มะเขือแจ้ กับสรรพคุณที่ท้าทายเรื่องราวของพืชผักนิยมมาบริโภค

และเห็นผลกับร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก บวกกับความเชื่อในคำบอกเล่าของผู้มีประสบการณ์ แม้กระทั่งคำสอนสั่งของคนเก่าก่อน หลายคนที่เชื่อและพิสูจน์สรรพคุณแล้ว เกิดความเชื่อฝังใจ บางคนกำลังศึกษา อยากรู้ อยากลอง เช่นพืชผักชนิดนี้ ที่ชื่อ “มะเขือแจ้” เป็นพืชที่น่าท้าทาย และมีค่าพอที่จะให้ทดสอบสรรพคุณได้

“มะเขือแจ้” พืชชนิดนี้คุ้นหูกับพี่น้องชาวไทย บ้างเรียก “มะเขือขื่น” บ้างเรียก “มะเขือเหลือง” และอีกหลายๆ ชื่อ เช่น มะเขือเพา มะเขือคำ มะเขือขันคำ เขือหิน บ่าเขือฮืน มะเขือหื่น เป็นต้น

มะเขือแจ้ เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE

มีชื่อสามัญว่า Cock roach berry หรือ Dutch egg plant หรือ India night shade ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum xanthocarpum สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนทวีปเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย เป็นพืชที่ขึ้นได้กับดินทุกประเภท แต่ชอบดินร่วนซุย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนมาก เป็นพืชพื้นถิ่นพื้นเมืองที่เชื่อว่ามีความแข็งแกร่ง อายุยืน ลูกดก สะดุดตา มองเห็นได้ชัดเจนยามเมื่อติดผลแก่ เหลืองอร่ามเต็มต้น พบในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ริมทาง ข้างสวน เห็นเคยขึ้นตรงไหน มักจะพบตรงนั้นทุกปี ออกดอกช่วงมีนาคม-สิงหาคม ติดผลพบเห็นสุกแก่เหลืองอร่าม เดือนกันยายน-ธันวาคม

ลักษณะต้นมะเขือแจ้ เป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นกิ่งก้านมีหนามสั้นๆ ทรงต้นเป็นทรงกระบอกตั้งตรง เปลือกต้นสีม่วงหรือน้ำตาล โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งมีมากมายในผลแก่ที่แห้งคาต้น หรือ เน่าหล่นใต้ต้น หรือตั้งใจเด็ดผลมากิน แล้วทิ้งเมล็ดไป ก็งอกต้นใหม่ได้ง่ายๆ ใบมะเขือแจ้ เป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้า เป็นพูแฉกตื้นๆ ขนาดฝ่ามือผู้ใหญ่ แผ่นใบมีขน และมีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอวบสั้น อาจมีหนามตามก้านใบบ้าง

ดอกมะเขือแจ้ มีกลีบดอกสีม่วงเป็นรูปหอก 5 กลีบ ฐานติดกันเป็นรูปกรวย เกสรสีเหลือง มีฐานรองดอกหรือกลีบเลี้ยงรูประฆังสีเขียว เป็นกรวยรองรับกลีบดอก มี 5 กลีบ ซึ่งจะติดเป็นฐานผลด้วย ผลมะเขือแจ้ คือส่วนที่นำมาเป็นอาหาร ผลเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2-3 เซนติเมตร ผิวเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนสีเขียว มีลายขาวแทรก ตั้งแต่ปลายผล สุกแก่สีเหลืองสด เนื้อผลมีสีเขียวอมเหลืองใส มีกลิ่นรสขื่นขม มีเมล็ดลักษณะกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก

มะเขือแจ้ หรือ มะเขือขื่น ชาวบ้านชอบนำมาเป็นผักแกล้มอาหาร เช่น ลาบปลา ลาบเนื้อ ลาบหมู โดยปอกเอาเปลือก หรือผ่าลูก บีบเอาเมล็ดออก เอาเปลือกมาหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ อาจจะแช่น้ำปลาสักเล็กน้อย หรือบางรายควักเอาเมล็ด ปรุงใส่น้ำพริกกะปิ บางทีนำมะเขือแจ้แก่มาปรุงใส่ส้มตำมะละกอส้มตำลาวเพื่อลดความเค็มของปลาร้าได้ ส้มตำส้มโอเปรี้ยว ใส่รวมส้มผักกาด ใส่ยำเตา (สาหร่ายน้ำจืด) ส้าหรือยำมะเขือแจ้ ปิ้งหรือเผาใส่ผสมลาบหรือตำน้ำพริกกบ ฯลฯ มะเขือแจ้มีคุณค่าทางอาหารมาก ใน 100 กรัม มี วิตามินซี 63 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยา ตามความเชื่อและการบอกกล่าวกันมาว่า ผลมะเขือแจ้ เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้กามตายด้าน บำรุงร่างกาย แก้ไอ กัดเสมหะ ขับลม แก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา แก้พยาธิในตา รากมะเขือแจ้ ใช้เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้พิษร้อน แก้น้ำลายเหนียว ปวดฟัน แก้ปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว รากฝนเป็นยากระสายเด็ก แก้โรคซาง ตานขโมย ใบสดใช้ตำพอกแก้พิษอักเสบแผลมีหนอง เมล็ดแก้โรคมะเร็งเพลิงได้ มีสาระสำคัญคือ อัลคาลอยด์ ที่หมอยาเมืองเหนือใช้ประกอบยาทางรักษาโรคผิวหนัง ยาเสลด ขจัดเสมหะ ตาต้อ ยาแก้ไข้ ขับเสมหะ อาเจียน รักษาแผลเป็นหนอง โรคหืด รวมทั้งหมอยาภาคอื่นก็ใช้ร่วมกับสมุนไพรต่างๆ หลายอย่าง

มะเขือแจ้ หรือ มะเขือขื่น มักพบเห็นขึ้นอยู่ทั่วไป ส่วนจะเป็นที่นิยมชมชอบ นำมาเป็นอาหาร ก็ขึ้นอยู่กับคนนิยม ที่แน่นอนที่สุดคือ เป็นพืชผัก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และด้านสมุนไพร คนไทยนิยมมาแต่โบราณ และมีความเชื่อมั่นว่า “มะเขือแจ้” คงจะไม่สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย และไม่สูญหายไปจากความจำ ความรัก ความรู้สึก ของคนไทย คุณประโยชน์มากมาย คงจะเป็นเครื่องเตือนใจพวกเราไว้ตลอดไป

หากคิดถึงภาพภูเขาที่เต็มไปด้วยไร่กะหล่ำปลี แน่นอนว่าทุกท่านจะนึกถึงภาพบรรยากาศของพื้นที่ภูเขาในแถบภาคเหนือ ที่มีอากาศหนาวเย็น เอื้อต่อการปลูกพืชผักเมืองหนาว ฮิตมากๆ คือ ภูทับเบิก อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์

แต่ใครจะรู้ว่า มีเกษตรกรที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการปลูกกะหล่ำปลีอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตโครงการลุ่มน้ำปากพนัง มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น

โดยปกติแล้ว กะหล่ำปลี ที่เราบริโภคกันอยู่นั้น ผลผลิตได้มาจากภาคเหนือ และนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งกว่าจะเดินทางมายังผู้บริโภคในแถบภาคใต้ ส่งผลให้กะหล่ำปลีไม่สด ใหม่ มีราคาสูงจากราคาต้นทุนการขนส่ง

ด้วยเหตุนี้เอง คุณเมษายน คงสำราญ เกษตรกรหัวไวใจสู้ จากตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ริเริ่มนำกะหล่ำปลีเข้ามาปลูกในพื้นที่ ตั้งแต่ ปี 2527 โดยคุณเมษายน กล่าวให้ฟังว่า

“ได้เดินทางไปยังภาคเหนือแล้วเห็นแปลงปลูกกะหล่ำปลี จึงมีแนวคิดริเริ่มนำมาปลูกในพื้นที่ของตน โดยทดลองนำเมล็ดพันธุ์ที่มีขายในท้องตลาดมาทดลองปลูก จนได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศ ในตอนนั้นมีเกษตรกรเพื่อนบ้านที่สนใจร่วมปลูก 3-4 ราย”

ในระยะแรกประสบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ ต่อมาจึงได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกร โดยมีแนวคิดปลูกเอง ขายเอง ทำให้สามารถกำหนดราคาเองได้ และเริ่มเป็นที่รู้จักของตลาดในพื้นที่

วิธีการดูแล โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ย ได้รับคำแนะนำจากคุณเมษายนว่า เมื่อปลูกต้นกล้าได้ 7 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 จำนวนครึ่งช้อนชา ต่อต้น เมื่ออายุได้ 15 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวนครึ่งช้อนชา ต่อต้น เมื่ออายุ 40 วัน ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 จำนวนครึ่งช้อนชา ต่อต้น ส่วนปุ๋ยคอก ใส่ช่วงที่เตรียมดิน

คุณเมษายน อธิบายว่า…กะหล่ำปลีที่ปลูก ใช้พันธุ์เดียวกับที่ปลูกทางภาคเหนือ อายุการเก็บเกี่ยว 55 วัน ผลผลิตที่ได้น้ำหนักเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม ต่อหัว

“สามารถปลูกได้ทั้งปี ผลผลิตกะหล่ำปลี รสชาติหวาน กรอบ ศัตรูที่พบมีหนอนใยผัก สามารถป้องกันกำจัดได้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด” คุณเมษายน บอก

ปัจจุบันนี้ มีการรวมกลุ่มสมาชิกผู้ปลูกกะหล่ำปลีในตำบลท่าซอม อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 10 ราย มีพื้นที่ปลูกกว่า 30 ไร่ ผลผลิต 4-5 ตัน ต่อไร่ สามารถทำรายได้ให้แก่เกษตรกรและสมาชิกจากการจำหน่ายกะหล่ำปลี และแขนง กว่า 80,000 บาท ต่อไร่ ต่อ 1 รุ่นการปลูก ซึ่งใน 1 ปี สามารถปลูกได้ถึง 3 ครั้ง

สับปะรดปัตตาเวีย เป็นสับปะรดพันธุ์หนึ่งที่นิยมปลูกกันมากในแถบภาคตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะในแถบอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งได้ชื่อว่า มีสภาพความเป็นกรด-ด่างสูง การปลูกพืชทั่วไปไม่สามารถทำได้ แต่สามารถปลูกสับปะรดพันธุ์นี้ได้และมีรสชาติพิเศษเฉพาะ ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกกันในลักษณะต่างคนต่างปลูก เน้นส่งโรงงาน ทำให้เกิดปัญหาการตลาดเรื่อยมา

คุณจันทร์ เรืองเรรา รองประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า “การที่เกษตรกรต่างคนต่างปลูก ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้เกิดปัญหาล้นตลาด ราคาตก เกิดปัญหายืดเยื้อยาวนาน จึงมีการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ขึ้น โดยเอาคน พื้นที่ สินค้าเป็นตัวกำหนด เข้าสู่กระบวนการมาตรฐาน GAP ได้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พอถึงรัฐบาลนี้ก็เลยเข้ากรอบนโยบายส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ที่ลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มผลผลิต เอาการตลาดมานำการผลิต”

“ปัจจุบัน มีเกษตรกรในตำบลหนองพันจันทร์ เข้ารวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่จำนวน 82 ราย พื้นที่ปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย 1,014 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 หมู่บ้าน ซึ่งพวกเราต่างก็น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในชุมชน รวมถึงน้อมนำแนวพระราชดำริในเรื่องการรวมกลุ่มสหกรณ์ ปฏิรูปที่ดินบ้านโป่งกระทิง ชาวบ้านก็รวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์ เป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ สร้างคน สร้างรายได้ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน วันนี้ ความแข็งแกร่งของกลุ่มเราก็มากขึ้นอีกขั้น

เพราะมีผู้รับซื้อรายใหญ่อย่างห้างค้าปลีก ซึ่งเทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีกเจ้าแรกที่เข้ามารับซื้อสับปะรดจากเรา”
ทางด้าน คุณสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า หลังจากโครงการเทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ ลงพื้นที่ภาคสนามส่งเสริมเกษตรกร เอสเอ็มอี ให้ก้าวสู่การเป็นคู่ค้ากับเทสโก้ โลตัส ด้วยมาตรฐานการปลูก ผลิต และค้าขายในระดับสากล เทสโก้ โลตัส ได้ต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวสู่โครงการความร่วมมือในครั้งนี้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ ตำบลหนองพันจันทร์ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี บนหลักการสร้างพันธมิตรและผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน

“โครงการรับซื้อสับปะรดแปลงใหญ่ จังหวัดราชบุรี เป็น 1 ใน 22 โครงการเทสโก้ โลตัส ประชารัฐร่วมใจ ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้เกษตรกรได้เข้าใจในการบริหารจัดการ และทำให้ห่วงโซ่การผลิตเกิดความสมบูรณ์ โดยเทสโก้ โลตัส ทำหน้าที่นำสินค้าจากเกษตรกรกระจายสู่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง

ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในเบื้องต้น เทสโก้ โลตัส ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อรับซื้อสับปะรดปัตตาเวียจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ ตลอดทั้งปี 2560 จำนวน 110,000 กิโลกรัม โดยจะนำมาซึ่งความมั่นคงในรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่วนลูกค้าเองก็จะได้ทานผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีประโยชน์ ปลอดจากยาฆ่าแมลง และมีราคาถูกอีกด้วย”

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ปลูกสับปะรดแปลงใหญ่ อำเภอบ้านคา ได้กลายเป็นศูนย์เรียนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าภาคเกษตร ซึ่งพัฒนามาจากศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้าน คุณสลิลลา กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่

ทำให้เห็นถึงการบูรณาการในรูปแบบประชารัฐที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งและส่งผลดีกับทุกฝ่าย เกษตรกรเองก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเพาะปลูก บริหารจัดการ บริหารต้นทุน พัฒนาขีดความสามารถด้านคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรมากขึ้น เทสโก้ โลตัส ก็มีสินค้าสดที่มีคุณภาพและความปลอดภัยขายให้กับลูกค้า

ที่บ้านแวนศรีชุม หมู่ที่ 14 ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา พบว่าชาวบ้านแทบจะทุกหลังคาเรือนได้หันมาปลูกต้นผักหวานป่า โดยไม่ต้องขึ้นไปเผาทำลายป่าเพื่อให้ผักหวานป่าแตกยอดอ่อน นอกจากนี้ ยังเป็นการลบภาพเดิมๆ ของการหาผักหวานป่าที่ใช้วิธีการเผา ซ้ำยังเป็นการอนุรักษ์ป่าให้คงอยู่กับชาวบ้านในละแวกนี้เป็นอย่างดีและยังสร้างรายได้อย่างงามจนเป็นวิถีเศรษฐกิจพอเพียงอีกหมู่บ้านในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

คุณนันทวัฒน์ คำคง อายุ 53 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 14 บ้านแวนศรีชุม ซึ่งเป็นผู้ขายกล้าผักหวานป่าแหล่งใหญ่ที่สุดในหมู่บ้าน กล่าวว่า สมัยก่อนประมาณ 20 ปี ตนเองมีอาชีพเป็นชาวสวนลำไย แต่ด้วยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ตนเองได้ประสบปัญหาราคาลำไยตกต่ำ จึงได้หันมาเริ่มเพาะปลูกต้นผักหวานป่า ซึ่งเป็นผักขึ้นชื่อของทางเหนือโดยชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมบริโภคกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เมื่อก่อนหน้านั้นชาวบ้านแวนศรีชุมและตนเองจะพากันเข้าป่าเขาไปหายอดผักหวานป่ามาบริโภค และจำหน่าย

โดยส่วนหนึ่งจะใช้วิธีเผาป่าก่อนเพื่อให้ยอดของต้นผักหวานป่างอกออกมา แต่ด้วยปัจจุบันนี้ตนเองได้พบว่าต้นผักหวานป่าบนดอยนั้นเริ่มขึ้นไม่เยอะด้วยสภาพป่าที่แห้งแล้ง ตนเองจึงได้ทดลองนำต้นผักหวานป่ามาปลูกที่บ้าน โดยก่อนหน้านี้ได้ลองผิดลองถูกมาแล้วนับไม่ถ้วน จนสุดท้ายก็ได้รู้ว่าการปลูกต้นผักหวานป่าในบ้านนั้นจะต้องมีต้นไม้พี่เลี้ยงเสียก่อน และที่สำคัญต้นผักหวานป่าเป็นไม้ที่ชอบในที่ร่ม ไม่ชอบแดดจัดจนเกินไป ในส่วนการขยายพันธุ์ผักหวานป่านั้นสามารถทำได้อยู่ 3 วิธีด้วยกันคือ การเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และหน่อจากรากของต้นผักหวานเมื่อมันเลื้อยไปที่ใดหากรากมีแผล ต้นผักหวานป่าก็จะแทงต้นอ่อนขึ้นเอง ทั้งนี้ ในการที่ตนเองปลูกผักหวานป่านั้นสามารถทำเงินให้ตนเองได้ถึงปีละ 3 แสนบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ตนเองยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้านเกือบทุกหลังคาเรือนในการนำต้นผักหวานมาปลูกในหมู่บ้าน

ยังมีครู การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ได้นำนักเรียน นักศึกษา มาดูงานถึงที่เช่นกัน ทั้งนี้ ในการปลูกต้นผักหวานนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือในเรื่องของดิน โดยต้นผักหวานป่าจะชอบที่สุดคือดินจอมปลวก รองลงมาจะเป็นดินลูกรัง และสุดท้ายคือดินร่วนปนทราย แต่ทั้งนี้ ข้อห้ามในการปลูกก็คือห้ามนำต้นผักหวานป่าไปปลูกกลางทุ่งนาเพราะผักหวานป่าไม่ชอบน้ำขังจะทำให้ต้นกล้าผักหวานป่านั้นตายลงได้ ทั้งนี้ ต้นกล้าผักหวานป่าที่ตนเองจำหน่ายนั้นจะอยู่ที่ราคาต้นละ 120-180 บาท ตามขนาดของต้นกล้า ทุกวันนี้ผู้ที่สนใจก็ยังสั่งจองและมาเอากล้าผักหวานป่าที่ตนเองอยู่เป็นประจำ

ในบางพื้นที่เช่นที่จังหวัดลพบุรีแนะให้ปลูกด้วยกิ่งตอนซึ่งมีข้อดีกว่าการปลูกด้วยเมล็ดตรงที่การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตเร็วกว่า ความสำเร็จมีมากกว่า โดยผักหวานที่ปลูกจากกิ่งตอนใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก็ให้ผลผลิตแล้ว

ส่วนผักหวานที่ปลูกจากเมล็ดต้องใช้เวลานานถึง 3 ปีเลยทีเดียว แต่การปลูกด้วยกิ่งตอนจะลงทุนสูงกว่าเนื่องจากกิ่งตอนราคาสูงกว่า โดยราคาอยู่ที่ 100 บาท ความสูง 50-80 เซนติเมตร ส่วนราคาต้นกล้าที่เพาะด้วยเมล็ด ราคาถุงละ 25 บาท แนะนำว่า การปลูกผักหวานกิ่งตอน ควรปลูกทันทีหลังจากตัดตุ้มลงจากต้น จะทำให้การเจริญเติบโตเร็วกว่าการนำกิ่งตอนไปปักชำในถุงก่อนปลูก

การตอนกิ่งผักหวานจะใช้เวลาค่อนข้างนานกว่า ผักหวานจะออกรากและนำไปปลูกได้ โดยผักหวานที่ตอนในช่วงฝนจะออกรากเร็ว 2-3 เดือนก็ออกแล้ว แต่ถ้าเป็นช่วงแล้งหรือช่วงหนาวจะออกรากช้า คือ 4-5 เดือน ข้อควรระวังในการตอนให้สำเร็จก็คือ ระวังอย่าให้ตุ้มกิ่งตอนแห้ง ต้องหมั่นรดน้ำตุ้มอยู่เสมอ ถ้าตุ้มกิ่งตอนแห้งก็จะไม่ออกราก

สำหรับวิธีปลูกและการดูแลผักหวานนั้น การปลูกผักหวานจะรองก้นหลุมด้วยขี้วัว ผักหวานเป็นพืชที่รากไม่ลึก จึงไม่ต้องขุดหลุมปลูกให้ลึก ระยะปลูกที่แนะนำ 1.5×2 เมตร จะได้จำนวน 500 ต้น ต่อไร่ และระยะ 2×2 เมตร จะได้ 400 ต้น ต่อไร่ หลังปลูกต้องมีการให้น้ำเหมือนพืชทั่วไป เมื่อได้รับน้ำสม่ำเสมอผักหวานจะเจริญเติบโตเร็ว แตกยอดได้ดีในช่วงที่ต้องการให้ผักหวานออกยอด ควรให้ขี้วัวปีละ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยเคมี 16-20-0 ปีละ 2 ครั้ง ที่ให้ปุ๋ยโพแทสเซียมน้อยก็เพราะจากการตรวจสภาพดินในพื้นที่พบว่าดินในเขตนี้มีโพแทสเซียมอยู่เยอะอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น แต่ละพื้นที่ควรนำดินไปวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณธาตุอาหาร หากมีมากก็ไม่จำเป็นต้องใส่ให้สิ้นเปลืองเงินทุน

ผักหวานเป็นพืชป่า จึงชอบสภาพที่คล้ายกับในป่าธรรมชาติ นั่นคือ ต้องมีร่ม การปลูกกลางแจ้งผักหวานจะเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร โดยพืชร่มเงาหรือพืชพี่เลี้ยงในแปลงผักหวานที่นิยมก็จะเป็นสะเดา ซึ่งเป็นไม้ที่มีลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ลมพัดไม่โยก เติบโตเร็ว อายุยืน ใบและเมล็ดนำมาหมักหรือสกัดทำยาฆ่าแมลงได้ อีกชนิดที่นิยมคือมะขามเทศ เป็นไม้โตเร็วเช่นกัน แต่กิ่งก้านจะเปราะกว่าสะเดา ในพื้นที่ลมแรงกิ่งอาจหักลงมาทับทำความเสียหายให้กับต้นผักหวานได้ นอกจากนี้ มะขามเทศยังอายุไม่ยืน 6-7 ปีก็จะตายแล้ว อันนี้เป็นข้อมูลให้พิจารณาในการเลือกพืชพี่เลี้ยงให้กับผักหวาน

สำหรับการให้ผลผลิตของผักหวานนั้น ถ้าเป็นผักหวานกิ่งตอนจะให้ผลผลิตเร็ว โดยจะเก็บยอดได้ภายใน 2 ปีหลังปลูก แต่ถ้าเป็นผักหวานเพาะเมล็ดจะให้ผลผลิตเกือบ 3 ปีเลยทีเดียวยอดจึงจะแตกเยอะ การให้ผลผลิตของผักหวานขึ้นกับการดูแลและอายุของต้น โดยปกติแล้วผักหวานอายุ 3 ปี จะให้ผลผลิต 1 ขีด ต่อต้น ต่อครั้งที่เก็บยอด

เทคนิคการทำให้ผักหวานแตกยอดดีในช่วงฝนซึ่งผักหวานเป็นพืชที่แปลก ช่วงหน้าร้อน หน้าหนาวผักหวานจะแตกยอดดี โดยผักหวานจะแตกยอดเยอะในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน แต่พอได้รับน้ำมากๆ ในช่วงฝนผักหวานกลับไม่ค่อยแตกยอด ดังนั้น หากต้องการเก็บผักหวานขายช่วงแพงก็ต้องทำให้เก็บยอดได้ช่วงฝน ถ้าต้องการให้มียอดเก็บทั้งปีก็แบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ก็ได้ โดยการหักกิ่งหรือตัดกิ่งลงมาจากยอดประมาณ 30-35 เซนติเมตร โดยหักกิ่งประมาณ 30-40% ของต้น จากนั้นก็รูดใบออก รดน้ำใส่ปุ๋ยบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ประมาณ 3 สัปดาห์หลังรูดใบ ผักหวานก็เก็บยอดได้ในช่วงฝนที่มีราคาแพง

ด้าน คุณจักรกิจ แสงศรีจันทร์ อายุ 39 ปี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำแวน (ส.อบต.น้ำแวน) กล่าวเสริมเรื่องนี้ว่า ทุกวันนี้หมู่บ้านแวนศรีชุมที่ตนเองอาศัยอยู่นั้นพบว่าชาวบ้านในพื้นที่แทบจะทุกหลังคาเรือนได้หันมาปลูกต้นผักหวานป่าประจำบ้านของตนเองเลย โดยส่วนใหญ่จะมีอายุต้นตั้งแต่ 2-17 ปี และชาวบ้านสามารถเก็บมารับประทานได้เอง แต่หากยอดอ่อนยังเหลือก็สามารถนำไปเพิ่มรายได้โดยการขายให้แม่ค้าที่เข้ามารับซื้อถึงที่ จนทุกวันนี้ชาวบ้านแทบจะหายอดผักหวานป่าส่งแม่ค้าที่เข้ามารับซื้อเกือบไม่ทัน ซึ่งคำสั่งซื้อที่เข้ามานั้นมีความต้องการของผู้บริโภคยอดผักหวานป่าจำนวนมาก

สำหรับการปลูกต้นผักหวานป่าในหมู่บ้านนั้นตนเองได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับชาวบ้านในการงดการหาของป่าด้วยการเผาทำลาย และยังส่งเสริมให้หมู่บ้านที่ตนเองได้อาศัยอยู่นั้นเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอีกหมู่บ้านหนึ่งในพื้นที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งชาวบ้านทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจงดการเผาทำลายป่าเพื่อหาของป่ามาบริโภค และอยากให้ชาวบ้านอื่นๆ ได้รับรู้ว่าหมู่บ้านแห่งนี้คือหมู่บ้านแห่งดงผักหวานป่าอีกที่หนึ่งที่อยากให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสความมหัศจรรย์ในการปลูกผักหวานป่า โดยนิยามในการปลูกนั้นไม่ได้จำกัดแค่อยู่ในป่าเขาอีกต่อไป

สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องของการปลูกต้นผักหวานป่านั้นสามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (085) 706-2097 คุณนันทวัฒน์ คำคง เกษตรกรผู้ปลูกและขยายพันธุ์ผักหวานป่าแห่งบ้านแวนศรีชุม หมู่ที่ 14 ตำบลน้ำแวน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้ตลอดเวลา

คุณวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง ไฮโลออนไลน์ ให้ข้อมูลว่า ตรัง เป็นจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทยที่สำคัญ เพราะมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อ อาหารที่อร่อยจากร้านค้าเจ้าดังหลายร้าน รวมไปถึงการทำเกษตรกรรมหลายอย่าง ที่สำคัญหลักๆ จะเป็นสวนยางพารา ประมาณ 1 ล้านกว่าไร่ รองลงมาเป็นการทำสวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่เกษตรกรปลูกเพื่อจำหน่ายภายในจังหวัด ต่อมาเมื่อผลผลิตของยางพาราที่จำหน่ายได้มีราคาลดลง ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดจึงได้มีการเข้ามาดูแลเกษตรกรและส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้จากช่องทางอื่น ที่ไม่ใช่จากการผลิตยางพาราเพียงอย่างเดียว

ซึ่งการส่งเสริมในเรื่องของการปลูกพืชให้หลากหลายนั้น ได้มีการแนะนำให้เกษตรกรไม่ทำเกษตรเชิงเดียวเพียงอย่างเดียว แต่มีการปลูกพืชหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น การปลูกกล้วย สับปะรด และพืชผักสวนครัวอื่นๆ ภายในสวนยางพาราเพื่อให้มีรายได้ช่องทางอื่นในการสร้างรายได้ และเกษตรกรบางรายได้มีการเรียนรู้ในเรื่องของการปลูกสะละที่มีคุณภาพดีจนสามารถสร้างรายได้เสริมควบคู่ไปกับการทำสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี

“เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน เกษตรกรเริ่มมีการปรับตัวมากขึ้น มีการทำเกษตรที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง แทนที่จะมีรายได้จากการทำสวนยางพาราเพียงอย่างเดียว เมื่อเกษตรกรต้องการความช่วยเหลือ และอยากที่จะปลูกพืชชนิดอื่นๆ ให้มีความชำนาญมากขึ้น เกษตรตำบลแต่ละพื้นที่ก็เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น ว่าการทำเกษตรที่มีการปรับเปลี่ยนนี้มีพี่เลี้ยงคอยดูแล และจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ เหมือนอย่างเกษตรกรต้นแบบท่านหนึ่งที่มีการปลูกสะละเสริมรายได้ มีผลผลิตที่ดี ก็ทำให้แนวคิดของเกษตรกรท่านนี้ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ แล้วจะขยายผลต่อไปให้กับพี่น้องเกษตรกรท่านอื่นๆ ในอนาคต” คุณวสันต์ กล่าว

คุณปรีชา มีสุข อยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ได้ทดลองนำสะละพันธุ์สุมาลีมาปลูกบริเวณบ้านของตัวเองจนประสบผลสำเร็จ และสามารถเรียนรู้การบำรุงต้น การผสมเกสร ทำให้มีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เกษตรกรรายนี้มีรายได้จากการปลูกสะละเป็นอาชีพเสริมรายได้ควบคู่กับการทำสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี