พี่พลอย เล่าจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรให้ฟังว่าเมื่อก่อนตนเอง

เป็นเซลส์ขายวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร ดูแลพื้นที่ในโซน ระยอง จันทบุรี และตราด ทำมานานเป็นสิบปี จนถึงจุดที่อยากกลับบ้านมาดูแลพ่อแม่ ซึ่งการกลับบ้านครั้งนี้ถือเป็นโอกาสกลับมาพัฒนานำความรู้ที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับอาชีพของพ่อแม่ คืออาชีพเกษตรกรรม ด้วยการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จนเกิดเป็นการพัฒนาต่อยอดจากสวนเกษตรธรรมดาให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกข้าว ขุดบ่อทำโคก หนอง นา โมเดล เลี้ยงปลา ทำปศุสัตว์ พร้อมกับการแปรรูปที่เป็นผลิตภัณฑ์เด่น “ชาสมุนไพร” ที่สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนได้ไม่น้อย

โดยจุดเริ่มต้นของการแปรรูปทำชาสมุนไพร เกิดจากการมองเห็นปัญหาของที่บ้าน เพราะปัญหาหลักของเกษตรกรส่วนใหญ่คือสินค้าเกษตรมีน้ำหนักเยอะถ้าหากจะขายในวงกว้าง การขนส่งถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกที่จะแปรรูปสินค้าเพื่อให้น้ำหนักเบาลง สะดวกในการขนส่ง และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าด้วย

เจ้าของบอกว่า ปัจจุบันที่สวนเปิดเป็นศูนย์แหล่งเรียนรู้การเกษตร เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตลอด ซึ่งนอกจากเปิดศูนย์การเรียนรู้แล้ว รายได้หลักของที่สวนจะมาจากการแปรรูปพืชสมุนไพรอบแห้งทำเป็นชา โดยจะมีผลิตภัณฑ์แปรรูปหลักๆ คือ 1. ชาสมุนไพรจากดอกเก๊กฮวย 2. ชาสมุนไพรจากหญ้าหวาน และ 3. ชาสมุนไพรจากดอกกุหลาบ ซึ่งก็ตรงกับโจทย์ที่ได้ตั้งไว้ว่าต้องการให้สินค้าเกษตรมีน้ำหนักเบา สะดวกในการจัดส่ง และเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยกระบวนการเพาะปลูกแบบเกษตรอินทรีย์

บนพื้นที่ปลูกที่มีไม่มาก แบ่งปลูกเก๊กฮวยไว้จำนวน 2 งาน หญ้าหวาน จำนวน 1 งาน และกุหลาบ จำนวน 100 ต้น โดยเลือกปลูกเป็นกุหลาบมอญ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับการนำมาแปรรูปทำชามากที่สุด ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์และสีสันที่สวยชวนกิน

ขั้นตอนการปลูกพืชสมุนไพรทำชา
พี่พลอย อธิบายการทำชาให้ฟังต่อว่า การปลูกพืชสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูปทำชานั้นมีขั้นตอนความยากง่ายและวิธีการที่แตกต่างกัน โดยที่สวนจะเน้นปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด ดังนั้น การดูแลโรคและแมลงศัตรูพืชถือเป็นเรื่องสำคัญ แต่ข้อดีของการปลูกพืชทั้ง 3 ชนิด คือ เก๊กฮวย หญ้าหวาน และกุหลาบมอญ จะมีข้อดีที่เหมือนกันคือ ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นาน แต่จะมีขั้นตอนการลงทุนเพิ่มขึ้นมา ทั้งแรงงาน ขั้นตอนการแปรรูป และการหาแพ็กเกจจิ้ง แต่หากทำได้สำเร็จบอกได้เลยว่าคุ้มกับการลงทุนแน่นอน

ขั้นตอนการเตรียมดินจะมีกระบวนการคล้ายคลึงกันทั้ง 3 ชนิด คือมีการไถ ปั่นดิน แล้วยกร่อง แตกต่างกันที่ลักษณะการเตรียมแปลง เก๊กฮวย จะทำแปลงยกร่องเหมือนกับการปลูกข้าวโพด ระยะห่างระหว่างต้น 40×40 เซนติเมตร ปลูกยกร่องแถวคู่
หญ้าหวาน จะทำแปลงปลูกเหมือนการปลูกผักทั่วไป ระยะห่างระหว่างต้น 20×20 เซนติเมตร 1 แปลงปลูกได้ 4 ต้น ความกว้างของแปลงประมาณ 4 เมตร
กุหลาบมอญ ปลูกบนพื้นราบธรรมดา ขุดหลุมปลูกตามแนว ระยะห่างระหว่างต้น 1×1 เมตร ระหว่างแถว 1.50 เมตร

การขยายพันธุ์ ของพืชทั้ง 3 ชนิด ใช้วิธีการปักชำทั้งหมด เช่น กุหลาบสามารถตัดลำต้นมาปักชำได้ ส่วนหญ้าหวานและเก๊กฮวยก็ใช้ลำต้นหรือยอดนำมาปักชำเช่นกัน

การปลูก จะเป็นการนำเอาต้นพันธุ์ที่มีรากลงปลูก ซึ่งในขั้นตอนการไถกลบจะมีทั้งหญ้าและพืชปรุงดิน ปอเทืองที่ปลูกไว้ไถกลบเพื่อให้เกิดปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน แล้วจึงค่อยนำเอาต้นพันธุ์มาลงหลุมปลูก หลังจากนั้นต้นพันธุ์ที่ปลูกเริ่มติด จะใส่ปุ๋ยอีก 1 รอบ ปุ๋ยที่ใส่เป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว และน้ำหมักชีวภาพอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่ที่เหมาะสมคือควรให้สักเดือนละ 2 ครั้ง

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว
เก๊กฮวย การออกดอกเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ดอกจะเริ่มบานตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม และบานมากที่สุดช่วงปลายเดือนธันวาคม เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 มกราคม จะเป็นช่วงที่ดอกเก๊กฮวยบานสะพรั่งทั่วสวน
โรคและแมลงศัตรูพืชที่ควรระวัง ในระยะแตกยอดใหม่ๆ เก๊กฮวยค่อนข้างจะบอบบาง จะมีเพลี้ยอ่อนเป็นศัตรู เพลี้ยอ่อนจะคอยมาดูดน้ำเลี้ยง วิธีการแก้ไขคือ การปล่อยแมลงเต่าทองลงไปช่วยกำจัดเพลี้ย จะไม่มีการฉีดสารเคมีใดๆ ลงไปกำจัด ใช้วิธีธรรมชาติกำจัดธรรมชาติก็ได้ผลแล้ว

หญ้าหวาน สามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวต่อต้นอยู่ที่ประมาณ 30-45 วัน หญ้าหวานจะเป็นพืชที่ตัดแล้วแตกใหม่ จึงมีให้เก็บทุกวัน หมุนเวียนกันไปในแปลง
โรคและแมลงศัตรูพืชที่ควรระวัง ศัตรูตัวสำคัญที่ทำให้ผลผลิตหญ้าหวานเสียหายคือราขาวและโรครากเน่าโคนเน่า ก็จะป้องกันและกำจัดด้วยการฉีดพ่นด้วยไตรโคเดอร์มา

กุหลาบมอญ เก็บได้ทุกๆ 2 เดือน แบ่งตัดเป็นรุ่น และมีการตัดแต่งกิ่งทำสาวรอให้แตกกิ่งใหม่ขึ้นมา
โรคและแมลงศัตรูพืชที่ควรระวัง ศัตรูของกุหลาบคือแมลงปีกแข็ง แมงอีนูน เข้ามากัดกินดอกในช่วงที่ดอกกำลังตูม วิธีแก้ไขคือการใช้น้ำส้มควันไม้ หรือก่อกองไฟเพื่อให้ควันจากกองไฟไล่แมลงออกไป

ระบบน้ำ 1. เก๊กฮวย รดน้ำทุกวันด้วยระบบสายน้ำพุ่ง เปิดรดวันละครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที ข้อดีคือช่วยประหยัดน้ำ ติดตั้งง่าย ข้อเสียคือ เวลาที่รดน้ำตอนดอกออก น้ำที่พุ่งขึ้นไปอาจจะไปโดนเกสรของดอก จะทำให้ดอกโรยเร็ว แต่ก็ยังดีกว่าน้ำฝน ถ้าหากโดนน้ำฝน ดอกเก๊กฮวยจะขึ้นรา 2. หญ้าหวาน ให้น้ำทุกวัน วันละ 20 นาที ด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ 3. กุหลาบ ให้น้ำวันเว้นวัน วันละ 30 นาที ด้วยระบบน้ำหยด หากให้น้ำมากเกินไปจะทำให้รากเน่าได้

ขั้นตอนการแปรรูปอบแห้ง-ทำชาสมุนไพร
เริ่มจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตคุณภาพ ถ้าเป็นดอกเก๊กฮวยจะเลือกเก็บเฉพาะดอกที่บานเต็มที่ โดยให้สังเกตที่กลีบนอกและเกสรข้างในถ้าบานเต็มที่สามารถเก็บได้ จะเก็บทุกวันในช่วงฤดูหนาว แต่ถ้าหากทิ้งไว้ให้ดอกบานมากเกินไป ผึ้งจะมาตอมและเก็บเอาเกสรไปหมด ทำให้ความหอมของดอกเก๊กฮวยจะหายไปด้วย ส่วนกุหลาบเมื่อดอกเริ่มบานแค่พอให้เห็นเกสรก็สามารถเก็บได้ เพื่อให้เกสรไม่บานเยอะจนเกินไป หากปล่อยให้บานมากเกินไปกลิ่นหอมของดอกก็จะหายไปด้วยอีกเช่นกัน
หลังจากเก็บดอกไม้ที่ต้องการมาแล้ว

ให้นำมาล้างทำความสะอาด ดอกเก๊กฮวยโดยมากในช่วงที่เก็บไม่ได้มีฝุ่นเยอะ จะนำมาทำความสะอาดเบื้องต้น เรียกว่านำมาผ่านน้ำ คือไม่ถึงขั้นกับเอามาล้าง เพราะถ้าหากล้างมากเกินไปจะทำให้ความหอมของดอกหายไป จากนั้นนำไปสะเด็ดน้ำด้วยเครื่องปั่น แล้วนำไปอบแห้ง ส่วนดอกกุหลาบจะนำมาล้างทำความสะอาด 1 รอบ แล้วนำไปอบ และสุดท้ายหญ้าหวานต้องมีการนำไปล้างน้ำทำความสะอาดถึง 3 รอบ จึงค่อยนำไปอบ
การอบ เป็นการนำไปอบในพาราโบลาโดม ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการอบ ดอกเก๊กฮวยใช้เวลาอบ 2 แดด หรือใช้เวลาอบประมาณ 2 วัน วันละ 6-8 ชั่วโมง ส่วนดอกกุหลาบ อบ 2 แดด เช่นเดียวกับดอกเก๊กฮวย และสุดท้ายหญ้าหวาน อบแดดเดียวหรือประมาณ 6-8 ชั่วโมง
บรรจุใส่หีบห่อ หลังจากอบเสร็จนำมาบรรจุใส่แพ็กเกจจิ้งที่เตรียมไว้ ทั้งขนาดบรรจุเป็นกิโลกรัม และบรรจุแบบขายปลีก

ปริมาณผลผลิตหลังการอบแห้ง 1. เก๊กฮวยสามารถแปรรูปได้จำนวน 100 กิโลกรัมแห้งต่อปี 2. หญ้าหวานสามารถแปรรูปได้ทุกเดือน เดือนละ 30 กิโลกรัม และกุหลาบยังได้จำนวนไม่เยอะมาก เนื่องจากเป็นการเริ่มต้น หากใครอยากสั่งกุหลาบอบแห้งเพื่อไปชงชาต้องพรีออร์เดอร์ไว้ล่วงหน้า

การเพิ่มมูลค่า จากราคาผลผลิตดอกเก๊กฮวยสดที่รับซื้อจากลูกสวนในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เมื่อนำมาแปรรูปสามารถสร้างมูลค่าได้หลายเท่าตัว โดยสัดส่วนดอกเก๊กฮวยสด 3.5 กิโลกรัม จะได้เก๊กฮวยอบแห้ง 1 กิโลกรัม ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท หญ้าหวาน 3.2 กิโลกรัม จะได้หญ้าหวานอบแห้ง 1 กิโลกรัม ขายในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท กุหลาบ ปริมาณเท่ากับเก๊กฮวยคือ 3.5 กิโลกรัม ได้กุหลาบอบแห้ง 1 กิโลกรัม ผลผลิตยังมีขายไม่มาก

แบ่งขายปลีก 10 เปอรเซ็นต์ เก๊กฮวยบรรจุ 10 กรัม ราคา 35 บาท แบบบรรจุ 20 กรัม ราคา 50 บาท หรือถ้าเป็นเก๊กฮวยผสมหญ้าหวานบรรจุใส่ซองชา 10 ซอง ราคา 35 บาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมาก ด้วยความหอมของดอกเก๊กฮวยผสมกับความหวานของหญ้าหวานเข้ากันอย่างลงตัว และกุหลาบบรรจุ 10 กรัม ราคา 35 บาท

จุดเด่นที่มีไม่เหมือนใคร อันดับแรกคือรูปลักษณ์ภายนอกด้วยสีของดอกเก๊กฮวยจะสีเหลืองสวยต่างจากท้องตลาดทั่วไป สีจะไม่เหมือนของจีน และไม่เหมือนของทางภาคเหนือ ถัดมาคือกลิ่น กลิ่นที่แตกต่าง เมื่อเปิดถุงออกมาจะได้กลิ่นของดอกเก๊กฮวยที่ให้ความหอมคล้ายกับน้ำผึ้ง พร้อมกับรสชาติหวานผสมกับเผ็ดนิดๆ หากนำมาผสมกับหญ้าหวานจะเพิ่มความละมุนเพิ่มขึ้นไปอีก และดอกกุหลาบ เมื่อเปิดถุงออกมาจะได้กลิ่นของกุหลาบก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นเมื่อนำมาชงสีของกลีบกุหลาบเมื่อโดนน้ำร้อนสีจะละลายไปพร้อมกับน้ำร้อน จะเหลือเป็นดอกกุหลาบสีขาวบริสุทธิ์ จนลูกค้าที่เคยซื้อไปถามว่าที่สวนนำดอกกุหลาบไปชุบสีหรือเปล่า ก็ต้องบอกว่าไม่ได้มีการชุบสีใดๆ เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ พร้อมกับการได้ดื่มด่ำรสชาติที่หอมละมุนและสีสันที่สวยงาม ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

