พลิกผืนนาปลูก “แตงโมไร้เมล็ด” แฮปปี้แฟมิลี่ 2 ปี จับเงินล้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวเทคโนโลยีชาวบ้านได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มแตงโมไร้เมล็ด “เกาะแก้วฟาร์ม” อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตแตงโมไร้เมล็ด คุณภาพดีแห่งหนึ่ง ที่ บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรให้สามารถปลูกดูแลบ่มเพาะ เพื่อพลิกฟื้นจากผืนนากว่า 100 ไร่ ให้กลายเป็นไร่แตงโมคุณภาพขนาดใหญ่ บนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้สำเร็จในระยะเวลาเพียง 2 ปี

คุณภัคพล ชวีวัฒน์ เจ้าของเกาะแก้วฟาร์ม อยู่บ้านเลขที่ 147 หมู่ที่ 4 ถนนร้อยเอ็ด-โนนทอง ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ภูมิลำเนาเดิมคุณภัคพลเป็นคนอำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด แต่มีความตั้งใจอยากทำเกษตร จึงเดินทางมาที่อำเภอเสลภูมิ ซึ่งเป็นที่ของญาติสนิท เดิมปลูกยางพารา แต่พื้นที่ไม่อำนวย คุณภัคพลจึงเอ่ยปากขอมาบุกเบิกพื้นที่เพื่อปลูกแตงโมไร้เมล็ด

“ตอนเริ่มทำใหม่ๆ ชาวบ้านแถวนี้ก็หาว่าบ้ารึเปล่า ตัดยางพาราทิ้ง แล้วมาปลูกแตงโม แต่มานั่งคิดดูแล้วว่า ต้องเป็นไปได้ เพราะว่าคนอีสานไม่มีอะไรกิน ก็จะนึกถึงแตงโมไว้ก่อน กินแตงโมกับข้าวเหนียวบ้าง และบวกกับอากาศร้อนของประเทศไทย แตงโมจึงเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ ผมจึงลองขาย ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า บางวันรถจอดชนกันสามสี่คัน เพื่อมาจอดซื้อแตงโมที่ร้าน” คุณภัคพล เล่า

หลังจากเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ 10 ปี หันมาทำเกษตรสร้างตัว เริ่มจากการรับแตงโมจากจังหวัดนครพนม ทั้งกินนรี ตอร์ปิโด และไร้เมล็ดมาขาย ปรากฏว่าขายดีจนทางนครพนมส่งแตงโมขายให้ไม่ทัน ทำให้สินค้าขาดตลาด เกิดปัญหาคือโดนลูกค้าท้วงว่า “ไม่มีแตงโมขายแล้ว ทำไมไม่เอาป้ายลง” เป็นสิ่งที่คุณภัคพลช้ำใจมาก จึงเกิดความคิดที่อยากจะปลูกแตงโมคุณภาพเอง ซึ่งเขาพยายามเรียนถูกเรียนผิดมาตลอด ช่วงแรกประสบปัญหาเมล็ดพันธุ์ไม่งอก เพราะใช้วิธีการผลิตที่ผิด ก็ได้รับคำแนะนำจาก คุณสุริยนต์ สุภาพ นักปรับปรุงพันธุ์และผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์แตงโมของสถานีวิจัยซินเจนทา

ให้ความช่วยเหลือมาตลอด จนทุกวันนี้การผลิตถือว่าประสบผลสำเร็จ การเพาะ อัตราการงอกดีขึ้นมาก จึงได้มีการพัฒนาการผลิต จะสังเกตได้ว่าถ้าแตงโมไร้เมล็ดของที่อื่นจะปลูกบนดิน แต่เขาคิดแปลกปลูกในโรงเรือน พยายามควบคุมการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง อันนี้เป็นสิ่งที่เขาคิด อันดับ 1 เพราะว่าลูกเขา ญาติพี่น้องของเขากินหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องควบคุมเรื่องการใช้สารเคมีอยู่แล้ว และโชคดีตรงที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ดีจากสำนักงานส่งเสริมเกษตรอำเภอเสลภูมิ ให้ความรู้ รวมถึงกรมวิชาการเกษตรในเรื่องของการใช้สารเคมี ว่าต้องใช้สารเคมีอย่างไร ช่วงไหนต้องลด อันนี้ก็คือผลงานที่เขาได้ GAP เป็นหลักฐานอ้างอิงว่า แตงโมผมปลอดสาร และซึ่งเขาก็ได้ชักชวนเพื่อนให้มาปลูก เพื่อสร้างเครือข่าย มีผลผลิตขายทุกเดือนไม่ขาดตลาด เน้นความปลอดภัย ส่งตลาดพรีเมี่ยม ช่วยแก้ปัญหาตลาดตัน

