ยกตัวอย่าง สายพานลำเลียงถ่านหินที่ผลิตในประเทศสามารถ

ใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ราคาแพงจนประมูลขายไม่ได้ ขณะที่สายพานนำเข้ามีอายุใช้งานแค่ 3 เดือน ก็หมดอายุการใช้งาน แต่กลับประมูลหน่วยงานรัฐได้เพราะเสนอขายราคาต่ำ หรือหุ่นยางพาราสำหรับใช้ทำ PCR สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท ขณะที่ไทยสามารถผลิตขายได้ในราคาแค่ 6,000 บาท แต่ก็ขายไม่ได้เพราะติดเรื่องสเป็กสินค้า ประเด็นเหล่านี้จึงอยากเสนอให้ ครม.แก้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักนายกรัฐมนตรีต่อไป

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตหมอน-ที่นอนจากยางพารา ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มเกษตรกรถึง 41 กลุ่มให้ข้อมูลว่า สามารถผลิตหมอนยางพาราได้วันละ 4,000 ใบ รวมถึงที่นอนยางพาราด้วย จึงอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี-แม่พิมพ์ใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพและน้ำหนักเบาลง ด้านความคืบหน้าในการนำ “น้ำยางสด” ไปผสมสารเคมี-ซีเมนต์ เพื่อทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์นั้น ทางกรมบัญชีกลางได้กำหนดราคากลางออกมาที่กิโลเมตรละ 1.2 ล้านบาท โดยในสัปดาห์หน้าจะมีรายละเอียดของการสร้างถนนประเภทนี้ออกมาว่า จะต้องใช้วัสดุอะไร เครื่องจักรกลประเภทไหน เข้ามาดำเนินงาน

“เท่าที่ทราบจะต้องใช้น้ำยางสดประมาณ 12-15 ตันต่อถนน 1 กิโลเมตร หากองค์กรส่วนท้องถิ่นสนใจทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอาจสร้างถนนได้ในราคา กม.ละ 900,000 บาทเท่านั้น” นายสมนึก มณีพินิจ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกกองทุน “กลุ่มเลี้ยงปูนิ่ม” ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

นายสมนึก มณีพินิจ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวว่า จ.ระนอง มีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีประเภทบุคคล 38,616 คน และสมาชิกประเภทองค์กร 154 องค์กร มีโครงการได้รับการอนุมัติงบประมาณประเภทเงินอุดหนุน 47 โครงการ เป็นเงิน 3,000,000 บาท ผู้ได้รับประโยชน์ 5,151 คน และมีโครงการได้รับการอนุมัติงบประมาณประเภทเงินหมุนเวียน 71 โครงการ เป็นเงิน 12,000,000 บาท ผู้ได้รับประโยชน์ 1,955 คน

สำหรับกิจกรรมการลงพื้นที่ จ.ระนอง ครั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดเวทีเสวนา กิจกรรม “Inside Product By Thai Womenfund สัญจร” โดยผู้บริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานและความคืบหน้าการขับเคลื่อนภารกิจการสนับสนุนบทบาทสตรีในภาพรวม ทั่วประเทศและในพื้นที่ จ.ระนองแล้ว พร้อมกันนี้ ยังลงพื้นที่เพื่อพบปะและตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย

นางสาวรจนา โรมรินทร์ ประธานกลุ่มเปิดเผยว่า กลุ่มของเราตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 68/7 ต. หงาว อ. เมือง จ. ระนอง กลุ่มมีสมาชิกอยู่จำนวน 15 คน ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวเนื่องจากการทำปูนิ่มมีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียดมากจำเป็นต้องอาศัยคนใกล้ตัวมาช่วยในการการผลิต สินค้าที่สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเราก็คือ ปูนิ่มสด ปูนิ่มแช่แข็ง ส่วนเงินที่ได้รับการอนุมัติจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำนวน 199,996 บาท เงินดังกล่าวนำมาขยายพื้นที่ในการเลี้ยง และซื้อวัตถุดิบ เช่น ปูดำ ที่ปัจจุบันมีราคาค่อนข้างสูง นำมาพัฒนาแปรรูปเป็นปูนิ่มในรูปแบบอื่นๆ เช่น ยำปูนิ่ม ปูนิ่มทอดปรุงรส ส่งขายตามสถานที่หรืองานต่าง ๆ มีผู้ติดใจในรสชาติจำนวนมาก สร้างรายได้เสริมเฉลี่ยต่อวันของสมาชิก 300 บาท/วัน/คน

