ยายสู้ชีวิต สาน ”เสื่อคล้า” หวั่นเป็นตำนานไร้คนสืบทอด

คุณยายวัย 67 ปี ที่ตรัง สู้ชีวิต สร้างงานให้กับตัวเอง ประดิษฐ์งานฝีมือสานสาดคล้า หรือเสื่อคล้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างงาน สร้างรายได้ หวั่นจะกลายเป็นตำนานไร้คนสานต่อ โอดไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาส่งเสริม

เมื่่อวันที่ 11 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง บ้านเลขที่ 140/1 ม.6 ต.โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นบ้านของ คุณยายจำเรียง คล้ายเถาว์ อายุ 67 ปี นั่งสาละวนและตั้งอกตั้งใจสานสาดคล้า หรือสานเสื่อคล้า โดยบริเวณใกล้เคียงคุณยายจำเรียง มีกองต้นคล้าวางเรียงรายเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งสาดคล้าหรือเสื่อคล้า จัดวางอย่างเป็นระเบียบ พร้อมที่จะขายให้กับชาวบ้านที่สนใจเลือกซื้อสาดคล้า ซึ่งเป็นงานฝีมือที่เกิดจากปัญญาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

คุณยายจำเรียง เล่าให้ฟังว่า ทำงานฝีมือสานสาดคล้ามาตั้งแต่อายุ 17 ปี ได้เรียนรู้การทำเสื่อจากพ่อ ด้วยสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านเป็นหนองน้ำ เป็นที่นา ทำให้มีต้นคล้าจำนวนมาก ซึ่งต้นคล้า เป็นไม้ล้มลุก เจริญเติบโตขึ้นเป็นกอมีอายุหลายปี ลำต้นมีทั้งแบบตั้งตรง มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นกลมเป็นสีเขียวเข้มออกเป็นข้อๆ และมีข้อปล้องยาว หากรวมทั้งก้านและใบจะมีความสูงประมาณ 1-2 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อปลูกในที่เป็นน้ำหรือเป็นโคลนตามริมคลองริมสระหรือตามลำธาร

คุณยายจำเรียง บอกว่า ปัจจุบัน นอกจากตนมีอาชีพสานสาดคล้าแล้ว ผู้เฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านก็มีการสานสาดคล้ากัน แต่ขณะนี้บางคนล้มหายตายจากกันไป ในหมู่บ้านก็มีตนที่สานเสื่อคล้าอยู่ และยังคงสานเสื่อคล้าต่อไปเรื่อยๆ เพราะเสื่อคล้ายังเป็นที่ต้องการของตลาด เสื่อคล้ายังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่อีกมาก เช่น การจะรำมโนราห์ จำเป็นต้องใช้เสื่อคล้ามาปูในโรงมโนราห์ การบูชาบรรพบุรุษ หรือการตั้งศาลตายายของคนปักษ์ใต้ ก็ต้องใช้เสื่อคล้ามาปูเช่นกัน ที่สำคัญเสื่อคล้ามีคุณสมบัติที่เก็บความเย็นไว้ได้ดี ผู้คนจึงนิยมนำเสื่อคล้ามาปูนอนกัน และบ้างก็เชื่อว่าการที่ได้นอนเสื่อคล้าจะทำให้บรรเทาอาการเจ็บป่วยได้

“การสานเสื่อคล้า ก็ไม่ยุ่งยากหรือลงทุนอะไรมากมาย นอกจากความชำนาญที่สั่งสมมาและความตั้งใจ การสานเสื่อคล้าเริ่มต้นจากการไปเลือกตัดต้นคล้ามาจากป่าพรุ เลือกต้นที่แก่พอสมควร ดูได้จากสีของต้นมีลักษณะเข้ม จากนั้นนำมาผ่าเป็น 4 ซี่ แล้วลอกเอาไส้สีขาวออกให้หมด ด้วยมีดตอก หรือมีดพร้าก็ได้ จากนั้นนำไปตากแดด 2-3 แดด ต่อไปก็เริ่มนำมาสานเป็นผืนเสื่อ โดยลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการสานเสื่อคล้าคือ ลายสอง ทั้งนี้ ความยาว ความกว้าง ของเสื่อขึ้นอยู่กับความยาวของต้นคล้า ราคาขายจะขึ้นอยู่กับขนาดของเสื่อแต่ละผืน ปัจจุบัน คุณยายจำเรียง คล้ายเถาว์ จะขายอยู่ที่ผืนละ 400-800 บาท แต่กว่าจะได้เสื่อคล้าหนึ่งผืนจะต้องใช้เวลา 3-5 วัน กันเลยที่เดียว น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ หรือให้การสนับสนุนการสานเสื่อคล้าเลย ต่อไปคงกลายเป็นตำนานเพราะไร้คนสานต่อ” คุณยายจำเรียง กล่าว

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังมอบนโยบายให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ขณะนี้กำลังเร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร อีดีซี ในเฟสที่ 2 ตามร้านค้าธงฟ้าประชารัฐอีก 2 หมื่นร้านค้า เพื่อขยายความสะดวกให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ใช้บริการในการรูดบัตรซื้อสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะทำให้มีร้านธงฟ้าประชารัฐครบ 4 หมื่นร้านค้า ตามเป้าหมาย ขณะเดียวกันกำลังพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้มีศักยภาพในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น นำร่องจากร้านค้าทั้ง 4 หมื่นแห่ง เป็นโชห่วยมืออาชีพ โดยเพิ่มการให้บริการและนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ เช่น การใช้คิวอาร์โค้ดในการซื้อขายสินค้า พร้อมกับเพิ่มจำนวนร้านค้ารายย่อยระดับจังหวัดรองและทุกอำเภอทั่วประเทศ ก็จะทำให้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเกิน 6 หมื่นแห่ง ในระยะต่อไป ซึ่งจะมีการเปิดตัวในเร็วๆนี้

“ตอนนี้กำลังพัฒนา 2 ด้าน คือ พัฒนาระบบเพิ่มการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์ตามยุคสังคมดิจิทัล และ พัฒนาระบบให้ต้นทุนสินค้าต่ำลงกับผู้ผลิตสินค้า โดยเน้นลดค่าขนส่งและจัดทำสินค้าคุณภาพราคาต่ำ จัดทำเป็นมุมสินค้าธงฟ้าประชารัฐ พร้อมกับเปิดให้ร้านค้าธงฟ้าเป็นแหล่งรับซื้อและกระจายสินค้าชุมชนสินค้าท้องถิ่น เช่น ข้าว ผลไม้ หรืออาหารแปรรูป ซึ่งการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะทำให้ผู้ขายทราบว่ามีการซื้อขายสินค้าชนิดใด จำนวนเท่าใด เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการและกระจายสินค้าสู่ชุมชน รวมถึงผู้ซื้อได้สินค้าตรงตามความต้องการ ต่อไปก็จะขยายให้แต่ละร้านค้าเข้าตลาดค้าออนไลน์ต่อไปด้วย ถือเป็นการรับมือการแข่งขันค้าปลีกกับค้าปลีกขนาดใหญ่” นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการกำกับดูแลร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการสมัครเข้าเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ โดยกระทรวงฯ จะมีการตรวจสอบร้านค้า และจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง จะปลดออกจากโครงการ และยึดคืนเครื่องรูดบัตรทันที สำหรับยอดจำหน่ายสินค้าผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2560 – 8 พฤษภาคม 2561 มียอดใช้จ่ายไปแล้ว 25,986 ล้านบาท จากงบประมาณผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ในทางเศรษฐกิจเงินที่ใช้จ่ายจะหมุนเวียนในระบบ 3-4 รอบ ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนต่อเศรษฐกิจเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กำลังเร่งรัดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าโครงการฝึกอาชีพให้เกิน 7 ล้านคน ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ จากผู้มีสิทธิฯ 11.4 ล้านคน และขณะนี้สมัครเข้าโครงการแล้ว 6.4 ล้านคน

นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2561/62 โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นแกนหลักในการดำเนินการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) และบริการการเกษตร เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ ปี 2561/62 โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่และใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและศูนย์เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยให้หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรฯ ให้บริการด้านการเกษตรเพื่อสนับสนุนเกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือพืชเศรษฐกิจ คือ ลำไย ดังนั้น เพื่อเป็นการสานต่อนโยบายดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ประจำปี 2561 ขึ้น ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ มีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณภาพของผลผลิต อาทิ การตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม และช่อผล การราดสาร การให้น้ำ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการวางแผนการลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ และการทำปุ๋ยหมัก ตลอดจนมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิต ส่งผลให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน

สำหรับกิจกรรมภายในงาน จะเน้นการสาธิตและถ่ายทอดความรู้ โดยแบ่งออกเป็น 6 สถานีเรียนรู้ ได้แก่

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่เตรียมความพร้อมของต้นลำไย การตัดแต่งกิ่งลำไย การราดสารและรูปแบบการให้น้ำอย่างเหมาะสม เพื่อผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ

2. การลดต้นทุนการผลิต เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและการผสมปุ๋ยใช้เอง การใช้สารชีวภัณฑ์

3. บัญชีและสหกรณ์ เป็นการจัดทำบัญชีครัวเรือนการสอนทำบัญชีครัวเรือน ตัวอย่างของคนนำไปใช้ การรวมกลุ่มสหกรณ์ข้อมูลการรวมกลุ่มสหกรณ์

4. เศรษฐกิจพอเพียง เช่น ศาสตร์พระราชา ตัวอย่างเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แปลงใหญ่ การสาธิตการผสมอาหารไก่ สาธิตการทำประมงในบ้าน

5. การตลาดและการประชาสัมพันธ์ ข้อมูลของตลาด ปริมาณผลผลิต ปริมาณการรับซื้อ การแปรรูปลำไย และ

6. การเพิ่มมูลค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นสรรพคุณทางยาของลำไย รวมถึงคุณค่าทางอาหารของลำไย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการเนื่องในโอกาสครอบรอบ 50 ปี กรมส่งเสริมการเกษตร โดยการจัดแสดงความเป็นมาของการปลูกลำไยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่กรมฯ ยังไม่ได้เข้ามาส่งเสริม จนปัจจุบันกรมฯ ได้ส่งนักวิชาการเข้ามาส่งเสริมในทุกพื้นที่ จนสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตและมีตลาดรองรับแน่นอน ตลอดจนการวางแผนการผลิต แปรรูป และตลาดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า เกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป ที่เข้าร่วมงานจะได้รับการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพ การลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนทราบช่องทางการเพิ่มรายได้ และสามารถจัดทำบัญชีครัวเรือนได้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ถนนพหลโยธินขาออกช่องทางคู่ขนานตั้งแต่หน้าร้านสุขภัณฑ์บุญถาวร ถึงหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีน้ำท่วมขังเป็นจำนวนมาก ทำให้รถเก๋งและรถจักรยานยนต์ที่ผ่านเส้นทางนี้ขับโดยความยากลำบากเพราะน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ด้านวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้มีฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงบ่าย ทำให้ถนนพหลโยธิน หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีน้ำท่วมขังสูงเพราะน้ำระบายไม่ทัน น้ำจะท่วมขังอย่างนี้ทุกครั้งเมื่อมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะระบายออกไปหมด และในซอยรังสิตภิรมย์ก็มีน้ำท่วมขังสูงวินรถจักรยานยนต์รับจ้างต้องยืนแช่น้ำเพื่อรอรับผู้โดยสาร

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีชาวบ้านจากจังหวัดใกล้เคียง และชาวบ้านจังหวัดพิจิตร จำนวนมากยังคงแห่เข้าไปขุดทองคำในพื้นที่เขาพนมพา หมู่ 7 ต.หนองพระ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน โดยชาวบ้านลักลอบขุดดินหาแร่ทองคำ โดยชาวบ้านบางคนหัวใสนำรถแทรกเตอร์และรถไถนา เข้าไปรับจ้างขุดดินให้ชาวบ้าน นำมาร่อนแร่หาทองคำ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ชาวบ้านจะได้ถึงแร่ทองวันละ 1-2 กรัม บางวันโชคดีได้ถึง 4-5 กรัม หลังจากที่ราคาทองคำพุ่งสูงกว่าบาทละ 20,000 บาท โดยชาวบ้านต้องขุดลึกลงไปใต้ดินเพื่อหาแร่ทองคำลึกกว่า 4-5 เมตรสร้างรายได้ เป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้าน บอกว่า ขุดหาแร่ทองคำแม้เสี่ยง แต่ได้เงินดีกว่าไปทำงานกทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 เจ้าหน้าป่าไม้จังหวัดพิจิตร ร่วมกับฝ่ายปกครอง และทหาร มทบ.36 รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปผลักดันและทำความเข้าใจชาวบ้าน ว่าห้ามเข้าไปลักลอบขุดหาแร่ทองคำบนเขาพนมพา เนื่องจากเป็นพื้นท่าป่าสงวน อีกทั้งการขุดจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดความเสียหาย โดยวันนี้ยังพบว่ามีชาวบ้านจำนวนมาก แอบลักลอบนำเอาเครื่องจักรกล อุปกรณ์การขุดหาแร่ทองคำชนิดต่างๆ เข้าไปขุดหาแร่ทองคำบนเขาพนมพา โดยต้องขุดลึกลงไปใต้ดินลึก ซึ่งพบว่ามีต้นไม้ หน้าดิน และถนน ได้รับความเสียหายไปจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล

ชาวบ้านหมูที่ 1 ตำบลหนองพระ อายุ 45 ปี กล่าวว่า โดยตนเองจ้างรถไถมาขุดดินเพื่อเอาดินมาร่อนหาแร่ทองคำ โดยจ้างรถไถ่ขุดดินชั่วโมงละ 700 บาท เมื่อร่อนเสร็จจะได้ทองคำ จากนั้นจะนำไปขายให้กับคนที่มารับซื้อถึงที่ ซึ่งจะได้เงินวันละ 1,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว แต่ยังโชคดีที่ราคาทองช่วงเพิ่มขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน นอกจากนี้ การขุดหาแร่ทองคำแม้เสี่ยง แต่ได้เงินดีกว่าไปทำงานกทม. อีกทั้งอยู่ใกล้บ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าแปลกใจมากว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงปล่อยให้ชาวบ้าน แอบเข้าไปลักลอบขุดทองบนเขาพนมพา ทั้งที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนอีกทั้งถนนถูกขุดเสียหาย นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าพื้นที่ของวัดธรรมกายเอง ก็ยังมีชาวบ้านลักลอบเข้าไปขุดหาแร่ทองคำ โดยไม่มีใครเข้าไปแสดงตนว่าเป็นเจ้าของ ปล่อยให้ชาวบ้านขุดได้อย่างเสรี

วันที่ 11 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากในห้วงสัปดาห์นี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน ทำให้มีเห็ดป่างอกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวบ้านต่างพากันออกไปหาเห็ดป่ามาประกอบอาหารลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงหามาจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมกันเป็นจำนวนมาก

บริเวณริมถนนช่วงสามแยกบ้านอังโกน – ห้วยทราย ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี เป็นจุดที่มีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่หาของป่านำสินค้ามาวางจำหน่ายเป็นประจำ มาในช่วง 3-4 วันนี้ ของป่าที่นำมาวางจำหน่ายแทบทุกเจ้า จะเป็นเห็ดโคน และเห็ดระโงก–ไข่หงส์ ถือเป็นราชาและราชินีแห่งเห็ด ที่หาได้เฉพาะจากธรรมชาติเท่านั้น และมีรสชาติดีกว่าเห็ดป่าชนิดอื่นๆ ในแต่ละวันจะมีพ่อค้าแม่ค้านำเห็ดมาวางจำหน่ายวันละกว่า 10 ราย แต่ละรายมีเห็ดมาวางจำหน่ายหลายสิบกิโลกรัม สร้างรายได้วันละหลายพันบาท โดยเฉพาะในช่วงนี้บริเวณดังกล่าวสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับพ่อค้าแม่ค้าไปแล้วหลายหมื่นบาท

นางชะลิ่ม จันดอนแดง อายุ 49 ปี หนึ่งในแม่ค้าขายเห็ด กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับในช่วงกลางวันมีอากาศร้อนจัด เหมาะอย่างมากต่อการงอกของเห็ดป่า จึงทำให้มีปริมาณเห็ดป่ามากกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา และมีออกมาวางจำหน่ายกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3-4 วันมานี้ มีเห็ดโคน และเห็ดระโงก–ไข่หงส์ ซึ่งเป็นเห็ดที่นิยมรับประทานกันทั่วไปงอกออกมามากเป็นพิเศษ แต่ละวันก็จะมีชาวบ้านออกไปหามาวางจำหน่ายรายละกว่า 10 กิโลกรัม ราคาขายก็จะต่างกันออกไปตามสภาพของเห็ด

อย่างเช่นเห็ดดอกตูมๆก็จะคัดขายกันกิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนเห็ดที่บานแล้วก็จะขายกันกิโลกรัมละ 200–300 บาท ตามสภาพ และเห็ดที่ได้มาวางขายที่จุดนี้จะเป็นเห็ดที่ชาวบ้านหามาได้สดๆและปลอดสารเคมี เนื่องจากหามาได้จากแหล่งป่าไม้ชุมชน จึงทำให้เป็นที่นิยมของลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยแต่ละรายจะได้เงินกลับบ้านจากการจำหน่ายเห็ดวันละ 2,000–4,000 บาทเลยทีเดียว ถือเป็นโอกาสทองของชาวบ้านที่ชอบออกหาของป่าอย่างแท้จริง

พาณิชย์ จับมือสหกรณ์ ผู้ประกอบการ เซ็นเอ็มโอยูรับซื้อ “ข้าวกข43” หวังช่วยสร้างความมั่นใจมีช่องทางการขายข้าว พร้อมสร้างการรับรู้ประโยชน์ให้ผู้บริโภค เหตุเป็นข้าวที่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลน้อย เป็นทางเลือกกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคไต

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการเชื่อมโยงและรับซื้อข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว โดยมีนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงนามร่วมระหว่างสหกรณ์เกษตรกรและผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าสินค้าเกษตรมีตลาดรองรับอย่างแน่นอน ซึ่งทั้งแบบครบวงจรทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมทั้งส่งเสริมให้บริโภคข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว มากขึ้น

สำหรับการเชื่อมโยงการรับซื้อข้าว กข43 ระหว่างผู้ประกอบการแปรรูปข้าว ได้แก่ ผู้ประกอบการจำนวน 7 ราย รับซื้อข้าวจากสหกรณ์การเกษตร ผู้ผลิตข้าว กข43 จำนวน 8 ราย ปริมาณผลผลิต 1,121 ตันข้าวเปลือก และเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว กข43 ทั้ง 7 ราย กับผู้ประกอบการ โมเดิร์นเทรด จำนวน 4 ราย ได้แก่ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เดอะมอลล์ กรุ๊ป และเซ็นทรัลฟูดส์ เพื่อวางจำหน่ายข้าว กข43 โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

โดยราคาจำหน่าย อยู่ที่ราคา 60 บาทต่อกก. เริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป พร้อมจะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภค ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม – กรกฏาคม 2561 ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ด้วยถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

นอกจากนี้ จะผลักดันให้มีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวที่เป็นเครื่องดื่มสุขภาพ สำหรับผู้บริโภคที่แพ้นมวัวและนมจากพืชตระกูลถั่ว โดยจะเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่

“จะมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาประณีตข้าวอินทรีย์ศรีสำราญ และผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว จำนวน 7 ราย และโมเดิร์นเทรด จำนวน 5 ราย เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ที่ซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มเกษตรกรในราคานำตลาด โดยมีแผนจะนำออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้”

ทั้งนี้ ข้าว กข43 เป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าว ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยและพบว่ามีค่าการแตกตัวเป็นน้ำตาลน้อย และมีค่าดัชนีน้ำตาลอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ คาร์โบไฮเดรตของข้าวมีลักษณะที่ทนต่อการย่อยได้ดีกว่าข้าวอมิโลสต่ำพันธุ์อื่น จึงถือเป็นข้าวทางเลือกของผู้ใส่ใจสุขภาพกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

โดยในปีการผลิต 2560/61 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีศักยภาพ วางแผนการผลิตภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ นาปีมีผลผลิตรวม 50 ตันข้าวเปลือก หรือ 20 ตันข้าวสาร สำหรับนาปรังมีผลผลิตรวมประมาณ 1,643 ตันข้าวเปลือก หรือ 657 ตันข้าวสาร สำหรับเป้าหมายฤดูนาปี ในปีการผลิต 2561/62 ผลผลิตรวมประมาณ 50,000 ตันข้าวเปลือก หรือ 20,000 ตันข้าวสาร

รวมทั้งกำหนดการรับรองบนบรรจุภัณฑ์ ข้าว กข43 โดยใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์และหลักประกันแก่ผู้บริโภคว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพได้การรับรองจากกรมการข้าว โดยให้เมล็ดพันธุ์ไปปลูกโดยกลุ่มชาวนาที่ขึ้นทะเบียนนาแปลงใหญ่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การดูแลของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก สีแปรโดยสหกรณ์หรือโรงสีข้าวที่ได้รับมาตรฐาน GMP และข้าวสารได้รับการรับรองมาตรฐาน Q สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) โดยระบบ QR Trace เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code จะทราบถึงข้อมูลแหล่งที่มาของข้าวได้

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับภาคีเครือข่าย และ The Global Young Academy (GYA) หรือองค์กรเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของโลก ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานประชุมนานา ชาติ Global Young Academy Annual General Meeting 2018 (GYA AGM 2018) ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของ GYA ภายใต้หัวข้อ “Forever Young? : Sustainable and Healthy Longevity through Science and Technology” (“หนุ่มสาวตลอดกาล? : อายุยืนยาวและสุขภาพดีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”) ระหว่างวันที่ 7 – 11 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมดุสิตธานีพัทยา จ.ชลบุรี โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ฟลาเวีย ชเลเกล ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไป องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ ศ.ดร.ลุย ดีเพ ประธาน The Interacademy Partnership กล่าวเปิดการประชุม

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานประชุมนานาชาติ Global Young Academy Annual General Meeting 2018 ถือเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการที่บุคลากรวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเปิดโอกาสนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทยพบปะนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเก่งระดับโลก มีจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 190 คนจาก 50 ประเทศ โดยปีนี้จะมุ่งสร้างความตระหนักในเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นของหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย หัวข้อเสวนาและการระดมสมองจะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เครื่องมืออุปกรณ์ ที่พักสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ การอุปโภคบริโภค การบริการ ตลอดจนนโยบาย เพื่อมองเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประเทศและโลกต่อไป

ดร.อรกนก พรรณรักษา ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) สวทช. กล่าวเสริมว่า การจัดงาน GYA AGM ครั้งนี้ เป็นปีที่ 8 สลับเหย้าเยือนระหว่างประเทศพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนา สวทช. เป็นหน่วยงานสนับสนุนงานนี้ให้เกิด ขึ้นอย่างสมบูรณ์ โดยหัวข้อครั้งนี้คือเรื่อง Forever Young? : Sustainable and Healthy Longevity through Science and Technology” หรือ หนุ่มสาวตลอดกาล? : อายุยืนยาวและสุขภาพดีด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

ในเป้าหมายที่ 3 จาก 17 ข้อ ของสหประชาชาติ ในการรับรองการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากแต่ละประเทศที่มาร่วมงาน จะมีโอกาสไปนำเสนอในเวทีนานาชาติ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในแต่ละประเทศ ขณะที่ในประเทศไทย สามารถสร้างความตระหนักให้คนไทยได้เห็นความสำคัญของเรื่องการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศในอนาคตอันใกล้นี้”