พันธุ์ข้าวพื้นเมือง มีมานานกว่า 100 ปี ทำข้าวต้มได้อร่อยสุดยอด

ข้าวหอมไชยา เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่อยู่คู่ชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มานานนับร้อยปี มาถึงรุ่นหลังข้าวหอมไชยาเริ่มสูญหายไป ด้วยลักษณะพิเศษที่ต้องใช้ระยะเวลาการปลูกนานกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่นิยมปลูก จึงค่อยๆ สูญหายไป แต่ด้วยข้าวหอมไชยาเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เวลาออกรวงกลิ่นจะหอมไปทั่วทุ่ง เวลาหุงจะส่งกลิ่นหอมไปทั่วบ้าน ชาวบ้านอำเภอไชยาจึงอยากอนุรักษ์ไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน จึงกลับมารวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา มีการคัดสายพันธุ์ใหม่และตั้งใจฟื้นฟูพันธุ์ข้าวหอมไชยาให้กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง

คุณป้ายินดี เรืองฤทธิ์ ประธานอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง อยู่บ้านเลขที่ 20 บ้านขนอน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกเล่าถึงความเป็นมาของการกลับมารวมกลุ่มเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยาว่า พันธุ์ข้าวหอมไชยาเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของอำเภอไชยามานานนับร้อยปี ปลูกกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ช่วงหลังมานี้ ข้าวหอมไชยา ได้หายไป ไม่มีคนปลูก นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแทนชาวอำเภอไชยาที่ของดีเหล่านี้ได้หายไป ป้าและสมาชิกในกลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองจึงตั้งใจที่จะพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมไชยาให้กลับมาอยู่คู่ชาวอำเภอไชยาอีกครั้ง ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้มีสมาชิก จำนวน 14 คน โดยเริ่มฟื้นฟูพันธุ์ข้าวหอมไชยาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในช่วง ปี 2544-2546 และตั้งใจว่าต้องทำ จีไอ ให้สำเร็จภายใน ปี’64 ซึ่งในขณะนี้ทางวิสาหกิจชุมชนกำลังทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อตอกย้ำว่า ข้าวหอมไชยา เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของที่นี่ ไม่มีที่อื่นปลูกได้เหมือนเรา

ข้าวหอมไชยา อดีตที่เคยหายไป
อยู่ในช่วงพัฒนาและต่อยอด สร้างชื่อเสียงอีกครั้ง
ป้ายินดี เล่าว่า พันธุ์ข้าวหอมไชยา เคยสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่เราพยายามหาพันธุ์มาอนุรักษ์ใหม่ โดยได้พันธุ์ข้าวมาจากอาจารย์ชวน เพชรแก้ว ท่านกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอยู่ ซึ่งทางอาจารย์ชวน ท่านไปขอซื้อพันธุ์ข้าวจากเกษตรกรบ้านทือ แล้วนำมาคัดเลือกสายพันธุ์ ในราคาถังละ 300 บาท เอามาเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ แต่เนื่องด้วยสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์ เพราะการใช้ปุ๋ยเคมีมาก ทำให้ดินเสีย เมื่อนำเมล็ดข้าวไปปลูกจึงทำให้ไม่ได้ผลเหมือนเมื่อก่อน เราจึงต้องปรับดินให้สมบูรณ์ การปรับปรุงดินจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ต้องทำแบบนี้สะสมกัน ใช้เวลานานกว่า 3-5 ปี ถึงจะได้ดินที่สมบูรณ์ มีสาหร่าย มีบัว มีผักชนิดต่างๆ ที่แสดงถึงความอุดมของดินและน้ำ

