ยุคหลังปี 2540 ภาคเกษตรของไทยจึงมีนโยบายแยก 2 ทาง

คือ 1. นโยบายประชานิยม เน้นสร้างความนิยมไม่ได้ มุ่งสู่การยกระดับคุณภาพภาคการเกษตร เห็นเด่นชัดในยุคของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จนถึงปัจจุบัน แม้แต่รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นโยบายแบบนี้ยังคงอยู่ และ 2. นโยบายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าสอดคล้องกับปัจจุบันอย่างมาก แทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็หันมาปลูกพืชหลากหลาย เห็นได้ว่าราคาสินค้าเกษตรรูปแบบนี้นับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรมีฐานะดีขึ้น ดังนั้น ทางออกของภาคเกษตรไทย จึงไม่ใช่ก้าวสู่ 4.0 ซึ่งเปรียบเหมือนกับการหวังผลสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ ทางออกที่ดีที่สุดของภาคเกษตรคือตามรอยทางเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนโยบายภาคการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้แล้ว อย่างการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยยกเว้นกฎหมายเกือบทุกตัว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ เหมือนเป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นอวิชา ที่หวังเพียงความสำเร็จทางการเมือง โดยไม่คำนึงให้รอบคอย มุ่งหวังเพียงความสำเร็จเพียงอย่างเดียว

นายปรีดา เตียสุวรรณ ที่ปรึกษา เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า ทางรอดของภาคเกษตรขณะนี้ไม่ใช่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ทางออกคือ ทำเกษตรประณีต สามารถขายได้ในราคาสูงกว่าพืชทั่วไปในท้องตลาด โดยทำเกษตรประณีตประมาณ 2 ไร่ ต่อ 1 ราย จะทำให้พื้นที่เกษตรประณีตเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านไร่ น่าจะช่วยยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

อคส.เตรียมประมูลมันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาล ส.การค้ามันฯ ชี้ระบายมันเสื่อมสภาพไม่กระทบราคา ตลาดแน่

พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 อคส.ได้เชิญผู้ประกอบการเจ้าของคลังสินค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังและชี้แจงการเปิดประมูลสำปะหลังที่อยู่ในสต๊อกรัฐบาล ซึ่งเตรียมจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ที่ใช้ในการประมูล อคส.ยึดหลักการของกรมการค้าต่างประเทศโดยเบื้องต้นอาจไม่จำกัดคุณสมบัติผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูล เพื่อช่วยการระบายมันสำปะหลังในสต๊อกให้หมด ลดภาระให้กับรัฐบาล

ทั้งนี้ อคส.อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วยว่า คุณภาพ ปริมาณสต๊อก มันสำปะหลังขณะนี้มีปริมาณเท่าไร เบื้องต้นอาจพิจารณาจ้างเซอร์เวเยอร์เข้าไปตรวจสอบคุณภาพและปริมาณ น้ำหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลนำไปใช้ประกอบในการพิจารณาเปิดประมูลมันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาลก่อนการเปิดประมูล แต่การว่าจ้างเซอร์เวเยอร์มีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงอาจจะพิจารณาประมูลมันสำปะหลัง โดยยึดข้อมูลเดิมก็เป็นได้ แต่ทั้งหมดยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

“ปริมาณมันสำปะหลังที่เปิดประมูลในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นมันสำปะหลังที่เสื่อมคุณภาพ รวมไปถึงมันสำปะหลังที่ติดคดีและไม่ติดคดีจากโครงการตั้งแต่ปี 2551/2552 จะนำออกมาเปิดประมูลให้หมด ส่วนการดำเนินการนั้นอยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน อัยการ ซึ่งเดินหน้าตามกฎหมายต่อไป และการนำมันสำปะหลังออกมาประมูลครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาแล้วว่าสามารถนำมาประมูลได้ อคส.จึงได้นำออกมาประมูล”

รายงานจากกรมการค้าต่างประเทศกล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศได้เปิดประมูลมันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป ปริมาณ 3,447 ตัน และเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมปริมาณ 263 ตัน ไปเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ซึ่งได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมประมูลเป็นการทั่วไป 2 ราย แต่สำหรับการประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมยังไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล ส่งผลให้มันสำปะหลังในสต๊อกรัฐบาลคงเหลือ 98,000 ตัน ที่ อคส.อยู่ระหว่างการทำแผนการขายมันและเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า การเปิดประมูลมันสำปะหลังของรัฐบาลที่จะดำเนินการนั้น ไม่มีผลกระทบต่อตลาดและราคามันสำปะหลังแต่อย่างไร เนื่องจากมันสำปะหลังที่นำออกมาประมูลจากโครงการจำนำตั้งแต่ปี 2551 น่าจะเสื่อมคุณภาพไปมากแล้ว เมื่อประมูลคงเข้าสู่อุตสาหกรรมเฉพาะ หรือนำไปเป็นเชื้อเพลิงมากกว่า

“ราคามันสำปะหลัง หัวมันสด ความชื้นที่ 30% กก.ละ 2.20-2.50 บาท ส่วนมันเส้น ความชื้นที่ 25% กก.ละ 6-6.20 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่เกษตรกรรับได้ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตมันสำปะหลังทยอยออกสู่ตลาดแต่ยังน้อย เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเกี่ยวข้าว แต่น่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง”

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ประชาสัมพันธ์แนวคิดร้าน Q4U แหล่งรวมสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐาน เพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภครู้ เข้าใจ และเลือกอาหารปลอดภัย พร้อมเป็นตลาดให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐาน

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยได้ผลักดันและส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ การปฏิบัติในระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP โรงงาน/โรงสีให้ได้มาตรฐาน GMP สินค้าเกษตรปลอดภัยและตามสอบย้อนกลับได้ด้วยระบบ QR Trace รวมถึงพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้ามาตรฐานผ่านระบบตลาดออนไลน์ (Digital farm) ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะกำหนดให้แสดงเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการสื่อสารให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร

เลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรที่ผ่านโครงการต่างๆ ทำให้มีผลิตผลและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน (สินค้า Q) ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและต่อเนื่องจากตลาดออนไลน์ dgtfarm ให้เป็นที่รู้จักอย่างชัดเจน รวมทั้งได้มีแหล่งรวมสินค้าเกษตรมาตรฐานที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาชมและซื้อสินค้าได้ เป็นจุดเชื่อมต่อให้กับผู้บริโภค ผู้ซื้อและผู้ขาย มกอช.จึงได้จัดตั้ง Q4U Shop เพื่อให้เป็นแหล่งรวมสินค้าที่ได้มาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นศูนย์กลางระหว่าง เกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ได้มาชมเลือกซื้อสินค้า ขณะเดียวกันก็ยังจัดมุมให้ความรู้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรเกษตร อาทิ GAP GMP Organic (อินทรีย์) เป็นต้น เพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมร้าน Q4U ได้มีความรู้ความเข้าใจในสินค้าเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเป็นตลาดอีกช่องหนึ่งให้กับเกษตรกรผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยด้วย

เลขาธิการ มกอช. กล่าวด้วยว่า เพื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบร้าน Q4U แหล่งรวมสินค้าเกษตรมาตรฐาน ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น มกอช.จึงได้เปิดร้าน Q4U ในงานนิทรรศการและแสดงสินค้า อาทิ ตลาดนัดคลองผดุงกรุงเกษม “ตลาดเกษตรเกรดพรีเมี่ยม” งานวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะได้ประชาสัมพันธ์ร้าน Q4U ให้เป็นที่รู้จักแล้ว ยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจ และสนใจในสินค้าเกษตรมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งความปลอดภัยด้านอาหารต่อไป

นักวิจัย สกว. พัฒนา “ไบโอเซรามิกส์” นวัตกรรมงานตกแต่งสวนชนิดใหม่ที่สามารถกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ‘พาราควอต’ ได้หมดภายในเวลา 6 ชั่วโมง ราคาถูก ผลิตได้จำนวนมาก และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด

รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า การปนเปื้อนของสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำ และตกค้างในพืชผัก ผลไม้ จัดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยสารเคมีปราบศัตรูพืชที่มีการใช้งานหลายชนิดในเมืองไทยและนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้มีความเป็นพิษสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘พาราควอต’ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทเผาไหม้ ออกฤทธิ์เร็ว ไม่เลือกทำลาย มีความเป็นพิษเฉียบพลันสูงแม้ได้รับสัมผัสเพียงปริมาณน้อย ค่าความเป็นพิษที่ระดับ 113.5 มก./กก. ของพาราควอต (WHO 2002) นั่นหมายถึงการได้รับพาราควอตทางปากเพียง 6.15 มก./ล. (หรือประมาณมากกว่า 1 ช้อนชาเล็กน้อย) ก็สามารถทำให้ผู้ได้รับสารพิษมีโอกาสเสียชีวิตได้ ค่าความเข้มข้นดังกล่าวคำนวณจากค่าเฉลี่ยการได้รับสารของผู้ชายไทยที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 68 กก. อัตราการตายของผู้ป่วยในประเทศไทยที่ได้รับสารพิษนี้สูงถึง 10.2% ในกรณีที่ผู้ป่วยสัมผัสทางผิวหนัง และ 14.5% ในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจในการได้รับสารพาราควอตโดยตรง เป็นต้น

การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชและแมลง จึงทำให้เกิดการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ในแหล่งน้ำการเกษตร แหล่งน้ำในลำน้ำ รวมถึงสวนน้ำ หรือบ่อน้ำที่ใช้ในการตกแต่งสวนสวยงามได้ สกว. โดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) จึงให้ทุนสนับสนุนแก่นักวิจัย และน.ส.มานี จินดาการะเกด นักศึกษาปริญญาเอก ในการพัฒนาไบโอเซรามิกส์กำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างนวัตกรรมงานตกแต่งสวนที่เรียกว่า “ไบโอเซรามิกส์” ซึ่งมีความสามารถในการกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชด้วยกลไกทางกายภาพเคมีร่วมกับทางชีวภาพ และยังสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปร่างหลากหลายชนิด เพื่อใช้ในการตกแต่งสวน หรือใช้ในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ในลำน้ำได้อีกด้วย โดยมีบริษัท อิฐภราดร จำกัด ร่วมสนับสนุนงบประมาณในส่วนของภาคเอกชน

นักวิจัย สกว. ระบุว่าเซรามิกส์ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุตรึงได้ เนื่องจากมีพื้นที่ผิวและรูพรุนต่ำ ทำให้แบคทีเรียเกาะติดภายในโครงสร้างเซรามิกส์ได้น้อย นักวิจัยและโรงงานจึงร่วมกันพัฒนาเซรามิกส์ชนิดใหม่ขึ้นมา โดยเริ่มจากการพัฒนาสูตรเซรามิกส์และสภาวะในการขึ้นรูปใหม่ ซึ่งต้องผ่านการทดสอบหลายครั้งจนนำมาขึ้นรูปได้และผ่านการทดสอบคุณสมบัติในเบื้องต้น เพื่อให้ได้เซรามิกส์ที่มีคุณสมบัติตามที่นักวิจัยต้องการและสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้จริง โดยคณะนักวิจัยได้ทำการสังเคราะห์ไบโอเซรามิกส์สำหรับกำจัดพาราควอต ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษสูง มีโครงสร้างทางเคมีที่มีความซับซ้อนและย่อยสลายได้ยากกว่าสารเคมีอื่น ๆ