พลิกผืนนา ปลูกแตงโมแฮปปี้แฟมิลี่ 2 ปี จับเงินล้าน

คุณภัคพล เริ่มต้นด้วยเงินทุนส่วนตัว 300,000 บาท ลงทุนปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบน้ำหยดของตนเอง 2 โรงเรือน และได้สืบเสาะหาเมล็ดพันธุ์แตงโมไร้เมล็ด พันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่มาปลูก ผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง เนื่องจากเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ได้คำแนะนำของตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์บอกว่า ให้คุณภัคพล ติดต่อเข้าไปที่ บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดแตงโมพันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่ในประเทศไทย หลังจากนั้น ซินเจนทาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำการเพาะเมล็ดและการปลูก การบำรุง เพื่อให้แตงโมที่ได้มีขนาดและน้ำหนักตามมาตรฐานของพันธุ์ คุณภัคพลจึงปรับวิธีการปลูก การดูแล บำรุง ตามขั้นตอนและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของซินเจนทาควบคู่ไปกับเกษตรแนวใหม่ผสมผสาน จนวันนี้พื้นที่ 40 ไร่ ปลูกแตงโมทั้งหมด มีทั้งปลูกในโรงเรือนและพื้นที่ฟาร์มปิด

โดยคุณภัคพล เล่าถึงเส้นทางความเติบโตของฟาร์มว่า ด้วยคุณสมบัติของแตงโมไร้เมล็ด ตลาดมีความต้องการมาก แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าแตงโมพันธุ์อื่น แต่รสชาติที่สามารถควบคุมได้สม่ำเสมอ และน้ำหนักดี ทำให้ขายดีจนไม่พอขาย

“แตงโมแฮปปี้แฟมิลี่ จะต้องใช้ความพิถีพิถันในการดูแลตั้งแต่การเพาะเมล็ด การแยก และการบำรุง มากกว่าแตงโมพันธุ์อื่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้องนำเกสรตัวผู้มาผสมกับเกสรตัวเมียทุกดอก เพื่อให้ผลแตงโมที่ได้เป็นแตงโมไม่มีเมล็ด และต้องคอยลิดลูกที่อยู่ในตำแหน่งดอกที่ไม่สมบูรณ์ออก ให้คัดไว้เฉพาะลูกที่จะบำรุง จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต เข้าใจง่ายๆ คือ 1 ต้น ต่อ 1 ลูก แต่เป็น 1 ลูก ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 4-6 กิโลกรัม ราคาขายส่งอยู่ที่ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกหน้าฟาร์มอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท โดยใน 1 ไร่ จะได้ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,000 กิโลกรัม มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ที่ฟาร์มของผมจะปลูกได้ประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อปี โดยจะพักดินประมาณ 15 วัน ในขณะที่หากปลูกข้าว ข้าวเปลือกจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท สภาพดินของพื้นที่อำเภอเสลภูมิ มีลักษณะดินร่วนปนทราย ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ปลูกได้เพียงครั้งเดียว เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่เมื่อหันมาปลูกแตงโมที่เหมาะสมกับสภาพดิน และใช้น้ำน้อย แถมยังได้ราคาดีกว่า ทำให้คนในพื้นที่หันมาปลูกแตงโมไร้เมล็ดมากยิ่งขึ้น” เจ้าของเล่า

นับจากวันที่คุณภัคพลเริ่มปลูกจนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี ก็สามารถสร้างมาตรฐานให้กับกลุ่มผู้ผลิตแตงโมเกาะแก้วฟาร์ม ด้วยมาตรฐานการดูแลการผลิต ควบคุมการใช้สารอารักขาพืช ตลอดจนความใส่ใจในการบำรุงด้วยฮอร์โมน และดูแลโรคแมลงด้วยวิธีการผสมผสาน จนทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP และเกาะแก้วฟาร์ม ได้เป็นตลาดเกษตรประชารัฐของอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมไร้เมล็ดเข้าร่วมวันนี้แล้ว พื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ มีเกาะแก้วฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกแตงโมไร้เมล็ดแฮปปี้แฟมิลี่ของจังหวัดร้อยเอ็ด ผลผลิตที่ออกในแต่ละครั้งแทบจะไม่พอขาย เพราะพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตถึงหน้าฟาร์ม คุณภัคพล จึงมีเป้าหมายในการให้ความรู้อบรมขยายผลให้แก่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่มาเรียนรู้การปลูก การดูแล ความรู้ในการใช้แนวเกษตรผสมผสาน ผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทั้งหมด

วิธีการปลูกแตงโมไร้เมล็ด

เพาะเมล็ดบนถาดเพาะ ใช้วัสดุเพาะกล้า บ่มไว้ 3 วัน จนมีรากงอก แล้วเปิดผ้าออก รดน้ำให้รากงอกยาวขึ้น จนกล้าอายุ 15 วัน จึงย้ายไปลงแปลงปลูก
เตรียมดินร่วนปนทราย หากปลูกในโรงเรือน ให้ย้ายลงปลูกในกระถาง วางกระถางระยะ 50×50 เซนติเมตร (โรงเรือน ขนาด 10×20 เมตร) จะได้แตงโม 500 ต้น โดย 400 ต้น จะเป็นแตงโมพันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่ อีก 100 ต้น เป็นตอร์ปิโด เพื่อใช้เป็นเกสรผสมดอกพันธุ์ไร้เมล็ด หากเป็นพื้นที่นอกโรงเรือน 1 ไร่ จะปลูกได้ 1,000 ต้น มีแตงโมตอร์ปิโด 300 : 700 ต้น/เตรียมดินนอกโรงเรือน ไถปรับสภาพ ทิ้งไว้ 7 วัน ไถปั่นดินให้ละเอียด แล้วตีแปลงยกร่อง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นช่วยบำรุงธาตุอาหาร ไม่นิยมใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ เพราะมักมีเชื้อราเยอะ
ในช่วงย้ายมาปลูกในแปลงปลูก ควรให้อะบาเม็กซิน ช่วยกำจัดเพลี้ยไฟระยะอนุบาล ฉีดพ่น 5 วันครั้ง, 10 วันครั้ง, 15 วันครั้ง
คอยดูแลควบคุมโรคและแมลงระยะอนุบาล ตามการสังเกต
ให้น้ำแบบหยด เช้า เที่ยง เย็น ช่วงละ 5 นาที ทุกวัน/สำหรับการให้น้ำนอกโรงเรือน สามารถใช้น้ำระบบพุ่งหรือน้ำหยดลงดินได้โดยตรง ต้นแตงโมจะได้แสงและน้ำดีกว่าในโรงเรือน จึงเจริญเติบโตดีกว่าในโรงเรือน
ระยะ 15 วัน สำหรับพื้นที่นอกโรงเรือน จะพบแมลงรบกวนต้นอ่อนแตงโม สามารถให้อะบาเม็กซินหรือใช้น้ำหมัก (ยูคาลิปตัส ผสมกับสะเดา เพื่อไล่แมลง เพลี้ย หรือแมลงเต่าทองได้) อาจใช้น้ำส้มควันไม้ช่วยไล่เพลี้ยหนอน ผสมน้ำฉีดพ่น ทุก 3-5 วัน
ระยะที่แตงโมออกดอก ให้ฟอสฟอรัสเพื่อเร่งดอกสำหรับผสมเกสร ให้สังเกตว่าข้อที่เหมาะจะเลี้ยงให้ติดผลแตงโมนั้นควรเป็น ข้อที่ 15 ขึ้นไป ที่จะเจริญเติบโตได้ดี ลูกจะไม่บิดเบี้ยว ซึ่งเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จากซินเจนทา เพื่อให้ลูกแตงโมบำรุงได้เต็มที่
ระยะ 25-30 วัน ให้ผสมเกสรตัวผู้จากแตงโมตอร์ปิโด พันธุ์โบอิ้ง 787 (การผสมข้ามสายพันธุ์ จะทำให้ผลผลิตแตงโมที่ได้ไร้เมล็ด)
เมื่อแตงโมติดลูก บำรุงด้วยการให้ปุ๋ยเกล็ด (แคลเซียมโบรอน) ที่ช่วยบำรุงผล ให้สีแดง เนื้อแน่น กรอบ และหวาน ผลไม่แตก ช่วยในเรื่องโครงสร้างของเปลือกแตงโมให้แข็งแรง
ทำตาข่ายเสริมแขวนลูก ตั้งแต่ลูกแตงโมขนาดเท่ากำปั้นเพื่อพยุงไม่ให้หล่น หากมีน้ำหนักมาก
เก็บเกี่ยวผลผลิต อายุ 45-55 วัน

คนยุคใหม่ทำเกษตร ต้องสร้างตลาดเองถึงจะอยู่ได้

อย่างที่ทราบกันว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มักประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่วนหนึ่งอาจขาดความรู้ในด้านของตลาด ปลูกได้ ทำได้ แต่ขายไม่ได้ คุณภัคพลได้ฝากข้อคิดดีๆ ว่า สิ่งสำคัญในการทำเกษตรนอกจากเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว หัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การตลาด ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูก หรือทำอะไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลด้านการตลาด หรือปลูกอันนี้แล้วเราสามารถขายได้ที่ไหนบ้าง หรือนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ยกตัวอย่าง ที่เกาะแก้วฟาร์ม คุณภัคพลมีการวางแผนการตลาด นำผลผลิตตกเกรดมาแปรรูปคั้นเป็นน้ำแตงโมขายขวดละ 25 บาท หรือนำมาทำเป็นของหวาน “แตงโมบอล” 1 ลูก สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 300 บาท และในปัจจุบัน คุณภัคพลมีเครือข่ายส่งผลผลิตแตงโมไร้เมล็ดกว่า 11 สาขา มีสาขาที่ร้อยเอ็ด 3 สาขา ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขา ผู้ร่วมธุรกิจที่อุบลฯ 1 สาขา ร้านหลานชายที่ระยองอีก 5 สาขา ซึ่งสาขาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของเกาะแก้วฟาร์มทั้งนั้น นอกจากนี้ ที่ฟาร์มยังมีแตงโมสี่เหลี่ยม น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม ประกาศขายทางเฟซ ลูกละ 999 บาท มีลูกเดียว หมดตั้งแต่วันแรก แสดงว่าถ้าเราทำแตงโมสี่เหลี่ยมได้ มีพื้นที่ 1 ไร่ ผลิตแตงโมได้ 100 ลูก ลองคิดดูว่า 1,000×100 ได้เท่าไรครับ คุณภัคพล ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณประทุม สุริยา บ้านเลขที่ 236 หมู่ที่ 2 บ้านสันป่ายาง ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50330

อาชีพเดิมเป็นครูสอนวิชาเคมี ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และลาออกมาทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 และเป็นวิทยากรในรายการ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบประชาชน”

ในช่วงรับราชการ คุณประทุมได้เสนองานวิจัยกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยได้ศึกษาเปรียบเทียบเกษตรกรไทยและเกษตรกรในทวีปยุโรป ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรในทวีปยุโรปไม่มีหนี้สินและมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ส่วนเกษตรกรของไทยทำการเกษตรอย่างไม่เป็นระบบ มีหนี้สิน คุณประทุมจึงน้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฎีใหม่มาทดลองทำจริงในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากการขุดสระ ทำถนนรอบขอบแปลง แต่ยังทำการเกษตรเคมีอยู่ และได้ทำบัญชี รับ-จ่าย ในครัวเรือนควบคู่ไปด้วย เมื่อเห็นรายรับ-รายจ่าย ทำให้รู้ว่าการที่ชาวนาขาดทุนเป็นเช่นไร ถ้ายังคงใช้สารเคมีอยู่คงไปไม่รอดแน่ จึงตัดสินใจทำสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ในเชิงนิเวศและชีวบำบัด โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนจากพืช และใช้วัสดุภายในท้องถิ่นมาปรับปรุงบำรุงดิน จัดระบบสิ่งแวดล้อมให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีความเกื้อกูลกัน ทำระบบบัญชีควบคุมการใช้จ่ายเงิน และจัดระบบน้ำ เมื่อประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตรดังกล่าว ได้เผยแพร่องค์ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่มาศึกษาเรียนรู้โดยไม่หวังผลตอบแทน

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณประทุม ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่องการปลูกข้าว แนวทางการทำการเกษตรของคุณประทุม จะไม่ใช้สารเคมี โดยคุณประทุมเรียกแนวทางดังกล่าวว่า “สวนชีวนิเวศ ชีวบำบัด” คือใช้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มาเกื้อกูลกัน โดยในสวนรอบนอกปลูกต้นสะเดา ใต้ต้นสะเดาเป็นตะไคร้หอม มะแว้งขม รอบขอบนาจะปลูกมะนาวน้ำหอม ข้าวในนามี 11 สายพันธุ์ จะมีข้าวตระกูลมะลิ 4 สายพันธุ์ คือ มะลิขาว มะลิมันปู มะลิกุหลาบแดง และมะลิหอมนิล ข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีก 4 สายพันธุ์ คือ ข้าวเทา ข้าวอิแหล่งส้ม ข้าวสามกษัตริย์ และข้าวเหนียวดำ นอกจากนี้ ก็มีข้าวธรรมดาอีก 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และข้าว กข 6