“เมื่อก่อนการปลูกข้าวหอมไชยาถือว่าผลผลิตแย่มากๆ 1 ไร่ ได้ข้าวไม่ถึง 20 ถัง แต่ 5 ปีหลังมานี้ เราได้ผลผลิตมากขึ้นเป็น 1 ไร่ ได้ผลผลิต 50-60 ถัง แต่พันธุ์ก็ยังไม่นิ่งเท่าที่ควร ทางกลุ่มจึงนำพันธุ์ที่ได้มาจากอาจารย์ชวน มาคัดเลือกอีกครั้ง คัดเอาเฉพาะที่คิดว่าเมล็ดมีความสมบูรณ์ที่สุด แล้วนำเมล็ดส่งไปที่ศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวที่จังหวัดพัทลุง เพื่อวิจัยคัดสายพันธุ์ให้บริสุทธิ์ มาถึงปีที่ 4 ทางศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงส่งพันธุ์ข้าวกลับมาทางกลุ่มเพื่อให้เกษตรกรทดลองปลูกในสภาพภูมิศาสตร์ของถิ่นเดิมที่เป็นข้าวหอมไชยา ปีนี้จะทดลองใน 4 ตำบล 1. ตำบลทุ่ง 2. ตำบลเลม็ด 3. ตำบลป่าเว 4. ตำบลโมถ่าย ซึ่งแต่ละท้องที่จะแบ่งเขตการปลูกในพื้นที่ของแต่ละตำบลอย่างชัดเจน แล้วจะมาดูว่าแปลงข้าวที่ตำบลใดออกมาสมบูรณ์ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด และจะนำไปทำเป็นพันธุ์ต่อไป” คุณป้ายินดี บอก

ข้าวหอมไชยา นุ่ม หอม อร่อย
อีกหนึ่งเอกลักษณ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไชยา
คุณป้ายินดี บอกว่า ปัจจุบัน ที่อำเภอไชยามีพื้นที่ปลูกข้าวหอมไชยาทั้งอำเภอเพียง 70 ไร่ เพราะยังถือเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างที่จะปลูกได้ยาก สืบเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ หรืออุปสรรคในเรื่องของระยะเวลาที่ต้องใช้เวลาการปลูกนานถึง 6 เดือน จึงทำให้ชาวบ้านแถวนี้ไม่นิยมปลูก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ข้าวหอมไชยา เป็นข้าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมาก ทั้งความหอม นุ่ม ที่ไม่เหมือนที่ไหน จึงอยากชักชวนให้ชาวอำเภอไชยาหันกลับมาปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองนี้ไว้ต่อไป

ขั้นตอนการปลูก…ไม่ยุ่งยาก มีการเตรียมแปลงเหมือนกับปลูกข้าวทั่วไป แต่ระยะการเก็บเกี่ยวค่อนข้างจะเป็นอุปสรรค แต่ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะตัวบ่งชี้ความหอม นิ่ม อร่อย ของข้าว คือ

วิธีการปลูก ข้าวหอมไชยาถ้าอยากให้หอมอร่อย ต้องปลูกด้วยการปักดำถึงจะดี
ระยะเก็บเกี่ยว ระยะเวลาต้องปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนับได้ 6 เดือน เก็บเกี่ยวช่วงน้ำท่วมพอดี จึงมีความยากลำบากในการเก็บเกี่ยวไปอีกขั้น
ช่วงเวลาการปลูกที่เหมาะสม คือเดือนสิงหาคม ต้องปลูกช่วงนี้เท่านั้นถึงจะได้ผลดี เคยปลูกเดือนมกราคม-เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ผลออกมาไม่ดี ข้าวออกรวงแต่ฟ่อหมด
ลักษณะดินต้องร่วน และเป็นนาน้ำลึกต้นทุนการผลิต … 3,000 บาท ต่อไร่ เท่าๆ กับการปลูกข้าวพันธุ์ทั่วไป ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก จะใช้สารชีวภัณฑ์แทน

ผลผลิตต่อไร่… ถ้าดินสมบูรณ์เหมือนสมัยโบราณ ได้ 70 ถัง ต่อไร่ ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยว 6 เดือน ช้ากว่าข้าวทั่วไป 2 เดือน

ลักษณะของเมล็ดข้าว… ป้อมสั้น เหมือนข้าวญี่ปุ่น และมีความเหนียวนิดๆลักษณะเด่นข้าวหอมไชยา… ถ้านำไปเปรียบเทียบกับข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไชยาจะแข็งกว่า เพราะข้าวหอมไชยามีอะมิโลสสูงถึง 20% ซึ่งข้าวหอมมะลิทั่วไปมีอะมิโลสเพียง 14% ซึ่งถ้าอะมิโลสต่ำข้าวจะนิ่ม ถ้าสูงข้าวจะแข็ง ดังนั้นข้าวหอมไชยาจะมีความแข็งกว่าข้าวหอมมะลิ แต่ตัวที่ทำให้ข้าวหอมไชยาแตกต่างจากข้าวหอมมะลิ คือ

ความมัน และรสชาติหวานนิดๆ ซึ่งไม่ใช่รสหวานแบบน้ำตาล
ถ้านำข้าวหอมไชยาไปทำข้าวต้มจะสุดยอดมาก ข้าวจะแตกตัวได้ดี มีความเหนียว น้ำข้นและมันมาก นี่คือจุดเด่นที่เราจะชูให้คนข้างนอกได้รู้จักข้าวหอมไชยาของเรา

หันมาอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองของตัวเอง
อนาคตข้างหน้าสดใสแน่นอน
ป้ายินดี บอกว่า ณ ขณะนี้แม้ทางกลุ่มจะมีการประกันราคารับซื้อข้าวหอมไชยาจากชาวบ้าน ในราคาตันละ 20,000 บาท เพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ก็ยังไม่เป็นแรงดึงดูดให้ชาวบ้านหันมาปลูก ด้วยเหตุผลที่ว่ามันยังเป็นความยากลำบาก เนื่องจากสภาพพื้นที่มีน้ำหลาก และต้องเก็บเกี่ยวช่วงน้ำท่วม เอามาตากแดดกับพื้นไม่ได้ ต้องเสียเวลาทำราวสำหรับตากข้าว ซึ่งถือเป็นความยากลำบากในการทำนา ซึ่งตรงนี้ก็อยากชักชวนให้เกษตรกรเปลี่ยนความคิดใหม่ หันมาปลูกข้าวหอมไชยากันให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาในเรื่องของวิธีการแปรรูปเป็นหลายผลิตภัณฑ์ เช่น

ข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ 1 กิโลกรัม ราคา 70 บาท
ไอศกรีมน้ำข้าวกล้องงอกข้าวหอมไชยา
อยู่ในช่วงกำลังพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ซื้อเครื่องโม่แป้งเพื่อนำมาแปรรูปทำแป้งแห้ง และต่อยอดเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ต้องล่าช้า เพราะส่วนหนึ่งมาจากที่สมาชิกยังผลิตข้าวได้ไม่พอต่อความต้องการของตลาด จึงไม่สามารถต่อยอดสินค้าเพิ่มมูลค่าได้มากมาย

แต่ถ้าหากพี่น้องชาวอำเภอไชยารวมใจกันปลูก รับรองได้ว่าอนาคตข้างหน้าสดใสแน่นอน เพราะเราจะมีผลผลิตเพียงพอที่จะนำมาแปรรูปเป็นหลายผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถ้าทำปริมาณได้ เรามีตลาดแน่นอน เพราะที่ผ่านมาทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลติดต่อเข้ามาขอซื้อ แต่ทางกลุ่มต้องปฏิเสธไป เนื่องจากกำลังการผลิตเรายังไม่พอต่อจำนวนที่เขาต้องการ จึงอยากชักชวนให้พี่น้องชาวอำเภอไชยาหันมาใส่ใจ เลิกมองข้ามสิ่งมีค่าใกล้ตัว

สำหรับท่านที่สนใจอยากอุดหนุน ข้าวหอมไชยา ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา สามารถติดต่อ คุณป้ายินดี เรืองฤทธิ์ ประธานอนุรักษ์กลุ่มพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ได้ที่ เบอร์โทร. 081-606-9274