ด้านการตรึงเซลล์และเทคนิคในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียบนอาหารแข็ง เซรามิกส์ที่พัฒนาขึ้นทุกสูตรต้องนำมาทดสอบการตรึงแบคทีเรียที่ผ่านการคัดสายพันธุ์แล้ว โดยสูตรไบโอเซรามิกส์ที่พัฒนาขึ้นมีหลายสูตร ในขณะที่วิธีตรึงแบคทีเรียมีอยู่หลายวิธีสำหรับใช้กับแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ ทำให้ต้องทดสอบหลายสภาวะเงื่อนไขในห้องปลอดเชื้อ จึงใช้เวลานานและอุปกรณ์ที่สะอาดจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำและชัดเจนในการคัดเลือกชนิดไบโอเซรามิกส์ที่เหมาะสมที่สุด และวิธีตรึงที่ดีที่สุดสำหรับไบโอเซรามิกส์นั้น ๆ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์
ไบโอเซรามิกส์ทั้งหมด 8 ผลิตภัณฑ์ โดยกำลังจะจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรจำนวน 6 สิทธิบัตร จากนั้นนักวิจัยจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนและพัฒนาการตลาดร่วมกับ สกว. ต่อไป

“ไบโอเซรามิกส์ทั้งหมดนี้สามารถใช้ในการกำจัดสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่ตั้งไว้ คือ สามารถกำจัดสารเคมีกำจัดวัชพืชพาราควอตได้ 100% ภายในเวลา 6 ชั่วโมง จุดเด่นของไบโอเซรามิกส์ที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกจากจะสามารถย่อยสลายสารเคมีปราบศัตรูพืชอย่างสมบูรณ์แล้ว จุลินทรีย์ที่ใช้ยังมีราคาถูกและผลิตได้จำนวนมากในปริมาณที่ต้องการ รวมถึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตลอด โดยผลิตภัณฑ์นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายชนิดเพื่อใช้ในการตกแต่งสวน นอกจากนี้ยังสามารถใช้กับน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษอินทรีย์อื่น ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ลำน้ำทั่วไปที่มีสารปนเปื้อนและสามารถกำจัดสารเคมีปราบศัตรูพืชให้หมดไปจากน้ำได้”

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 รุกนโยบายเกษตรอินทรีย์ เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการประจำปี 2561 เดินหน้าพื้นที่บูรณาการ 3 อำเภอเป้าหมาย คือ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอพล และอำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ด้านเกษตรกรพร้อมร่วมมือเต็มที่ มั่นใจ เชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากการขับเคลื่อนเพื่อดำเนินงานโครงการเกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในส่วนของจังหวัดขอนแก่น ได้มีการประชุมคณะทำงานพัฒนาเกษตรอินทรีย์จังหวัด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น มีการคัดเลือกพื้นที่บูรณาการใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ ตำบลหนองแวงโสกพระ อำเภอพล และ ตำบลภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน เนื่องจากเกษตรกรมีความพร้อมที่จะทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุด

สำหรับแผนปฏิบัติการได้แบ่งเกษตรกรเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขั้น 1 คือ กลุ่มริเริ่มใหม่ กลุ่มขั้น 2 คือ กลุ่มที่พร้อมยกระดับ และกลุ่มขั้น 3 คือ กลุ่มที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์แล้ว โดยมีกิจกรรมต่างๆ สำหรับแต่ละกลุ่มดังนี้

กลุ่มขั้น 1 กิจกรรมอบรมให้ความรู้เกษตรกร จำนวน 5 กลุ่ม 1,000 ราย โดยกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการข้าว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ร่วมบูรณาการ กิจกรรมส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการผลิตเกษตรอินทรีย์ จำนวน 225 ราย โดยกรมการข้าว สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมพัฒนาที่ดิน และ กิจกรรมจัดทำแปลงเรียนรู้/แปลงต้นแบบเกษตรอินทรีย์ จำนวน 15 ราย พื้นที่ 75 ไร่ โดยกรมวิชาการเกษตร

กลุ่มขั้น 2,3 กิจกรรมการตรวจรับรองแหล่งผลิตอินทรีย์ จำนวน 269 แปลง 900 ไร่ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และกรมวิชาการเกษตร กลุ่มขั้น 1,2,3 มีกิจกรรมสร้างความเข้มแข็ง ประกอบด้วย กิจกรรมสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยกรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กิจกรรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด กิจกรรมบริการโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และเกษตรกร และ กิจกรรมผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศสนับสนุนแปลงต้นแบบการเกษตรเครือข่าย โดยกรมวิชาการเกษตร กิจกรรมฝึกอบรมและเสริมสร้างความรู้ด้านการผลิตพืชอินทรีย์ให้แก่นักเรียน Q-School กิจกรรมก่อสร้างโรงเรือนปลูกพืชระบบน๊อคดาวส์ในโรงเรียน และ กิจกรรมจัดมหกรรมไดโน่สินค้าเกษตรปลอดภัยสู่เกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนของดีเมืองขอนแก่น โดยสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทางจังหวัดขอนแก่นได้กำหนดแนวทาง ดังนี้ 1) เชื่อมโยงกับห้างค้าปลีก (Modern Trade) ที่มีศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัด 2) เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลภายในจังหวัดที่อยู่ภายใต้โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย และ 3) เชื่อมโยงกับโครงการตลาดประชารัฐไทยช่วยไทย เช่น ตลาดประชารัฐ Green Market ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ตลาดประชารัฐ Modern Trade ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ตลาดประชารัฐต้องชม และตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดที่แน่นอนและเป็นตลาดเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพมีมูลค่าสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภคดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จะได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการต่อไป

เนื่องจากการพัฒนาใด ๆ มักเริ่มด้วยการใช้พื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงมุ่งพัฒนา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาโดยตลอด และด้วยปณิธานที่จะจัดการศึกษาสำหรับประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทุกชนชั้น จึงเริ่มขยายโอกาสทางการศึกษาออกสู่ส่วนภูมิภาคในจังหวัดลำปาง

โดยล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดตัวหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิชาเอกเทคโนโลยีการเรียนรู้ ณ มธ.ศูนย์ลำปาง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลสู่ภูมิภาค พร้อมกับตั้งเป้าเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และแหล่งผลิตบุคลากรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลของภาคเหนือ เติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ (ecosystem)

“รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ มธ. มีอายุกว่า 31 ปี มีจุดเด่นแตกต่างจากที่อื่น เพราะเน้นโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน มีความเข้มแข็งด้านสังคมศาสตร์ และคนจบจากคณะวิทยาศาสตร์ของเราไม่ใช่คนที่ต้องอยู่แต่ในห้องแล็บเท่านั้น แต่ต้องรู้ธุรกิจ และการลงทุน เป็น Sci-business ที่หมายถึงผู้สามารถสร้างนวัตกรรมและเป็นผู้สร้างงานในฐานะผู้ประกอบการได้ด้วย

“หลังจากที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต มีความเข้มแข็งแล้ว เราจึงอยากขยายอุดมการณ์ และสร้างความรู้ให้เท่าเทียมกันในทุกชุมชน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของภาครัฐ ที่มีแนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศไทย ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในระดับนานาชาติ”

“ผนวกกับแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) ที่เน้นการใช้กลยุทธ์การเชื่อมโยงการผลิต และการตลาด สู่สากลด้วยดิจิทัล การกระจายความรู้จากศูนย์กลางสู่ชุมชนท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาค จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเร่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตที่ศูนย์ลำปางมีศักยภาพ และความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ มธ.ศูนย์รังสิต ดังนั้น นักศึกษามั่นใจได้ว่าจะได้องค์ความรู้ที่มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับในสังคม”

ทั้งนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้น iocco-uk.info และสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาในภาคเหนือไม่ย้ายถิ่นฐานไปเรียนอย่างแออัดกันในกรุงเทพฯ ทางคณะจึงมีทุน บุญชู ตรีทอง ให้นักศึกษาที่มีเกรดระหว่างการศึกษาไม่ให้ต่ำกว่า 2.00 ได้เรียนฟรีในภาคการศึกษานั้น และหากทำเกรดได้มากกว่า 2.5 จะมีทุนให้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะเปิดรับสมัครรอบที่ 2 แบบโควตาในเดือน ม.ค. 2561

“รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี” รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปาง รองประธานกรรมบริหารศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า นักศึกษาของ มธ.ศูนย์ลำปาง มีนักศึกษาทั้งปริญญาโท และเอก ทุกสาขาวิชารวมแล้วกว่า 2 พันคน โดยเป็นนักศึกษาที่มาจากภาคเหนือ 60%

“จุดแข็งของเด็ก มธ.ศูนย์ลำปาง คือ มีความโหยหาความรู้ พอได้รับโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ พวกเขาจะเรียนอย่างเต็มที่ เพราะไม่ได้มีตัวเลือกมากเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ นอกจากนั้น นักศึกษาที่มาจาก จ.ลำปาง กว่า 70-80% เลือกประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราส่งเสริมให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ทั้งสมุนไพร เซรามิก และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ”

ทั้งยังนำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง 4 ปี (พ.ศ. 2561-2565) ที่มีทิศทางการพัฒนาลำปางบนพื้นฐานของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการใช้องค์ความรู้แบบผสมผสานความรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผนวกเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ตอนนี้ที่ มธ.ศูนย์ลำปาง มีอาจารย์ 72 คน และทยอยเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์มาที่ มธ.ศูนย์ลำปาง โดยวางไว้ว่าจะทำหลังจากที่อาคารนวัตกรรมบริการสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า และในอนาคตเราตั้งเป้าขยาย มธ.ศูนย์ลำปางให้สามารถรองรับนักศึกษาได้ถึง 4 พันคน”

อาคารนวัตกรรมบริการมูลค่า 400 ล้านบาท มีแนวคิดในการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับการประหยัดพลังงานตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงานกำเนิด ตัวอาคารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่มีความเหมาะสมในการประหยัดพลังงาน มีความคงทนแข็งแรง เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัยโดยมีห้องสมุดบุญชู ตรีทอง เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าบริการให้นักศึกษาและประชาชน

นับว่า เป็นการมุ่งสร้างบัณฑิตตามแนวทาง Sci-Business ให้มีความรู้เชิงลึกในองค์ความรู้ใหม่ ๆ และเชี่ยวชาญจากการฝึกปฏิบัติด้วยการทำโครงงานอย่างเข้มข้น เพื่อออกไปประกอบอาชีพอย่างมืออาชีพ และสามารถประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าให้กับสังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจของชุมชน องค์กร ประเทศชาติต่อไป

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และพิธีสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ล่วงลับ

พร้อมปลูกสมุนไพรไม้ยืนต้นได้แก่ ประดู่แดง ปีบ และการบูร เนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข และก้าวเข้าสู่ 100 ปีการสาธารณสุขไทย โดยมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวง และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวง ผู้แทนหน่วยงาน สมาคม องค์กรต่างๆ ร่วมในพิธี

นพ.ธวัช กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาการสาธารณสุขไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2461 และแต่งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เป็นอธิบดีกรมสาธารณสุขพระองค์แรก ต่อมาวันที่ 10 มี.ค.2485 ได้จัดตั้งเป็นกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 27 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ในโอกาสที่จะก้าวเข้าสู่ 100 ปี การสาธารณสุขไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานต้นการบูรให้เป็นไม้ประจำกระทรวงซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม เพราะเป็นต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยา อาทิ เนื้อไม้นำมากลั่นแล้วจะได้สารการบูร เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาระงับประสาท แก้โรคตา แก้เลือดลม แก้ปวดฟัน แก้ไอ แก้ปวดท้อง เกล็ดของการบูร ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่กระทรวงจะมีต้นไม้ประจำกระทรวง โดยหลักกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน ดังนั้นต้นไม้ประจำกระทรวงก็ต้องมีสรรพคุณทางยา ซึ่งสารการบูรเป็นส่วนประกอบอยู่ในตำรับยาหลายตำหรับ โดยตั้งเป้าว่าปีที่ 99 ไปจนถึงปีที่ 100 ปีการสาธารณสุขไทยนั้นจะปลูกต้นการบูรให้ได้ 1 ล้านต้นทั่วประเทศ ในวันนี้ที่กระทรวงก็ปลูกไปแล้ว 50 ต้น และสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อให้เป็นแหล่งวัตถุดิบด้วย