ที่มาของความสำเร็จของกลุ่มเกิดจาก มีกระบวนการผลิตที่ดี มีความสามัคคีกันในกลุ่ม จนสามารถสร้างเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัวได้มากขึ้น โดยยังกล่าวต่อว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อพัฒนากลุ่มของตนเอง ทั้งซื้อวัตถุดิบและเพิ่มเนื้อที่สถานที่ในการเลี้ยงปูดำเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ต่อยอดได้ไกลยิ่งขึ้นไปอีก

ปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่การเกษตรอยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีไฟฟ้าที่จะเอื้ออำนวยต่อการสูบน้ำในการเพาะปลูกพืช จึงมักทำการเกษตรได้เฉพาะฤดูฝน และบ่อยครั้งต้องประสบปัญหาพืชขาดน้ำ และบางรายเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งจึงปล่อยให้พื้นที่ว่างเปล่า เพราะไม่สามารถจัดหาน้ำมาใช้เพาะปลูกพืชได้ แต่มีเกษตรกรรายหนึ่งที่ใช้ภูมิปัญญาดัดแปลงเครื่องสูบน้ำแบบสะพายให้เป็นเครื่องสูบน้ำปลูกพืชผัก ทำรายได้ในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น

คุณวิไล นาลา อยู่บ้านเลขที่ 356 หมู่ที่ 9 บ้านนาดี ตำบลกุดธาตุ อำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่นคุณวิไล-คุณพรรณี นาลา สองสามีภรรยา ให้ข้อมูลว่า มีอาชีพทำนา ในฤดูฝนทำนาปี ส่วนฤดูแล้งหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วก็ปลูกพืชผักอายุสั้นหลายชนิด เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว แตงร้าน แตงกวา แตงไทย แตงโม ถั่วฝักยาว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้วก็ย้ายไปปลูกแปลงใหม่ต่อไปเรื่อย เป็นการนำปุ๋ยไปใส่นาอีกทางหนึ่งด้วย สามารถทำรายได้ให้แก่ครอบครัว วันละ 200-300 บาท โดยสูบน้ำจากสระน้ำที่ขุดไว้ จำนวน 2 บ่อ

แต่เนื่องจากที่นาของตนเองไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีไฟฟ้า แต่จำเป็นต้องใช้น้ำ จึงคิดหาวิธีทุ่นแรงในการรดน้ำแทนการตักรด โดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายที่มีอยู่ มาดัดแปลงเป็นเครื่องสูบน้ำ โดยเปลี่ยนชุดใบตัดหญ้าออกแล้วใช้ชุดหัวปั๊มน้ำเข้ามาสวมแทน แล้วต่อสายยางออกไปยังแปลงเพาะปลูกพืช เวลาใช้งานนำส่วนของเครื่องยนต์อยู่บนคันบ่อ จากนั้นติดเครื่องยนต์ตามปกติ แล้วนำส่วนหัวปั๊มจุ่มลงน้ำ เครื่องก็จะสูบน้ำไปยังแปลงผัก จะฉีดรดหรือปล่อยไปตามร่องหรือตามผิวดินก็ได้ สามารถรดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่แพ้เครื่องสูบน้ำทั่วไป น้ำมันก็ไม่เปลือง คุ้มค่า สำหรับหัวปั๊มนั้นหาซื้อได้ตามร้านขายเครื่องมือช่างการเกษตรทั่วไป ซึ่งตนซื้อมาในราคา 650 บาท

จะเห็นว่าการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย ซึ่งเกษตรกรมีอยู่แล้วแทบทุกครัวเรือนให้เป็นเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นมาอีกเครื่องหนึ่งด้วยราคาแสนประหยัด เป็นภูมิปัญญาที่น่าสนับสนุนนำมาใช้ในไร่นาอย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดแคลน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตของเกษตรกรด้วย

วันนี้ ผมแวะเยี่ยมคุณคงศักดิ์ นาคคุ้ม บ้านเลขที่ 260 หมู่ 5 บ้านนิคม ต.นิเวศ อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด

คุณคงศักดิ์ จบการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาขาช่างโยธาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แต่มาประสบความสำเร็จในอาชีพภาคการเกษตร ภูมิลำเนาเดิม บ้านเลขที่ 547 ต.บางขุนศรี อ.บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

เขาให้การต้อนรับด้วยดีพร้อม ภริยาที่สวนหลังบ้าน ติดกับเรือนเพาะชำ มีพันธุ์พืชนานาชนิด เช่น ฝรั่งพันธุ์กิมจู ไผ่พันธุ์หม่าจู หม่อนกินผล กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง กล้วยหอมทอง ชะอม เป็นการดูแลรักษาแบบเกื้อกูลระหว่าง “พี่ใหญ่กับน้องเล็ก” ถุงกล้วยเพาะชำ วางใต้ต้นกล้วยขนาดใหญ่ ไผ่หม่าจูเพาะชำแบบฝังถุงให้ปากถุงอยู่ระดับดิน ให้น้ำมีความชื้นพอเหมาะ ชะอมชำถุงใหญ่ 1-2 ต้นวางหน้าบ้าน สามารถรับประทานได้ทั้งครัวเรือน

คุณคงศักดิ์ นำมันเทศ “พันธุ์โอกินาว่า” มันเทศญี่ปุ่น สีม่วงที่นึ่งสุกแล้ว มาผ่าออกให้รับประทาน สีม่วงมีสารอาหารที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ผมรีบคว้ามารับประมาน เผื่อว่าความแก่จะได้ลดลง

ท่านคงศักดิ์ บอกว่า ใจเย็นๆครับ ที่นี่จำหน่ายสายพันธุ์ มัดละ 100 ต้น 500 บาท วิธีการปลูกง่ายมาก ยกร่องขนาด กว้าง 70-80 ซ.ม.เป็นหลังเต่าความยาวตามแปลง นำเถาพันธุ์มันเทศโอกินาว่า ที่เกิดรากวางเรียงเอาดินกลบช่วงกลาง เถามันเทศความยาวประมาณ 1 ศอก คลุมด้วยฟางข้าว ขณะเตรียมดินใส่ปุ๋ยสูตรเสมอหรือ 13-21-21 ประมาณ 100 ก.ก./ไร่ ใน 1 ไร่ ใช้ท่อนพันธุ์มันเทศโอกินาว่า 12,000 เถา คำนวณง่ายๆเถาละ 1 กิโลกรัม ได้ผลผลิต 1,200 ก.ก./ไร่ แต่ความเป็นจริงได้ 3-4 พันกิโลกรัม

คุญคงศักดิ์ นำเดินไปชมต้นกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ระยะปลูก 2×2 เมตร จำนวน 400 ต้น ในแปลงเดียวกันกับการปลูก มันเทศโอกินาว่า 4 เดือนเก็บมันเทศขาย อีก 4 เดือนต่อมา ตัดกล้วยขาย400 เครือ ขายหน่อกล้วย 35 บาท / หน่อ 3 หน่อ 100 บาท แซมด้วย ฝรั่งพันธุ์กิมจู อีก 600 ต้น 7 เดือน เก็บผลผลิตขาย 30 บาท/ก.ก. ต้นละ 1 ก.ก.ในชุดแรก และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 ก.ก./ต้น ในขณะเดียวกัน ปลูกมะพร้าวน้ำหอม 25-30 ต้น ในแปลงเดียวกัน มันเทศพันธุ์ญี่ปุ่น เก็บขาย 4 เดือน เก็บต่อไปอีก 3-4 ปี กล้วย 9 เดือน ตัดเครือขาย ขายหน่อ ตัดเครือ 2-3 รุ่น อ้อพืชเสริมอีกอย่างคือ มะละกอ สุดท้าย อีก4-5 ปี มะพร้าวเจริญเติบโต เป็นพืชหลัก รวมพื้นที่ดิน 4-5 ปี เกิดรายได้ตลอดอย่างเกื้อกูล เกษตรกรทำงานในร่มใต้ในกล้วย ปลูกไผ่รอบสวนเป็นไม้บังลม และทำเป็นไม้กันโยก หลักปักค้ำยันฝรั่ง

เมืองไทย 4.0 ใช้เทคโนโลยีการผลิต นวัตกรรมใหม่ เกษตรกรทำได้ เราทำได้ งานง่ายเพื่อการลดต้นทุน ผ่านเมืองร้อยเอ็ด- อำเภอธวัชบุรี โทร.081-9272541ตรงข้ามสำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ด้านหลัง อบต.นิเวศน์ ถนนแจ้งสนิท

คุณคงศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้ มีพันธุ์กล้วยน้ำว้า มะลิอ่อง 1 พันต้น หอมทอง 1 พันต้น ชะอม 1 พันต้น ฝรั่งกิจู หม่อนรับประทานผล พันธุ์แท้ๆครับ ที่นี่ คุณศักดิ์ หรือป๋าต้อย นาคคุ้ม เมืองไทย 4.0 แวะไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ครับ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกันกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ประชุมหารือถึงการลต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร ในส่วนของปัจจัยการผลิตคือปุ๋ยที่เป็นปัจจัยการผลิตหลักติดเป็นต้นทุนการผลิตถึง 30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันราคาปุ๋ยอยู่ในระดับสูงเนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตในประเทศ แม้จะมีการกำหนดให้ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมและเกษตรกรส่วนใหญ่ใช้วิธีกู้ยืมทำให้ต้นทุนสูงยิ่งขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนการผลิตที่เป็นปุ๋ยลง โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตปุ๋ยลดราคาปุ๋ยสำเร็จรูปและใช้กลไกร้านธงฟ้าประชารัฐ 30,000 แห่งเชื่อมโยงปุ๋ยราคาถูกไปสู่เกษตรกรทั่วประเทศ การใช้ปุ๋ยสั่งตัด และปุ๋ยผสม โดยใช้กลไกสหกรณ์การเกษตร 700 แห่ง เป็นผู้ดำเนินการผลิตและกระจายให้สมาชิก โดยมีเป้าหมายจะลดราคาปุ๋ยลงให้ได้กว่า 30% ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกว่า 30 ล้านคน ได้รับประโยชน์

นอกจากนี้ยังให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส.) และ ธนาคารเอสเอ็มแบงค์ ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรนำไปซื้อปุ๋ยในอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งให้กรมการค้าภายในไปหาแนวทางกำหนดราคาปลายทางสูงสุดว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพื่อให้เกษตรกรได้ซื้อสินค้าในราคาเป็นธรรม นอกจากนี้ บริษัท ปตท แสดงความสนใจที่จะเป็นผู้ผลิตปุ๋ยราคาถูฤดูเพื่อช่วยเกษตรกรด้วย

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการนี้กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะเร่งดำเนินการได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ สำหรับมูลค่าการตลาดปุ๋ยเคมีในปัจจุบันอยู่ที่ 98,000 ล้านบาท ถ้าราคาปุ๋ยลดลงได้ 30% จะช่วยลดได้ประมาณ 30,000 ล้านบาท

เกษตรกรปราดเปรื่อง ด้านปลาสลิด
คุณปัญญา โตกทอง ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart farmer) ในเรื่องของการเลี้ยงปลาสลิดด้วยงานวิจัย เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและผลตอบ แทนจากการผลิตสูง

คุณปัญญา เกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เรียนจบแค่ ป.4 พ่อแม่เลี้ยงกุ้งในนาเป็นอาชีพ สมัยเด็กๆ ก็เคยช่วยพ่อแม่เลี้ยงกุ้ง หลังแต่งงาน ก็แยกตัวออกมาทำกิจการนากุ้งเป็นของตัวเอง แต่เจอปัญหาอุปสรรคบางประการทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงกุ้งช่วงหนึ่ง

ช่วงประมาณปี 2537 คุณปัญญาเห็นเพื่อนบ้านเลี้ยงปลาสลิดในพื้นที่นาข้าวได้ผลกำไรงาม จึงตัดสินใจเลี้ยงปลาสลิดบนเนื้อที่ 30 กว่าไร่ เนื่องจากอ่อนประสบการณ์ทำให้ประสบปัญหาทุนหายกำไรหด ปีแรกมีรายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงแค่ 50,000 บาทเท่านั้น

แม้ธุรกิจจะล้มลุกคลุกคลานในปีแรก แต่คุณปัญญาก็ไม่ท้อถอย ใช้วิธีการศึกษาปัญหา หาวิธีการแก้ปัญหา โดยใช้ภูมิปัญญา ใช้ความรู้ จากวิถีชีวิตชาวบ้านมาพัฒนาวิธีการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดที่เป็นรูปแบบของตัวเอง โดยใช้หลักการเลี้ยงปลาตามหลักธรรมชาติแบบง่ายๆ คือ ฟันหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลา ปรากฏว่า ได้ผลผลิตที่ดีแถมมีต้นทุนต่ำ ฟาร์มเลี้ยงปลาแห่งนี้จึงเริ่มมีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำไรในปีที่ 3 ในวงเงินกว่า 300,000 บาท ปีที่4 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่เขาพึงพอใจแล้ว

เดิมทีคุณปัญญาและเกษตรกรในชุมชนแห่งนี้เลี้ยงปลาแบบปล่อยตามธรรมชาติ ไม่มีการจดบันทึก ไม่มีเทคนิคการเลี้ยงที่เป็นแบบแผน แต่ภายหลังพวกเขาได้รับการอบรมด้านงานวิจัยประมง จึงได้นำองค์ความรู้ดังกล่าวมาปรับใช้ในอาชีพการเลี้ยงปลา

คุณปัญญานำเทคนิคการจดบันทึกข้อมูลในงานวิจัยทุกขั้นตอน มาปรับใช้กับการเลี้ยงปลาสลิด ทุกขั้นตอน จนเข้าใจวิธีการเพาะฟักลูกปลาให้มีอัตราการรอดสูง วิธีการให้อาหารที่เหมาะสมกับปลาในแต่ละช่วงวัย วิธีการดูแลให้ปลาแข็งแรงปลอดโรค วิธีลดปริมาณศัตรูปลาที่แย่งอาหาร ทำให้ฟาร์มแห่งนี้ มีผลผลิตคุณภาพดี ในปริมาณที่มากขึ้น และมีผลตอบแทนที่สูงขึ้น

จากเดิม ฟาร์มเลี้ยงปลาเนื้อที่ 30 ไร่แห่งนี้ เคยมีรายได้จากการขายปลาอยู่ที่ 600,000 บาทหลังปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงาน ก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1,112,500 บาท ในระยะเวลาเพียงแค่ 10 เดือน หลังจากนั้น เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทะลุหลักล้านมาจนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับเลี้ยง “ปลาสลิด” ให้มีความสุข
ฟาร์มแห่งนี้ เน้นการเลี้ยงและดูแลปลาสลิดแบบธรรมชาติ ก่อนเลี้ยงต้องตากบ่อ ประมาณ 45 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยปลาเข้าเลี้ยงในบ่อ แต่ละบ่อมีความกว้างประมาณ 1.5-2 เมตร ระดับความลึก 1-1.2 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 50-70 เซนติเมตร ระดับน้ำในบ่อสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ที่นี่ปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นหนาแน่นบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลา เพื่อใช้เป็นที่ก่อหวอดและวางไข่ของปลาสลิดแล้ว ต้นหญ้ายังมีประโยชน์ เป็นที่หลบภัยของลูกปลาวัยอ่อนจากศัตรู และใช้ต้นหญ้านำมาหมัก ในแปลงนาก่อนเพาะฟัก ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อแก้ปัญหาความเป็นกรดของน้ำ

เมื่อปลาสลิด อายุราว 20 วัน คุณปัญญาสามารถใช้ต้นหญ้าเป็นอาหารเลี้ยงปลาได้อีกทางหนึ่ง โดยจะฟันหญ้าอ่อนให้ลูกปลากินทุกๆ 15 วันจนกระทั่งลูกปลาอายุประมาณ 4 เดือน สำหรับปลาสลิดที่อายุ 3 เดือน คุณปัญญาจะให้อาหารคือหญ้าอ่อน ควบคู่กับอาหารเม็ดสำเร็จรูป โดยทำยอเป็นที่ให้อาหารในอัตรา 2% ของน้ำหนักตัว เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า

การให้อาหารปลาสลิดในแต่ละครั้ง คุณปัญญาจะจดบันทึกปริมาณอาหารที่ให้ปลา และคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารหมดช่วงเวลาไหน ถ้าปลาสลิดกินหมดช่วงเวลาเย็น แสดงว่าอาหารพอดีกับความต้องการของปลา หากปลาสลิดกินอาหารหมดเร็ว แสดงว่าอาหารไม่พอ ควรเพิ่มปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม

เมื่อปลาสลิดมีอายุได้ 3 เดือน คุณปัญญาจะใช้วิธีการจับปลาแบบยกยอ ทุกๆ 15 – 20 วัน จนกว่าจะจับขายเพื่อตรวจสอบดูว่า 1 กิโลกรัม มีปลากี่ตัว และใน 1 บ่อ มีปลากี่ตัว เพื่อเป็นการคำนวณน้ำหนักของปลาที่เลี้ยงในบ่อทั้งหมด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราส่วนการแลกเนื้อของปลา และอาหาร รวมทั้งคำนวณต้นทุนกำไร

ต้นทุนการเลี้ยงปลาของคุณปัญญา จะคำนวณจากปริมาณอาหารที่ใช้เลี้ยงปลา 87,750 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 10 บาท/ก.ก. รวมมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารปลา 877,500 บาท ขายปลาได้ 48,750 กิโลกรัม แสดงว่าอัตราการแลกเนื้อและอาหารคือ 1:1.8 กิโลกรัม

ส่วนการคำนวณต้นทุนและกำไร ในการเลี้ยงปลาสลิด ให้เอาน้ำหนักปลาที่จับได้คูณราคาขายที่กิโลกรัมละ 50 บาท พบว่าขายได้ 2,437,500 บาท หักค่าต้นทุนค่าอาหารจะเหลือเงิน 1,560,000 บาท จากนั้นนำค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักจะได้ตัวเลขที่เป็นกำไรสุทธิ

“เกษตรกรที่เลี้ยงปลาสลิดในชุมชนแห่งนี้จะมีการแลกเปลี่ยน ข้อมูลข่าวสารกันตลอด เน้นเลี้ยงปลาสลิดแบบธรรมชาติ เลี้ยงในปริมาณที่ไม่หนาแน่น เพื่อให้ปลาเจออากาศบริสุทธิ์ ผมเน้นเลี้ยงปลาสลิดทุกตัวให้มีความสุข เพื่อให้เกิดสารความสุขอยู่ในตัวปลา คนกินปลาก็จะมีความสุขไปด้วย” คุณปัญญากล่าว

ตลาดปลาสลิด
หลังจากเลี้ยงปลาสลิด เป็นระยะเวลา 9 เดือนจะมีพ่อค้าจากสมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม มาเหมาบ่อจับปลา โดยใช้วิธีเปิดอวนออกเช่นเดียวกับการจับกุ้ง สามารถช่วยไม่ให้ตัวปลาบอบช้ำและขายได้น้ำหนักดี โดยปลาสลิดที่จับได้ส่วนใหญ่จะน้ำหนักประมาณ 7-8 ตัว/ กิโลกรัม นอกจากผลิตขายในประเทศแล้ว ส่วนหนี่งยังถูกส่งออกไปขายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม กัมพูชา อีกด้วย

คุณปัญญาภาคภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบอาสาสมัครของ สศก. ทุกวันนี้ คุณปัญญาเปิดบ้านเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านประมงและด้านเกษตรอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

หากใครมีเวลาว่างสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมหรือพูดคุยเรื่องการเลี้ยงปลาสลิดได้ทุกวัน ณ บ้านเลขหมู่ที่ 5 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม คุณปัญญายินดี ถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนเกษตรกรที่สนใจทุกคน หรือ โทรศัพท์พูดคุยกับ คุณปัญญา โตกทอง ได้โดยตรงที่โทร.

สมาคมกุ้งไทยคาดการณ์ ปี 2562 ไทยส่งออกกุ้งได้เพียง 230,000-240,000 ตัน ใกล้เคียง ปี 2560 เหตุผลผลิตกุ้งล้นโลก อินเดียดัมพ์ราคาจนขาดทุนกันถ้วน ต้องลดปริมาณการเลี้ยงลง ขณะที่การบินไทยลดเที่ยวบินเข้าจีน พลอยส่งออกกุ้งได้จำกัด ด้านราคาปลาหมึก-ปลา ที่นำมาทำลูกชิ้นราคาเริ่มกระเตื้อง หลังรัฐให้ชะลอนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายสมชาย ฤกษ์โภคี อุปนายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์กุ้งขาวแวนนาไมในช่วงนี้ว่า “ราคายังไม่ดีขึ้นและมีโรครบกวนตลอด” เนื่องจากมีฝนตกลงตลอดทั้งปี

ทั้งโรคขี้ขาว โรคตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วนที่ยังมีอยู่ ส่วนราคากุ้งขาวหน้าฟาร์มขณะนี้ ขนาด 70 ตัว/กก. ราคา กก. ละ 130-135 บาท ขนาด 100 ตัว/กก. ราคา กก. ละ 100-110 บาท แต่คาดว่าต้นปีหน้าช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 ผลผลิตกุ้งจะออกสู่ตลาดน้อยมาก เพราะอยู่ในช่วงฤดูมรสุมปลายปีปล่อยกุ้งลงเลี้ยงน้อยมาก ดังนั้นราคากุ้งน่าจะขยับขึ้นไปอีก 20-30%

“กุ้งขนาด 70 ตัว/กก. ราคาจะขยับขึ้นเป็น กก.ละ 150-160 บาท ขนาด 100 ตัว/กก. เป็น กก.ละ 130 บาท ขณะที่เวียดนามก็ไม่มีผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาด ด้านอินเดียผู้เลี้ยงรายใหญ่จะปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยงน้อยลงจากปัญหาโรครบกวนมีมาก ดังนั้นการที่อินเดียจะดัมพ์ราคากุ้งลงต่ำก็จะบรรเทาลง ส่วนพ่อค้าจีนที่เข้ามาซื้อกุ้งมีชีวิตหน้าฟาร์มช่วงนี้ ขนาด 50 ตัว/กก. ซื้อราคา กก.ละ 180 บาท และขนาด 70 ตัว/กก. กก.ละ 150-155 บาท ซึ่งจะมีการส่งเข้าโรงงานต้ม ก่อนส่งออกไปจีนและประเทศอื่นๆ ต่อไป การที่จีนให้ราคากุ้งมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงกว่าปกติก็เพราะให้ราคาเพิ่ม หากความเข้มของสีกุ้งและความแข็งแรงของกุ้งดีจะให้ราคาสูงเป็นพิเศษ”

ส่วนสถานการณ์กุ้งกุลาดำ ราคากุ้งมีชีวิตที่รับซื้อหน้าฟาร์มขนาด 40 ตัว/กก. กก.ละ 200 บาท ขนาด 65 ตัว/กก. ราคา กก.ละ 150 บาท และขนาด 74 ตัว/กก. ราคา กก.ละ 165 บาท แต่กุ้งกุลาดำมีชีวิตขนาด 78 ตัว/กก. หน้าฟาร์มราคาเหลือเพียง กก.ละ 130 บาท ภาพโดยรวมราคากุ้งกุลาดำที่ตกต่ำจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยลดลง

การบินไทยมีการลดเที่ยวบินไทย-จีนลงตามไปด้วยเพราะขาดทุน การส่งกุ้งกุลาดำมีชีวิตไปจีนจึงส่งได้จำกัด ในขณะที่มีการเลี้ยงกันเพิ่มขึ้นในฝั่งทะเลอันดามันของไทย

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะกุ้งกุลาดำชนิดเดียว แต่รวมไปถึงกุ้งขาว-ปลา-ปลาหมึก จากทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยที่ได้รับผลกระทบราคาตกต่ำไปด้วย คาดว่าปริมาณการส่งออกกุ้งไทยปีนี้จะใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ส่งออกในระดับ 230,000-240,000 ตัน เนื่องจากช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปริมาณการเลี้ยงกุ้งทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอินเดียที่เลี้ยงมากขึ้นและดัมพ์ราคาขายในราคาขาดทุน ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งไทยขาดทุนและต้องลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลงมา” นายสมชาย กล่าว

ทางด้านสถานการณ์ราคาสัตว์น้ำราคาตกต่ำนั้น นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ล่าสุดทั้งปลาหมึกและปลาที่นำมาผลิตลูกชิ้นที่ราคาตกต่ำในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนที่ผ่านมา “ขณะนี้ราคาเริ่มดีขึ้น” หลังจากที่ภาครัฐให้ผู้นำเข้าชะลอการนำเข้าสัตว์น้ำเหล่านี้จากต่างประเทศ เพราะ “ที่ผ่านมานำเข้าเสรีกันมากเกินไป”