คุณประทุมปลูกสะเดารอบขอบนาเพื่อป้องกันแมลง และนำมาทำเป็นน้ำหมักไล่แมลง เมล็ดสะเดาใช้ทำเป็นยาไล่แมลงได้ สำหรับการปลูกตะไคร้หอมใต้ต้นสะเดานั้น เพื่อช่วยไล่แมลงเช่นเดียวกัน นอกจากการปลูกพืชที่แมลงไม่ชอบดังกล่าวแล้ว ยังใช้สัตว์ป้องกันกำจัดกันเองอีกด้วย โดยจะมีตัวห้ำ ตัวเบียน เมื่อแมลงวันทองหลงเข้าไปก็จะมีตัวเบียน ตัวคล้ายต่อคอยขย้ำแมลงวันทอง

ส่วนปุ๋ยจะเป็นปุ๋ยที่มาจากสิ่งมีชีวิต คือ พืชตระกูลถั่ว หรือทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุ เช่น ก่อนที่จะปลูกข้าวก็จะปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนเป็นการตัดวงจรชีวิตและกำจัดโรคพืชด้วย โดยใช้เวลาในการปลูก ประมาณ 25-30 วัน จะตัดต้นถั่วแล้วสับกลบลงไปในดินเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจน

คุณประทุมยังทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ กากถั่วเหลือง รำข้าว แกลบดำ และแกลบหยาบ สำหรับวิธีปรับปรุงดินของคุณประทุมนั้น เกษตรกรที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำเองได้ คือ ช่วงเตรียมดินจะใช้การล่อเชื้อจากสิ่งที่ต้องการจะปลูก เช่น หากต้องการปลูกข้าว ก็ใช้การล่อเชื้อจากต้นข้าว วิธีการคือ หลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้วจะมีตอซังที่ยังสดอยู่ ช่วงเวลาประมาณ ตี 3 ตี 4 จะเกี่ยวต้นข้าวมามัด จากนั้นก็จะใช้ข้าวเหนียวที่อุ่นๆ ประคบตรงแผลรอยตัด ใช้ถุงหุ้มทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน เมื่อเปิดออกมาจะมีเชื้อสีขาวอยู่ เป็นจุลินทรีย์ที่มีภูมิต้านทานจากข้าว ในกรณีที่จะนำไปใช้ในพืช จะเอาจากกล้วยหรือขุยไผ่ มาล่อเชื้อเพื่อที่จะทำเป็นหัวเชื้อ โดยกล้วยจะเอาหน่อกล้วยมาแล้วหุ้มด้วยข้าว แต่ขุยไผ่จะขุดดินที่ใต้ต้นไผ่เอามาทำเป็นหัวเชื้อ

ส่วนดินในนานั้น คุณประทุมก็มีเทคนิคง่ายๆ คือ ปลูกมะนาวน้ำหอม 40 ต้น รอบคันนาช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลมะนาวแก่ก็จะร่วงลงในนา ซึ่งจะเป็นการช่วยปรับค่า pH ได้ประมาณ 6.2 ดังนั้น ข้าวจึงไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงรบกวน และที่สำคัญน้ำมะนาวนี้เมื่อแช่ในน้ำนานๆ จะมีกลูโคสทำให้ข้าวมีน้ำตาลกลูโคส ดังนั้น ข้าวในนาของที่นี่จะหวานกว่าข้าวที่อื่นๆ วิธีนี้เป็นการให้ความหวานตามธรรมชาติ

จุดเด่นของสวนชีวนิเวศชีวบำบัดอีกอย่างคือ ระบบน้ำ ซึ่งการใช้ระบบน้ำโดยทั่วไปเกษตรกรรายอื่นจะเอาน้ำมาเก็บไว้ แต่ที่สวนของคุณประทุม ก่อนที่จะเอาน้ำจากแม่น้ำมาใช้ จะดักตะกอนก่อนเพื่อจับสารเคมีเบื้องต้น หลักของการทำการเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นการลดใช้สารเคมีสังเคราะห์ และมองข้ามการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม น้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของพืชและสัตว์ที่ไหลมาในแม่น้ำลำคลอง จะมีสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์เจือปน โดยเฉพาะดินโคลน สารเคมีดินโคลนจะมีผลกระทบต่อผืนดินส่วนหน้าและทำให้คลองหรือสระน้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกบ่อยครั้ง เพื่อทำให้น้ำไหลไปได้สะดวก

