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการ กยท.ในปัจจุบัน หากกยท.ไม่เห็นด้วยกับแผนของผมก็ต้องพิจารณาใหม่ และมีช่องทางอื่นที่เหมาะสม เพราะกรณีราคายาง 60 บาท เป็นเป้าหมายเท่านั้นหากไม่ถึงต้องเปลี่ยนตัวเลขการชดเชยใหม่ทั้งหมด แต่คาดว่าการบริหารยางพาราที่สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ซื้อเก็บสต๊อกจะได้กำไร เพราะปัจจุบัน กทย.มีข้อมูลสต๊อกหมุนเวียนของผู้ส่งออก ทุกรายอยู่ในมือสามารถนำมาวางแผนบริหารจัดการได้ทั้งหมดตามพ.ร.บ.การยางฯ ที่ให้กยท.สามารถทำธุรกิจได้ นายกฤษฎา กล่าว

พังงา – นายสิทธิชัย ศักดา ผวจ.พังงา กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานพิธีมอบวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการเกษตร โครงการอาหารปลอดภัยเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กิจกรรมอาหารมาตรฐานอันดามัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่ทำการแปลงใหญ่โคเนื้อ มะรุ่ย ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด ว่า ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนในการพัฒนาจังหวัดพังงาเพื่อให้เกิดรูปธรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการ “เรารัก…พังงา” โดยเฉพาะด้านพัฒนาอาชีพให้แก่พี่น้องเกษตรกร

ด้าน นายพงษ์พันธ์ ธรรมมา ปศุสัตว์ จังหวัดพังงา กล่าวว่า โครงการอาหารปลอดภัยฯ เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อและแพะ ได้ทราบถึงแนวทางปรับปรุงการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน และลดต้นทุนโดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาช่วย และสามารถประกอบอาชีพอื่นเสริมได้ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ทั้งนี้ ผวจ.พังงา ได้มอบปัจจัยการผลิตให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโคและแพะ ที่จดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 7 กลุ่ม พร้อมเปิดป้ายที่ทำการกลุ่มแปลงใหญ่โคเนื้อ ตำบลมะรุ่ย

นางฝาย นันทช่วง อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มปลาร้าไฮเทค ผลิตภัณฑ์ปลาร้าโอทอป บ้านโนนปลาขาว ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวของตนยึดอาชีพทำปลาร้ามานานหลายสิบปีแล้ว โดยสืบทอดสูตรการทำ การหมัก การปรุง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นละภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จนปัจจุบันรวมตัวกันทำเป็นกลุ่ม และเป็นสินค้าโอทอปที่ได้วัตถุดิบปลาจากเขื่อนลำปาวจนขึ้นชื่อของอ.สหัสขันธ์ ทั้งนี้หลังทราบข่าวว่ามีการประกาศกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการประกาศดังกล่าว เพราะน่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานปลาร้าในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ และมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย

นางฝาย กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยและเท่าที่ดูรายละเอียดย่อยนั้น เกรงว่าอาจส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำปลาร้ารายเล็กๆ ที่ไม่ใช่โรงงานใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มปลาร้าที่เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป หรือผู้ที่ผลิตปลาร้าขายตามท้องตลาด เพราะจะสู้การขายแข่งกับระบบโรงงานใหญ่ไม่ได้ อีกทั้งยังเกรงว่าจะกระทบกับสูตรปลาร้า ซึ่งเป็นสูตรลับเฉพาะของแต่ละคน ที่สืบทอดต่อกันมา อีกทั้งสูตรการทำปลาร้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งหากมีการบังคับแจกแจงวิธีการทำอย่างละเอียดการทำตามประกาศแล้ว สูตรลับการทำปลาร้าที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจจะตกเป็นของกลุ่มนายทุนและนำเอาไปผลิตมาขายแข่งกับชาวบ้าน เหมือนกับสินค้าหลายๆอย่างที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่กลับถูกนายทุนนำเอาไปผลิตมาแข่ง ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้เส้นทางสายปลาแดกและภูมิปัญญาการถนอมอาหารของท้องถิ่นอีสานก็จะเรือนหายไป

นางฝาย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสำหรับรายละเอียดปลีกย่อยที่กำหนดในประกาศที่ระบุว่าหนังและเนื้อปลาจะต้องไม่ให้ฉีกขาดนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องที่ออกประกาศจะต้องศึกษาวิถีชีวิตคนท้องถิ่น และวิธีการทำปลาร้าอย่างละเอียดรอบครอบเสียก่อนค่อยประกาศ เพราะคำว่าปลาร้า หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าปลาแดกนั้น เป็นการถนอมอาหารเก็บไว้กิน โดยการหมัก ไม่ใช่เป็นการดอง ที่จะต้องไม่ให้เนื้อและหนังฉีกขาด อีกทั้งการหมักปลาร้าจะต้องหมักอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไป ถึงจะเป็นปลาร้า ซึ่งหนังและเนื้ออาจมีหลุดลอก หรือเนื้อยุ่ยออกมาบ้าง แต่ถ้าหมักไม่ถึง 3 เดือน จะไม่ใช่ปลาร้า และเสี่ยงมีพยาธิ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องศึกษาให้ดี

ด้านนายวรวุฒิ เอี่ยมกำแพง เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า เบื้องต้นทราบว่าประกาศที่ออกมากำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 เป็นการประกาศมาตรฐานอาหารเกษตรปลอดภัยทั่วไป ไม่ได้เป็นประกาศบังคับ ซึ่งผู้ผลิตก็สามารถผลิตปลาได้เหมือนเดิม ซึ่งการประกาศนี้ก็จะเป็นการช่วยยกระดับทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้นอีกด้วย

