พลิกผืนดิน พัฒนาคุณภาพทุเรียนหมอนทอง ทำ MOU กับคู่ค้า

ทุเรียนหมอนทอง จากแหล่งปลูกในเขตพื้นที่ภูเขาไฟเก่าทำให้ได้เนื้อภายในผลกรอบนอกนุ่มใน หอม หวานมัน กลมกล่อม เป็นทุเรียนคุณภาพเฉพาะถิ่นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคยิ่งนัก ทุเรียนจะมีวางขายในตลาดท้องถิ่น แต่มีเกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ได้ก้าวเปิดตลาดทุเรียนด้วยการทำ MOU ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้ปลูกกับตลาดผู้ซื้อ ทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การยังชีพที่มั่นคง ยั่งยืน

คุณรัตดา คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการส่งเสริมการเกษตรระบบแปลงใหญ่ทุเรียน พื้นที่ 1,983 ไร่ รวม 208 ราย เพื่อพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน จึงส่งเสริมให้ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพ และได้รับการรับรองให้เป็นทุเรียน GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือเป็นพืชคุณภาพเฉพาะถิ่น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตมั่นคง

คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งเติบใหญ่ วิถีชีวิตมีความผูกพันกับการทำสวนไม้ผลมาตลอด นอกจากวิ่งเล่นตามประสาเด็กหรือกลับมาจากเรียนหนังสือก็ได้ช่วยคุณแม่-คุณพ่อ ขุดดิน ใช้อุปกรณ์เครื่องมือทำการเกษตร ลากสายยางให้น้ำพืชหรือไม้ผล เก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเปิดตลาดจำหน่าย ทำให้ได้เรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์ไว้ได้มากพอควร

ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ได้ออกจากบ้านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช ปี 2552 จบการศึกษารับปริญญาตรี เป็นธรรมชาติวัยรุ่นไฟแรงมันท้าทายจึงตัดสินใจเลือกไปทำงานบริษัทเคมีการเกษตร 5 ปี ทำให้ได้เสริมสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากห้องเรียนหรือสวนไม้ผล

การทำงานภาคเอกชนกำลังก้าวสู่ความสำเร็จ แต่หัวใจที่มีความผูกพันกับครอบครัวที่อบอุ่น ได้สัมผัสกับธรรมชาติของกลิ่นอายดิน ได้ถูกมดแดงกัด ได้กินผลไม้อร่อยๆ หรือได้เป็นแรงงานการพัฒนาสวนไม้ผล ทำให้ตัดสินใจกลับมาสู่ดินเพื่อร่วมกับคุณแม่-คุณพ่อ พัฒนาสวนไม้ผลด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม หรือปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP และที่สำคัญคือ การเปิดตลาดจำหน่ายทุเรียนหมอนทอง ด้วยการทำ MOU ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรสวนไม้ผลกับตลาดผู้ซื้อสู่การมีรายได้มั่นคง

ได้จัดการทำงาน 2 ด้าน คือ การจัดการพัฒนาสวนไม้ผลด้วยการผลิตทุเรียนคุณภาพ และการจัดการงานด้านการตลาดด้วยการทำ MOU เป็นงานที่ต้องทำแบบผสมผสานกันเพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ

การผลิตทุเรียนคุณภาพ ด้วยสภาพพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตภูเขาไฟเก่าที่มอดดับ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ให้ปลูกทุเรียนหมอนทองด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลทุเรียนคุณภาพ และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการผลิตให้เป็นทุเรียน GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือเป็นพืชคุณภาพเฉพาะถิ่น เป็นการผลิตทุเรียนคุณภาพยุคใหม่ เพิ่มศักยภาพพืชเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน

ด้านการตลาด ได้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผลกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ (Siam Makro Public Limited) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่ง เป็นการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพื่อร่วมมือในการส่ง-รับทุเรียนที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

การดำเนินงานครั้งแรก ได้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรสวนไม้ผลกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาจังหวัดศรีสะเกษ

การขยายตลาด จากจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผล กับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาละ 1 แห่ง และขยายตลาดไปที่จังหวัดอุบลราชธานี 2 สาขา

และได้ขยายตลาดไปต่างประเทศ ที่สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สาขากรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่เป็นซัพพลายเออร์ (Suppliers) ใหญ่ แล้วจัดการส่งทุเรียนไปยังสาขาต่างๆ ในประเทศกัมพูชา

คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า แนวทางข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผลกับบริษัทผู้ซื้อ คือ สวนคัดทุเรียนคุณภาพ จัดบรรจุภัณฑ์ตามจำนวน จัดส่งไปที่สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาที่ได้บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ไว้ ดังนี้

– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดศรีสะเกษ 15 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 125 บาท ต่อกิโลกรัม

– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และสาขาจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 3-5 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 140 บาท ต่อกิโลกรัม – จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดอุบลราชธานี 5-10 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 130 บาท ต่อกิโลกรัม

– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สาขากรุงพนมเปญ 3 ตัน ราคา 130 บาท ต่อกิโลกรัม ต่อฤดู หรือต่อปี และมีข้อมูลว่า สยามแม็คโคร กรุงพนมเปญ นำไปขาย 220-250 บาท ต่อกิโลกรัม

ราคาซื้อ-ขาย จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้หรือไกล หรือกลไกตลาด และนี่คือสิ่งที่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกัน ที่ทำให้เกษตรกรนำไปสู่การยกระดับรายได้เพื่อก้าวสู่ความมั่นคงในด้านการยังชีพ

ขอบคุณ คุณธนดล วงษ์ขันธ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่นำเยี่ยมชมสวน พร้อมกับได้นำเรื่องราว พลิกผืนดิน พัฒนาคุณภาพทุเรียนหมอนทอง ทำ MOU กับคู่ค้า สู่การมีรายได้มั่นคง เป็นความสำเร็จของเกษตรกรนักพัฒนาสวนไม้ผล และเปิดตลาด MOU เพื่อทำให้มีรายได้และยังชีพมั่นคง

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เลขที่ 122 หมู่ที่ 16 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (085) 417-7178 หรือ คุณสุริยา บุญเย็น สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. (062) 196-1377 ก็ได้ครับ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดโครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” รุ่นที่ 1 คัดเลือก 30 เยาวชนจากโรงเรียนไตรรัตน์วิทยาคาร…สถานศึกษาใกล้สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เป็น “มัคคุเทศก์” นำชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 เปิดหลักสูตรเสริมทักษะด้านการสื่อสาร บทบาทภารกิจสถานีฯ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ หวังสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า โครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” เป็นโครงการหนึ่งภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของ วว. มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่เยาวชนโดยรอบสถานีวิจัยลำตะคอง สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 รวมถึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบข้างสถานีวิจัยลำตะคอง ในการประชาสัมพันธ์สถานีวิจัยลำตะคอง ตลอดจนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ วว. ในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

“…วว. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงเรียนไตรรัตน์วิทยาคาร คัดเลือกเยาวชนจำนวน 30 คน เพื่อร่วมกับกิจกรรมภายใต้โครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” โดย วว. มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการเรียน เสริมความรู้ให้กับเยาวชน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ความรู้เกี่ยวกับการเป็นจิตอาสา การพัฒนาตนเองด้านบุคลิกภาพและเทคนิคการพูด รวมถึงฝึกการนำชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านด้านพฤกษศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม วว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจะได้รับความรู้และเปิดโลกทรรศน์ในมุมมองต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลให้เติบโต เป็นพลเมืองที่ดี ช่วยบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวมต่อไป…” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่งสถานีวิจัยลำตะคอง เป็นหน่วยงานในสังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ตั้งอยู่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล สถานีฯ นับเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การวิจัยต่อยอดบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

การปลูกพืชคลุมดินในสวนยาง เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในสวนยาง ทั้งนี้เศษซากพืชคลุมดินเมื่อย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ช่วยปรับโครงสร้างดินและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้การเจริญเติบโตดี เปิดกรีดได้เร็วขึ้นและให้ผลผลิตน้ำยางเพิ่มขึ้นด้วย การปลูกพืชคลุมดินไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รักษาความชื้นในดิน ควบคุมการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในดิน ได้แก่ จุลินทรีย์ เช่น เชื้อรา และแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ และสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลง หนอน ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ และยังช่วยเพิ่มฮิวมัสให้แก่ดินอีกด้วย

