มอบนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งขยายตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึง

สินค้าสหกรณ์-ต้องไม่ขูดรีดสมาชิกนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมให้นโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร ที่จังหวัดอุทัยธานี ว่าต้องการให้หน่วยงานที่ตนเองกำกับดูแลหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะการเกษตรจะสำเร็จได้คือต้องมีดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้ผลผลิตของการเกษตรของไทยมีคุณภาพและปลอดภัย เป็นครัวของโลกได้ และพรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในการสร้างระบบแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น จะเข้าไปดูแลการบริหารสหกรณ์ให้มีความเป็นธรรม ไม่มีการขูดรีดดอกเบี้ยจากสมาชิกที่ล้วนเป็นเกษตรกรที่ยากจน

“ต่อไปจะพาทุกกรม ลงพื้นที่เพื่อไปดูว่าเกษตรกรเดือดร้อนอย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่เอานโยบายของกระทรวงลงไปสนับสนุนเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าความต้องการของเกษตรกรคืออะไร โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่พบมากขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีหนี้สินสะสม บางคนกู้หนี้ปีละหลายหมื่นบาท ก็จะหาเงินมาชำระหนี้และกลับไปกู้ใหม่ เป็นการกู้วนซ้ำแบบนี้ไม่ถูก และจะต้องไปตรวจดูการปล่อยเงินกู้ของสหกรณ์ด้วยว่า มีการขูดรีดดอกเบี้ยจากสมาชิกหรือไม่ เนื่องจากเรามี นโยบายเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ เพราะฉะนั้น จะต้องมาช่วยแก้ไขให้ระบบนี้ให้ถูกต้อง การช่วยเหลือของสหกรณ์อย่ารอปันผลสิ้นปี ต้องช่วยเหลือทุกครั้งที่สมาชิกเดือดร้อน” นางสาวมนัญญากล่าว

ทั้งนี้ รมช.เกษตรฯ ระบุว่าสิ่งที่จะทำต่อไปคือการเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน โดยสนับสนุนการทำอาชีพเสริมผ่านระบบสหกรณ์ และมีนโยบายที่จะทำซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าสหกรณ์ที่มีคุณภาพ ทั้งเนื้อ นม ไข่ ข้าวสาร ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป กระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เบื้องต้น จะตั้งกรรมการศึกษารูปแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ในสัปดาห์หน้า และจะเริ่มนำร่องที่จังหวัดนครปฐม เร็วๆ นี้จะได้ให้เห็นแน่นอน เพื่อจะดึงเม็ดเงินไหลกลับไปสู่เกษตรกร เพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับเลี้ยงครอบครัวและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นางสาวมนัญญา กล่าว

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมได้วางแนวทางพัฒนาสหกรณ์ ในปี 63 โดยจะเน้นการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยจะมีการบริหารแปลงใหญ่แบบครบวงจรโดยใช้สหกรณ์ในพื้นที่เข้าไปบริหารจัดการผลผลิต แปรรูป จนถึงหาตลาดมารองรับ การพัฒนาการผลิตของสมาชิกให้ได้มาตรฐานการเกษตร GAP และมาตรฐานออร์แกนิก การสนับสนุนองค์ความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาการผลิตสินค้า การบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตร การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวการพัฒนาระบบ GMP กระบวนการแปรรูปสินค้าสหกรณ์ เพื่อลดการสูญเสียในขั้นตอนการผลิตและต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงยกระดับสหกรณ์ในอำเภอเป็นศูนย์รวบรวมสินค้าการเกษตรที่สำคัญ เพื่อเก็บชะลอไม่ให้ทะลักสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าให้กับเกษตรกร

“จะพัฒนาระบบธุรกรรมสินค้าการเกษตรด้วยเทคโนโลยีด้วยระบบบล็อกเชน ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการจ้างผู้เชี่ยวชาญศึกษาและวางระบบนี้เพื่อให้สหกรณ์นำไปใช้ และที่สำคัญคือการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเพื่อดึงคนเข้ามาศึกษาดูงานและจัดกิจกรรมที่สหกรณ์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้สมาชิกผ่านโครงการไมซ์เพื่อชุมชน” นายพิเชษฐ์กล่าว

งานอีกด้านที่ต้องเร่งดำเนินการคือการจัดการให้สหกรณ์เป็นองค์กรที่พัฒนาเชิงคุณภาพโดยเฉพาะการจัดการหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ที่จะต้องช่วยกันวางระบบวางแผนการผลิตสินค้าการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยสหกรณ์จะมีบทบาทในการสนับสนุนเงินทุนและปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพให้กับสมาชิก และเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้สมาชิก ทั้งปัญหาหนี้สิน การออม และการลงทุน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) จัดงาน CP Scholarship Day 2019 มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีแก่นักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2019 จำนวน 44 ทุน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ร่วมสร้างบุคคลคุณภาพและยกระดับธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในเวทีโลกอย่างยั่งยืน