พ.ต.อ.สมพงษ์ ตั้งตัว ผกก สภ.ห้างฉัตร อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ร.ต.อ.รุ่งเรืองชัย อุปการะ รองสว.(สอบสวน) สภ.ห้างฉัตร รับแจ้งว่ามีคนถูกไฟฟ้าดูดตายกลางทุ่งนา ในหมู่บ้านโฮ้งทะล้า ม.11 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จึงพร้อมด้วยแพทย์ รพ.ห้างฉัตร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยเทศบาลตำบลปงยางคก รุดเข้าตรวจสอบ

ในที่เกิดเหตุพบศพ น.ส.บัวผัด อุตมา อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 30 ม.11 ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง สภาพศพนอนเสียชีวิตอยู่ข้างนาข้าว ที่เสื้อของผู้ตายมีร่องรอยถูกไฟไหม้และในตัวยังมีข้องสำหรับใส่กบใส่เขียดห้อยติดอยู่ลำตัวอยู่ โดยพบว่ารอบนาข้าวมีสายลวดราวตากผ้าล้อมรอบนายาวกว่า 30 เมตรตำรวจจึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน

จากการสอบถามเพื่อนบ้านทราบว่า เมื่อคืนฝนตกผู้ตายออกจากบ้านพร้อมไฟฉาย และอุปกรณ์จับกบ จับเขียด เพื่อไปหากบ หาเขียด มาทำอาหาร เพราะว่าฝนตกน่าจะมีกบมีเขียดจำนวนมาก กระทั่งรุ่งเช้าผู้ตายก็ยังไม่กลับบ้าน ชาวบ้านจึงช่วยกันออกตามหา จนมาพบนอนเสียชีวิตอยู่กลางทุ่งนาดังกล่าว สภาพที่ถูกไฟฟ้าดูดตายและมีสายลวดติดลำตัวอยู่

นายอินทร ศรีคำวัง อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 85 หมู่ 11 ต. ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของนาข้าวดังกล่าวซึ่งได้ปลูกข้าวเหนียวไว้กว่า 3 ไร่ ซึ่งอีก 2 สัปดาห์จะทำการเกี่ยวข้าวแล้ว แต่ที่ผ่านมามีทั้งหนู และสัตว์ต่างๆเข้ามากัดกินข้าวจำนวนมาก ทำให้นาข้าวเสียหาย ตนจึงได้นำลวดราวตากผ้ามาขึงรอบๆนาข้าวไว้ และปล่อยกระแสไฟฟ้าจากหม้อแบตเตอรี่การเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินข้าว ซึ่งได้ทำป้ายมาติดเตือนไว้แล้วไม่คิดว่าจะมีเพื่อนบ้านที่รู้จักกันมาถูกไฟฟ้าดูดจนเสียชีวิตดังกล่าว

อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ทำการสอบสวนอย่างละเอียดโดยจะได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายอินทร ในข้อหากระทำการโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า อ.ส.ค. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยู (MOU) ซื้อขายน้ำนมโค ปี 2561/62 กับสหกรณ์โคนมและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. ทุกภูมิภาคจำนวน 44 สหกรณ์/ศูนย์ ปริมาณน้ำนมดิบรวม 735 ตัน/วัน ได้แก่ พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 17 สหกรณ์ ปริมาณน้ำนมดิบที่ร่วม MOU จำนวน 357 ตัน/วัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 สหกรณ์ น้ำนมดิบ 153 ตัน/วัน ภาคใต้ 8 สหกรณ์ น้ำนมดิบ 90 ตัน/วัน ภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง รวม 11 สหกรณ์ น้ำนมดิบ 135 ตัน/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ประมาณ 7-10%

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำนมดิบล่วงหน้า เนื่องจากปริมาณนมดิบของสหกรณ์โคนม/ศูนย์ฯ และสมาชิกในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะบางช่วงอาจมีน้ำนมดิบส่วนเกินเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อผู้เลี้ยงโคนม และไลน์ผลิตของโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คทุกโรงงาน ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรเครือข่ายของอ.ส.ค. ด้วยว่า มีตลาดรองรับผลผลิตน้ำนมดิบที่แน่นอน ได้รับราคาที่เป็นธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อที่กำหนด ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงและเป็นการเตรียมรับมือปัญหานมดิบล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

“การลงนาม MOU ซื้อขายน้ำนมโคระหว่าง อ.ส.ค. กับสหกรณ์/ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ เป็นหนึ่งช่องทางที่ อ.ส.ค. เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำนมดิบล่วงหน้า 1 ปี นอกจากจะทำให้ทราบข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบของสมาชิกที่ชัดเจนแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการน้ำนมดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังได้รับน้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยสูงป้อนเข้าสู่โรงงาน ขณะที่สหกรณ์เครือข่ายและสมาชิกก็ได้รับราคาที่เป็นธรรม

โดย อ.ส.ค.ได้กำหนดราคารับซื้อ ณ หน้าโรงงาน อยู่ที่ 19 บาท/กิโลกรัม ซึ่งอาจมีการปรับลดหรือเพิ่มราคาตามคุณภาพหรือเกรดของน้ำนมดิบ เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม เรื่องมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโค พ.ศ.2558” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว
ผู้อำนวยการอ.ส.ค. กล่าวอีกว่า การรู้ข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบที่ชัดเจนล่วงหน้า ทำให้ อ.ส.ค. สามารถวางแผนรองรับวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ขบวนการแปรรูปของโรงงานนม อ.ส.ค. ทั้ง 5 แห่งได้ พร้อมจัดสรรน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตแต่ละโรงงาน และสามารถเตรียมความพร้อมด้านโลจิสติกส์ (Logistic) หรือการขนส่งน้ำนมดิบเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตนอกจากนั้น ยังสามารถเตรียมแผนด้านการตลาดให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งรายได้และผลประกอบการขององค์กรด้วย