พื้นที่นอกเขตป่า ได้แก่ พื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมทำนาพื้นที่

ในความรับผิดชอบของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) พื้นที่ในความรับผิดชอบของอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และที่ดินกรรมสิทธิ์อื่น ๆ รวม 14.6 ล้านไร่ และพื้นที่สีเขียวในเขตอีก 2.7 ล้านไร่

หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างน้อย 420,000 บาท/คน/ปี ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคป่าไม้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท/ปี เนื่องจากความต้องการใช้ไม้มีเป็นจำนวนมากทั้งเพื่อใช้ภายในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีนที่แต่ละปีมีความต้องการไม้จำนวนมาก
จี้ปลดล็อกกฎหมาย

“เสรี รัตนเย็นใจ” ผู้อำนวยการส่วนปลูกป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าแม้การปลูกป่าในพื้นที่ป่าไม้กับพื้นที่ทำกินของประชาชนแบ่งแยกได้ยาก แต่การปลูกป่าเศรษฐกิจอยู่ในการรับผิดชอบของกรมป่าไม้ทั้งสิ้น ที่ต้องเร่งดำเนินงานในปี 2561 คือ ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช. 106/2557 ว่าด้วยไม้หวงห้ามประเภท ก. หรือไม้ที่หากจะมีการทำไม้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีไม้เศรษฐกิจสำคัญ 3 ชนิดที่ถูกกำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ สัก พยูง และยาง

ด้าน “พนม พงษ์สุวรรณ” เกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก อ.ภูกระดึง จ.เลย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐต้องการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต้องแก้ไขระเบียบกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันขั้นตอนการตรวจสอบไม้ค่อนข้างยุ่งยากซ้ำซ้อน อาทิ ต้องไปขึ้นทะเบียนไม้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ให้ตรวจสอบการถือครองที่ดิน การแจ้งการตัดไม้ ทำบัญชีไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมา เช่น บางจังหวัดโอนงานเกี่ยวกับป่าเศรษฐกิจไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรมป่าไม้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฝ่ายปกครอง เป็นต้น
ดังนั้น หากรัฐต้องการสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างจริงจัง กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องชัดเจน และไม่สร้างปัญหา ที่สำคัญต้องทำให้เห็นว่าการปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้

ในส่วนของตนที่ผ่านมาปลูกไม้สักในเชิงเศรษฐกิจ 45 ไร่ เฉลี่ยแล้วมีรายได้ 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ แต่หากดูแลรักษาดี ราคาขายอาจสูงเกิน 1 แสนบาทต่อไร่ เพียงแต่ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าไม้สักจะโตพอตัดขายในระหว่างนั้นสามารถสร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้เลื้้อยในพื้นที่รอบๆ ต้นสัก สำหรับการขายไม้สักจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อตามสวนป่าของเกษตรกร ตลาดซื้อขายหลักอยู่ใน จ.ลำปาง และแพร่ ซึ่งหากเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็จะทำให้ขายได้ในราคาที่ลดลงเพราะถูกหักค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง

“รุ่งนภา วัฒนวิเชียร” ผู้จัดการสำนักงานการรับรองไม้เศรษกิจไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TFCC) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลปลดล็อกมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งเข้มงวดในการควบคุมดูแลการทำไม้หายาก จะจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งเกษตรกรรายย่อย และภาคเอกชนหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจตอบสนองยุทธศาสตร์ของกรมป่าไม้มากขึ้น

กล่าวได้ว่าขณะนี้การผลักดันปลูกไม้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีป่าเศรษฐกิจแปลงนำร่องทั่วประเทศกว่า 70,000 ไร่ แยกเป็นปลูกในพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) 60,000 ไร่ มากกว่า 70,000 ไร่ นอกนั้นเป็นป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของภาคเอกชน เช่น กลุ่มดั๊บเบิ้ลเอ, เอสซีจี และเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น เป้าหมายของแปลงนำร่องคือไม้กลุ่มแรกต้องได้รับการรับรองภายในปี 2561 ภายใต้มาตรฐาน มอก.14061 หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจยั่งยืน โดยไม้กลุ่มแรกประกอบด้วย ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และไม้สัก

