พระมหากษัตริย์ กับการพัฒนาข้าวไทย

ข้าว เป็นธัญพืชที่คงความสำคัญต่อมวลมนุษยชาติมาช้านานแล้ว ไทยเราเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ พร้อมกันก็มีการพัฒนาจนเป็นหนึ่งของโลกในด้านนี้

นอกจากความร่วมมือของวงการข้าวเมืองไทยแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์คือแรงกระตุ้นให้ข้าวไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ก้าวหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นได้ซึมซับและอยู่ในหัวใจของคนไทยเสมอมา

ในคำนำของหนังสือ “30 ปี นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดา” บอกไว้ว่า ในปีพุทธศักราช 2504 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (เดิม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา และต่อมามีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนาว่า

“ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรจะปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

ถึงแม้เวลาจะร่วงเลยมานานแล้ว นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดาก็ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแนวการทดลองได้ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา งานเริ่มแรกใน ปี 2504 กรมการข้าว ได้ปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ในนาทดลอง และมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล นำควายเหล็ก หรือรถไถแบบ 4 ล้อ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 8.5 แรงม้า สำหรับเตรียมดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงควายเหล็กให้ได้รูปแบบที่ดี เหมาะสมกับการใช้งานและผลิตได้ในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นพระองค์ท่านทรงขับรถไถนา ควายเหล็กเพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ตลอดทั้งทรงหว่านข้าวและทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง

ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละปีจะเผยแพร่ออกสู่เกษตรกร ในวันงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีสองพิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์อีกอย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพิธีก่อนในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ที่บริเวณท้องสนามหลวง

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เรียกอย่างสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา เป็นพิธีมีมาแต่โบราณกาล ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ส่วนพระราชพิธีพืชมงคลเพิ่งมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงโปรดฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจึงได้เริ่มขึ้นแต่บัดนั้น โดยรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่ได้ประกอบพิธีนั้นก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน เป็นพิธีต่อเนื่องกัน 2 วัน

ความมุ่งหมายอันเป็นมูลเหตุของพระราชพิธีนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ว่า

“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมาแต่โบราณ เช่น ในเมืองจีนเขามีมาสี่พันปีแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงลงไถนาเองเป็นคราแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้เลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วง เพลี้ย และสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะแก้ไขและเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้า จะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง”

การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มตามรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้าย ในปี 2479 แล้วก็ว่างเว้นไป จนลุถึงปี 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่ และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของประชาชนทั้งยังให้ชาวต่างประเทศได้เห็นวัฒนธรรมและประเพณีของคนไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย และเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชประเพณีนี้สืบมามิได้ขาด

นอกจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว ยังมีพิธีมงคลอีกอย่างหนึ่งคือ พิธีทำขวัญข้าว หรือขวัญแม่โพสพ

พิธีจะมีขึ้น ณ แปลงนาทดลอง ขณะที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง เพื่อรอวันจะออกรวง ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประเพณีโบราณ ซึ่งชาวนาจะจัดพิธีทำขวัญข้าว มีการตั้งศาลแม่โพสพ ปักฉัตร 9 ชั้น ทำด้วยรวงข้าว ปักธงสีต่างๆ รอบแปลงนาข้าว ตลอดจนมีการแต่งบทร้องทำขวัญแม่โพสพ และจัดเครื่องหอมสำหรับแม่โพสพให้พร้อม มีการอาบน้ำตัดแต่งผม (ใบข้าว) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุบายอย่างหนึ่งของชาวนา เมื่อข้าวกำลังจะออกรวงก็ให้เตรียมปักธงสีต่างๆ ไว้กันนกลงกินข้าวในนา การตัดแต่งใบข้าวก็เป็นอุบายที่ว่าเมื่อต้นข้าวเจริญงอกงามแตกใบมากเกินไป เกิดอาการ เรียกว่า “เฝือใบ” ก็ให้ตัดออกให้ควายกินบ้าง เพื่อไม่ให้ต้นข้าวสูง และล้มพับ เป็นเหตุให้เมล็ดลีบ ผลผลิตลดน้อยลง เข้าหลักวิชาการสมัยใหม่เรื่องการตัดแต่งกิ่ง แทนที่ชาวนาจะตัดต้นใหญ่แต่ตัดใบข้าวแทน

