พริกขี้หนูหรือพริกขี้หนูสวน มีพริกขี้หนูสวนเม็ดใหญ่กับพริกขี้หนู

สวนเม็ดเล็ก ขนาดเม็ดหรือผล กว้าง 1 ส่วน 3 ถึงครึ่งเซนติเมตร ยาว 1 ถึง 5 เซนติเมตร มีหลายชนิด มีทั้งเม็ดเล็ก ยาว ชื่อจินดายอดสน ช่อไสว เม็ดอ้วน สั้น ชื่อหัวเรือ หรือบางที เรียกกันตามขนาดว่า พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ พริกขี้หนูเม็ดเล็ก ส่วนพริกขี้นก เป็นพริกที่มักขึ้นตามที่โล่งบ้าง ส่วนใหญ่ขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่ คงเป็นเพราะนกชอบเกาะพักผ่อนย่อยอาหาร และถ่ายมูล ก็คงไปจิกกินพริกสุกแก่ กลืนลงท้องด้วยความเอร็ดอร่อย เม็ดพริกติดมูลออกทิ้ง ขึ้นเป็นต้นใหม่ด้วยความบังเอิญ ถึงเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์นัก

คุณค่าทางอาหารที่พริกมีอยู่ ใน 100 กรัม หรือ 1 ขีด พริกให้พลังงานเยอะมาก ถึง 55 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 5.2 กรัม ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม แคลเซียม 4 มิลลิกรัม เหล็ก 1.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 2417 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.29 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม วิตามินซี 44 มิลลิกรัม ไนอะซิน 105 มิลลิกรัม และมีสารอาหารที่มีคุณค่าอีกหลายอย่าง ที่สะสมผสมรวมอยู่ในพริก

พริก สามารถนำมาเป็นผัก ประกอบอาหาร หรือนำมาเป็นส่วนผสมเครื่องปรุงแต่งรส สีสัน ได้แก่ ใบอ่อน ยอดพริก เป็นผัก แกงแค แกงป่า แกงเลียง ลวกนึ่งจิ้มน้ำพริก หั่นชุบแป้งทอดรสชาติดี เม็ดหรือลูก หรือผลพริก นอกจากเป็นผักประกอบอาหารการกินแล้ว นับได้ว่าเป็นสมุนไพรชั้นเยี่ยม ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีสรรพคุณขับลม ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด ลดอาการเจ็บปวด ขับเหงื่อช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยอาหาร เป็นเครื่องชูรส จริงอยู่ ที่ว่าน้ำพริกเป็นสัญลักษณ์ของความจน ยากจนข้นแค้นไม่มีอาหารการกินที่ดี ข้าวสุกจาน น้ำพริกถ้วย คลุกข้าวหลอกล่อให้กลืนผ่านลงคอ น้ำครึ่งขันก็อิ่มท้อง คนจึงมีแรงทำงานหนัก หาเลี้ยงชีพต่อไปได้

ตัวตนของพริก ที่แท้จริง ความเผ็ดร้อนของสารที่เป็นส่วนประกอบในพริก เวลานำมาประกอบอาหาร พริกเม็ดใหญ่ เอาเม็ดออก เอาแต่เปลือกและเนื้อ ประกอบอาหารจะได้ความเผ็ดน้อยถึงปานกลาง พริกประเภทพริกชี้ฟ้า พริกแจวเม็ดเล็ก รสเผ็ดจัด แช่น้ำหรือต้ม จะลดความเผ็ดได้บ้าง พริกขี้นกขี้หนู เผ็ดจัดแบบธรรมชาติในตัวของมันเอง ก็นำมาทำกับข้าวแบบ ลดปริมาณ ให้ส่วนผสมอื่นช่วยตัดกลืนรส เช่น ความเค็มของกะปิ น้ำปลา ความร้อนของกระเทียม ความเปรี้ยวของมะนาว ความหวานของน้ำตาล ผงชูรส มาบูรณาการกันในครก ตักใส่ถ้วยใบเล็ก คลุกข้าวร้อนๆ มื้อเย็นนี้ มีปลาทูทอดสักตัว แตงกวาอ่อนสัก 2-3 ลูก หรือชะอมไข่ทอด หั่นเป็นชิ้นๆ ข้าวน้ำพริกกะปิ เชิญชวนรับอาหารมื้อเย็นนี้พร้อมหน้ากันนะครับ พี่น้องผองเพื่อน

คุณทศพร เขมาชะ อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสาววัย 26 ปี ที่มีหัวใจรักงานเกษตร ได้เรียนรู้และปลูกฟักแม้วจนประสบผลสำเร็จ นำผลผลิตที่ได้ส่งเข้าโครงการหลวงเป็นอาชีพที่ทำเงินให้กับเธอได้เป็นอย่างดี

คุณทศพร สาวเหนือผู้มากด้วยรอยยิ้ม เล่าให้ฟังว่า เมื่อจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว ก็ได้มาช่วยทางบ้านทำงานด้านการเกษตร เพราะอาชีพทางด้านนี้เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงและทำเงินให้กับครอบครัวของเธอ ซึ่งตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กก็จะเห็นคุณพ่อกับคุณแม่ทำสวนปลูกพืชผักมาอย่างยาวนาน ต่อมาเมื่อเจริญวัยจนสามารถทำงานได้ สิ่งที่พบเห็นเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด จึงทำให้ได้มาจับอาชีพทางด้านนี้

“ช่วงนั้นเราก็มีแผนที่จะเรียนต่อ แต่ด้วยความที่ต้องอยู่กับพ่อกับแม่ ก็เลยไม่อยากไปที่ไหนไกลๆ บ้าน เลยคิดว่าอาชีพที่ทำงานอยู่กับบ้าน ก็เป็นอาชีพที่สร้างเงินได้เหมือนกัน และที่สำคัญเรายังสามารถดูแลคนที่เรารักได้ ก็เลยยิ่งไม่อยากจะออกไปทำงานไกลจากที่บ้าน มีบางครั้งบางคนถามว่าน้อยใจไหม ก็ตอบอย่างภาคภูมิใจว่า ไม่เสียใจในสิ่งที่เราเลือก เพราะเราอยากทำงานทางด้านนี้มากกว่า มันมีอิสระ ได้เป็นนายตัวเองและที่สำคัญทำได้มาก เราก็ได้เงินมากตามไปด้วย” คุณทศพร เล่าถึงที่มาของการได้ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร

ซึ่งที่บ้านของเธอมีผักหลากหลายชนิดที่ปลูก แต่ผักที่รับผิดชอบและทำจนชำนาญหรือเรียกได้ว่าเป็นตัวยงในเรื่องนี้ คือ การปลูกฟักแม้ว เพราะเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการ จึงทำให้เธอสนใจและปลูกอย่างจริงจังจนเป็นรายได้เลี้ยงตัวเอง หรือเรียกง่ายๆ ว่า อาชีพที่สร้างเงินและเก็บออมให้กับเธอได้อีกด้วย

การปลูกฟักแม้วให้ได้ยอดงามๆ นั้น คุณทศพร บอกว่า ในขั้นตอนแรกจะเตรียมแปลงปลูกด้วยการไถพรวนดินเสียก่อน จากนั้นยกร่องให้แปลงมีความสูงเล็กน้อย โดยแต่ละสันร่องของแปลงปลูกมีระยะห่าง อยู่ที่ 1.50 เมตร จากนั้นนำปุ๋ยคอกและปุ๋ยขี้ไก่มาใส่ลงคลุกเคล้าให้ทั่วแปลง วันต่อมาสามารถนำเมล็ดมาปลูกได้ทันที

โดยเมล็ดที่ใช้ปลูกจะเป็นเมล็ดที่ได้จากผลแก่ของฟักแม้วที่เก็บไว้ เมื่อเตรียมแปลงพร้อมปลูกแล้ว จึงนำเมล็ดลงมาหยอดภายในแปลง ให้แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 1 คืบ ผ่านไปได้ประมาณ 7 วัน เมล็ดที่ปลูกไว้จะเริ่มงอกออกมาให้เห็นใบอ่อน จึงค่อยๆ หาไม้มาปักเพื่อสร้างเป็นร้านให้ฟักแม้วเกาะ จากนั้นเมื่อต้นฟักแม้วมีอายุได้ประมาณ 1 เดือน จึงใส่ปุ๋ยเม็ดอินทรีย์เพื่อเป็นการบำรุงต้นให้มีการเจริญเติบโตมากขึ้น

