ภาคกลาง มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่

และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ราชบุรี และกาญจนบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม/ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง และพังงา อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ภูเก็ตขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ตั้งแต่กระบี่ลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.

สำหรับการคาดหมาย ในช่วงวันที่ 15-21 ก.ค. บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร

ข้อควรระวัง ในช่วง วันที่ 15-21 ก.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

วว. เปิด ศูนย์เรียนรู้เห็ดป่าชุมชนต้นแบบบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ สร้างแหล่งผลิตผลิตผลอินทรีย์แบบธรรมชาติ…เป็นฐานอาหาร เศรษฐกิจ สร้างอาชีพ รายได้ ให้ชุมชนยั่งยืน

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิด “ศูนย์เรียนรู้เห็ดป่าชุมชนต้นแบบบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่” ซึ่งดำเนินงานโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ภายใต้การดำเนินงาน 2 โครงการหลักๆ ได้แก่

โครงการวิจัยและพัฒนาป่าชุมชนต้นแบบให้เป็นแหล่งผลิตผลิตผลอินทรีย์แบบธรรมชาติ เพื่อสร้างฐานอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน และโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง วว. กับชุมชนบ้านบุญแจ่ม และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ โอกาสนี้ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร นักวิจัย หน่วยงานเครือข่ายและกลุ่มเกษตรกร ร่วมเป็นเกียรติ พร้อมร่วมปลูกป่าปลูกเห็ดป่าชุมชนและกิจกรรมบวชป่าด้วย เมื่อวันอังคารที่ 10 กรกฎาคม 2561 ณ บ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่

อนึ่ง โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มุ่งใช้สำหรับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของชุมชน ที่จะนำไปต่อยอดให้กับชุมชนในจังหวัดเป้าหมายทั้ง 10 จังหวัด เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเพาะเห็ดแบบครบวงจรถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป โดยมุ่งเน้นการศึกษานิเวศวิทยาของเห็ดในพื้นที่ป่าชุมชน ศึกษาพืชอาศัยของเชื้อเห็ดป่า พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในหมู่บ้านบุญแจ่ม เพื่อเป็นต้นแบบการสร้างอาหารอย่างยั่งยืนในพื้นที่ป่าและการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่ยั่งยืน

นายมนตรี บาซอรี เกษตรกร จ.นครนายก ให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวทำนากว่า 40 ไร่ ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ปีหนึ่งปลูก 2 รอบ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจะไม่ใช้วิธีการเผา แต่จะใช้จุลินทรีย์เพื่อสลายตอซังข้าว ปรากฏว่าได้ผล ไม่เกิน 7 วัน ตอซังข้าวก็ย่อยสลายหมด และเป็นปุ๋ย เป็นการบำรุงดินไปในตัว แต่การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวนี้จะต้องใช้น้ำให้ท่วมตอซังข้าวถึงจะได้ผลดี

สำหรับการใช้จุลินทรีย์นี้ใช้มาหลายปีแล้ว เพราะถือว่าคุ้ม เนื่องจากไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม เป็นการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ชอบเผา ส่วนใหญ่เป็นแปลงนาที่ใช้ปุ๋ยเคมี เกษตรกรรายใดมีปัญหาหลังการเก็บเกี่ยว โทร.มาพูดคุยปรึกษาหารือกับตนได้ ที่ 087-0087698

ทางด้าน นายชะเอม คงกระพันธ์ เกษตรกร อ.แสวงหา จ.อ่างทอง กล่าวว่า ปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณ 40 ไร่ ที่ผ่านมาประสบปัญหาข้าวดีด ข้าววัชพืช และเพลี้ยกระโดดลงนาข้าวเป็นอย่างมาก หลังจากได้ใช้จุลินทรีย์สลายตอซังข้าว และใช้รถย่ำตอซังข้าว ทั้งที่ยังสดๆ ตามที่ได้รับคำแนะนำ ผ่านไป 5 วัน ฟางข้าวและข้าววัชพืชก็ย่อยสลายไปเกือบหมด จากนั้นไถ่ปั่นและหว่านเมล็ดข้าวลงไปทันที พบว่า เมล็ดข้าวออกทุกเมล็ด ส่วนที่หวั่นวิตกจุลินทรีย์ที่ใช้จะไปย่อยเมล็ดพันธุ์ข้าวไปด้วยนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร

ขณะที่ นางวิริยา รัชเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉัตรวัฎฎ์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าวจามิน่า เปิดเผยว่า เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ชาวนาจำนวนหนึ่งทั่วทั้งประเทศเลิกเผาตอซังข้าวแล้วหันมาใช้จามิน่า ซึ่งหน่วยงานภาครัฐอย่าง กรมการข้าว ก็เคยสั่งซื้อจุลินทรีย์ดังกล่าวเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร จะได้ไม่ต้องเผาตอซังข้าว ซึ่งทำให้เกิดมลพิษและทำให้ดินเสื่อม

“ปัจจุบัน จามิน่า มีช่องทางการจำหน่ายหลากหลาย อย่างเช่น ผ่านทางออนไลน์ ลูกค้าสามารถสั่งผ่านลาซาด้า หรือสั่งตรงกับทางบริษัทก็ได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรที่เคยใช้ก็มักจะสั่งซื้อเป็นประจำ เพราะเห็นผลที่ตอซังข้าวเกิดขึ้นชัดเจน เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่น โดยเฉพาะการย่อยสลายตอซังข้าว และลดจำนวนข้าวดีดที่เป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาได้เป็นอย่างดี”

นบข. ขยับราคารับฝากเก็บข้าวนาปี 61/62 ขึ้นตันละ 1,000 บาท รับราคาตลาดข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ ด้านโรงสีชี้แม้ว่าจะปรับขึ้นราคาจำนำยุ้งฉาง แต่ยังต่ำกว่าราคาตลาด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว ครั้งที่ 3/2561 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 ด้านการตลาด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่ม และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก

สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ โดยให้สินเชื่อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัดเป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ส่วนค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จะให้เฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริง ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท

โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยจะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ในอัตรา ร้อยละ 1 ระยะเวลา 1 ตุลาคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2562 และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ร้อยละ 3 ทั้งนี้ โรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในช่วง 1 พ.ย. 2561-31 มี.ค. 2562 และภาคใต้ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2562

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์และทิศทางการส่งออกข้าวของไทยที่ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยได้มีการส่งมอบข้าวตามสัญญาการซื้อขายกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจีนที่อยู่ระหว่างการเจรจาส่งมอบข้าวงวดที่ 6 อีก 1 แสนตัน รวมถึงการส่งมอบข้าวให้กับฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/2561 ด้านการตลาด เพื่อดูดซับข้าวออกจากตลาดให้ได้ 6.64 ล้านตัน

ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิ 15,500-18,500 บาท ส่วนปริมาณข้าวคงเหลือข้าวในสต๊อก ปัจจุบันมีปริมาณกว่า 70,000 ตัน คาดว่าจะระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมได้ในเดือนกันยายนนี้

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีตั้งข้อสังเกตว่า ในที่ประชุม นบข. ได้มีการประกาศราคารับฝากเก็บข้าวเปลือกยุ้งฉาง (จำนำยุ้งฉาง) ปี 2561/2562 โดยให้เพิ่มขึ้นจากปีการผลิต 2560/2561 เพื่อให้สอดคล้องกับราคาตลาดข้าวในปีนี้ที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,800 บาท จากปีก่อน 10,800 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุม ตันละ 8,900 บาท จากปีก่อน 8,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 7,500 บาท จากปีก่อน 7,200 บาท ยกเว้นราคาข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท ลดจากปีก่อน 10,800 บาท

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังได้สร้างความกังวลให้กับโรงสี เพราะราคาฝากเก็บยุ้งฉางใหม่ยังต่ำกว่าราคาตลาดข้าวโดยเฉลี่ย เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,800 บาท ขณะที่ราคาตลาดข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ 17,000 บาท ต่างกันถึงตันละ 6,200 บาท ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ราคาข้าวในตลาดหลังจากนี้ปรับตัวลดลงได้

อุทยานแห่งชาติปางสีดา ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสระแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก เขาใหญ่-ดงพญาเย็น มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิด

นายบุญเชิด เจริญสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติปางสีดา พบพืช กินซาก ที่หายาก คือ พิศวง พืชชนิดนี้ จะพบในประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และบนเกาะช้าง จ.ตราด และครั้งล่าสุดพบที่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ ที่ได้จาก สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้ที่ถ่ายภาพไว้ได้คือ นายราเชนทร์ เรืองกล้า

“ครั้งล่าสุดพบ พืชกินซาก ที่หายาก โดยมีชื่อว่า พิศวง จะพบได้เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น เป็นพืชมีดอกในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชกินซากขนาดเล็ก เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 7-8 เซนติเมตร พบเฉพาะป่าฝนเขตร้อน พืชชนิดนี้พบได้ยาก เพราะเป็นพืชเฉพาะถิ่นของไทย มีลำต้นทอดเลื้อยอยู่ใต้ดิน ลำตันที่แทงขึ้นมาผิวดิน เป็นใบลดรูปลงเหลือเป็นเพียงเกล็ดเล็กๆ กลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรตัวผู้มี 3 อัน เกสรเพศเมียมี 3 แฉก สำหรับในประเทศไทยพบที่เขาใหญ่ เกาะช้าง จ.ตราด ส่วนที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา เป็นข้อมูลการค้นพบใหม่” นายบุญเชิด กล่าวอีก

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ได้เข้าร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็น “ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชน ในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. …” ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลี่ย์โฮต็ล ประตูน้ำ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ได้ถูกแต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า กฎหมายขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับปัจจุบัน พบว่า

ประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาขายฝากและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียที่ดินทำกินอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ คณะกรรมการฯ จึงได้มีมติเห็นชอบ ให้จัดทำ “ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชน ในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. …” โดยมีเจตนารมณ์ในการกำหนดมาตรการและกลไกพิเศษเพื่อคุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรม ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นว่าสาระของร่างกฎหมายน้ำหนักจะไปอยู่ที่ “ผู้ซื้อฝาก” จึงได้เสนอความเห็นใน 3 ประเด็น

คือการกำหนดระยะเวลาในการขายฝาก ควรมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี, ห้ามขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยที่อยู่ในที่ดินประกอบอาชีพเกษตรกรรม, ในกรณีที่หลุดสัญญาการขายฝากไปแล้ว สามารถให้ “ผู้ขายฝาก” มีสิทธิ์ซื้อคืนได้ และควรกำหนดระยะซื้อคืนภายใน 1-3 ปี ในราคาเดิม บวกดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด โดยประเด็นดังกล่าว สภาเกษตรกรฯ ได้เคยเสนอไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว หลังจากนั้นมา ก็ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้หลายครั้งและเชิญทางสภาเกษตรกรฯ ไปชี้แจงล่าสุดคือ ครั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

มีน้ำหนักการคุ้มครองไปทาง “ผู้ซื้อฝาก” มากกว่าหรือขั้นตอนการตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐยุ่งยากและเอื้อต่อ “ผู้ซื้อฝาก” เมื่อเกษตรกรมีความจำเป็นก็จะทำให้เกิดกรณีการหลีกเลี่ยงสัญญาซื้อขายฝากเป็นการซื้อขายสิทธิ์เด็ดขาดแทน ปัญหาจะเกิดตามมาคือ หนี้นอกระบบที่มีการทวงหนี้รูปแบบต่างๆ การสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยเกษตรกรก็จะเกิดความเดือดร้อนแน่นอน โดยจะมีการยกร่าง ปรับปรุง/แก้ไข และรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

‘สมคิด’ ลุยงานกระทรวงเกษตรฯ ดันแผนแก้หนี้เกษตรกร ให้พักหนี้เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กับ ธ.ก.ส. ระยะเวลา 3 ปี พร้อมปรับปรุงการผลิต ให้ปลูกพืชที่สอดคล้องกับที่ตลาดต้องการ ดึงเอกชนเข้าร่วมรับซื้อผลผลิตเหมือนโครงการประชารัฐ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ จะตรวจเยี่ยมและติดตามความคืบหน้าการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ยอมรับว่าภาคเกษตรปัญหามาก ต้นทุนเป็นอีกปัญหาที่เกษตรกรไทยต้องแบกรับปัญหาหนี้สิน รัฐบาลมีทางออกให้เกษตรกร โดยใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเครื่องมือ

“ปัญหาหนี้สินต้องเร่งจัดการก่อนเพื่อลดภาระในช่วงนี้ ส่วนการลดต้นทุนการผลิตให้บริษัท ปตท.ผลิตปุ๋ยยังคงจะเดินหน้า ยอมรับปัญหาของภาคเกษตรไทยไม่ต่างกับปัญหาภาคการศึกษา เป็นมหาภาพซับซ้อนยาวนาน แต่เป้าหมายหลักให้เปลี่ยนปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมมีตลาดรองรับ นี่คือความหวังที่ผมฝากไว้กับกระทรวงเกษตรฯ”

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตร กล่าวว่า นายสมคิดมีแผนช่วยพักหนี้ให้กับเกษตรกรที่กู้ยืมเงิน ธ.ก.ส. เป็นรายบุคคล โดยเกษตรกรจะประกอบอาชีพใดก็ได้ ธ.ก.ส. จะพักหนี้ชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ระยะเวลา 3 ปี วันที่ 16 กรกฎาคม นายสมคิดจะเดินทางมาเพื่อดูรายละเอียดแผนพัฒนาและฟื้นฟู รายได้ของเกษตกรระยะเวลา 3 ปี ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า การพักชำระหนี้ของธ.ก.ส. เป็นการช่วยลดหนี้สินของเกษตรกร ในระยะเวลา 3 ปีนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีหนี้สินกลับมามีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เป็นความท้าทายของกระทรวง เบื้องต้นจะหารือกับทาง ธ.ก.ส. เพื่อให้แผนฟื้นฟูของทางกระทรวงเกษตรฯ สอดคล้องกับแผนดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ ธ.ก.ส.ด้วย

แผนพัฒนาและฟื้นฟูรายได้เกษตรกร หากเกษตรกรต้องการจะประกอบอาชีพเดิม ช่วงระยะเวลาพักชำระหนี้ 3 ปี ทางกระทรวงวางแนวทางจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น สนับสนุนการผลิตให้ตรงความต้องการของตลาด โดยมีตลาดรองรับ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เดิมผลิตได้ 780 กิโลกรัม (ก.ก.) ต่อไร่ ก็ส่งเสริมให้ผลิตได้ 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ มีคุณภาพตรงกับความต้องการโรงงานอาหารสัตว์ พร้อมดึงภาคเอกชนเข้าร่วมรับซื้อผลผลิตเหมือนกับโครงการประชารัฐ

น่าน – นายวรกิตติ ศรีทิพากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานการประชุมหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจากปัญหาน้ำยางพาราตกหล่นบนพื้นผิวถนนอย่างถาวร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งตัวแทนผู้ประกอบการ บริษัท ห้างร้าน ผู้รับซื้อยางพารา ผู้รับจ้างบรรทุกขนส่ง น้ำยางพารา เกษตรกรที่ทำสวนยางพารา ส่วนราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุมและ ทำข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหา

สำหรับปัญหาน้ำยางพาราตกหล่นบนพื้นผิวถนน สาเหตุหลักมาจากการขนส่งยางพาราที่ไม่มีถังกักเก็บ น้ำยางพาราอย่างมิดชิด โดยเฉพาะบริเวณทางโค้งและ ทางขึ้นเขาจะมีน้ำยางพาราไหลลงสู่บนพื้นผิวถนน เป็นสาเหตุให้ผิวถนนมีความลื่นและเกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำได้ โดยเฉพาะบนถนนสายหลัก คือ สาย 101 น่าน-แพร่ และถนนสายรองในเขตพื้นที่อำเภอนาน้อย นาหมื่น เวียงสา เมืองน่าน และอำเภอภูเพียง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนที่มีบ้านเรือน อยู่ติดกับถนน รวมถึง นักท่องเที่ยวซึ่งไม่ชำนาญเส้นทาง ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และนอกจาก น้ำยางพาราทำให้ถนนลื่นแล้ว ยังส่งกลิ่นเหม็นรบกวน สร้างมลภาวะให้กับชุมชนอีกด้วย

จัดให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน คือ ต้องจัดให้มีรถขนส่งน้ำยางพาราซึ่งต้องอยู่ในสภาพดี ตามเงื่อนไข เป็นรถเฉพาะในการขนส่งและมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำยางพาราตกหล่น จัดให้มีที่จอดพักรถตาม จุดที่พักที่กำหนด หรือจุดทิ้งน้ำยางพาราตามที่กำหนด หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องออกตรวจตราตามโรงงาน สถานที่รับซื้อ หรือผลิตในพื้นที่จังหวัดน่าน และรายงานผลการปฏิบัตินำเข้าที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการทุกเดือน

ดร. ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวในพิธีมอบโอวาทและปฐมนิเทศการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาอาชีวศึกษาในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ จำนวน 155 คน ภายใต้โครงการความร่วมมือในการฝึกงานนักเรียน นักศึกษาในต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ว่า สอศ. จัดโครงการความร่วมมือการฝึกงานนักเรียน นักศึกษาในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ คุณภาพด้านทักษะ เสริมประสบการณ์วิชาชีพ และภาษาเพื่อการ สื่อสาร

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพในครั้งนี้ เป็นการฝึก ในสาขาที่ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ. ได้ส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกประสบการณ์ใน 3 ประเทศ ดังนี้ ประเทศอินโดนีเซีย ได้แก่ สาขาการโรงแรม สาขาอาหารและโภชนาการ และสาขาบริหารธุรกิจหรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนักศึกษา จำนวน 40 คน ครูและเจ้าหน้าที่ จำนวน 7 คน เข้ารับการฝึก ระหว่างวันที่ 18-31 กรกฎาคา 2561 ที่ SMK PARIWISATA METLAND ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat)