มกอช. ดันมาตรฐานผ่าทางออกวิกฤติเกลือทะเลไทย

ปัจจุบันเกลือทะเลหรือเกลือสมุทรนับเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ สร้างรายได้ให้เกษตรกรนาเกลือได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ประเทศไทยทำนาเกลือเป็นอาชีพดั้งเดิมมีตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันมีเกษตรกร 1,200 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 84,485 ไร่ โดยแบ่งแหล่งผลิตที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม

และกลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตเกลือทะเลทั่วประเทศประมาณเกือบ 1 ล้านตัน ดังนั้น เมื่อ 1 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เกลือทะเลเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้น ทำให้การทำนาเกลือเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพเกษตรกรรม

ด้าน น.ส.เกตุแก้ว สำเภาทอง เกษตรกรนาเกลือทะเลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำเข้าเกลือจากประเทศอินเดียจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาเกลือทะเลที่เกษตรกรชาวนาเกลือผลิตภายในประเทศมีราคาตกต่ำอย่างหนัก จากต้นปีราคาเกลือทะเลราคากิโลกรัมละ 2.00-3.00 บาท เหลือราคากิโลกรัมละไม่ถึง 1.00 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวนาเกลืออย่างหนัก เนื่องจากขาดทุนสะสม จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าเกลือจากอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าปี 2560 มีการนำเข้าเกลือ 151,480 ตัน 216 ล้านบาทเศษ ปี 2561 มีการนำเข้าเกลือ 332,389,589 ตัน 437 ล้านบาทเศษ ปี 2562 (เดือนมีนาคม) มีการนำเข้าเกลือ 100,819 ตัน 120 ล้านบาทเศษ และรหัสพิกัดการนำเข้าอยู่ที่หมวด 25 ซึ่งเป็นหมวดของการนำเข้าสินแร่

ทุกวันนี้ อาชีพการทำนาเกลือเผชิญปัญหาอุปสรรคหลัก 3 อย่าง คือ 1. ฟ้าฝน 2. สภาพอากาศ 3. คุณภาพสินค้า ที่ผ่านมาการทำนาเกลือทะเลยังขาดมาตรฐานควบคุมคุณภาพการผลิต ถ้ามีการจัดการที่ดีทำให้แก้ปัญหาได้ และเกลือที่ผ่านมาไม่มีมาตรฐาน ส่งผลให้กระทบต่อการทำตลาดในอุตสาหกรรมอาหาร

ขั้นตอนการทำนาเกลือ
ที่นา 1 ไร่ จะได้ผลผลิตเกลือทะเล 10 เกวียน (1 เกวียน เท่ากับ 1,600 กิโลกรัม) แต่หากปีไหนฤดูกาลอากาศเหมาะสมก็จะผลิตได้ 16 ตัน ต่อไร่ โดยเกษตรกรจะจำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรเกลือทะเลไทยเพชรบุรี จำกัด

สำหรับฤดูการผลิตเกลือทะเล การทำนาเกลือในภาคกลางจะเริ่มในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เนื่องจากการทำนาเกลือไม่สามารถจะทำได้ในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป

ด้านตลาดในประเทศ เกลือทะเลที่ผลิตในรูป “เกลือเม็ด” จะถูกรวบรวมโดยพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น โดยพ่อค้าคนกลางจะไปรับซื้อถึงฟาร์มของเกษตรกรทั้งทางบกและทางน้ำ ในบางท้องที่เกษตรกรจะขายเกลือผ่านสหกรณ์การเกษตรที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ จากนั้นสินค้าเกลือทะเลจะไหลเวียนไปยังแหล่งต่างๆ ได้แก่ โรงโม่เกลือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

มกอช. สร้างมาตรฐานเกลือทะเล
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า ตามที่ยุทธศาสตร์เกลือทะเลไทย พ.ศ. 2560-2564 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานเกลือทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพื่อให้เกลือทะเลมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาเกษตรกรเกลือทะเล เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเกลือทะเลไทยเพื่อให้เกลือทะเลมีช่องทางการตลาดที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อยกระดับราคาเกลือทะเลให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งให้มีการบริหารจัดการระบบนิเวศเพื่อการทำนาเกลือมีพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีการบริหารจัดการระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

จากยุทธศาสตร์ดังกล่าว มกอช.ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับเกลือทะเลขึ้นมา จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เกลือทะเลธรรมชาติ (มกษ.8402-2562) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือ (มกษ. 9055-2562) รวมทั้งได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ. 9055-2562) ขึ้น เพื่ออบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้ตรวจประเมินให้มีทักษะและศักยภาพด้านการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐาน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าเกลือทะเลของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับต่างประเทศ

ด้าน นางสาวนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช.กล่าวเพิ่มเติมว่า เกลือทะเลเป็นอาหารธรรมชาติ ที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จำเป็นต้องใช้เกลือเพื่อการบริโภคและอุปโภค ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร และใช้เป็นยารักษาโรค แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรนาเกลือทะเลประสบปัญหาในหลายด้าน โดยเฉพาะคุณภาพการผลิตส่งผลให้ราคามีความผันผวนเป็นประจำทุกปี

มกอช.จึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานเกลือไทยสู่ระบบสากลให้เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมอาหารและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยมีคู่แข่งคือประเทศอินเดีย ดังนั้น มกอช.จึงต้องเร่งผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพื่อการันตีให้ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในประเทศมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรไทยและลดการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศไปในตัว

ทั้งนี้ มกอช.วางแผนเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรนาเกลือเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ในทุกจังหวัด เมื่อเริ่มมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารของเกลือ ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบรับรอง เพราะสินค้าเกลือทะเลแตกต่างจากสินค้าเกษตรอื่นๆ เนื่องจากมีถึง 3 หน่วยงานคอยดูแล ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ รวมทั้งผู้ตรวจรับรองเอกชน จึงต้องมีมาตรฐานกลางให้ 4 หน่วยงานปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม

อาการปวดเข่า เจ็บเข่า เป็นอาการที่พบได้บ่อย บ้างก็เป็นอาการปวดเมื่อยจากการใช้งานหนักทั่ว ๆ ไป แต่บ้างก็อาจจะรุนแรงกว่านั้น คือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถรักษาบรรเทาอาการให้ลดน้อยลงได้ ทั้งโดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือกอย่างการแพทย์แผนไทย และการใช้สมุนไพรต่าง ๆ

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ข้อมูลว่า องค์การอนามัยโลกคาดว่า ปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อประมาณ 570 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากสถิติกระทรวงสาธารณสุขปี 2558 มีอัตราการเกิดโรคข้อเสื่อม 57.10 ต่อประชาชน 1 แสนคน ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า

นพ.ปราโมทย์กล่าวว่า ทางการแพทย์แผนไทยเรียกโรคข้อเข่าเสื่อมว่า “โรคลมจับโปงเข่า” แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคลมจับโปงน้ำและจับโปงแห้ง ต่างกันตรงที่จับโปงน้ำจะมีอาการปวดเข่า เข่าบวม อักเสบชัดเจน มีน้ำในข้อเข่า ส่วนจับโปงแห้งจะมีอาการปวดเข่า มีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ข้อเข่าฝืด สะบ้าติด แพทย์แผนไทยรักษาโรคดังกล่าวด้วยการนวดรักษาเฉพาะจุด

เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนบริเวณข้อเข่า ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า หลังจากนั้นก็ประคบสมุนไพรหรือใช้ยาพอกเข่า เป็นการเสริมประสิทธิภาพของการนวดในด้านการลดการอักเสบและลดอาการปวดยาสมุนไพรที่ช่วยลดการอักเสบชะลอการเสื่อมของข้อเข่า คือ ยาจากสารสกัดขมิ้นชัน ซึ่งผลวิจัยพบว่า มีสารเคอร์คูมินอยด์ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เหมือนกับยาต้านการอักเสบไดโคลฟีแนคของแผนปัจจุบัน อีกทั้งขมิ้นชันยังมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบ จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

นพ.ปราโมทย์ให้คำแนะนำว่า หากต้องการห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า ในขณะที่มีอาการปวดเข่าควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อไม้ เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดอง และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อและข้อบวมมากยิ่งขึ้น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่ช่วยบำรุงข้อและกระดูก เช่น อาหารจำพวกธัญพืช ผักใบเขียว ผักตระกูลกะหล่ำ นม ปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งมีแร่ธาตุแคลเซียมสูง และควรออกกำลังกายเป็นประจำ

สำหรับผู้มีน้ำหนักเกิน ควรออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอากาศ หรือการทำท่ากายบริหารแบบฤๅษีดัดตน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับข้อเข่า นอกจากนี้ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ

ถ้าใครสนใจเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดเข่าด้วยการแพทย์แผนไทย สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือถ้าต้องการสอบถามเกี่ยวกับการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทรศัพท์ 0-2149-5678 หรือ www.dtam.moph.go.th

ธ.ก.ส. จัดงานจับรางวัลโครงการออมเงินเพื่อลดภาระหนี้กับทวีโชค ตามมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางประชารัฐ เพื่อหนุนเกษตรกรสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการออมเงินที่ให้ทั้งดอกเบี้ยและได้ลุ้นรับโชครางวัลมากมาย เผยรอบแรกมีเกษตรกรที่ร่วมโครงการและมีสิทธิ์ลุ้นรับโชคกว่า 370,000 ราย และยังจับรางวัล “กรมธรรม์ นำโชค” สำหรับผู้ใช้บริการผลิตภัณฑ์เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตกว่า 2.3 ล้านกรมธรรม์ โดยลุ้นรับทั้งรางวัลรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จำนวน 106 รางวัล รวมมูลค่า 10 ล้านบาท กำหนดจับรางวัล 1 พฤศจิกายน นี้

นายกษาปณ์ เงินรวง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินมาตรการลดภาระหนี้เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางประชารัฐ โดยจัดทำโครงการออมเงินเพื่อลดภาระหนี้กับทวีโชค เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรที่ได้รับการลดดอกเบี้ยเงินกู้และขยายระยะเวลาชำระหนี้ ได้มีภูมิคุ้มกันผ่านการออม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก ได้สิทธิ์จับรางวัลทวีโชคระดับจังหวัดปีละ 2 ครั้ง

และระดับประเทศอีกปีละ 1 ครั้ง แล้ว เกษตรกรที่ฝากเงินในโครงการออมเงินเพื่อลดภาระหนี้กับทวีโชค ยังมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลพิเศษเพิ่มเติมเพียงออมเงินครบทุก 1,000 บาท และคงเงินไว้ในบัญชีติดต่อกันตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปของรอบดำเนินการ สามารถรับสิทธิ์จับรางวัลในรอบพิเศษทันทีอีกจำนวน 1 สิทธิ์ โดยแบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 – 31 กรกฎาคม 2562 รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 – 31 กรกฎาคม 2563 และรอบที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 – 31 กรกฎาคม 2564

โดยรอบที่ 1 มีผู้เข้าเกณฑ์และได้รับสิทธิ์จับรางวัลกว่า 370,917 ราย จำนวนเงินออมกว่า 6,000 ล้านบาท และคูปองที่ร่วมลุ้นโชคกว่า 6 ล้านใบ กำหนดจับรางวัลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นวันสถาปนา ธ.ก.ส. ครบรอบปีที่ 53 โดยรางวัลประกอบด้วย รางวัลที่ 1 รถกระบะ TOYOTA HILUX REVO รุ่น 4×2 2.4J Plus จำนวน 5 คัน และรางวัลที่ 2 รถจักรยานยนต์ YAMAHA FINO 125 Standard Version จำนวน 48 คัน รวมทั้งหมด 53 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 5.4 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังจัดให้มีการจับรางวัล “กรมธรรม์ นำโชค” ให้กับเกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรลูกค้าที่ฝากใหม่และต่ออายุหรือส่งชำระงวดถัดไปให้รับความคุ้มครองต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 – 31 สิงหาคม 2562 ของผลิตภัณฑ์เงินฝากสงเคราะห์ชีวิตทุกผลิตภัณฑ์ เช่น กรมธรรม์ ธกส มอบรัก ธกส เพิ่มรัก และ ธกส ทวีรัก 99 เป็นต้น โดยจะได้รับสิทธิ์จับรางวัล 1 สิทธิ์ ต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งครั้งนี้มีลูกค้าที่ได้รับสิทธิ์จำนวนกว่า 2.3 ล้านกรมธรรม์ กำหนดจับรางวัลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เช่นกัน โดยมีรางวัลที่ 1 รถยนต์ TOYOTA FORTUNER 2018 จำนวน 1 คัน รางวัลที่ 2 รถกระบะ HILUX REVO Smart-cab 2.4J จำนวน 1 คัน และรางวัลที่ 3 รถจักรยายนต์ YAMAHA GRAND FILANO จำนวน 51 คัน รวมทั้งหมด 53 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 4.5 ล้านบาท