เอกชนเล็งทำไม้ยางหนุนชีวมวล

ขณะเดียวกัน จากที่ความต้องการไม้ในประเภทไม้อัดแท่งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไม้ที่ปลูกในเชิงเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ปรับกฎระเบียบให้เอื้อมากขึ้น จะดึงดูดให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการเอกชนหันมาปลูกป่าเศรษฐกิจสร้างรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ อย่างการทำไม้อัดแท่งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้ไม้โตเร็วอย่างไม้ยางในการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น

หากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจสัมฤทธิผล นอกจากจะตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมควบคู่กันด้วย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า นอกจากรัฐบาลไทยจะเน้นดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู และปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการมีทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืนแล้ว

รัฐบาลไทยยังได้เห็นความสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของประเทศสู่เวทีระดับโลกในหลายๆ เวทีอย่างต่อเนื่องด้วย โดยในงานแสดงสินค้า Seafood Expo North America 2018 ซึ่งสหรัฐอเมริกากำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2561 ณ กรุงบอสตัน สหรัฐอเมริกา

รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงเข้าร่วมการจัดงาน เนื่องจากเป็นงานแสดงสินค้าอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอเมริกาเหนือซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่มีทั้งผู้ซื้อขายและจำหน่ายอาหารทะเลทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ สหภาพยุโรป สเปน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย เพื่อสร้างเครือข่ายและหารือธุรกิจ ระหว่างผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้ค้าปลีก ร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เกต โรงแรม บริษัทด้านอาหาร

ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์สินค้าประมงของไทยที่ได้มาตรฐานสากลและประชาสัมพันธ์ถึงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการประมงของไทย ต่อผู้นำเข้าและผู้สนใจที่เข้าร่วมงาน อันจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้นำเข้าและผู้สนใจสินค้าประมงไทยมากยิ่งขึ้น

รวมถึงสื่อมวลชนด้านการประมงระดับโลกที่เข้าร่วมงานและหาข้อมูลข่าวคราวความเคลื่อนไหวด้านการประมงจากงานนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ National Fisheries Institute และ Seafoodsorce.com ซึ่งเป็นสื่อมวลชนหลักในการสนับสนุนในการจัดงานครั้งนี้อย่างเป็นทางการด้วย

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า สำหรับกิจกรรมภายในงานนอกจากการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงใหม่ๆ รวมทั้งการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ บริการด้านสินค้าอาหารทะเล โซนนิทรรศการของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการประมงของทั่วโลกแล้ว

ยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์ สถานะ ข้อมูลปัจจุบันด้านการประมงระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยคณะผู้แทนไทยที่ได้รับมอบหมายไปร่วมงานและจะร่วมเสวนาในงานเลี้ยงรับรองผู้นำเข้าอาหารทะเลและสื่อมวลชนในหัวข้อ เส้นทางสู่การประมงที่ยั่งยืนของประเทศไทย หรือ “Thailand’s Path to Sustainable Fisheries”อย่างครอบคลุมในทุกมิติ

ประกอบด้วย นายวีระชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจากับสหภาพยุโรป เป็นหัวหน้าคณะ นางเพชรรัตน์ สินอวยรองปลัดกระทรวงแรงงาน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ประธานคณะอนุกรรมการกฎหมายและการดำเนินคดี ศปมผ. รวมถึงนางอภิญญา ทาจิตต์ รองผู้อำนวยการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella maris) องค์กรเอ็นจีโอ

ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยที่ได้เชิญเอ็นจีโอเข้ามาร่วมทำงานอย่างเป็นอิสระด้านการคุ้มครอง ส่งเสริมสิทธิของแรงงานประมงกว่า 30 ปี มานำเสนอการทำงาน เพื่อให้เวทีการประมงระดับโลก ได้รับรู้ รับทราบเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงและถูกต้องของประเทศไทยด้วย ขณะที่ภาคเอกชนไทยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ได้แก่ นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประธานอนุกรรมการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีฝนและพายุที่พัดเข้ามาในพื้นที่ จ.เชียงราย ส่งผลให้พื้นที่อำเภอเมืองเชียงรายมีอากาศเย็นและมีลมพัดตลอดทั้งวัน อุณหภูมิตลอดวันประมาณ 20-22 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ ต้นซากุระ ที่ปลูกไว้บริเวณโดยรอบอาคารศาลากลางจังหวัดเชียงรายบานสะพรั่งอย่างงดงาม

