มะม่วงโชคอนันต์สุโขทัย มีผลผลิตขายเกือบทั้งปีอำเภอศรีนคร

จังหวัดสุโขทัยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงโชคอนันต์เป็นอาชีพ แม้พื้นที่ปลูกต้องรอน้ำในช่วงฤดูฝนเพียงอย่างเดียว แต่เกษตรกรท่านนี้ก็ยังสามารถปลูกและสร้างเงินให้กับเขาได้เป็นอย่างดี คุณเจือ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่มาทำสวนมะม่วงเหมือนเช่นทุกวันนี้ ได้เน้นการปลูกพืชจำพวก ถั่วเหลือง ฝ้าย และทำนาข้าว ด้วยผลตอบแทนที่ได้รับของการเกษตรในรูปแบบนั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก จึงมีการคิดเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดอื่นขึ้นภายในใจ

“พืชล้มลุกพวกนั้น ปีหนึ่งปลูก 2 ครั้งเอง ได้เงินมาก็ยังไม่ถึง 5,000 ต่อไร่เลย นี่ยังไม่ได้หักต้นทุนด้วยนะ ก็เริ่มคิดแล้วว่าแบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาอะไรที่มันได้รายได้มากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องมีพื้นที่มากกว่าเดิม แต่รายได้ต้องมีมากกว่าเดิมที่เราทำ ก็ลองปลูกมาหลายอย่าง ช่วงนั้นโชคดีที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับมะม่วงโชคอนันต์ ก็เลยเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำขึ้นมาในตอนนั้นเลย” คุณเจือ เล่าถึงความเป็นมาในสมัยก่อน

ซึ่งสวนมะม่วงของเขาเป็นมะม่วงแบบระยะชิด เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่มากนัก ปลูกประมาณ 150-200 ต้น ต่อไร่ และเน้นตัดแต่งทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ต้นมะม่วงโชคอนันต์สูงมากจนเกินไป ซึ่งสวนมะม่วงที่เขาทำทั้งหมดมีประมาณ 10 ไร่

คุณเจือ บอกว่า ในขั้นตอนแรกนำเมล็ดมะม่วงกะล่อนมาปลูก ใช้สำหรับเป็นต้นตอ ปลูกห่างช่วงประมาณ 3×4 เมตร เมื่ออายุต้นตอได้ประมาณ 1-2 ปี จึงนำยอดกิ่งพันธุ์ของมะม่วงโชคอนันต์มาเสียบยอด

“ช่วงที่เหมาะสมเสียบยอด ก็จะเป็นช่วงต้นตุลาคมจนถึงพฤศจิกายน ช่วงนั้นความเสียหายมันจะน้อยหน่อย เพราะว่าเราเสียบทีเป็นหลักพันต้น ประมาณปลายกุมภาพันธ์ไอ้ที่เราเสียบยอดไปก็เตรียมออกดอกมีลูกพอให้ติดลูกขายได้นิดหน่อย” คุณเจือ กล่าว

เนื่องจากการทำสวนมะม่วงของคุณเจือเป็นแบบปลูกเลี้ยงตามธรรมชาติ รอฝนตกตามฤดูกาล ไม่ได้มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ภายในสวน การดูแลจึงต้องเน้นฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันแมลง แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็จะเริ่มมีการใส่ปุ๋ย และต้นมะม่วงที่มีทรงพุ่มใหญ่ ขนาด 1 เมตร ก็จะมีการราดสารเพิ่มเข้ามาอีกขั้นตอนหนึ่ง

“สวนของผมจะใส่ปุ๋ยช่วงต้นฝน แล้วอีกครั้งจะเป็นช่วงใกล้หมดท้ายฝน เท่ากับว่าเราใส่ปุ๋ย ปีละ 2 ครั้ง ส่วนต้นที่เป็นพุ่มใหญ่ ประมาณ 1-2 เมตร เราก็จะมีการราดสารประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพราะว่ามะม่วงที่สวนปลูกต้นที่มีขนาดไม่เกิน 2 เมตร ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี่ถือว่าทำพร้อมกันเลย ทั้งตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ราดสาร” คุณเจือ อธิบาย