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้เป็นมืออาชีพ เพื่อรองรับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ ทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน ดังนั้น “การสร้างคน” จึงเป็นเรื่องที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับนักศึกษาจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับไปทำงานในประเทศของตน ซึ่งจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาภาคเกษตรกรรมและอาหารในประเทศของตนเองได้ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนบัณฑิตชาวไทย ก็สามารถปฏิบัติงานในประเทศไทยหรือไปปฏิบัติงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้

“การพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญแบบมืออาชีพ เป็นนโยบายสำคัญที่ ซีพีเอฟ ดำเนินการภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน คือ เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทุกประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ ในลำดับสุดท้าย ซึ่งเป็นค่านิยมที่ ซีพีเอฟ ใช้ในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว

ดร. ถิรนันท์ ศรีกัญชัย คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า รูปแบบการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ควบคู่การทำงานจริง หรือ Work-based Education ที่มีการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน 3 เดือน สลับกับฝึกงานในสถานประกอบการจริงอีก 3 เดือน สลับกันไปมาเช่นนี้ตลอดหลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษาได้ภายใน 3 ปี 6 เดือน แบ่งเป็นการเรียนภาคทฤษฎีรวม 43% และภาคปฏิบัติในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ทันสมัยมาตรฐานโลก หรือในโรงงานแปรรูปอาหารมาตรฐานโลกอีก 57% โดยในชั้นปีที่ 4 นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติงานในภาคธุรกิจจริงอย่างต่อเนื่องถึง 6 เดือน ซึ่งนักศึกษาต่างชาติก็จะได้กลับไปฝึกงาน ณ ประเทศที่ตนเองได้รับทุนการศึกษา ทำให้บัณฑิตที่จบจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร PIM พร้อมที่จะปฏิบัติงานในฟาร์มและโรงงานแปรรูปอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพทันทีที่เรียนจบ

“คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้บริหารมืออาชีพจาก ซีพีเอฟ ร่วมออกแบบหลักสูตร และมาเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนในรายวิชาต่างๆ มากกว่า 100 ท่าน โดยการนำประสบการณ์ทำงานจริงมาสอนให้นักศึกษาได้มีพื้นฐานความรู้แบบมืออาชีพ และที่โดดเด่นที่สุดคือ การที่นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าฝึกปฏิบัติงานจริง ในฟาร์มและโรงงานแปรรูปอาหารระดับโลกของซีพีเอฟ ได้เรียนรู้ สัมผัสบรรยากาศ สภาพแวดล้อมจากการทำงานจริงและได้แก้ปัญหาจริง ซึ่งในปีนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่บัณฑิตรุ่นแรกของสาขาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม จำนวน 42 คน ได้เข้าทำงานกับ ซีพีเอฟ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเรียนร่วมกันระหว่างนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทย ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็น buddy ช่วยแปลภาษาและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านต่างๆ จนเกิดเป็นมิตรภาพ มีความกล้าแสดงออกและสื่อสารกันได้อย่างดี” ดร. ถิรนันท์ กล่าว

ในปี 2562 นี้ นับเป็นปีที่ 5 ที่ซีพีเอฟ มอบทุนให้กับนักศึกษาไทย และเป็นปีที่ 2 ที่มอบทุนให้กับนักศึกษาต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาจาก 17 ประเทศที่ ซีพีเอฟ เข้าไปลงทุน ได้รับคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาและเข้ามาศึกษาในประเทศไทย โดยในปีนี้ มีผู้ผ่านการคัดเลือก 15 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และตุรกี ซึ่งนักศึกษาต่างประเทศเหล่านี้ จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีร่วมกับนักศึกษาไทยที่ผ่านการคัดเลือกอีก 29 คน ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (Bachelor of Science Degree) สาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม (Farm Technology Management: FTM) และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร (Food Processing Technology Management : PTM)

CAE 3D เป็นซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม (computer-aided engineering: CAE) ที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ในสามมิติ ซอฟต์แวร์นี้ได้รับการออกแบบให้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้ โดยการติดต่อกับผู้ใช้เป็นแบบกราฟิกส์ (graphical user interface: GUI) ทั้งหมดบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows operating system) ซอฟต์แวร์นี้พัฒนาขึ้นโดย คณะผู้วิจัยในประเทศไทย โดยทุนวิจัยและพัฒนาของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ดร. สมบูรณ์ โอตรวรรณะ หัวหน้าทีมวิจัยคอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ในปัจจุบันการออกแบบทางวิศวกรรมต้องอาศัยเทคโนโลยี CAE (computer-aided engineering) หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยงานวิศวกรรมค่อนข้างมาก ดังนั้น จำเป็นที่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรที่ใช้งานซอฟต์แวร์ CAE เอง หรือคนที่ใช้ประโยชน์จากผลการคำนวณจากซอฟต์แวร์ก็ตาม เช่น ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม ผู้บริหารโรงงาน เป็นต้น

ควรจะมีพื้นฐานองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี CAE ด้วย ซึ่งการที่จะมีพื้นฐานองค์ความ รู้ได้นั้น ส่วนหนึ่งที่จำเป็นคือ การได้ทดลองใช้ซอฟต์แวร์ CAE ด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันการเข้าถึงซอฟต์แวร์ CAE ที่เป็นซอฟต์แวร์ในเชิงพาณิชย์พบปัญหาคือ ราคาแพงมากหลักหลายล้านบาท ทีมวิจัยจึงได้พยายามสร้างซอฟต์แวร์ชื่อ CAE 3D ขึ้นมาให้ใช้งานได้ง่าย เมื่อใช้งานซอฟต์แวร์ CAE 3D ประกอบกับหนังสือ “คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม” จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบครบวงจร กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ได้รู้พื้นฐานของเทคโนโลยี CAE ต่อด้วยการเรียนรู้ความหมายของตัวแปรในสมการเชิงอนุพันธ์ต่างๆ รวมถึงสมการไฟไนต์เอลิเมนต์และไฟไนต์วอลุม ตลอดจนได้มีประสบการณ์ลองใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมด้วยตัวเอง

ซอฟต์แวร์ CAE 3D มีส่วนการสร้างโมเดลและแสดงผลที่ใช้งานง่ายซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยภาย ใน สวทช. ทั้งหมด โดยประกอบด้วย 4 โมดูลสำหรับใช้วิเคราะห์ 4 ประเภทของปัญหาทางวิศวกรรม คือ 1. SOLID เป็นโมดูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง 2. HEAT เป็นโมดูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาการถ่ายเทความร้อน โดยสองโมดูลแรกได้พัฒนาขึ้นโดยทีมศาสตราจารย์ ดร. สุทธิศักดิ์ พงศ์ธนาพาณิช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3. VIBRA เป็นโมดูลที่ใช้วิเคราะห์คำนวณการสั่นสะเทือน ซึ่งพัฒนาโดยทีมวิจัยเอ็มเทค นำโดย ดร. อธิพงษ์ มาลาทิพย์ และ 4. CFD เป็นโมดูลเกี่ยวกับปัญหาการไหลของไหล เช่น น้ำ อากาศ น้ำมัน เป็นต้น ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีม รศ.ดร. เอกชัย จันทสาโร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่วนรายละเอียดการใช้งานในแต่ละโมดูลนั้น ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ CAE 3D มาติดตั้งและใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ https://www.mtec.or.th/cae3d/

ด้านกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ CAE 3D มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่น วิศวกร ผู้จัดการ ผู้บริหารของโรงงาน 2. กลุ่มภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างในการทำโรดโชว์ประชาสัมพันธ์ให้รู้จักซอฟต์แวร์ CAE 3D เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนต่อไป และ 3. กลุ่มภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษา รวมถึง ม.ปลาย และ ม.ต้น ทีมวิจัยได้มีแผนนำซอฟต์แวร์ CAE 3D ไปใช้สอนให้ความรู้ในลักษณะจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ด้วย

“องค์ความรู้ 3 องค์ประกอบหลักที่จำเป็นในการนำซอฟต์แวร์ CAE 3D ไปใช้งาน คือ 1. ทักษะการใช้งานซอฟต์แวร์ CAE เช่น ทราบปุ่มคำสั่งต่างๆ และสามารถเลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสม 2. ความเข้าใจด้านสมการเชิงอนุพันธ์และสมการระเบียบวิธีเชิงตัวเลข เช่น เข้าใจในค่าตัวแปรต่างๆ ของสมการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่กำลังวิเคราะห์ และ 3. ความรู้และประสบการณ์ในระบบทางวิศวกรรม เช่น ถ้ากำลังวิเคราะห์ปัญหาที่เกี่ยวกับการทำงานของระบบ cooling tower ต้องเข้าใจว่าระบบดังกล่าวมีส่วนประกอบและการทำงานอย่างไร” ดร. สมบูรณ์ โอตรวรรณะ กล่าวปิดท้าย

ผักตบชวา เป็นวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถขยายพันธุ์โดยการแตกไหลกลายเป็นลำต้น ผักตบชวารวมกลุ่มกันแน่น แต่เมื่อโดนกระแสน้ำจะไหลขาดออกจากกัน กระจายตัวออกเป็นส่วนย่อยๆ ง่ายต่อการกระจายพันธุ์ไปในที่ต่างๆ และเพิ่มปริมาณจนหนาแน่นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางน้ำ กีดขวางทางไหลของน้ำ การขนส่งคมนาคมทางน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน

ผักตบชวา ที่มีอายุ 1 เดือน จะมีความสูงเฉลี่ย 40 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้น้ำหนักสด 10 ตัน ส่วนผักตบชวาที่อายุ 4 เดือน ความสูง 100 เซนติเมตร จะให้น้ำหนักสด 30 ตัน เนื่องจากผักตบชวาสด มีน้ำเป็นส่วนประกอบในตัวแล้ว ยังมีน้ำที่ติดมากับรากและใบผักตบชวากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การขุดลอกผักตบชวาจากแหล่งน้ำจำนวนมากๆ เพื่อขนส่งไปทิ้งจึงทำได้ยาก เพราะมีน้ำหนักมาก หากนำผักตบชวามากองบริเวณลำน้ำโดยขาดการบริหารจัดการที่ดี จะส่งกลิ่นเน่าเหม็นก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

ผักตบชวา เป็นพืชที่มีระบบรากฝอยจำนวนมาก จึงดูดซับแร่ธาตุต่างๆ จากตะกอนในน้ำเก็บไว้ในส่วนลำต้นและราก เฉลี่ยมีปริมาณไนโตรเจนไม่น้อยกว่า 1% ฟอสฟอรัส 0.25% และโพแทสเซียม 4% ส่วนโลหะหนักในผักตบชวา พบว่าต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ผักตบชวายังมีสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน 30:1 จึงกล่าวได้ว่า ผักตบชวา จัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการทำปุ๋ยหมัก ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงแนะนำให้นำผักตบชวาที่ขุดลอกจากแหล่งน้ำมาใช้เป็นวัสดุในการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และ พด.1 ช่วยในการย่อยสลายและลดกลิ่นเหม็น วช. หนุนใช้ “นวัตกรรม” แก้ปัญหา

“โครงการนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” เป็น 1 ใน 8 โครงการที่ ภาครัฐบาลและศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้น้อมนำพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาแปลงเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า เพื่อสืบสานพระราชดำริและต่อยอดโครงการดังกล่าว วช. ได้จัดกิจกรรม “การนำนวัตกรรมไปจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน” ภายใต้ “โครงการจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดกิจกรรมนำร่องขึ้น ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดแรก เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา มีรายได้จากการนำวัชพืชและผักตบชวามาทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เพื่อนำไปใช้ในการเกษตรและจำหน่าย ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในคลองและลำน้ำดีขึ้น และผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบชุมชนในการจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป

การดำเนินงานอาศัยข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชและผักตบชวา ที่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การนำมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน งานหัตถกรรม การใช้เพื่อการบำบัดน้ำ การใช้เพื่อผสมเป็นอาหารสัตว์ การนำมาหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการนำมาทำเป็นวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ย แต่กิจกรรมการนำวัชพืชและผักตบชวามาแปรรูปในการทำปุ๋ยหมักหรือดินปลูก เป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างดี

การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้ วช. ได้นำนวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” ผลงานวิจัยของ ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนันสนุนจาก วช. และ “ระบบคลังความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาลำน้ำ” บนเว็บไซต์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (www.krw.nrct.go.th) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้งานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในการพัฒนาลำน้ำและชีวิต แก้ไขปัญหาลำน้ำได้ตรงความต้องการของชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก”

นวัตกรรม “เครื่องผลิตปุ๋ยหมัก” มี 2 ขนาด ได้แก่

เครื่องผลิตปุ๋ยหมักขนาดเล็กสำหรับครัวเรือน ความจุถังหมัก 80 ลิตร และ
เครื่องหมักปุ๋ยขนาดใหญ่สำหรับภาคการเกษตร ความจุถังหมัก 400 ลิตร เครื่องหมักปุ๋ยรุ่นนี้มีคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะ ประกอบด้วย ถังหมักหรือถังปฏิกิริยา ชุดอุปกรณ์กวนผสม ช่องระบายปุ๋ยหมัก ผลงานชิ้นนี้ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 1.5 แรงม้า ใช้ไฟ 220 โวลต์ มีระบบป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน (Overload) โดยกระแสไฟจะถูกตัดเพื่อป้องกันความเสียหายของมอเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีล้อเลื่อนทำให้สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย และล็อกเบรกเพื่อควบคุมไม่ให้เคลื่อนที่

ขั้นตอนการใช้งาน เพียงแค่นำขยะอินทรีย์ ได้แก่ เศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ หรือวัชพืชต่างๆ เช่น จอก แหน ผักตบชวา และใบไม้แห้ง ใส่ลงถังหมัก เครื่องผลิตปุ๋ยหมักมีมอเตอร์ในการขับใบพัดกวนที่อยู่ภายในถังหมักเพื่อพลิกกลับกองเป็นการเติมอากาศเข้าสู่กองปุ๋ยหมัก โดยใบพัดกวนผสมหมุนได้ 2 ทิศทาง (หมุนไปทางข้างหน้าและหมุนกลับ) เพื่อกวนผสมทุกครั้งที่มีการเติมขยะอินทรีย์ในถังหมัก ช่วยให้อากาศไหลวนเข้าไปเพื่อเอื้อต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ชนิดที่ใช้ออกซิเจน เกิดการย่อยสลายได้เร็วขึ้น ทำให้ได้สารฮิวมัสที่มีลักษณะคล้ายดิน ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้เพื่อการบำรุงดินหรือนำไปผสมวัสดุอื่นๆ เพื่อการปลูกต้นไม้

ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า นวัตกรรมเครื่องผลิตปุ๋ยหมัก ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำปุ๋ยหมักและทุ่นแรงในการพลิกกลับกองปุ๋ย เหมาะสำหรับใช้ในบ้านเรือนและหน่วยงานที่มีขยะอินทรีย์ประเภทเศษผัก เศษอาหาร ใบไม้แห้ง วัชพืชน้ำประเภทจอก แหน ผักตบชวา หรือเหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในแปลงเกษตร

ในการใช้งาน เกษตรกรสามารถเติมขยะอินทรีย์เข้าระบบได้ทุกวันและทุกเวลา ถ้ามีขยะอินทรีย์ ทำการควบคุมสัดส่วนของขยะอินทรีย์ประเภทต่างๆ เช่น อินทรียวัตถุสีเขียว สีน้ำตาล และความชื้นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมจะทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีและเร็ว

จากผลงานวิจัยของ ดร. ลักขณา พบว่า เมื่อใช้เศษอาหาร 2 ส่วน ต่อเศษผัก 1 ส่วน และใบไม้แห้ง 1 ส่วน (โดยน้ำหนัก) หรือใช้เศษอาหารและเศษผัก 1 ส่วน ต่อใบไม้แห้ง 3 ส่วน (โดยปริมาตร) ขยะอินทรีย์ในถังหมักจะเกิดการย่อยสลายและเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยหมักได้ในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเติมขยะลงถังหมักได้ทุกวัน จนกว่าจะเต็มถังจึงนำปุ๋ยหมักออก และนำปุ๋ยหมักที่ได้นั้นกองหรือใส่เข่งตั้งไว้จนกว่าอุณหภูมิของปุ๋ยหมักเท่ากับอุณหภูมิบรรยากาศ ซึ่งแสดงว่าสภาวะการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์ สามารถนำปุ๋ยหมักไปใช้งานได้

ปุ๋ยหมักที่ผลิตได้ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยหมักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ มีปริมาณไนโตรเจน ประมาณ 2.5-3% ฟอสฟอรัส 0.4-1% โพแทสเซียม 0.8-2% นำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ หรือเป็นวัสดุปรับปรุงดินได้อย่างดี

ปัจจุบัน นวัตกรรมเครื่องหมักปุ๋ยของ ดร. ลักขณา ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในโรงเรียนและภาคการเกษตรในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย สตูล นครศรีธรรมราช นครปฐม สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ฯลฯ โดยตัวอย่างที่นำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนสถาพรวิทยา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ได้นำนวัตกรรมนี้ไปใช้ผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกคุณภาพสูง โดยสร้างยี่ห้อของตัวเอง ในชื่อ “E-ดอกลูกดก” และกองทุนชุมชนเมืองวัดท่าพูด ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นำไปใช้ผลิตปุ๋ยหมักและดินปลูกจากผักตบชวา โดยตั้งชื่อยี่ห้อสินค้าของตัวเองว่า “ดินกองทุนชุมชนวัดท่าพูด” เป็นต้น

สำหรับผู้อ่านที่สนใจนวัตกรรมเครื่องหมักปุ๋ย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร. ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ถนนมาลัยแมน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอแพงแสน จังหวัดนครปฐม