พล.ท. สรรเสริฐ กล่าวว่า ขณะนี้มีคณะกรรมการ 2 คณะ คือ

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ เป็นประธาน และ 2. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมตรี เป็นประธาน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 คณะไม่ได้มีหน้าที่โดยเฉพาะในการติดตามการออกใบรับรอง รวมถึงการติดต่อประสานงานกับองค์การการค้าโลก ดังนั้น เพื่อให้การประมงที่ผิดกฎหมายหายไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง จึงเห็นควรตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องดังกล่าว คือคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงต่อสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม มี พล.อ. ฉัตรชัย เป็นประธาน

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ นพ.ปิยะสกล สกลสตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อทางการแพทย์ ภายในงานประชุมวิชาการสมุนไพรแห่งชาติ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องปรับเพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์กับคนไทย กับทางการแพทย์ ซึ่งการวิจัยพัฒนาเราควรจะทำ เพราะศักยภาพเหมือนสมุนไพรทั่วไป แต่มีกฎหมายที่ครอบไว้เนื่องจากเป็นสารเสพติด ซึ่งการปรับกฎหมายนั้นก็เพื่อให้วิจัยพัฒนา และทดลองในคน เพื่อนำไปสู่การสกัดมาใช้ทางการแพทย์ได้ ซึ่งเชื่อว่าไทยมีศักยภาพในการพัฒนาเรื่องนี้

“ผมคิดว่าคนไทยมีศักยภาพ และได้ปรึกษากันแล้วว่า เราจะตั้งคณะทำงานอย่างเป็นทางการขึ้น โดยจะดึงภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการ ทั้งคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้ง ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาช่วยทำในเรื่องนี้ ซึ่งประธานคณะทำงานฯ คาดว่าจะขอให้ นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธาน” นพ. ปิยะสกล กล่าว

นพ. โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ในเรื่องกัญชานั้น ทางบอร์ดได้เดินทางไปที่ประเทศแคนาดา เพื่อศึกษาดูงานเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โลกตะวันตกมีการพัฒนานำประโยชน์จากสารสกัดของกัญชาไปใช้ทางด้านการแพทย์ ซึ่งใช้ใน 2 ประเด็น ทั้งด้านการแพทย์ และด้านผ่อนคลาย แต่ประเทศไทยคิดว่าคงไม่ใช้ด้านผ่อนคลาย จะใช้เฉพาะด้านการแพทย์เป็นหลัก ประเด็นแรกที่ต้องมองนักวิชาการคงต้องช่วยว่ามีข้อบ่งชี้ที่จะใช้กัญชาทางการแพทย์มากน้อยเพียงใด

“ในการวิจัยพัฒนาทางแพทย์แผนปัจจุบัน เราจะมุ่งไปที่การรักษาโรค อย่างประเด็นแรก คือ การรักษาโรคลมชัก โดยเฉพาะในเด็ก ยาที่มีอยู่บางครั้งไม่สามารถคุมการชักได้ แต่กัญชามีบทบาทที่คุมได้ดี ประเด็นที่ 2 คือโรคทางสมองอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน ซึ่งรบกวนชีวิตมากๆ มือสั่น เมื่อได้ยาแผนปัจจุบันก็จะเกร็งจะแข็งไปหมด ประเด็นที่ 3 ที่ต้องวิจัยพัฒนาอีกคือ โรคมะเร็ง ว่าจะใช้กัญชามาช่วยอย่างไร ทั้งเรื่องลดการปวด ความอยากอาหาร และประเด็นที่ 4 ลดความเจ็บปวดแทนการใช้มอร์ฟีน ซึ่งก็จะมีการทำงานผ่านคณะทำงานวิชาการ ซึ่งขณะนี้กำลังฟอร์มทีมอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร ได้มีการติดต่อทาง ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขก็มีการหารือเรื่องนี้เช่นกัน” นพ. โสภณ กล่าว

นพ. โสภณ กล่าวอีกว่า ในฐานะ อภ. ก็ต้องมีการศึกษา อย่างทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ แม้ของไทยจะมีสายพันธุ์ดี แต่ประเทศอื่นก็พัฒนาไปมากอยู่ ต่อมาเราก็ต้องมีการพัฒนาเรื่องสารสกัด ซึ่งไทยยังใช้เอทานอลในการสกัดสารกัญชา แต่แคนาดาใช้การสกัดที่เรียกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแคนาดามีโรงงานถึง 13 แห่ง มีประสบการณ์ในการผลิตสารสกัด 4 ปี สิ่งสำคัญหากจะทำก็ต้องมีระบบการควบคุม ไม่ให้รั่วไหล ซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันกฎหมายควบคุมกัญชาอย่างไรบ้าง นพ. โสภณ กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติด มี 5 ประเภท โดยประเภทที่ 2 สามารถนำมาทำเป็นยาได้ แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางวิชาการ ซึ่งปัจจุบัน กัญชา อยู่ในประเภท 5 ที่ห้ามเด็ดขาด จึงไม่อาจนำมาศึกษวิจัยในคนได้ ซึ่งทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอปลดล็อกก็น่าจะเป็นประเด็นนี้ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรม และ อย. พยายามปรับปรุง พ.ร.บ. ยาเสพติดอยู่ ให้เป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็จะแก้ในประเด็นนี้ ซึ่งหากจะวิจัย ณ ขณะนี้ ทำได้เพียงปลูกและสกัดสารออกมาเพื่อทดลองในสัตว์ แต่ในคนยังไม่ได้

“คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข มีการหารือเช่นกัน อย่างการปฏิรูปการแพทย์แผนไทย มีเรื่องของการพัฒนากัญชา กระท่อม ซึ่งก็ต้องเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร ในแง่วิชาการทางการแพทย์ เพราะถ้ามีความเป็นไปได้ อภ. จะต้องเตรียมในเรื่องของการวิจัยสายพันธุ์ และการพัฒนาการสกัด ซึ่งในร่างปฏิรูปเราเขียนแค่ว่าจะศึกษาวิจัย แต่ในรายละเอียดต้องทำเป็นโครงร่างวิจัย เสนอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณา ถ้าผ่านรัฐมนตรีฯ ลงนาม ก็จะเดินหน้าศึกษาวิจัยได้ ซึ่งระหว่างนี้ อภ. อยู่ระหว่างร่างโครงร่างวิจัย คาดว่าภายใน 60 วัน น่าจะเรียบร้อย” นพ. โสภณ กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยหลังได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการกยท. ว่า การเข้ารับตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ กยท. ครั้งนี้ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนกยท. พร้อมเดินหน้านโยบายด้านต่างๆ ของกยท. นโยบายตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนรัฐบาลวางแนวทางไว้ เพื่อพัฒนาวงการยางพาราไทยทั้งระบบ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญที่พนักงานและบุคลากร กยท. ต้องคิดและทำร่วมกันคือ การแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราที่มีความผันผวน เพราะเรื่องนี้จะสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง

ทั้งนี้ ต้องทำให้เกษตรกรเข้าใจในสาเหตุและปัจจัยของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ โดยทำงานร่วมกับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการแก้ปัญหาดังกล่าวแต่อาจยังไม่เป็นผลที่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าราคามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตในระบบ ซึ่งหากมีการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารามากขึ้น พัฒนาตลาด เทคโนโลยีการผลิต และทุนสนับสนุนเข้ามารองรับก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ผลักดันราคายางให้เพิ่มสูงขึ้นได้

นโยบายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งให้เกิดผลสำเร็จ คือ ราคายางที่สูงขึ้น จึงเกิดการผลักดันมาตรการต่างๆ เช่น โครงการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้โครงการนี้สำเร็จไปตามเป้าหมาย ซึ่งกยท. เข้าไปช่วยเสริมด้วยการทำงานในเชิงรุก เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น นโยบายลดการกรีดยางในพื้นที่ภาครัฐ การคุมปริมาณการส่งออกยาง และการลดพื้นที่ปลูกยางในเดือนม.ค.-มี.ค. 2561 ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการระยะสั้นที่ผ่านไปแล้ว ส่งผลให้ราคายางในประเทศปรับสูงขึ้นได้บางช่วงเท่านั้น ดังนั้น กยท. จะต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาและหามาตรการอื่นเข้ามาแก้ปัญหา

“วันนี้ผู้บริหาร พนักงานของกยท. เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความสำเร็จและความเชื่อมั่นแก่วงการอุตสาหกรรมยางของโลก เพราะ กยท. คือผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้รู้จริงเรื่องยางมากว่า 50 ปี ซึ่งในระยะสั้น 3 เดือนจากนี้ ขอวางเป้าหมายว่าราคายางจะต้องสูงขึ้น และในระยะยาว 1 ปีจากนี้ จะสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ผ่านไปได้”

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ด่านกักกันสัตว์นครพนมเป็นศูนย์ฟื้นฟูที่รองรับสุนัขและแมวจากพื้นที่โรคระบาดมาควบคุมดูแล ปัจจุบัน มีการนำสุนัขและแมวมาจากพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดกาฬสินธุ์ กว่า 3,000 ตัว มาดูแลรักษาฟื้นฟูตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีสุนัขที่เจ็บป่วยตายรายวัน ปัจจุบันเหลือประมาณ 1,400 ตัว แต่ยังไม่มีการตรวจพบป่วยเป็นพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ระดม คัดกรอง ฉีดวัคซีน ตรวจสอบคอยดูอาการใกล้ชิด ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แต่ยังมีปัญหาเนื่องจากลูกสุนัขแรกเกิดส่วนใหญ่ร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถป้อนนมได้ ทำให้เจ็บป่วย เป็นโรคลำไส้ ทยอยตายรายวัน

นายณรงค์ รัตนตรัยวงศ์ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์นครพนม เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องงบประมาณจัดซื้ออาหารเลี้ยงสัตว์ ยืนยันยังเพียงพอ แต่หากมีกลุ่มคนรักสุนัขหรือผู้ใจบุญต้องการบริจาคช่วยเหลือ สามารถบริจาคได้เป็นอาหารไม่รับเป็นเงินสด จะต้องดูแลไปอีกหลายเดือนจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมีค่าดูแลเลี้ยงดูวันละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ยืนยันมีงบประมาณเพียงพอในระยะยาว

ที่ จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลพะตง อำเภอหาดใหญ่ ต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่หลังพบสุนัขป่วยและตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ก่อนตายยังกัดชาวบ้านไป 2 คน และสุนัขอีก 5 ตัว แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันทั้งคนและสัตว์เลี้ยงหมดแล้ว แต่ก็ยังต้องมีการเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลากล่าวว่า ได้ประกาศให้พื้นที่ตำบลพะตงเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวแล้ว ระดมฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงในรัศมี 1 กิโลเมตรจำนวน 150 ตัว และอยู่ระหว่างการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้ได้มากที่สุด ในส่วนของสุนัขจรจัดจำนวน 1,500 ตัว ที่เตรียมจะขนย้ายไปยังด่านกักกันในจังหวัดสตูล ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอความพร้อมทั้งเรื่องของคอกเลี้ยงและอาหารสุนัข ก่อนจะทำการฉีดวัคซีนและทำหมัน และนำไปกักตัวที่ด่านกักกันในจังหวัดสตูลเพื่อรอดูอาการเป็นเวลา 6 เดือน

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 6 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนเดินทางมาเลือกซื้อหนังสือจากบู๊ธต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงบู๊ธมติชน โซน พลาซ่า ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนได้มีการออกแบบบู๊ธร่วมกับนายพัชรพล แตงรื่น หรืออเล็ก เฟส กราฟฟิตี้แนวสตรีตอาร์ตชื่อดังของเมืองไทย โดยจุดเด่นของอเล็ก เฟส คือการวาดน้องสามตา หรือ “น้องมาร์ดี” ซึ่งไม่ว่าจะวางไว้จุดไหนก็มีความน่ารัก สามารถเข้าถึงทุกเพศทุกวัย

นายอพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ รองผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า ประชาชนให้ความสนใจหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์จะเยอะเป็นพิเศษ ซึ่งหนังสือที่ขายดีและประชาชนให้ความสนใจคือหนังสือในโซนตามรอยออเจ้ากับศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดยมีหนังสือที่น่าสนใจ อย่างเช่น การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, ขุนนางสยาม เขียนโดย ส. พลายน้อย, ผู้หญิงอยุธยา เขียนโดย บินหลา

สันกาลาคีรี, วัด-เจดีย์ : ในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา เขียนโดย สันติ เล็กสุขุม เป็นต้น

ด้าน นางสาวเอมอร ส่องสว่าง ผู้จัดการฝ่ายขายพิเศษ บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน กล่าวว่า งานสัปดาห์หนังสือวันนี้จัดมาเป็นวันที่ 6 แล้ว ที่ผ่านมายอดจำหน่ายหนังสือดี เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่วันแรก โดยมีเล่มที่ขายดีคือหนังสือ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)” จัดชุดกับหนังสือ “ราชสำนักรัชกาลที่ 6” ขายเป็นชุดในราคา 500 บาท แล้วยังมีหนังสือหมวดประวัติศาสตร์ที่ขายดีคือ “อยากลืมกลับจำ” ด้านหนังสือแปลที่ขายดีคือ “ร้าวรานในวารวัน The Glass Palace” และ “หากหัวใจไม่สามัญ A Strangeness in my mind” โดยในงานนี้มีของที่ระลึกออกแบบโดยอเล็ก เฟส มอบให้นักอ่านเมื่อซื้อหนังสือครบตามกำหนด ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

“จากกระแสละคร ‘บุพเพสันนิวาส’ เรามีหนังสือที่เขียนโดย ‘รอมแพง’ มาขายภายในงานเช่นกัน รวมไปถึงหนังสือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือเกี่ยวกับตัวละครภายในเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ หากท่านใดมาที่บู๊ธของสำนักพิมพ์มติชนจะได้หนังสือครบ รวมไปถึงหนังสือข้ามสมุทร เขียนโดย คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องนำมาพิมพ์ซ้ำเพราะยอดขายดีและหมดเร็ว แล้วยังมีหนังสือรุกสยามในนามของพระเจ้า เราจัดพิมพ์ซ้ำและจะนำเข้ามาจำหน่ายในวันศุกร์นี้ เป็นนวนิยายเกี่ยวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เล่าถึงรัชสมัยของกษัตริย์พระนารายณ์ ภายในบู๊ธสำนักพิมพ์มติชนยังมี ‘มุมอินดี้’ ที่เป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ได้รับความสนใจมาจำหน่าย โดยไม่ว่าหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนหรือสำนักพิมพ์อื่นๆ สามารถร่วมรายการโปรโมชั่นรับของที่ระลึกได้” นางสาวเอมอร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 10 อันดับหนังสือขายดีของบู๊ธมติชน ได้แก่ 1. โลกที่เห็นเป็นอย่างที่คิด เขียนโดย หนุ่มเมืองจันท์ 2. อยากลืมกลับจำ เขียนโดย นายภูริ ฟูวงศ์เจริญ นายศรัญญู เทพสงเคราะห์ และนายณัฐพล ใจจริง

พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล 4. เรื่องไม่เคยเล่าในวังต้องห้าม เขียนโดย หวังอีเฉียว 5. หัวใจเซนเซ สร้างคนแบบญี่ปุ่น เขียนโดย เกตุวดี Marumura 6.JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก เขียนโดย บูม ภัทรพล เหลือบุญชู 7.America First รบเถิดอรชุน เขียนโดย นายภาณุ ตรัยเวช 8.เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ เขียนโดย MARIO PUZO 9.A Strangeness in my mind หากหัวใจไม่สามัญ เขียนโดย Orhan Pamuk 10.The Fishing Fleet กองเรือหาคู่ เขียนโดย Anne de Courcy

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 12.00-13.00 น. ที่เวทีเอเทรียม มติชนจัดเสวนา “เปิดบันทึกประวัติศาสตร์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ 6” โดยมีวรชาติ มีชูบท ผู้เขียนร่วมรายการ และเวลา 19.00-20.00 น. จัดเสวนา Japan Inside ทั้งร้ายทั้งรัก โดยมี เกตุวดี Marumura และ บูม-ภัทรพล เหลือบุญชู ร่วมเสวนา นอกจากนี้ ที่บู๊ธมติชนยังมีกิจกรรมนักเขียนแจกลายเซ็น โดยเวลา 13.00-14.00 น. นายวรชาติ มีชูบท ผู้เขียน ราชสำนักรัชกาลที่ 6 เวลา 15.00-16.00 น.

น.ส.สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้แปล The Fishing Fleet กองเรือหาคู่ และเวลา 18.00-19.00 น. เกตุวดี Marumura ผู้เขียน หัวใจเซนเซ สร้างคนแบบญี่ปุ่น และบูม-ภัทรพล เหลือบุญชู ผู้เขียน JAPAN DARK SIDE ถึงร้ายก็รัก ทั้งนี้ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จัดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 8 เมษายน 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม ร่วมกับนายศราวุธ โถวสกุล นายกสมาคมเรือลากคู่สมุทรสงคราม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ประชุมเห็นด้วยกับมาตรการของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจะให้ผลตอบแทนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานเป็นแรงงานไร้ฝีมือในเรือประมง รับเดือนละ 12,000 บาท มีประกันอุบัติเหตุและสวัสดิการต่างๆ ส่วนแรงงานไทยที่เป็นแรงงานฝีมือ จะได้เดือนละ 15,000 บาท ผู้ประกอบการจะส่งความต้องการแรงงานไปยังสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ ยังหารือถึงประเด็นอียูจะตรวจการแก้ไขปัญหาไอยูยูของประมงไทยระหว่างวันที่ 4-11 เมษายนนี้ ที่ประชุมแสดงความกังวลถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกดดันต่อการตรวจครั้งนี้ ทำให้ออกมาตรการต่างๆ ออกมาเข้มงวดภาคประมงอีกมากมาย ที่ประชุมเห็นว่าหากกฎระเบียบที่ออกมาหยุมหยิมมากเกินไปจะจอดเรือประมงกันหมดทุกลำ

นายมงคลกล่าวว่า กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ประมงไทยได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาไอยูยูอย่างแสนสาหัส แต่ชาวประมงก็ให้ความร่วมมือทำให้ปัจจุบันแก้ไขได้เป็นที่น่าพอใจ ที่ผ่านมาชาวประมงทำตามได้อย่างดี แต่พออียู

กำหนดมาตรวจ หลายหน่วยงานถึงกับเกร็งกดดัน กลัวว่าอียูจะไม่ปลดใบเหลืองให้จึงออกมาตรการเล็กๆ น้อยๆ ทำให้สร้างปัญหากับชาวประมงอีก แม้กระทั่งปั๊มน้ำก็จะออกมากดดันอีกทั้งที่เรือประมงก็มีกันอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาระสำคัญที่จะมาบังคับทันที ที่ผ่านมาก็ออกเรือประมงหาปลาได้เป็นปกติ แต่พออียูจะมาก็จะมาบังคับเรือประมงหากไม่ปฏิบัติตามก็จะห้ามเรือประมงออกหาปลา ทำให้ชาวประมงเห็นตรงกันว่าจะพร้อมใจกันจอดเรือทั้งประเทศ หากภาครัฐยังหยุมหยิม เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาเป็นประเด็นปัญหา

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ ดังนี้ 1. ออกกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาใน ราชอาณาจักรอีก ตามมาตรา 39 วรรคสอง ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว ระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน นี้ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และพม่า ซึ่งเข้ามาเพื่อทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน และที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2561 และเดินทางกลับเข้ามาใน ราชอาณาจักรภายในระยะที่กำหนด

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า 2. ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปี และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังคงเหลืออยู่ เดินทางออกนอกราชอาณาจักรกลับประเทศ ต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี พ.ศ. 2561 ระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน 2561 และเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยไม่ถือว่าเป็นการออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติ หรือจังหวัดได้รับอนุญาตให้ทำงาน

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ รพ.แม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นพ. ธวัชชัย เศรษฐศุภนา ผอ. รพ.แม่สอด แถลงข่าวกรณีมีผู้ป่วยเป็นแรงงานชาวไทยกินแมลงมวนเข้าไป เสียชีวิต 2 คน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 หลังรับการรักษาตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่าทางโรงพยาบาลได้ตรวจสอบเรื่องนี้ทราบว่าผู้ป่วยพร้อมเพื่อนรวม 9 คน ทำงานอยู่ในแคมป์คนงานบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด นำแมลงชนิดหนึ่ง เรียกว่า ตัวมวน มาวงล้อมกินกัน ต่อมามีคนไทย 3 คน ปวดกล้ามเนื้อ