สถาบันวิจัยยาง ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชคลุมดินในสวนยางช่วงเวลาเดียวกันกับการปลูกยาง โดยปลูกในระหว่างแถวยางที่ไม่มีการปลูกพืชแซมยาง พืชคลุมดินที่นิยมปลูกในสวนยาง ได้แก่ พืชคลุมดินตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา และเพอราเรีย เป็นต้น ปัจจุบันมีพืชคลุมดินอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับนำมาปลูกในสวนยาง คือ ซีรูเลียม (Calopogonium caeruleum) เป็นพืชคลุมดินที่สามารถเจริญเติบโตคลุมดินได้ดี และช่วยเพิ่มธาตุอาหารตลอดจนอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ดีกว่าพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ

ซีรูเลียมพืชคลุมดินอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร

ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 ก.ก. จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย

ซีรูเลียม มหัศจรรย์พืชคลุมดินในสวนยาง

ซีรูเลียมขึ้นหนาแน่น วัชพืชอื่นขึ้นไม่ได้
พืชคลุมดินซีรูเลียม มีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย ในปี 2519 จนถึงปัจจุบัน จากการทดลองปลูกปรากฏว่าควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอาหารในดิน ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟไหม้ในสวนยาง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ

สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีจากการทดลองปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวต้นยางและไม้ผล พบว่า เมื่อพืชคลุมซีรูเลียมเจริญเติบโตเต็มที่จะคลุมดินได้หนาแน่นจนวัชพืชอื่นไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และยังสามารถควบคุมวัชพืชในระหว่างแถวยางและไม้ผลได้ถาวรตลอดไป เมื่อเปรียบเทียบกับพืชคลุมดินชนิดอื่นๆ พบว่า พืชคลุมดินซีรูเลียมสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีที่สุด ดังนั้นซีรูเลียมจะประหยัดในการจ้างแรงงานกำจัดวัชพืช ช่วยลดการใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชในสวนยาง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัวด้วย

ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และร่มเงาพืชคลุมดินโดยทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง พืชคลุมดินจะแห้งตายในฤดูร้อน ซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้

จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางและไม้ผล พบว่า พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนยาว และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี พืชคลุมโดยทั่วไปไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพร่มเงา โดยปกติพืชคลุมจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อปลูกในระหว่างแถวยางที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ เมื่อต้นยางเจริญเติบโตมีร่มเงาเกิดขึ้นในระหว่างแถวพืชคลุมอื่นมักจะตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี แต่พืชคลุมซีรูเลียมไม่ตายและยังคงสามารถเจริญเติบโตและควบคุมวัชพืชได้ดีในสภาพร่มเงา สามารถคลุมพื้นที่ได้ภายใน 4-6 เดือน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่สวนยางพาราจากการที่ปมรากจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และการย่อยสลายตัวของเศษซากพืชคลุม

ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมเปิดกรีดยางได้เร็วขึ้น

จากการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นยางในแปลงที่มีพืชคลุมตระกูลถั่วและแปลงหญ้าคา ในสวนยางที่ปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีการเจริญเติบโตเป็นสองเท่าของสวนยางที่มีหญ้าคาปกคลุม และสามารถเปิดกรีดยางภายใน 6-7 ปี และกรีดยางได้ก่อนสวนยางที่มีหญ้าคาขึ้นปกคลุมประมาณ 3-4 ปี

การทดสอบการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในแปลงเอกชนที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ปรากฏว่า สามารถเปิดกรีดยางได้ก่อนแปลงของเกษตรกรที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมประมาณ 1 ปี และผลผลิตในแปลงที่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียมให้ปริมาณน้ำยางที่มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่ปลูกพืชคลุมซีรูเลียม

ระบบรากฝอยหนาแน่นป้องกันการพังทลายหน้าดิน

โดยปกติฝนตกในบริเวณสวนยาง ทรงพุ่มต้นยางจะช่วยซับและรับปริมาณน้ำฝนส่วนหนึ่งไว้ที่ใบ น้ำฝนบางส่วนจะระเหยก่อนลงสู่พื้นดิน บางสวนจะไหลลงมาตามลำต้น และบางส่วนจะตกผ่านทรงพุ่มลงสู่พื้นดิน การปลูกซีรูเลียมในระหว่างแถวยางจะช่วยรับน้ำที่ผ่านทรงพุ่มชั้นหนึ่งก่อนลงสู่พื้นดิน เนื่องจากพืชคลุมซีรูเลียมมีคุณสมบัติคลุมอย่างถาวร มีพื้นที่ใบคลุมดินหนาแน่น ซากพืชซีรูเลียมที่แห้งตายถูกปลดปล่อยลงไปช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ช่วยในการดูดซับและเก็บกักน้ำได้ดีขึ้น นอกจากนี้รากฝอยที่หนาแน่นของซีรูเลียมจะช่วยยึดอนุภาคและโครงสร้างของดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินได้ดีขึ้น

โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียม

จากคุณสมบัติที่ดีกว่าพืชคลุมดินอื่นๆ ซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินที่เหมาะสมที่จะปลูกในสวนยางพาราในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดกรีดยางได้ (ปีที่ 1-6) เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมจึงเป็นที่ต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับช่วงแสงและอากาศ ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและมีราคาสูง

เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมค่อนข้างจะได้ผลดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สถาบันวิจัยยางจึงได้เริ่มโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมขึ้นในปี 2554 เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเมล็ดพันธุ์และทำการผลิตพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมอบให้ศูนย์เรียนรู้ยางพาราโดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรทั่วประเทศ ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมเพื่อสนองความต้องการเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร

ศูนย์เรียนรู้ยางพาราฯ โดยการดำเนินงานของศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดของการผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมในปี 2554 การผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ คือ

1.เมล็ดจะมีความงอกต่ำ เนื่องจากสารที่เปลือกหุ้มเมล็ดบางชนิดไม่ยอมให้น้ำและอากาศผ่าน

2.เปอร์เซ็นต์การติดเมล็ดน้อย ซึ่งเกี่ยวกับช่วงแสงในแต่ละพื้นที่ และความต้องการอากาศที่เย็นในช่วงการออกดอก ทำให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ในบางพื้นที่เท่านั้น ทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมมีราคาสูงถึง กก.ละ 500-700 บาท

จากการศึกษาเกี่ยวกับข้อจำกัดดังกล่าว เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และทำให้ได้ผลผลิตประมาณ 40 กก./ไร่

การขยายพันธุ์ซีรูเลียมระดับเกษตรกร

การขยายพันธุ์ซีรูเลียม ถ้าเราปลูกคลุมดินในสวนยาง ธรรมดาก็จะออกดอกและติดฝัก แต่ติดไม่มากเมื่อเราปล่อยให้เลื้อยไปตามพื้นดิน ซีรูเลียมจะเจริญเติบโตทางด้านลำต้นมากกว่าที่จะไปผลิตดอกออกฝัก แต่ถ้าเราต้องการขยายพันธุ์ เราก็ต้องทำค้างเหมือนกับค้างถั่วหรือค้างผัก จะทำให้ติดฝักได้มาก ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานีได้ทดลองปลูกเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์โดยขึ้นค้าง จะได้เมล็ด 50 กก./ไร่ ดังนั้นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกและติดเมล็ดได้ดีกว่าขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำลำต้น

ใครที่ไหนไม่รู้บอกว่า “กินเรื่องใหญ่ ตายเรื่องกลาง ตะรางเรื่องเล็ก” ช่างเป็นวลีที่เข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิตเสียนี่กระไร เรื่องกินนั้นมันเรื่องใหญ่จริงๆ ไม่เชื่อลองดู ตั้งแต่ “กินเปลี่ยนโลกได้” เป็นการกินที่เน้นกระบวนการผลิตที่สะอาด ไม่เจือปนสารเคมีในการปลูก แปรรูป ไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม ให้คนปลูก คนกิน “กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น” เป็นการรับประทานอาหารแต่ละอย่างในปริมาณที่เหมาะสม จึงเป็นคำตอบของการสร้างสุขภาพที่ดี และก็ยังมี “กินเปลี่ยนโรค” ความหมายบอกตรงตัวอยู่แล้ว และยังมีกินอื่นๆ อีกมากมาย

กินเรื่องใหญ่ที่กำลังจะกล่าวถึง เป็นการไปกินของอร่อย เมนูธรรมดา แต่รสชาติขั้นเทพ เป็นความพิเศษที่เหล่านักกิน นักชิม ไปจนถึงชาวบ้านคนธรรมดาต้องถวิลหา เพราะนี่เป็นงานความอร่อยเทรนด์ใหม่สายโลคอล สตรีทฟู้ดของไทย ที่มารวมตัวกันที่นี่ที่เดียว ประชันกระทะ ตะหลิว ให้ได้ลิ้มรสกัน ที่งาน “Mega Food Tastival 2019” โดยความร่วมมือของศูนย์อาชีพและธุรกิจ “มติชนอคาเดมี” จับมือกับห้างยักษ์ใหญ่ซีกกรุงเทพฯ ตะวันออก “เมกา บางนา” ระหว่าง วันที่ 8-12 สิงหาคม 2562 ช่วงเทศกาลวันแม่แห่งชาติ ที่บริเวณฟู้ดวอล์ก พลาซ่า (Food Walk Plaza) ชั้น 1 ศูนย์การค้าเมกา บางนา

เป็นแนวคิดที่อยากให้นักกิน นักชิม ทั้งหลาย ได้รู้จักอาหารโลคอลของไทย เมนูง่ายๆ แต่ได้ความฟิน ทั้งอิ่มทั้งอร่อย ในราคาสบายกระเป๋า โดยรวบรวมกว่า 30 ร้านดังรับประกันความฟินมาไว้ภายในงาน ชนิดได้ยินชื่อแล้วร้อง ว้าว !!!! อยากไปกินในทันใด มีเจ้าไหนบ้างนับนิ้วกันดูได้

พระเอกแรกของงานไม่ใช่ใครที่ไหน “เฮียจก โต๊ะเดียว” แห่งเยาวราช ปัจจุบัน ได้มิชลิน ไกด์ มาประดับข้างฝา เจ้าของเมนู “เกี๊ยวกุ้ง” อันลือลั่น มางานนี้ไม่ต้องจองถึงปีก็ได้กินแน่นอน เกี๊ยวกุ้งของเฮียจกใครๆ ก็รู้ว่าเป็นหนึ่งในปฐพี แต่จะกินไม่ได้ง่าย มางานนี้เฮียจกเปิดขายให้คนทั่วไปมีโอกาสกินได้อย่างไม่อั้น “…กุ้งที่นำมาทำเกี๊ยวรับรองว่าสุดยอด เขาเรียกกุ้งโอวคัก หาไม่ค่อยได้ ส่วนมากมีเท่าไรถูกซื้อไปหมด เนื้อกุ้งชนิดนี้จะอร่อยเด้ง ทำเกี๊ยวแล้วอร่อยมาก…” เสียงเล่าสรรพคุณเกี๊ยวของเฮียจก

จากเฮียจก เป็น “นายหมี” ราชาแห่งก๋วยเตี๋ยวเนื้อ เจ้าของร้าน “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อนายหมี” วัดหนามแดง-บางพลี จ.สมุทรปราการ ปัจจุบัน ย้ายร้านมาอยู่ที่ปากซอยลาซาล 54 แต่ความอร่อยยังเทพเหมือนเดิม “นายหมี-อำนาจ พิทยาธร” ปรุงก๋วยเตี๋ยวเนื้อสูตรไหหลำกับน้ำซุปรสเด็ด แบบไม่มีผงชูรส และการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างดีในการทำก๋วยเตี๋ยว วันละ 100 กิโลกรัม รู้แล้วอย่าเพิ่งเชื่อ แต่อยากให้ไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง

ขึ้นแท่นความอร่อยแบบไม่เลิกรา เป็นเมนู “ขาหมูเยอรมัน By ChefDay” สำหรับคนชอบกินขาหมูทอดแบบกรอบๆ จะกินเป็นกับข้าว หรือกินแกล้มเครื่องดื่ม ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด “เชฟเดย์” เป็นชื่อของร้าน แต่คนทำอาหารคือ “เชฟแจ็ค” หรือ “จักรภัทร กีรพัฒนพิบูลย์” อธิบายขยายความว่า เชฟเดย์ตัวจริงคือชื่อของลูกชายที่หมายมั่นปั้นมือจะให้สืบทอดธุรกิจต่อในอนาคต ขาหมูของเชฟเดย์เลือกใช้เฉพาะขาหลัง เพราะเนื้อมาก กระดูกเล็ก ทอดในเตาที่สั่งทำโดยเฉพาะ เป็นขาหมูที่ส่วนหนังกรอบฟู และกรอบอยู่นานถึง 8 ชั่วโมง กินกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษที่เจ้าของคิดขึ้นเอง ไม่ใช้น้ำส้มสายชู ไม่ใส่ผงชูรส ใครกินแล้วน้ำตาไหล เพราะความอร่อยที่เพิ่งค้นพบนั่นเอง

เทรนด์ใหม่มาแรงสำหรับคนยุคนี้ เป็นอาหารจานหอยของร้าน “ถนัดหอย” เปิดขายอยู่ที่ ฟู้ดวิลล่า มาร์เก็ต ย่านราชพฤกษ์ เจ้าของ “ออมสิน จันทร์ทองใบ” อยากประลองความอร่อยท้าพิสูจน์กับคนชอบกินหอย จึงยกร้านพร้อมน้ำจิ้มแซ่บสูตรโบราณมาร่วมแจม ขายหอยแครงของไทยชนิดไม่เคยหากินได้ที่ไหนมาก่อน เป็นหอยแครงลวกกันสดๆ ทุกวัน จะเอาแบบแรร์, มีเดียม หรือกำลังกิน เลือกได้ตามใจ “แบงค์-ออมสิน” เจ้าของร้านบอกว่าเราไม่ได้ขายอย่างเดียว แต่เน้นคุณภาพ ความสด สะอาด ของหอย อยากให้คนกินของดี กินได้ทุกตัว กว่าจะทำเมนูออกมาได้ต้องศึกษาเรื่องหอยอยู่หลายปี เพื่อให้สมกับชื่อร้านถนัดหอย จึงอยากชวนไปกินหอยแกล้มผักบุ้งดอง เป็นเจ้าเดียวในประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเอาใจคนรักอาหารใต้ ด้วยเมนูข้าวเเกงปักษ์ใต้รสเด็ด จาก “ร้านพริกไทยสด” เจ้าของร้านเป็นวัยรุ่นคุณพ่อลูกหนึ่ง รับสืบทอดวรยุทธ์จากพ่อจนฝีมือฉกาจ เปิดร้านเอาใจคนชอบอาหารไทยแกล้มไวน์ ที่ สนามกอล์ฟกรุงเทพ กรีฑา เมนูชวนน้ำลายหก มีตั้งแต่ แกงเหลืองหน่อไม้ปลากะพง, ใบเหลียงผัดไข่, ยำใบเหลียงทอดกรอบ, หมูคั่วเคย, แกงไตปลา, พริกขิงปลาดุกฟู, แกงไก่ใบยี่หร่า ฯลฯ รับรองความอร่อยทุกเมนู “พลุ-กฤติพันธ์ พงษ์จีน” ปกติไม่ชอบไปออกร้านที่ไหน แต่เพื่อพี่ๆ งานนี้เสียหน้าไม่ได้

เมนูที่ไม่ต้องรอให้ชวนก็ควรไปกิน เป็นฝีมือของนักข่าวสาวที่ผันตัวมาเปิดร้านขายขนมจีน ชื่อ “ขนมจีนบ้านพี่เเยม-ฐปณีย์ เอียดศรีชัย” นักข่าวสาวชื่อดังฝึกปรือจับทัพพีจนได้ดีกรีระดับ 5 ดาว มาเปิดหม้อน้ำยาปักษ์ใต้ขายขนมจีน ใครไม่เชื่อก็ต้องซื้อไปลอง แล้วจะรู้ว่าขนมจีนบ้านพี่แยม เด็ด เผ็ด ดุ ยิ่งกว่าการเจาะข่าวเป็นไหนๆ

เสร็จจากของคาว วกเข้าของหวาน ต้องยกนิ้วให้ “ขนมไทยป้าเยาว์ เจ้าเก่าติวานนท์” ,“ป้าเยาว์-พะเยาว์ กฤษแก้ว” อาจารย์สอนทำขนมไทย ประจำการอยู่ที่ “มติชนอคาเดมี” ฝีมือระดับปรมาจารย์ ไม่ว่าขนมไทยชนิดไหน ทั้งขนมหม้อ ขนมถาด ขนมนึ่ง ไม่มีคำว่าไม่อร่อย จนได้ฉายา “ป้าเยาว์ขนมไทยร้อยหม้อ” และด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู “ป้าเยาว์” บอกไว้ว่าการทำขนมใช่ว่าจะคิดแต่กำไร-ขาดทุน แต่ต้องคิดถึงลูกค้า คนกิน ต้องให้เขาได้กินของดีมีคุณภาพ ใส่ใจทุกเรื่องรายละเอียด ทุกขั้นตอน และวัตถุดิบต้องสด ใหม่ อย่าไปขี้เหนียว ขนมหวานป้าเยาว์จึงเป็นเมนูห้ามพลาดในชาตินี้