ระบบนาทดลอง นายไพบูลย์ ตราชู อดีตอำนวยการสถานีวิจัยข้าวบางเขน สถาบันวิจัยข้าว กรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งข้าราชการและลูกจ้างของกรมเข้าไปสานงานอย่างสืบเนื่อง

ปัจจุบัน การปฏิบัติงานภายในรอบปีที่นาข้าวทดลองสวนจิตรลดา ได้ปลูกข้าวนาสวนและข้าวไร่ในฤดูฝน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วในช่วงฤดูแล้งได้ปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนในนาข้าว

การทำนาสวน

เป็นการปลูกข้าวแบบตกกล้าปักดำเป็นแถวในสภาพที่มีน้ำขัง เนื้อที่ประมาณ 3.6 ไร่ มีข้าวพันธุ์หลัก 8 พันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์มาตรฐานที่ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ ของประเทศ มีแปลงสาธิตแสดงพันธุ์ข้าวของรัฐบาล 48 พันธุ์ และเพื่อส่งเสริมการศึกษาทางภาคปฏิบัติเรื่องการปลูกข้าวในฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงของการปลูกข้าวนาปีนั้น ทางโครงการนาทดลองยังได้จัดแปลงนาพิเศษ สำหรับปลูกข้าวดำนาแก่นักเรียนโรงเรียนจิตรลดาเป็นประจำทุกปีการศึกษาอีกด้ว

การปลูกข้าวไร่

เป็นการปลูกข้าวแบบใช้เมล็ดหยอดในหลุมให้เป็นแถวเป็นแนว บนที่ดอนในสภาพที่น้ำไม่ท่วมขัง เนื้อที่ประมาณ 1.2 ไร่ หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว ส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก พันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกมีทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า เป็นข้าวพันธุ์ดีส่งเสริมให้ปลูกในแหล่งต่างๆ ของประเทศที่มีการปลูกข้าวไร่ ตลอดจนข้าวไร่เพื่อคนไทยในที่สูง (ชาวไทยภูเขา)

แปลงนาทดลองอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่บริเวณรอบๆ นา ยามหน้านาจะเห็นทุ่งข้าวเขียวสวยขึ้นอย่างเป็นระเบียบ บริเวณนามีต้นไม้ขึ้นอยู่ล้อมรอบ เป็นที่อาศัยของนกกา เหตุที่นกกามีอยู่มากนั้นก็เพราะเป็นที่ปลอดภัย ดังนั้น เมื่อข้าวออกรวงและแก่เก็บเกี่ยวได้ นกเป็นศัตรูสำคัญอย่างหนึ่ง

ในแปลงข้าวไร่ จะเห็นป้ายบอกชื่อข้าวแปลกๆ ไม่คุ้นตา ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านั้นมีสืบทอดมาช้านาน และเป็นพันธุกรรมชั้นยอดที่ควรแก่การเก็บรักษา รวมทั้งขยายเผยแพร่สู่วงกว้างเพื่อความหลากหลาย

ปลูกพืชหมุนเวียน

พืชหมุนเวียนที่ปลูกเพื่อการปรับปรุงบำรุงดินนั้น เป็นพืชตระกูลถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น

พืชหมุนเวียนจะปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งก็ผ่านการเก็บเกี่ยวไปแล้ว พืชหลังนาช่วยให้นาข้าวทดลองอุดมสมบูรณ์อยู่นานปี เพราะผืนดินได้ดูดซับธาตุที่เป็นประโยชน์เอาไว้

พันธุ์ถั่วก็เช่นเดียวกับพันธุ์ข้าว ที่จัดเป็น “พันธุ์ถั่วพระราชทาน” แจกจ่ายให้แก่พสกนิกรและเกษตรกรทั่วประเทศ