คุณประทุมมีวิธีการจัดการน้ำคือ ก่อนจะนำน้ำเข้าร่องน้ำในสวน จะทำหลุมดักไว้ทุกระยะ 8 เมตร จะมี 1 ช่อง ที่จะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร ด้านข้างของร่องหลุม ลึก 2 ข้าง ให้ก่ออิฐมอญให้สูงกว่าน้ำไหลผ่าน น้ำที่ผ่านหลุมจะทำให้ดินโคลนตกตะกอน พืชชั้นต่ำที่เกาะอิฐมอญจะดูดสารเคมีไว้บางส่วน จนกระทั่งหลุมสุดท้ายน้ำจะใสสารเคมีจะลดลง ตะกอนที่ตกในหลุมน้ำด้วยระบบนี้คือ ไม่ต้องเสียเงินขุดลอกนาบ่อยๆ เมื่อตะกอนตกลงที่หลุมก็ตักออกจากหลุม ซึ่งสะดวกกว่าการไปขุดลอกออกจากท้องนา

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณประทุม ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก ความมีเหตุผล คุณประทุมต้องการพิสูจน์ให้ผู้คนในสังคมไทยเห็นว่า เกษตรกรสามารถปราศจากหนี้สินและรวยได้ ดังนั้น จึงหาทางลดต้นทุนและเพิ่มรายได้อยู่ตลอด อย่างเช่น ซื้อเครื่องทำข้าวกล้องมาสีเองแทนที่จะขายข้าวเปลือกให้โรงสีในราคาถูก ราคาเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเท่านั้น แต่พอมาสีเพื่อจำหน่ายเอง จำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ที่สำคัญผลิตไม่พอขาย ต้องสร้างเครือข่ายขึ้นมา และที่ผ่านมาคุณประทุมได้ปฏิบัติกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จได้ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน เพราะสามารถรู้ต้นทุนในการผลิตและรู้ยอดขายเพื่อจะลดต้นทุน และสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ โดยใช้แรงงานในครอบครัวทั้งหมด นอกจากนี้

ยังแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัยเลี้ยงสัตว์ โดยการเลี้ยงไก่แจ้ ขายไข่ปีหนึ่งได้เกือบแสนบาท ปลาที่อยู่ในสระและที่อยู่ในนาข้าวปีหนึ่งขายได้เงินเกินแสน ส่วนในแปลงเกษตรมี 5 กิจกรรม คือ นาข้าว ถั่วเหลือง ไม้ผล ปลา และไก่ รวมสร้างรายได้เกินห้าแสนบาท สำหรับไม้ผลมีตั้งแต่ไม้พื้นเมือง เช่น มะหนอด มะแขวน ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม ไม้สากลเป็นไม้เมืองหนาว เช่น ลูกพลับ อะโวกาโด ทุกวันจะมีรายได้ถัวเฉลี่ย ประมาณ 700 บาท โดยมีหลักสำคัญคือ จะต้องรู้จักการทำแผน ต้องทำโครงการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย จะทำอะไรต้องมีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ ต้องมีการจดบันทึกในกิจกรรมที่ทำว่าวันนี้เป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ข้อสำคัญต้องทำบัญชี ต้องรับรู้ในเรื่องของการลงทุน ต้องมีความอดทน ซึ่งการทำการเกษตรนั้นจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอยู่เสมอ เกษตรกรต้องเข้มแข็ง อดทน และเอาใจใส่ทุกขั้นตอน

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณคำสิงห์ มาลาหอม มีอาชีพทำนาและทำไร่ปอ อยู่บ้านเลขที่ 12 หมู่ที่ 8 บ้านน้ำเที่ยง ตำบลหนองกุงสวรรค์ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม 44140 แต่สภาพพื้นที่ดินในหมู่บ้านน้ำเที่ยง มีความแห้งแล้งและกันดารมาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เนิน (พื้นที่เขตป่า) ขาดแหล่งน้ำ ทำนาทำไร่ยากลำบากมาก เพราะมีน้ำน้อย ทำให้รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ต่อมาได้มีโอกาสไปฝึกอบรมแนวทางตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ที่จังหวัดมหาสารคาม 4 วัน 3 คืน ในหลักสูตรมีการเรียนการสอนเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการทำมาหากิน จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือชนิดเดียวให้หันมาปลูกพืชหลายๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน ทำให้ครอบครัวมีพืชผัก มีอาหารกินที่หลากหลายหลังจากการฝึกอบรม จึงกลับมาทำตามพร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจนมีความชำนาญเรื่องสมุนไพรและการทำการเกษตรแบบผสมผสาน การใช้ตอซังข้าวเพื่อหมักจุลินทรีย์ทดแทนขี้เลื่อย การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ การผลิตผักปลอดสารพิษ การผลิตเชื้อเห็ดนางฟ้า และเห็ดขอนขาว

คุณคำสิงห์ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง เกษตรผสมผสาน หรือที่เรียกว่าไร่นาสวนผสม เนื่องจากเป็นระบบการเกษตรที่มีเป้าหมายเพื่อการยังชีพ หรือเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆอย่างรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน สำหรับใช้บริโภคในครัวเรือนและในกิจกรรมการผลิตแบบผสมผสานเกื้อกูลกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผลต่างๆ ไว้บริโภคในครัวเรือน เหลือจึงแบ่งปันเพื่อนบ้าน และนำไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อเป็นรายได้ให้กับครอบครัว

มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง มีทั้งปุ๋ยแห้งและปุ๋ยน้ำชีวภาพเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต มีการเลี้ยงไก่ตามธรรมชาติโดยให้หาอาหารกินเอง และใช้ไฟล่อแมลงเพื่อเป็นอาหารให้ไก่ นอกจากนี้ยังขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกกล้วย อ้อย มันสำปะหลัง โดยใช้น้ำหมักชีวภาพสูตรเนื้อ นม ไข่ ในการฉีดพ่นบำรุงรักษา ซึ่งก็ช่วยให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ ผลผลิตที่ได้ก็จะไว้ใช้ในครัวเรือน และยังนำผลผลิตที่เหลือไปจำหน่ายยังโรงงานและตลาดนัดในชุมชน ผลผลิตที่ได้จะเป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากไม่ใช้สารเคมี คุณคำสิงห์ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรจนประสบผลสำเร็จ และได้นำความรู้มาเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรในชุมชน และเกษตรกรที่สนใจสามารถนำความรู้กลับไปปฏิบัติโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เป็นหนี้สินทำให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข สามารถพึ่งพาตนเองได้

คุณคำสิงห์ ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก ความพอประมาณ โดยจะต้องมีความพอดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ใช้ชีวิตให้อยู่ได้โดยไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีความรอบคอบ ไม่ทำในสิ่งที่ใหญ่เกินตัว ต้องมีความประมาณตนว่าเรามีศักยภาพมากแค่ไหน โดยอาศัยความรู้คู่คุณธรรมในการดำเนินชีวิต และการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาอาชีพของตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ถามเพิ่มเติมกับคุณคำสิงหืได้ที่ โทรศัพท์ (087) 927-7152

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คุณชัยวัฒน์ แดงดอนไพร อยู่บ้านเลขที่ 164/1 หมู่ที่ 4 ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เบอร์โทรศัพท์ (089) 817-2066 ประกอบอาชีพเกษตรกรรมการทำไร่อ้อยกว่า 25 ปี บนพื้นที่กว่า 120 ไร่ ในพื้นที่ตำบลกระตีบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

เดิมผู้เป็นพ่อของคุณชัยวัฒน์ ทำไร่อ้อยอยู่แล้ว จนมาถึงรุ่นลูกก็ทำไร่อ้อยจนถึงปัจจุบัน ลักษณะนิสัยเกษตรกรคนนี้ เป็นคนขยัน ศึกษาค้นหาความรู้เพิ่มเติมในการประกอบอาชีพเสมอ เมื่อมีการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยที่ไหนก็จะเข้าร่วมเสมอ ยอมรับเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ อีกทั้งมีน้ำใจถ่ายทอดความรู้/แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และเกษตรกรผู้สนใจอีกด้วย

แต่เดิมคุณชัยวัฒน์ ปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น แต่ประสบปัญหาที่พันธุ์ขอนแก่นไม่ทนต่อน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ได้รับความเสียหายได้ง่าย จึงศึกษาหาข้อมูลหันมาปลูกพันธุ์ลำปาง (LK 92-11) ปลูกแล้วทนต่อน้ำท่วมขังและทนต่อความแห้งแล้ง ให้ผลผลิตสูง 16-19 ตัน ต่อไร่ ความหวาน 12-13 CCS. แตกกอมาก (6-8 ลำ ต่อกอ หรือ 13,000 ลำ ต่อไร่) ขนาดลำปานกลาง (เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.6-2.8 เซนติเมตร) ลำสีเหลืองปนเขียว ทรงปลายโต เนื้อไส้จุด การไว้ตอดี งอกเร็ว กาบใบร่วงหลุดง่าย ใบสีเขียวปนเหลือง-กว้างปานกลาง-ยาวปานกลาง-ชี้โค้ง (ใบเหี่ยวง่าย) เหมาะสมกับดินร่วน ดินร่วนทราย และดินร่วนเหนียว เหมาะสมสำหรับปลูกข้ามแล้ง ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง ต้านทานปานกลางต่อโรคกอตะไคร้ โรคแส้ดำ โรคใบจุดเหลือง โรคใบราสนิม และต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะลำต้น และแมลงหวี่ขาว

