พลิกผืนนา ปลูกแตงโมแฮปปี้แฟมิลี่ 2 ปี จับเงินล้าน

คุณภัคพล เริ่มต้นด้วยเงินทุนส่วนตัว 300,000 บาท ลงทุนปลูกเมล่อนในโรงเรือนระบบน้ำหยดของตนเอง 2 โรงเรือน และได้สืบเสาะหาเมล็ดพันธุ์แตงโมไร้เมล็ด พันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่มาปลูก ผลที่ได้ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง เนื่องจากเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

ได้คำแนะนำของตัวแทนจำหน่ายเมล็ดพันธุ์บอกว่า ให้คุณภัคพล ติดต่อเข้าไปที่ บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดแตงโมพันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่ในประเทศไทย หลังจากนั้น ซินเจนทาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำการเพาะเมล็ดและการปลูก การบำรุง เพื่อให้แตงโมที่ได้มีขนาดและน้ำหนักตามมาตรฐานของพันธุ์ คุณภัคพลจึงปรับวิธีการปลูก การดูแล บำรุง ตามขั้นตอนและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของซินเจนทาควบคู่ไปกับเกษตรแนวใหม่ผสมผสาน จนวันนี้พื้นที่ 40 ไร่ ปลูกแตงโมทั้งหมด มีทั้งปลูกในโรงเรือนและพื้นที่ฟาร์มปิด

โดยคุณภัคพล เล่าถึงเส้นทางความเติบโตของฟาร์มว่า ด้วยคุณสมบัติของแตงโมไร้เมล็ด ตลาดมีความต้องการมาก แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าแตงโมพันธุ์อื่น แต่รสชาติที่สามารถควบคุมได้สม่ำเสมอ และน้ำหนักดี ทำให้ขายดีจนไม่พอขาย

“แตงโมแฮปปี้แฟมิลี่ จะต้องใช้ความพิถีพิถันในการดูแลตั้งแต่การเพาะเมล็ด การแยก และการบำรุง มากกว่าแตงโมพันธุ์อื่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ต้องนำเกสรตัวผู้มาผสมกับเกสรตัวเมียทุกดอก เพื่อให้ผลแตงโมที่ได้เป็นแตงโมไม่มีเมล็ด และต้องคอยลิดลูกที่อยู่ในตำแหน่งดอกที่ไม่สมบูรณ์ออก ให้คัดไว้เฉพาะลูกที่จะบำรุง จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต เข้าใจง่ายๆ คือ 1 ต้น ต่อ 1 ลูก แต่เป็น 1 ลูก ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 4-6 กิโลกรัม ราคาขายส่งอยู่ที่ 25 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกหน้าฟาร์มอยู่ที่ กิโลกรัมละ 40 บาท โดยใน 1 ไร่ จะได้ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,000 กิโลกรัม

มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ที่ฟาร์มของผมจะปลูกได้ประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อปี โดยจะพักดินประมาณ 15 วัน ในขณะที่หากปลูกข้าว ข้าวเปลือกจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท สภาพดินของพื้นที่อำเภอเสลภูมิ มีลักษณะดินร่วนปนทราย ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว ปลูกได้เพียงครั้งเดียว เพราะมีปัญหาเรื่องน้ำอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ แต่เมื่อหันมาปลูกแตงโมที่เหมาะสมกับสภาพดิน และใช้น้ำน้อย แถมยังได้ราคาดีกว่า ทำให้คนในพื้นที่หันมาปลูกแตงโมไร้เมล็ดมากยิ่งขึ้น” เจ้าของเล่า

นับจากวันที่คุณภัคพลเริ่มปลูกจนถึงวันนี้เป็นเวลา 2 ปี ก็สามารถสร้างมาตรฐานให้กับกลุ่มผู้ผลิตแตงโมเกาะแก้วฟาร์ม ด้วยมาตรฐานการดูแลการผลิต ควบคุมการใช้สารอารักขาพืช ตลอดจนความใส่ใจในการบำรุงด้วยฮอร์โมน และดูแลโรคแมลงด้วยวิธีการผสมผสาน จนทำให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ GAP และเกาะแก้วฟาร์ม ได้เป็นตลาดเกษตรประชารัฐของอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

โดยมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมไร้เมล็ดเข้าร่วมวันนี้แล้ว พื้นที่รวมกว่า 100 ไร่ มีเกาะแก้วฟาร์มเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกแตงโมไร้เมล็ดแฮปปี้แฟมิลี่ของจังหวัดร้อยเอ็ด ผลผลิตที่ออกในแต่ละครั้งแทบจะไม่พอขาย เพราะพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อผลผลิตถึงหน้าฟาร์ม คุณภัคพล จึงมีเป้าหมายในการให้ความรู้อบรมขยายผลให้แก่เกษตรกรที่สนใจในพื้นที่มาเรียนรู้การปลูก การดูแล ความรู้ในการใช้แนวเกษตรผสมผสาน ผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทั้งหมด

วิธีการปลูกแตงโมไร้เมล็ด

เพาะเมล็ดบนถาดเพาะ ใช้วัสดุเพาะกล้า บ่มไว้ 3 วัน จนมีรากงอก แล้วเปิดผ้าออก รดน้ำให้รากงอกยาวขึ้น จนกล้าอายุ 15 วัน จึงย้ายไปลงแปลงปลูก
เตรียมดินร่วนปนทราย หากปลูกในโรงเรือน ให้ย้ายลงปลูกในกระถาง วางกระถางระยะ 50×50 เซนติเมตร (โรงเรือน ขนาด 10×20 เมตร) จะได้แตงโม 500 ต้น โดย 400 ต้น จะเป็นแตงโมพันธุ์แฮปปี้แฟมิลี่ อีก 100 ต้น เป็นตอร์ปิโด เพื่อใช้เป็นเกสรผสมดอกพันธุ์ไร้เมล็ด หากเป็นพื้นที่นอกโรงเรือน 1 ไร่ จะปลูกได้ 1,000 ต้น มีแตงโมตอร์ปิโด 300 : 700 ต้น/เตรียมดินนอกโรงเรือน ไถปรับสภาพ ทิ้งไว้ 7 วัน ไถปั่นดินให้ละเอียด แล้วตีแปลงยกร่อง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รองพื้นช่วยบำรุงธาตุอาหาร ไม่นิยมใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ เพราะมักมีเชื้อราเยอะ

ในช่วงย้ายมาปลูกในแปลงปลูก ควรให้อะบาเม็กซิน ช่วยกำจัดเพลี้ยไฟระยะอนุบาล ฉีดพ่น 5 วันครั้ง, 10 วันครั้ง, 15 วันครั้ง
คอยดูแลควบคุมโรคและแมลงระยะอนุบาล ตามการสังเกต
ให้น้ำแบบหยด เช้า เที่ยง เย็น ช่วงละ 5 นาที ทุกวัน/สำหรับการให้น้ำนอกโรงเรือน สามารถใช้น้ำระบบพุ่งหรือน้ำหยดลงดินได้โดยตรง ต้นแตงโมจะได้แสงและน้ำดีกว่าในโรงเรือน จึงเจริญเติบโตดีกว่าในโรงเรือน

ระยะ 15 วัน สำหรับพื้นที่นอกโรงเรือน จะพบแมลงรบกวนต้นอ่อนแตงโม สามารถให้อะบาเม็กซินหรือใช้น้ำหมัก (ยูคาลิปตัส ผสมกับสะเดา เพื่อไล่แมลง เพลี้ย หรือแมลงเต่าทองได้) อาจใช้น้ำส้มควันไม้ช่วยไล่เพลี้ยหนอน ผสมน้ำฉีดพ่น ทุก 3-5 วัน
ระยะที่แตงโมออกดอก ให้ฟอสฟอรัสเพื่อเร่งดอกสำหรับผสมเกสร ให้สังเกตว่าข้อที่เหมาะจะเลี้ยงให้ติดผลแตงโมนั้นควรเป็น ข้อที่ 15 ขึ้นไป ที่จะเจริญเติบโตได้ดี ลูกจะไม่บิดเบี้ยว ซึ่งเป็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จากซินเจนทา เพื่อให้ลูกแตงโมบำรุงได้เต็มที่

