ยักษ์ใหญ่ด้านการพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอินทรีย์ของโลก

ได้รับการการันตี รับรองให้เป็นผลิตผลออร์แกนิก 100% มากกว่า 500 สายพันธุ์เอนซา ซาเดน คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ มีความใส่ใจต่อสุขภาพประชากรและสิ่งแวดล้อม จึงได้ก่อตั้งบริษัทในเครือเพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผลแบบออร์แกนิก ไวทัลลิสต์ (Vitalis) ที่มีความแข็งแกร่ง เป็นผู้นำในด้านการปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ของโลกเพื่อการตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกที่มีความต้องการผลิตผลออร์แกนิก มั่นใจได้กับใบประกาศรับรองคุณภาพความเป็นออร์แกนิก 100% มากกว่า 500 สายพันธุ์ ผู้ปลูกเชื่อมั่น ผู้บริโภคมั่นใจ

เอนซา ซาเดน ได้เล็งเห็นศักยภาพของตลาดการเกษตรเมืองไทย จึงได้ตัดสินใจขยายการลงทุนมาประเทศไทย ทั้งนี้ นับเป็นประเทศที่ 3 ที่ได้ตั้งสำนักงานประจำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนการลงทุนนั้นประกอบด้วย งบประมาณโดยตรงส่วนหนึ่ง การถ่ายทอดเทคโนโลยีพืชผลการเกษตรและองค์ความรู้การผลิตที่ล้ำหน้าให้กับเกษตรกรชาวไทย พร้อมสนับสนุนด้านอื่นๆ เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยสามารถสร้างผลกำไรได้มากยิ่งๆ ขึ้น โดยมุ่งเป้าจะสร้างเมืองไทยให้เป็นฐานสำคัญของศูนย์กลางพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชในเอเชีย ยิ่งกว่านี้ เอนซา ซาเดน ยังมีมาตรการนำทรัพยากรต่างๆ เพื่อเตรียมการพัฒนาผลผลิตให้สอดคล้องกับแนวโน้มของความต้องการด้านอาหาร ตลอดจนรูปแบบการบริโภคในอนาคตอีกด้วย

นายปันกาจ (Mr. Pankaj Malik) ผู้อำนวยการบริหารงานส่วนภูมิภาค ให้รายละเอียดว่า “การดำเนินงานของ เอนซา ซาเดน เอเชีย มีหน้าที่ดูแลตลาดสำคัญถึง 13 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ตลาดประเทศไทย ฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น

ประสบการณ์และความรู้ ตลอดจนความเข้าใจในสภาวะต่างๆ ของพื้นที่ จำเป็นยิ่ง

เพื่อให้การบริการและบริหารงานเป็นไปด้วยความคล่องตัว เอนซา ซาเดน จึงได้ก่อตั้งสำนักงานประจำประเทศไทย โดยมีการแต่งตั้งทีมงานที่มีความรู้และประสบการณ์ที่มีความเข้าใจและรอบรู้สถานการณ์ของพื้นที่โดยตรง ทำให้ เอนซา ซาเดน สามารถวิเคราะห์ความต้องการและปัญหาของเกษตรกรท้องถิ่น ตลอดจนสภาวะที่แท้จริงด้านการตลาด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะกับปัจจัยด้านดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่าการลงทุน มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงตามความต้องการของพฤติกรรมการบริโภคชาวไทยได้เป็นอย่างดี นายปันกาจ (Mr. Pankaj Malik) ผู้อำนวยการบริหารงานส่วนภูมิภาค กล่าวปิดท้าย

ใกล้ชิดตลาดและผู้บริโภค

แนวโน้มด้านอาหารสุขภาพมีความต้องการมากยิ่งๆ ขึ้น หนึ่งในนี้คือ พืชผัก เป็นสินค้าหลักสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับมื้ออาหาร ยิ่งกว่านี้ยังเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับการควบคุมอาหารเพื่อการลดน้ำหนักอีกด้วย การเปิดสำนักงานประจำประเทศไทยนี้ ทำให้ เอนซา ซาเดน ใกล้ชิดตลาดและผู้บริโภคมากยิ่งๆ ขึ้น ทั้งกับเกษตรกรและผู้บริโภค ทำให้เราสามารถตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วนตรงตามความต้องการ