เทคโนโลยีการผลิตอ้อยของเกษตรกรรายนี้ เมื่อก่อนจะปลูกแบบยกร่อง ระยะห่างต่อร่อง 1.20 เมตร ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการใช้เครื่องจักรในการเข้าทำงาน ทำให้รากอ้อยขาด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอ้อยลดลง และมีปัญหาเรื่องแรงงานหายาก ค่าจ้างแรงงานสูง และต้นทุนการผลิตอ้อยก็สูงด้วย แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนระยะห่างระหว่างร่องเป็น 1.50 เมตร ปรับพื้นที่ให้ลาดเอียง เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องจักรในการเตรียมดินปลูก การเก็บเกี่ยว ตลอดจนสะดวกต่อการให้น้ำและระบายน้ำ การปลูกมีการไถดะ 1 ครั้ง และไถแปร 1 ครั้ง โดยไม่มีการเผาใบอ้อย เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินและเป็นการเพิ่มปุ๋ยในดิน การปลูกแบบไม่ต้องชักร่อง ระยะปลูกระหว่างแถวห่าง 1.50 เมตร ในแต่ละแถวจะวางอ้อยเป็น 2 แถว โดยใช้รถแทรกเตอร์ปลูกเพื่อลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้อัตราส่วน 8,000 ท่อน ต่อไร่ ขณะปลูกใช้ปุ๋ย สูตร 16-8-8 อัตราส่วน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ผสมกับยาฟิโพรนิล อัตราส่วน 1 กิโลกรัม ต่อไร่ รองพื้น เมื่ออ้อยอายุได้ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 สูตร 21-0-0 อัตราส่วน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้รถไถพรวนระหว่างร่องจำนวน 1 ครั้ง ต่อฤดูกาลปลูก การให้น้ำจะเริ่มปล่อยน้ำตั้งแต่หัวแปลงลงตามร่องอ้อยที่มีการไถพรวนและยกเป็นร่อง โดยจะให้น้ำจำนวน 3 ครั้ง ต่อฤดูกาลปลูก เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวจะใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยว ไม่เผาใบอ้อย โดยจะไถกลบเพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นการเพิ่มปุ๋ย เพิ่มธาตุอาหารให้แก่อ้อยในรุ่นต่อไป

สำหรับการจำหน่ายผลผลิตอ้อยของคุณชัยวัฒน์ SaGame จะจำหน่ายโดยการขายยกแปลง ไม่เข้าระบบโควต้าโรงงาน การขายยกแปลงมีข้อดีหลายอย่าง อาทิ สามารถกำหนดราคาขายเองได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดสรรโควต้าเข้าโรงงาน ไม่ต้องรอคิวเข้าโรงงาน ราคาอ้อยจะไม่ผันแปรไปตามคุณภาพหรือค่าความหวาน (Commercial Cane Sugar : C.C.S.) ได้รับเงินเร็ว ได้กำไรต่อไรมากกว่า ลดความเสี่ยงเรื่องความเสียหาย การขายยกแปลงจะเป็นการตกลงราคาระหว่างชาวไร่อ้อยโดยตรงกับพ่อค้าคนกลางมาตีราคาเป็นไร่ และมีการทำสัญญาซื้อขายร่วมกัน ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา ขายไปในราคาไร่ละ 11,750 บาท ต้นทุนการผลิตต่อไร่ เป็นเงิน 5,025 บาท จึงได้กำไรต่อไร่เฉลี่ย 6,725 บาท

ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 25 ลิตร ลิตรละ 20 บาท เป็นเงิน 500 บาท

ค่าจ้างไถพรวน ไร่ละ 350 บาท

ค่าจ้างกลบร่อง ไร่ละ 250 บาท

ค่ายาฆ่าแมลง ไร่ละ 170 บาท

รวมต้นทุนการผลิตต่อไร่ เป็นเงิน 5,025 บาท

แลกเปลี่ยนข้อมูล ถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับคุณชัยวัฒน์ ได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (089) 817-2066