ปุ๋ยที่ใช้สำหรับใส่ต้นมะม่วงโชคอนันต์ที่สวนของคุณเจือ เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ใส่ในอัตรา 0.5 กิโลกรัม ให้กับต้นมะม่วงที่มีขนาดทรงพุ่ม 1 เมตร โดยดูให้เหมาะสมกับทรงพุ่ม ถ้าทรงพุ่มมากกว่า 1 เมตร อัตราการใส่ปุ๋ยก็มากตามไปด้วย

“หลังจากที่เราดูแลเสร็จ ทั้งตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ราดสาร หลังจากราดสารได้เดือนครึ่งถึง 2 เดือน ก็จะเริ่มมีช่อดอกออก การออกดอกก็จะขึ้นอยู่กับการตัดแต่งกิ่ง ถ้าตัดแต่งเยอะไปดอกก็จะออกช้า ต้องตัดแต่งให้พอดี คราวนี้พอออกดอกก็จะออกไม่ค่อยพร้อมกันเท่าไหร่ เราก็ต้องทยอยดูแลดอก แล้วก็เก็บผลกันทั้งปี เลยทำให้มะม่วงที่นี่สามารถขายได้ทั้งปี และก็แก้ไขไปตามสภาพปัญหาที่เจอแต่ละปี” คุณเจือ กล่าว

ปี 2540 โรงงานที่ทำมะม่วงแปรรูปยังเน้นใช้มะม่วงแก้วมากกว่ามะม่วงโชคอนันต์ ต่อมามะม่วงแก้วมีจำนวนน้อยลง แต่โชคอนันต์กลับสวนทางกลับกันคือมีปริมาณที่มากขึ้น ทำให้มะม่วงโชคอนันต์จากที่จำหน่ายให้แม่ค้าเพื่อนำไปทำเป็นยำประกอบอาหารเพียงอย่างเดียว สามารถตีตลาดเข้าโรงงานแทนมะม่วงแก้วอย่างดีเยี่ยม

“พอมะม่วงโชคอนันต์เป็นที่ต้องการของตลาด สรุปมะม่วงที่นี่ขายได้ทุกลูกไม่มีทิ้งเลย ไม่ว่าลูกเล็กลูกน้อย ก็สามารถขายได้ ถูกบ้างแพงบ้าง อยู่ที่ความพอใจของเรา โรงงานที่มารับซื้อก็มีอยู่หลายจังหวัดทางราชบุรี นครปฐม เขาก็จะให้ชาวบ้านแถวนี้เป็นที่รวบรวม ถึงเวลารถโรงงานก็มารับ ทางเราก็มีหน้าที่เก็บผลผลิตส่งให้คนรับซื้อในหมู่บ้านเอง” คุณเจือ เล่าถึงขั้นตอนการส่งจำหน่าย

คุณเจือ บอกว่า เรื่องราคาของมะม่วงโชคอนันต์ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล มีแพงบ้างถูกบ้างแล้วแต่ช่วง ราคาต่ำสุดที่จำหน่าย อยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท และช่วงที่ได้ราคาสูง อยู่ที่กิโลกรัมละ 24 บาท

“ช่วงที่มีมะม่วงออกเยอะ ราคาต่ำลงมา กิโลกรัมละ 4-5 บาท ก็มี ส่วนที่ได้แพงก็จะเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้นที่ขายได้ แต่เอาง่ายๆ ว่า สามารถขายได้หมด ไม่ว่าจะช่วงมากช่วงน้อยไม่มีเหลือบนต้นเลย ยิ่งบางช่วงก็มีคนมารับซื้อไปขายที่มาเลเซียด้วย” คุณเจือ เล่าเรื่องกลไกการตลาด

ทั้งนี้ คุณเจือ กล่าวเสริมให้แง่คิดว่า การทำสวนมะม่วงในปัจจุบันนี้อยากให้ผู้ที่กำลังทำสวนอยู่ หรือผู้ที่กำลังคิดเริ่มที่จะทำ ควรมีการศึกษาหาข้อมูลวิทยาการใหม่ๆ อยู่เสมอ จะผลิตแบบสมัยก่อนไม่น่าจะเป็นผลดีมากนัก เพราะระบบการค้าขายเริ่มมีการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ถ้าหากชาวสวนทำดีแบบมีมาตรฐาน ผลผลิตที่ได้ก็จะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย นับว่าเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในอนาคต

กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มี 1-3 ช่อ ช่อกลางสั้นมาก แต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี 5 แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 หยัก เมล็ดมีปีก

กระท่อมเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Mitragyna หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ รายงานไว้ว่าพืชในสกุลนี้ในประเทศไทยมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่
1) Mitragyna diversifolia (Wall ex G. Don) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อมขี้หมู กระทุ่มดง กระทุ่มนำ ท่อมขี้หมู ตุ้มน้ 2) Mitragyna hirsuta Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มโคก ตุ้มเขา ทุ่มพาย
3) Mitragyna parvifolia Korth. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มใบเล็ก
4) Mitragyna rotundifolia (Roxb.) Kuntze มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มเนิน แก่นเหลือง ตุ้มกว้าว
5) Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อม ท่อม อีถ่าง

กระท่อมมีหลายสายพันธุ์ถือเป็นความร่ำรวยทางชีวภาพ ในแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันที่ลักษณะของใบ คือ พันธุ์ก้านแดงมีก้านและเส้นใบสีแดง พันธุ์แตงกวามีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ พันธุ์ยักษ์ใหญ่มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยัก

พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก คือ พันธุ์ก้านแดง ที่มีวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า ท่อม (ภาคใต้) กระท่อม อีถ่าง (ภาคกลาง) และกระท่อมพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ถือเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี

ผมเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ประดับสวยงาม ผมทดลองปลูกเฟื่องฟ้าไว้ข้างบ้าน ปลูกมาแล้วเกือบ 3 ปี แต่ก็ให้ดอกน้อยมาก ผมจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยครับ

เฟื่องฟ้า (Bougainillea ssp.) เป็นไม้ยืนต้นกึ่งเลื้อย มีขนาดตั้งแต่พุ่มเล็กจนถึงพุ่มใหญ่ มีหนามขึ้นตามลำต้น เฟื่องฟ้าเจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินปลูกนั้นต้องระบายน้ำได้ดี อีกทั้งทนต่อสภาพแวดล้อมแห้งแล้งได้ ยิ่งแล้งยิ่งออกดอกดี ประการสำคัญ เฟื่องฟ้าต้องการแสงแดดจ้าตลอดทั้งวัน เฟื่องฟ้าเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันได้อย่างยอดเยี่ยม จึงขึ้นได้ดีตั้งแต่เขตทะเลทราย ไปจนถึงเขตอบอุ่น ที่บ้านเราให้น้ำสัปดาห์ละครั้งก็พอ

เมื่อได้รับแสงเต็มที่แล้วแต่ยังไม่ยอมออกดอก แนะนำให้ใช้ปุ๋ย สูตร 12-24-12 หรือสูตรใกล้เคียงเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอก หากคุณปฏิบัติได้ตามคำแนะนำนี้แล้ว เฟื่องฟ้าที่คุณปลูกไว้จะให้ดอกสวยงามสมใจ

‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) เป็นโรคอุบัติใหม่ที่พบการแพร่ระบาดในพื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เกิดจากการนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังมาปลูก ในกรณีที่ระบาดรุนแรงสร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้ถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์

สวทช. ได้เปิดตัว ชุดตรวจแบบรวดเร็วในรูปแบบ Strip test สำหรับตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนาม โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ ทราบผลได้ภายใน 15 นาที และตรวจสอบได้เองโดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือวัดอ่านผล ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศไทย รวมถึงการตรวจหาเชื้อในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิตต้นพันธุ์ปลอดเชื้อต่อไป

ดร. ชาญณรงค์ ศรีภิบาล ทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยและการค้นหาสารชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่สำคัญและส่งผล กระทบต่อมันสำปะหลังซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพราะหากมีการนำต้นพันธุ์มันสำปะหลังที่ติดโรคไปเพาะปลูก อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังได้ถึง 80-100 เปอร์เซ็นต์

“ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยฯ ได้พัฒนาเทคนิคอิไลซ่า (ELISA) สำหรับตรวจไวรัสใบด่างมันสำปะหลังที่พบในประเทศไทย โดยใช้น้ำยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ทางทีมวิจัยฯ ได้พัฒนาขึ้นเอง พบว่า เทคนิคอิไลซ่า (ELISA) ที่พัฒนาขึ้นมีความไว (sensitivity) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจอิไลซ่าที่มีการขายในเชิงการค้า และมีราคาต่อตัวอย่างถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยเทคนิคอิไลซ่าจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างนำมาตรวจสอบภายในห้องปฏิบัติการและต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องอ่านผล ใช้เวลาในการตรวจสอบจนทราบผลประมาณ 1-2 วัน

ล่าสุด ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช.ได้พัฒนาชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งมีหลักการทำงานเหมือนชุดตรวจ ATK ทราบผลได้ภายใน 15 นาที โดยไม่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการและเครื่องมือในการอ่านผล สามารถพกพาไปใช้ในภาคสนามได้ โดยไม่ต้องเก็บตัวอย่างส่งมาตรวจยังห้องปฏิบัติการ และมีความแม่นยำ ความจำเพาะเจาะจง ความไวเท่ากับชุดตรวจอิไลซ่าที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีมาตรฐาน PCR พบว่า มีความแม่นยำร้อยละ 94 ความจำเพาะเจาะจงร้อยละ 100 และความไวร้อยละ 91”เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองโรคใบด่างมันสำปะหลังจึงนับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงในการนำท่อนพันธุ์ติดเชื้อไปเพาะปลูกต่อ รวมถึงช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรคใบด่างลงได้ โดยการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้ในทุกขั้นตอนของการผลิตและเพาะปลูกมันสำปะหลัง เริ่มตั้งแต่การตรวจแปลงผลิตต้นพันธุ์สะอาดก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจในส่วนขยายพันธุ์ เช่น mini-stem cutting หรือ tissue culture นอกจากนี้ ยังใช้ในการติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคหลังการเพาะปลูกเพื่อจัดการและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับชุดตรวจ Strip test ใช้งานง่าย เพียง 3 ขั้นตอน 1. นำใบพืชมาบดในบัพเฟอร์ที่เตรียมไว้ให้ 2. จุ่มตัว Strip test ลงไปในน้ำคั้นใบพืชที่บดได้ และ 3. อ่านผลจากแถบสีที่เกิดขึ้น หากขึ้น 2 ขีด ณ ตำแหน่ง C และ T แสดงว่าตัวอย่างติดโรคใบด่างมันสำปะหลัง หากขึ้น 1 ขีด ณ ตำแหน่ง C แสดงว่าตัวอย่างไม่ติดโรค

ทั้งนี้ ชุดตรวจแบบรวดเร็ว Strip test เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นในงาน NAC2022 ซึ่งจะมีนิทรรศการออนไลน์ผลงานที่เกี่ยวกับ BCG Model มากกว่า 100 ผลงาน ทั้งด้านเกษตร-อาหาร การแพทย์และอื่นๆ ครบวงจรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ และพัฒนาประเทศ

ผักสลัด เป็นกลุ่มผักที่เน้นทานสด หรือนำไปปรุงร่วมกับส่วนประกอบอื่นทำเป็นเมนูอาหารได้หลายชนิด จุดเด่นของผักสลัดไม่เพียงความอร่อยและกรอบ แต่ยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ จึงได้รับความนิยมจากบรรดาสายสุขภาพกันมาก แต่ผักสลัดที่ดีและมีคุณภาพควรมาจากแหล่งปลูกที่ไว้ใจและตรวจสอบได้ จึงจะเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

“บ้านสวนซะป๊ะพะเยา” เป็นแหล่งผลิตผักสลัดคุณภาพแนวอินทรีย์ ในรูปแบบ Smart Farm ได้รับมาตรฐานการปลูกผักอินทรีย์ ทั้งยังร่วมกับสถาบันการศึกษาวิเคราะห์ดิน ปุ๋ย และน้ำ รวมถึงธาตุอาหารสำคัญผลิตผักสลัดได้สด ใหม่ มีความปลอดภัยเป็นของแถม สร้างความเชื่อถือและเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า

‘บ้านสวนซะป๊ะพะเยา’ จัดระบบและวางแผนการทำเกษตรกรรมด้วยการยึดหลักโมเดล โคก หนอง นา ด้วยการทำนาข้าวไว้ใช้ครอบครัว เลี้ยงวัว เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปลูกไม้ป่าเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นสัก ยางนา พะยูง ตะเคียน แล้วที่โดดเด่นสร้างรายได้ให้กับสวนแห่งนี้คือ การปลูกผักสลัดอินทรีย์จำหน่าย

คุณชวฤทธิ์ งามจิตร์ หรือ คุณแจ็ค เจ้าของ ‘บ้านสวนซะป๊ะพะเยา’ อดีตช่างซ่อมบำรุงบริษัทเอกชนในนิคมอุตสาหกรรมที่ระยอง มีความฝันอยากมีอิสระทางความคิด จึงเปลี่ยนเส้นทางชีวิต จากพนักงานเงินเดือนเพื่อเสาะหาอาชีพอื่น กระทั่งมาจบที่สวนเกษตรในที่สุด ส่วนเหตุผลที่มาปลูกผักเพราะตัวเองชื่นชอบ แล้วมองว่าผักที่ทานควรทำให้ปลอดภัย จึงหาความรู้เรื่องการปลูกผักปลอดภัยแบบอินทรีย์จากแหล่งความรู้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำปุ๋ย สร้างคุณภาพดิน

หลังจากนั้นทดลองปลูกผักสวนครัวหลายชนิดตามกรรมวิธีที่เรียนมาด้วยการทำปุ๋ยหมักเอง สร้างคุณภาพผักได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ผักเหล่านี้หากทำขายอาจไม่คุ้มทุน แต่เมื่อมองไปทางตลาดกลุ่มผู้ทานผัดสดพบว่า ผักสลัดได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง หากปลูกแบบอินทรีย์ที่สมบูรณ์แบบน่าจะขายทำกำไรได้ดี อีกทั้งในพื้นที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อและเหมาะสมต่อการปลูกผักสลัดได้อย่างมีคุณภาพ

สวนซะป๊ะ ใช้พื้นที่ปลูกผักสลัดอินทรีย์ จำนวน 2 งาน มีชนิดผัก 9-13 อย่าง เช่น เบบี้คอส กรีนคอส บัตเตอร์เฮด ฟินเล่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คะน้าเคล และอย่างอื่นอีกหลายชนิด คุณแจ็ค เล่าว่า ตอนแรกปลูกกลางแจ้งแบบยกร่อง ลงมือปรับปรุงสภาพดินอย่างเต็มรูปแบบทั้งปุ๋ยหมัก น้ำหมัก จนได้ผักที่มีคุณภาพ มีลูกค้าสนใจ แต่พอเจอปัญหาภัยธรรมชาติฝนตก ลมแรง ทำให้ผักเสียหาย

จึงเปลี่ยนมาปลูกในโรงเรือนไม้ไผ่คลุมพลาสติก ขนาด 3 คูณ 10 เมตร จำนวน 4 หลัง ช่วยได้มาก แต่มีข้อเสียตรงอายุใช้งานสั้น เพราะโดนมอดกิน ในที่สุดต้องเปลี่ยนมาเป็นโรงเรือนแบบมาตรฐาน ขนาด 5 คูณ 20 เมตร จำนวน 5 หลัง ส่วนแปลงปลูกกลางแจ้งยังใช้ปลูกอยู่เพื่อสำหรับขยายพื้นที่เมื่อยอดสั่งซื้อเข้ามามากในช่วงที่ผลิตไม่ทัน ขณะเดียวกันยังบริหารการปลูกด้วยการสลับพัก ไม่ปลูกซ้ำแปลงเดิม แต่จะพักแปลงชั่วคราวไว้เป็นเวลา 3-5 วัน พร้อมบำรุงดินก่อนจะปลูกรอบต่อไป

เมล็ดพันธุ์ซื้อมาจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ คุณแจ็คชี้ว่า เรื่องเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกต่อคุณภาพผลผลิต เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพจะช่วยให้ได้ผลผลิตสมบูรณ์ไม่ผิดเพี้ยน

คุณแจ็ค ให้รายละเอียดแนวทางการปลูกผักอินทรีย์ว่า ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องของผักแต่ละชนิดที่ต้องการปลูกก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธาตุอาหาร น้ำ และอากาศ ส่วนดินที่ใช้ปลูกไม่ว่าจะมีสภาพแบบใดก็ตามควรปรับสภาพดินให้เหมาะสมก่อน ด้วยการเติมอินทรียวัตถุลงไปในดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกลบเก่า จะมีประโยชน์มากเพราะช่วยยึดโครงสร้างดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ดินมีช่องว่างสามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก ทำให้รากพืชหาอาหารได้ดี รวดเร็ว มีคุณสมบัติคงสภาพดินถึง 3 เดือน ได้นานกว่าใบไม้

ส่วนธาตุอาหารเกิดจากการทำปุ๋ยหมักเอง ใช้รองก้นหลุม หรือหว่านในแปลงปลูก ใช้แกลบเป็นวัตถุดิบหลัก เพราะแกลบมีฟอสฟอรัส ส่วนแกลบดำมีโพแทสเซียม แล้วยังมีรำละเอียดด้วย นอกจากนั้นยังทำน้ำหมัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำหมักปลา น้ำหมักผลไม้ น้ำหมักหน่อกล้วย และยังเสริมด้วยกลุ่มฮอร์โมนช่วยให้มีรสหวาน ขั้วเหนียว และใบกรอบ

“บ้านสวนซะป๊ะพะเยา” มีอายุเกือบ 3 ปี จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้มีรายได้จากการขายผักดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดจากคุณภาพผักที่มีความอร่อย ปลอดภัย เป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของลูกค้า คุณภาพผักเหล่านี้เกิดจากการควบคุมการผลิตอย่างใกล้ชิดและใส่ใจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเรื่องการจัดหาเมล็ดพันธุ์ การพัฒนาปรับปรุงดิน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในหลายรูปแบบ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพน้ำ รวมถึงการจัดระบบวางแผนการปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จึงทำให้ปริมาณผลผลิตและความต้องการมีความสมดุล ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายที่กำหนดไว้ 120 บาท ต่อกิโลกรัม ตลอดทั้งปี สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผักมีคุณภาพ มีความกรอบแบบติดหวานเล็กน้อย ไม่มีรสขม พร้อมกับยังกล้าการันตี หากทานผักที่สวนแล้วมีรสขมยินดีคืนเงิน จึงทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจสั่งซื้อผักอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งลูกค้ารายเก่าและใหม่” เจ้าของสวนผักสลัดอินทรีย์กล่าว

คุณสิริโชค อารีย์ อยู่ที่หมู่ที่ 7 บ้านปางไฮ ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เกษตรกรได้รับความรู้มาจาก คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงหันมาเลี้ยงชันโรง หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าแมลงพื้นบ้านธรรมดา ที่เดิมชาวบ้านใช้ประโยชน์จากชัน เพื่ออุดรอยรั่วต่างๆ และใช้อุดใต้ฐานพระนั้น จะมีคุณค่าอนันต์มากมาย ผึ้งที่ว่าผสมเกสรเก่งแล้ว ยังไม่เท่า ชันโรง

เพราะ ผึ้ง เมื่อเก็บเกสรจากดอกไม้แล้ว จะปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นตัวของมัน ทำให้ผึ้งตัวต่อไปไม่มาตอมหรือเก็บเกสร แต่ชันโรงไม่สนใจ ถึงใครจะดอมดมเก็บเกสรแล้ว มันยังคงเข้าเก็บเกสรทุกดอกทุกรวง เพราะนิสัยของชันโรงชอบเก็บเกสรเข้าลังถึง 80% ทำให้สามารถช่วยผสมเกสรให้กับพืชต่างๆ ได้ดีสุดยอด

ในส่วนการเก็บน้ำหวานจะเก็บเข้ารังเพียง 20% จึงทำให้มีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 10-20 เท่าตัว ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงนั้น จะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่ สีจึงค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง จึงมีรสเปรี้ยว ที่สำคัญมีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารปฏิชีวนะในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา บำรุงประสาท ต้านอนุมูลอิสระ รักษาอาการเจ็บคอและอื่นๆ อีกมากมาย

จากผลการวิจัยของสำนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ รอยัลออนไลน์ ในประเทศไทย พบว่า น้ำผึ้งและชันจากชันโรง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 6 สารไนอะซิน สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรค เพิ่มภูมิคุ้มกัน ตลอดจนสารยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ผิวหนัง

ชันโรง เป็นแมลงจำพวกผึ้งชนิดหนึ่ง ที่ไม่มีเหล็กไน จึงไม่ต่อย แต่กัดได้ พบโดยทั่วไปในเขตร้อน ตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อน และมีอยู่ตามท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทยมานานแล้ว ภาคเหนือ เรียกชันโรงตัวเล็กว่า “ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง” ถ้าตัวใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าดำ ถ้าเป็นชันโรงยักษ์ เรียกว่า ขี้ย้าแดง ภาคใต้ เรียก แมลงอุ่ง ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคอีสาน เรียกว่า ขี้สูด ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ่ง หรือ ติ้ง

ชันโรงจัดเป็นแมลงสังคมชั้นสูง ภายในรังประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะ คือ วรรณะนางพญา (Queen) วรรณะชันโรงงาน (Worker) วรรณะเพศผู้ (Drone) โดยแต่ละวรรณะ ทำหน้าที่แตกต่างกันภายในรัง และชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือ ระยะไข่ (6-7 วัน) ระยะตัวอ่อน/หนอน (6-7 วัน) ระยะดักแด้ (26 วัน) และระยะตัวเต็มวัย (210 วัน)

ชันโรงนางพญา เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว มีหน้าที่หลักคือ วางไข่และดูแลชันโรงทุกตัวภายในรัง ให้อยู่ด้วยความเรียบร้อย นางพญาจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยชันโรงงานภายในรังจะพยายามกันชันโรงตัวผู้ที่เป็นเครือญาติเดียวกัน ไม่ให้ผสมกับนางพญา แต่จะนำชันโรงตัวผู้ที่อยู่รังอื่นเข้ามาผสมพันธุ์กับนางพญา เป็นวิธีการป้องกันเลือดชิด หรือจะผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้รังอื่นๆ ระหว่างนางพญาบินไปหารังใหม่ ซึ่งอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นางพญาชันโรงจะวางไข่ในรังใหม่ต่อไป

นางพญาจะวางตัวอ่อนในหลอดรวง โดยมีชันโรงงานคอยปิดผนึกไข่ จนพัฒนาเป็นดักแด้และตัวเต็มวัยในที่สุด ไข่จะพัฒนาไปเป็นชันโรงวรรณะใด ขึ้นอยู่กับการได้รับการผสมจากน้ำเชื้อหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการผสม ก็จะพัฒนาเป็นชันโรงตัวผู้ แต่ถ้าได้รับการผสม ก็จะพัฒนาไปเป็นชันโรงเพศเมีย คือวรรณะชันโรงงานและนางพญา การพัฒนาจะเป็นชันโรงงานหรือนางพญา ขึ้นอยู่กับขนาดของรวงรังและปริมาณอาหาร รวงรังของตัวอ่อนที่จะเจริญเป็นนางพญาจะต้องมีขนาดใหญ่ และได้รับอาหารที่มากกว่า