นำประสบการณ์อาชีพเซลส์
มาประยุกต์ใช้กับงานเกษตร
สำหรับการทำตลาดสมุนไพรอบแห้ง พี่พลอย เล่าให้ฟังว่า ตนเองค่อนข้างที่จะได้เปรียบเกษตรกรทั่วไปอย่างหนึ่งคือ ด้วยอาชีพเดิมที่เคยเป็นเซลส์ขายสินค้ามาก่อนจึงสามารถเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาใช้กับงานในปัจจุบันได้

“อาชีพเซลส์อย่างแรกที่ได้เปรียบเลยคือเรื่องของคอนเน็กชั่น เรื่องของการสร้างฐานลูกค้า เพราะเราสามารถวิเคราะห์ลูกค้าได้ เซลส์จะรู้ว่าสินค้าแบบไหนที่ลูกค้าต้องการ เพราะฉะนั้นเราจึงรู้ได้ว่าอะไรที่เราทำออกมาแล้วมันขายได้ นั่นคือเซลส์ และเซลส์จะใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุดในกระบวนการด้านธุรกิจ มันทำให้เรามองต่างจากเกษตรกรทั่วไป ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบทำให้สินค้าเราขายได้ และขายได้ในราคาที่ดี เพราะเรามีการสร้างเรื่องราวและสามารถจับเทรนด์สินค้าที่คนชื่นชอบได้ในปัจจุบัน รวมถึงช่องทางการตลาดที่มีหลายช่องทาง ทั้งจากทางศูนย์การเรียนรู้ ทั้งพ่อค้าแม่ค้าประจำจากหลายจังหวัด รวมถึงลูกค้าในสื่อโซเชียลต่างๆ ทำให้ทุกวันนี้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี จากการแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง” พี่พลอย กล่าวทิ้งท้าย

วิถีชีวิตเกษตรของคนไทยในอดีตเป็นวิถีชีวิตที่อยู่ใกล้ตัว เนื่องจากคนในครอบครัวเกษตรส่วนใหญ่ไม่ซื้อข้าวปลาอาหารจากผืนนาอื่นกินนอกจากเกลือ รอบๆ บ้านจึงปลูกพืชพื้นบ้านทุกอย่างที่กินได้ เช่น พืชผักที่ปลูกครั้งเดียวกินได้นานๆ อย่างฟัก แฟง ขี้เหล็ก สะเดา แค ส่วนพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไผ่สารพัดชนิดเพื่อการใช้สอยที่แตกต่างกัน

วิถีชีวิตนี้ได้เลือนหายไปเมื่อเรามาทำมาหากินในเมือง เนื่องจากถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา แต่ความเป็นคนที่มีวิถีเกษตรในสายเลือด มีความนึกคิดตลอดเวลาที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในเมืองว่าอยากจะปลูกต้นไม้ต้นไร่ มีชีวิตอยู่ในสวนตอนอายุมากแล้ว ความคิดนี้มีอยู่ใจของคนส่วนใหญ่

หลายคนหวนคิดถึงวันเวลาที่จะมีอิสรภาพในการทำสิ่งต่างๆ

รองศาสตราจารย์กษิดิศ อื้อเชี่ยวชาญกิจ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ทั้งระดับปริญญาตรี (KU.27) และปริญญาโท ในสาขาสัตวบาล รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 จึงโอนย้ายไปสอนที่ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นับเป็นอาจารย์ด้านสัตวบาลคนแรกของสถาบันฯ ที่ช่วยบุกเบิกการเรียนการสอนด้านการเลี้ยงสัตว์ รองศาสตราจารย์กษิดิศได้เคยทำงานบริหารในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร และรองคณบดีของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ทำการสอนและวิจัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2553

การได้ปฏิบัติราชการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโอกาสดีที่ได้ทำงานด้านเกษตรผสมผสานตามที่ใฝ่ฝันไว้ เนื่องจากแนวคิดที่ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะยากจน ทางรอดที่จะให้เกษตรกรรายย่อยมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นและอยู่ได้อย่างมีความสุขนั้น ต้องเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ทุกกิจกรรมมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรของไทยนับตั้งแต่ยุค “ปฏิวัติเขียว” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา จึงได้มีการนำวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร จุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

แต่การนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเพิ่มผลผลิตการเกษตรอย่างขาดความระมัดระวังนี้เอง ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายต่อทุกภาคส่วนดังที่ปรากฏตราบจนทุกวันนี้

จากผลที่ปรากฏดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวเรื่องสุขภาพโดยเฉพาะอาหาร ผู้บริโภคที่รักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงปฏิเสธการบริโภคอาหารที่มีสารปนเปื้อนในกระบวนการผลิต ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำลายสิ่งแวดล้อมและขาดคุณธรรม อาหารดังกล่าวเรียกว่า “อาหารอินทรีย์” ดังนั้น การเกษตรแบบผสมผสานในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์จึงเป็นงานที่ต้องหันมาทำการศึกษาวิจัย ให้ความรู้แก่นักศึกษา เกษตรกร และผู้บริโภค แทนที่จะมุ่งใช้แต่เทคโนโลยีแผนใหม่ที่ต้องพึ่งพาสารเคมีสังเคราะห์

รองศาสตราจาย์กษิดิศกล่าวถึงการศึกษาด้านเกษตรของไทยว่า “จากการเรียนการสอนวิชาการเกษตรในระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านวิชาการเชิงลึก แต่ยังอ่อนด้านการปฏิบัติการในรูปแบบของการบูรณาการ หรือการนำไปใช้ได้จริง สำหรับการเกษตรอินทรีย์เป็นการเกษตรแบบองค์รวมที่มีการบูรณาการทุกแขนงวิชาการเกษตรเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การมีคุณธรรม ตลอดจนการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ หากจะผลิตเพื่อเป็นธุรกิจ”

ในช่วงที่ยังมีภารกิจการสอน รศ. กษิดิศ ปลูกพืชผักอินทรีย์ซึ่งไม่มีการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เพื่อใช้บริโภคเองไว้บริเวณหลังบ้าน โดยมีการศึกษาการเจริญเติบโตของผักควบคู่ไปด้วย เมื่อเกษียณอายุราชการ จึงขยายการปลูกผักอินทรีย์ในพื้นที่นอกบ้านเพื่อเป็นธุรกิจซึ่งต้องมีการลงทุน ทั้งด้านวัสดุ อุปกรณ์และแรงงาน การดำเนินงาน แต่เมื่อเริ่มต้นไปสักระยะก็ต้องหยุดลงกะทันหัน เนื่องจากต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่รั่วมานาน

ในช่วงของการพักฟื้นก็ได้คู่ชีวิตที่ชอบการปลูกผักในรูปแบบเดียวกันดูแล โดยปลูกผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เพื่อบริโภคเองเป็นหลักไว้รอบๆ บ้านพักอาศัยซึ่งมีพื้นที่ 111 ตารางวาในหมู่บ้านชัยพฤกษ์รามอินทรา

นอกจากบริโภคเองแล้ว ผักบางอย่างที่เหลือจากการบริโภคจะแจกจ่ายให้ญาติมิตรและขายให้กับคนในหมู่บ้าน ตลอดจนนำไปส่งขายที่ร้านขายผักอินทรีย์-ผักไร้สารพิษ Organic Station ที่ตลาดถนอมมิตรซึ่งอยู่ใกล้บ้าน บางครั้งก็นำไปขายที่ตลาดนัดโรงเรียนไตรพัฒน์ คลองหก อำเภอลำลูกกา เดือนละครั้ง และตลาดนัดสีเขียว ศูนย์สุขศาสตร์หลังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีบู๊ธขายสินค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์นานาชนิดทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดีอีกด้วย การขายผักอย่างละนิดอย่างละหน่อยนี้ รศ.กษิดิศกล่าวว่า รายได้ทุกเดือนมากกว่ารายจ่ายในบ้านเสียอีก

เกษตรอินทรีย์ เริ่มที่บ้าน
แปลงผักที่ปลูกจะใช้ไม้เฌอร่าซึ่งทนแดดทนฝน มีหน้ากว้าง 20 เซนติเมตร ตัดเป็นรูปแปลงผักขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร นำวัสดุปลูกซึ่งเป็นดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงไปบล๊อกไม้เฌอร่าให้สูงจากพื้นเดิมประมาณ 20 เซนติเมตร เสริมจุลินทรีย์ของดินด้วยการรดน้ำหมักชีวภาพ แล้วจึงนำต้นกล้าผักที่เตรียมไว้ซึ่งมีอายุ 10-15 วัน ปลูกลงในแปลงพื้นดินด้านล่าง หากมีพื้นที่จำกัดก็ปลูกผักลงในตะกร้าแล้วแขวนข้างกำแพงบ้าน ผักที่ปลูกนั้นมีหลายชนิด แต่ยังยึดการปลูกเพื่อบริโภคเป็นสำคัญ เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดหัว ฟักเขียว แตงกวา มะนาว กะเพรา แมงลัก พริกขี้หนู และโหระพา เป็นต้น