เมล็ดพันธุ์หลากหลายที่ดีที่สุด

นายปันกาจ กล่าวว่า “แนวทางการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของ เอนซา ซาเดน นั้น เรามองข้ามปัจจุบันไปไกล โดยพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ไกลไปถึงการครอบคลุมความต้องการในอนาคต สร้างเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแกร่ง ทนต่อสภาวะดินฟ้าอากาศ รวมถึงการรองรับเชื้อโรคใหม่ๆ ต่างๆ และยาฆ่าแมลงที่จะมีพัฒนาการในอนาคตอีกด้วย เมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร พร้อมให้รสชาติที่ถูกปากน่ารับประทานยิ่ง เมล็ดพันธุ์ของ เอนซา ซาเดน นี้ ยังพัฒนาให้เป็นผลผลิตที่มีอายุการเก็บรักษาได้ยาวนาน ทั้งนี้ เป็นการป้องกันและลดการสูญเสียเมล็ดพันธุ์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และบริการอย่างครบวงจร ตลอดทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อาหาร บริษัทมีความจริงใจในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไทย ให้สามารถทำประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ให้เพิ่มมูลค่าได้ทุกตารางนิ้ว พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ จากมาตรการนี้เองเกษตรกรชาวไทยจะมีรายได้เพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้น ในพื้นที่เท่าเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในอาหารและความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งผู้บริโภค เกษตรกรไทย และผู้ผลิตจำหน่ายอาหารทั่วไทย

เกี่ยวกับ เอนซา ซาเดน

เอนซา ซาเดน เป็นบริษัทผู้นำระดับโลกด้านพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช รูปแบบบริหารระดับสากลที่ฉีกแนวแบบธุรกิจครอบครัวอิสระดั้งเดิม พัฒนานวัตกรรมด้านเมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายผ่านศูนย์เพาะเมล็ดพันธุ์เอนซา ซาเดน ทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น กว่า 30 แห่งทั่วโลก เมล็ดพันธุ์เอนซา ซาเดน ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ประกอบด้วย กะหล่ำปลี มะเขือ พริกหวาน แตงกวา แรดิช และหอมใหญ่ ฯลฯ

เมล็ดพันธุ์พืชผักเหล่านี้มีการเพาะปลูกและจำหน่ายไปทั่วโลก จากสถิติพบว่า ในแต่ละวัน หรือสถิติรายวัน ประชากรกว่า 460 ล้านคน ทั่วโลก มีการบริโภคพืชผักที่ปลูกจากเมล็ดพันธุ์ของ เอนซา ซาเดน บริษัทที่ทำการวิจัยพัฒนาเพาะเมล็ดพันธุ์พืชผัก ที่มีการทุ่มงบประมาณมหาศาล จัดสรรงบฯ กว่า 30% ของรายได้ในแต่ละปีเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ความพยายามนี้ได้กลับออกมาในรูปแบบของนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์ที่ล้ำหน้าและสมบูรญ์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีการนำออกสู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคทั่วโลก

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่กำลังระบาดในเวียดนามในขณะนี้ว่า สมาคมร่วมกับภาคผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร เกษตรกร และภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกัน ASF โดยออกหลายมาตรการเข้มงวดกวดขันในการเฝ้าระวังโรคอย่างเต็มที่ โดยกรมปศุสัตว์ออกประกาศ 5 ภาษา ติดประกาศตามด่านชายแดนและท่าอากาศยานทุกแห่ง