ระยะ 25-30 วัน ให้ผสมเกสรตัวผู้จากแตงโมตอร์ปิโด พันธุ์โบอิ้ง 787 (การผสมข้ามสายพันธุ์ จะทำให้ผลผลิตแตงโมที่ได้ไร้เมล็ด)
เมื่อแตงโมติดลูก บำรุงด้วยการให้ปุ๋ยเกล็ด (แคลเซียมโบรอน) ที่ช่วยบำรุงผล ให้สีแดง เนื้อแน่น กรอบ และหวาน ผลไม่แตก ช่วยในเรื่องโครงสร้างของเปลือกแตงโมให้แข็งแรง
ทำตาข่ายเสริมแขวนลูก ตั้งแต่ลูกแตงโมขนาดเท่ากำปั้นเพื่อพยุงไม่ให้หล่น หากมีน้ำหนักมาก
เก็บเกี่ยวผลผลิต อายุ 45-55 วัน

คนยุคใหม่ทำเกษตรต้องสร้างตลาดเองถึงจะอยู่ได้

อย่างที่ทราบกันว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มักประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่วนหนึ่งอาจขาดความรู้ในด้านของตลาด ปลูกได้ ทำได้ แต่ขายไม่ได้ คุณภัคพลได้ฝากข้อคิดดีๆ ว่า สิ่งสำคัญในการทำเกษตรนอกจากเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคแล้ว หัวใจสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การตลาด ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูก หรือทำอะไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลด้านการตลาด หรือปลูกอันนี้แล้วเราสามารถขายได้ที่ไหนบ้าง หรือนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ยกตัวอย่าง ที่เกาะแก้วฟาร์ม คุณภัคพลมีการวางแผนการตลาด

นำผลผลิตตกเกรดมาแปรรูปคั้นเป็นน้ำแตงโมขายขวดละ 25 บาท หรือนำมาทำเป็นของหวาน “แตงโมบอล” 1 ลูก สามารถเพิ่มมูลค่าได้ถึง 300 บาท และในปัจจุบัน คุณภัคพลมีเครือข่ายส่งผลผลิตแตงโมไร้เมล็ดกว่า 11 สาขา มีสาขาที่ร้อยเอ็ด 3 สาขา ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขา ผู้ร่วมธุรกิจที่อุบลฯ 1 สาขา ร้านหลานชายที่ระยองอีก 5 สาขา ซึ่งสาขาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตของเกาะแก้วฟาร์มทั้งนั้น นอกจากนี้ ที่ฟาร์มยังมีแตงโมสี่เหลี่ยม น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม ประกาศขายทางเฟซ ลูกละ 999 บาท มีลูกเดียว หมดตั้งแต่วันแรก แสดงว่าถ้าเราทำแตงโมสี่เหลี่ยมได้ มีพื้นที่ 1 ไร่ ผลิตแตงโมได้ 100 ลูก ลองคิดดูว่า 1,000×100 ได้เท่าไรครับ คุณภัคพล ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้

ชาวนาครวญ! ราคาข้าวเหนียวดิ่งวูบ เหลือกิโลละ 7 บาท แย้งปีทองรัฐบาล
วันที่ 20 พ.ย. นางดวงตา ตันโช ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะธรรมาภิบาลจังหวัดพะเยาลงพื้นที่เยี่ยมชมและสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับราคาข้าว ที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ลูกค้า ธ.ก.ส. พะเยา จำกัด (สกต.) บ้านสันจกปก อ.ดอกคำใต้ และ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ลูกค้า ธ.ก.ส. พะเยา จำกัด อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

จากการเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สกต. ทั้ง 2 แห่ง ได้พบปะสอบถามชาวบ้านที่นำข้าวมาขาย ก็ทราบว่าพึงพอใจในราคาและวิธีการรับซื้อของทั้ง 2 สกต. แต่ก็มีปัญหาเรื่องการทำนาแปลงใหญ่ สาเหตุจากไม่มีแหล่งน้ำ ส่วนผู้บริหารทั้ง 2 แห่ง และผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้นำเสนอปัญหาการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เรื่องชะลอการขายข้าวของชาวนา ทั้งนี้ เนื่องจากโกดังที่เก็บมีไม่เพียงพอ สาเหตุสืบเนื่องจากการจำนำข้าวในอดีตที่ผ่านมายังไม่เสร็จสิ้น ข้าวที่มีปัญหายังอยู่ในโกดัง ไม่สามารถจะใช้โกดังได้ อีกทั้งนโยบาย “แก้มลิงข้าว” ก็ไม่ชัดเจน ไม่สามารถดำเนินการได้

โดยเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาราคาข้าวเหนียวว่า สำหรับที่มีการพูดว่า ปีนี้เป็น “ปีทองของชาวนา” ก็เช่นกัน ชาวนายังพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะเป็นปีทองเฉพาะข้าวเจ้า หรือข้าวหอมมะลิ แต่ข้าวเหนียวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนภาคเหนือ ราคาเพียง กิโลกรัมละ 7 บาท ซึ่งต่ำกว่าข้าวเจ้าครึ่งต่อครึ่ง จึงขอให้ทางรัฐบาลได้ให้ความสนใจและปรับราคาให้เท่าเทียมกัน ซึ่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบปัญหาต่างๆ แล้วรับปากจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ก่อนเข้าถึงเนื้อหา ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า อำเภอสะเมิง เป็นพื้นที่ภูเขาสูง ฉะนั้น จะมีพื้นที่ราบสำหรับทำนาน้อย จะได้ข้าวประมาณ 100 ถัง ขายได้เงินประมาณ 10,000 บาท เมื่อปี 2557 สถาบัน IQS เข้ามาส่งเสริมการผลิตหญ้าหวาน จึงตัดสินใจทดลองปลูก จำนวน 1 ไร่ จนถึงปัจจุบันเปรียบเทียบแล้วมีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวถึง 7 เท่า ต่อปี

หญ้าหวานนั้น หลังจากปลูกได้ 30 ถึง 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยทยอยเก็บทุกวัน ส่วนหญ้าหวานสด 10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งในโรงเรือนหลังคาพลาสติก หากแดดจัด ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จะเหลือน้ำหนักแห้ง ประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม คุณภาพของหญ้าหวานจะแตกต่างกัน ในแต่ละฤดูกาลคือ หน้าร้อนและหน้าฝนใบจะบางต้นสูง แต่หน้าหนาวใบจะหนาต้นจะเตี้ย หญ้าหวานถือเป็นพืชทนแล้ง จากช่วงแล้งที่ผ่านมาไม่มีน้ำรดระยะเวลาเป็นเดือนก็ไม่ได้รับผลกระทบ สามารถปลูกเป็นพืชทางเลือกทดแทนข้าวที่มีปัญหาด้านราคาอยู่ในขณะนี้ และเป็นพืชทนแล้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อีกด้วย

คุณละออง ศรีวรรณะ เกษตรกรบ้านอมลอง บ้านเลขที่ 94 หมู่ที่ 2 ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ผลิตหญ้าหวานมาตรฐานออร์แกนิกไทยแลนด์ โดยการส่งเสริมของสถาบันตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (IQS) เล่าให้ฟังว่า เดิมตนเองทำนา 1 ไร่ครึ่ง