นอกจากการปลูกผักแล้ว รศ. กษิดิศ ยังเลี้ยงไส้เดือนดินร่วมกับการปลูกผักอินทรีย์ โดยใช้มูลโคที่หมักแล้วเสริมด้วยเศษผัก เศษผลไม้ และเศษอาหารเลี้ยงไส้เดือนดิน ในมูลไส้เดือนก็นำมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่พืชผักอินทรีย์ การดูแลผักจะดำเนินการด้วยตนเอง ไม่มีการจ้างแรงงานเลย

การปลูกพืชผักในช่วงแรกจะมีแมลงศัตรูพืชรบกวน เป็นเรื่องปกติ ต้องหมั่นสังเกตเดินดูแปลงผัก ออกกำลังกายไปเรื่อยๆ หากเจอศัตรูพืชก็เก็บออก ตอนปลูกครั้งแรกๆ จะใช้น้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้เพื่อป้องกันและขับไล่ศัตรูพืช

ทั้งนี้ จะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การปลูกผักในรูปแบบดังกล่าว เมื่อปลูกติดต่อกันไปนานๆ จะสังเกตได้ว่าการรบกวนของศัตรูพืชลดลงมาก ทั้งนี้ อาจเกิดจากธรรมชาติมีความสมดุลขึ้น มีตัวห้ำตัวเบียนมาอยู่ช่วยกำจัดศัตรูพืชผัก

จากหลักการเกษตรอินทรีย์ที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกื้อกูลกัน รองศาสตราจารย์กษิดิศ จึงได้เลี้ยงไก่ไข่ไว้บริเวณด้านข้างตัวบ้าน โดยเริ่มเลี้ยงจากลูกเจี๊ยบประมาณ 60 ตัว ทั้งนี้ ตั้งใจใช้มูลไก่ที่ได้มาปรับปรุงดินปลูกพืช เลี้ยงด้วยเศษอาหารที่ได้จากร้านอาหารใกล้บ้าน และใช้น้ำหมักชีวภาพควบคุมกลิ่นมูลสัตว์ เมื่อเลี้ยงไก่ไข่ได้จนอายุประมาณ 5 เดือน ใกล้ที่จะให้ไข่ก็ต้องขนย้ายไก่ไข่ไปเลี้ยงที่อื่น ทั้งนี้เนื่องจากไก่โตขึ้นและมีจำนวนมากเกินกว่าที่น้ำหมักชีวภาพจะควบคุมกลิ่นได้

ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นการนำเป็ดไข่ 10 ตัว มาเลี้ยงแทนใช้และใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมาควบคุมกลิ่น ทุกวันนี้ไข่เป็ดที่ได้จำนวนวันละ 6-7 ฟอง บริโภคไม่หมดก็นำไปขาย ใช้เศษผักและวัชพืชในแปลงผักเป็นอาหารเสริมแก่เป็ด น้ำในอ่างที่ให้เป็ดได้ลงเล่นก็นำออกมาใช้รดต้นไม้ มูลเป็ดนำใช้เป็นปุ๋ยปลูกผัก

นอกจากการปลูกผักแล้ว รศ. กษิดิศ ยังส่งเสริมเพื่อนบ้านให้ปลูกผักรับประทานเอง โดยให้คำปรึกษาแนะนำเป็นวิทยาทาน ตลอดจนจัดหาวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในการปลูกผักอินทรีย์มาจำหน่าย เช่น ดินผสมมูลไส้เดือนสำหรับใช้ปลูกพืชผัก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยจากมูลไส้เดือน กากน้ำตาล น้ำหมักชีวภาพ สาร ชีวภัณฑ์ และสารสมุนไพรใช้ควบคุมศัตรูพืช เป็นต้น

รองศาสตราจารย์กษิดิศ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “การปลูกพืชอินทรีย์ที่ใช้พื้นที่จำกัดข้างบ้าน ให้ยึดหลักว่า

1. ต้องใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด โดยการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช น้ำใช้ไม่มีปัญหาสำหรับการปลูกพืชในบริเวณบ้าน เนื่องจากน้ำมีเพียงพอ