“ช่วงแรกที่เริ่มปลูกก็รดน้ำแค่ช่วงเช้าอย่างเดียว เพราะที่นี่อากาศค่อนข้างชื้น ไม่จำเป็นต้องรดน้ำมาก เมื่อฟักแม้วได้อายุประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทุก 2 อาทิตย์ครั้ง ใส่ประมาณ 1 กำมือ ต่อต้น จากนั้นเมื่อเห็นต้นเริ่มเจริญเต็มที่ จะค่อยๆ เปลี่ยนจากรดน้ำมาเป็นให้วันเว้นวัน เมื่อฟักแม้วได้อายุอยู่ที่ 2 เดือน ก็สามารถเริ่มเก็บผลผลิตขายได้” คุณทศพร บอก

เมื่อสามารถตัดยอดจำหน่ายได้แล้ว คุณทศพร บอกว่า จะเก็บแบบวันเว้นวันเพื่อให้ได้ยอดใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ และช่วงที่ว่างจากการตัดยอดจะหาเวลาว่างมากำจัดวัชพืชออก พร้อมทั้งดูแลเรื่องโรคด้วยการป้องกันฉีดพ่นด้วยชีววิธี คือ การใช้เชื้อราบิวเวอเรีย และไตรโคเดอร์มา เข้ามาช่วย นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้วยังปลอดภัยทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูกอีกด้วย

ต้นฟักแม้วที่ปลูกเมื่ออายุครบประมาณ 1 ปี คุณทศพร บอกว่า จะรื้อทิ้งทั้งหมดและย้ายไปปลูกตรงตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่เดิม ทำหมุนเวียนอยู่อย่างนี้เสมอ เพื่อไม่เป็นการสะสมโรคของพื้นที่ปลูก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อส่งจำหน่ายผลผลิตทั้งหมดภายในสวนนั้น คุณทศพร บอกว่า ไม่ได้มีความกังวลในเรื่องนี้มากนัก เพราะครอบครัวของเธอทำสวนมาหลายสิบปี โดยตลาดที่ส่งจำหน่ายหลักๆ จะเป็นโครงการหลวงที่เป็นศูนย์อยู่ใกล้บ้าน โดยเมื่อเจอปัญหาต่างๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ของโครงการหลวงคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ผักทุกชนิดที่ปลูกมีความปลอดภัยไม่ใช่เฉพาะฟักแม้วเพียงอย่างเดียว ผักชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

โดยฟักแม้วที่เธอแบ่งปลูก 1 ไร่ สามารถเก็บยอดส่งจำหน่ายได้ 30-50 กิโลกรัม ต่อวัน ช่วงที่ให้ผลผลิตมากที่สุดจะเป็นช่วงฤดูฝน และช่วงที่ให้ผลผลิตน้อยจะเป็นช่วงหน้าแล้งที่บางครั้งได้น้อยสุดอยู่ที่ 20 กิโลกรัม ต่อวัน

“ราคาขายที่ส่งให้กับโครงการหลวง ก็จะอยู่ที่ 28 บาท ต่อกิโลกรัม โดยทางศูนย์จะเป็นผู้กำหนดราคาให้ บางช่วงที่ผลผลิตมีน้อย ราคาก็จะเกิน 28 บาท แต่ส่วนมากจะยืนพื้นอยู่ที่ราคานี้ ถึงจะเก็บวันเว้นวัน แต่ผลผลิตที่ออกมาค่อนข้างสมบูรณ์ บวกกับมีการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ ก็ได้ผลกำไรที่สามารถนำเงินมาเก็บออม และใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้” คุณทศพร บอก

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำเกษตร แต่ยังไม่กล้าที่จะลงมือทำ คุณทศพร แนะนำว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้องทดลอง ถึงแม้จะมีเวลาน้อยแต่ถ้าชื่นชอบในการทำเกษตร ก็จะยิ่งช่วยให้มีความสุขเหมือนได้พักผ่อน ต่อไปถ้าสิ่งที่ทำให้ผลผลิตมากและมีตลาดที่แน่นอนอยากมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ก็สามารถลาออกจากงานประจำมาทำเกษตรที่ชอบ เพราะไม่ได้มีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวโดยที่ไม่ต้องจากบ้านไปไหนไกล

“สำหรับตัวเราเองชอบงานทางด้านนี้ เพราะไม่ชอบงานที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ชอบที่จะถูกบังคับจากการทำงานในบริษัทใหญ่ ชอบที่จะเป็นนายตัวเองมากกว่า เพราะเราเหนื่อยเราก็หยุดพักได้ เราอยากได้เงินมากๆ เราก็ทำให้มากขยันให้มาก โดยที่ตัวเราเองสามารถกำหนดในเรื่องของรายได้เราเอง แต่ก่อนที่จะลงมือ ต้องศึกษาให้ดีเสียก่อน เพราะบางครั้งใจรักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องศึกษาให้มากๆ เพราะทุกอย่างมีเงินลงทุนทั้งนั้น เมื่อประสบผลสำเร็จดีแล้วสิ่งต่างๆ ที่เราหวังก็จะได้ตามมาเอง” คุณทศพร แนะนำ

นายหมี่รัน ขำนุรักษ์ เลขานุการกลุ่มผู้เลี้ยงโค อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังเกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) ในโคเนื้อและโคพื้นบ้าน จ.พัทลุง อย่างหนัก โดยมีโคเนื้อและโคพื้นบ้านติดโรคไม่ต่ำกว่า 500-600 ตัว มีลูกโคเสียชีวิตประมาณ 30 ตัว ส่งผลให้ตลาดหลักที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิเสธไม่นำเข้าเนื้อโคเนื้อ รวมถึงโคพื้นบ้านที่มีชีวิต ตลาดโคเนื้อ โคพื้นบ้าน และเนื้อชำแหละจาก จ.พัทลุง 1-2 เดือนแล้ว จากปกติส่งไปขายประมาณ 100 ตัว/วัน

คิดเป็นเม็ดเงินสูญหาย วันละ 2 ล้านบาท หรือ 90 ล้านบาท/เดือนแล้ว และมีแนวโน้มเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลให้กลุ่มผู้เลี้ยงโค อ.ตะโหมด ซึ่งมีสมาชิกผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคพื้นบ้านกว่า 100 ตัว เร่งดำเนินการป้องกัน เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อยยังแพร่ระบาดมาไม่ถึงพื้นที่ อ.ตะโหมด อ.กงหรา จ.พัทลุง ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ และกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคพื้นบ้าน ร่วมมือกันวางมาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลรักษา โดยยุติการเคลื่อนย้ายสัตว์ที่สามารถแพร่โรคได้ เนื่องจากราคาโคแต่ละตัวเฉลี่ยมีตั้งแต่ระดับราคา 10,000-20,000 บาท ถึง 50,000 บาท ต่อตัว

“โรคปากและเท้าเปื่อยแพร่ระบาดมาประมาณ 2 เดือนแล้ว ยิ่งช่วงนี้ฝนตกต่อเนื่อง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับโรค ยากที่จะรักษา และจะต้องรักษายาวนาน ตอนนี้ผู้เลี้ยงต่างตื่นตัว จึงขอให้อย่าปกปิดข่าว บอกความจริง เพื่อหามาตรการป้องกัน มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก โดยสาเหตุเกิดจากช่วงที่ผ่านมามีการลักลอบนำโคจากภาคกลางมาที่ จ.พัทลุง ดังนั้น จังหวัดจะต้องเน้นหนักในการตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดขยายผลลุกลาม และจะต้องดูแลพ่อค้าวัวให้ดี”

แหล่งข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ระดมเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จากทุกอำเภอ ประมาณ 100 นาย เข้าดูแลรักษาฉีดวัคซีนโคที่เกิดเป็นโรคปากเท้าเปื่อยที่ อ.เมือง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง โดยประมาณ 500-600 ตัว คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือ สภาพภูมิอากาศด้วย หากฝนไม่ตกต่อเนื่อง อุณหภูมิเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน จ.พัทลุง มีโคเนื้อ โคพื้นบ้าน และโคนม รวมกันประมาณ 70,000 ตัว

“ปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรคปากเท้าเปื่อยที่เกิดประสิทธิภาพ จะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เลี้ยง พ่อค้าโค ในการเคลื่อนย้าย และขณะนี้ทางจังหวัดพัทลุงได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนย้ายโค จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันและรักษาโรคปากเท้าเปื่อย”

นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้แปรรูปยางพารารมควันภาคใต้ ซึ่งมีเครือข่ายประมาณ 200 โรง เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางพาราได้ขยับขึ้นมา วันละ 1 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งในกลุ่มมีการรับซื้อน้ำยางสดอยู่ที่ 36 บาท/กก. ซึ่งเดิมเคยประมาณการไว้ว่าราคาจะไหลลงมาอยู่ที่ 25 บาท/กก.

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ดันราคาขึ้นมาจากการที่รัฐบาลมีโครงการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มขึ้น เช่น โครงการนำน้ำยางสดมาทำถนนถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ หรือถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร กว่า 84,000 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ประกอบกับภาคใต้มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ และอีก 3 เดือนข้างหน้าจะถึงฤดูกาลปิดหน้ายาง ซึ่งจะทำให้ยางพาราหดหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมาก

“ทิศทางในปีถัดๆ ไป จึงมีแนวโน้มราคายางพาราจะขยับขึ้น จากนโยบายการเพิ่มใช้ยางพาราภายในประเทศ หากราคาได้ขยับขึ้นไปเท่ากับต้นทุนการผลิตที่ 63 บาท/กก. ตามที่ทางการกำหนด จะเป็นการดีมากต่อเศรษฐกิจไทย”

นายเรืองยศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางกลุ่มชาวสวนยางพารากำลังดำเนินการ กรณีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ ปรากฏว่ากรณีสวนยางพาราที่โดนเป็นมรดกกับบุตร โดยบุตรไม่ได้ขึ้นทะเบียนสวนยางพาราไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งผลให้จะไม่ได้สิทธิ์รับการสนับสนุนช่วยเหลือ 1,800 บาท/ไร่ โดยจะทำอุทธรณ์ให้ผู้ได้รับมรดกได้รับสิทธิ์ตรงนี้

ด้าน นายดรีน ช่วยพริก เกษตรกรชาวสวนยางพารา บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขอเสนอแนะต่อทางการและพรรคการเมือง ทำแผนการเกษตรโดยการจัดโซนนิ่งแต่ละภาค โดยภาคเหนือทำการเกษตร เช่น ปลูกองุ่นและลำไยเป็นหลักสำคัญ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าว และภาคใต้ทำสวนยางพาราเป็นหลักสำคัญ ทั้งนี้โดยศึกษายึดรูปแบบการจัดทำผังเมือง

“มติชน ทีวี-Matichon TV” รับรางวัล Gold Button สําหรับช่องบน YouTube ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้าน Subscribers พร้อมเดินหน้าผลิต วิดีโอ คอนเทนต์ เนื้อหาเข้มข้น ทั้งในรูปแบบคลิปข่าว, รายการข่าว, ถ่ายทอดสด ส่วนช่องข่าวสด-Khaosod TV ซิวรางวัล Silver Button หลังยอดทะลุ 100,000 Subscribers

นายปราปต์ บุนปาน ผู้จัดการกลุ่มสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัท YouTube ได้มอบรางวัล Gold Button ให้กับช่อง มติชน ทีวี-Matichon TV ในฐานะที่เป็นช่องบนแพลตฟอร์ม YouTube ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน (1 ล้าน Subscribers)

ทั้งนี้ มติชน ทีวี-Matichon TV เป็นส่วนหนึ่งในช่องทางนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อดิจิทัลบน YouTube ตั้งแต่ วันที่ 13 ม.ค. 2555 ในรูปแบบวิดีโอคลิปข่าว, รายการข่าว, สัมภาษณ์พิเศษ, สกู๊ป-รายงานพิเศษ ครอบคลุมเนื้อหาทั้งในด้าน การเมือง เหตุการณ์ทั่วไป บันเทิง-กีฬา ข่าวภูมิภาคน่าสนใจจากทั่วประเทศ เนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญ ฯลฯ

จากการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพิ่มความเข้มข้นของเนื้อหาให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้ชม ทำให้จำนวนผู้ติดตาม (Subscriber) เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ก็มียอดทะลุ 1 ล้าน Subscribers และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นมากกว่า 1.5 ล้าน Subscribers ในเดือน ธ.ค. 2561 จนได้รับรางวัลจาก YouTube ในที่สุด

คนดูกลุ่มใหญ่ที่สุดของ Matichon TV มีอายุ 25-34 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 18-24 ปี และกลุ่มอายุ 35-44 ปี ตามลำดับ ในภาพรวม กลุ่มคนดูส่วนใหญ่ 62% เป็นผู้ชาย และ 38% เป็นผู้หญิง

ในโอกาสเดียวกัน ช่องข่าวสด-Khaosod TV ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอเนื้อหาข่าวผ่านสื่อดิจิทัลของหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” นอกเหนือไปจากการมีฐานผู้ติดตามอย่างเข้มแข็งผ่านเว็บไซต์ข่าวสด, เพจเฟซบุ๊กข่าวสด ก็ได้รับรางวัล Silver Button หลังมียอด Subscriber ทะลุ 100,000 คน ไปแล้วเช่นกัน โดยปัจจุบัน ช่องข่าวสด มี Subscribers 3.5 แสนคน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ส่งมอบคูปองลดหย่อนภาษี “โครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ” พร้อมเปิดตัวผู้แทนจำหน่ายยางล้อที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ใช้จะต้องซื้อยางจากผู้ผลิตในนามของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง หวังเป็นอีกมาตรการในการกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ภายหลังจากที่มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ มาตรการ ช้อป ช่วย ชาติ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสินค้าที่เข้าร่วมในปีนี้ มี 3 ประเภท ได้แก่ หนังสือ สินค้าโอท็อป และยางรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งประชาชนที่ซื้อสินค้า ดังกล่าวสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางรถยนต์จะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ และคูปองที่ กยท. ออกให้ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้หักลดหย่อนภาษีในปีที่ซื้อ

หากซื้อช่วงปีไหนก็หักลดหย่อนภาษีปีนั้น โดยเริ่มช้อปสินค้าได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561 จนถึง 16 มกราคม 2562 รวมระยะเวลา 1 เดือน ขณะนี้ โครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทั้งภาครัฐ โดยมีกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภาคสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางมีการผลิตวัตถุดิบให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ในส่วนภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการยางล้อ และตัวแทนจำหน่ายที่ให้การสนับสนุน รวมถึงภาคประชาชน ในฐานะผู้บริโภคที่ใช้ยางล้อ จะได้สินค้าดี มีคุณภาพ และช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคูปองลดหย่อนภาษีที่จัดสรรให้กับบริษัทผู้ผลิตยางล้อ ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ ประเภท 4 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 100 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน และคูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์หรือรถจักรยาน ประเภทรถ 2 ล้อ ได้รับคูปองจำนวน 500 ใบ ต่อการซื้อวัตถุดิบ 1 ตัน

ซึ่งล่าสุดมีรายชื่อบริษัทที่ตกลงซื้อวัตถุดิบยางจาก กยท. เพื่อนำไปผลิตล้อยางแล้ว เช่น บริษัท IRC Maxxis N.D Rubber ดีสโตน และโอตานิ ทั้งนี้ ยังมีบริษัทผู้ผลิตยางล้อในประเทศไทย ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อซื้อยางช่วยชาติ สามารถนำใบเสร็จ หรือเอกสารสัญญาซื้อยางจากคู่สัญญา ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. มาแสดงต่อ กยท.เพื่อรับคูปอง และนำคูปองไปกระจายต่อบริษัทหรือร้านค้าที่จำหน่ายยางได้ โดยทุกส่วนงานจะช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่ามีร้านค้าใดเข้าร่วมโครงการ

“มาตรการนี้นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายรัฐบาล และจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน” นายเยี่ยม กล่าวทิ้งท้าย

เอสซีจี รับโล่รางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย จากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เอสซีจี โดย นายฎายิน เกียรติกวานกุล Marketing Director – Roof Business บริษัท กระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด เป็นผู้แทนเข้ารับโล่รางวัลสร้างสรรค์สังคมไทย ด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัย จากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) จาก พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่เอสซีจีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ด้วยการผลักดันให้เกิดแบบบ้านมาตรฐานสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ

จัดอบรมช่างชุมชนเพื่อสร้างเครือข่ายวิชาชีพสำหรับสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุ พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งศูนย์ Universal Design Center (UDC) หรือศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จำนวน 5 ศูนย์ทั่วประเทศ สำหรับเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถรับคำปรึกษาด้านที่อยู่อาศัยได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งเป็นศูนย์เพื่อการวิจัยและค้นคว้าเรื่องที่อยู่อาศัยอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลและติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่