คุณละออง เล่าต่อว่า จากการประสานงานของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (IQS) ที่นอกจากจะดูแลการปลูกและดูแลรักษาเพื่อให้ได้มาตรฐานพืชสมุนไพรอินทรีย์แล้ว ยังมีงานวิจัยเพื่อต่อยอดให้กับเกษตรกร เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น โดยวิจัยความหวานของหญ้าหวาน ยกตัวอย่าง บดเฉพาะใบ บดก้านผสมใบ ว่าความหวานอย่างไหนจะดีกว่ากัน ในกลุ่มของคุณละออง จำนวน 7 คน กำลังเตรียมสร้างโรงงานเพื่อขอรับมาตรฐานโรงงาน (GMP)

หากพูดถึงความหวานเป็นรสที่คนขาดไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก จึงเลือกบริโภคเครื่องดื่มโดยพิจารณาสารปรุงแต่งรสหวานที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มหันมาสนใจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนสารสังเคราะห์มากขึ้น

คุณรัชนีวรรณ์ เป็งพรม หรือ คุณแก้ว ได้ให้ข้อมูลหญ้าหวานว่า เป็นพืชที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติ ใบหญ้าหวานสด สกัดด้วยน้ำได้สารหวานแห้ง ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งสารหวานนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150-300 เท่า และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัว หรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร

สารให้ความหวานจากหญ้าหวานเป็นสารสกัดที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะเมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันที ไม่มีการสะสม จึงเหมาะกับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ที่เป็นเบาหวาน ที่ยังต้องการรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม

รูปแบบของหญ้าหวานที่คนนิยมรับประทานกัน มี 2 แบบ คือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเติมรสหวานเป็นชาสมุนไพร ยาชงสมุนไพรต่างๆ หรืออาจใช้ในรูปของสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ

หญ้าหวาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Stevia อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลและปารากวัย ซึ่งชาวปารากวัยมีการใช้ใบหญ้าหวานผสมกับชาดื่มมานานกว่า 1,500 ปีแล้ว หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดีเมื่อปลูกในพื้นที่สูง จากระดับน้ำทะเล ประมาณ 600-700 เมตร มีการนำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือ ทางภาคเหนือ และบริเวณเขาใหญ่

หญ้าหวาน เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา หากมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านเป็นพืชผักสวนครัวจะมีประโยชน์มาก เพราะใบสดหรือตากแห้งต้มกับน้ำก็จะให้สารหวานใช้

นอกจากนี้ มีงานวิจัยพบว่า กากหญ้าหวานที่ผ่านการสกัดสารหวาน (ที่พัฒนาเป็นผงแห้งบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหาร) ยังคงมีความหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาลในการให้ความหวานในเครื่องดื่มชาชงได้ ซึ่งบรรจุเป็นถุงสำเร็จพร้อมชงดื่มได้ทุกช่วงเวลา ดื่มได้ง่าย ช่วยดับกระหาย จากการประเมินความพึงพอใจผลิตภัณฑ์จากกากหญ้าหวาน ผสมอัญชัน มะลิ กระเจี๊ยบแดง และเตยหอม พบว่า ชากากหญ้าหวานผสมมะลิซึ่งประกอบด้วยกากหญ้าหวาน 250 มิลลิกรัม และมะลิ 80 มิลลิกรัม เป็นสูตรที่มีสี กลิ่น และรสชาติ เป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด ซึ่งการพัฒนา หาสูตรผสมที่ถูกใจเฉพาะบุคคลก็ทำได้ง่าย

คุณละออง ศรีวรรณะ ฝากไว้ว่า หากใครไปบ้านอมลอง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถแวะเยี่ยมเยือนชมแปลงปลูกหญ้าหวานของคุณละอองเอง หรือของเครือข่าย พร้อมอุดหนุนหญ้าหวานสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ในราคากันเองได้

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง วันที่ 17-18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่บ้านใหม่ร่องกล้า ม. 10 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หมู่บ้านชาวเขาไทยภูเผ่าม้ง ภายในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า “ณเดชน์ คูกิมิยะ” พระเอกหนุ่มขวัญใจของชาวไทย ได้เดินทางมาร่วมเตรียมงานตลาดนัดเด็กดอย ของนักเรียนโรงเรียนบ้านหัวยน้ำไซ สาขาบ้านใหม่ร่องกล้า ที่ในปีนี้เปิดเป็นปีที่ 5 และเตรียมที่จัดพิธีเปิดในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 นี้ เป็นตลาดที่ให้น้องๆ นักเรียน ได้นำสินค้าและผลผลิตทางเกษตรในครอบครัวมาวางจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชม และสัมผัสกับบรรยากาศหนาวเย็นที่ภูหินร่องกล้าปีนี้

ณเดชน์ คูกิมิยะ ได้มาเที่ยวชมธรรมชาติสัมผัสอากาศหนาวและวิถีชีวิตพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ที่บ้านใหม่ร่องกล้าบ่อยครั้ง มีความผูกพันกับชาวบ้านใหม่ร่องกล้าและน้องๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยน้ำไซ สาขาบ้านใหม่ร่องกล้าอย่างมาก ในการเตรียมงานเปิดตลาดนัดเด็กดอย ปีที่ 5 ได้เดินทางมาร่วมประชุมเตรียมการ จัดสถานที่ ถ่ายภาพบรรยากาศไร่สตรอเบอรี่ เพื่อประชาสัมพันธ์ กับคณะทำงานตลาดนัดเด็กดอยหลายครั้ง ร่วมกับผู้นำชุมชนบ้านใหม่ร่องกล้า อบต. เนินเพิ่ม คณะครูโรงเรียนหัวยน้ำไซ สาขาบ้านใหม่ร่องกล้า อช. ภูหินร่องกล้า และโครงการพัฒนาป่าไม้ในพระราชดำริภูหินร่องกล้า

โรงเรียนบ้านห้วยน้ำไซ สาขาร่องกล้าวิทยา ได้เปิดตลาดนัดเด็กดอยมาอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคมของทุกปี จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม 2557 ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวฤดูหนาว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสอากาศหนาวเย็น ได้เลือกซื้อสินค้าของเด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นพืชผัก ผลไม้ ของชาวบ้านในพื้นที่ ของที่ระลึก และของฝาก ที่จะนำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว โดยรายได้เป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนบ้านห้วยน้ำไซ สาขาบ้านใหม่ร่องกล้า และกำหนดจัดพิธีเปิด ในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้กำหนดจัดพิธีเปิดใน วันที่ 5 ธันวาคม 2561

จากนั้น จะเปิดในทุกวันเสาร์และอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดเด็กดอย ที่เป็นน้องๆ นักเรียนบ้านห้วยน้ำไซ สาขาร่องกล้าวิทยา จะใส่ชุดม้งเป็นเอกลักษณ์ และมีกติกาตลาดนัดเด็กดอยทุกคนต้องเคาะระฆังก่อนขึ้น-ลง ทุกครั้งที่เป็นสีสันของตลาดนัดเด็กดอยแห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถไปเลือกซื้อสินค้าของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยน้ำไซ ก็สามารถไปกันได้ที่บริเวณบ้านใหม่ร่องกล้า ทางขึ้นภูลมโล ที่มีดอกนางพญาเสือโคร่งกว่า 2,000 ไร่ ตามวันหยุดดังกล่าว และเชิญชวนอุดหนุนสตรอเบอรี่ พืชผล ผัก เมืองหนาว ที่กำลังออกผลิตผลใหม่ๆ สดๆ จากไร่ ได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน

ราคาพริก ดิ่งเหว กิโลกรัมละ 25 บาท เหลือกิโลกรัมละ 9 บาท ในพื้นที่ จ.ตาก พบปัญหาขาดคนเก็บ เกษตรกรเจ้าของสวนต้องลงแขกช่วยกัน วอนรัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาด้วย
ราคาพริก / เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเข้าฤดูหนาวที่ อ.พบพระ จ.ตาก เกษตรกรเริ่มเก็บผลผลิตพริกต่างๆ แล้ว และปลูกมากที่สุดคือ พริกซุปเปอร์ฮอท ที่ออกผลผลิตมาจำนวนมาก แต่พบว่าเกษตรกรหันมาปลูกพริกกันมากขึ้น ซึ่งปีนี้พริกให้ผลผลิตดีมากอีกด้วย แต่ราคาถูกกว่าปีที่ผ่านมา โดยราคาปัจจุบัน ขายกิโลกรัมละ 14 บาท ค่าคนงาน กิโลกรัมละ 5 บาท เกษตรกรเหลือกิโลกรัมละ 9 บาท

นางเที่ยง สังข์ทัด อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74 ม.6 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ จ.ตาก กล่าวว่า ตนและลูกได้ปลูกพริกซุปเปอร์ฮอท ในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ ลงทุนไป 600,000 บาท โดยวันนี้เก็บพริกซุปเปอร์ฮอทแดง ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 14 บาท เมื่อหักค่าคนงานไป กิโลกรัมละ 5 บาท ก็เหลือ กิโลกรัมละ 9 บาท ถือว่าขาดทุน

นางเที่ยง กล่าวต่อว่า และปีนี้คนงานเก็บพริกหายากมาก เนื่องจากปีนี้ในพื้นที่ อ.พบพระ โดยเฉพาะ ต.รวมไทยพัฒนา และ ต.คีรีราษฎร์ เกษตรกรปลูกพริกกันจำนวนมาก แต่เกษตรกรที่เป็นเจ้าของสวนก็ต้องหันมาช่วยกันคือ ต้องเอาแรง หรือลงแขกช่วยกันเก็บพริกดังกล่าว

ด้าน นางจำลอง หลวงพระบาง อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 101 ม. 6 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ และ นางเน่งน้อย ศรีบัว อายุ 61 ปี อยู่บ้านเลขที่ 139 ม.6 ต.รวมไทยพัฒนา อ.พบพระ ที่มาลงแขกช่วยกันเก็บพริกเอาแรงกัน ทั้ง 2 คน กล่าวว่า ถ้าลงแขกเก็บพริกแบบนี้ก็ไม่รู้จะไปหาคนงานเก็บพริกมาจากไหน จึงต้องลงแขกช่วยกัน จากที่พริกซุปเปอร์ฮอท เก็บขายก่อนหน้านั้นที่ว่าราคาตกต่ำอยู่แล้ว เหลือเพียง ราคากิโลละ 25 บาท เกษตรกรก็ขาดทุนอยู่แล้ว

“มาวันนี้ราคาตกต่ำลงเหลือ 14 บาท หักค่าแรงคนงาน เหลือเพียงกิโลกรัมละ 9 บาท ยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้นอีก ปีที่ผ่านมา ราคาดีและมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน เพื่อส่งออกต่างประเทศ และส่งขายกระจายไปทั่วประเทศ ถือว่าได้กำไรดีมาก ทำให้ปีนี้เกษตรกรหันมาปลูกพริกกันมากขึ้น” นางจำลอง กล่าว

นางจำลอง กล่าวต่อว่า และ อ.พบพระ ถือว่าเป็นพื้นที่ปลูกพริกรายใหญ่ของประเทศ มีเกษตรกรปลูกหลายชนิด มีพริกซุปเปอร์ฮอท พริกม้ง พริกกะเหรี่ยง และพริกยำ พูดใด้ว่าพ่อค้ามารับซื้อพริก มาที่อำเภอพบพระ ไม่ผิดหวัง และวันนี้เกษตรกรประสบปัญหาแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงมาดูแลแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรด้วย