2. ปลูกพืชที่ใช้บริโภคในครัวเรือนก่อน โดยเริ่มต้นอาจมีไม่กี่ชนิด เมื่อปลูกต่อไปๆ ชนิดของพืชจะเพิ่มมาก คนปลูกจะมีความสุขและมั่นใจในผักที่ตัวเองปลูกว่ามีความปลอดภัยมากกว่าผักตลาดที่เหลือจากการบริโภคนำออกแจกจ่ายญาติมิตรและจำหน่ายในขั้นต่อไป

และประการที่ 3. การจำหน่ายผลผลิตไม่ควรที่จะต้องขนส่งไปไกล ควรหาตลาดที่อยู่ใกล้สำหรับการขนส่งเอง และถ้าเป็นตลาดที่ไกลควรให้ผู้ซื้อมารับเอง เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของเราในการขนส่ง”

การปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้านเป็นความสุขหลังเกษียณอายุราชการที่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมากมาย เหมาะสมกับกำลังกายที่มี ไม่ต้องออกแรงหนักมากนัก โดยใช้แรงงานภายในครอบครัวก็มีความสุขที่ได้ผักดีๆ มาบริโภค ผักอาจจะด้อยความงามไปบ้าง แต่ก็มากด้วยคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางอาหารเพราะเป็นผักที่ปลูกตามวิถีธรรมชาติ เมื่อมีผลผลิตเหลือเฟือก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นจากการแบ่งปันพืชผักที่ปลอดภัยให้คนอื่น

การเปลี่ยนไปทำเกษตรกรรมแบบใช้น้ำน้อยเนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ทำให้วีระชัย ศรีสด หาทางออกด้วยการทำเกษตรกรรมผสมผสานที่รวมเอาด้านประมง ด้านเกษตรปลูกพืชไม้ผลและปศุสัตว์ไว้ในแปลงเดียวกัน เพราะมองว่าแนวทางนี้ช่วยให้มีอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคง

คุณวีระชัย ศรีสด อยู่บ้านเลขที่ 39 หมู่ที่ 8 บ้านโนนแดง ตำบลยาว อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โทรศัพท์ 087-871-9981 ปัจจุบันทำเกษตรผสมผสานด้วยการเพาะขายพันธุ์ปลาและกบ ปลูกพืชไม้ผล และเลี้ยงสัตว์ พร้อมนำมูลสัตว์และเศษพืชผักมาผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กลับมาใช้ทุกกิจกรรม ทั้งยังแปรรูปปลาและกบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสร้างมูลค่า เสริมรายได้ที่มั่นคง ยั่งยืน

เจ้าของฟาร์มรายนี้เริ่มต้นจากการเพาะพันธุ์ปลาขายก่อน เพราะมองว่าใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็มีรายได้แล้ว พันธุ์ปลาที่เพาะ-ขาย ได้แก่ ปลาหมอชุมพร ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาดุกรัสเซีย ปลาตะเพียน ปลานิลแปลงเพศ (จิตรลดา 4) และกบ พันธุ์ปลาที่เพาะขายจะเน้นชนิดที่คนอีสานตอนล่างรู้จักและนิยมกินเพราะตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง โดยพันธุ์ที่นิยมมากที่สุดคือปลาดุก ปลาหมอ และปลานิล จะเพาะในบ่อซีเมนต์ก่อนแล้วย้ายไปอนุบาลในบ่อดิน ตอนนี้มีบ่อทั้งสองชนิดรวมกัน 32 บ่อ แล้วจะคัดแยกพ่อ-แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ไว้เพื่อใช้ขยายพันธุ์ในแต่ละรุ่น

คุณวีระชัย บอกว่า ปลาหมอชุมพรได้รับความนิยมมาก คุณสมบัติที่ดีของปลาหมอชุมพรคือ มีขนาดใหญ่ จำนวน 2-3 ตัวต่อกิโลกรัม จึงทำให้เป็นจุดเด่นของความต้องการจากลูกค้า ทั้งผู้บริโภคและพ่อค้า อีกประการเนื่องจากปลาหมอชุมพรตามธรรมชาติมีขนาดเล็กมาก ต่างจากปลาเลี้ยง จึงทำให้ผู้บริโภคสนใจปลาเลี้ยงมากกว่า

สำหรับขั้นตอนการเพาะปลาชนิดนี้ เจ้าของฟาร์มให้รายละเอียดว่า หลังจากลูกปลาออกจากไข่แล้ว จะเพาะ-ฟักในบ่อซีเมนต์ก่อนเป็นเวลาประมาณ 3 วัน ซึ่งในช่วงนี้จะได้ลูกปลาในอัตรารอดประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นจึงย้ายลงบ่อดิน สำหรับระยะเวลาการเลี้ยงลูกปลาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน อย่างปลาดุกใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 20 วันจึงจับมาคัดแยกขนาดสำหรับขายในรุ่นแรกจะได้เป็นปลานิ้วบ้างหรือต่ำกว่านิ้วบ้าง ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกค้าต้องการ

