มีงานวิจัยพบว่าน้ำชะพลูลดน้ำตาลในเลือดของกระต่าย

ที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายปกติได้ วิธีใช้ นำชะพลูทั้งต้นตลอดถึงราก 1 กำมือ พับเถาเป็น 3 ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ ใส่หม้อต้มกับน้ำพอท่วม ต้มจากน้ำ 3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

ผักเชียงดา มีผลช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล ฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน และลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้ให้ใช้ใบแห้งชงดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง หรือรับประทานเป็นผักในมื้ออาหาร

ตำลึง มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจาก Harvard Medical School พบว่า ตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลที่ดีที่สุดจากการที่มีการออกแบบการทดลองได้อย่างเหมาะสม ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ตำลึงให้ผลลดน้ำตาลทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก ผล โดยใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

คุณภัทร พูลทวี อยู่บ้านเลขที่ 6/2 หมู่ที่ 4 ตำบลศรีษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มทำงานได้ก็เลือกอาชีพทางการเกษตรเป้นงานหลัก โดยในช่วงแรกจะเลือกปลูกฝรั่งแป้นสีทองเพื่อสร้างรายได้ แต่ต่อมาจึงได้เลิกปลูกไปเพราะมองว่าฝรั่งค่อนข้างที่จะดูแลยากในการจัดการ และไม่สามารถปลูกพืชอื่นทดแทนได้ จึงได้เลือกพืชที่สามารถปลูกแบบหมุนเวียนได้ จึงได้เลือกเป็นพืชผักในการทำสวนในเวลาต่อมา

“เปลี่ยนจากไม้ผลมาเลือกปลูกพืชผัก โดยช่วงนี้ก็จะปลูกมะเขือยาว เพราะราคาค่อนข้างดี โดยเลือกสายพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพมาปลูก โดยใช้ตอมะเขือพวงและเอายอดของมะเขือยาวมาเสียบลงไป ก็จะช่วยทำให้ต้นมะเขือยาวที่ปลูกมีความแข็งแรง ทนโรค และเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดี เราสามารถนำมาปลูกได้อย่างต่ำประมาณ 8 เดือน – 1 ปี” คุณภัทร บอก

เนื่องจากพื้นที่เป็นร่องสวนเดิมที่ปลูกฝรั่งอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่อะไรมาก เพราะมองว่าหากมีการปรับเป็นสภาพแปลงสวนผักทั่วไป เมื่อเวลาที่ฝนตกลงมาจะไม่ได้สามารถระบายน้ำได้ดีเหมือนการปลูกแบบมีร่อง โดยสันร่องมีความกว้างอยู่ที่ 2.5 เมตร ก่อนที่จะนำต้นมะเขือยาวลงมาปลูก จะปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยขี้ไก่ลงไปช่วยด้วย

จากนั้นนำต้นมะเขือยาวที่เสียบยอดจนสนิทดีแล้ว มาปลูกลงในร่องให้ระยะห่างอยู่ที่ 2 เมตร เมื่อปลูกได้ 15 วัน จะใส่ปุ๋ยสูตร 24-7-7 ลงไป เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของต้น เมื่อต้นมะเขือยาวได้อายุ 2 เดือนก็จะออกดอกติดผลให้ได้เก็บผลไปขายได้

“ที่นี่ถือว่าดินดี หลังผมปลูกไปได้ 2 เดือนครึ่ง ก็จะสามารถตัดมะเขือยาวมีดแรกขายได้แล้ว พอเราตัดไปเรื่อยๆ มันก้จะแตกกิ่งใหม่ เราก็จะได้ผลมาตัดขายได้เรื่อยๆ ซึ่งที่นี่ก็จะตัดทุก 3 วันครั้ง ช่วงที่ตัดก็จะเติมปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ดลงไปด้วย เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และช่วงที่ต้องระวังให้มากก็คือเพลี้ยไฟ จะระบาดช่วงหน้าร้อน เราก็จะต้องมีการป้องกันด้วย ก็จะทำให้ผลผลิตเราไม่เกิดความเสียหาย” คุณภัทร บอก

โดยตลาดส่วนใหญ่จะส่งขายให้กับผู้ที่รับซื้ออยู่ในจังหวัดนครปฐม โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางก็จะช่วยในเรื่องของการถูกกดราคาได้ค่อนข้างมาก สามารถขายได้กิโลกรัมละ 12 – 32 บาท โดยราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด

ณ เวลานี้ การทำเกษตรจึงเป็นงานอิสระที่เขาบอกว่าทำแล้วมีความสุข เพราะสามรถเป็นผู้กำหนดเรื่องเวลาการทำงานได้ ถ้าอยากมีรายได้มากก็สามารถทำให้มีผลผลิตที่มากขึ้น ถึงเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่ากับแรงที่ลงทุนไป ดังนั้นการทำเกษตรหากมีใจที่รักและชอบ ยังไงก็ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

แม่ฮ่องสอน เป็นอีกจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนที่ประกอบด้วยประชากรหลายชาติพันธุ์ มีพื้นที่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน มีอาชีพเกษตรกรรม ทั้งปลูกพืช ทำนา เลี้ยงสัตว์ พร้อมกับส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิด แต่เนื่องจากการคมนาคมของพื้นที่บางแห่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของชาวบ้าน จนทำให้กระทบต่อรายได้ครัวเรือน

อย่างที่ ตำบลหมอกจำแป่ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นภูเขา สลับกับบางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขา และที่ราบแอ่งกระทะ ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ปลูกงา ปลูกกระเทียม ฯลฯ แต่ยังขาดการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมอย่างดีพอ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านและคนในท้องถิ่นจึงร่วมแรงใจกันหาแนวทางเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ปลูกพืชไร่ รวมถึงยังแสวงหาพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิดมาปลูกเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง พระอติเทพ จิตตฺมโน จากสำนักสงฆ์บ้านทบศอก ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือชาวเขาที่อาศัยในหมู่บ้านห้วยโป่งอ่อน กับหมู่บ้านทบศอก ที่ประสบปัญหารายได้จากอาชีพเกษตรกรรมไม่สอดคล้องกับรายจ่าย ด้วยการนำวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมผสมผสานกับการปลูกพืชเศรษฐกิจพร้อมดึงการตลาดสมัยใหม่นำร่อง

พระอติเทพ เป็นชาวกรุงเทพฯ ไปบวชที่วัดจังหวัดระยอง จากนั้นออกเดินทางไปจำพรรษายังวัดสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติธรรม กระทั่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้เดินทางมาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อมาเตรียมสถานที่ไว้สำหรับเพื่อให้พระรูปอื่นมาปฏิบัติธรรม ระหว่างนั้นพบว่าชาวบ้านขัดสนรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ถึงแม้จะมีอาชีพเกษตรกรรมทำอยู่ แต่ก็เพียงประทังชีวิตโดยแทบจะไม่เหลือพอสำหรับใช้สอยอย่างอื่น

“เจตนาคือ ต้องการมาสร้างสำนักสงฆ์ก่อน แต่พอพบว่าชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบเกิดความเดือดร้อนเรื่องการทำเกษตรกรรม อีกทั้งก็เป็นปัญหาทางการสื่อสารระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้น จึงอาสาเป็นคนกลางเพื่อประสานงานให้กับคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจากสำนักงานเกษตรที่สูง ป่าไม้ ชลประทาน ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันต้องการให้สำนักสงฆ์เป็นศูนย์กลางแก่ชาวบ้านและเด็ก”

พระอติเทพ เล่าว่า ชาวเขาที่นี่เป็นชาวกะเหรี่ยงแดง มักจะปิดตัวเองจากสังคมภายนอก จึงเกิดผลกระทบของการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีด้านต่างๆ จนเกิดความล้าหลัง แต่ถึงกระนั้นพวกเขายังอนุรักษ์วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมด้วยการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งพันธุ์พืชและแรงงาน อีกทั้งความเป็นอยู่แต่เดิมของชาวเขาเหล่านี้ปลูกพืชผักเพื่อบริโภค อย่าง ข้าวดอย งา และกระเทียม ซึ่งผลผลิตมีคุณภาพในระดับหนึ่ง

“เมื่อคราวที่เพิ่งเดินทางมาจำวัดได้ลองฉันท์ข้าวดอยเป็นครั้งแรก ต้องบอกว่า อร่อยมาก มีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับข้าวญี่ปุ่น มีลักษณะเมล็ดสั้น เหนียวนุ่ม หอม มียางในเมล็ด มีสีน้ำตาลนวล จากนั้นจึงส่งไปให้ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เชียงใหม่ ทดสอบลองชิม ปรากฏว่ามีรสชาติเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าช่วยส่งเสริมการปลูกให้มีมาตรฐานมากขึ้น เห็นว่าแนวโน้มสามารถส่งขายที่ญี่ปุ่นได้ไม่ยาก”

พระอติเทพ ชี้ว่าการปลูกข้าวดอยของชาวเขาบนพื้นที่แห่งนี้ต้องปลูกบนเนินเขาที่สูงชันมาก อาศัยเพียงน้ำฝนเท่านั้น ปุ๋ยแทบไม่ต้องใส่ อาศัยดินดี ลักษณะการปลูกข้าวดอยจะต้องปลูกแบบหมุนเวียนแปลงทุก 4 ปี ในจำนวน 4 แปลง เพื่อต้องการให้ดินได้พัก แล้วสะสมอาหาร ตลอดจนเลี่ยงการเจอโรค

นาข้าว ในพื้นที่ 1 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 100 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าไม่น้อย ทั้งนี้เพราะการปลูกข้าวบนเนินภูเขาที่มีความลาดชัน ประมาณ 45 องศา ไม่สามารถนำเครื่องจักรเข้าไปใช้งานได้ จะต้องเจาะหรือขุดเป็นหลุมขนาดเล็กแล้วนำเมล็ดพันธุ์ข้าวหยอดลงไปในหลุม ฉะนั้นต้องใช้ความพยายาม อดทน ขยัน

อีกทั้งงานทุกอย่างล้วนต้องใช้มือกับอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น แม้การกำจัดหญ้ายังต้องทำถึง 7 ครั้ง กว่าจะปลูกข้าวเสร็จแต่ละรอบ เนื่องจากจะต้องใช้จอบขนาดเล็กค่อยๆ แซะหญ้า สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโดยทั่วไปแล้วชาวบ้านรายหนึ่งจะมีพื้นที่ประมาณซีกหนึ่งของภูเขา โดยน้ำที่ใช้ปลูกข้าวมาจากน้ำฝนเพียงปีละครั้ง ช่วงเวลาลงมือปลูกประมาณเดือนมิถุนายน แล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤศจิกายน หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จึงมีการตระเตรียมดินเพื่อปลูกกระเทียมต่อไป

พระอติเทพ ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการขายข้าวดอย ด้วยการเพิ่งเริ่มเปิดตลาดขายเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นการให้จองผลผลิตล่วงหน้าผ่านช่องทางขายออนไลน์ตั้งแต่เริ่มปลูก แล้วมีการติดป้ายชื่อผู้จองไว้ที่แปลง ทั้งนี้ ผู้จองสามารถสอบถามความเคลื่อนไหวของผู้ปลูกได้ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงช่วงเก็บผลผลิต หรือหากสนใจต้องการมาเยี่ยมชมแปลงปลูกได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ได้กำหนดราคาขายส่งข้าวดอย กิโลกรัมละ 60 บาท

สำหรับ กระเทียม เป็นพืชอาชีพหลักอยู่แล้ว ชาวเขาปลูกกระเทียมโดยไม่ต้องมีค่าเช่าที่ดิน มีน้ำฟรีจากแหล่งต้นน้ำทางธรรมชาติบนภูเขา จึงช่วยให้ลดต้นทุนได้มาก อีกทั้งคุณภาพกระเทียมดีมาก เพราะคุณภาพดินดี อากาศดี ดังนั้น จึงพยายามผลักดันการตลาดให้ชาวบ้านขายกระเทียมให้ได้มาก

วิธีการส่งเสริมการปลูกกระเทียมยังคงใช้แนวทางรูปแบบตามวิถีดั้งเดิมด้วยการยืมพันธุ์จากชาวบ้านระหว่างกัน ซึ่งรายใดยืมจำนวนเท่าไร เมื่อปลูกเสร็จแล้วก็นำมาคืนเท่ากับจำนวนที่ยืมไป ซึ่งแนวทางนี้ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องใช้เงินลงทุน แต่ใช้วิธียืมพันธุ์แทน แล้วจะยืมกันต่อๆ ไป ขณะเดียวกันชาวบ้านก็จะทยอยเก็บรักษาพันธุ์ไว้ปลูกในคราวต่อไป หรือพันธุ์กระเทียมที่เก็บไว้อาจแบ่งให้ชาวบ้านรายอื่นยืมไปใช้ก่อน ดังนั้น แนวทางนี้จึงถือเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนโดยที่ไม่มีการเอาเปรียบกัน แล้วคิดว่าในปี 2561 คาดว่าจะมีปริมาณกระเทียมถึง 300 ตัน อย่างแน่นอน

กระเทียมที่ชาวบ้านปลูกจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยคอก แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใส่มาก เพราะเป็นดินดำที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว อีกทั้งการที่มีอากาศเย็นจะช่วยทำให้กระเทียมมีเนื้อแน่น ทั้งนี้พันธุ์กระเทียมจะต้องไม่ปลูกซ้ำที่เดิมเนื่องจากการปลูกพันธุ์เดิมซ้ำๆ จะทำให้ผลผลิตด้อยคุณภาพลงเรื่อยๆ โดยชาวบ้านจะใช้วิธีนำพันธุ์ที่ตัวเองปลูกไปแลกเปลี่ยนพันธุ์ของเพื่อนบ้าน

วิธีปลูกกระเทียม เริ่มจากชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านต่างต้องมาช่วยกันปอกกระเทียมที่จะใช้ปลูก ในแบบ “เอาแรงกัน” โดยจะต้องปอกด้วยมือเท่านั้น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยได้ เพราะถ้ามีกระเทียมที่ปอกแล้วจำนวนมากก็จะส่งผลเสีย เนื่องจากปลูกไม่ทัน อย่างไรก็ตาม วิถีปลูกกระเทียมของชาวเขาก็จะมีการช่วยเหลือกันทุกบ้าน จึงเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดกับชุมชน

กระเทียม จะรดน้ำทุก 7 วัน โดยแต่ละคราวต้องรดให้ชุ่มแล้วใช้ฟางข้าวที่เกี่ยวมาคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้น ทั้งนี้แนวทางปลูกกระเทียมของชาวเขารุ่นใหม่ จะมีการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยรองพื้นก่อน ต่างกับสมัยก่อนที่ไม่เคยนำมาใช้ จากนั้นจะใช้การฉีดพ่นด้วยสารอินทรีย์เพื่อป้องกันเชื้อราและโรคเน่า

สำหรับผลผลิตกระเทียมได้ขายไปถึง 2 รอบแล้ว มีกระเทียมขายอยู่สองแบบ คือ แบบสด กับตากแห้ง ในปี 2560 มีปริมาณผลผลิตกระเทียมสด 100 ตัน ราคาขายกิโลกรัมละ 25 บาท ดังนั้น ด้วยราคารับซื้อสูงที่จูงใจจึงทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกเพิ่มในปี 2561

ส่วนกระเทียมตากแห้ง ขายกิโลกรัมละ 120 บาท แต่เนื่องจากชาวบ้านมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ตากกระเทียม หากตากใต้ถุนบ้านก็จะได้รับความชื้นเป็นเชื้อรา ดังนั้น ชาวบ้านมักนิยมขายเป็นกระเทียมสดทันทีที่ถอนจากไร่ เพราะถ้ารอตากแห้งขายราคาจะไม่สูง อีกทั้งมีกระเทียมจากพม่าส่งเข้ามาขายด้วย ซึ่งความเป็นจริงแล้วราคากระเทียมแห้งจะดีกว่ากระเทียมสดหลายเท่า เพียงแต่ต้องรอเวลา ดังนั้น ในตอนนี้จึงหารือกันว่าจะหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับสร้างเป็นโรงตากกระเทียมแห้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้แบ่งกระเทียมมาตาก

ความได้เปรียบจากอุณหภูมิที่มีความหนาวเย็นเกือบทั้งปีของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงเอื้อต่อการปลูกไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด ด้วยเหตุนี้พระอติเทพจึงทดลองปลูกข้าวโพด พันธุ์ Pure White Hokkaido เป็นพันธุ์ข้าวโพดของญี่ปุ่นจนประสบผลสำเร็จ แต่ยังไม่สามารถส่งเสริมได้ เพราะต้นทุนค่าพันธุ์สูง ปลูกได้เพียงปีละครั้ง จึงยังไม่สมควรจะเสี่ยง ทั้งนี้หากจะส่งเสริมจริงต้องวางแผนปลูกให้ได้จำนวนมากตามที่ตลาดต้องการ นอกจากนั้น ยังปลูกลาเวนเดอร์ และไม้ดอกเมืองหนาวอีกหลายชนิด ขณะเดียวกันยังวางแผนต่อยอดด้วยการปลูกพืชใบ ผักสวนครัว และสมุนไพร

พระอติเทพ บอกว่า การทำเกษตรกรรมของชาวเขาบนที่สูงเปลี่ยนไปแล้ว การค้าขายผลผลิตเกษตรในยุคใหม่ทำให้ชาวเขาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่เคยปลูกไว้เฉพาะรับประทานในครอบครัว มาเป็นการวางแผนปลูกเพื่อจำหน่าย เนื่องจากราคาขายผลผลิตพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดพร้อมกับความเชื่อมั่นใจว่ามีตลาดรองรับแน่นอนเป็นสิ่งจูงใจให้พวกเขาตื่นตัว ฉะนั้น สิ่งนี้จึงทำให้ชาวบ้านต้องหมั่นฝึกคิดทั้งวิธีปลูกที่สร้างคุณภาพเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ

“สิ่งที่อาตมาทำอยู่ตอนนี้เพื่อต้องการส่งเสริม แล้วมุ่งเน้นย้ำให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการใช้บริโภคก่อน เมื่อมีเหลือจึงนำไปขาย อีกทั้งยังแนะนำให้ปลูกพืชหลายชนิด ไม่ควรปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เสี่ยงต่อความเสียหาย

ขณะเดียวกันพยายามชี้ให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนพันธุ์ การช่วยเหลือกันในชุมชนหรือการเอาแรง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยหลอมความเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนไว้ให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เพราะมาจากความรัก ความสามัคคี เพราะไม่ต้องการให้สังคมยุคใหม่กลืนวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวเขาไป” พระอติเทพ กล่าว

จากอดีตหนุ่มน้อยเมืองดอกคำใต้ เดินทางตามฝันฉีกแนวจากที่พ่อแม่หวังให้เป็นครูไปเรียนเกษตรจากบ้านกร่าง พิษณุโลก ไสใหญ่ นครศรีธรรมราช และบางพระ ชลบุรี ผ่านงานส่งเสริมการเกษตรอย่างโชกโชน สุดท้ายกับตำแหน่งเกษตรจังหวัดตาก ตอนนี้เริ่มสร้างสวนเกษตรที่พร้อมทำรายได้และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรเมืองพะเยาและผู้สนใจทั่วประเทศ

คุณประสงค์ ไชยลังกา เกิดที่อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดเชียงราย (ขณะนั้น) ปัจจุบันจังหวัดพะเยา เมื่อสมัยเป็นเด็กดอกคำใต้ถือว่าทุรกันดาร หมู่บ้านไม่มีถนนตัดผ่าน ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อเข้าสู่วัยเรียนได้เข้าเรียนที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) พ่อแม่และญาติๆ อยากให้ไปเรียนครู เพราะสมัยนั้นครูถือว่าเป็นที่ชาวบ้านเคารพนับถือ แต่คุณประสงค์ สนใจที่จะเรียนเกษตร จึงหนีไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมพิษณุโลก หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเกษตรบ้านกร่าง ในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) เมื่อเรียนที่นี้ก็ประทับใจ อาจารย์ตรีพล เจาะจิตต์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่เก่ง เมื่ออาจารย์ย้ายไปสอนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครศรีธรรมราช หรือเกษตรไสใหญ่ จึงตามไปสอบเข้าเรียนที่นี่ก็สอบได้จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เมื่อมาเรียนที่นี่ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ได้พบรักกับ คุณจุฑารัตน์ ภรรยาจนครองคู่กันมาจนปัจจุบัน

เมื่อปี 2521 บรรจุเข้ารับราชการที่กรมส่งเสริมการเกษตร ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี จริงๆ แล้วสอบติดหลายหน่วยราชการแต่เลือกที่จะบรรจุที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รับการสนับสนุนจาก ท่านเยื้อง เกตุแก้ว เกษตรอำเภอชัยบาดาล ในขณะนั้น เป็นอย่างดี ในปี พ.ศ. 2526 ย้ายไปเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ ซึ่งบางมดแหล่งปลูกส้มที่มีชื่อเสียงอยู่ในเขตนี้ ในราว พ.ศ. 2527-2528 ได้ไปสอบเรียนต่อที่เกษตรบางพระในระดับปริญญาตรี เพราะหากจะเปลี่ยนสายงานเป็นนักวิชาการจะต้องจบปริญญาตรี จริงๆ หลักสูตรตอนนั้นคือ 2 ปี แต่เรียนแค่ปีครึ่งก็จบแล้ว

สมัยก่อนการลาศึกษาต่อต้องลาเต็มเวลาคือ 2 ปี แต่จะไม่ได้รับการพิจารณาการขึ้นเงินเดือน ซึ่งต่างกับปัจจุบันไม่จำเป็นต้องลาเรียนเต็มเวลา เรียนวันเสาร์-อาทิตย์

เมื่อ พ.ศ. 2529 จึงได้ปรับตำแหน่งเป็นนักวิชาการเกษตร พร้อมกับเป็นวิทยากรให้กับกรมส่งเสริมการเกษตรในเรื่องไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะกล้วยไม้ ในราว พ.ศ. 2531-2532 อบรมให้กับเกษตรกรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตอนแรกเกษตรกรเหล่านี้ต่างคนต่างทำ ภายหลังจึงจัดตั้งเป็นสมาคมผู้ผลิตกล้วยไม้ การจะอบรมเกษตรกรของกรุงเทพฯ สมัยนั้นวิทยากรต้องรู้จริง เกษตรกรจึงจะเข้ารับการอบรม เพราะถือว่าเกษตรกรเหล่านี้พัฒนาไปไกลมาก ฉะนั้น วิทยากรต้องรู้เท่าทันหรือมากกว่า เกษตรกรจึงจะยอมรับ

เมื่อราวๆ พ.ศ. 2545-2546 ได้มีโอกาสสนองงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์มีพระราชดำริอยากได้นักวิชาการเกษตรไปสอนนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นบุตรหลานของข้าราชบริพารในพระองค์ ให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกผัก จึงมีโอกาสเข้าไปสอนเด็กในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ

เมื่อย้ายเข้ากรมส่งเสริมการเกษตรได้อยู่ฝ่ายวิชาการรับผิดชอบงานไม้ดอกไม้ประดับและพืชผัก ได้สนับสนุนให้มีการตั้งกลุ่มผู้ผลิตกล้วยไม้ จำนวน 16 กลุ่ม ปัจจุบันเป็นสมาคมกล้วยไม้ ได้มีโอกาสดูงานการผลิตไม้ดอกไม้ประดับและกล้วยไม้ในต่างประเทศ ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน

ในปี พ.ศ. 2553 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพน่าน หรือพืชสวนน่าน ก็ทำให้ไผ่เมืองน่านหรือไผ่ช้างเป็นที่รู้จัก เป็นไผ่ซึ่งเป็นสายพันธุ์มาจากพม่า เมื่อไม่นานมานี้คุณประสงค์ไปเจอที่ทวาย พบว่ามีขนาดใหญ่กว่าที่น่านอีก ไผ่พันธุ์นี้ต้องการอากาศหนาวเย็นความชื้นสูง โดยน่านได้ส่งเสริมการปลูกไผ่ เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด ตามโครงการปิดทองหลังพระด้วย แต่เกษตรกรไม่ค่อยนิยม เนื่องจาก 1. กลัวโดนยึดที่ 2. เรื่องตลาดคือจะขายที่ไหน ช่วงนั้นได้ส่งศูนย์เข้าประกวดศูนย์ปฏิบัติการดีเด่น

ได้รับรางวัลชนะในระดับภาคเหนือ รองชนะเลิศในระดับประเทศ แต่โครงสร้างอัตรากำลังของศูนย์ไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ก้าวหน้า จึงไม่ค่อยมีกำลังใจในการทำงานมากนัก การขึ้นตำแหน่งเหล่านี้คุณประสงค์บอกว่า เพราะผู้บังคับบัญชาให้ทำงานไม่เคยปฏิเสธ แต่ไม่เคยวิ่งเต้นใช้เงินทอง ไม่ได้ขึ้นมาจากสายการเมือง เมื่อเป็นผู้อำนวยการพืชสวนน่าน ก็ได้มีโอกาสสนองงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดูแลศูนย์ภูฟ้า แปลงชา 10 ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ เห็ด ผัก ได้ถวายรายงานทุกปี ในส่วนงบประมาณได้รับจากกรมส่งเสริมการเกษตรส่วนหนึ่งและใช้เงินส่วนตัวด้วย จากผู้อำนวยศูนย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการกรมส่งเสริมการเกษตร ในสมัย ดร.โอฬาร พิทักษ์ เป็นอธิบดีและตำแหน่งสุดท้ายคือเกษตรจังหวัดตาก เมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งทุกตำแหน่งได้มาด้วยความสามารถและผลจากการทำงานหนักทั้งสิ้น

เมื่อเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2559 จึงกลับมาที่บ้านเกิด ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ตั้งใจจะกลับมาดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในพื้นที่จำนวน 36 ไร่ ให้ชาวบ้านได้เห็นว่าถึงแม้ดินจะไม่ดีเราสามารถปรับปรุงได้โดยการใช้มูลวัว ในการปรับดินและปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว เป็นต้น พืชทุกชนิดปลูกได้ถ้ามีน้ำจึงได้ขุดสระจำนวน 3 สระ ลึก 6 เมตร พอสำหรับรดน้ำต้นไม้ ปล่อยปลาหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการพลังงานจากทั้งไฟฟ้าหรือน้ำมันและจัดการบริหารน้ำเพื่อให้เพียงพอกับการปลูกพืช จากพื้นที่ที่เคยให้คนเช่าทำนาสมัยยังรับราชการซึ่งได้ข้าวน้อยมาก ประมาณ 30-40 ถัง ต่อไร่ เนื่องจากดินไม่ดี ขณะนี้ได้ปลูกต้นตอมะม่วงไป 300 ต้น มะพร้าวน้ำหอม 400 ต้น ตาล 100 ต้น ทุเรียน 30 กว่าต้น มะนาวในวงบ่อ ทั้งพันธุ์ตาฮิติ แป้นพิจิตร พันธุ์ที่คิดว่าไปได้ดีคือ ตาฮิติ แต่แป้นรสชาติจะเปรี้ยวโดด นอกจากนี้ ยังเพาะเลี้ยงกล้วยไม้จากเนื้อเยื่อ ไม้ดอกไม้ประดับ เฟิร์น โดยเฉพาะเฟิร์นจะนำสปอร์มาเคาะลงถาดเพาะก็ขยายพันธุ์ได้เลย ให้น้ำและดูแลให้ปุ๋ย หากได้ผลดีต่อไปจะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย

มะนาวในวงบ่อของที่นี่จะแตกใบอ่อนทั้งหน้าร้อนและหน้าหนาว เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอด ที่อื่นหน้าแล้งจะสลัดใบเพื่อให้ต้นอยู่รอด มีการคลุมดินด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาความชื้นในดิน ผู้เขียนสังเกตว่ามะนาวและมะพร้าวน้ำหอมที่นี่มีสีเขียวงามมาก มะม่วงที่ปลูกด้วยต้นตอขณะนี้ได้เปลี่ยนยอดเป็นมะม่วงพันธุ์ที่มีลูกขนาดใหญ่ เช่น ทองดำ เขียวใหญ่ R2E2 ขาวนิยม ซึ่งมีต้นกำเนิดที่แถวหนองแขม กรุงเทพฯ ของคุณนิยม ที่คุณประสงค์ ไปพบตอนเป็นนักวิชาการอยู่กรุงเทพฯ เป็นพันธุ์ที่กลายพันธุ์มามีลูกขนาดใหญ่ลูกละเกือบ 1 กิโลกรัม รสชาติดีมาก โดยมะม่วงที่สวนนี้จะใช้ระบบปลูกถี่ใช้วิธีการตัดแต่งเพื่อรักษาระดับไม่ให้สูงเกินไป ยากต่อการเก็บเกี่ยว ให้ปุ๋ยทุกเดือนเจริญเติบโตดี เป้าหมายจะขายตลาดบนหรือผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ที่สวนนี้รับซื้อมูลวัวในราคากระสอบละ 20 บาท รับซื้อไม่อั้นเพื่อนำมาปรับปรุงดินในสวน

ในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดเป็นสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยววิถีเกษตรพร้อมที่จะให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายในสวน ต่อไปจะให้ลูกทำเป็นรีสอร์ต มีหลักสูตรการอบรมระยะสั้นในเรื่องสมุนไพร การออกกำลังกาย โยคะ การทำสมาธิโดยนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นวิทยากร อาหารสุขภาพ โดยจะใช้ความรู้และประสบการณ์เรื่องของพืชผัก เห็ดและสมุนไพรที่สั่งสมมาทำ และถ่ายทอด ใช้ระยะเวลาสั้นๆ หนึ่งวันสองวัน เพื่อเป็นการฟื้นฟูสุขภาพโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้สนใจในเรื่องสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หากสนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ กับ คุณประสงค์ ไชยลังกา อดีตเกษตรจังหวัด ผู้มากประสบการณ์ ได้ที่ สวนตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ได้ทุกวัน หรือติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ที่ (082) 181-3397

ในปีนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 ขึ้น ระหว่าง วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ มากกว่า 2,000 ผลงาน เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน งานวันนักประดิษฐ์ ยังเป็นเวทีแห่งการพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในทุกระดับการศึกษา ได้สร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่แปลก ทันสมัย มาจัดแสดงในงานดังกล่าว ยกตัวอย่าง เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้จัดแสดงผลงานประดิษฐ์ด้านอาหาร ฝีมือนักศึกษามาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก เพราะผลงานแต่ละชิ้น แปลกใหม่น่าสนใจและมีรสชาติอร่อย สามารถผลิตออกจำหน่ายเชิงการค้าได้อย่างสบายๆ

สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่

สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นผลงานของ น.ส. ณิชาพร เนียมแตง น.ส. ปานตะวัน โหลานิต และ นายตวัน พุทธายะ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาอาหารและโภชนาการ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ประจำปีการศึกษา 2560 เนื่องจากคนไทยทุกวันนี้ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานง่าย สะดวก รวดเร็ว ประเภทขนมปังทาด้วยสเปรดทูน่า มายองเนส เนย นม ช็อกโกแลต และผลไม้ เมืองไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้นานาชนิด เช่น สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ ส้ม มะม่วงหาวมะนาวโห่ ฯลฯ ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็น สเปรดผลไม้ ใช้รับประทานกับขนมปังได้

กลุ่มนักศึกษาจึงเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “สเปรดผลไม้” จากมะม่วงหาวมะนาวโห่ เพราะเป็นผลไม้ที่หาง่าย แม้มีรสเปรี้ยวจี๊ด แต่แน่นด้วยสรรพคุณทางยาและมีโภชนาการสูง โดยเฉพาะวิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา รวมทั้งช่วยจัดการกับปัญหาความเหี่ยวย่นและริ้วรอยก่อนวัย กลุ่มนักศึกษาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่มีความแปลกใหม่ และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ

เนื่องจากผลิตภัณฑ์สเปรดแบบเดิมๆ จะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก แต่กลุ่มนักศึกษาได้พัฒนาสูตรที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยเน้นคงรสชาติของผลไม้เป็นหลัก และมีส่วนผสมของน้ำตาลในอัตราส่วนน้อยกว่าปกติ และมีไขมันต่ำกว่าสเปรดทั่วไป

งานวิชัยชิ้นนี้ มุ่งศึกษาความพึงพอใจของผู้บริโภค ที่มีต่อผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยคาดหวังว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยพัฒนาต่อยอดอาชีพให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่มีความต้องการพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนของตนเอง เพราะผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่เป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายเมนู เช่น ใช้ทาขนมปัง หรือนำมาทำเป็นน้ำสลัด เป็นต้น

วิธีการทำผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ เริ่มจาก

ผ่าครึ่งมะม่วงหาวมะนาวโห่ นำเมล็ดออกแล้วล้างด้วยน้ำเกลือสลับกับน้ำสะอาด จำนวน 5 รอบ
ต้มน้ำให้เดือด ใส่มะม่วงหาวมะนาวโห่ที่ล้างแล้วลงไปจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน และนำไปปั่น
นำมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่ปั่นแล้วขึ้นตั้งไฟ ใส่น้ำตาลและเจลาติน คนจนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะเนียน นำใส่บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา หลังจากเปิดใช้ผลิตภัณฑ์แล้วต้องปิดให้สนิท เก็บให้ห่างจากความร้อนและแสงแดด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น

ผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ดังกล่าว สมัครแทงบอลออนไลน์ มีต้นทุนในการผลิตต่อครั้ง ประกอบด้วย ค่าวัตถุดิบ 35 บาท ค่าบรรจุภัณฑ์ 13 บาท ค่าสาธารณูปโภค 10 บาท รวม 58 บาท การบริโภคผลิตภัณฑ์หนึ่งหน่วยจะให้พลังงานทั้งหมด 358.84 กิโลแคลอรี ต่อน้ำหนัก 100 กรัม และจะได้รับคุณค่าโภชนาการ 933 กิโลแคลอรี โดยปริมาณสารอาหารที่ได้รับคือ ไขมัน 19% โปรตีน 3% และคาร์โบไฮเดรต 78%

แยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน

กลุ่มนักศึกษาภาควิชาอาหารและโภชนาการ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ประกอบด้วย น.ส. ธัญญาเรศ ทองดี น.ส. ณิชรีย์ บอกพิมพ์ และ นายรัฐธนินทร์ ธนาจิตติเวศน์ ได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์แยมผลไม้ จาก “มัลเบอรี่ชาใบหม่อน” ที่มีรสหวานอมเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมของชาใบหม่อน ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์แก่ร่างกาย สามารถประยุกต์กับเมนูอาหารคาวหวาน ใช้รับประทานกับขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติในการรับประทาน

แยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน นับเป็นสินค้าทางเลือกที่แปลกใหม่สำหรับคนไทยที่รักสุขภาพ และงานวิจัยชิ้นนี้ยังต่อยอดอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในอนาคต มีโอกาสทางการตลาดสูง เพราะแยมเป็นสินค้าที่รู้จักกันดีทั่วโลก และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย

การเก็บรักษา ควรปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้แล้ว เก็บรักษาในที่ที่เย็นและไม่โดนแสงแดด

ทีมนักศึกษาได้สรุปราคาต้นทุนการผลิตแยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน ต่อครั้ง จะมีต้นทุนวัตถุดิบ 20.05 บาท ต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ 15 บาท และราคาต้นทุน 35.05 บาท สามารถตั้งราคาขายต่อหน่วยอยู่ที่ 69 บาท โดยการบริโภคสินค้าน้ำหนัก 100 กรัม จะได้รับคุณค่าทางโภชนาการ 117.13 กิโลแคลอรี โดยปริมาณสารอาหารที่ได้รับคือ ไขมัน 1% คาร์โบไฮเดรต 97% และโปรตีน 2%