โดยเป็นต้นซากุระพันธุ์แท้ที่ทางสมาคมซากุระกุมมะ จังหวัดกุมมะ ประเทศญี่ปุ่น นำมามอบให้จังหวัดเชียงรายกว่า 187 ต้น ซึ่งสร้างความสนใจให้กับผู้สัฐจรผ่านไปมา ที่ต่างแวะเวียนถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ดอกซากุระดังกล่าวมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไทเรียว พันธุ์คาวาดุ และพันธุ์ซูเซนจิคาน ซึ่งสมาคมซากุระกุมมะได้นำมาปลูกที่ จ.เชียงราย เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2557 โดยแบ่งกระจายไปปลูกที่ศาลากลางจังหวัด ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และริมฝั่งแม่น้ำกกในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงราย ทั้งนี้หลังการปลูกดังกล่าวพบว่าดอกซากุระสายพันธุ์แท้ดังกล่าวได้เบ่งบานอย่างสวยงามมาแล้วถึง 4 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ฝนและพายุที่พัดเข้าสู่พื้นที่ จ.เชียงราย ส่งผลให้พื้นที่หมู่ 1, 2, 4, 6, 7, 8, 11, 13, 15, 16, 17, 19 และหมู่ 20 ต.ต้า อ.ขุนตาล จ.เชียงราย รวมทั้งหมดจำนวน 13 หมู่บ้านได้รับความเสียหาย โดยนายเลิศยศ แย้มพราย นายอำเภอขุนตาล จ.เชียงราย ได้รายงานด่วนถึงนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่าเมื่อช่วงเวลา 01.00-02.00 น.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุพายุฝนฟ้าคะนองและพายุลมกระโชกแรง ทำให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวน 133 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นฝาบ้าน และหลังคาถูกพัดเสียหายบางส่วน ซึ่งหลังเกิดเหตุทางอำเภอขุนตาล เทศบาลบ้านต้า และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้า ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ซ่อมแซมบ้านเรือนให้ชาวบ้านแล้ว

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.เว็บไซต์เพิร์ธนาวรายงานว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนในออสเตรเลียกังวลนกกระสาสีขาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นพันธุ์ท้องถิ่นว่าจะรบกวนต่อการขึ้นลงของเครื่องบินและจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางออกจาก หรือเข้าสู่สนามบินเพิร์ธโดยสายการบินที่ให้บริการ ซึ่งทางสภาท้องถิ่นของเมืองได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะมีการลดจำนวนนกกระสาสีขาวพันธุ์ออสเตรเลียกว่า 100 ตัว หลังจากที่จำนวนของพวกมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลังจากที่มีการนับจำนวนนกกระสาสีขาวพันธุ์ออสเตรเลียที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสำนักงานด้านการจัดการขยะเรดฮิลล์ ซึ่งพื้นที่ทิ้งขยะ ตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน โดยบรรดานกเหล่านี้จะบินมาหาอาหารบริเวณกองขยะ โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน และผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง

ซึ่งทางสภาท้องถิ่นได้ส่งจดหมายไปตามบ้านในท้องที่เพื่อแจ้งให้ทราบว่านกกระสาสีขาวออสเตรเลียเป็นพาหะนำโรค และที่สำคัญที่สุดนกเหล่านี้เป็นอันตรายต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน

ด้านนายเจฟฟรี่ย์ โธมัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน กล่าวว่านกกระสาสีขาวออสเตรเลียเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากขนาดตัวของมันที่มีขนาดใหญ่ และหากมันบินชนเครื่องบินอาจจะทำให้เครื่องบินตกได้ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงคำบอกเล่าจากกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 747 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ทำการบินมาจากนครซิดนีย์ มาถึงยังเมืองเพิร์ธด้วยว่า มีนกกระสาบินชนบริเวณเครื่องจนเครื่องสั่น จนทำให้นักบินไม่สามารถอ่านคู่มือทำการบินได้

ทั้งนี้ทางสำนักงานความปลอดภัยด้านคมนาคมของออสเตรเลียเปิดเผยตัวเลขว่าในช่วงปี 2558-2560 มีเหตุการณ์นกกระสาบินชนเครื่องแล้วกว่า 130 ครั้ง และทางกาาท้องถิ่นออสเตรเลียได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาให้เข้ามาลดจำนวนนกกระสาสีขาวพันธุ์ออสเตรเลียแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการลดจำนวนครั้งแรกในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