“ห้ามนำเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูเข้าสู่ประเทศไทย” หากฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดี ขณะเดียวกัน สมาคมได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การร่วมหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ที่แสดงเจตจำนงในการร่วมมือดูแลด่านกักกันโรคจำนวน 4 ด่านที่ติดกับประเทศลาว ที่ถือเป็นช่องทางผ่านของโรคที่อาจติดมาจากประเทศจีนที่มีการระบาดของโรค โดยในลาวนั้นมีคนจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากมาย ส่วนอีก 1 ด่าน ที่ติดกับกัมพูชาก็บูรณาการร่วมกันป้องกันอย่างเข้มงวด

“ผู้เลี้ยงหมูทุกคนหวังอย่างยิ่งให้ไทยเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของโรค ASF เพราะมีหลายประเทศที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ในระดับสูง ขอขอบคุณรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอ ครม.อนุมัติงบประมาณในกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี

และมีแผนเตรียมความพร้อมรับมือด้วย 8 มาตราการ ใน 3 ระยะ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะหากภาคอุตสาหกรรมสุกรมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคผู้ผลิตพืชไร่ ซึ่งตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกรมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท ที่อาจได้รับความเสียหาย ทำให้ประเทศชาติมีปัญหาในภาพรวม และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจต้านภัย ASF ที่สำคัญขอย้ำว่าหมูไทยปลอดภัยบริโภคได้อย่างมั่นใจ 100%” น.สพ.วิวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ สมาคมได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมในการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะสำหรับขนส่งปศุสัตว์ที่ด่านกักสัตว์ชายแดน ใน 5 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อเป็นปราการป้องกันโรคตามแนวชายแดนจากประเทศลาวและกัมพูชา แต่ละด่านใช้งบ 1 ล้านบาท โดยสมาคมสร้างศูนย์ 1 แห่งที่ริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ จังหวัดหนองคาย และอีก 4 ศูนย์ได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ดำเนินการสร้าง 2 แห่ง ที่ด่าน อำเภอเชียงของ

จังหวัดเชียงราย และด่านจังหวัดมุกดาหาร ส่วน บจ.เบทาโกร สร้างที่ด่านกักกันสัตว์ จังหวัดนครพนม และ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป สร้างที่ด่านปอยเปต จังหวัดสระแก้ว เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งรีบ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมอบศูนย์ทั้ง 5 แห่งให้กับราชการ โดยกรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการดูแลความเข้มแข็งด้านปศุสัตว์ต่อไป ขณะเดียวกัน ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ สมาคม นักวิชาการ และภาคเอกชน ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักและตื่นตัวในการช่วยกันป้องกัน ASF ในทุกช่องทาง

(วันที่ 11 มีนาคม 2562) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ลงนามความร่วมมือ กับ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCA) ของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” และคาดการณ์ผลจากการดำเนินงานส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากรของคู่ค้าภาคี และสนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ สำหรับประเทศไทย ภายในงานสัมมนา “ภาคเอกชนกับการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) รวมทั้งผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมสัมมนา

ดร. จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจากการดำเนินงานการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Public Procurement (GPP)

ที่กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานมาตั้งแต่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2551-2554) จนถึงปัจุบันเข้าสู่แผนส่งเสริมฯ ระยะที่ 3 (ปี พ.ศ. 2560-2564) ทั้งนี้สหภาพยุโรปได้นิยาม GPP ไว้ว่า เป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐผนวกเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเข้ากับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการค้นหาและเลือกผลลัพธ์หรือทางออกที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุดผ่านการพิจารณาวัฏจักรของสินค้าตลอดวัฏจักร

“ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอ็มเทค สวทช. ได้นำองค์ความรู้ เทคนิคและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้สนับสนุนการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต ที่สามารถใช้ในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคาดการณ์ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ได้ โดยเอ็มเทค ได้สั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านดังกล่าวมานานนับสิบปี อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ดูแล จัดทำ และให้บริการฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย (National Life Cycle Inventory Database)

มาตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น เอ็มเทค สวทช. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่มีจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กรมควบคุมมลพิษดำเนินการได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 12 (สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน) ข้อ 12.7 (ส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาคสาธารณะที่ยั่งยืน ตามนโยบายและการให้ลำดับความสำคัญของประเทศ) และข้อ 12.6 (สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติ นำแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืนมาใช้ และบูรณาการพัฒนาในกระบวนการรายงานรวมทั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก)” ดร. จุลเทพ กล่าว

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมมลพิษ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในครั้งนี้ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย โดยจะสนับสนุนข้อมูลซึ่งกันและกัน ผ่านแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่ง แวดล้อม ระยะที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 สำหรับให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ

องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย องค์กรอิสระ และภาคเอกชน ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นแล้วกรมควบคุมมลพิษได้จัดสัมมนาเรื่อง “ภาคเอกชนกับการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก” โดยได้ขยายกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างไปยังภาคเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ภาคเอกชนมีการแจ้งผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

และรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในองค์กร ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ภาคการผลิต ผู้ประกอบการ มีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นฐานการผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวทางส่งเสริมการบริโภค และผลิตที่ยั่งยืน Sustainable Consumption and Production : SCP (SDG 12) การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

@คาดภายในปี’64 ลดก๊าซเรือนกระจกได้ ร้อยละ10 ประหยัดงบฯ 3 หมื่นล้านบาททั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ และ เอ็มเทค สวทช. ได้ร่วมมือกันในการประเมินวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการคาดการณ์ผลที่ได้รับจากการดําเนินการตามแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มตั้งแต่แผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้าง ระยะที่ 1 ของแผนส่งเสริมฯ ปี 2551-2554 มีสินค้าที่นํามาคํานวณก๊าซเรือนกระจก 12 รายการ ส่งเสริมเฉพาะหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง 170 หน่วยงาน

จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 25,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถประหยัดงบประมาณ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมประมาณ 200 ล้านบาท สําหรับ ระยะที่ 2 ของแผนส่งเสริมฯ ปี 2556-2559 มีรายการ สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 17 รายการ และได้เริ่มมีการขยายผลการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย และ อปท. ขนาดใหญ่ ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างฯ จากการคาดการณ์หากทุกหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างครบในรายการสินค้าทั้งหมด จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 11.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสามารถประหยัดงบประมาณ ในการรักษาสิ่งแวดล้อม ประมาณ 25,000 ล้านบาท

สําหรับ ระยะที่ 3 ของแผนส่งเสริมฯ 2560-2564 มีรายการสินค้าและบริการ 30 รายการ และขยายการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ อปท. และเอกชน ร่วมจัดซื้อจัดจ้าง หากทุกหน่วยงานร่วมจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมครบ คาดว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นจาก ระยะที่ 2 อย่างน้อย ร้อยละ 5-10 และจะสามารถประหยัดงบประมาณในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยกว่า 30,000 ล้านบาท

บริษัท ซี.พี. เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซี.พี.เวียดนาม) ร่วมมือรัฐบาลเวียดนามเข้มแข็ง เร่งให้ความรู้แนวทางการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ตามมาตรฐานสากล พร้อมสนับสนุนรัฐบาลทุกแนวทางในการควบคุมโรคทั้งระดับประเทศและเกษตรกร เพื่อให้สถานการณ์ทั้งการเลี้ยงและการบริโภคกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นายจิรวิทย์ รชตะนันทน์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายธุรกิจสุกร และธุรกิจฟาร์ม ซี.พี.เวียดนาม และกลุ่มประเทศ CLMVเปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค ASF และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศเวียดนาม บริษัทฯ ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรม ปศุสัตว์และกรมสัตว์แพทย์ เพื่อสนับสนุนมาตรการควบคุมโรค ASF อย่างเข้มงวด เช่น ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรในพื้นที่ที่พบเชื้อและพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 3 กิโลเมตร จากจุดที่พบเชื้อ พร้อมทั้งสุ่มเจาะเลือดสุกรในฟาร์มทุกแห่งในบริเวณดังกล่าว การจัดและควบคุมรถ ขนส่งสุกร อาหารสัตว์ ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาด พ่นปูนขาว หยุดพักรถเพื่อตรวจสอบปลอดเชื้อ 100% ศูนย์จัดจำหน่ายสุกร ต้องมีการตรวจโรคและให้การรับรอง 100% จากหน่วยงานราชการและสัตวแพทย์วิชาการ เป็นต้น

นอกจากมาตรการที่ทั้งภาครัฐและบริษัทร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันโรคแล้ว บริษัทยังได้พบและร่วมือกับคณะทำงานของรัฐบาลทั้งกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ในการรณรงค์ สื่อสาร ทุกช่องทางทั้งทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และทางเวปไซด์ต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคกลับมาบริโภคเนื้อหมูตามปกติ รวมทั้งออกมาตรการเด็ดขาดโดยภาครัฐ ในการดำเนินการกับกลุ่มที่สื่อและส่งต่อภาพข่าวที่ไม่เป็นความจริง น่ากลัว ที่สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ ซี.พี.เวียดนาม ยังคงติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารของบริษัทได้เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม โดยได้รายงานถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF ของบริษัทฯ ตั้งแต่มีการประกาศภาวะโรคในจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 จนกระทั่งเวียดนามประกาศพบเชื้อในฟาร์มขนาดเล็ก และให้ความช่วยเหลือด้วยการเชิญผู้เชี่ยวชาญโรคดังกล่าว มาให้ความรู้ด้านการป้องกันโรคแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเข้ามาในประเทศ

นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการควบคุมเข้มงวดในฟาร์มของบริษัทตามมาตรฐานสากลและการป้องกันโรคทางชีวภาพ การให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะโรคแก่พนักงานบริษัทฯ การจัดสัมมนาให้ความรู้กับลูกค้าอาหารสัตว์มากกว่า 157 ครั้ง และฟาร์มเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศกว่า 767 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรทั่วประเทศดำเนินการป้องกันโรคเชิงรุกมากขึ้น ตลอดจนการทำคู่มือ โปสเตอร์ และหนังสือให้ความรู้เรื่องโรค ASF และการป้องกันโรคทางชีวภาพ

“ฟาร์มสุกรของซี.พี.เวียดนาม ทุกแห่งเป็นฟาร์มมาตรฐาน มีระบบการป้องกันโรคและมาตรการจัดการที่เข้มแข็ง ทำให้สามารถป้องกันโรค ASF ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นแก่เกษตรกรทั้งของบริษัทเองและเกษตรกรอิสระ” นายจิรวิทย์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัทฯได้มอบงบประมาณกว่า 150,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อ Test Kit (ASF) และสารเคมีจำเป็น ผ่านกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม สำหรับตรวจวินิจฉัยโรค ASF- REALTIME PCR ซึ่งจะช่วยให้การจัดการปัญหาทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายจิรวิทย์ กล่าวย้ำว่า บริษัทฯ ยังคงทำงานร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลเวียดนาม ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องว่าโรคดังกล่าวเกิดเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่มนุษย์และสัตว์อื่น เนื้อหมูสามารถรับประทานได้ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคเวียดนาม

นายเชิดชัย พรหมแก้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องการส่งเสริมให้สหกรณ์ผลิตผลไม้เกรดพรีเมี่ยมให้คนไทยได้รับประทาน และใช้เครือข่ายสหกรณ์เป็นช่องทางกระจายผลผลิตไปทั่วประเทศ จึงชวนสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ทำข้อตกลงกับสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นฝั่งของผู้บริโภค เพื่อสร้างช่องทางจำหน่ายผลไม้ผ่านกลไกสหกรณ์ โดยจะเน้นการระบายผลไม้ตามฤดูกาล ทั้งมังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ส้มสายน้ำผึ้ง จากสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ

โดยชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงและประสานงานกับสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้กับสหกรณ์ผู้ซื้อ เบื้องต้นได้มีการทำบันทึกข้อตกลง ร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จังหวัดระยอง ผลิตทุเรียน กลุ่มเกษตรกรทำไร่โป่งน้ำร้อน จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตส้มสายน้ำผึ้ง และชุมนุมสหกรณ์จังหวัดยะลา จำกัด ผลิตลองกอง ทำข้อตกลงกับตัวแทนสหกรณ์ผู้ซื้อ 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์กรมศุลกากร จำกัด และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ จะมีการนำร่องเปิดให้สั่งจองทุเรียนล่วงหน้ารอบแรกในเดือนเมษายนนี้ โดยมีเงื่อนไขประกันทั้งคุณภาพและราคากิโลกรัมละ 130 บาท ผู้บริโภคจะได้มีโอกาสรับประทานทุเรียนหมอนทองคุณภาพดี ได้มาตรฐาน GAP เป็นการสั่งซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งจะได้ราคาที่ยุติธรรม

นายศิริชัย ออสุวรรณ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงตลาดและช่องทางกระจายผลไม้สหกรณ์ทั้งหมด ขณะนี้กำลังเปิดรับการสั่งจองทุเรียน ล่วงหน้า รอบแรกปริมาณ 100,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 130 บาท จุดเด่นทุเรียนของสหกรณ์ มีการรับประกันคุณภาพทุกลูก พร้อมกล่องบรรจุภัณฑ์เรียบร้อย มีเอกสารระบุวันที่ควรรับประทานทุเรียน และจัดส่งให้ผู้บริโภคตรงตามเวลา ค่าส่งเก็บเงินปลายทางตามระยะพื้นที่ หากลูกค้าได้รับทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ ยินดีคืนเงินให้ทันที นอกจากนี้ ในการกำหนดราคาซื้อขายที่ราคา 130 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากช่วงเวลาใดที่ทุเรียนปรับราคาลง สหกรณ์จะปรับลดราคาให้ตามราคาตลาด แต่ถ้าราคาตลาดมีการปรับราคาขึ้น ทางสหกรณ์จะคงขายในราคากิโลกรัมละ 130 บาทเท่าเดิม

นายเรวัตร์ แสงวารินทร์ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จังหวัดระยอง กล่าวว่า มีสมาชิกที่ปลูกทุเรียน ประมาณ 600 ราย โครงการจองทุเรียนล่วงหน้านี้นับว่าเป็นโครงการใหม่ ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน แต่เดิมชาวสวนทุเรียนนิยมนำทุเรียนไปขายให้กับล้งเพื่อส่งออกตลาดต่างประเทศหรือที่เรียกว่าลงกล่อง แต่ในปีนี้สหกรณ์จะเน้นให้สมาชิกคัดทุเรียนคุณภาพเพื่อขายตลาดในประเทศมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มผู้บริโภคในขบวนการสหกรณ์ด้วยกันก่อน โดยสหกรณ์จะรวบรวมเฉพาะผลผลิตของสมาชิกที่ตั้งใจเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการทำสินค้าให้ได้คุณภาพเกรดพรีเมียม เป้าหมายคืออยากให้ผู้บริโภคคนไทยได้กินทุเรียนคุณภาพดีในราคาที่เข้าถึงได้

นางสาวสมพร แสงวารินทร์ เจ้าของสวนทุเรียนป้าลำไย จังหวัดระยอง กล่าวว่า ปลูกทุเรียนทั้งหมด 70 ไร่ เน้นการดูแล และตัดทุเรียนเอง เพื่อสำรวจความสุกของทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วมโครงการของสหกรณ์ ราคารับซื้อน่าจะเกินกว่าตลาดประมาณ 5 บาท แต่อย่าต่ำกว่าราคาของท้องตลาด ทางสวนก็พอใจคัดทุเรียนมาขายให้สหกรณ์