ปลาอีกชนิดที่คนนิยมกินคือปลานิล แล้วต้องเป็นปลานิลแปลงเพศด้วย เหตุผลที่ต้องแปลงเพศเพราะช่วยให้ปลาโตเร็ว มีน้ำหนักและมีเนื้อมากเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ปลานิลจะแปลงจากตัวเมียเป็นตัวผู้ เพราะตัวผู้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักดีกว่าตัวเมีย ส่วนปลาหมอจะแปลงจากเพศผู้ไปเป็นเพศเมีย เพราะตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

สำหรับเทคนิคการเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศฉบับวีระชัย weareorganizedchaos.com มีจุดเด่นตรงการคัดสายพันธุ์ของพ่อ-แม่ที่แข็งแรง มีการเจริญเติบโตดีแล้วนำมาผสมไขว้ เพื่อทำให้ลูกปลามีความแข็งแรง มีความสมบูรณ์ทั้งขนาดและเนื้อ มีความทนทานต่อโรค สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่ที่ใช้เลี้ยง วิธีแปลงเพศด้วยการให้ปลากินฮอร์โมนเพศตามที่ต้องการ ขณะเดียวกัน วิธีนี้ได้นำมาใช้กับปลาทุกชนิดที่เลี้ยง

ช่วงผสมพันธุ์ปลาจะปล่อยตัวผู้และตัวเมียในอัตราตัวเมีย 5 ตัว และตัวผู้ 1 ตัว หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะอมไข่ไว้ จะต้องเคาะไข่ออกจากปากทุก 10 วัน นำไข่มาฟักในภาชนะใช้ระบบน้ำวนประมาณ 1-2 วัน ลูกปลาอ่อนจะหลุดออกมาจากไข่ ช่วงนี้ให้อาหารประเภทฮอร์โมนแปลงเพศโดยให้กินอาหารผสมฮอร์โมนเพศผู้ แอลฟา เมทิลเทสโทสเตอโรน (alfa methyltestosterone) ผสมกับอาหารละเอียดให้กับลูกปลาอ่อนวันละ 6 ครั้ง ประมาณ 21 วัน

เมื่อปลาโตขนาดใหญ่ขึ้นแยกไปอนุบาลยังคงให้อาหารชนิดเดิมต่อไปแต่ไม่ต้องผสมฮอร์โมน เลี้ยงต่อไปอีก 1 เดือนจะได้เป็นปลาขนาดนิ้ว ถ้ามีพ่อค้ามารับซื้อขายราคาตัวละประมาณ 45-50 สตางค์

ส่วนปลาดุกขยายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเทียมโดยการรีดไข่แล้วนำมาผสมในภาชนะ เลือกปลาตัวที่มีไข่โดยการจับคลำที่ท้องฉีดฮอร์โมนเร่งไข่ หลังจากได้ไข่แล้วใช้น้ำเชื้อจากตัวผู้ผสมกับไข่แล้วนำไปเทใส่ภาชนะ ไข่ปลาดุกใช้เวลาฟักประมาณ 24 ชั่วโมง แต่หากอากาศดี แดดมากอาจใช้เวลาเพียง 18 ชั่วโมงเท่านั้น

หลังจากเป็นตัวจะอนุบาลในบ่อซีเมนต์ประมาณ 3-5 วัน ช่วงนี้อาหารเป็นไข่แดงบดละเอียดละลายน้ำในบ่อให้เช้า-เย็นครั้งละ 5 ฟอง พอครบเวลาย้ายลงบ่อดินที่ได้เตรียมความพร้อมด้วยการล้างบ่อ ตากแดด หว่านปูนขาว ใส่ปุ๋ยคอกและจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดแพลงตอน

การเลี้ยงกบ มีหลักแนวทางเหมือนปลาคือ ต้องมีการคัดพันธุ์ที่แข็งแรงไว้ทุกปี เมื่อถึงคราวผสมพันธุ์จะต้องไขว้สายพันธุ์เพื่อป้องกันเลือดชิดที่จะเกิดปัญหาต่อการเติบโต ให้ผสมในบ่อซีเมนต์ จากนั้นนำไข่ใส่ลงในบ่อดิน อาหารที่ใช้เลี้ยงกบเป็นอาหารปลา รายได้จากการเลี้ยงกบจะขายตั้งแต่เป็นลูกอ๊อด ซึ่งนิยมนำไปทำเป็นเหยื่อตกปลา ขายเป็นลูกกบเล็ก เพื่อนำไปเลี้ยงให้โตแล้วขาย หรือขายเป็นกบโตที่ขายเนื้อ ส่วนตลาดรับซื้อกบเป็นชาวบ้านฝั่งไทยนำไปขายที่ฝั่งลาว