นางเครือวัลย์ วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2561 ตั้งหมายเพิ่มกำไร 3 % จากปี 2560 อยู่ที่ 30-40 ล้านบาท ส่วนรายได้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 % จากปีก่อน 1,700 ล้านบาท นอกจากนี้มีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางเดินรถจาก 39 เส้นทาง เป็น 42 เส้นทาง เพราะบริษัทฯ มีรายได้จากค่าโดยสารเป็นหลัก

สำหรับปี 2560 แม้นครชัยแอร์จะมีกำไร ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นขาดทุนและเริ่มทยอยคืนใบอนุญาต แต่อัตรากำไรขั้นต้น (Margin) ลดต่ำลงมากอยู่ที่ 2-3 % จากเป้าหมาย 5 % และลดลงจากในอดีตที่เคยสูงถึง 10 %

เบื้องต้นเข้าพบนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม เพื่อสะท้อนปัญหาอัตราค่าโดยสารไม่สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยค่าโดยสารปัจจุบันคำนวณบนพื้นฐานราคาน้ำมันดีเซล 20 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันราคาดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 25 บาทต่อลิตร และยังไม่มีการพิจารณาปรับราคาค่าโดยสาร

ขณะเดียวกันเชื่อว่านโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ แน่นอน เพราะเป็นธุรกิจบริการ ดังนั้นจึงต้องการยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น ขอให้รัฐช่วยอุดหนุนราคาน้ำมัน ลดภาษีรถยนต์หรือค่าอะไหล่ จัดหาสถานีที่เหมาะสมต่อการเดินทาง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นครชัยแอร์ใช้เงินลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่ safety coach แบ่งเป็นการจัดซื้อรถใหม่ 42 คันวงเงินกว่า 300 ล้านบาท และจะลงทุนสร้างสถานีโดยสารใหม่ใน 3 จังหวัดได้แก่ จ.สุรินทร์, พัทยา จ.ชลบุรี และจ.อุดรธานีอีก 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังสนใจให้บริการรถโดยสารในเส้นทางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองตามนโยบายรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และกรมการท่องเที่ยว จะเปิดให้ขอรับใบอนุญาตรถโดยสารสาธาณะภายในปีนี้ โดยนครชัยแอร์สนใจจะนำถรโดยสารขนาดเล็ก (ไมโครบัส) ออกให้บริการเส้นทางภายใน จ.บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, เชียงใหม่, เชียงราย และขอนแก่น

สำหรับโดยสารรุ่นใหม่มีจุดเด่นดีไซน์ตัวรถโค้งมนลดแรงเสียดทาน และลดการเฉี่ยวชน เพิ่มบันไดขึ้นลง และราวเกาะประตูฉุกเฉินท้ายรถ ปรับห้องน้ำให้มีขนาดใหญ่ มีอ่างล้างหน้า มีจอทีวีขนาด 10 นิ้วทุกที่นั่งสามารถชมความบันเทิง และเล่นเกมได้ เบาะนั่งเอนนอนได้มากไม่รบกวนเบาะหลัง และมีปุ่มกดพิเศษเรียกพนักงานทุกที่นั่ง

แฟรงก์ โควัลสกี ผู้อำนวยการบริหารเซฟฮาเวน มารีน ประเทศไอร์แลนด์ เปิดเผยความสำเร็จของ “เอ็กซ์เอสวี 17” หรือ “ธันเดอร์ ไชลด์” เรือสุดเจ๋งที่ยากจะอับปาง จากการทดลองใช้เครนยกและพลิกเรือ กลับหัว 180 องศาลงในแม่น้ำ ปรากฏว่าแทบจะทันทีที่เครนปล่อยเรือ ลำเรือก็พลิกกลับมา ตั้งลอยลำบนผืนน้ำตามเดิม

เรือธันเดอร์ ไชลด์ซึ่งใช้เครื่อง ยนต์เทอร์โบชาร์จ 2 ตัว 12.9 ลิตร ให้กำลัง 1,000 แรงม้า แล่นด้วยความเร็วสูงสุดที่ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 10 คน แม้คุณสมบัติจะจัดเต็มแต่ยังสามารถพลิกกลับได้อย่างง่ายดายเพราะมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ การลอยตัวของห้องโดยสาร หรือเคบิน และสภาพห้องโดยสารที่ปิดสนิทไม่รั่วซึม จุดศูนย์ถ่วงต่ำจะทำให้เรือมีเสถียรภาพ ไม่พลิกคว่ำและ ล่มง่ายๆ

ในรถแข่งเองก็ใช้เทคนิคการสร้างให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำมาก ตัวรถมีความสูงจากพื้นน้อยที่สุดเพื่อให้รักษาการทรงตัวได้แม้จะแล่นหรือเลี้ยวโค้งด้วยความเร็วสูง สำหรับการลอยตัวของเคบินนั้นเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ยิ่งมีอากาศมากก็จะลอยตัวขึ้น

เคบินของธันเดอร์ไชลด์จึงออกแบบมาให้มีปริมาณอากาศ ที่มากพอในการลอยตัว และแน่นอนว่าเคบินจะต้องมิดชิดไร้การรั่วซึมเพื่อไม่ให้น้ำเข้าไปแทนที่อากาศ เมื่อครบหลักดังนี้ธันเดอร์ไชลด์เลยพลิกลำได้นั่นเอง

ครัวไทยระอุ ข้าวถุงแพงสุดทุบสถิติในรอบ 10 ปี เหตุจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปี60/61 พุ่งแตะตันละ 17,000 บาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังผู้ส่งออกแห่ซื้อตุนในสต๊อกรองรับออเดอร์จีน ฟิลิปปินส์ อินโดฯ ดันต้นทุนข้าวสารหอมมะลิทะลุตันละ 33,000-35,000 บาท สมาคมข้าวถุงไทยแจง “ต้นทุนพุ่ง ต้องยกเลิกโปรโมชั่น”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลจากคำสั่งซื้อข้าวจากจีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ทำให้ผู้ส่งออกรายใหญ่เร่งซื้อข้าวเข้าสต๊อก ทำให้ราคาข้าวเปลือกขยับขึ้น ส่งผลให้ข้าวถุงปรับราคาขาย เช่น ข้าวถุงเทสโก้ ขนาด 5 กก. ปรับจาก 185 บาท เป็น 220 บาท

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวหอมมะลิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปีการผลิต 2560/2561 ตันละ 17,700-18,000 บาท ถือเป็นราคาสูงสุด ในรอบ 10 ปี ทำให้ข้าวสารหอมมะลิขึ้นเป็นตันละ 31,000-33,000 บาท ซึ่งปีก่อนตันละ 19,000-20,000 บาท

เนื่องจากการผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิปี 2559/2560 ที่ไทยผลิตได้เพียง 6 ล้านตันข้าวเปลือก ต่ำกว่าตัวเลขที่ประเมินจะได้ 10 ล้านตัน รวมยอดการส่งออกข้าวหอมมะลิปีนั้นเพิ่มขึ้น 17-18% ทำให้สต๊อกข้าวในประเทศลดลง ถึงปีล่าสุด 2560/2561 ผลผลิตยังต่ำกว่าที่ประมาณการ 7.1 ล้านตันข้าวเปลือกซ้ำอีก เพราะจังหวัดที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้รับความเสียหายจากฝนในช่วงที่ข้าวกำลังออกดอก และปัญหาระบาดของโรคข้าว และพื้นที่ที่เคยปลูกข้าวหอมมะลิบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกข้าวเปลือกเหนียวแทน ไม่เพียงข้าวหอมมะลิเท่านั้นที่ปรับสูงขึ้น แต่ข้าวสารปทุมธานีก็ปรับขึ้นถึงตันละ 21,000-22,000 บาท จากปีก่อน 17,000-18,000 บาท เพราะส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากที่ไทยปรับเพิ่มมาตรฐานข้าวหอมไทยเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับข้าวหอมปทุมธานี

“พาณิชย์” ติวเข้มผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า จ.ชุมพร รับมือ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ลดภาษีกาแฟสำเร็จรูป 0% ปี”63 ด้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ชงของบฯ สศก.ผุด รง.แปรรูปกาแฟสำเร็จรูป 35 ล้านบาท หนุนจด GI กาแฟโรบัสต้าชุมพร สร้างมูลค่าเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 กรมพร้อมด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่ จ.ชุมพร พบเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เพื่อให้คำแนะนำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ในสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการเปิดตลาดลดภาษีภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2563

“การลงพื้นที่ปลูกกาแฟครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย พบกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอราบิก้า โดยในส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการปลูกถึง 75% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย”
นางอรมนกล่าวว่า ในปัจจุบันผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยมี 26,000 ตันต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีถึง 90,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน จึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟ ปีละประมาณ 60,000 ตัน ดังนั้นเกษตรกรควรจะใช้ประโยชน์จากการเปิด FTA ในการแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกเข้ามาใช้ในส่วนที่ไม่เพียงพอ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานกาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจะทำให้แข่งขันได้ แม้จะมีการเปิดเสรีเกิดขึ้น

นายนิคม ศิลปศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วงเงิน 35 ล้านบาท นำมาจัดซื้อเครื่องอบลมร้อน (ฟรีซดราย) และตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟสำเร็จบนพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่เป็นสมาชิกอยู่ 460 ราย ในพื้นที่ จ.ชุมพร นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่ จ.ยะลา พัทลุง และสุราษฎร์ธานีด้วย เพื่อยกระดับ

คุณภาพการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกาแฟสำเร็จรูป เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดกาแฟสำเร็จรูปที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน จ.ชุมพร ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจและสหกรณ์ 3 กลุ่ม คือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟ อ.ท่าแซะ โดยในกลุ่มเขาทะลุมีความเข้มแข็งมาก ได้มีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว

ขณะที่ในส่วนของถ้ำสิงห์ต้องการขยายการจดจีไอคุ้มครอง “กาแฟโรบัสต้าชุมพร” ทั้งจังหวัด เพราะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้มากที่สุด และมีดินที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับการปลูกกาแฟพันธุ์นี้ ทั้งยังมีกระบวนการเฉพาะในการเก็บเมล็ด ตาก และอบ เพื่อจะช่วยรักษาคุณภาพความหอมของกาแฟ หากสามาถจดจีไอจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรทั้งจังหวัด

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้ากรณี ป.ป.ท. มีการตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเบิกจ่ายเงินเป็นเท็จของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม โดยมีการสรุปหลังการลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบการทุจริต พบว่า พื้นที่ จ.นครพนม มีชาวบ้านผู้เสียหาย จำนวน 564 ราย ในพื้นที่ 12 อำเภอ มากสุดคือ อ.นาหว้า มากถึง 270 ราย รองลงมาคือ อ.นาทม จำนวน 140 ราย

ซึ่งส่วนใหญ่พบประเด็นสำคัญคือ มีการดำเนินการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือชาวบ้านจริง ทั้งหมดในปี 2560 เป็นเงิน 1.7 ล้านบาท แต่มีปัญหาเนื่องจากไม่ได้นำมาจ่ายให้กับชาวบ้านที่มีคุณสมบัติจะได้รับความช่วยเหลือตามความเป็นจริง เนื่องจากตามระเบียบจะสามารถช่วยเหลือได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3,000 บาท แต่บางรายได้เงินเพียงรายละ 1,000-2,000 บาท ต่อปี บางรายได้ประมาณ 200-300 บาท และมีบางรายไม่ได้รับเลย แต่จากการตรวจสอบกับพบว่ามีชื่อ รวมถึงเอกสารเบิกจ่ายครบ รายละ 5,000 บาท

นอกจากนี้ ทาง ป.ป.ท. ยังพบหลักฐานสำคัญ กรณีชาวบ้านได้บันทึกคลิปวิดีโอ มีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองซน อ.นาทม จ.นครพนม ออกมาหารือพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านยืนยันกับเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบว่าได้รับเงินทั้งหมดครบ และจะมีการนำมาจ่ายให้ภายหลัง ซึ่งจากการตรวจสอบถือว่า เป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดชัดเจน เชื่อว่ามีขบวนการอาศัยความเชื่อถือของผู้บริหารโรงเรียนเข้ามาช่วยในการพูดคุยชาวบ้าน เพื่อปกปิดทำลายหลักฐานการทุจริต หลังมีการลงพื้นที่ตรวจสอบ