ยักษ์ส่งออกเหนื่อยรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว

จำกัด หรือ STC ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ กล่าวว่าปี 2561 นครหลวงค้าข้าวส่งออกได้ประมาณ 1.5-1.6 ล้านตันหรือลดลงจากปี 2560 เล็กน้อย สาเหตุสำคัญมาจากการแข่งขันของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหม่ที่พัฒนามาจากโรงสี ประกอบกับไทยไม่มีวัตถุดิบข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลไปขาย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2562ขณะนี้ทางผู้ส่งออกเร่งส่งมอบข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์และรอผลสรุปการเจรจาขายข้าวระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) กับคอฟโก้ รัฐบาลจีน แต่ยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ ประกอบกับราคาข้าวในช่วงต้นปีปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาบาทแข็งค่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อที่รับใหม่ จะต้องมีการปรับราคาสูงขึ้นให้สอดรับกับค่าบาท และต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วย “การแข่งขันกับรายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง เพราะเป็นวัฏจักรธุรกิจที่เมื่อรายใหม่ขึ้นมาก็ย่อมแข่งขันเพื่อแย่งตลาดจากผู้ส่งออกรายเดิม โดยกลยุทธ์ที่ใช้คือการกำหนดราคาจูงใจ เช่นให้ราคาถูกกว่าก็เป็นเทคนิคที่ใช้กัน”

ด้าน นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 กล่าวว่า ปี 2561 เอเซีย โกลเด้น ไรซ์สามารถส่งออกข้าวได้1,561,851 ตันหรือลดลงจากปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลุ่มผู้ส่งออกโรงสีมียอดส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาก มีการแข่งขันด้านราคากัน ส่วนเป้าหมายปี 2562 อยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าจะปรับลดลงจากปี 2561 เล็กน้อย

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด คาดการณ์ว่า ปีนี้จะส่งออกได้ระหว่าง 800,000-1 ล้านตัน เพราะการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทางบริษัทได้หันไปทำตลาดข้าวภายในประเทศมากขึ้น

“ปัญหาข้าวเปลือกเวียดนามที่มีการนำมาปลูกจะทำตลาดข้าวไทยเสียหายอย่างมาก เพราะชาวนาไม่รู้ว่าเป็นข้าวอะไร แต่ใช้เวลาปลูกสั้น 90 วันและให้ผลผลิตดีและขายแพงกว่าข้าวเปลือกรวมเกวียนละ 1000 บาทก็สนใจปลูก คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะมีการปลูกข้าวชนิดนี้มากกว่า 100,000 ไร่ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่แก้ไขโดยด่วน และข้าวพันธุ์นี้จะยิ่งปลูกกันมากขึ้น ผมเกรงว่าเวียดนามอาจจะฟ้องร้องไทย ถ้าไทยมีการส่งออกข้าวแบบเดียวกัน ซึ่งมีเมล็ดข้าวใกล้เคียงกับข้าวขาว 10% หรือ 15% ของไทย”

ปลาคาร์พ หรือ แฟนซีคาร์พ (Fancy carp) เดิมทีเป็นปลาไนชนิดธรรมดา เป็นปลาน้ำจืดในกลุ่มปลาตะเพียน (carp) ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โคย (Koi) นิยมเลี้ยงเพื่อความสวยงาม หรือมีความเชื่อว่าปลาคาร์พเป็นปลาแห่งโชคลาภสามารถเสริมฮวงจุ้ยให้กับผู้เลี้ยงทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้า มีผลกำไร จึงทำให้เป็นปลาที่นิยมนำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงามกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

การเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พในประเทศไทย เน้นเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีสีสันที่สวยและเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ เกิดเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เพาะพันธุ์ได้ไม่น้อยทีเดียว

คุณศักรินทร์ สินทะสุทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นเกษตรกรที่ยึดอาชีพเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พมามากกว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาสายพันธุ์และสร้างลูกพันธุ์ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น จนสามารถเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวของเขาได้เป็นอย่างดี

สู่ชีวิตเกษตรกร

คุณศักรินทร์ เล่าให้ฟังว่า หลังจบการศึกษา ปวช. สาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี ได้ยึดการร้องเพลงและเล่นดนตรีเพื่อเป็นอาชีพทำเงิน ต่อมาเมื่อมีโอกาสได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด และได้แต่งงานจึงได้รู้สึกอยากจะอยู่กับที่ ไม่อยากเดินทางเหมือนเช่นสมัยก่อน ทำให้ตัดสินใจมองหาอาชีพใหม่สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว

“พอได้มีโอกาสกลับมาบ้านเกิด ก็ได้แต่งงานมีครอบครัว ทีนี้ก็ไม่อยากเดินทางไปเล่นดนตรีเหมือนสมัยก่อนแล้ว เพราะรู้สึกว่าอิ่มตัว ทีนี้บ้านของภรรยาได้เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดอยู่แล้ว ทีนี้ก็มองเห็นถึงโอกาส จึงได้มาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเพาะพันธุ์ปลา เพื่อเป็นการหาประสบการณ์ พร้อมทั้งช่วยครอบครัวของภรรยาเลี้ยง เพื่อเราจะได้เรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้น ก็สามารถทำจนประสบผลสำเร็จและยึดเป็นอาชีพของตนเองได้” คุณศักรินทร์ เล่าถึงที่มา

ในช่วงแรกเน้นเพาะพันธุ์เป็นปลาฉลามหางไหม้ และปลากาแดง ต่อมาปี’48 ได้มีเพื่อนชักชวนให้มาเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พ จึงได้ตัดสินใจทดลองเลี้ยง พร้อมทั้งพัฒนาและขยับขยายมาเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พทำเป็นธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ จนประสบผลสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

การเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พให้ประสบผลสำเร็จนั้น คุณศักรินทร์ บอกว่า ไม่เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เพราะวิธีการเพาะเหมือนกับปลาน้ำจืดชนิดอื่นที่เขาเคยเพาะพันธุ์มา จึงได้นำวิธีการและเทคนิคต่างๆ ผสมเข้าด้วยกัน ทำให้การเพาะพันธุ์ลูกปลาสามารถทำได้จำนวนมากขึ้นและมีคุณภาพ

โดยพ่อแม่พันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พจะเลี้ยงให้มีความสมบูรณ์ภายในบ่อดิน ขนาด 3 งาน ความลึก 1.5 เมตร ปล่อยเลี้ยงอัตราส่วน 400-500 ตัว ต่อบ่อ อายุขั้นต่ำก่อนที่จะนำมาผสมพันธุ์จะเลี้ยงให้มีอายุอยู่ที่ 2 ปีขึ้นไป จะได้ปลาขนาดไซซ์ 40 เซนติเมตร ซึ่งการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์มีการแบ่งบ่อแยกเพศอย่างชัดเจน โดยไม่นำมาเลี้ยงรวมกัน

“การปล่อยเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จะไม่รวมกัน พอช่วงที่เราจะผสมพันธุ์ ก็จะไปลากอวนนำพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาเพื่อผสมเทียม โดยตัวเมียก็จะรีดไข่ออกมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นนำตัวผู้มารีดน้ำเชื้อผสมลงไปในไข่ที่เตรียมไว้ คลุกเคล้าให้ทั่ว เสร็จแล้วนำไข่ที่ผ่านการผสมเทียมแล้ว มาเทลงในตาข่ายที่เตรียมไว้ แช่อยู่ในน้ำลักษณะคล้ายกระชังผ้า ดูแลไปประมาณ 3 วัน ก็จะได้เป็นตัวลูกปลาออกมา เสร็จแล้วนำลูกปลาที่ออกมาเป็นตัวทั้งหมดไปอนุบาลลงในบ่อดิน” คุณศักรินทร์ บอก

บ่ออนุบาลลูกปลาแฟนซีคาร์พ ใช้บ่อดิน ขนาด 3 งาน ในช่วงแรกให้ลูกปลากินรำละเอียดและปลาป่น พร้อมทั้งปล่อยให้กินอาหารภายในบ่อที่ทำเตรียมไว้อยู่แล้ว หลังจาก 15 วัน เปลี่ยนสูตรอาหารเสริมด้วยอาหารเม็ดที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 32 ให้กินผสมกับอาหารอื่นๆ อีกประมาณ 1 เดือน

เมื่อลูกปลาแฟนซีคาร์พมีอายุได้ 45 วัน จึงนำลูกปลาภายในบ่ออนุบาลทั้งหมด นำขึ้นมาคัดไซซ์เป็นปลานิ้วและดูความสมบูรณ์ต่างๆ ตามความสวยงาม โดยลูกปลาที่ไม่สวยจะนำไปส่งขายให้กับฟาร์มปลากินเนื้อต่อไป ส่วนลูกปลาที่มีลักษณะดีนำส่งขายให้กับลูกค้าได้ทันที

“เนื่องจากการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลาของเรา จะทำเป็นระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ในเรื่องของการที่โรคเกิดขึ้นยังไม่มี เพราะหลังจากที่ส่งลูกปลาขายหมดแล้วในแต่ละครั้ง ก็จะวิดน้ำออกจากบ่อทั้งหมด พร้อมทั้งทำความสะอาดบ่อให้ดี นำน้ำใหม่ใส่เข้ามาเลี้ยงใหม่ ดังนั้น ถ้าเราเตรียมสภาพบ่อดีอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ปลาไม่เกิดโรคจนเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน” คุณศักรินทร์ บอก เน้นทำการตลาดออนไลน์

ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้ามากขึ้น

คุณศักรินทร์ เล่าให้ฟังถึงเรื่องการทำตลาดส่งขายปลาแฟนซีคาร์พว่า เกิดจากการที่เขาได้ไปร่วมงานการประกวดต่างๆ พร้อมทั้งเป็นประธานชมรมปลาสวยงาม จึงทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงกว้าง ทำให้ลูกค้ามีความสนใจและสั่งซื้อลูกปลาเข้ามาเป็นระยะ โดยมีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศสั่งซื้อลูกปลาภายในฟาร์มอยู่เสมอ

“อย่างในประเทศไทย จะนิยม 3 สี เป็นสีพื้นฐานที่อยู่ในปลา ซึ่งที่ฟาร์มจะเน้นทำตลาดล่างกับตลาดกลาง ทำให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ได้จำนวนมาก และทำให้คนที่สนใจใหม่ๆ สามารถหยิบจับซื้อได้ ซึ่งลูกปลาแฟนซีคาร์พ ขนาดไซซ์ 1 นิ้ว ขายอยู่ที่ตัวละ 1 บาท เน้นขายให้มีปริมาณมากๆ ใน 1 เดือน ก็จะส่งขายอยู่ 70,000-80,000 ตัว พร้อมทั้งมีการส่งขายปลา ขนาด 4-5 นิ้วด้วย เป็นการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น” คุณศักรินทร์ บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเพาะพันธุ์ปลาแฟนซีคาร์พเป็นอาชีพ คุณศักรินทร์ แนะนำว่า การเพาะพันธุ์ให้ได้ลูกพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพนั้น ต้องมีพ่อแม่พันธุ์ที่ดีในการเพาะพันธุ์ จะช่วยส่งผลให้ได้ลูกพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ คือสีสดสวย ลูกปลามีความแข็งแรง ส่วนในเรื่องประสบการณ์ต่างๆ ขึ้นอยู่กับเทคนิคของผู้เลี้ยงแต่ละคน ว่าต้องการผสมพันธุ์ให้เป็นไปในทิศทางไหน เพราะถ้ามีใจรักและชอบที่จะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังไงการทำเป็นอาชีพก็ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ออกประกาศผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (ครั้งที่1) ปรากฏมีผู้มีเอกสารและคุณสมบัติครบถ้วนที่จะจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 24 ราย คิดเป็นปริมาณ 71,000 ตัน จะเริ่มส่งมอบวันที่ 26 มกราคมเป็นต้นไป

ในจำนวน 24 รายนี้มีผู้ได้รับการจัดสรรให้ขายน้ำมันปาล์มดิบเกินกว่า 4,000 ตันขึ้นไป ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี 10,000 ตัน, บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน, บริษัทจีรัลย์ปาล์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4,000 ตัน, บริษัท ป.พาณิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน, บริษัทศรีเจริญปาล์มออยล์ จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณงบกลาง 525 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อดึงราคาผลปาล์มของเกษตรกรชาวปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นและแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นก่อนหน้านี้ ซึ่งมีปริมาณ 350,000 ตัน หรือ “สูงกว่า” ระดับสต๊อกปกติที่ควรมีไม่เกิน 250,000 ตัน โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้ช่วยดึงราคาผลปาล์มให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ราคา กก.ละ 3.20 บาท

ปาล์มพัฒนาฯคว้า 10,000 ตัน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดน้ำมันปาล์มตั้งข้อสังเกตกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลจากเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน พบว่าผู้ชนะการประมูลปริมาณสูงสุด ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด จากจังหวัดปัตตานี ได้ไปถึง 10,000 ตัน รองลงมาได้แก่ บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน ขณะที่เหลืออีก 23 รายได้ไปรายละ 2,000-4,000 ตัน ทั้ง ๆ ที่หลายรายล้วนเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ในวงการค้าน้ำมันปาล์มดิบ อาทิ บริษัทยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ได้ไปเพียง3,000 ตัน, บริษัททักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี 2,000 ตัน, บริษัทสุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จ.ชลบุรี 2,000 ตัน เป็นต้น

“มันเป็นเรื่องที่โจษจันกันมากในวงการค้าน้ำมันปาล์มที่บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ ได้รับการจัดสรรให้ขายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ.รายเดียวถึง 10,000 ตัน โดยในตอนแรก TOR กำหนดเงื่อนไขการรับซื้อไว้ว่า ผู้เสนอขายจะต้องมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ 100% แต่อยู่ ๆ คณะทำงานก็ปรับลดสต๊อกลงมาเหลือแค่ 50% และที่เหลือซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ปลูกปาล์มอีก 50% ยกตัวอย่าง

ผู้ที่จะขายน้ำมันปาล์มดิบ 10,000 ตัน ก็มีสต๊อกไว้แค่ 5,000 ตัน ก็ขายได้แล้ว นอกจากนี้คณะทำงานยังมีการปรับมาตรฐานเรื่องของกรดลงจากเดิมไม่เกิน 5% เป็น 7% จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน เป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทเล็ก ๆ จะมีสต๊อกน้ำมันปาล์มมากมายขนาดนั้น หากเป็นสมัยก่อนเราจะดูจากประวัติย้อนหลังการผลิตของโรงงานด้วยว่ามีกำลังการผลิตขนาดไหน และที่สำคัญเป้าหมายคือช่วยเกษตรกรก็ควรจะต้องกระจายไปยังพื้นที่ปลูกปาล์มแหล่งต่าง ๆ ไม่ใช่จะช่วยเกษตรกรเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก็ไม่ได้มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากมายเท่าใดนัก” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้มีรายชื่อขายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ.ระดับ 10,000 ตันพบว่าบริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทุนจดทะเบียน 221,000,000 บาทที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แจ้งประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มดิบ มีผู้ถือหุ้น 5 คน ได้แก่ นายสมนึก มณีโชติ, น.ส.ณัฐศศิ มณีโชติ, นางอารีย์ มณีโชติ, นายธนากร มณีโชติ และ น.ส.ปภัสสร มณีโชติ

สต๊อกปลายปีพุ่ง 7 แสนตัน

ทั้งนี้ มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศมีขึ้นเพื่อพยุงราคาผลปาล์มให้สูงเกินกว่า 3 บาท/กก. ด้วยการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ราคารับซื้อ กก.ละ 18 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2562 รวม 6 เดือน โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

โดยราคาผลปาล์มเฉลี่ยรับซื้อจริงสัปดาห์นี้อยู่ที่ กก.ละ 2.70 บาท น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 17 บาท และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กก.ละ 19.63 บาท สาเหตุที่ราคาผลปาล์มยังไม่ขยับขึ้นทั้ง ๆ ที่มีการประกาศรายชื่อผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.แล้วถึง 71,000 ตัน เป็นเพราะ 1) กฟผ.ยังไม่มีการทำสัญญากับผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบ

2)ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่จะรับซื้อจำนวน 160,000 ตันเป็นแค่ผลทางจิตวิทยาที่ตลาดรับรู้แล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจะขยับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกที่ตอนนี้เริ่มมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นบ้างทำให้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 17 บาท

3) ในปี 2561 สามารถผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 100,000 ตัน (มกราคม-มีนาคม 2561) หลังจากนั้นแทบจะไม่มีการส่งออกน้ำมันปาล์มอีกเลย แสดงให้เห็นว่า มาตรการผลักดันการส่งออกใช้ไม่ได้ผล และ

4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันฤดูกาลใหม่จะเพิ่มสูงจาก 15 ล้านตัน เป็น 16.7 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือจากระดับ 500,000-600,000 ตันในขณะนี้จะพุ่งขึ้นสูงถึง 700,000 ตัน เป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้นการใช้มาตรการปรับสมดุลหรือการเร่งผลิตน้ำมันดีเซล B20 จึงไม่สามารถดันราคาผลปาล์มมากกว่า 3 บาท/กก. เป็นการถาวรได้

น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรว่า ปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มุ่งป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาติดต่อหมูในประเทศ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงด้านอาหาร โดยกรมปศุสัตว์ได้ประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันบูรณาการทำงานพร้อมยกระดับการป้องกันโรคให้แน่นหนายิ่งขึ้น เพื่อเตรียมออกประกาศห้ามนักท่องเที่ยวนำเข้าหรือพกพาเนื้อสัตว์ และสินค้าที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์โดยเฉพาะจากหมูที่มาจากจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรค ไม่ให้เข้ามาในประเทศได้อย่างเด็ดขาด

“ขอย้ำกับประชาชนว่าอย่ากังวล เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่น โดยเกิดเฉพาะในหมูเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันและวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่เข้ามาในเมืองไทย อย่างไรก็ตามในช่วงตรุษจีนที่จะถึงนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำอาหารที่มีส่วนประกอบของหมูเข้ามาด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวจึงต้องเข้มงวดตรวจสอบยิ่งขึ้น

โดยในทุกสนามบินเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มจำนวนสุนัขบีเกิล ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารให้มีความถี่มากขึ้น ที่สำคัญกรมฯเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติในเร็วๆนี้” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว
ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ออกประกาศห้ามนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์มา 2 ครั้ง รวมเป็นเวลา 180 วัน นับจากพบการระบาดในจีนเมื่อ 30 สิงหาคม 2561 พร้อมร่วมมือกับฝ่ายทหาร

จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ด่านกักกันสัตว์ทุกด่าน และสนามบินทุกแห่ง ในการตั้ง 50 ด่านทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์และเข้มงวดการฆ่าเชื้อที่อาจจะแฝงมากับยานพาหนะของนักท่องเที่ยว จากเดิมที่ใช้คลอรีนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เปลี่ยนเป็นยาฆ่าเชื้อแบบโฟมที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นานกว่า 30 นาที ขณะเดียวกันยังร่วมกับ สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และภาคมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาลงกรณ์และมหิดล ในการสกัดกั้นโรคนี้ ควบคู่กับการให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศ และยกระดับการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ระบบการปฏิบัติการทางเกษตรที่ดี ทั้ง GAP (Good Agricultural Practice) และ GFM (Good Farm Management) ที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการอยู่ เพื่อป้องกันโรคอย่างสูงสุด

“ปลิงทะเลขาว” (holothuria scabra) เป็นสัตว์เศรษฐกิจมูลค่าสูงประเภทหนึ่ง โดยชาวจีนนิยมบริโภคเนื้อปลิงทะเลขาว ด้วยความเชื่อในสรรพคุณทางยา ที่ผ่านมาจึงมีการจับปลิงในทะเลธรรมชาติออกไปจําหน่าย โดยนําไปตากแห้ง (Beche-de-mer) ซึ่งได้ราคาสูง อีกทั้งความต้องการของตลาดผู้บริโภคมีจํานวนสูงมากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปลิงทะเลในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว จึงมีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่มีความหวังจะเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

โดยโครงการดังกล่าวได้ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำบ้านปลิงขาวมาให้กับชาวบ้านบริเวณบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง พร้อมหาอาสาสมัครที่มาเป็นจิตอาสามาช่วยดูแล เพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเลให้กลับมาสู่ความอุดมสมบูรณ์ และเป็นห่วงโซ่อาหารที่ยังคงสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่

นายแก่น หญ้าปรั่ง ชาวบ้านบ้านเกาะมุกด์ จึงได้อาสาเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว โดยจะใช้เวลาว่างหลังออกเรือประมง และมีน้ำลงต่ำสุดมาดูแลปลิงขาวในคอก ซึ่งในระยะแรกได้ออกจับปลิงขาวในทะเลหน้าเกาะมุกด์มาปล่อยไว้ในคอก เพื่อให้ผสมพันธุ์และออกไข่ เมื่อน้ำขึ้นไข่และตัวอ่อนของปลิงทะเลจะหลุดรอดออกไปตามช่องตาข่าย เพื่อออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ

การเลี้ยงไม่ต้องให้อาหารหรือดูแลใด ๆ เนื่องจากเวลาน้ำขึ้นจะมีซากแพลงก์ตอน ซากพืช และซากสัตว์ที่จมอยู่ก้นทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยชาวบ้านสามารถเก็บไปกินหรือนำไปตากแห้งขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 5,000-6,000 บาท

การเลี้ยงปลิงทะเลจึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยตลาดจําหน่ายปลิงทะเลขาวมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังได้ปลูกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านเกาะมุกด์ ไม่จับปลิงทะเลวัยอ่อนที่ยังไม่ได้ขนาดมาทำกินเป็นอาหารหรือขาย หากพบผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามกฎของหมู่บ้าน ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณปลิงทะเลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชาวบ้านจับไปกินเป็นอาหารในครัวเรือนได้ทุกวัน ทั้งผัด แกง ต้ม ยำ และนำมาดองเป็นสมุนไพร

ขณะที่นายแก่นจิตอาสาที่เลี้ยงปลิงขาวไว้เพื่อขยายพันธุ์ และไม่ได้ขายเป็นเชิงพาณิชย์ ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยการจัดสรรงบประมาณลงมาเพิ่ม เพื่อจะได้ขยายคอกเลี้ยงปลิงทะเลขาวเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามสื่อใหม่มักพบเห็นการนัดหมายเลี้ยงรุ่นกันมาก สาเหตุอาจจะเป็นเพราะเริ่มมีเวลาว่างและคิดถึงกัน ยิ่งช่วงอากาศเย็น ปลายปี ต้นปี มักถี่เป็นพิเศษ คนเรียนมาหลายสถาบัน ต้องจัดคิวเหมือนดารา

สองปีมาแล้ว มีงานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ช่วงนั้นตรงกับปลายปี ในงานมีลำไยมาให้ได้กินกัน สอบถามแล้วเป็นของ คุณสาคร อาจสุโพธิ์…จริงๆ แล้วงานนั้นเป็นงานของเกษตรสุรินทร์..โกดกง 17 แต่คุณสาคร เป็นโกดกง 18 ด้วยความระลึกนึกถึงพี่ๆ ที่สนิทกัน เขาจึงมาร่วมงาน พร้อมกับผลผลิตลำไยนอกฤดู เกรดส่งต่างประเทศมาให้พี่ๆ ได้ลิ้มรสกัน

โกดกง เป็นนิคเนมของเกษตรสุรินทร์ ซึ่งที่อื่นๆ ก็มี

เมื่อเทคโนโลยีชาวบ้าน ไปทำรายงานพิเศษจังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องราวการทำงานของ คุณสาคร หญิงเก่งและแกร่งคุณสาคร อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 12 ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เธอเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่เกษตรสุรินทร์ เมื่อปี 2528 ขณะนั้นยังไม่ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีอย่างปัจจุบัน

อาชีพเริ่มต้นของคุณสาคร คือทำงานในโรงงานผลไม้กระป๋อง ที่บุรีรัมย์เอง รวมทั้งสกลนครและเชียงใหม่ เธอตระเวนหาประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำหน้าที่ทุกแห่ง

ขณะไปทำงานอยู่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คุณสาครได้ติดรถไปซื้อผลผลิตลำไย เมื่อได้ชิมลำไย เธอนึกขึ้นมาทันทีว่า บ้านมีที่ดินปลูกแต่มันสำปะหลัง อยากปลูกลำไยบ้าง จะได้กินไหม เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงสั่งลำไยพันธุ์อีดอไปปลูกที่ลำนางรอง จำนวน 100 ต้น ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเทคโนโลยี หรือวิธีการทำให้ออกดอก แต่เธออยากปลูก โดยหวังว่า ปีใดอากาศเย็น จะสามารถออกดอกติดผลให้กับเจ้าของได้

“ใหม่ๆ ปลูกแบบเทวดาเลี้ยง ปลูกเมื่อปี 2539 ลำไยเริ่มออกดอก ปี 2543 ดอกออกมาไม่น้อย แต่ดูแลไม่เป็น ได้กิน 2 ลูก” เธอบอกราดสารให้ออกนอกฤดูได้

คุณสาคร บอกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งได้ข่าว มีการระเบิดของสารที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสารที่นำมาทำให้ลำไยออกนอกฤดู แต่เธอก็ไม่ได้มีความรู้ ใน ปี 2543 ได้เดินทางไปดูงานที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพกันมาก

เมื่อกลับมาผลิตลำไย สามารถทำได้ตามที่ไปดูงาน แต่การตลาดยุ่งยากมาก เพราะขายไม่ทัน ลำไยออกมาทีเดียว 5-10 ไร่ ขายไม่หมด จึงหยุดพักการผลิตไว้ก่อน แต่ก็เลี้ยงต้นลำไยไว้ไม่โค่นทิ้ง จนกระทั่ง ปี 2552 ไปดูงานที่อำเภอสอยดาวอีกครั้ง ทีนี้ลาออกจากงานประจำ มาทำสวนลำไยโดยตรงพื้นที่ปลูกลำไยของคุณสาคร เริ่มแรก 14 ไร่ ต่อมาขยายออกเป็น 30 ไร่ มีทั้งหมด 700 ต้น

อายุของต้นที่ปลูก เริ่มปลูกตั้งแต่ ปี 2539 รุ่นแรก รุ่นที่สอง ปี 2554

“แรกสุด ทำลำไย โดยบังคับทีเดียว 30 ไร่ หลังๆ ไม่ไหว แรงงานไม่พอ จึงแบ่งเป็นสองแปลง สามารถจัดการได้” เจ้าของบอกหลักการราดสารนั้น เจ้าของสวนได้หารือกับล้งที่รับซื้อ เช่น จะซื้อขายลำไยกัน วันที่ 15-31 กรกฎาคม 2562 เจ้าของสวนต้องราดสารให้ วันที่ 1 มกราคม 2562 หรือช้ากว่านี้เล็กน้อย ได้รับการอธิบายว่า หลังราดสาร 6 เดือนครึ่ง ถึง 7 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ สารที่ใช้คือ โพแทสเซียมคลอเรต จำนวนที่ใช้นั้น เจ้าของใช้สาร 50 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ราดต้นลำไยได้ 25 ต้น หากคิดถึงทรงพุ่ม ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 8 คูณ 9 เมตร ทรงพุ่มลำไยชนกัน

ก่อนที่จะราดสาร ต้องเตรียมต้นให้มีความสมบูรณ์ โดยการใช้ขี้ไก่ ขี้หมู ใส่ให้กับต้นหลังการเก็บเกี่ยว เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 รวมทั้ง 8-24-24 จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อต้นเมื่อมีผลผลิตใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ

ก่อนเก็บผลผลิต ใส่สูตร 13-13-21 เพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ช่วงมีผลผลิตเจ้าของใส่ปุ๋ยให้กับลำไยเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น ช่วงให้ปุ๋ยต้องมีน้ำให้

น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตลำไย หากไม่มีน้ำไม่ควรจะผลิตลำไยเป็นการค้า แต่ถ้าปลูกต้นสองต้นไว้รอบๆ บ้าน ไม่ต้องให้น้ำก็ได้