ดินดีขึ้น

จากการเก็บดินในนาทดลองมาวิเคราะห์ ในปี 2535 (ครบ 30 ปี ของการทำนา) ซึ่งดินนาอยู่ในสภาพน้ำขัง ในฤดูทำนาและปลูกพืชตระกูลถั่วในฤดูแล้งหลังการทำนา ค่าเฉลี่ยของดินสรุปได้ว่า การปลูกพืชตระกูลถั่วสลับกับข้าว เมื่อมีการจัดการดินที่ดีแล้ว ดินจะมีความเป็นกรด เป็นด่าง เพิ่มขึ้นจนเกือบจะเป็นกลาง คือมีความเป็นกรด เป็นด่าง 6.3-6.9 และอินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้น

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน การเพิ่มอินทรียวัตถุในดินจะมีไม่มากนัก เนื่องจากอุณหภูมิในดินสูงในเขตอบอุ่น การสลายตัวของอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในดินจะเป็นอย่างรวดเร็ว แต่การสะสมของธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะธาตุอาหารพืชฟอสฟอรัส ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัสทั้งหมด และฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินจะสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้วจะเพียงพอกับความต้องการของข้าวและพืชที่ปลูกหลังฤดูกาลทำนา เช่นเดียวกับโพแทสเซียมจะมีมากขึ้น เป็นวิทยาการที่น่าสนใจจริงๆ

นาข้าวทดลองในสวนจิตรลดา นับเป็นแปลงนาที่สมบูรณ์แบบและครบวงจร เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของสายพันธุ์ แปลงนาทดลองมีสายพันธุ์ข้าวทั้งเก่าและใหม่ที่เด่นชัดทางด้านพันธุกรรม ผ่านจากเรื่องพันธุ์มีการจัดการแปลงนา โดยเฉพาะระบบปลูกพืชหมุนเวียน (ส่วนนี้ชาวนาไทยยังขาดอยู่อย่างมหาศาล) ข้าวที่ได้เหลือจากการทำพันธุ์จะส่งเข้าโรงสี แปรรูปเป็นข้าวขายในร้านค้าโครงการส่วนพระองค์ สิ่งที่เหลือจากนาข้าวมีประโยชน์ทั้งนั้น เริ่มจากแกลบ มีโรงงานทำเชื้อเพลิงแข็งรองรับ ฟางข้าวใช้ประโยชน์ได้อย่างดี เพราะนำไปเป็นอาหารของโคนมซึ่งเลี้ยงอยู่จำนวนไม่น้อย

ฟางข้าว ที่เป็นตอซังได้รับการไถกลบก่อนที่จะมีการปลูกถั่ว ช่วยปรับโครงสร้างที่ดีให้กับดิน

แปลงนาสวนจิตรลดามีมาต่อเนื่องและยังคงมีต่อไป สิ่งที่ดำรงอยู่เป็นแบบอย่างอันประเสริฐที่เชื่อมประสานเป็นความผูกพันชิดใกล้มากที่สุด ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ และการปลูกข้าว ทำนา วัฒนธรรม ชีวิตที่อยู่คู่ชาวสยามมายาวนานและจะคงยืนยงสืบไป

ดินแดนท้องทุ่งกุลาร้องไห้ น้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ไร่นาสวนผสมตามแนวทฤษฎีใหม่ 30-30-30-10 สู่ครัวเรือนเกษตร โดย คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณฟ้าฮ่วน ปาโท นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ให้คำแนะนำ

อำเภอสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองสรวงและอำเภออาจสามารถ ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพนมไพร อำเภอหนองฮี และอำเภอโพนทราย ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอรัตนบุรีและอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเกษตรวิสัย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป และมีอาชีพเสริมอื่นๆ เช่น เลี้ยงสัตว์ รวมกลุ่มทำสินค้าหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือน มีลำน้ำสายหล่อเลี้ยงชาวบ้านคือ ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับพลา ห้วยหินลาด และลำน้ำมูล

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์ มี กู่พระโกนา หมู่บ้านกู่พระโกนา ตำบลสระคู, สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ หมู่บ้านหัวโทน ตำบลหัวโทน, สิมวัดสระเกตุ หมู่บ้านน้ำคำ ตำบลน้ำคำ, พระธาตุวัดเบญจ์ หมู่บ้านหัวโทน ตำบลหัวโทน, บ่อพันขัน หมู่บ้านตาเณร ตำบลจำปาขัน, วัดพระธาตุบ่อพันขัน หมู่บ้านหนองมะเหียะ ตำบลจำปาขัน, อ่างเก็บน้ำบ่อพันขัน หมู่บ้านตาเณร หมู่บ้านหญ้าหน่อง ตำบลจำปาขัน, พระธาตุอรหันต์โมคคัลลาน์ วัดกลาง คุ้มวัดกลาง ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ, อนุสาวรีย์ท้าวเซียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ในเขตเทศบาลตำบลสุวรรณภูมิ, ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ หมู่บ้านกู่พระโกนา ตำบลสระคู, พิพิธภัณฑ์หอยล้านปี หมู่บ้านโพนครกน้อย ตำบลสระคู, สระสี่เหลี่ยม สระสองแก ตำบลสระคู, กู่หินกอง หมู่บ้านหินกอง ตำบลหินกอง, วัดพระธาตุนาใหญ่ หมู่บ้านนาใหญ่ ตำบลนาใหญ่, วัดพระเจ้าใหญ่บ้านยางเครือ หมู่บ้านยางเครือ ตำบลเมืองทุ่ง, วัดกู่อารัมย์ หมู่บ้านดงเมือง ตำบลเมืองทุ่ง, บึงท่าศาลา หมู่บ้านกู่พระโกนา ตำบลสระคู

“สุวรรณภูมิ แดนกู่พระโกนา ทุ่งกุลาสดใส งานใหญ่บั้งไฟแสน ดินแดนวัฒนธรรม”

อำเภอสุวรรณภูมิในสมัยดึกดำบรรพ์ มิได้เรียกชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” แต่เรียกว่า “บ้านดงเมืองหาง” ซึ่งต่อมาเป็นบ้านร้างอยู่นาน เมื่อ พ.ศ. 2315 ท้าวเชียง ท้าวสูน ได้นำทองคำแท่งจำนวนมากไปถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงได้มาตั้งเมืองใหม่ที่ดงท้าวสาร ขนานนามว่า “สุวรรณภูมิ” แต่นั้นมา พื้นที่ 1,107.042 ตารางกิโลเมตร มี 3 ฤดู ฤดูร้อน เริ่มเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มเดือนมิถุนายน ถึงกันยายน ฤดูหนาว เริ่มเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธ์

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้น้อมนำ “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ” สู่ครัวเรือนเกษตรกร สู่ความสำเร็จ เกษตรกรกินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้หมด เกษตรกรมีความสุข คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ คุณฟ้าฮ่วน ปาโท นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รับผิดชอบตำบลดอกไม้ ส่งเสริมการเกษตร “ตามแนวทฤษฎีใหม่” ให้ คุณบรรลุ สีดามา บ้านเปลือย จากเดิมจัดแปลงรูปนาข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นแหล่งน้ำ ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้น เลี้ยงสัตว์ นาข้าว การเกษตรอินทรีย์ มีรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายปี จากการขายพืชผัก ขายปลา เป็ด ไก่ ขายข้าว วัว ควาย แปรรูปไม้เผาถ่านอบไร้ควัน ได้น้ำส้มควันไม้ เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช ลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชระบบน้ำหยด ลดต้นทุนการผลิต ครอบครัวมีความสุขมาก

คุณบรรลุ เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนทำการเกษตร โดยการทำนาเพียงอย่างเดียว ตนเองน้อมนำพระราชดำรัส ไร่นาสวนผสม ตามแนวทฤษฎีใหม่ ครอบครัว พอมี พอกิน เหลือกินนำไป แลก ขาย หากคนที่มีไม่พอเพียง ตนเองแจก คือแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน “ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตคือ เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ” ประชาชน เกษตรกร เข้ามาเรียนรู้จำนวนมาก ทั้งในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ตนเองยินดีแบ่งปันความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร ด้วยความยินดี

ปัจจุบัน คุณบรรลุ มีนาข้าวอินทรีย์จากการทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง จำนวน 10 ไร่ บ่อปลา 4 ไร่ พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว พริก กะเพรา ข่า ตะไคร้ ผักกาด หอม พื้นที่เลี้ยงสัตว์ปีก เป็ด ไก่เนื้อ ไก่ไข่ วัว ควาย บ้านพักอาศัย อย่างละ 2 ไร่ ครอบครัวมีความสุข มีความปลอดภัย เพราะพระองค์ท่าน

อีกประการหนึ่ง ปัญหาภัยแล้งกับข้าวนาน้ำฝน สาเหตุจากความปรวนแปรของฝนเป็นสาเหตุของภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงในฤดูกาล ทำการปลูกไม่ได้ ฝนทิ้งช่วง (ฝนหมด) ก่อนฤดูกาล ทำให้ผลผลิตสูญเสียเก็บเกี่ยวไม่ได้

การแก้ปัญหาการปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นั้น นอกจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ช่วยเหลือการทำนาของเกษตรกร เช่น เครื่องหยอดข้าว เครื่องหว่านข้าว และเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการเกษตรของเกษตรกรนำมาใช้ เพื่อปลูกข้าวทันฤดูกาลและเวลาเก็บเกี่ยวและนวดข้าวในเวลาที่เหมาะสม ทำให้คุณภาพของข้าวดีขึ้น

ในพื้นที่การปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10 ล้านไร่ และมีผลผลิตโดยรวมประมาณ 3.5 ล้านตันข้าวเปลือก ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และมีปัญหาเกี่ยวกับฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การกระจายของฝนไม่ดีและฝนมักทิ้งช่วงระหว่างฤดูปลูก การแก้ปัญหาของเกษตรกรใช้วิธีหว่านข้าวด้วยมือ

วิธีหว่านด้วยมือ หลังจากที่ไถดะทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ก็จะไถแปรหว่านข้าวแล้วคราดกลบทำให้ทำงานได้ข้าวไม่ทันฤดูกาล กล่าวคือ เกษตรกรจะหว่านข้าวไว้ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อรอฝนช่วงแรกที่โดยปกติมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่ฝนจะตกชุกช่วงหลังในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม การหว่านข้าวทิ้งไว้จะทำให้ข้าวที่คราดกลบไม่ทั่วถึงเสียหายจากการทำลายของนกและหนู ข้าวบางส่วนอาจจะงอกและแห้งตายในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ข้าวในแปลงขึ้นไม่สม่ำเสมอ มีจำนวนต้นข้าวน้อยเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวนาหว่านมีผลผลิตต่ำกว่าข้าวที่ปลูกโดยวิธีอื่น วิธีการหว่านด้วยมือที่เกษตรกรใช้ หากขาดความชำนาญก็จะหว่านไม่สม่ำเสมอ ต้องใช้เวลาในการหว่านซ้ำเพื่อให้เมล็ดกระจายทั่วถึง

การแก้ปัญหาภัยแล้ง ผู้เขียนสมัยที่เป็นผู้อำนวยการกองเกษตรวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาการปลูกข้าวนาน้ำฝนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงาน และการลดต้นทุนในการผลิต และวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าว จึงได้วิจัยเครื่องมือปลูกข้าวและออกแบบและพัฒนาเครื่องหว่านข้าวและเครื่องปลูกข้าว ผลการศึกษาและวิจัยได้เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถไถเดินตาม และเครื่องหว่านข้าวและหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการเกษตรของไทย

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถไถเดินตาม วัตถุประสงค์เพื่อใช้กับเกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรส่วนใหญ่มีรถไถเดินตามอยู่แล้ว โดยออกแบบเครื่องหยอดให้สามารถพ่วงรถติดไถเดินตามที่มีเกียร์บีบเลี้ยว ความสามารถทำงาน 1-2 ไร่ ต่อชั่วโมง ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 8-12 กิโลกรัม ต่อไร่ หยอดได้ 4 แถว ความห่างระหว่างแถว 25 เซนติเมตร เครื่องนี้เหมาะสมกับดินร่วนปนทราย ดินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใช้ในการทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวได้ดี เพราะสามารถถอนแยกข้าวปนได้ง่าย ถ้าเป็นดินเหนียวจะต้องย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก หรือใช้รถโรตารี่ตีดินให้ย่อยดินเวลาหยอดเมล็ดจะลงในดินสม่ำเสมอ และควรหยอดข้าวในเวลาดินแห้ง รอฝนมา เช่น ปลายเมษายน หรือต้นพฤษภาคม และเมื่อหยอดเมล็ดข้าวจะอยู่ในดินไม่เกิน 1 เดือน เมล็ดข้าวก็ไม่ตายสามารถงอกอยู่ได้เมื่อได้รับน้ำฝน และควรหยอดให้ลึกใต้ดินประมาณ 10 เซนติเมตร ทำให้ต้นโตเร็ว และได้รับน้ำฝนต่อมาจนต้นแข็งแรง เนื่องจากรากหยั่งลึกในดินการหาอาหารได้ดี ทำให้ลดความเสี่ยงจากการตายน้อยลง ถึงแม้กระทบแล้ง

วิธีการใช้เครื่องหยอด การเตรียมดินต้องดี

การเตรียมดินสำหรับใช้เครื่องหยอดจะต้องประณีต ให้ก้อนดินเป็นก้อนเล็กๆ โดยการไถดะ 1 ครั้ง และไถแปร 1 ครั้ง และคราดเพื่อปรับหน้าดินให้เรียบและปรับแปลงให้ลาดเท เพื่อเวลาฝนตกน้ำจะไม่ขังแปลง การเตรียมดินดีทำให้การหยอดเมล็ดข้าวสม่ำเสมอและความลึกของเมล็ดข้าวอยู่ในระดับเดียวกัน เวลาข้าวงอกจะขึ้นมาสม่ำเสมอ

ได้ทดสอบการหยอดข้าวด้วยเครื่องกับวิธีการปักดำของเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน จำนวน 5 แปลง แสดงให้เห็นว่า เครื่องหยอดข้าวได้ผลผลิตใกล้เคียงกับการปักดำ แต่เปรียบเทียบกับการลงทุนแล้ว การปักดำของเกษตรกรใช้ต้นทุนสูงอยู่มาก ตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมกล้า ถอนกล้า และการปักดำ แต่การหยอดด้วยเครื่องหยอด ใช้คนๆ เดียว ความสามารถในการหยอด 1-2 ไร่ ต่อชั่วโมง ใช้เมล็ดพันธุ์ 10-12 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับการหว่านด้วยคนแล้ว เครื่องหยอดให้ผลผลิตดีกว่ามาก

การเผยแพร่การใช้งาน

ผู้เขียนได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร จังหวัดมหาสารคาม ฝึกอบรมและสาธิตการใช้งานของเครื่องหยอดข้าวกับกลุ่มเกษตรกร หลังจากการสาธิตและการใช้งานจริง กลุ่มเกษตรกรได้สั่งซื้อเครื่อง จำนวน 20 เครื่อง เพื่อใช้ในฤดูต่อไป

เครื่องนี้ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับโล่เชิดชูเกียรติรางวัลชมเชย จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2548 และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านเกษตรศาสตร์ และอุตสาหกรรมการเกษตรระดับชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2550

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ขนาดต้นกำลัง 60-70 แรงม้า หยอดได้ 10 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 25 เซนติเมตร ลักษณะการหยอดเป็นการหยอดโดยเป็นแถว ความสามารถในการทำงาน 3-6 ไร่ ต่อชั่วโมง วันหนึ่งจะหยอดได้ 50-60 ไร่ อัตราเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเครื่องประมาณ 45,000 บาท อีกขนาดหนึ่งขนาดต้นกำลังไถ 24 แรงม้า ความสามารถในการทำงาน 3-4 ไร่ ต่อชั่วโมง ราคาประมาณ 28,000 บาท

สม่ำเสมอ เครื่องมีข้อดีจะหยอดเป็นแถวเป็นแนว การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะสามารถกำจัดวัชพืชระหว่างแถวได้สะดวก และสามารถแยกข้าวปนได้ง่าย เหมาะสำหรับทำแปลงเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรรายใหญ่ นอกจากใช้เครื่องหยอดทำงานได้เร็วเมื่อหยอดข้าวในแปลงนาของตนเองเสร็จแล้ว ยังสามารถนำไปรับจ้างหยอดข้าวในแปลงนาอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการใช้งานที่คุ้มค่าและเป็นการลดต้นทุนแก่เกษตรกรเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องมาซื้อเครื่องใช้เป็นของตนเอง แต่ถ้าซื้อเครื่องแบบนี้จากต่างประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาท แต่ราคาในบ้านเรา 40,000-50,000 บาท เท่านั้น ได้ทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตการปลูกข้าวโดยใช้เครื่องหยอดกับวิธีปักดำของเกษตรกร (ผลตาม ตารางที่ 2) ผลผลิตของเครื่องหยอดข้าวใกล้เคียงกับการปักดำ ต้นทุนการปลูกถูกกว่ากันมาก ไม่ต้องเตรียมกล้า ถอนกล้า แยกกล้า ใช้แรงงานคนปักดำเป็นการลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างดี

สรุปการใช้เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ วัตถุประสงค์สำหรับเกษตรกรรายใหญ่หรือใช้รับจ้างหยอด ในการปลูกข้าวแห้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคกลาง เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการปลูกข้าวและลดความเสี่ยงในการที่ฝนทิ้งช่วง ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการผลิตข้าวในด้านการใช้แรงงานและลดจำนวนเมล็ดพันธุ์แล้ว จะทำให้ปลูกข้าวได้เร็วขึ้นทันเวลาและฤดูกาล เมล็ดข้าวจะได้รับการโรยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อข้าวเติบโตจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง จะให้ผลผลิตสูง ทันเวลาในช่วงฝนที่เหมาะสม และนอกจากนี้เครื่องนี้เหมาะสมสำหรับแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากการหยอดจะโรยเมล็ดเป็นแถวเป็นแนว เมื่อต้นขึ้นจะเป็นแถวง่ายในการถอนข้าวปน และการกำจัดวัชพืช

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ คุณสมบัติดีเด่นของสิ่งประดิษฐ์

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ สามารถใช้กับรถแทรกเตอร์ 24 แรงม้า เป็นต้นไปถึงต้นกำลัง 60-70 แรงม้า และขนาดจานพรวนตั้งแต่ผาลพรวน 5 จาน เป็นต้นไป และความยาวของโครงผาลไถตั้งแต่ 125 เซนติเมตร เป็นต้น การใช้งาน ใช้ติดตั้งบนโครงผาลพรวน อัตราการหว่านสามารถปรับอัตราการหว่าน ตั้งแต่ 15-30 กิโลกรัม ต่อไร่ (ความต้องการของเกษตรกร)

ความสามารถในการหว่านขึ้นอยู่กับขนาดต้นกำลังของรถแทรกเตอร์ สภาพพื้นที่และรูปร่างของพื้นที่ที่จะหว่าน ความสามารถในการทำงาน 30-40 ไร่ ต่อวัน การทำงานจะหว่านและกลบเมล็ดข้าวในขั้นตอนเดียวกันกับการไถพรวน ราคาเครื่องประมาณ 14,000 บาท เครื่องนี้ได้รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2555

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ถังใส่เมล็ดข้าว อุปกรณ์กำหนดเมล็ดข้าว ท่อนำเมล็ดข้าว จำนวน 4 ท่อ ล้อขับเพลา แผ่นกระจายเมล็ด การใช้งานจะประกอบเครื่องหว่านข้าวติดตั้งบนโครงจานพรวน โดยให้ท่อนำเมล็ดข้าวอยู่หน้าจานพรวน และแผ่นกระจายเมล็ดข้าวประกอบติดรถไถ

การทำงานเมื่อรถวิ่ง ล้อขับจะหมุนและส่งกำลังผ่านชุดเฟืองโซ่ยังเพลากำหนดเมล็ดให้หมุน และเมล็ดข้าวจะไหลลงตามท่อเมล็ด 4 ท่อ เมล็ดข้าวจะตกระทบแผ่นกระจายเมล็ดซึ่งอยู่ตรงปลายท่อ ทำให้เมล็ดข้าวกระจายอย่างสม่ำเสมอบนพื้นดิน ในขณะเดียวกันจานพรวนจะพรวนกลบเมล็ด การใช้งานจะลดขั้นตอนการทำงาน โดยจะรวมการหว่านและกลบในขั้นตอนเดียวกัน การกระจายของเมล็ดข้าวสม่ำเสมอกว่าคนหว่าน เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์ความสามารถปลูกข้าวได้เร็วขึ้นและทันฤดูกาล ความสามารถในการหว่าน 4-5 ไร่ ต่อชั่วโมง อัตราเมล็ดพันธุ์สามารถปรับได้ ตั้งแต่ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ถึง 30 กิโลกรัม ต่อไร่ (ตามความต้องการของเกษตรกร)

การทำงาน

ทำงานได้เร็ว วันละ 30-40 ไร่ การกระจายของเมล็ดข้าวสม่ำเสมอ เมล็ดข้าวฝังลึกลงในดินและมีความสม่ำเสมอ การกลบเมล็ดข้าวได้ทั่วถึง ทำให้ปลอดภัยจากนก หนู การหว่านข้าวจะฝังลึกลงในดินและสม่ำเสมอกว่าการหว่านด้วยคน ทำให้ระบบรากแข็งแรงทำให้ต้นข้าวตั้งตัวเร็วขึ้น และระบบรากหยั่งลึก จึงทำให้สามารถดูดน้ำใต้ดินได้ลึกและธาตุอาหารได้ดีกว่าวิธีหว่านโดยใช้แรงคนซึ่งรากจะอยู่ตื้นกว่า

สรุปการใช้เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์ วัตถุประสงค์สำหรับเกษตรกรรายใหญ่หรือใช้ในการรับจ้างหว่านข้าวในการปลูกข้าวแห้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดต้นทุนในการปลูกข้าวและลดความเสี่ยงในการที่ฝนทิ้งช่วง ทำงานได้รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการผลิตในด้านการใช้แรงงานและเมล็ดพันธุ์แล้ว ยังจะช่วยให้ปลูกได้เร็วขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวจะได้รับการหว่านอย่างสม่ำเสมอ เมื่อข้าวเติบโตขึ้นจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง ทันเวลาในช่วงฝนที่เหมาะสม และสามารถหว่านข้าวรอฝนได้โดยเริ่มหว่านตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน

และควรเกินมิถุนายน สมัคร GClub เนื่องจากฝนจะตกชุก เครื่องไม่สามารถลงในแปลงนาได้ การหว่านข้าวเร็วจะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและตั้งตัวได้ดี เนื่องจากได้รับน้ำฝนช่วงแรกของฝน และได้รับน้ำฝนต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะกระทบฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงลงในการปลูกข้าว และลดต้นทุนในการปลูกข้าว ซึ่งเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการปลูกข้าวนาน้ำฝนของเกษตรกร นอกจากนี้ เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์เป็นวิทยาการใหม่ ไม่มีใครคิดมาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่านอกจากจะใช้ในประเทศไทยได้ดีแล้ว สามารถปรับใช้ในประเทศอาเซียนได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ การสร้างเครื่องง่าย ราคาถูก เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ได้ และเป็นการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรรายใหญ่