มกอช.ปลื้มญี่ปุ่นยอมเลื่อนบังคับใช้ปริมาณสารพิษตกค้างสินค้า

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้เดินทางไปประชุมหารือแนวทางการควบคุมความปลอดภัยในสินค้าข้าวไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่นร่วมกับผู้แทนกระทรวงเกษตรฯ ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียว เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ทางญี่ปุ่นยินยอมที่จะเลื่อนการออกประกาศบังคับปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารฟอสอีทิล (fosetyl-aluminium) ซึ่งผสมในยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อนในสินค้าเกษตร รวมทั้งข้าวในปริมาณไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ออกไปก่อน จนกว่าจะหารือและได้ข้อสรุปกับประเทศคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบแล้วเสร็จ จากเดิมที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนมีนาคม 2561 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2561

“การเจรจาครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยและเป็นข่าวดีของอุตสาหกรรมข้าวไทย เพราะมีเวลาหามาตรการรับมือต่อกฎระเบียบใหม่ดังกล่าว ซึ่ง มกอช.ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยจะพยายามเร่งเจรจาต่อรองอย่างสุดความสามารถเพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นทบทวนการออกกฏหมายสารตกค้างในปริมาณใหม่ ไม่ให้กระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกข้าวไปยังญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 3 แสนตันต่อปี” นางสาวเสริมสุขกล่าว

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศว่า ลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไป กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ สำหรับบริเวณภูเขาสูงในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา บริเวณความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้าปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวโดยทั่วไป

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 12:00 วันนี้ ถึง 12:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัดอุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 15-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคกลาง อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

ภาคตะวันออก อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีเมฆบางส่วน กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีเมฆบางส่วน กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยว่า จากการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับเอเชีย ประจำปี 2018 หรือ Times Higher Education Asia University Rankings 2018 โดย Times Higher Education หรือ THE สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกชื่อดังจากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการจัดอันดับดังกล่าวเป็นปีที่ 14 ติดต่อกัน ล่าสุดได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับเอเชีย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจัดอันดับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 300 อันดับ เป็น 350 อันดับ และมีมหาวิทยาลัยจาก 25 ประเทศทั่วเอเชียได้รับการจัดอันดับ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับ 1 ของเอเชีย ยังคงเป็นของ National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์

อธิการบดี มทส.กล่าวต่อว่า สำหรับมหาวิทยาลัยของไทยมีมหาวิทยาลัยไทยเพียง 10 แห่งที่ติดอันดับ โดยมีลำดับตามการคูณค่าคะแนนถ่วงน้ำหนัก ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดลอันดับที่ 97 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 114 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 164 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อันดับที่ 168 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 201-250 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับที่ 201-250

มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับที่ 251-300 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับที่ 251-300 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับที่ 251-300 และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อันดับที่ 301-350

“ผลการจัดอันดับครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง โดยอันดับขยับขึ้นเป็นอันดับ 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย จากเดิมอยู่ในอันดับ 6 เมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก้าวต่อไป มหาวิทยาลัยยังต้องมีการ “รุก รับ ปรับตัว” สู่ Thailand 4.0 มุ่งสู่ “มทส. 4.0 มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม” ที่พร้อมก้าวต่อไปเพื่อ Global Vision : Local Missions สร้างสรรค์ความรู้คู่เคียงสังคม มุ่งสู่มาตรฐานสากล” อธิการบดี มทส.กล่าว

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้าวเปลือกในประเทศราคาดีเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิราคาสูงตันละ 1.7 หมื่นบาท ก็เกรงว่าเกษตรกรจะแห่ปลูกข้าวในฤดูกาลใหม่จนล้นตลาดและราคาตกลงเหมือนในอดีต ดังนั้น อยากส่งสัญญาณถึงเกษตรกรให้ติดตามสถานการณ์และคำเตือนจากภาครัฐ เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทางการผลิต ทั้งการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2561 และนาปี 2561/62 ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประเมินว่าฤดูกาลผลิตข้าวนาปรัง 2561 จะมีพื้นที่รวมประมาณ 11 ล้านไร่ และมีผลผลิตข้าวเปลือกรวม 7 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 10.4 ล้านไร่ และผลผลิต 6.5 ล้านตัน ขณะที่ประเมินการส่งออกปีนี้ไว้9.5-10 ล้านตันข้าวสาร

สำหรับความกังวลกรณีรัฐเตรียมระบายข้าวคงเหลือในสต็อกอีกประมาณ 2 ล้านตัน จะกดดันราคาข้าวนาปรังใหม่ที่จะออกสู่ตลาดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านั้น ไม่ควรเป็นต้นเหตุให้ราคาข้าวในตลาดตกลง เพราะข้าวในสต็อกที่จะระบายนั้นเป็นข้าวเข้าอุตสาหกรรม ไม่ใช้เป็นการบริโภคทั่วไป โดยสัปดาห์หน้าคณะอนุกรรมการระบายข้าวที่มีกรมการค้าต่างประเทศเป็นประธาน จะมีการประชุมหารือและแผนระบายข้าว รวมถึงแผนผลักดันการส่งออก และยุทธศาสตร์ข้าว ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว(นบข.)ต่อไป คาดประชุมเดือนมีนาคมนี้

“แนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ยังใช้การตลาดนำการผลิต โดยเฉพาะการควบคุมดูแลเรื่องปริมาณที่เหมาะสม ผลักดันเพิ่มมูลค่าข้าวจากการเพิ่มชนิด และแปรรูปจากข้าว ก็จะส่งผลต่อราคาข้าวที่ดีต่อเนื่อง ในแผนส่วนหนึ่งคือสานต่อโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งเมื่อเกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มกันแล้ว ก็จะได้ข้อมูลและนำการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นทางถึงผู้บริโภคมาใช้ “น.ส.ชุติมา กล่าว

น.ส.ชุติมา กล่าวต่อว่า โครงการนาแปลงใหญ่ที่ได้มีการผลักดันจนประสบความสำเร็จ คือ การส่งเสริมข้าวพันธุ์ กข43 ที่ผ่านการวิจัยและทดลองปลูก จนเป็นที่รู้จักและจำหน่ายทั่วไปแล้ว ซึ่งชูจุดเด่นเป็นข้าวพันธุ์ใกล้เคียงกับข้าวขาว แต่มีความนุ่มและน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไต และจำหน่ายได้ราคาดี ซึ่งปี 2560 ภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่นาปี มีพื้นที่รวม 100 ไร่ ให้ผลผลิต 20 ตันข้าวสาร และปี 2561 พื้นที่เพิ่มเป็น 3 พันไร่ ผลผลิต 600 ตันข้าวสาร โดยมีศักยภาพจะขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 3 แสนไร่

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาปลอมปนและรักษาคุณภาพข้าวและการตลาด กรมการข้าวกระทรวงเกษตรฯได้ออกเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ ติดรับรองบนถุงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหากมีการลอกเลียนแบบมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ หรือหากปลอมเครื่องหมายมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพาณิชย์ จะประชุมหารือกลุ่มสหกรณ์ บริษัทตัวแทนจำหน่าย ที่สมัครเข้าโครงการรับซื้อและจัดจำหน่ายข้าวพันธุ์กข.43 ซึ่งจะเป็นต้นแบบของแผนการบริหารข้าวครบวงจรของไทย

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ที่บริเวณท่าเทียบเรือบ้านแหลมไทร ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง กรมประมง ร่วมกับ อำเภอสิเกา ประมงอำเภอสิเกา และชาวบ้านในพื้นที่บ้านแหลมไทรเพื่อทำการปล่อยพันธุ์ม้าน้ำสายพันธุ์ม้าน้ำดำและม้าน้ำหนาม จำนวน 1,900 ตัว ในโครงการปล่อยม้าน้ำสู่ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ในแหล่งหญ้าทะเลด้วยการ ลงเรือประมงของชาวบ้านจากท่าเทียบเรือไปยังกลางทะเล ซึ่งมีระยะทางห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร

การปล่อยม้าน้ำสู่ธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ในแหล่งหญ้าทะเล สำหรับม้าน้ำดำและม้าน้ำหนาม มีอายุประมาณ 1ปี เป็นการปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยมีหลายขนาด ดังนี้ ม้าน้ำหนาม ขนาด 10-12 เซนติเมตร จำนวน 150 ตัว ม้าน้ำดำ ขนาด 15-18 เซนติเมตร จำนวน150 ตัว ม้าน้ำวัยรุ่น ม้าน้ำหนาม ขนาด 6-12 เซนติเมตร จำนวน 300 ตัว ม้าน้ำดำ ขนาด 6-12 เซนติเมตร จำนวน 500 ตัว และลูกม้าน้ำดำ ขนาด 2 เซนติเมตร จำนวน 800 ตัว ทั้งนี้ระยะการวางไข่ของม้าน้ำ ใน1 เดือนระยะเวลา 15 วันจะวางไข่ 1 รอบ

นายเจษฎา ถังมณี เจ้าหน้าที่ประมงปฏิบัติงาน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.ตรัง กล่าวว่า ม้าน้ำที่ปล่อยวันนี้ 1,900 ตัว เป็นพ่อแม่พันธุ์ 300 ตัว ที่เหลือเป็นม้าน้ำวัยรุ่น และลูกม้าน้ำ นับเป็นการปล่อยครั้งแรกที่มากที่สุดในประเทศ โดยที่นี่เป็นชุมชนเข้มแข็ง และมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ โดยมีการปล่อยทั้งม้าน้ำหนามและม้าน้ำดำ อายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี

“ปัจจุบันม้าน้ำ เป็นปลาที่นิยมทำเป็นยาจีนตามตำราการแพทย์แบบจีน ด้วยเชื่อว่าบำรุงกำลังและเสริมสมรรถนะทางเพศ โดยจะทำไปตากแห้งและขายเป็นชั่งน้ำหนักขาย ทำให้ม้าน้ำทั่วโลกในปีหนึ่งๆ ถูกจับเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้ และยังถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับอีก จนกลายทำให้เป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์ในบางชนิด ทำ ให้ทางกลุ่มอนุรักษ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่ต้องช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อให้คงอยู่คู่ท้องทะเลตรังต่อไปสู่อนาคต ซึ่งเมื่อปล่อยคืนสู่ทะเลแล้ว ชาวบ้านต่างเฝ้าดูม้าน้ำดำดิ่งลงสู่แหล่งหญ้าทะเลด้วยความตื่นเต้น พร้อมรับปากจะช่วยกันดูแลแหล่งอนุรักษ์ม้าน้ำแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศให้คงอยู่สืบไป” นายเจษฎา กล่าว

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน กรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยในช่วงให้ฤดูปลาที่มีไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี แต่ทั้งนี้ เพื่อให้การปิดอ่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2561 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวใหม่ จากเดิมที่จะประกาศห้ามใช้เครื่องมือบางชนิดในพื้นที่โดยรวมของ 3 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ซึ่งพบว่าการดำเนินการไม่ได้ผล ปริมาณสัตว์น้ำที่วัดจากปลาผิวน้ำ โดยเฉพาะปลาทู มีปริมาณน้อยมาก

ปี 2560 ได้เริ่มทดลองเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวใหม่ให้สอดคล้องกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง ได้แบ่งปิดอ่าวออกเป็น 4 ช่วงตามแหล่งอาศัยของช่วงวัยของปลา พบว่าประสบผลสำเร็จปลาทูมีปริมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้นในปี 2561 นี้ จึงประกาศการปิดอ่าวในรูปแบบดังกล่าวอย่างเป็นทางการ คือ เขตที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่เขาตามอง ตั้งแต่ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึง อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ 15 ก.พ.-15 พ.ค. รวม 90 วัน ซึ่งเป็นช่วงการวางไข่ เขตที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่จากเขาตามองจนถึง อ.หัวหิน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-14 มิ.ย. รวม 30 วัน หรือเป็นช่วงตัวอ่อน เขตพื้นที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่อ่าวตัว ก จาก อ. หัวหิน-จ สมุทรสาคร ระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. รวม 60 วัน เป็นช่วงของการเติบโต และ เขตพื้นที่ 4 ครอบคลุมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ถึง อ. ศรีราชา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. เป็นช่วงวัยเจริญพันธุ์

“ในช่วงการปิดอ่าวแต่ะละพื้นที่จะใช้เครื่องมือจับปลาได้เฉพาะเครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร และทำการประมงในเวลากลางคืนทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และมีช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้ว ยกเว้นที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ที่ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งเครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ลอบปู ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ ลอบหมึกทุกชนิด ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่งคราดหอย ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯอวนรุนเคย ตามเงื่อนไขประกาศกระทรวงฯ และจั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง เท่านั้น”

นายอดิศร กล่าวว่า กรณีฝ่าฝืน ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ จะได้รับโทษตามมาตราการปกครอง ได้เแก่ 1. ยึดสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงนั้น หรือเครื่องมือทำการประมง 2. ห้ามทำการประมงจนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง 3. สั่งพักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน โดยสั่งห้ามไม่ให้ใช้เรือประมงนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาในการพักใช้ใบอนุญาต 4. เพิกถอนใบอนุญาตและประกาศให้เรือประมงนั้นเป็นเรือที่ใช้ทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ 5. กักเรือประมงหรือสั่งให้วางประกัน ในกรณีเรือประมงที่กระทำความผิดเป็นเรือประมงที่ไม่ใช่เรือประมงไทย

นอกจากนี้ ยังมีโทษปรับ ตามมาตราการ 138 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 70 ของ พ.ร.ก.ประมง คือ 1.ขนาดเรือน้อยกว่า 10 ตันกรอส ระวางโทษ 5,000-50,000 บาท 2. ตั้งแต่ 10 ตันกรอสแต่ไม่ถึง 20 ตันกรอส ระวางโทษ 50,000-100,000 บาท 3. ตั้งแต่ 20 ตันกรอส 60 ตันกรอส ระวางโทษ 100,000-500,000 บาท 4. ตั้งแต่ 60 ตันกรอส ไม่ถึง 150 ตันกรอส ระวางโทษ 500,000 บาท – 5 ล้านบาท และ 5. ตั้งแต่ 150 ตันกรอสขึ้นไป ระวางโทษ 5-30 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการทดลองเปลี่ยนรูปแบบการปิดอ่าวในปี 2560 เปรียบเทียบจากก่อนการประกาศมาตรการปิดอ่าวสามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 2,470,601 ก.ก. และหลังจากมาตรการประกาศปิดอ่าวบริเวณอ่าวไทยสามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 28,669,171 ก.ก. บริเวณอ่าวตัว ก. จับสัตว์น้ำได้ปริมาณ 30,183,581 ก.ก. แสดงให้เห็นว่าหลังมาตรการปิดอ่าวไทยจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยปลาทู จากช่วงเดือน ม.ค. 2560 ไม่สามารถจับได้เลย แต่เดือนก.พ.-พ.ค เพิ่มเป็น 9,480 ก.ก. ช่วงเดือนมิ.ย.-ธ.ค. จับได้ 265,164 ก.ก.

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ปิดอ่าวชาวประมงรายย่อยต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงใหม่ตามประกาศ เพราะโทษของการฝ่าฝืนกำหนดไว้รุนแรงเกินไป ในขณะที่ต้องขาดรายได้เพราะการจับสัตว์น้ำที่ลดลง ดังนั้นภาครัฐควรให้การชดเชยรายได้ดังกล่าวให้กับชาวประมงด้วยซึ่งต่างประเทศทำไปแล้ว โดยสมาคมจะหารือเรื่องนี้กับกรมประมงในการประกาศปิดอ่าวปีต่อไป

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ อิมแพ็ค เมืองทองธานี, คอมเอ็กซ์โพเชียม และ Axema ประเทศฝรั่งเศส จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2018 หรืองานแสดงสินค้าเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติด้านการเกษตรแห่งอาเซียน ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2561 ณ อาคาร 3-4 ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค และบริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี โดยรวบรวมผู้ประกอบการ 300 บริษัทจากไทยและต่างประเทศ ร่วมแสดงสินค้านวัตกรรมการเกษตรมุ่งเน้นเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรยุคประเทศไทย 4.0 Smart Farmer คาดมีผู้เข้าชมงานกว่า 9,000 รายจากทั่วภูมิภาค

มร. ลอย จุน ฮาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า สัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ความต้องการใช้ทรัพยากรน้ำและอาหารก็จะเพิ่มสูงขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในการผลิตให้เพียงพอและสามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การจัดงาน SIMA ASEAN Thailand หรืองานแสดงสินค้าเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติด้านการเกษตรแห่งอาเซียน โดยความร่วมมือของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คอมเอ็กซ์โพเชียม และ Axema ประเทศฝรั่งเศส จัดงานต่อเนื่อง เป็นปีที่ 4 ตระหนักและเห็นความสำคัญของนวัตกรรมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร

การจัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2018 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2561 ณ อาคาร 3-4 ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค และบริเวณริมทะเลสาบเมืองทองธานี โดยรวบรวมผู้ประกอบการ 300 บริษัทจากไทยและต่างประเทศ ร่วมแสดงสินค้านวัตกรรมการเกษตรมุ่งเน้นเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรยุคประเทศไทย 4.0 Smart Farmer คาดมีผู้เข้าชมงานกว่า 9,000 รายจากทั่วภูมิภาค และเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนการจัดงานฯ ได้จัดการเสวนาพิเศษ เรื่อง รุกหน้านวัตกรรม สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ยุค 4.0 โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสากหรรมการเกษตรจาก กรมวิชาการเกษตร, สมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร, เครือข่าย ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ประเทศไทย, บริษัท สมาร์ทฟาร์ม ประเทศไทย จำกัด และหจก.กรีนเซนเตอร์เซอร์วิส ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในการใช้นวัตกรรมใหม่ ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ดั้งเดิม อาทิ การใช้แอพลิเคชั่นเพื่อบริหารจัดการงาน การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การใช้เครื่องจักรกล รวมถึงการทำระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ได้นำเทคโนโลยีไปประยุกต์กับหน้างาน ในการลดแรงงาน ลดเวลาทำงาน เพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต