มีอีก 10 ไร่ ที่เหลือเวลาอีก 10 วัน จะทำการตัดคะน้ายักษ์แล้ว

ตอนนี้ก็มีบรรดาชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเตรียมตั้งหน้าตั้งตารอดูและจะขอถ่ายรูปเซลฟี่กับคะน้ายักษ์กันยกใหญ่ เพราะที่ผ่านมา เคยถ่ายลงเฟซบุ๊กส่วนตัว จนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ผมเคยผิดหวังและท้อแท้ชีวิต ในอาชีพเป็นเกษตรกรมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยคิดท้อแท้ เพราะคิดว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จต้องอยู่ที่นั่น อย่าขายแค่ความฝัน เราต้องเดินหน้าสานฝันให้เป็นจริงด้วย ขอแค่มีแรงใจลุกขึ้นมาต่อสู้เท่านั้น อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด และหวังว่าจะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมั่นคงต่อไป” นายยอดชาย กล่าว

ความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรไทยไม่เป็นสองรองใคร การพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีเกิดจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าส่วนราชการ เอกชน หรือจากตัวเกษตรกรเอง ต่างก็มีส่วนร่วมทำให้การพัฒนาการเกษตรรุดหน้าก้าวไกล นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่กำเนิดนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชน

การเผยแพร่ข้อมูลทางด้านการเกษตรเป็นหน้าที่ของเราที่จะนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวความคิดให้ต่อยอด หรือเป็นตัวอย่างให้ปฏิบัติตาม จากการยืนหยัดมาร่วม 32 ปีแล้ว ทำให้ข้อมูลต่างๆ เข้มข้นขึ้น และเห็นความเปลี่ยนแปลงในวิถีภาคเกษตรพัฒนาก้าวหน้าไปมากมาย ข้อเขียนบางครั้งผ่านไป 10-20 ปีแล้วยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่บางข้อเขียนผ่านไปแค่ปีเดียวกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยแล้วในปัจจุบัน

เราคุ้นเคยกับเห็ดฟางกองเตี้ยที่เพาะกลางแจ้งเมื่อหลายสิบปีก่อน กาลเวลาผ่านไปกลายเป็นเห็ดฟางในโรงเรือนที่มีหลายๆ ชั้น เห็ดนางฟ้า เห็ดแครง เห็ดขอน ถูกบรรจุใส่ถุงอันมีส่วนผสมของขี้เลื่อยเป็นหลักนำมาเปิดดอกในโรงเรือนล้วนเป็นวิวัฒนาการทางความคิดของชาวเกษตรทั้งสิ้น ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับเทคโนโลยีระดับชาวบ้านแต่ซ่อนไว้ด้วยความไม่ธรรมดาที่จะนำเสนอ

เจอาร์ฟาร์ม Jr MushroomFarm เป็นฟาร์มเห็ด หมู่ที่ 5 ตำบลวังไทร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มี คุณบี หรือ คุณจิราพร จันตะเภา และหุ้นส่วนที่จบมาทางด้านเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำกิจการเพาะเห็ดฟางโดยทำเป็นแปลงกองเตี้ย และได้ศึกษาจนสามารถทำเชื้อเห็ดฟางเองได้

สมัยนั้นการทำเห็ดฟางจะทำเป็นกองเตี้ยในพื้นที่โล่ง ต้องมีไม้ตีกั้นเป็นบล็อกใส่ฟางรดน้ำย่ำแล้วจึงโรยเชื้อและโรยอาหาร เช่น เปลืองถั่ว เปลือกมันลงไป ทำเป็นชั้นๆ ทำอยู่หลายปีจึงได้เปลี่ยนเป็นทำก้อนเชื้อเห็ดมุ่งเน้นที่ทำเห็ดตระกูลนางฟ้า ที่ก้อนเชื้อจะต้องมีส่วนผสมของขี้เลื่อยเป็นหลัก และมีขี้ฝ้าย ไส้นุ่น เปลือกเมล็ดบัว และขี้ม้าผสมอยู่ด้วย ทำอยู่หลายปีเช่นกัน ตั้งแต่ขี้เลื่อยราคาคันรถละ 15,000 บาท จนขึ้นถึง 28,000 บาท เห็นท่าจะไม่ไหวจึงมาคิดว่ามีวัสดุทางธรรมชาติใดที่สามารถนำมาแทนขี้เลื่อยได้

สิ่งแรกที่มองเห็นคือ ฟางข้าว ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย จึงทดลองนำมาเป็นส่วนผสมแทนขี้เลื่อยในก้อนจำนวน 10% ปรากฏว่าได้ผลดี ต่อมาจึงทดลองใช้ฟางข้าวเพิ่มมากขึ้นจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ผลดีเหมือนกับใช้ขี้เลื่อย ฟางมีคุณสมบัติดีกว่าขี้เลื่อย

ฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุที่มีซิลิกาที่ไม่ละลายน้ำ ในรูปแบบเดียวกับทราย กระจกหรือแก้ว ซึ่งมีซิลิกาเป็นองค์ประกอบอยู่สูงถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอินทรียวัตถุอื่น ในฟางข้าวน้ำหนัก 1 ตันจะมีซิลิกาสูงถึง 40 กิโลกรัม โดยจะเคลือบอยู่ผิวด้านนอกของฟางที่เราเห็นเป็นมันวาว เราจึงจำเป็นต้องแช่น้ำให้ฟางนิ่มก่อนนำมาใช้หลายชั่วโมง ซึ่งทำให้ฟางชุ่มน้ำมากเกินไป เพราะถ้าฟางมีความชื้นมากเกินก็ทำให้เน่าเสียได้ง่าย แต่การสับด้วยเครื่องสับฟางที่ทางฟาร์มผลิตขึ้นมาจะได้ฟางที่มีคุณสมบัติตรงต่อความต้องการคือ เล็ก สั้น ร่วน ละเอียด และนุ่ม ทำให้ฟางนุ่มซึมซับน้ำได้ง่ายโดยไม่ต้องแช่น้ำ และมีขนาดสม่ำเสมอ การที่ฟางนุ่มและถูกตัดสับให้เล็กลงทำให้เชื้อเห็ดสามารถชอนไชเข้าไปกินอาหารในเนื้อฟางได้ง่ายขึ้น สรุปเหตุผลคือฟางเป็นเซลลูโลสที่ย่อยง่ายกว่าขี้เลื่อย ดอกเห็ดจึงออกถี่กว่าและใหญ่กว่า

จากขนาดถุงมาตรฐานของแบบที่ใส่ขี้เลื่อยจะใช้ถุงขนาด 6.5 คูณ 12.5 นิ้ว ทางฟาร์มได้ปรับเปลี่ยนให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมคือ ใช้ถุงขนาด 9 คูณ 14 นิ้ว ซึ่งมีปริมาตรเป็นหนึ่งเท่าของถุงขนาดเดิม และยังคงใช้วิธีการเขี่ยเชื้อไว้ด้านบนของถุงแบบเดิม ต่อมาได้เพิ่มขนาดถุงบรรจุให้ใหญ่กว่าเดิมคือขนาด 12 คูณ 18 นิ้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาตรเป็น 5 เท่าของถุงเก่า แต่มีปัญหาคือเรื่องเชื้อไม่สามารถเดินจากปากถุงให้กระจายตลอดทั้งถุงได้ในเวลาที่กำหนด

ด้านส่วนบนมีการออกดอกเห็ดแล้วแต่กลางถุงลงไปเชื้อยังกระจายไม่ถึง ทำให้ยากในการจัดการ ทางฟาร์มจึงใช้หลายวิธีในการนำเชื้อเข้าถุง เช่น การกรีดถุงใส่เชื้อ แต่ปรากฏว่าเชื้อราเข้าไปได้ง่ายและเปลืองเชื้อเห็ดมาก

ต่อมาจึงคิดกรรมวิธีนำเอาไม้เสียบลูกชิ้นนำมาทำขั้นตอนเดียวกับการเพาะและเขี่ยเชื้อในห้องแล็บ เนื่องจากเห็นว่าเห็ดในธรรมชาติบางชนิดเกิดบนขอนไม้ เพราะฉะนั้น ไม้ไผ่ก็อาจนำไปทำเป็นแท่งเชื้อได้เช่นกัน ปรากฏว่าเป็นผลสำเร็จ เชื้อสามารถเกาะที่ไม้ไผ่แทนที่จะเกาะบนเมล็ดข้าวฟ่าง เพราะไม้ไผ่เมื่อผ่านกระบวนการย่อยของเอนไซม์ของเส้นใยเห็ด แล้วก็กลายเป็นแป้งซึ่งเป็นอาหารของเห็ดได้เหมือนกัน เมื่อทำแบบนี้เชื้อก็สามารถที่จะกระจายได้ทั่วทั้งก้อนเนื่องจากไม้เสียบลูกชิ้นได้เสียบลงไปจากปากถุงเกือบถึงก้นถุง

ปัจจุบันทางฟาร์มได้ใช้ถุงเห็ดขนาด 12 คูณ 18 นิ้ว ซึ่งมีปริมาตรมากกว่าเดิม 5 เท่า แต่เวลาที่เชื้อเห็ดเดินจนเต็มถุงก็ใช้เวลาเหมือนถุงเล็กคือ 30 วัน หลังจากนั้น จะเกิดตาดอกเห็ดใช้เวลาประมาณ 5 วันเห็ดจะสมบูรณ์เต็มที่ มีน้ำหนักตั้งแต่ 400 กรัมขึ้นไปต่อช่อ หลังจากเก็บแล้วจะใช้เวลาประมาณ 7 วันก็จะออกช่อใหม่ แต่น้ำหนักช่อดอกจะเหลือประมาณ 3 ขีด ก็จะเก็บถุงออก เพราะต้องการเนื้อที่ในการวางถุงใหม่ แต่ในกรณีที่มีเนื้อที่เพียงพอก็สามารถรอเก็บดอกรุ่นต่อๆ ไปได้อีก 2-3 เดือน แต่ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ

ความจริงแล้วการที่เห็ดออกมากน้อยไม่เกี่ยวกับปริมาณข้าวฟ่างที่มีเชื้อเห็ดที่เราหยอดเข้าไป เพียงแค่ข้างฟ่างเม็ดเดียวแต่มีเชื้อเห็ดอยู่ก็สามารถกระจายได้ทั้งก้อน แล้วแต่การหยอดจากปากถุงเชื้อเห็ดต้องใช้เวลาในการกระจายให้ทั่วถุงโดยเริ่มจากปากถุงจากบนลงล่าง ส่วนการทำเป็นเชื้อแท่งเสียบเข้าไปจนลึกเกือบถึงก้นถุงเป็นการกระจายจากจุดศูนย์กลางพร้อมๆ กันจึงทำให้เวลาการกระจายของเชื้อเท่ากันกับถุงเล็ก แม้ว่ามีขนาดใหญ่มากกว่าถึง 5 เท่า

รายได้หลักของฟาร์มคือการจำหน่ายผลผลิตเห็ดสดให้กับโรงงานแปรรูปเห็ดที่วังน้ำเขียวและแม่ค้าตลาดทั่วไป คุณบี บอกว่า เห็ดที่เพาะจากฟางข้าวจะมีคุณสมบัติกรุบกรอบและมีกลิ่นหอมกว่าเห็ดที่ผลิตจากขี้เลื่อย เห็ดที่ทางฟาร์มผลิตจะเป็นเห็ดตระกูลนางฟ้า คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดนางรมเทา ราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-70 บาท แล้วแต่ฤดูกาล

ปัจจุบันฟาร์มจะมีผลผลิตเห็ดวันละ 100-200 กิโลกรัม ส่วนการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำก้อนเชื้อเห็ดจะเปิดอบรมปีละหลายครั้ง เพื่อให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้สามารถนำไปทำเป็นอาชีพได้ การอบรมในเดือนมีนาคมนี้ทางฟาร์มขอเลื่อนไปเนื่องจากเหตุผลไข้หวัดโควิด-19 ในรอบต่อไปจึงเป็นวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ค่าลงทะเบียน 2,500 บาท ต่อ 1 ท่าน

เนื่องจากคุณบีจบทางด้านวิศวกรรมจึงสามารถออกแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำเชื้อเห็ดได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์ที่ทางฟาร์มออกแบบไว้มี 3 อย่าง คือ เครื่องสับฟาง เครื่องอัดก้อน และเตานึ่ง เครื่องสับฟางจะมี 3 ขนาด คือ 1. เครื่องสับฟางแนวนอนให้กับมอเตอร์ 3 แรง หรือใช้เครื่องยนต์ 5.5 แรง ขายเฉพาะเครื่องเปล่า 21,500 บาท ถ้ามีเครื่องยนต์จะเพิ่มอีก 5,000 บาท เหมาะกับฟาร์มเห็ดที่ทำในครอบครัว 1 ชั่วโมงสับฟางได้ 20 ฟ่อน สามารถปรับความละเอียดได้ 1-5 นิ้ว 2. คือเครื่องสับฟางแนวตั้ง เหมาะกับฟาร์มขนาดกลาง เป็นชนิดติดมอเตอร์ 3 แรง ราคาเครื่องพร้อมมอเตอร์ 37,500 บาท สามารถสับฟางได้ชั่วโมงละ 30 ฟ่อน ส่วนเครื่องขนาดใหญ่ใช้กับเครื่องยนต์ 16 แรงขึ้นไป สามารถใส่ฟางได้ทั้งฟ่อน ราคาเครื่องละ 65,000 บาท

ส่วนเครื่องอัดก้อนมีขนาดเดียว สามารถเปลี่ยนหัวได้ 2 ขนาด คือ 8 คูณ 14 นิ้ว และ 12 คูณ 18 นิ้ว ใช้มอเตอร์ 1 แรง ราคา 27,500 บาท อัดได้ประมาณ 360 ก้อน ต่อชั่วโมง สำหรับเตานึ่งจะเป็นเตาที่ประหยัดพลังงานจะใช้ไม้ฟืน เป็นระบบเติมน้ำอัตโนมัติ เรียกว่าเตาล่องหน เพราะสามารถนำไปใช้ที่ไหนก็ได้ บรรจุได้ 432 ก้อน ราคา 19,500 บาท ซึ่งเครื่องทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อการทำเชื้อก้อนด้วยเห็ดฟางโดยเฉพาะ สนใจการทำก้อนเชื้อเห็ดเพื่อทำฟาร์มเห็ดขายดอกเป็นอาชีพ สามารถติดต่อเข้ารับการอบรม

มะละกอแขกนวลดำเนิน เป็นมะละกอที่ตลาดมีความต้องการสูง เนื่องด้วยเป็นมะละกอที่มีเนื้อสีขาว กรอบ เหมาะกับการนำไปตำส้มตำมากกว่าทุกสายพันธุ์ จึงเป็นมะละกอสายพันธุ์กินดิบที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกเพื่อสร้างรายได้

คุณธงชัย ศิริโภคารัตนา หรือ คุณแบงค์ อยู่บ้านเลขที่ 172/1 หมู่ที่ 8 บ้านเกาะ ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่องานเกษตรของครอบครัว คุณแบงค์ เล่าว่า ตนเองเป็นลูกหลานเกษตรกรอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ทำสวนมะละกอมาก่อน แต่เลิกทำไปเพราะตนเองและพี่ชายให้เลิกทำ เพราะอยากให้พ่อกับแม่ได้พักแล้วตนเองจะมาสานต่อ โดยขอวิชาความรู้การปลูกมะละกอจากพ่อ คือ คุณนพพันธ์ ศิริโภคารัตนา หรือในวงการมะละกอรู้จักกันในชื่อ เฮียไล้ เซียนมะละกอ เนื่องจากสมัยก่อนพ่อเป็นผู้คิดค้นวิธีการตอนมะละกอส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นประจำจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครที่คิดวิธีการตอนแบบพ่อได้ พ่อเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มทำเริ่มมีชื่อเสียงก็มีหนังสือมาขอสัมภาษณ์จึงกลายเป็นที่รู้จักและพูดต่อๆ กันไปว่าพ่อผมเป็นเซียนมะละกอ

พลิกที่ดิน 40 ไร่ ปลูกมะละกอเป็นอาชีพสร้างตัว
โชคดีมีพ่อเป็นที่ปรึกษา
คุณแบงค์ บอกว่า ผมโชคดีที่มีพ่อเป็นเซียนปลูกมะละกอ ถือว่าได้เปรียบกว่าเกษตรกรมือใหม่หลายๆ ท่าน แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้ความพยายาม ความขยัน ความอดทนของตัวเราเองด้วย

“ทักษะการปลูกมะละกอของผมเริ่มต้นจากศูนย์ ผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย จะมีแค่ตอนเด็กได้ช่วยพ่อทำสวนมะละกออยู่บ้าง ทำงานตามที่พ่อสั่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีความรู้ว่าพ่อให้ทำแบบนั้นเพราะอะไร แต่พอจะเริ่มเข้ามาทำสวนอย่างจริงจังจึงต้องเริ่มเรียนรู้ขอวิชาการปลูกมะละกอจากพ่ออีกครั้ง…ผมเริ่มปลูกมะละกอบนพื้นที่มรดกของพ่อ เดิมทีตรงนี้เป็นที่นามาก่อน แต่ผมเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้สวยอยู่ติดแหล่งน้ำ จึงคิดว่าจะปลูกมะละกอพันธุ์แขกนวลก่อนเพราะมีพ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาได้ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในสายงานเกษตรของผม” คุณแบงค์ เล่า

คุณแบงค์ บอกต่อว่า ที่ดินทั้งหมดมี 47 ไร่ ถ้าคิดเฉพาะดินไม่รวมร่องน้ำจะมีพื้นที่ปลูกจริงๆ ประมาณเกือบ 30 ไร่ ปลูกเป็นอาชีพได้ 2 ปีกว่า ใช้วิธีปลูกไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งพันธุ์ที่เลือกปลูกเป็นมะละกอพันธุ์แขกนวลดำเนิน เป็นเมล็ดพันธุ์เก่าที่พ่อเก็บไว้ ตอนนี้ต้นมะละกอเริ่มโทรม ใบเริ่มหงิก แต่ยังให้ผลผลิตดกอยู่ กำลังแซมรุ่นใหม่ไม่ให้ขาดคอ การที่จะทำให้มะละกอมีผลผลิตดก ไม่ควรปล่อยต้นนานเกิน 2 ปี ระยะ 2 ปี มะละกอยังเป็นมะละกอสาวให้ผลผลิตดก แต่ถ้าหลังจากนี้ไปแล้วต้นจะเริ่มโทรม ทางที่ดีคือไม่ควรปล่อยต้นไว้เกิน 2 ปี ครบ 2 ปีให้โค่นทิ้งแล้วปลูกแซมเลยจะดีกว่า

การปลูกมะละกอหัวใจสำคัญคือ ต้องคัดพันธุ์เอง แล้วคัดต้นที่มีลักษณะต้านทานโรคใบด่างวงแหวน…โรคนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการปลูกมะละกอ ถ้าเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ถือว่าปีนั้นประสบผลสำเร็จ ทางรอดคือ 1. ต้องคัดพันธุ์เอง 2. หากคัดพันธุ์ปลูกเองแล้วแต่ไวรัสยังหลงอยู่ อาจมีตัวแปรอื่น จากประสบการณ์ที่ปลูกมา 2 ปี คิดว่าพาหะเป็นตัวสำคัญถ้าควบคุมไม่ได้ก็โดนไวรัส พิสูจน์จากที่สวนข้างๆ เขาปลูกมะละกอเหมือนกันแต่เขาปลูกทิ้งขว้าง แล้วพอมะละกอเกิดโรคเราไม่สามารถไปบอกเขาให้โค่นต้นทิ้งได้ ตัวการนี้แหละคือพาหะมาหาสวนเราซึ่งเราควบคุมไม่ได้เลย

วิธีการปลูกและดูแล
การปลูกมะละกอ ปุ๋ยถือเป็นเรื่องสำคัญและขาดไม่ได้ การดูแลเมื่อของเก่าหมดรุ่นให้เริ่มดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงต้นใหม่ช่วงแรกต้นอายุ 1-4 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรียก่อน 46-0-0 เร่งให้ต้นโต ต้นน้อยก็ใส่น้อยเป็นกำมือ เมื่อต้นอายุ 4-5 เดือน จะเริ่มใส่ 16-16-16 เพื่อให้สะสมอาหารและฉีดฮอร์โมนทางใบ และแคลเซียมโบรอนก็ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วลูกจะปูดบวม ผิวตะปุมตะป่ำ ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกปูดบวมนอกจากแคลเซียมโบรอนยังมีตัวของไวรัสวงแหวนอีกอย่างที่ส่งผลให้ลูกปูดบวมผิวไม่สวย

ปุ๋ย…ที่ใช้อาจจะต้องเลือกปุ๋ยยี่ห้อที่เข้ากับพืชได้ดี เพราะที่สวนเคยมีการทดลองใช้ปุ๋ย 2 ยี่ห้อ ยี่ห้อที่ 1 พืชดูดซึมปุ๋ยได้ดีต้นเจริญเติบโต ส่วนยี่ห้อที่ 2 เป็นสูตรเสมอเหมือนกันแต่พืชไม่กิน อันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมากถือว่าต้องใช้ประสบการณ์และการสังเกตของผู้ปลูกโดยเฉพาะ

น้ำ…มะละกอเป็นพืชใช้น้ำเยอะ จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1 รอบ ยิ่งถ้าวันไหนอากาศร้อนต้องให้ ที่สำคัญคือมะละกอต้องห้ามรดน้ำตอนกลางวันเพราะจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดน้ำในบ่อก็จะร้อน ถ้าเราใช้น้ำรดโดนดอก ดอกจะร่วงเยอะมาก แล้วผลจะไม่ติด เพราะฉะนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำคือช่วงตี 5-9 โมงเช้า อย่าให้เกินเที่ยง ปริมาณการรดน้ำดูตามความเหมาะสม ถ้าใส่ปุ๋ยไปเมื่อวาน รดน้ำแค่ 2 วันแรก วันที่ 3 ให้งด เพื่อให้ดินแห้ง เทคนิคของผมคือถ้าใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำซ้ำเยอะๆ ปุ๋ยจะไหลหนี

“เทคนิคการให้น้ำสูตรนี้ได้มาจากพ่อ คือที่เรือรดน้ำตรงหัวกะโหลกที่ดูดน้ำขึ้นจะมีรูดูดน้ำน้อยๆ พ่อผมใช้เทคนิคปุ๋ยยูเรียน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยยูเรียเกือบครึ่งกิโลเทลงไปแล้วคนในน้ำ ปุ๋ยยูเรียมันเย็น แล้วเอาสายที่ดีดูดน้ำหย่อนลงไปและพ่นออก ผมใช้เทคนิคนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมาผมไม่ขาดคอเลย ต่างจากสวนข้างๆ ที่มะละกอขาดคอ อันนี้ถือเป็นวิธีของพ่อเลยครับ” คุณแบงค์ เล่า

ผลผลิตต่อรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาผลผลิตได้ไม่เท่ากัน คำนวณเป็นเดือน 1 คันรถ ผลผลิต 3-3.5 ตัน 30 ไร่ เก็บแบบปูพรมทั้งหมดได้ 4 คันรถ ประมาณ 13 ตัน ใน 1 รอบการเก็บ 20-25 วัน…ที่นี้จะมีช่วงดกมากๆ พายเรือเข้าไปร่องเดียวก็ได้มะละกอมาแล้ว ลำเรือหนึ่งเท่ากับ 1 ตัน ซึ่งมะละกอดกไม่ดกจะเป็นช่วงอยู่ที่การบำรุง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่มะละกอขาดตลาดเกษตรกรจะได้ราคาดี

สถานการณ์ราคามะละกอดิบ ผันผวนตลอดเวลา
เกษตรกรต้องเรียนรู้และใช้ไหวพริบ
“ตลาดมะละกอดิบราคาค่อนข้างผันผวนแบบวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง เกษตรกรที่จะอยู่ให้ได้คือต้องใช้ไหวพริบ หรือพยายามมีตลาดรับซื้อหลายที่ หากตลาดที่ 1 ราคาถูก ตลาดที่ 2 ราคาอาจจะแพงขึ้น ข้อนี้เกษตรกรต้องรู้เพื่อความอยู่รอด ข้อดีของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างผมคือรู้เรื่องเทคโนโลยีและรู้จักต่อรอง เราสามารถเช็คราคาสินค้าได้ตลอดเวลาว่าตลาดที่นี่เป็นอย่างไรแล้วเทียบกับตลาดที่อื่นเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของเราด้วย” คุณแบงค์ แนะนำ

คุณแบงค์ บอกว่า การขายมะละกอไซซ์ที่ตลาดต้องการจะมีทั้งหมด 4 ไซซ์ คือ 1.ไซซ์ 2 แถว 2.ไซซ์ 3 แถว 3. กลม (ลูกกลมป้อม) 4.ลูกเสียบแหลม ราคาจะแตกต่างกัน ไซซ์ 2 แถว ราคาจะแพงที่สุด ไซซ์ 3 แถว ราคารองลงมา ส่วนลูกกลมลูกเสียบราคาจะไม่แตกต่างกันมากแต่ ณ เวลานี้ลูกกลมตลาดตาย ตลาดตายคือขายไม่ออกเพราะผลผลิตเยอะ ราคาจะเหลือ 2 บาท ซึ่งเวลานี้ที่เก็บ ตกลงราคากับแม่ค้าว่า ไซซ์ 2 แถว กิโลกรัมละ 14 บาท ไซซ์ 3 แถว กิโลกรัมละ 9 บาท ลูกกลมลูกเสียบ กิโลกรัมละ 4-5 บาท ราคามะละกอถือว่ามีความผันผวนมาก เช่น ตอนเช้าราคากิโลกรัมละ 14 บาท ตกเย็นราคาพุ่งมาเป็นกิโลกรัมละ 20 กว่าบาทก็มี

ตลาดมะละกอดิบอนาคตยังสดใส
คุณแบงค์ บอกว่า ณ ปัจจุบันราคามะละกอกินดิบยังผันผวน แต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกษตรกรต้องรับมือให้ได้ ถ้ารับได้ถือว่าอนาคตการตลาดของมะละกอดิบยังไปได้อีกไกล เพราะคนในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานส้มตำ จึงคิดว่าตลาดไม่มีวันตาย มะละกอดิบเป็นมะละกอที่เก็บง่าย ดูแลง่ายกว่ามะละกอสุก ตอนเก็บไม่ต้องทะนุถนอม ถ้าเป็นมะละกอสุกต้องถนอม ผิวเสียนิดเดียวราคาตก และมองว่าส่วนแบ่งตลาดมะละกอดิบกับสุก มะละกอดิบขายได้ง่ายกว่า เพราะคนไทยชอบกินส้มตำ

การตลาดมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ตอนนี้มีทั้งหมด 4 ที่ด้วยกัน 1. ตลาดทางภาคอีสาน โคราช 2. ขอนแก่น 3. ตลาดสี่มุมเมือง 4. ตลาดไท ลักษณะการส่งขายจะเก็บผลผลิตมาแพ็กใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาส่วนใหญ่อิงจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเป็นคนกำหนด ถึงเวลาพ่อค้าจะมารับซื้อถึงที่แล้วเอาไปขายที่สี่มุมเมืองแล้วจึงค่อยโทร.ตกลงราคากันทีหลัง แต่สวนผมจะไม่ทำแบบนั้นคือต้องตกลงราคากันก่อน เพราะว่าผมรู้สึกว่าเอาของไปแล้วไม่รู้ราคาเราเสียเปรียบ เกษตรกรต้องรู้จักเจรจาให้เป็น ทำอย่างไรก็ได้ให้เราเสียเปรียบพ่อค้าคนกลางให้น้อยที่สุด คุณแบงค์กล่าวทิ้งท้าย

อาชีพเกษตรหลังเกษียณ เป็นความใฝ่ฝันของคนวัยทำงานจำนวนมาก แต่งานเกษตรเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความรู้ ความอดทน และต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าพืชที่ปลูกจะให้ผลผลิตและมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ หากรอลงมือทำสวนเกษตรในวันที่เกษียณอายุ บางคนอาจไม่มีเรี่ยวแรงที่จะลุยทำสวนเสียแล้ว

หากใครไม่อยากพลาดความสนุก เพลิดเพลินใจกับการทำงานเกษตร ขอแนะนำให้เริ่มลงมือทำเกษตรก่อนเกษียณเหมือนกับ “อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์” ที่หันมาทำสวนเกษตรผสมผสาน ในชื่อ “คุ้มจันทวงษ์” เนื้อที่ 38 ไร่ ควบคู่กับอาชีพข้าราชการครู ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี สวนเกษตรผสมผสาน
อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์ เล่าให้ฟังว่า น้องชายผมก็ทำอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ยูคาลิปตัส ส่งขายโรงงาน แต่ถูกกดราคารับซื้อผลผลิต หักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่เหลือผลกำไร ทำให้ผมไม่สนใจปลูกพืชส่งขายโรงงาน และตัดสินใจทำสวนเกษตรผสมผสานแทน โดยวางแผนทำสวนเกษตรล่วงหน้าก่อนเกษียณถึง 10 ปีเต็ม

อาจารย์ธีระพล เน้นลงทุนปลูกพืชอาหารเป็นหลัก เช่น ลำไย ไผ่ เพกาต้นเตี้ย กล้วย พลู มะนาว ปัจจุบันรายได้หลักมาจากสวนมะนาว ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ปลูกมะนาวพันธุ์ทะวาย เช่น มะนาวแป้นพิจิตร มะนาวสุขประเสริฐ มะนาวแป้นวโรชา และเพิ่งปลูกมะนาวปีที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด คือ มะนาวแป้นรำไพ โดยปลูกลงดิน แต่บังคับให้ต้นมะนาวมีผลผลิตออกนอกฤดู

ทุกวันนี้ อาจารย์ธีระพล ดูแลจัดการสวนด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยใช้ช่วงเช้ามืด-ช่วงเวลาหลังเลิกงานแต่ละวัน รวมทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อทำงานในสวนเกษตรแห่งนี้ และว่าจ้างแรงงานท้องถิ่น 1-2 คน ช่วยทำงานในสวนเป็นครั้งคราว จึงมีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานไม่มากนัก

ปัจจุบัน เนื้อที่ 38 ไร่ ของคุ้มจันทวงษ์ ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยแบ่งเป็น นาข้าว 12 ไร่ ปลูกลำไย 5 ไร่ ปลูกไผ่เลี้ยงเบา ประมาณ 200 กอ ปลูกเพกาต้นเตี้ย 250 ต้น ปลูกมะนาว 900 กว่าต้น ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3-4 ไร่ ปลูกกล้วย 5 ไร่ และปลูกตะไคร้แซมอยู่ทั่วสวน

มะนาวนอกฤดู
ดกมากจนกิ่งหัก
อาจารย์ธีระพล บอกว่า การทำมะนาวนอกฤดู global-customer.com โดยปลูกใส่ท่อซีเมนต์ หรือใส่ถังรอง และใช้เทคนิคงดน้ำ และคลุมท่อ ผมลองมาหมด แต่ไม่ได้ความ ท้ายสุด ผมเลือกใช้วิธีบำรุงต้นมะนาวให้กินอิ่มเต็มที่ ก่อนตัดยอด นับวันเกี่ยวเก็บ ซึ่งการดูแลจัดการลักษณะนี้ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่ำกว่า การบังคับมะนาวนอกฤดูด้วยการอดน้ำเสียอีก เพราะการบังคับให้ต้นมะนาวอดน้ำ เกษตรกรต้องแบกภาระต้นทุนในเรื่องการคลุมท่อ ค่าจ้างคนงานมัดพลาสติก แกะพลาสติก

ปัจจุบัน อาจารย์ธีระพล ลงมือทำมะนาวนอกฤดูตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพื่อให้มีมะนาวนอกฤดูออกขาย ประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปีถัดไป ซึ่งตรงกับช่วงมะนาวขาดตลาด ทำให้สามารถขายมะนาวได้ในราคาแพง หากใครสนใจอยากนำเทคนิคนี้ไปทดลองใช้ อาจารย์ธีระพล แนะนำว่า หลังเก็บผลมะนาวเสร็จในเดือนพฤษภาคม ให้บำรุงต้นโดยใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 เมื่อมียอดอ่อนขึ้นมา ประมาณวันที่ 1 มิถุนายนจะตัดยอดต้นมะนาว หลังจากตัดยอด 7 วัน ต้องฉีดยากันหนอนชอนใบมากัดกินยอด หลังจากนั้น 15 วัน จะฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อไม่ให้แตกยอดอ่อนออกมาอีก นับไปอีก 45 วัน ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้งเพื่อกดยอดเป็นครั้งที่ 2

“โดยทั่วไป นิสัยของต้นมะนาว จะมียอดอ่อนครบ 90 วัน จึงเริ่มผลิดอก ทั้งนี้ ทุกๆ 45 วัน ต้นมะนาวจะแตกยอดอ่อนครั้งหนึ่ง จึงต้องฉีดสารแพคโคลบิวทราโซลเพื่อกดยอดไว้” อาจารย์ธีระพล กล่าว หลังกดยอด ครั้งที่ 2 แล้ว นับจากวันที่ตัดยอดถึงขั้นตอนนี้ เป็นระยะเวลา 60 วัน พอดี เป็นระยะเวลาที่ยอดแก่พอที่จะทำดอกได้สมบูรณ์

อาจารย์ธีระพล จะใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 25-7-7 ไปสักระยะ พอมีใบเพสลาด จะใส่ปุ๋ยเร่งดอก 12-24-12 ใส่เป็นระยะๆ จนต้นมะนาวติดลูก ต้องให้น้ำเช้า-เย็น เพื่อให้ต้นมะนาวมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับเลี้ยงผล และบำรุงผลด้วยปุ๋ย สูตร 8-24-24 เมื่อเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง

“เทคนิคการตัดใบ เพื่อผลิตมะนาวนอกฤดู จะเน้นใช้ปุ๋ยอยู่ 3 ช่วง คือ ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 25-7-7 ช่วงบำรุงดอก 12-24-12 บำรุงผลด้วยปุ๋ย สูตร 8-24-24 ในระหว่างที่เร่งดอกนั้น จะเสริมด้วยฮอร์โมนไข่ที่ผสมขึ้นใช้เอง ฉีดพ่นต้นมะนาวทุกๆ 7 วัน เพื่อช่วยกระทุ้งดอก วิธีนี้ได้ผลดีเยี่ยม ช่วยให้ต้นมะนาวติดผลดกมากจนกิ่งแทบหัก ผมทดลองปลูกมะนาวนอกฤดูโดยใช้วิธีการตัดยอดเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2559 ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดี โกยรายได้ทะลุหลักแสน นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายกิ่งพันธุ์มะนาวคุณภาพดีให้แก่ผู้สนใจ ทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลและกิ่งมะนาวตลอดทั้งปี” อาจารย์ธีระพล กล่าว