สวนวังพลากรเมืองตาก สยายปีกปลูก‘อะโวคาโด’ในเมียนมา
หากติดตามข่าวคราวการปลูก “อะโวคาโด” ในบ้านเรา จะเห็นว่าเริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีผู้คนนิยมรับประทานกันมากขึ้น และส่วนหนึ่งนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม หรือทำเป็นอาหารเสริม เรียกว่าเป็นผลไม้ทำเงินอีกชนิด เพราะหากไปซื้อในตลาดอย่างน้อยแม่ค้าขายก.ก.ละ 40-80 บาท บางช่วงเป็น 100 บาทก็มี

“คุณวรเชษฐ์ วังพลากร” เจ้าของสวนวังพลากร ในเนื้อที่ 19 ไร่ อยู่ที่ ต.รวมไทย อ.พบพระ จ.ตาก ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะโวคาโดคนหนึ่งของเมืองไทย และน่าจะเป็นรายใหญ่ด้วย โดยมีต้นอะโวคาโดพันกว่าต้น ประมาณ 98%

ส่วนที่เหลือปลูกเงาะและทุเรียนไว้รับประทานเอง จากที่ก่อนหน้านี้เคยปลูกส้มมาก่อน แต่เจอปัญหาโรครุมเร้าจนขาดทุน ต้องปรับมาปลูกอะโวคาโดแทน และยังขยายไปปลูกอะโวคาโดอีกแปลงในเนื้อที่ 80 กว่าไร่ พร้อมกันนั้นยังชักชวนเกษตรกรมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งผลผลิตให้ นอกจากนี้ยังไปปลูกที่เมืองตองยี ประเทศเมียนมาด้วยจำนวนกว่าหมื่นต้น

คุณวรเชษฐ์เล่าที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้ว่า สมัยก่อนเห็นเกษตรกรที่ อ.พบพระ ปลูกอะโวคาโดตามหัวไร่ปลายนาเต็มไปหมด และมักนำไปให้หมูกิน กระทั่งได้ไปดูงานประเทศนิวซีแลนด์ และได้ไปสวนอะโวคาโดที่นั่น จึงได้ซื้อยอดพันธุ์แฮส นิวซีแลนด์มาเสียบ 80 กว่ายอด

แต่เสียบติดเพียง 14-15 ต้น สุดท้ายเหลือ 10 ต้น เลยนำมาลองปลูกที่ อ.พบพระ ช่วงปลายปี 2552 เพราะตอนนั้นทำอาชีพเป็นโบรกเกอร์หามันฝรั่งป้อนให้บริษัทเลย์ฯ อยู่ที่นี่ด้วย พอปีที่ 3 ก็ออกดอก

จากนั้นเลยลองตัดยอดมาเสียบ ลองผิดลองถูกในการขยายพันธุ์ ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างยาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่รู้เทคนิคต่างๆ เนื่องจากร่วมมือกับทางนิวซีแลนด์ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็สนใจ โดย ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข ทำวิจัยเรื่องสารสกัดน้ำมันจากอะโวคาโด

และต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์ทำเป็นตัวเซรั่มเพราะมีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ผิวหน้าตึง ชะลอริ้วรอย และได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมาจากการประกวดที่เกาหลีใต้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หลังจากเห็นว่าปลูกอะโวคาโดที่นี่ได้ผล เลยเลิกอาชีพโบรกเกอร์มันฝรั่ง และหันมาปลูกอะโวคาโดอย่างจริงจังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยลงทุนเรื่องระบบน้ำ และนำสายพันธุ์ต่างๆ มาเสียบยอด

คุณวรเชษฐ์ให้ข้อมูลว่า ในการปลูกนั้นไปได้ดี แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้วติดปัญหาเรื่องการหาตลาดค่อนข้างยาก เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมกัน แตกต่างจากปัจจุบัน

ในสวนวังพลากรนั้นมีอะโวคาโดหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ บัคคาเนีย, แฮส, ปีเตอร์สัน และสายพันธุ์พื้นเมือง พบพระ 08 และพบพระ 14 ซึ่งแต่ละพันธุ์มีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างที่เจ้าของสวนรายนี้ ระบุว่า อย่างพันธุ์แฮสจะมีความหอมลึกๆ มีความเหนียว และไม่ฉ่ำน้ำ ในส่วนรองลงมาเป็นพวกที่ตลาดล่างและตลาดกลางต้องการมากที่สุด คือบัคคาเนีย รูปทรงจะใหญ่ ผลผลิตสูงต่อต้นหลัก 300 กิโลกรัม (ก.ก.) เมื่อปลูกได้ 5-6 ปี

สำหรับพิงเคอร์ตัน รูปทรงเหมือนแฮส แต่ใหญ่กว่า คล้ายๆ ลูกแพร์ ค่อนข้างจะสวย แต่ก้านกับขั้วก้านเล็ก เวลาเชื้อราเข้าทำลายจะร่วงเลย ไม่ค่อยทนทาน

คุณวรเชษฐ์อธิบายถึงสายพันธุ์พบพระ 08 พบพระ 14 ว่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่คัดแล้วว่า 1.ทนต่อโรค โดยเฉพาะโรคไฟท็อป หรือโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำลายตั้งแต่ยอดลงระบบราก แล้วทำให้รากเน่า โคนเน่า 2.ให้ผลผลิตสูง 3.เนื้อคุณภาพดี เนื้อเหนียวแห้งไม่ฉ่ำน้ำเหมือนพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป

ถามถึงการขายผลผลิต เจ้าของสวนวังพลากรบอกว่า ขายในตลาดการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างตลาดดอยมูเซอ เป็นเกรดรองๆ เพราะขายมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ถ้าเกรดสูงหน่อยจะส่งเข้ากรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีปริมาณมากพอที่จะส่งห้าง ซึ่งที่ผ่านมาทางห้างก็ติดต่อไปคุยเหมือนกัน แต่ผลผลิตยังไม่มากพอส่ง ขณะที่มีเงื่อนไขต่างๆ อีกอย่างผลผลิตทุกวันนี้ก็มีพ่อค้ามาถึงสวนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปขายที่อื่น

ยามนี้นอกจากสวนพลากรยังมีผลผลิตขายแล้ว ยังขายกิ่งพันธุ์ที่ใช้วิธีทาบกิ่งด้วย พร้อมกันนี้ก็ยังชักชวนเกษตรกรในละแวกนั้นและที่ จ.กำแพงเพชร มาเป็นเครือข่ายปลูกอะโวคาโด โดยสนับสนุนในเรื่องกล้าพันธุ์ พร้อมรับซื้อผลผลิต ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ประมาณ 700 ไร่ แต่ปีนี้ตั้งเป้าให้ได้ 1,200 ไร่

ในการปลูกคุณวรเชษฐ์แนะนำว่าต้องขุดหลุมลึก แค่ 50 ซ.ม. กว้าง 1 เมตรครึ่ง ไม่ให้ปลูกในหลุมลึก จะได้ดูแลในเรื่องของระบบรากได้ดีขึ้น ใส่มูลสัตว์ขี้วัวขี้ไก่ลงไปในหลุม แต่ถ้าเป็นขี้ไก่ต้องไปหมักก่อน หากช่วงปลูกไม่มีฝนก็ให้รอฝน ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดนั้นกลายพันธุ์ 100%

ที่ผ่านมาผลผลิตของสวนเป็นที่น่าพอใจ อย่างที่คุณวรเชษฐ์บอก ถ้าเป็นพันธุ์แฮส ต้นอายุ 6 ปี ให้ผลผลิตอยู่ที่ 150 ก.ก.ต่อต้น ต่ำสุด 30-40 ก.ก.

กรณีช่วงปลูก 3 ปี อะโวคาโดยังไม่ออกผลผลิต เขาแนะนำเกษตรกรว่า ปัจจุบันปลูกผัก ปลูกข้าวโพด ปลูกพริกอยู่ก็ปลูกตามปกติ แต่ถ้าใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าจะมีผลต่ออะโวคาโด โดยเฉพาะตอนที่ต้นยังเล็กอยู่ ดังนั้น ต้องล้อมด้วยสแลน 1 เมตร

ในการขายกิ่งพันธุ์นั้นเขาขายกิ่งละ 200 บาททุกพันธุ์ และ ในการปลูกแต่ละต้นควรมีระยะห่าง 7-8 เมตร เพื่อไม่ให้ต้นติดกันจนเกินไป

ส่วนกรณีที่เกษตรกรบางคนคิดว่าอะโวคาโดต้องปลูกในที่สูงและในเมืองหนาวนั้น ประเด็นนี้คุณวรเชษฐ์ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ที่ปลูกตั้งแต่ 400-1,200 เมตร จะเห็นความแตกต่าง คือตั้งแต่ 600-800 เมตร ช่วงนี้เป็นช่วงดีที่สุด ผลผลิตสูง คุณภาพเนื้อค่อนข้างดี

แต่ช่วงที่ความสูงสัก 1,000 เมตรขึ้นไปเปลือกเริ่มเปลี่ยนเริ่มแข็งๆ และเก็บได้ช้าขึ้น จากเดิมต้องเก็บ 10 เดือน เลื่อนเป็น 11-12 เดือน ส่วนคุณภาพถ้าปลูกในพื้นที่ 1,200 เมตร คุณภาพจะด้อยลงมา แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 400-500 เมตร ผลผลิตจะสุกเร็วขึ้นและมีความฉ่ำเรื่องน้ำเพิ่มขึ้นมา

เจ้าของสวนวังพลากรให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากปลูกอะโวคาโดว่า ในเบื้องต้นต้องดูว่ามีความรู้แค่ไหน มีตลาดรองรับไหม และก่อนที่จะมีผลผลิตจะมีพืชตัวไหนทำรายได้ให้บ้าง ถ้าสนใจอยากรู้เรื่องอะโวคาโด หรืออยากจะเข้าไปดูสวน ซื้อกิ่งพันธุ์ ติดตามได้ที่ เพจ Avocado in Thailand สอบถามได้ที่ 08-1950-5574

นอกจากสวนวังพลากรจะขายกิ่งพันธุ์และผลผลิตแล้ว คุณวรเชษฐ์ ยังนำผลอะโวคาโดตกเกรดไปสกัดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวด และสบู่ก้อนที่มีส่วนผสมจากอะโวคาโด ชื่อแบรนด์ “เมอร์ตี้” (Merty) ทำให้ตลอดทั้งปี มีรายได้จากการขายผลอะโวคาโดสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอะโวคาโด หลักล้านกว่าบาทต่อปี

เป็นเเกษตรกรรุ่นใหม่อีกรายที่ทำครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องและเป็นกอบเป็นกำกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเวทีเสวนาร่วมกรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมการข้าว มุ่งเดินหน้าคุยเกษตรแปลงใหญ่ ในงาน Meet the Press “รวมพลังแปลงใหญ่ สร้างเครือข่ายเข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 พร้อมปรับกลยุทธ์รับแผนยุทธศาสตร์ มั่นใจสำเร็จ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมเปิดตัวระบบฐานข้อมูลแปลงใหญ่ http://co-farm.doae.go.th ร่วมพูดคุยถึงผลสำเร็จและถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าการพัฒนาปรับกลยุทธ์มุ่งผลลัพธ์เดียวกัน

​สำหรับการขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูปภาคการเกษตร“เกษตรแปลงใหญ่” จึง ตอบโจทย์ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาว เพราะส่งเสริมให้เกิดการรวมกันของพื้นที่เกษตรกรรายย่อย และมาบริหารจัดการการผลิตร่วมกัน มีแผนการผลิต แผนการแปรรูป ใช้วิธีการและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมือนกัน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้ชัดคือ ทุกแปลงมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงมีสัดส่วนของผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานรากอย่างชัดเจน คือ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการปรับเปลี่ยนวิธีการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต จากสถิติการสนับสนุนระบบพัฒนาแปลงใหญ่ เช่น กลุ่มข้าว มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 1,383 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 115 บาท/ไร่ ไม้ผล มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 34,491 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,091 บาท/ไร่ ประมง มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 8,028 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,138 บาท/ไร่ ปศุสัตว์ มีรายได้สุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 37,126 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 25,442 บาท/ไร่ นอกจากนี้ ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงในมิติสิงแวดล้อม สังคม สุขภาพ

การทำงานแปลงใหญ่จำเป็นที่จะต้องทำงานเป็นเครือข่าย โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ปัจจุบัน เครือข่ายแปลงใหญ่ ประกอบด้วย 3 เครือข่าย ได้แก่ 1. เครือข่ายเกษตรกร : มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการขับเคลื่อนและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ และเพื่อให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ทั่วประเทศมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการขับเคลื่อนดังกล่าว โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ซึ่งได้แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ 2. เครือข่ายบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและให้การสนับสนุนการดำเนินงานแปลงใหญ่ของเกษตรกร

3. เครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ-ภาคเอกชน-เกษตรกร มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เกิดความยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการพัฒนาการผลิตสินค้า ภาคเอกชนเชื่อมโยงกับเกษตรกรในการซื้อขายสินค้า ส่วนเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการการผลิต การตลาด และกระบวนการกลุ่ม

​เกษตรแปลงใหญ่ จะเดินหน้าไม่ได้ ถ้าเครือข่ายไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบการเสวนาเพื่อร่วมกันถอดบทเรียนความสำเร็จจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ในการปรับแผนงานในอนาคต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งการมีระบบฐานข้อมูล co-farm.doae.go.th เพื่อรองรับแผนการผลิตให้ผู้ประกอบการ สามารถเข้ามาวางแผนและบริหารจัดการสินค้าเกษตร และสามารถติดต่อกลุ่มเกษตรกรได้เองในอนาคตต่อไป

คณะกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีมติให้ขยายการทำงานไปใช้แนวพระราชดำริ ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงตามชายแดนภาคเหนือและภาคใต้ พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคตให้ตอบความต้องการของประเทศ ภายหลังการร่วมกันทำงาน ได้พัฒนาเป็นแผนงานของมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ระยะที่สาม (2564-2568) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสถาบัน โดยมีสาระสำคัญ คือการนำแนวพระราชดำริไปช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคง ประกอบด้วยชายแดนภาคเหนือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และชายแดนภาคใต้ด้านการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

“ปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้มีมายาวนานและประชาชนได้รับความทุกข์ เราพบว่าประชาชนมีความต้องการอย่างมากในการพัฒนาการทำมาหากิน ในขณะที่ทางภาคเหนือเป็นทางผ่านของยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นการช่วยลดด้านอุปสงค์”

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน กล่าวคือปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับชุมชนในการวิเคราะห์ปัญหา วางแนวทางแก้ไขและพัฒนา จนนำมาสู่การทำเกษตรแนวใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนางานหัตถกรรม ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ

“ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ภาคใต้สามจังหวัดชายแดน มีทั้งเรื่องสินค้าเกษตรราคาต่ำ พื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านขาดแคลนมีอย่างเดียวคือความรู้ในการแก้ไขและการบริหารจัดการ พอชักชวนกันสร้างฝาย ก็ทำให้มีน้ำมาทำเกษตรได้อย่างพอเพียง หรือทุเรียนต้นเก่า พอชักชวนไปฝึกอบรมทางภาคตะวันออก ก็สามารถทำให้คุณภาพทุเรียนดีขึ้น จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ก็มาขายคัดเกรด ราคาเฉลี่ยดีสุดอยู่ที่ประมาณ 90 บาท”

ในปัจจุบัน ปิดทองหลังพระฯ มีโครงการและกิจกรรมดำเนินอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้รวม 7 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งน้ำ การเกษตร และหัตถกรรม ในขณะที่ชายแดนภาคเหนือ มุ้งเน้นการอบรมผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมให้พัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ โดยมีการอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว 83 แห่ง

นอกเหนือจากการมุ่งเน้นงานในพื้นที่ชายแดนเหนือและใต้ คณะกรรมการปิดทองหลังพระฯ ยังกำหนดนโยบายให้ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบในปัจจุบันใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี และเพชรบุรี ไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ตามแนวพระราชดำริ ตลอดจนเผยแพร่ประสบการณ์ทำงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง

ปิดทองหลังพระฯ ยังจะร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนอกเขตชลประทานตามมติคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจร่วมมือจากสมาคมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทยที่จะร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากรพระราชดำริประมาณ 1,317 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลประมาณ 17,197 แห่ง ซึ่งจะเริ่มต้นจากการร่วมมือสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการพัฒนาต่อไป

ในช่วงเวลา 9 ปีนับจากการก่อตั้งมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้พัฒนาโครงการต้นแบบในทุกภาค มีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยงบประมาณรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 275,107 ไร่ และประชาชน 79,022 ครัวเรือนได้รับน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร ประชาชน 4,536 ครัวเรือนในพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดน่าน ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าจากงบพัฒนา

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมส่งมอบรถยนต์กระบะ อีซูซุ ดีแมคซ์ บลูเพาเวอร์ สปาร์ค เครื่องยนต์ 3.0 ดีดีไอ เกียร์ธรรมดา สีบรอนซ์เงิน มูลค่า 588,000 บาท ให้แก่ผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลที่ 1 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายเอิบ เกิดโภคาเกษตรกร จังหวัดสุพรรณบุรี และ นายทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต เกษตรกร จังหวัดสงขลา โดยมี นายนิสิต ศรีวิรัตน์ เป็นตัวแทนรับมอบ และมอบโชคชั้นที่ 2 รางวัลทองคำแท่ง หนัก 5 บาท มูลค่า 101,000 บาท ให้แก่ นายประทีป ศรีรอบรู้ ตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์จากสอิ้งฟาร์ม จังหวัดสุพรรณบุรี ที่แนะนำและจำหน่ายอาหารสัตว์ให้แก่ผู้โชคดีที่ได้รับรางวัลรถกระบะ ในแคมเปญ “CPF แจกโชค…จัดหนัก จัดเต็ม แจกโชค 2 ชั้น จุใจกว่า 18 ล้านบาท” เพื่อสมนาคุณแก่เกษตรกร และตัวแทนจำหน่ายอาหารสัตว์ที่ให้การสนับสนุนและความไว้วางใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก ณ สำนักงานซีพีเอฟ ตรอกจันทน์ เขตสาทร กรุงเทพฯ

สำหรับผู้ที่สนใจร่วมแคมเปญ “CPF แจกโชค จัดหนัก จัดเต็ม แจกโชค 2 ชั้น จุใจกว่า 18 ล้านบาท” เพียงซื้อผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์บก รับคูปองชิงโชค โดยกรอกรายละเอียด เขียนชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ลงในคูปอง และหย่อนลงในกล่องรับชิ้นส่วน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2562 รวมระยะเวลา 6 เดือน พิเศษ! สำหรับลูกค้าฟาร์มซื้อตรง บริษัทอำนวยความสะดวกตัดจากยอดซื้อในทุก 1 ตัน รับ 30 สิทธิ์ทันที ลุ้นรับ รถกระบะอีซูซุ ดีแมคซ์ 6 รางวัล รถจักรยานยนต์ 168 รางวัล สร้อยคอทองคำ มากกว่า 900 เส้น และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย รวม 1,569 รางวัล มูลค่ากว่า 18 ล้านบาท