นายกษาปณ์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. วางเป้าหมายที่จะให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการออมเงินเพื่อลดภาระหนี้กับทวีโชค จำนวน 3.81 ล้านราย และมีเงินออมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเฉลี่ยรายละ 1,000 บาท ต่อปี ซึ่งจะช่วยสร้างฐานเงินออมเพิ่มขึ้นประมาณ 3,810 ล้านบาท ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น รวมถึงยังสนับสนุนให้เกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรมาใช้บริการผลิตภัณฑ์เงินฝากสงเคราะห์ชีวิต ที่นอกจากจะสร้างการออมอย่างมีวินัยเพียงเดือนละ 300-1,000 บาท และได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์แล้ว ยังได้ลุ้นรับรางวัลอีกมากมาย จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรและครอบครัวเกษตรกรลูกค้ามาร่วมออมเงินเพื่อลุ้นรับโชคในครั้งต่อๆ ไป และขอรับความคุ้มครองจากผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อสงเคราะห์ชีวิตของธนาคาร

สยามคูโบต้า วางแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมออกแคมเปญช่วยเหลือเกษตรกรดูแลเครื่องจักรกลการเกษตรหลังน้ำลด ล่าสุดจัดกิจกรรม Big Cleaning คืนพื้นที่สู่ชุมชน ภายใต้โครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยน้ำท่วม” นำทีมพนักงานจิตอาสาพร้อมเครื่องจักรกลการเกษตรจากสยามคูโบต้าลุยปรับสภาพพื้นที่หลังน้ำลด ทำความสะอาดชุมชน บ้านเรือน พร้อมทำกิจกรรมสันทนาการมอบกระเป๋านักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียนเพื่อเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ที่ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับกรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ร้านค้าผู้แทนจำหน่ายสยามคูโบต้า และคณะสื่อมวลชน นำจิตอาสากว่า 100 คน เดินทางไปยังชุมชนบ้านคูเดื่อ ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ทำความสะอาดบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะ อาทิ วัด ถนน โรงเรียน เพื่อฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้กลับคืนสู่สภาพปกติ โดยมี นายคณิต สุพล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแจระแม พร้อมด้วยสมาชิกชุมชนบ้านคูเดื่อให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น รวมถึงเข้าเยี่ยมเยียนน้องๆ นักเรียน เพื่อมอบกระเป๋าและอุปกรณ์การเรียน และจัดกิจกรรมสันทนาการเป็นกำลังใจให้น้องๆ ที่ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนบ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

นางสาวณัฐกมล ลักขณาวราภรณ์ ผู้จัดการส่วนอาวุโส สื่อสารองค์กร บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ตลอด 40 ปี สยามคูโบต้าตระหนักถึงความสำคัญในการมุ่งมั่นตอบแทนสังคม ทั้งด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม การศึกษาและเยาวชน ซึ่งการบรรเทาทุกข์กรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งมิติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับการช่วยเหลือครั้งนี้ สยามคูโบต้าเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องในจังหวัดอุบลราชธานีที่เผชิญน้ำท่วมหนักในรอบ 20 ปี จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ฟื้นฟูระยะเร่งด่วน สยามคูโบต้าได้เร่งนำถุงยังชีพบรรจุอาหารแห้งและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นจำนวน 1,100 ชุด มามอบให้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแจกจ่ายและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวอุบลในช่วงน้ำท่วมสูงโดยได้นำเครื่องยนต์ดีเซลติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 14 เครื่อง เพื่อช่วยระบายน้ำในจุดท่วมขัง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมส่งมอบเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 43 ซึ่งเป็นผลผลิตจากคูโบต้า ฟาร์ม จำนวน 1.1 ตัน ให้กับ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อแจกจ่ายแก่พี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาผลผลิตเสียหายจากน้ำท่วม

ระยะที่ 2 ด้านฟื้นฟูด้านสังคม ชุมชน โดยการจัดกิจกรรม Big Cleaning คืนพื้นที่สู่ชุมชน ภายใต้โครงการ “KUBOTA พลังใจสู้ภัยน้ำท่วม” สยามคูโบต้าเองมีความเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องจักรกลการเกษตรจึงได้นำเครื่องจักรกลฯ มาช่วยปรับสภาพพื้นที่ ตลอดจนนำพนักงาน จิตอาสาจากสยามคูโบต้า และร้านค้าผู้แทนจำหน่ายกว่า 50 คน พร้อมใจลงพื้นที่เข้าฟื้นฟูหลังน้ำลดทำความสะอาดชุมชน บ้านเรือน เพื่อบรรเทาทุกข์และเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องที่ประสบอุทกภัย

สำหรับการช่วยเหลือในพื้นที่ชุมชนบ้านคูเดื่อ ตำบลแจระแม แบ่งเป็น 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ฟื้นฟูพัฒนา พื้นที่ในชุมชน โดยการร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือน และจุดที่ 2 ปรับพื้นที่บริเวณถนนในชุมชน โดยนำแทรกเตอร์ จำนวน 3 คัน ได้แก่ แทรกเตอร์ติดบุ้งกี๋ และแทรกเตอร์ติดใบมีดดันดิน เพื่อเคลียร์พื้นที่และขนย้ายขยะและเศษกิ่งไม้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และความร่วมแรงร่วมใจจากพี่น้องในชุมชน กรมทหารพรานที่ 23 อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และสื่อมวลชนจิตอาสา

และในโอกาสนี้ ยังได้มอบกระเป๋านักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียนรวมถึงชุดเครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า และจัดกิจกรรมสันทนาการให้แก่น้องๆ เยาวชนที่ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาสทางด้านการศึกษา แบ่งเบาภาระให้กับผู้ปกครองและโรงเรียน ตลอดจนเป็นกำลังใจให้แก่เด็กๆ อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป

สำหรับการช่วยเหลือลำดับต่อไปคือระยะที่ 3 เป็นการฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตร สยามคูโบต้าได้จัดทำแผนเพื่อประสานงานกับเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีคัดเลือกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือในการปลูกข้าว ด้วยเครื่องหยอดข้าว และเมล็ดพันธุ์ กข79 จากคูโบต้า ฟาร์ม โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,000 ไร่ ในพื้นที่อําเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอใกล้เคียง ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากกิจกรรมที่จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว สยามคูโบต้ายังได้จัดแคมเปญร่วมกับผู้แทนจำหน่ายในพื้นที่ประสบภัย ให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น บริการโมบายเซอร์วิส ฟรีค่าแรง และส่วนลดค่าอะไหล่ 50% ซึ่งพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ สามารถสอบถามได้ที่ร้านผู้แทนจำหน่ายใกล้บ้าน

ซึ่งแผนการช่วยเหลือทั้ง 3 ระยะนี้ สยามคูโบต้าตั้งเป้าหมายที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นฟูความเสียหายหลังน้ำลดให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยไว และเป็นอีกหนึ่งพลังที่ส่งต่อให้พี่น้องที่ประสบอุทกภัยได้มีกำลังใจในการทำงานและการดำเนินชีวิตต่อไป”

การทำเกษตรบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน แต่เดิมเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ได้ช่วยให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้น ในวันนี้ เกษตรกรจึงเริ่มปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาพืชผสมผสานและหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม จากการขายพืชผักผลไม้เมืองหนาว ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เกษตรกรมีโอกาสในการพัฒนาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว แปลงผักและผลไม้เมืองหนาวยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน โดยมีสหกรณ์ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดูแลเรื่องปัจจัยการผลิต การดูแลพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และเชื่อมโยงกับมูลนิธิโครงการหลวง ในการรวบรวมผลผลิตและส่งจำหน่ายสู่ผู้บริโภค

นายเชี่ยวชาญ เลาย่า หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาที่สูงแบบโครงการหลวงขุนสถาน และในฐานะที่ปรึกษาของสหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงขุนสถานบ้านแสนสุข จำกัด อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า สหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ประมาณ 74 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกกะหล่ำปลี ฟักทอง อะโวกาโด ข้าวไร่ พริกหวาน ทั้งสีแดง สีเหลือง และสีเขียว มะเขือเทศ และองุ่น ผลผลิตที่ได้เกษตรกรจะรวบรวมเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์และบางส่วนขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่น ซึ่งจากการใช้หลักการตลาดนำการผลิต ทำให้ผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิต เพราะเกษตรกรสามารถปลูกพืชผักทุกชนิดได้ตรงกับคุณภาพและปริมาณที่ตลาดมีความต้องการ ผลผลิตที่ขายดีคือ องุ่นและเมล่อน ซึ่งมีความหวานกำลังพอดี เฉลี่ย 13 บริกซ์ขึ้นไป

ก่อนเริ่มลงมือผลิต สหกรณ์จะร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่โครงการหลวง เพื่อรับทราบเป้าหมายผลิตสินค้าและการตลาดในแต่ละปี เป็นการวางแผนล่วงหน้าข้ามปี หรืออย่างเร็วสุดคือ 4 เดือน ซึ่งทางโครงการหลวงจะทำแผนการตลาดล่วงหน้าและจัดสรรโควต้าพืชรายตัวให้ทางสหกรณ์นำไปวางแผนการผลิตกับสมาชิกสหกรณ์ เช่น แต่ละปีจะรับซื้อพริกหวาน 2,000 กิโลกรัม เมล่อน 800 กิโลกรัม อะโวกาโด 300 กิโลกรัม โดยราคารับซื้อจะมีการกำหนดจากโครงการหลวงทุกสัปดาห์ และจะมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับราคาตลาด จากนั้นทางสหกรณ์จะแจ้งราคารับซื้อผลผลิตให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้ทราบว่าราคาพืชผักผลไม้แต่ละชนิดจะรับซื้อในราคาเท่าไร เช่น เมล่อนรับซื้อที่ราคา 50 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นต้น โดยสายพันธุ์ที่นิยมคือพันธุ์กรีนเนท

ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกสามารถปลูกพืชได้ตามความพร้อมของแต่ละคน แต่สหกรณ์จะมีโควต้ารับซื้อตามที่ได้รับจัดสรรมาจากโครงการหลวง ซึ่งในบางปีมีความต้องการมาก แต่ผลิตได้ไม่ทัน ซึ่งการทำข้อตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับสหกรณ์ ทำให้การรับซื้อผลผลิตมีความแน่นอนทั้งในเรื่องปริมาณและราคา ฉะนั้น สมาชิกจะนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ก่อน ที่เหลือจึงจะไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางภายนอก โดยสหกรณ์จะกำหนดคุณภาพผลผลิตที่จะรับซื้อเป็นเกรด A เกรด B และคละเกรด

ปัจจุบันโรงเรือนตัดแต่งและบรรจุผลผลิตสหกรณ์ ได้รับงบอุดหนุนจากโครงการหลวง 2.3 ล้านบาท และเงินสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกจำนวนกว่า 800,000 บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรือนสำหรับรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่เพื่อคัดบรรจุผักและผลไม้ ก่อนจัดส่งให้กับทางโครงการหลวง

ด้าน นายคมสันต์ ยั่งยืนสกุล ประธานสหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงขุนสถานฯ กล่าวว่า ตนเองปลูกองุ่น พื้นที่ประมาณ 518 ตารางวา หรือไร่เศษ กู้เงินจากสหกรณ์ 50,000 บาท มาทำแปลงปลูกขนาดยาว 30 เมตร กว้าง 17 เมตร ซึ่งองุ่นที่ปลูกเป็นพันธุ์บิ้วตี้ ผลจะเป็นสีม่วงเข้ม และพันธุ์เฟรม ซึ่งเป็นองุ่นพันธุ์ไร้เมล็ดทั้งสองพันธุ์ การลงทุนปลูกองุ่นทั้งหมดใช้เงินไปประมาณ 120,000 บาท สามารถเก็บผลผลิตรอบแรกจำหน่ายได้ ประมาณ 1 ตันเศษ ได้เงินมา 100,000 กว่าบาท และอีกรุ่นจะเก็บเกี่ยวประมาณปลายปี คาดว่าจะได้ผลผลิตอีกประมาณ 2 ตัน ซึ่งผลองุ่นที่สวยและได้คุณภาพ จะถูกรวบรวมส่งขายให้กับโครงการหลวงทั้งหมด และในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูหนาว จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ขุนสถานจำนวนมาก นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดแปลงองุ่นรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเที่ยวชมและชิมผลองุ่นสดๆ ในไร่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เกือบ 300,000 บาท