พริก 100 กรัม มีคุณค่าทางอาหาร ให้พลังงานต่อร่างกาย

103 กิโลแคลอรี ให้เส้นใยอาหาร 65 กรัม ไขมัน 2.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 19.9 กรัม ฟอสฟอรัส 85 มิลลิกรัม แคลเซียม 45 มิลลิกรัม เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม วิตามินเอ 11,050 IU วิตามินบีหนึ่ง (ไทอามีน) 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง (ไรโบฟลาวิน) 0.19 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม (ไนอะซิน) 2.10 มิลลิกรัม วิตามินซี 70 มิลลิกรัม

คุณค่าทางอาหารของพริก จะต่างกันไปแต่ละชนิด เช่น พริกใหญ่สด พริกใหญ่แห้ง พริกเล็ก หรือขี้หนูสด พริกขี้หนูแห้ง คุณค่าจะต่างกันไป ใช้ผสมกับเครื่องเทศชนิดอื่นๆ ในการปรุงอาหาร ใช้ทั้งผลสด ผลแห้ง และพริกป่น

นอกจากผลของพริกที่ใช้นำมาเป็นพืชผักปรุงอาหารแล้ว ยอดและใบอ่อนยังนำมาเป็นผักประกอบอาหาร เป็นผักปรุงรส แกงเลียง แกงแค แกงคั่ว แกงอีกหลายอย่าง ใส่เคียงคู่กับผักอื่นๆ เพิ่มรสชาติความอร่อยขึ้นมากโข

ผลพริกมีสรรพคุณในการช่วยขับลม ขับปัสสาวะ แก้ไข้หวัด ขับเหงื่อ แก้อาการปวดต่างๆ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยระบบย่อยอาหารได้ดี สารแคปไซซิน และสารอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวพริก มีประโยชน์หรือมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ช่วยให้อารมณ์ดี เพราะร่างกายหลั่งสารเอ็นดอร์ฟิน ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค บำรุงสายตา กระตุ้นเจริญอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ช่วยลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดต่างๆ บรรเทาหวัด ลดน้ำมูก ทำให้จมูกโล่งหายใจสะดวก แก้ไข้หวัด แก้ไอ แก้ซางตานขโมย

สารรสเผ็ดที่มีในพริก มีคุณสมบัติให้พลังงาน ความร้อนแก่ร่างกาย มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์มานาน ใช้เป็นส่วนผสมของยา เช่น ยาช่วยให้เจริญอาหาร ยาขับลม ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ

มีบางคนอยากรู้ว่า ต้นกำเนิดที่มาของพริกมาจากไหน? อยากจะตอบว่ามาจากต้นพริกสิ ก็กลัวเจ็บตัว มีคนเล่าว่า พริกมีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ แถบลุ่มน้ำอะเมซอนโน่นละกระมัง ชนเผ่าอินเดียนแดง เป็นพวกแรกรู้จักใช้พริกมาปรุงอาหารประมาณ 7,000 ปีก่อนคริสตกาล และหลังจากนั้นอีก 2-3 พันปีมีการเพาะปลูกจนแพร่กระจายอยู่ทั่วไป

ไทยเราส่วนใหญ่นิยมกินอาหารรสเผ็ดมาช้านาน แต่ส่วนใหญ่มาจากเครื่องเทศ เช่น ขิง ข่า กระวาน กานพลู กะเพรา แมงลัก ดีปลี ยี่หร่า ทำเป็นเครื่องแกง หรือผสมคลุกเคล้าลงในอาหาร หรือเป็นผักเคียง

มารู้จัก “พริก” เอาตอนราวๆ ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ฝรั่งชาติโปรตุเกสเดินเรือเข้ามาค้าขาย ก็มีพวกชาวพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้ เปรู บราซิล เป็นลูกเรือของฝรั่งชาวโปรตุเกสมาด้วย และเป็นคนนำพริกติดเรือมาจากอเมริกาใต้มาทำอาหาร เป็นคนชอบกินพริก แนะให้คนไทยรู้จักและชิมดู คนไทยเห็นเขากินพริก และได้ลิ้มชิมรสเผ็ดก็ชื่นชอบ จัดการขอเมล็ดมาเพาะปลูก

เขาบอกคนไทยว่า ที่ยูชิมดู นี่เขาเรียกว่า “ปริ๊กก้า” แปลว่า เผ็ดร้อน พวกนายฝรั่งโปรตุเกสไม่ชอบกินของเผ็ดหรอกนะ

จริงนะเห็นฝรั่งสมัยนี้เขากินอาหารจืดๆ และคนไทยนิยมเรียกชื่อคำโดดๆ จึงเรียกว่า “ปริ๊ก” แต่ก็ยังเห็นว่าออกเสียงไม่ไพเราะดังแบบไทยสยาม และไม่ทันตามสมัยไทยนิยม จึงเรียกว่า “พริก” เพราะอ่อนหวาน น่ากินขึ้นเยอะ จนเรียกกันถึงวันนี้ และเป็นคติประจำใจ กินเผ็ดได้ คือไทยแท้

หากเอ่ยถึงเกาะสมุย หลายท่านคงนึกไปถึงหาดทรายสวยๆ น้ำทะเลใสๆ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากสิ่งสวยงามที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาแล้ว ยังมีสิ่งสวยงามที่มนุษย์ได้สรรค์สร้างขึ้นมาอีกมากมาย โดยที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และกลายเป็นแหล่งอาหารและผักผลไม้อินทรีย์ชั้นดีให้กับพี่น้องชาวเกาะสมุยได้กินกันอีกด้วย

คุณเตือนใจ สมวงษ์ หรือ ป้านุ้ย และ คุณสมเจตน์ สมวงษ์ หรือ ลุงเจตน์ อยู่บ้านเลขที่ 67 หมู่ที่ 5 ตำบลมะเร็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สองสามีภรรยาเจ้าของธุรกิจบังกะโลที่หาดละไม ผันบั้นปลายชีวิตเป็นเกษตรกร ซื้อที่ดินกว่า 60 ไร่ ที่ตำบลมะเร็ต เพื่อทำเกษตรผสมผสาน ปลูกทุเรียน มังคุด และกล้วยหอมไต้หวัน สร้างรายได้หลัก และปลูกอะโวกาโด ส้มโชกุน แก้วมังกร เป็นผลไม้สร้างรายได้เสริม รวมถึงมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ในสวนไม้ผล ทั้งเพื่อความสวยงามและเลี้ยงไว้เพื่อศึกษา บนแนวคิดการจัดการสวนแบบอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ไปรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ประเภทรับรองแหล่งผลิต จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วเป็นที่เรียบร้อย ทีนี้มาดูกันว่า สองลุงป้าหัวใจเกษตร จะมีวิธีการจัดสวนเกษตรอินทรีย์ที่น่าทึ่งขนาดไหน

ผลผลิตเสียหายเพราะสารเคมี
ค่อยๆ ลด ละ เลิก ทำเป็นสวนเกษตรอินทรีย์
ก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ ป้านุ้ย บอกว่า ที่สวนแห่งนี้มีการใช้เคมีมาก่อน โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากที่ระเม็ตมีคนประกาศขายที่ดิน แล้วป้ากับลุงสนใจเพราะมีแนวคิดอยากทำสวนจากความชอบของสามีคือลุงเจตน์ ที่เป็นคนชอบกินทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อสบโอกาสตรงนี้ป้าและลุงเจตน์จึงได้ตัดสินใจซื้อที่บนเขากว่า 60 ไร่ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของตัวเอง ที่อยากมีสวนไว้ปลูกผักผลไม้ที่ตนเองชอบ โดยการเริ่มต้นทำเกษตรเมื่อปี 2530 เป็นการทำเกษตรเคมี ซึ่งในปีแรกที่เริ่มปลูกก็เริ่มเจอกับอุปสรรค ถูก “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ถล่มในปี 2532 ผลผลิตทุเรียนที่เพิ่งเริ่มปลูกก็พังเสียหาย จึงต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการนำมังคุดมาปลูกแซมจำนวน 200 ต้น และค่อยๆ กลับมาฟื้นฟูปลูกทุเรียนกันอีกครั้ง จนถึงปัจจุบันที่สวนสามารถบริหารจัดการพื้นที่จำนวน 60 ไร่ ให้ใช้ประโยชน์ได้เต็มพื้นที่ ปลูกข้าว ปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการปลูกป่าตะเคียนทอง และต้นไม้สารพัดผสมผสานไว้อยู่ในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด แต่ก่อนจะไปถึงความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ได้ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาก่อน

“ตอนเริ่มปลูกก็เจอเข้ากับพายุ แต่ผ่านไปสักพักก็ประสบปัญหากับสารเคมีที่ตัวเองใช้แบบผิดๆ ใช้สารเคมีจนเคยชิน จนวันหนึ่งต้นทุเรียนจากที่เคยให้ผลผลิต ก็ไม่ให้เหมือนอย่างเคย ต้นโทรม ใบเหลือง และสิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการไม่โทษตัวเองที่ทำแบบนี้ แต่กลับไปโทษคนอื่น โทษปุ๋ยบ้าง โทษคนขายปุ๋ยบ้าง ว่าเอาของไม่ดีมาขายให้ แต่ไม่เคยโทษตัวเองที่เป็นคนกระทำดิน ย่ำยีธรรมชาติ ทำให้ดินไม่มีชีวิต”

ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มคิดได้และโทษตัวเองเป็น จนได้พบกับแสงสว่าง ได้พบกับแนวทางเกษตรอินทรีย์ และค่อยๆ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีอย่างเต็มรูปแบบในปี 2554 เป็นต้นมา แล้วหันมาทำสารปรับปรุงดินจากขยะเปียกที่ทำเอง ใช้เอง โดยมีทั้งหมด 2 สูตร คือสูตรที่ทำจากปลา และสูตรที่ทำจากเศษอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งป้าจะใช้ชื่อเรียกปุ๋ยทั้ง 2 สูตรนี้ว่า ปุ๋ยซีฟู้ด คือปุ๋ยที่ทำจากปลา และปุ๋ยโต๊ะจีน คือสูตรที่ทำจากอาหารเหลือทิ้งตามงานพิธีต่างๆ

“ปุ๋ยซีฟู้ด” และ “ปุ๋ยโต๊ะจีน”
สุดยอดปุ๋ยหมักบำรุงพืชผล
ลดต้นทุนการผลิตของป้านุ้ย-ลุงเจตน์
ป้านุ้ย บอกถึงเคล็ดลับการทำปุ๋ยหมักสูตรซีฟู้ดและสูตรโต๊ะจีนว่า เป็นเคล็ดลับที่ทำแล้วได้ผลดี และมีขั้นตอนการทำที่ง่ายแสนง่าย ซึ่งวิธีการทำ “ปุ๋ยหมักสูตรซีฟู้ด” และ “ปุ๋ยหมักสูตรโต๊ะจีน” มีกระบวนการทำเหมือนกัน ต่างกันที่วัตถุดิบเท่านั้น โดยหากเป็นปุ๋ยหมักซีฟู้ด จะมีวัตถุดิบหลักเป็นปลา ส่วนถ้าเป็นปุ๋ยหมักโต๊ะจีน จะใช้เศษอาหารที่เหลือจากงานต่างๆ มาทำ

โดยขั้นตอนการทำ เพียงนำเอาเศษปลาเหลือทิ้งจากตลาดหรือนำเศษอาหารทั้งคาวและหวาน มาหมักกับเศษขี้เลื่อย จากนั้นราดด้วยอีเอ็มขยายที่ทำจากน้ำซาวข้าวและกากน้ำตาล เพื่อดับกลิ่นและช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมักได้ดีขึ้น โดยหมักทิ้งไว้ในบ่อปูนจนกว่าจะเปื่อย และที่สำคัญต้องเจาะรูระบายน้ำที่บ่อหมักด้วย เพื่อช่วยระบายน้ำจากขยะเปียกที่ไหลออกมา

จากนั้นให้เตรียมถังมารองน้ำปุ๋ยหมักที่ไหลออกมาจากบ่อหมักปุ๋ย แล้วเอาสาดกลับไปในบ่อแบบเดิม เพื่อไม่ต้องการให้น้ำจากบ่อไหลลงดิน เป็นการทำลายระบบนิเวศ

วิธีการนำไปใช้
เมื่อปุ๋ยที่หมักไว้แห้งแล้ว ให้นำมาผสมกับมูลสัตว์ โดโลไมท์ และขี้ถ่าน ก่อนนำไปใช้บำรุงผลไม้ในสวน ซึ่งนอกจากปุ๋ยทั้ง 2 สูตรนี้จะช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้แล้ว ยังถือเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีก 1. ในด้านของการกำจัดขยะต้นทาง ไม่ให้ไปกองรวมกันที่หลุมขยะอย่างเดียว เพราะหากถ้าเป็นคนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะรู้กันดีว่า หลุมขยะขนาดใหญ่อยู่ที่มะเร็ต 2. เป็นปุ๋ยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ดินเสีย ทำให้ดินกลับมามีชีวิต 3. ประหยัดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี และไม่มีต้นทุนอะไรมากมาย ปลาไม่ต้องซื้อ มีเพียงค่าแรงงาน ค่าน้ำมันรถเท่านั้น

ปลูกทุกอย่างไว้ในสวนเดียวกัน
ดูแลให้ทั่วถึง “ระบบน้ำสำคัญ”
แน่นอนว่าตอนนี้สวนผสมผสานของป้านุ้ยเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ป้านุ้ยบอกว่า การที่จะดูแลสวนอินทรีย์ให้ดีให้ทั่วถึงนั้น ระบบน้ำคือสิ่งสำคัญ ซึ่งข้อนี้ถือเป็นจุดเด่นแรกของที่นี่ ทำแบบไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ และไม่เอาเปรียบสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

ส่วนการดูแลยังไงให้ทั่วถึง ป้านุ้ย บอกว่า การทำสวนผสมไม่จำเป็นต้องดูแลมากมาย ปล่อยให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติกันเอง เพราะพืชทุกชนิดที่ปลูกลงไปจะอาศัยเกื้อกูลกันเองได้อยู่แล้ว อย่างเช่น การใส่ปุ๋ยของที่สวน หากใส่ปุ๋ยให้มังคุด ส้มและกล้วยก็ได้กินปุ๋ยไปด้วยเพราะปลูกอยู่ใกล้กับมังคุด หรือใส่ปุ๋ยให้ทุเรียน อะโวกาโดและสับปะรดก็จะได้กินปุ๋ยไปด้วยเพราะอยู่ใกล้ทุเรียน ก็จะเป็นระบบพึ่งพากันไปแบบนี้

ระบบน้ำ…คือจุดเด่นของที่สวนเกษตรอินทรีย์ของป้าเลยก็ว่าได้ ถือเป็นสุดยอดการบริหารจัดการระบบน้ำ จนที่สวนไม่รู้จักคำว่าแล้ง ด้วยการทำฝายไว้บนภูเขา ระยะห่างประมาณ 600 เมตร จากสวน แล้วทำการเดินท่อส่งน้ำมายังสวน โดยที่สวนจะทำอ่างเก็บน้ำไว้บรรจุได้ประมาณ 80,000 ลิตร และที่สวนจะไม่ใช้น้ำต้นทุนแต่จะใช้น้ำล้น เพื่อที่จะเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ยามจำเป็น และยังมีการใช้ประโยชน์จากร่องน้ำธรรมชาติมาทำไฟฟ้าพลังงานน้ำอีกด้วย โดยในช่วงหน้ามรสุมจะสามารถปั่นไฟไว้ใช้ได้ 24 ชั่วโมง หากถ้าเป็นหน้าแล้ง จะปั่นไฟไว้ใช้ได้ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยจะใช้ประโยชน์จากไฟพลังงานนี้ไว้ใช้ให้บ้านคนงานกว่า 5 ครัวเรือน

ผลผลิต…ที่สวนจะไม่ได้วัดผลผลิตเชิงปริมาณ แต่จะวัดเป็นตัวรายได้มากกว่า ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการจดบันทึกรายได้ไว้ จากทุเรียนประมาณ 5 แสนบาท มังคุดประมาณล้านกว่าบาท ส่วนพืชผักชนิดอื่นเป็นรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างวัน ซึ่งรายได้ตรงนี้ถือว่ามีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะที่สวนทำแบบไม่ทำลายธรรมชาติ และที่สำคัญเมื่อเทียบกับต้นทุนตอนที่ใช้สารเคมีกับตอนที่เลิกใช้แล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

การตลาด ผลผลิตไม่เคยล้นตลาด…เนื่องจากคนเกาะสมุยรู้กันดีว่าหากเป็นพืชผักผลไม้ที่ออกมาจากสวนของป้าแล้ว แปลว่าปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าหากมีอุปสรรคแมลงและสัตว์มารบกวน มีกระรอกมาเจาะผลทุเรียนก็จะนำเนื้อส่วนที่ไม่เสียหายมาเข้ากระบวนการแปรรูปทำทุเรียนกวน เพราะฉะนั้น จะมีส่วนที่ต้องทิ้งเสียหายน้อยมาก

“นิยามเกษตรสร้างชาติ” ป้านุ้ย-ลุงเจตน์
“สำหรับนิยามของเกษตรสร้างชาติของป้ากับลุงเจตน์ คือต้องเป็นเกษตรที่พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ไม่เบียดเบียนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และไม่เบียดเบียนตัวเอง เท่านี้ก็เป็นเกษตรสร้างชาติได้ และที่สำคัญให้ทำเกษตรแบบพอเพียง ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เราทำอาชีพเกษตรให้เป็นอาชีพที่สบายใจ อย่ามองให้เป็นเรื่องธุรกิจมากนัก เพราะเมื่อทำเกษตรให้เป็นธุรกิจเมื่อไร ก็จะต้องมีการแข่งขัน แข่งกันเด่น แข่งกันดัง แต่ถ้าทำเพื่อความสุข สร้างรายได้ให้พอกิน เราก็ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งแค่กับหัวใจตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้มันดีขึ้น ให้มาตรฐานดีมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนต่ำลง” ป้านุ้ย กล่าวทิ้งท้าย

พันธุ์มะม่วงต่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย ฯลฯ ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนานแล้ว เริ่มแรกเป็นการนำเข้ามาโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อการศึกษาวิจัย เช่น ในปี พ.ศ. 2519 สถานีวิจัยปากช่อง ภายใต้การกำกับของภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา ได้รับพันธุ์มะม่วงจากรัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เข้ามาหลายสายพันธุ์ตามโครงการเงินกู้ มีอยู่หลายสายพันธุ์ให้ผลผลิตดี จึงได้มีการขยายพันธุ์ไว้เพื่อรอการส่งเสริมต่อไป

ส่วนในภาคเอกชนมีสวนของ อาจารย์ประพัฒน์ สิทธิสังข์ ที่สวนแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์ได้รับยอดพันธุ์มะม่วงต่างประเทศจากสถานีวิจัยปากช่อง มาเสียบยอดไว้ที่สวนของท่านหลายพันธุ์ ซึ่งบางพันธุ์เจริญเติบโตให้ผลผลิตดีเช่นกัน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2522 อาจารย์ได้นำผลมะม่วงต่างประเทศที่มีผลใหญ่ สีสวยงามแปลกตาหลายสายพันธุ์มาแสดงที่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้และชมกัน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมาก เพราะไม่เคยเห็นมะม่วงแปลกๆ ลักษณะอย่างนี้มาก่อน เช่น ปาล์มเมอร์ เค้นท์ เคียทท์ เป็นต้น จึงนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยปากช่อง ได้ขยายกิ่งพันธุ์มะม่วงต่างประเทศไว้มากมาย เพื่อไว้จำหน่ายแก่ประชาชน แต่ประชาชนและชาวสวนมะม่วงให้ความสนใจกับพันธุ์มะม่วงต่างประเทศกันน้อย หรืออาจจะยังไม่ทราบกันว่าทางศูนย์วิจัยฯ มีกิ่งพันธุ์มะม่วงต่างประเทศ หรือเป็นเพราะรสชาติสู้มะม่วงไทยไม่ได้ จึงไม่สนใจ มะม่วงพันธุ์ต่างประเทศได้เปรียบที่ผลมีสีสวย แต่เนื้อเหม็นกลิ่นขี้ไต้เป็นส่วนใหญ่

แต่ยังมีมะม่วงพันธุ์หนึ่ง ได้ชื่อว่ามีรสชาติดีที่สุดในโลก เป็นมะม่วงจากอินเดีย ที่ศูนย์วิจัยปากช่องมีอยู่ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากคนไทยอีกเช่นกัน นั่นก็คือ “มะม่วงอัลฟองโซ” (ALPHONSO)

มะม่วงอัลฟองโซ เป็นมะม่วงของอินเดีย อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปลูกมะม่วงมาช้านานกว่า 4,000 ปี จนถึงปัจจุบัน อินเดีย ยังคงมีพื้นที่ปลูกมะม่วงมากที่สุดในโลก คือมากกว่า 8 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 1 ใน 3 ของมะม่วงทั่วโลก แต่ละปีมีผลผลิตหลายล้านตัน เป็นประเทศผลิตมะม่วงรายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 52% ของมะม่วงที่ผลิตได้จากทั่วโลกรวมกัน

ตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญของอินเดียคือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และยุโรป เกือบทุกรัฐในอินเดียสามารถปลูกมะม่วงได้เจริญเติบโตงอกงามให้ผลผลิตดี สายพันธุ์มะม่วงที่ปลูกในอินเดียมีอยู่ประมาณ 1,000 สายพันธุ์ แต่ที่ปลูกเพื่อการค้า มีประมาณ 20 สายพันธุ์ ในการตั้งชื่อสายพันธุ์มะม่วงจะตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญ พื้นที่ที่เป็นแหล่งกำเนิด รสชาติ สี ขนาดของผล รูปทรงของผล และฤดูกาลที่ผลิต

สายพันธุ์มะม่วงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอินเดียคือ พันธุ์ “อัลฟองโซ”

มะม่วงอัลฟองโซ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นายทหารนักสำรวจชาวโปรตุเกส ชื่อ อัลฟองโซ เดอ อัลเบอเคอร์กี (Afonso de Albuquerque) ผู้ปกครองอาณานิคมโปรตุเกสที่อินเดียในอดีต ซึ่งเป็นผู้นำพันธุ์มะม่วงนี้มาเสียบยอดกับมะม่วงพื้นเมืองในรัฐกัว เมื่อศตวรรษที่ 15 จากนั้นต้นถูกนำไปปลูกยังรัฐมหาราษฏระ รัฐคุชราต และได้แผ่กระจายไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา

มะม่วงอัลฟองโซ คนท้องถิ่นในอินเดียเรียกว่า ฮาปู (Haapoos) หรือ อาปู (Aapoos) คนอินเดียจัดให้มะม่วงอัลฟองโซ เป็นมะม่วงที่มีรสชาติดีและราคาแพงที่สุดในบรรดาผลไม้ทั้งหลายในอินเดีย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งมะม่วง” และเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ส่วน “ราชินีแห่งมะม่วง” ยกให้มะม่วงเคซาร์ (Kesar)

มะม่วงอัลฟองโซ ปลูกมากทางภาคตะวันตกของอินเดีย ที่รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เมืองเทวกาด (Devgad) ในเขตโคกัน (Kokan) ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะม่วงมีคุณภาพดีที่สุด ผลิตผลส่วนใหญ่จึงมาจากรัฐมหาราษฏระ แต่รัฐที่ส่งออกมากที่สุดมาจากเมืองรัตนคีรี (Ratnagiri) รัฐมหาราษฏระเช่นกัน เมืองรัตนคีรี ห่างจากบอมเบย์ลงไปทางใต้ราว 500 กิโลเมตร มะม่วงอัลฟองโซยังปลูกในพื้นที่รัฐทางภาคใต้ของอินเดีย

ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีมะม่วงอัลฟองโซออกจำหน่ายอย่างมาก ขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 300 รูปี ถึงห้าหกร้อยรูปี (1 รูปี มีค่าประมาณ เก้าสิบสตางค์) นอกจากรับประทานผลสดแล้วยังได้นำมาเป็นส่วนผสมกับขนมหวานและเครื่องดื่มต่างๆ

มะม่วงอัลฟองโซ ผลค่อนข้างเล็ก คล้ายมะม่วงยายกล่ำ หรือคล้ายมะม่วงเซ่งตาโลงของเมียนมา ผลเป็นรูปไข่ป้อมๆ ความยาว 4-6 นิ้ว น้ำหนัก 300-400 กรัม มีรสชาติดี ผลสุกมีผิวสีเหลืองสดสีสันสวยงาม และรูปทรงที่กะทัดรัดน่ารับประทานเป็นที่นิยมทั่วโลก มีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นหอมเย็นไม่เหมือนมะม่วงไทย ความหวานประมาณ 16 องศาบริกซ์ มีเนื้อเหลืองเข้มสีขมิ้นเข้ม เนื้อไม่ถึงกับเละมาก มีเสี้ยนบ้าง คนอินเดียจึงคลึงมะม่วงจนข้างในนิ่มแล้วจึงใช้ปากกัดหัวขั้วดูดกินน้ำเหลวของเนื้อ

คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคน้ำมะม่วงอัลฟองโซกันมาก เนื่องจากมีกลิ่นหอมพิเศษ มะม่วงอัลฟองโซจัดเป็นมะม่วงรสชาติดีพันธุ์หนึ่ง ชาวสวนไทยไม่นิยมมะม่วงผลเล็ก มะม่วงอัลฟองโซจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ถูกปฏิเสธ

คนทั่วโลกรู้จักและได้ลองลิ้มแต่มะม่วงอัลฟองโซ เลยเชื่อกันว่า มีรสดีที่สุด แต่ยังไม่เคยชิมมะม่วงโบราณรสดีของไทย จึงยังไม่รู้ว่าไทยมีมะม่วงที่ดีกว่าอีก และคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่เคยลองลิ้มรส มะม่วงอัลฟองโซ จึงไม่รู้ถึงรสชาติของมันว่าดีกว่ามะม่วงไทยหรือไม่ หากคนทั่วไปที่เคยชิมมะม่วงอัลฟองโซแล้วได้ชิมมะม่วงไทย จะต้องบอกว่ามะม่วงไทยมีรสชาติดีกว่าแน่นอน

“มะเดื่อฝรั่ง” หรือ “ฟิกส์” (FIGS) ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปี อาจจะเป็นผลไม้ที่แทบจะไม่ค่อยมีคนรู้จักเลยในบ้านเรา แต่เมื่อได้รับความสนใจมากขึ้นว่าเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพ มีการเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ มีกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับมะเดื่อฝรั่งในโลกโซเชียล ทำให้มะเดื่อฝรั่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จัก ทานมะเดื่อฝรั่งเป็น มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องสายพันธุ์ที่มีการนำเข้ามาปลูกในบ้านเรานับร้อยสายพันธุ์จากทั่วโลก เทคนิควิธีการปลูก การบำรุงดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป รวมถึงวิธีการขยายพันธุ์ที่มีการประยุกต์และพัฒนาในหลายๆ รูปแบบ เนื่องจากมะเดื่อฝรั่งเป็นอีกพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลากหลายวิธีมาก

ทาง “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร สมัคร GClub ที่เป็นสวนหนึ่งที่เริ่มปลูกมะเดื่อฝรั่งในเชิงการค้าในยุคแรกๆ เพื่อจำหน่ายผลสด มานานเกือบ 15 ปี ซึ่งได้การตอบรับในการซื้อผลผลิตดีมาก โดยจำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 150-300 บาท เลยทีเดียว ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีราคาค่อนข้างดีสำหรับเกษตรกร เนื่องจากสามารถผลิตในเชิงปลอดสารพิษหรือแบบอินทรีย์ได้ตามแนวทางของแต่ละสวน เนื่องจากเป็นไม้ผลที่มีโลกและแมลงศัตรูไม่มาก ที่สำคัญก็จะมีนกมาจิกผล (ก็จะห่อผล)

โดยที่สวนคุณลี ปลูกมะเดื่อฝรั่งแบบกลางแจ้งเหมือนไม้ผลทั่วไป ก็ปลูกมะเดื่อฝรั่งทั้งจากต้นที่ขยายพันธุ์มาจากการตอนกิ่ง, การปักชำ, การเปลี่ยนยอดบนต้นตอขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การติดตา, เสียบเปลือก, เสียบตรง เป็นต้น ซึ่งต้นตอที่นิยมนำมาใช้ก็คือต้นมะเดื่อฝรั่งสายพันธุ์ที่ไม่ต้องการ หรือต้นมะเดื่อฝรั่งที่มีนิสัยทนทาน หากินเก่ง มีระบบรากแข็งแรง เช่นที่สวนคุณลี จะใช้มะเดื่อฝรั่งพันธุ์ออสเตรเลียเป็นต้นตอเกือบทั้งหมด วิธีการคือปลูกมะเดื่อพันธุ์ออสเตรเลียลงแปลงไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อต้นมะเดื่อออสเตรเลียมีขนาดที่เราพอใจแล้ว (3-6 เดือน ตามความพอใจ) ก็จะเปลี่ยนยอดสายพันธุ์ที่เราต้องการ แต่ในบ้านเรามีมะเดื่อพื้นบ้านและมะเดื่อป่า ซึ่งจัดว่าอยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเดื่อฝรั่ง

จากการที่สวนคุณลีได้ลองทำมานับ 10 ปี มะเดื่อฝรั่งก็สามารถเปลี่ยนยอดบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้านหรือมะเดื่อป่าได้ และสามารถเจริญเติบได้ดีมาก ให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี แต่การขยายพันธุ์อาจจะต้องมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้แผลประสานหรือเนื้อไม้เข้ากันได้ดี ทาง “สวนคุณลี” จึงนำวิธีการเปลี่ยนยอดมะเดื่อฝรั่งบนต้นตอมะเดื่อพื้นบ้าน หรือมะเดื่อป่า ให้ท่านนำไปประยุกต์ปรับใช้กันต่อไป

การต่อกิ่ง หรือการเสียบยอด เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยไม่ใช้เพศที่สามารถทำได้โดยการนำกิ่งพันธุ์ดีที่มีตามากกว่า 1 ตา มาต่อบนต้นตอ เพื่อให้เนื้อเยื่อเจริญทั้งสองเชื่อมประสานเป็นต้นเดียวกัน การขยายพันธุ์ด้วยวิธีต่อกิ่งจะดีกว่าการติดตามาก เพราะจะได้รอยต่อที่แข็งแรงกว่ามาก การต่อกิ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลาย และได้ผลดีกับพืชบางชนิด เช่น เฟื่องฟ้า มะม่วง พุทรา ขนุน องุ่น ฯลฯ

ความมุ่งหมายที่สำคัญของการต่อกิ่งพืช คือ เพื่อต้องการเชื่อมประสานเนื้อเยื่อของพืชที่เป็นต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีเข้าด้วยกัน ให้มีชีวิตและเจริญเติบโตร่วมกัน เสมือนเป็นพืชต้นเดียวกัน ทั้งนี้ การต่อกิ่งพืช สามารถเลือกทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ฤดูกาล และความชำนาญของผู้ต่อกิ่ง

การต่อกิ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลมาก ซึ่งเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเพิ่มและช่วยเปลี่ยนยอดพันธุ์เดิมที่ปลูกอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มยอดกิ่งเฟื่องฟ้าให้มีหลากหลายสี การเปลี่ยนยอดต้นโมกเขียวให้เป็นโมกด่าง การเปลี่ยนยอดมะม่วงให้เป็นมะม่วงแฟนซี คือมีหลายพันธุ์ในต้นเดียวกัน นอกจากนี้ การต่อกิ่ง ยังเป็นการช่วยซ่อมแซมส่วนของต้นพืชที่ได้รับอันตรายจากธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอื่นๆ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากต้นตอที่มีลักษณะทนทานต่อสภาพแวดล้อมและศัตรูพืช